เงินซื้อความสุข(ไม่)ได้

Photo crefit: Skitter Photo

โดย จิตราภรณ์ วนัสพงศ์

ทำไมเงินถึงซื้อความสุขได้สำหรับคนจน และซื้อความสุขไม่ได้สำหรับคนรวย

วาทกรรม “เงินซื้อความสุขไม่ได้” และกรณีตัวอย่างมากมายเกี่ยวกับคนที่มีความสุขโดยที่ไม่มีเงิน และเกี่ยวกับคนที่มีเงินมากแต่ทุกข์มากแพร่หลายไปใน social media ในปัจจุบัน แต่โดยส่วนตัว คิดว่ามันเป็นการ simplify ข้อเท็จจริงที่มีหลายเหลี่ยมมุมให้เหลือแค่มุมมองเดียว คือมันก็ถูกอยู่ที่เงินซื้อทุกอย่างไม่ได้ แต่ก็มีอีกหลายอย่างมากมายที่เงินซื้อได้ ฉะนั้น การมีเงินต้องซื้อความสุขได้แน่นอน

ในสายงานของการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต คุณหมอบอกว่า “คนมีสุขภาพดีคือคนมีความสุข” และความจน หรือการไม่มีเงินเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของปัญหาสุขภาพจิต เพราะคนเราถ้าไม่มีเงินแล้วย่อมไม่มีความสุขไง มีกรณีศึกษาที่ทำวิจัยในประเทศแคนาดา พบว่า เมืองเล็กๆที่ยากจนแห่งหนึ่ง เมื่อไปสร้างคาสิโนแล้ว พบว่า ประชากรมีระดับความสุขเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากคาสิโนช่วยให้คนมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถซื้อหาปัจจัยสี่และส่งลูกไปโรงเรียนได้นั่นเอง

ในประเทศไทย แม้จะมีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หรือรักษาฟรี แต่มีคนจำนวนมากที่ไม่มีเงิน 7 บาทเพื่อนั่งรถเมล์มาโรงพยาบาล คนที่จนแบบนี้ จะไปบอกให้เค้าเชื่อว่าเงินซื้อทุกอย่างไม่ได้ มันก็ไม่ใช่ เพราะเงินซื้อความรู้สึกมั่นคงในชีวิตได้ ถ้ามีเงินอยู่นกระปุกพอจะนั่งรถเมล์มาโรงพยาบาลได้เป็นอย่างน้อย ชีวิตเค้าก็คงจะทุกข์น้อยลงนิดนึง ถ้ามีมากกว่านั้นก็จะทุกข์น้อยลงเรื่อยๆ แน่

การศึกษาเรื่องความสุขกับเงินพบว่า กราฟของจำนวนเงินที่เรามี ถ้าสูงขึ้น กราฟความสุขของเราก็จะเพิ่มขึ้นเป็นอัตราที่ผันตรงกับปริมาณเงินที่เรามี แต่เมื่อเงินเราเพิ่มขึ้นถึงจำนวนหนึ่ง (จำนวนไหนแล้วแต่คน) กราฟความสุขของเราจะหยุดเพิ่มตามจำนวนเงิน หรือบางทีอาจจะตกลงมาด้วยซ้ำเพราะมีปัญหาตามมามากมาย

ดังนั้น คนเราจำเป็นต้องมีเงินประมาณหนึ่งพอที่จะซื้อหาความสุขได้ แต่พอมีมากเกินไป ความสุขมันก็จะเท่าเดิม เช่น มีเงินเหลือเก็บ 1 แสนบาท อาจจะมีความสุขเท่าๆ กับมีเงินเก็บ 1 ล้านบาท การศึกษาบอกว่า ยิ่งคนมีรายได้มากขึ้นที่เกินขีดสูงสุดของกราฟ ความทุกข์ก็จะเพิ่มขึ้นตามมาหักลบกับความสุข เช่น ความเครียดที่จะต้องรักษาสถานภาพ การแข่งขันในหมู่คนรวยด้วยกัน ความต้องการทางวัตถุที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และความสามารถในการมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ น้อย ๆ ลดลง เป็นต้น

มีการศึกษาหลายชิ้นที่พบว่า ความจนเงินนั้นนำพาไปสู่ความจนด้านอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น จนโอกาส และความจนโอกาสในหลาย ๆ ด้านทำให้คนที่จนเงินต้องจมอยู่ในความด้อยโอกาส ด้อยทุกสิ่งที่เรียกว่าดักดานแบบลืมตาอ้าปากไม่ได้เลย จึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก ๆ ในบางครั้ง ข้าพเจ้าเคยพบคนที่ ถ้า ณ ตอนนั้นมีเงินตกลงมาใส่มือเขาสัก 1 หรือ 2 พันบาท ประตูโอกาสจะเปิด ประตูความหวังบางบานก็จะเปิดอย่างน่าอัศจรรย์ อนาคตจะเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่มีประตูบางบานเปิดแล้ว มันก็ดีแล้ว

ฉะนั้น คนที่พูดว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ จึงเป็นคนที่มีความมั่นคงในปัจจัยสี่แล้วในระดับหนึ่ง และมีเงินขึ้นรถเมล์ไปโรงพยาบาลประมาณหนึ่ง และมีความหวังอยู่ระดับหนึ่งว่าจะหาเงินได้มากขึ้นอีก ส่วนคนที่ชีวิตไม่มั่นคงไม่มีความหวัง เงินนั้นสำคัญกับเขามาก ๆ เพราะมันเป็นปัจจัยเปิดโอกาส เป็นปัจจัยที่ทำให้มีความหวัง มองโลกในแง่ดี และสร้างพลังอำนาจจากภายในให้ต่อยอดไปสู่การพัฒนาที่ดีอื่น ๆ ได้

ดังนั้น การที่คนมีเงินและมีความมั่นคงในชีวิต ไปเที่ยวว่าคนจนว่าดีแต่อยากรวยมันจึงไม่โอเคเท่าไร และการปลอบคนไม่มีเงินว่า เงินซื้อความสุขไม่ได้ จึงไม่โอเคเท่าไรเช่นกัน เพราะคุณกับเขามองโลกและรู้สึกต่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตจากกราฟคนละช่วงกันไงคะ

และนี่กระมัง จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมคนที่คิดว่าตัวเองสวยและรวยมาก ถึงไม่ได้มีเงินมากเท่าไหร่ (และไม่ค่อยสวยเท่าไร) เพราะคนที่สวยและรวยมากจริงๆ ย่อมต้องมีมงกุฏหนามบนศีรษะที่ต้องแบกไว้ ที่ทั้งเจ็บและเป็นภาระอันหนักอึ้งนั่นเอง

Message us