ก่อนอื่น พี่ขอแสดงความยินดีต่อน้องๆหญิงไทยที่กำลังก้าวไปสู่การเป็น “เมียฝรั่งมือใหม่” นะคะ
น้องจะเป็นใคร มาจากไหน มาพบรักกับแฟนฝรั่งได้อย่างไรไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญคือ ต่อจากนี้ไปน้องจะได้ใช้ชีวิตใหม่ในฐานะ (ที่คนจำนวนมากเรียกว่า) “มาดามเมียฝรั่ง”
ส่วนคำว่า “มาดาม” นั้น ขออย่าได้ตกใจกับคำเรียกขานแบบนี้ เพราะในภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษนั้นหมายถึง สตรีที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว หรือสตรีที่แต่งงานแล้ว และเป็นการเรียกทั่วๆไปแบบสุภาพ เหมือนเราใช้คำว่า “คุณผู้หญิง” ในภาษาไทยนั่นแล ไม่ได้เป็นการแสดงฐานะทางสังคมว่าเราสูงส่งกว่าใคร หรือเป็นการเรียกขานที่ยกตนข่มท่านอย่างที่น้องๆพี่ๆจำนวนมากเข้าใจผิดไปแต่อย่างใด
หากใครมาเสียดสีว่า หน้าอย่างเธอน่ะหรือจะเป็นมาดาม ขอให้ตอบไปอย่างเนียนๆเลยค่ะว่า “ใช่ หน้าอย่างฉันนี่แหละมาดามตัวจริงเสียงจริง ฝรั่งเขาก็เรียกฉันอย่างนี้กันทั้งเมือง….” แต่คำนี้ต้องเป็นคนอื่นเรียกเราเท่านั้น เราจะไม่เรียกตัวเองว่า มาดาม เวลาใครถาม เราก็แค่บอกว่า เราชื่อเรียงเสียงใดเท่านั้นพอ ส่วนเขาจะเรียกว่าเราว่า มาดาม (Madam) หรือมิสซิส (Mrs) หรือเฟรา (Frau) หรือชื่อเราเฉยๆ ก็แล้วแต่เขา
แต่ถ้าคนไทยด้วยกัน ก็เรียกชื่อกันธรรมดา จะนำหน้าด้วยคุณ หรือพี่ หรือน้อง ก็แล้วแต่ความสนิทสนม ไม่ต้องเรียกมาดาม เดี๋ยวจะเว่อร์เปล่าๆ เข้าใจว่า หญิงไทยจำนวนหนึ่งรังเกียจคำนี้ คิดว่าเป็นการเรียกเชิงถากถาง หากมีใครมาเรียกแล้วจะไม่ชอบเป็นอันมาก เรื่องนี้พี่ว่าอย่าไปคิดมากค่ะ หากคนจะถากถางกัน ใช้คำว่าอะไรก็มีความหมายถากถางได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องใช้คำว่ามาดาม หรือคุณนาย หรืออะไร หรอกค่ะ
เราเป็นหญิงไทยเมียฝรั่งแล้ว ต้องมั่นใจในตัวเอง อย่าไปหูเบาหรือจี้เส้นง่ายๆกับการเรียกขานของใครนะคะ เราให้เกียรติคนอื่น คนอื่นก็ให้เกียรติเรา ส่วนใครไม่ให้เกียรติ นั่นเป็นปัญหาของเขาค่ะ
ส่วนพี่คนที่กำลังเขียนถึงน้องอยู่คนนี้เป็นใครอ๋อ พี่ก็เป็นหญิงไทยมาดามเมียฝรั่งคนหนึ่ง ที่แต่งงานกับฝรั่งชาวเยอรมันและใช้ชีวิตในยุโรปได้ประมาณ ๑๕ ปีแล้วค่ะ พอดีพี่ไปอยู่อาศัยและทำงานที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมืองที่พี่ไปอยู่เป็นเขตติดต่อฝรั่งเศส ผู้หญิงหน้าไทยๆอย่างเราก็เลยถูกเรียกว่า มาดาม ทั้งเช้าสายบ่ายเย็นไปโดยปริยาย ได้ยินบ่อยจนรู้สึกเฉยๆ
บางทีเพื่อนๆก็เรียก มาดาม เป็นเชิงหยอกเย้า เราไม่คิดมากพี่ทำงานกับองค์การระหว่างประเทศมาเกือบตลอดชีวิตการทำงาน ตอนนี้พี่เออร์ลี่ย์รีไทร์ (เกษียณก่อนเกณฑ์อายุ) พี่ได้พบเห็นชีวิตต่างวัฒนธรรมมาพอสมควร และได้เข้าเป็นสมาชิกของเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป (Thai Women Network in Europe – TWNE) ที่มีคุณนงลักษณ์ ใจสงฆ์ เทร็พพ์ เป็นประธาน
พี่ขอแนะนำตัวแค่นี้
ตอนต่อไปจะมาว่าเรื่อง การเตรียมตัวเป็นมาดามมือใหม่ที่ใสปิ๊ง กันค่ะ
มาดามมือใหม่ใสปิ๊ง ต้องมีอาวุธประจำกายอะไรบ้าง เพื่อความสำเร็จในการใช้ชีวิตใหม่
ชีวิตมาดามไม่ใช่เรื่องง่ายเลย กว่าจะฝ่าฟันกันมาพบรักแท้กับพ่อเจ้าประคุณและได้ร่วมหอลงโลงกันได้ ไหนจะด่านภาษา ไหนจะด่านวัฒนธรรม ไหนจะด่านค่าสินสอด ไหนจะด่านค่าส่งเสียเลี้ยงดู ไหนจะด่านนิสัยใจคอส่วนตัวที่ขัดแย้งกันบ้าง ไหนจะด่านครอบครัวไม่ฝ่ายเขาก็ฝ่ายเรา ไหนจะด่านเมียเก่าลูกติดเขา หรือ สามีเก่าลูกติดเรา หรือกิ๊กเก่าทั้งสองฝ่าย ฯลฯ ไหนจะต้องผ่านช่วงโปร เข้ามาสู่ช่วงพ้นโปร ซึ่งบ่อยครั้งก็เป็นอีกรสชาติหนึ่ง
ชีวิตคนไทยเป็นชีวิตง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ทุกอย่างเป็นเรื่องของเวรกรรมพรหมลิขิต การไปตายเอาดาบหน้า การตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ การเลี้ยงดูส่งเสียครอบครัวที่อยู่เบื้่องหลัง ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้าหาเลี้ยงครอบครัว ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลังต้องเป็นผู้ตาม สายใยกับครอบครัวไทยกับวัฒนธรรมเดิม(และหนี้สิน)ที่ร้อยรัดมาดามมือใหม่จะเหนียวแน่นหรือเปราะบางก็ล้วนแล้วแต่พื้นเพชีวิตที่เป็นมา
เอาละ ถ้าเราจะวางอดีตของเราทิ้งไว้ชั่วคราวก่อน เอาแค่เรากับสามีฝรั่งของเรา ที่เปรียบไปแล้วก็เหมือนลงนาวาลำเดียวกัน เขาเป็นผู้คุมหางเสือ เราช่วยเขาคัดท้าย หรือหากขับรถ เขาก็เป็นโชเฟอร์และเราเป็นคนบอกทางหรือคนช่วยขับในบางครั้ง
การที่นาวาชีวิตลำหนึ่งจะไปได้รอด ผู้พายหลักและผู้คัดท้ายต้องทำงานเป็นทีมอย่างไรบ้าง
แรกสุดและสำคัญที่สุด คือ คู่ชีวิตต้องสื่อสารกันรู้เรื่อง
ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยหรือภาษาของฝ่ายชาย ส่วนใหญ่ฝ่ายหญิงเราต้องขวนขวายไปเรียนภาษาเพื่อให้ไปใช้ชีวิตในต่างแดนได้ และหางานทำได้ มีไม่น้อยเหมือนกันที่ฝ่ายชายลงทุนเรียนภาษาไทย พูดคุยกันพอรู้เรื่องแต่ว่าก็ไม่ลึกซึ้งเท่าไร ถึงกระนั้นก็เป็นนิมิตหมายที่ดีที่แสดงว่าฝ่ายชายพยายามปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของฝ่ายหญิง
เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่มาดามมือใหม่ (และมือเก่า) จำนวนมากท้อแท้ ถอดใจ หลีกเลี่ยง เพราะคิดว่าพูดกันงูๆปลาๆใช้ภาษามือและท่าทางเป็นหลักก็น่าจะพอแล้ว แถมการไปเรียนภาษาต้องเสียทั้งเงิน ทั้งเวลา บางทีรายได้ก็น้อย ไม่มีเงินไปเรียน หรือถ้าไปเรียนก็ต้องขาดงานไป หรืออายที่เป็นเด็กโค่งในห้องเรียน หรือสอบแล้วสอบอีกก็ไม่ผ่าน หรือไม่เชื่อว่าสมองของตัวเองดีพอจะเรียนได้
แต่ประเทศในยุโรปจำนวนมากได้กำหนดให้ความรู้ภาษาเบื้องต้นเป็นข้อบังคับหนึ่งของการขอวีซ่าภรรยา วีซ่าแต่งงาน วีซ่าครอบครัวอะไรก็แล้วแต่ ด้วยเหตุนี้ มาดามรุ่นใหม่ๆถึงถูกบังคับไปโดยอัตโนมัติให้ต้องไปเรียนภาษา ซึ่งแม้ว่าจะขมขื่นใจกับการเรียนในระยะแรก แต่ในที่สุดก็จะขอบใจที่ได้มีโอกาสไปเรียน เพราะภาษาเป็นใบเบิกทางมากมาย
และแม้แต่ได้วีซ่าแต่งงานและเข้าไปใช้ชีวิตในต่างประเทศแล้ว ทางการเขาก็ยังบังคับให้ไปเรียนต่อจนกว่าจะสอบผ่าน มีมาตรฐานภาษาพอที่จะไม่ถูกคนเอาเปรียบ เขาไม่ได้บังคับเฉยๆ แต่ยังช่วยออกเงินค่าเรียนบางส่วนให้ด้วย
หากอยากเป็นมาดามอย่างมีศักดิ์ศรี ต้องเอาชนะอุปสรรคด้านภาษาให้ได้ ชีวิตแต่งงานที่จะประสบความสำเร็จได้ คู่สมรสต้องคุยกันรู้เรื่องเป็นอันดับแรก….. ไม่อย่างนั้นเราจะไปคุยกับคนอื่นนอกครอบครัวรู้เรื่องได้อย่างไร
ทักษะอีกอย่างของการอยู่ต่างประเทศที่สามารถเป็นประโยชน์สูงสุด คือ ความสามารถในการขับรถ ใช้ยวดยานพาหนะ หากมาดามท่านใดขับรถเป็นตั้งแต่เมืองไทย มีใบขับขี่ถาวรหรือตลอดชีพ ขอให้ตั้งเป้าไว้เลยว่า จะขับรถบนท้องถนนในยุโรปให้ได้
ให้คิดเลยว่า ไม่มีที่ไหนขับรถยากกว่าเมืองไทยอีกแล้ว
การขับรถได้ คือ เสรีภาพในการเดินทาง คือฐานะทางสังคมของมาดาม ที่ไม่ใช่ฐานะของการแสดงว่าฉันร่ำรวยมีรถขับ แต่เป็นความภูมิใจว่า เราเป็นมาดามที่มีความสามารถ ช่วยตัวเองได้ เมื่อขับรถไปไหนมาไหนได้ มาดามก็ไม่ต้องคอยพึ่งสามีฝรั่งตลอดเวลา ไม่ว่าจะไปซื้อกับข้าว ไปซื้อของใช้ ไปธุระหาหมอ ไปเรียนหนังสือ หรือพาลูกไปโรงเรียน หรือแม้แต่ขับรถไปรับสามีที่ทำงาน หรือไปส่งสามีเดินทางไปสนามบิน หรือเวลาสามีไม่สบาย การขับรถเป็นที่เมืองนอก ถือเป็นศักดิ์ศรีอย่างหนึ่งค่ะ และเป็นการแสดงว่าเราสามารถบูรณาการกับชีวิตใหม่ได้
หากสามีมีรถขับ มีรถหลายคัน และสนับสนุนให้มาดามขับรถ ขออย่าลังเล รีบกระโดดใส่โอกาสนี้เลยนะคะ ก่อนอื่น มาดามควรทำใบขับขี่สากลมาจากเมืองไทยก่อน ซึ่งไม่ยุ่งยากอะไร แค่เอาใบขับขี่ไทยไปติดต่อที่กรมการขนส่งทางบก พร้อมรูปถ่าย และเงินจำนวนหนึ่ง ก็จะได้ใบขับขี่นี้มา ซึ่งเอาไปใช้ชั่วคราวได้ในหลายประเทศในยุโรป (ไม่ใช่ทุกประเทศ) มาดามสามารถใช้ใบขับขี่สากลไทยได้ชั่วคราวในประเทศใหม่ จนกว่าจะสอบผ่านได้รับใบอนุญาตของประเทศนั้นๆค่ะ รายละเอียดการขอใบขับขี่ในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ซึ่งน้องควรขอให้สามีหรือครอบครัวของสามีอธิบายให้ฟัง
พี่ขอยกตัวอย่างแค่ประเทศสวิตฯแล้วกัน ในกรณีเรามีใบอนุญาตพำนักอาศัยในประเทศ เราสามารถไปขอเปลี่ยนใบขับขี่ของเราเป็นใบขับขี่สวิสได้ภายในหนึ่งปีแรก โดยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเล็กน้อย ไปกรอกแบบฟอร์ม เอาใบอนุญาตพำนักไปให้เขาดู แล้วเขาจะนัดสอบขับเลย ก่อนเราจะสอบขับ เราควรไปเรียนกับครูสอนขับรถยนต์ก่อนสักหลายๆ ชั่วโมง เพื่อให้เข้าใจวิธีขับขี่ กฎจราจรพื้นฐาน และเส้นทางที่ผู้คุมสอบอาจจะใช้ในการสอบ แม้ว่าจะเป็นขั้นตอนที่จะต้องเสียเงิน(ค่าจ้างครู)ก็ยังถูกกว่าสอบขับไม่ผ่าน แล้วต้องไปเริ่มเรียนใหม่ทั้งหมด
กล่าวง่ายๆคือ เขาจะให้โอกาสเราสอบขับครั้งเดียว ถ้าสอบไม่ผ่าน เราต้องเริ่มจากศูนย์ คือ เข้าโรงเรียนจำนวนชั่วโมงตามที่เขาระบุ เรียนขับรถตามจำนวนที่เขากำหนด ก่อนจะไปสอบข้อเขียนและสอบขับอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะใช้เงินหลายพันฟรังก์ทีเดียว (เป็นเงินไทยก็เป็นแสนค่ะ) ดังนั้น พยายามสอบให้ได้ในครั้งเดียว
กฎเกณฑ์หลักๆของการสอบให้ผ่านก็คือ
1. ต้องเรียนรู้กฎจราจรของบ้านเขา และไม่เอานิสัยขับรถแย่ๆที่เมืองไทยมาใช้
2. ความเข้าใจกฎจราจรในท้องถิ่น และจิตวิทยาขับรถ ซึ่งต่างจากบ้านเรา บ้านเราขับตามใจฉัน บ้านเขาขับตามกฎจราจร ถ้าทำผิดกฎ จะถูกปรับแรงมาก
3. การอ่านป้ายจราจรเป็น และการทำตามกฎจราจร รู้ว่าทางไหนเป็นทางเอก ทางไหนเป็นทางรอง รู้ว่าที่ไหนจอดได้ ที่ไหนห้ามจอด ที่ไหนห้ามเลี้ยว ที่ไหนห้ามกลับรถ
4. การรักษาความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับถนนแต่ละแบบและพื้นที่แต่ละโซน ไม่ขับช้าเกินไปในโซนรถเร็ว (ทางด่วน) ไม่ขับเร็วเกินไปในโซนรถช้า (โรงเรียน ชุมชน)
5. การรักษาความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ และการให้สัญญาณอย่างถูกต้องเมื่อจะเลี้ยวรถ เปลี่ยนเลน แซง
6. การตั้งใจขับขี่โดยไม่มีสิ่งใดมาเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น ไม่รับโทรศัพท์ ไม่วางของกีดขวางคันเกียร์ ไม่เปิดวิทยุดังๆ ไม่เอาอะไรวางไว้กระจกหน้าหรือกระจกหลังที่จะบังสายตา
7. การตัดสินใจในกรณีคับขัน ที่เน้นความปลอดภัยสูงสุดของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่การเอาชนะคะคานผู้ใช้รถคนอื่น
แน่นอนว่า ระบบขนส่งมวลชนของเมืองนอก โดยมากจะเชื่อถือได้เรื่องเวลา คุณภาพ ความสะอาด ความปลอดภัย ไม่มีคนขับรถเมลตีนผีอย่างบ้านเรา เพราะกฎหมายเขาเคร่งครัด ซึ่งเหมาะสำหรับคนอยู่ในเมืองใหญ่ หาที่จอดรถยาก หรือไม่มีรถใช้ ซึ่งหากมาดามท่านใดไม่ได้มีฐานะที่จะมีรถขับได้ ก็ควรใช้ระบบขนส่งมวลชนแทน ไม่ต้องน้อยอกน้อยใจที่ไม่มีรถใช้
เมื่อต้องใช้รถขนส่งมวลชน เราก็หัดเรียนรู้เส้นทาง และสถานที่ต่างๆ ไปไหนมาไหนไม่หลงทาง ก็เป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งเช่นนั้น สมัยพี่ย้ายไปอยู่สวิตฯ ทีแรกยังไม่มีรถใช้ ก็นั่งรถเมล์ไปโรงเรียนตลอด ตอนหลังพอมีรถ ก็จะจดจำสถานที่ต่างๆได้ จนสามารถพาสามีไปธุระถูก สามียังงงว่า พี่ไปรู้จักสถานที่เหล่านั้นได้อย่างไร พี่ก็บอกอย่างภูมิใจว่า เพราะไอใช้รถเมล์เป็นไง ขนาดสามีพี่ยังนั่งรถเมล์ไม่เก่งเท่าพี่เลยค่ะ
ของฝากนั้น ไม่สำคัญไฉน
เรื่องหนึ่งที่มาดามน้องใหม่อาจจะแปลกใจไม่น้อย คือ ฝรั่งเขาไม่นิยมให้ของฝากกันเหมือนอย่างบ้านเรา
อยู่บ้านเรา เวลาเราไปหาใครต่อใคร มักมีของติดไม้ติดมือไปฝากเสมอ หรือเวลาเราไปเที่ยวที่ไหนมา เราก็ต้องหอบซื้อของกินของฝากกลับบ้าน แจกคนรอบตัว แม้แต่เพื่อนที่ทำงาน เป็นเรื่องปกติของคนไทยที่มากน้ำใจ
สมัยพี่เป็นแฟนกับสามีใหม่ๆ เวลาจะไปเยอรมนี ไปเจอพ่อแม่น้องสาวสามี ก็จะเตรียมซื้อของฝากทันที ไม่ว่าจะเป็นผ้าพันคอไทยๆ กระเป๋าผ้าไหม ผลิตภัณฑ์พวกผ้าๆ และของแต่งบ้านอื่นๆ โดยจะถามสามีว่าควรจะซื้ออะไรไปบ้าง และของฝากของที่ระลึกกระจุกกระจิกจะมีติดกระเป๋าเดินทาง เวลาไปเจอใครก็เอาไปแจกเขา ส่วนใหญ่เขาก็ดีใจที่ได้รับ แต่บางทีเราเอาไปให้โดยไม่มีวาระอะไร เขากลับอึดอัดใจด้วยซ้ำ เพราะทำให้เขาต้องคิดหาของตอบแทน หรือเป็นของที่เขาไม่ชอบไม่ใช้ เขาก็ต้องฝืนใจชม
จนอยู่มาปีหลังๆ พี่ก็เลิกซื้อของฝากไปเลย แต่ยังยกเว้นแม่สามี น้องสาวสามี เพราะรู้ว่าเขาพอจะชอบอะไรบ้าง
พออยู่เมืองนอกไปนานๆ พี่ก็ได้เรียนรู้ว่า ฝรั่งเขาไม่ได้นิยมรับของฝากหรือแจกของฝากเวลาเดินทางไปไหนกลับมา แต่เขาจะนำของฝากไปให้เจ้าของบ้านในไม่กี่วาระ เช่น ได้รับเชิญไปทานอาหารที่บ้าน หรือได้รับเชิญไปดินเนอร์ หรืองานขึ้นบ้านใหม่ หรืองานแต่งงาน และของที่จะเอาไปฝากก็มีไม่กี่อย่าง เช่น ไวน์ ดอกไม้ช่อ ดอกไม้เป็นกระถาง หรือ ชอคโกแล็ต หรือบ้านใครปลูกดอกไม้ บางทีเขาก็ตัดดอกไม้ที่บ้านทำเป็นช่อเล็กๆมาฝาก
ของฝากเหล่านี้แทนคำขอบคุณ ไม่จำเป็นต้องวิจิตรพิศดารหรือราคาแพง ฝรั่งไม่นิยมนำอาหารไปเป็นของฝากกันและกัน ยกเว้นว่าจะสนิทกันสุดๆ หรือเราทำของกินไปช่วยงานเขา เช่น เขาจัดปาร์ตี้ใหญ่ ขอให้เรานำอาหารไปช่วยหนึ่งอย่าง เราก็อาจจะหอบปอเปี๊ยะไปสักจาน สลัดไปสักชาม ขนมไปสักถาดหนึ่ง เค้กไปสักก้อน แล้วแต่วาระหรือโอกาส แต่อย่าเว่อร์มากจนข่มอาหารของเจ้าภาพ
สำหรับของขวัญในวาระพิเศษ สำหรับฝรั่งจำนวนมาก ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เราจะถามเขาว่า เขาอยากได้อะไรเป็นของขวัญสำหรับวันเกิดของเขา วันแต่งงาน วันครบรอบแต่งงาน หรืออะไรก็แล้วแต่ บ่อยครั้งเขาจะทำรายการไว้เลยว่า อยากได้อะไร ให้เราไปเลือกซื้อในเว็บไซต์ได้ แล้วทางร้านก็จะหีบห่อส่งไปให้ที่งาน ก็สะดวกดี ส่วนใหญ่เขาจะเลือกของขวัญไว้ทุกระดับราคาเหมาะกับแขกทุกระดับงบประมาณ บางครั้งเจ้าของงานก็จะบอกว่าไม่ต้องการอะไร หรือบอกว่าให้เราบริจาคเงินเข้าองค์กรการกุศลที่เขาศรัทธา
หรือถ้าเป็นงานของเรา บางทีเขาก็จะถามเราตรงๆเลยว่า อยากได้อะไร แน่นอนว่า เราอยากจะตอบว่า “อะไรก็ได้” แต่มันเป็นคำตอบที่ไม่มีประโยชน์เท่าไร ถ้าเป็นไปได้เราควรปรึกษากับสามีว่า ถ้าใครมาถาม เราจะบอกอย่างไร เช่น เราไม่ต้องการอะไร มาแต่ตัวก็พอ หรืออะไรก็ได้ที่สำหรับใช้ในบ้าน ในห้องนอน ในห้องน้ำ ในห้องครัว หรือดอกไม้สักต้นสำหรับปลูกในสวน หรือทุนสำรองสำหรับไปฮอลิเดย์ อันนี้แล้วแต่ความนิยมในแต่ละประเทศ และระดับความสนิทสนมกับแขกที่มาร่วมงาน
ครอบครัวของสามีพี่นิยมถามกันว่าอยากได้ของขวัญอะไรแล้วก็ไปซื้อมาให้ และเราก็ควรจะขอของขวัญที่มีเหตุผล ไม่เว่อร์วังอลังการจนเกินไป แน่นอนว่ามันขาดความตื่นเต้น ความแปลกใจกับการเดาว่าของขวัญจะเป็นอะไร แต่มันก็ทำให้ผู้รับได้ประโยชน์อย่างเต็มที่และได้ใช้ของนั้นจริงๆ ไปนานๆ เราก็ต้องเลือกเอาว่าจะเอาแบบไหนนะคะ
นี่เป็นธรรมเนียมเล็กๆ น้อยๆ ที่รู้ไว้ก็ไม่เสียหายค่ะ