ไม่ยากหากรู้จักปรับ

การเริ่มต้นชีวิตใหม่และการปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ๆ ในต่างแดน ให้มีความสุขและราบรื่นมาจวบจนวันนี้ ซึ่งอีกไม่กี่วันก็จะครบ 10 ปีแล้วนั้น ไม่ง่ายนัก แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถ ซึ่งฉันเชื่อว่าแต่ละคนก็มียุทธวิธีที่แตกต่างกันไป แต่เรามีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ เราจะอยู่อย่างไรให้มีความสุขหรือมีทุกข์น้อย ๆ ในแดนดินที่ไม่ใช่ถิ่นเกิดนี้ขอย้อนไปเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว หลังจากคบหาดูใจกันพอสมควรแก่เวลา ฉันก็บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาแต่งงาน และอยู่สวิตเซอร์แลนด์ บ้านเกิดของคู่ชีวิต ตอนที่ย้ายมา อายุก็อยู่ในวัยขึ้นต้นด้วยเลข 4 พอดี การเรียนรู้อะไร ๆ ก็ไม่ง่ายเหมือนวัยเอ๊าะ ๆ และสิ่งที่ฉันมีเป็นอาวุธในสถานที่ใหม่ คือ การเป็นคนที่มีความเชื่ออำนาจในตน คือ ความสามารถในการทํานาย ความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุหนึ่งและผลหนึ่ง และความเชื่อที่ว่าตนสามารถควบคุมให้เกิดผลนั้นตามที่ต้องการได้

นั่นคือ การเป็นคนที่เชื่อว่าผลดีหรือผลเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนนั้น มีสาเหตุที่สําคัญมาจากการกระทําของตัวฉันเอง เป็นทฤษฎีที่เรียนรู้มาเมื่อสมัยตอนเรียนปริญญาโท และการเปิดใจ เปิดหัว เปิดหู เปิดตา เพื่อรับรู้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิต และชีวิตในบ้านหลังใหม่ ที่ฉันให้ความสำคัญ มีอยู่ 2 ประเด็น คือ

1. การอยู่ร่วมกันกับอีกคนในบ้านหลังเดียวกัน

การใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันของคนสองคน ที่ต่างภาษาและวัฒนธรรมนั้น เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เพราะความคิดเห็นของคนทั้งสอง บางทีก็ไม่เหมือนกัน จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะปรับความคิดเห็นเข้าหากัน เพื่อลดความบาดหมางกัน หรือโกรธเคืองกัน ให้มีความคิดเห็นเป็นไปในทางเดียวกัน ถ้าทำได้ ก็หวังได้ว่า ครอบครัวของเราก็จะมีความสุขได้ แต่โจทย์นี้ ไม่ใช่แก้ครั้งเดียว แล้วจะได้คำตอบที่ถูกต้องเลย เพราะเป็นโจทย์ที่สุดแสนพิเศษ ทำไป แก้ไป ปรับไป อาจจะตลอดการมีชีวิตครอบครัวเลยก็ได้ คือ ทำอย่างไรให้เราสองอยู่กันไปจนถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร หากไม่มีฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งรีบด่วนจากโลกนี้ไปซะก่อน

ในฐานะภรรยา และแม่บ้าน ฉันนำหลักทางพุทธศาสนา ตามที่เห็นจากแม่ และจากที่แม่ฝึกให้ตั้งแต่เด็ก มาใช้ให้เป็นประโยชน์ และเพื่อความแน่นหนามั่นคง นั่นคือหน้าที่ภรรยา ผู้เป็นทิศเบื้องหลัง จะอนุเคราะห์สามี ด้วยหน้าที่ 5 ประการ คือ

จัดการงานดี การทำหน้าที่ภรรยา ดูแล ทำความสะอาดบ้านช่องห้องหอ ทำอาหาร ซักผ้า ดูแลความเป็นอยู่ของคุณผู้ชาย เป็นงานที่ง่ายกว่าทำอาชีพที่เรียนมาเป็นร้อยเท่า อะไรที่ทำไม่เป็นก็หัด ก็เรียน เช่น การทำอาหาร จะให้ทำแต่อาหารไทยอย่างเดียว ก็เป็นไปไม่ได้ ก็ดูจากเพื่อนชาวสวิสที่เชิญเราไปกินข้าวที่บ้านนั่นแหละ ทำตามหนังสือบ้าง เป็นเรื่องที่สนุกสนาน ชีวิตไม่มีคำว่าเบื่อ กับการหาเมนูอาหารทำสำหรับชีวิตประจำวัน และทำอาหารเลี้ยงแขกที่มาเยือน โดยเฉลี่ยอาทิตย์ละครั้ง ถ้าไม่ติดใจคงไม่มากันบ่อย ๆ ใช่ไหมค่ะ

สงเคราะห์คนข้างเคียงดี ด้วยความเป็นคนที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ไม่รู้ว่าโดยอาชีพ หรือด้วยอะไรก็ตามแต่ กับพ่อแม่ ญาติพี่น้องคุณผู้ชาย ก็สนิทสนมกันดีไปมาหาสู่กันตามวาระ กับพ่อและแม่ท่านอายุมากแล้ว เราก็ไปหาเยี่ยมเยียนท่าน และเชิญท่านมาบ้าน ทำอาหารให้กิน พาไปเดินเที่ยว เล็กน้อย เพียงเท่านี้ท่านก็สุขใจแล้ว

ไม่ประพฤตินอกใจ เรื่องความซื่อสัตย์ข้อนี้ฉันรักษาเท่าชีวิต การวางตัวดีเป็นสิ่งสำคัญ ให้คนที่เข้ามาเขาเกรงใจ ไม่ทำอะไรนอกกรอบ

รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ ความเป็นคนประหยัด มัธยัสถ์ รู้ว่าสิ่งใดควรซื้อ สิ่งใดไม่ควร รู้จักการใช้จ่ายที่เหมาะสม พอควรกับฐานะ ฉันว่าผู้ชายส่วนใหญ่ คงไม่สุขใจเท่าไหร่ ถ้าภรรยาใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย ตัวเราเองก็เถอะ ถ้าอีกฝ่ายทำ เราก็คงไม่ค่อยสบอารมย์เท่าไหร่ จริงไหม

ขยันไม่เกียจคร้านในกิจทั้งปวง ความเป็นคนขยัน ไม่นิ่งดูดาย มีอยู่ในสายเลือด อยู่แล้ว ข้อนี้จึงง่ายราวกับปลอกกล้วยเข้าปาก

ความสำคัญของการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ประเภทใด การให้เกียรติซึ่งกันและกัน ย่อมเป็นสิ่งที่เราทุกคนพึงปฏิบัติ คำนี้ฉันมีไว้ในใจเสมอ “ใจเขา ใจเรา” เราต้องการให้ใครปฏิบัติกับเราเช่นไร เราก็ต้องปฏิบัติกับเขาเช่นนั้น เราไม่ชอบที่ใครมาทำแบบนี้กับเรา เราก็ไม่ทำแบบนั้นกับเขา ฉันดูแลเขา เขาก็ดูแลฉัน เช่น ก่อนเขาไปทำงาน ฉันจะเตรียมอาหารเช้าให้เขา ผ่าน ๆ ไป เราก็จะเห็นเองว่า วันไหนเขาไม่ได้ทำงาน แต่เราไปทำ ระหว่างที่เราแต่งตัว เขาก็เตรียมอาหารเช้าให้เรา เป็นความสุขเล็ก ๆ ในครอบครัวที่เราต่างดูแลกันและกัน

2. การอยู่ในสังคม และสิ่งแวดล้อมใหม่ในสวิตเซอร์แลนด์

สิ่งที่ฉันมีคือ การเป็นคนรักการเรียนรู้ และไม่อยู่เฉย และสิ่งที่ฉันให้ความสำคัญ คือ

1. ภาษา
เพราะภาษา คือ ประตูที่จะเปิดโอกาสให้ฉันก้าวไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน ไปซื้อกับข้าว ไปสถานที่ต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ย้ำว่าด้วยลำแข้งของตัวเอง หรือจะเรื่องการทำงานในอนาคต และที่สำคัญ คือ การสื่อสารกับสามี พูดคุย ปรับทุกข์ ปรึกษาหารือกันในเรื่องต่าง ๆ ภาษาที่นี่ ก็มีความยากลำบากเป็นสองเท่า เพราะภาษาพูดกับภาษาเขียน หรือภาษาราชการก็ไม่เหมือนกันซะอีก ฉันจึงต้องเรียนทั้งสองภาษา ภาษาพูดเรียนกันสามีนั่นแหละ ส่วนภาษาราชการ คือ ภาษาเยอรมัน ทั้งฟัง พูด อ่าน และเขียน ด้วยว่าฉันไม่ได้ทำงาน เป็นแม่บ้าน ลูกก็ไม่มี จึงมีเวลา และเราไม่มีเงินมากนัก เพราะค่าเรียนก็แพง ก็คิดว่า ฉันจะเรียนเอง สามีซื้อหนังสือมาให้ ทั้งเรียนเองและเรียนกับเขา ในเรื่องนี้ ต้องบอกว่า คนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถึงแม้จะเรียนเอง แต่ก็ลองไปเรียนในโรงเรียนสอนภาษาอยู่ 2 คอร์ส แต่ฉันชอบเรียนเอง ฝึกเองมากกว่า ทั้งจากตำราอาหาร และอ่าน รวมทั้งฝึกทางอินเตอร์เน็ตซึ่งมีมากมายให้เลือก ฉันสื่อสารด้วยภาษาท้องถิ่นกับสามี ญาติ ๆ เพื่อน ๆ รวมทั้งเพื่อนบ้าน ไปไหน ทำอะไร คนเดียวได้สบาย ๆ และได้ทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาลมาได้ 3 ปีแล้ว นั่นคือกว่าจะได้ใบประกาศก็ต้องสอบผ่านภาษาเยอรมันในระดับบีหนึ่ง นี่เป็นผลจากการเป็นคนที่มีความขยัน อดทน และเป็นคนสู้

2. สร้างสังคมใหม่กับคนสวิส
ฉันสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนของพ่อบ้าน เพื่อนบ้าน ญาติ ๆ ของเขา ทำให้ฉันมีโอกาสฝึกฝนการใช้ภาษา
ฉันไปเป็นอาสาสมัครที่บ้านพักคนชราแถวบ้าน ฉันเคยเป็นสมาชิกชมรมเทเบิลเทนนิส ตั้งแต่มาอยู่ใหม่ ๆ และเป็นสมาชิกสมาคมแม่บ้านของหมู่บ้านที่ฉันอยู่ เราพบปะ ออกกำลังกายทุกเย็นวันพุธ ฉันได้ฝึกภาษาและสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ชีวิต ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่สมาคม ชมรมจัดให้สมาชิก

3. สร้างสังคมกับคนไทยในถิ่นที่อยู่ เพื่อสร้างมิตรภาพ ฉันพี่น้อง พึ่งพาอาศัยกัน พบปะสังสรรค์
ทำเรื่องที่มีประโยชน์ และสร้างสรรค์ ฉันเป็นคณะกรรมการอาสาสมัครในสมาคมไทย ที่ให้ความรู้เรื่องสิทธิหน้าที่ต่าง ๆ ของเราเมื่อมาอยู่บ้านเมืองเขา เรื่องกฎหมายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายครอบครัว กฎหมายแรงงาน สิทธิพำนัก ฯลฯ การทำงานจิตอาสาที่นี่ คือการได้เรียนรู้สิ่งที่เราควรต้องรู้ในฐานะประชาชนคนหนึ่งของประเทศนี้ และทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเฟสบุ๊คของสมาคมด้วย จากประสบการณ์ที่ทำงานด้านนี้มาเป็นเวลาเกือบ 7 ปี พบว่า พวกเราเวลาเราจัดให้ความรู้หรือสัมมนาด้านกฎหมายความรู้ต่าง ๆ เข้าฟังฟรี แต่คนไม่สนใจเข้าฟังเพื่อเรียนรู้และเตรียมตัว แต่จะวิ่งหาคนช่วยเมื่อปัญหามาจ่อหน้า หรือเกิดปัญหาแล้ว เหมือนภาษิตที่ว่า “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา” จะดีกว่าไหม ถ้าจะ “กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วจะแก้ไม่ทัน”

4. การเรียนรู้หาความสุขแท้ให้ตัวเอง ผ่านการศึกษาและปฏิบัติตามธรรมะของพระพุทธเจ้า บวกกับความเชื่ออำนาจในตนว่าเรากำหนดชีวิตของเราเองได้ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ก็หาสุขจนเจอ และสามารถก้าวผ่านอุปสรรคทั้งหลายไปได้

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การปรับตัว สำหรับการใช้ชีวิตในต่างแดนนั้น สิ่งที่นำติดตัวมาใช้ได้ผล วัดจากการครองชีวิตคู่อย่างผาสุข และราบรื่น การอยู่ในสังคมใหม่ ก็มีเพื่อนทั้งชาวไทย และชาวสวิส ให้คบหาแลกเปลี่ยน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ฉันไปกินข้าวบ้านเธอ เธอมากินอาหารฝีมือฉัน ได้รับการยอมรับจากคนในสังคมที่เราอยู่ ภาคภูมิใจในความเป็นตัวตนของตนเอง

จึงไม่มีคำว่ายาก หากรู้จักปรับตัวนะคะ

Message us