#ดีต่อใคร (สารสตรี ๒๐๑๗)

คําเตือน บทความนี้มีการใช้ภาษายุคโลกโซเชียลเป็นจํานวนมาก

เฟสบุ๊ค (Facebook) เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนยุค เปลี่ยนอุปนิสัย เปลี่ยนพฤติกรรม ค่านิยม ให้ไปในทิศทางคล้ายกันได้เกือบทั้งโลก อีก 10-20 ปีข้างหน้า อาจมีการบันทึกเรียกชื่อยุคนี้ว่า “ยุคเฟสบุ๊ค” แบบที่เคยมี ยุคเบบี้บูม ยุคฮิปปี้ ฯลฯ

ย้อนหลังไปหลายสิบปีก่อน เราคงนึกไม่ออกว่าโลกทั้งใบของเราจะเข้ามาอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมแบน ๆ ขนาดไม่เกินหนึ่งไม้บรรทัดได้ยังไง ในยุคที่ผู้เขียนเติบโตมา เด็กหลายคนถูกเลี้ยงด้วยทีวี ตอนนี้เด็กถูกเลี้ยงด้วยไอแพด เล็กกว่าทีวีด้วยซ้ำ

เรามีพฤติกรรมใหม่ ๆ แปลก ๆ หลายคนลืมตาขึ้นมาในตอนเช้า งัวเงีย ควานหามือถือ กดเข้าไปอ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั่วโลกผ่านหน้าฟีด (News Feed) ในเฟสบุ๊ค นิ้วคอยเลื่อนอ่านโพสต์คนนั้นคนนี้ไปเรื่อย ๆ สานสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เพื่อน หรือคนแปลกหน้าได้ไม่ถึง 1 วินาที ด้วยการ คลิกไลค์ (Click like) หรือ กดแชร์ (Click share)

“ช่วยกันไลค์” “กระทืบไลค์” “แชร์วนไป” กลายเป็นประโยคยอดฮิตหลายคนคอยเช็คตัวเลขสีแดงมุมบนขวาของจอ ด้วยความชื่นใจลึกๆ เพราะมันเหมือนเรามีคนสนใจและอยากสานสัมพันธ์ด้วยการไลค์หรือการเม้นท์ บางคนถึงขั้นใจเสียที่ตื่นมาเห็นเลขสีแดงมีค่าน้อยหรือไม่มีเลย

เราเจ็บป่วยดว้ยอาการแปลก ๆ โรคปวดคอ/บ่า/ไหล่ สะบัก แขนชา คอยืดโก่งไปข้างหน้า เป็นโรค Office Syndrome สารพัดโรคที่จะสรรหา สืบเนื่องจากก้มหน้า ยกแขนตั้งฉากตลอดเวลา มีอาการเสพย์ติดโลกไซเบอร์

เรามีนิสัยใหม่ ๆ เริ่มขี้อวด พากันถ่ายรูปตัวเอง ห่อแก้ม ห่อปาก มองด้วยหางตา มองบน มองล่าง พกไม้เซลฟี่ (Selfie Stick) ปลั้กชาร์จมือถือเป็นของจําเป็นที่ต้องแพ็คลงกระเป๋าเมื่อออกเดินทาง เรากลายเป็นคนที่แสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะผ่านการเม้นท์ (Comment) บางคนอ่านหนึ่งบรรทัดใต้ภาพแล้วอิน (into something) พากัน “เม้นท์รัวๆ” บางทีเม้นท์แบบไม่เข้ากับเนื้อหาในเรื่องด้วยซ้ํา

มีการทําร้ายกันที่เรียกว่า cyber- bully หรือสร้างวาทะกรรมแห่งความเกลียดชัง (Hate speech) โดยการเม้นท์ถึงผู้อื่นอย่างรุนแรงหรือหยาบคาย ไม่แน่ใจว่าการแสดงความคิดเห็นหลังแป้นพิมพ์ โดยไม่ต้องเผชิญหน้ากันแบบนี้ เหมือนหรือต่างกับการนินทาลับหลังหรือไม่

และล่าสุดคือนิสัยออกอากาศสด (Facebook Live) ให้คนรู้ว่าฉันทําอะไรที่ไหน ยังไง กับใคร ถ่ายวิดิโอตัวเองไปให้คนกดไลค์ ให้หัวใจ หรือเม้นท์พูดคุยกันสด ๆ ผู้เขียนเคยเจอคนไทยคนนึง กําลังนั่งดูคลิปมาดามต่างแดนออกอากาศสดตอนเดินห้าง ลองเสื้อผ้า พูดคนเดียวกับมือถือ ส่วนคนดูก็นั่งดู หัวเราะเพลิดเพลิน นั่งดูอยู่เป็นชั่วโมง ผู้เขียนรู้สึกเหมือนตัวเองอยู่ผิดที่ผิดทางอย่างบอกไม่ถูก

หรือข่าวเซเล็ปสาวชื่อดังชาวอเมริกันถูกปล้นเครื่องเพชรในโรงแรมกลางดึกอย่างอุกอาจเพราะโจรเห็นเครื่องเพชรทุกชิ้น รู้ความเคลื่อนไหวของเธออย่างละเอียด รู้ว่าเธอพักที่ไหน เหตุเพราะเธอถ่ายทอดสดตัวเอง เป็นต้น บางคนโกรธใคร งอนใคร ระบายมันลงหน้าเฟส เหมือนการระบายลงไดอะรี่ แต่ดันเปิดโพสเป็นหน้าสาธารณะ (Publically Post) คนแปลกหน้าพากันเข้าไปอ่าน ตัดสิน เลือกข้าง ประณาม โดยคิดไม่ทันว่า วันนึงทุกคนในที่นี้อาจกลายมาเป็นเพื่อน ช่วยเหลือกันอีกก็ได้

การโพสต์ในเฟสบุ๊คไม่ต่างจากการตะโกนพูดนอกถนนที่มีคนเดินขวักไขว่ เป็นการสะท้อนความคิด ที่จะเป็นภาพติดตัวไปอีกนาน และอาจมีคนที่เรารักหรือเด็กเล็ก ๆ คนนึงกําลังอ่านอยู่

เฝ้ามองตัวเอง เวลาที่เลื่อนอ่านหน้าฟีดของคนนั้นคนนี้ไปเรื่อยๆ เคยได้สังเกตอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองบ้างมั้ย  1 วินาที ยินดีกับเพื่อนที่รับปริญญา / 1 วินาที ผวาเห็นข่าวอาชญากรรม / 1 วินาที หัวเราะกับคลิปตลก / 1 วินาที อิจฉาคนได้เงินก้อนโต ฯลฯ เรารู้สึกแบบนั้นแบบนี้ทุก 1-2 วินาที เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ทุกวัน ทั้งวัน ทั้งสัปดาห์ ทั้งเดือน ต่อไปเราจะกลายเป็นคนที่มีภาวะอารมณ์แบบไหน

เคยคิดจะให้ของขวัญตัวเองด้วยการปิดมือถือ ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ ไม่เข้าไปในโลกโซเชียลเลยระยะหนึ่ง (1 วัน / 3 วัน / 7 วัน) แล้วออกไปใช้ชีวิตแบบเดิมที่เคยเป็นก่อนโลกโซเชียลถูกสร้างขึ้นบ้างไหม เพื่อให้ตัวเองได้พักจากการเสพย์ข้อมูล พักจากการใช้อารมณ์พร่ำเพรื่อ คนที่ไม่เสพย์ติดโซเชียลหรือไม่เล่นเฟสบุ๊คเลยอาจไม่เข้าใจ แต่ผู้เขียนเองเคยลองทํา 7 วัน แล้วรู้สึกแตกต่างจนตกใจว่า นานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้มีชีวิตที่สงบ ปราศจากการรับอารมณ์ต่าง ๆ ผ่านโลกโซเชียลพร่ำเพรื่อจนลืมตัว

เราไม่สามารถสวนกระแสได้ เพราะโลกกําลังเปลี่ยน แม้แต่รัฐบาลไทยเองก็กําลังผลักดันนโยบายประเทศไทย 4.0 ให้ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ขับเคลื่อนประเทศ ตามกระแสโลก มันเป็นเพียงการตั้งคําถาม เปิดประเด็นให้เราได้พูดคุยกับตัวเอง สังเกตตัวเอง

ใช้เฟสบุ๊คอย่าง #ดีต่อใจ และเปลี่ยนให้กลายเป็นพลัง #ดีต่อใคร ในวงกว้าง

เครดิตภาพ socialmedia-forum

Message us