ผู้หญิงกับความรู้สึกผิด

เพื่อน ๆ เป็นคนหนึ่งใช่ไหมที่ทำอะไรก็อยากให้ถูกใจ ถูกต้อง ถูกอารมณ์คนอื่น ครั้นพอไม่เป็นเช่นนั้น ก็อดรู้สึกผิดไม่ได้ เอาไปคิดเสียใจเป็นวัน ๆ ทั้ง ๆ ที่ผลลัพธ์นั้นอยู่นอกเหนือการควบคุมของตนเอง และตัวเองก็คิดว่าได้ทำดีที่สุดแล้ว

มันเป็นความจริงที่น่าประหลานที่ผู้หญิงกับความรู้สึกผิดเป็นของคู่กันอย่างแยกไม่ออก วันนี้ ผู้เขียนเลยถือโอกาสนำบทความของ ดร. สเตฟานี บู้ธ ที่วิเคราะห์ปมรู้สึกของผู้หญิงไว้โดยใช้หลักวิทยาศาสตร ๑๑ ประการ* มาฝาก พร้อมให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม

ผลการสำรวจวิจัยบ่งว่า ผู้หญิงเกือบร้อยทั้งร้อย หรือ ๙๖ เปอร์เซ็นต์ จะรู้สึกผิด “อย่างน้อย” วันละ ๑ ครั้ง (รีบสำรวจตัวเองแป๊บนึง) แล้วผู้หญิงเรารู้สึกผิดกับเรื่องอะไรได้บ้าง สารพัดเรื่องค่ะ ชนิดที่ว่า ถ้าเขียนเรื่องที่ผู้หญิงจะไม่รู้สึกผิดออกมาเป็นข้อ ๆ แล้ว จะมีหัวข้อน้อยกว่าเรื่องที่รู้สึกผิดมากมาย

เรื่องที่ว่ารู้สึกผิดนั้น ไม่ใช่เรื่องที่รุนแรงขนาดนอกใจสามี หรืออะไรปานนั้น แต่เราจะเฆี่ยนตีตัวเองในทุกเรื่องตั้งแต่อาหารเช้าที่ลืมเสิร์ฟแยม ไปจนถึงคำพูดที่เราพูดกับเพื่อนโดยไม่ตั้งใจ หรือการลืมหยิบลิปสติกสีสวยติดกระเป๋ามาด้วย

มีข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสต์ ๑๑ ประการเกี่ยวกับนิสัยที่ไม่น่าพิศมัยของผู้หญิงเรา และเป็นสิ่งเลวร้ายสำหรับเราเสียด้วยสิ ข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้มาจากการวิจัยโดยสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง

  1. ผู้หญิงเป็นโรคติดต่อร้ายแรงเรื่องความรู้สึกผิด เพราะผู้หญิงมีนิสัยละอายและรู้สึกผิดชัดเจนมากกว่าผู้ชาย ความรู้สึกทั้งสองเชื่อมโยงอย่างแยกไม่ออกกับการวิจารณ์ตัวเอง (self-criticism) และแนวโน้มที่อยากเป็นคนสมบูรณ์แบบ (perfectionist) หรือเรียกอีกอย่างว่า “นักสมบูรณ์แบบนิยม” นิสัยนี้มีชัดเจนมากเมื่อเทียบกับฝ่ายชาย ผู้หญิงส่วนใหญ่มักไม่พอใจกับรูปร่างของตัวเองว่า ฉันไม่สวย ฉ้นอ้วน (แต่ลืมดูว่าเพื่อนคนที่พูดด้วยนั้นอ้วนกว่า) ฉันเรียนไม่เก่ง (เลยไม่ยอมเรียนรู้เพิ่มเติม) ฉันจมูกไม่โด่ง (เลยไปทำศัลยกรรม) ฯลฯ ขณะที่ผู้ชายจะภูมิใจกับเรือนกายของตัวเองไม่ว่าเขาจะอ้วนลงพุง หรือผมแห้งแรงน้อย
  2. เราถูกสั่งสอน (ปลูกฝัง) มาให้รู้สึกเสียใจและกระดากอาย ตามการศึกษาวิเคราะห์ของสเปนพบว่า ผู้ชายจะ “ขาดความสำนึกผิด” เพราะผู้ชายขาดความอ่อนไหว มิใช่รู้สึกผิดไม่เป็น ผู้ชายทำผิดแล้วก็จะยักไหล่แล้วก้าวต่อไป ในขณะที่ผู้หญิงจะห่วงตลอดเวลาว่าจะทำอะไรผิด และห่วงมากมายเกินไปกับความรู้สึกของผู้อื่น สิ่งนี้อาจถูกปลูกฝังโดยครอบครัวไว้ในจิตใต้สำนึกของเรา แต่นักวิจัยเชื่อว่า สังคมเองก็มีส่วนในการสอนให้เด็กหญิงทำตัวเป็น “เด็กดี” เข้าไว้ ผู้หญิงจึงไม่กล้าออกนอกกรอบ เพราะกลัวจะกลายเป็น “ผู้หญิงไม่ดี” ในสายตาของสังคม ในวัฒนธรรมไทยหรือจีนเราเห็นผู้หญิงอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อครอบครัว จึงมีคำพูดที่ว่า “มีลูกผู้หญิงเหมือนมีส้วมหน้าบ้าน” เป็นการตีตราที่ผู้หญิงเองก็ไม่ค่อยจะคัดค้าน
  3. ผู้หญิงนักทำงานยิ่งรู้สึกผิดถ้าต้องหอบงานไปทำที่บ้านด้วย การศึกษาวิจัยอีกตัวหนึ่งพบว่า ผู้หญิงจะรู้สึกผิดและกดดันมากกว่าผู้ชายถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์เมื่อต้องเอางานมาปนกับภาระในบ้าน โดยเฉพาะคุณแม่ของลูกเล็ก ๆ จะยิ่งรู้สึกแย่เป็นเท่าทวีคูณว่ากำลังบกพร่องในหน้าที่ของแม่ ถ้าต้องรับโทรศัพท์เรื่องงานที่บ้าน  ความรู้สึกผิดเช่นนี้คงเป็นโรคสมัยใหม่เมื่อทั้งคุณพ่อและคุณแม่ต้องช่วยกันทำมาหากินนอกบ้าน เมื่อกลับบ้านคุณพ่อส่วนใหญ่ได้พักผ่อน แต่คุณแม่ส่วนใหญ่ต้องทำงานบ้าน เข้าครัวทำอาหาร เก็บกวาด เลี้ยงลูก เอาลูกอาบน้ำ เข้านอน สารพัด เหนื่อยเป็น ๒ เท่า แต่ก็ไม่เคยรู้สึกว่าทำได้ดีพอ
  4. ความรู้สึกผิดที่ท่วมท้นที่แท้เป็นอาการแฝงตัวของโรคซึมเศร้า ซึ่งผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย หากรู้สึกผิดซ้ำ ๆ จนกดดันและเครียด กินไม่ได้ นอนไม่หลับ มองโลกเป็นสีเทาหรือสีดำ ยิ่งร้ายไปใหญ่ โรคนี้เป็นกันมากในยุคปัจจุบัน คนเราเครียดแล้วเกิดซึมเศร้าเบา ๆ เบาะ ๆ ปานกลาง หนัก หรือรุนแรงชนิดคิดฆ่าตัวตายหนีปัญหาก็มี โรคนี้เป็นโรคจริง ๆ ที่ไม่มีบาดแผลทางร่างกาย ทำให้คนรอบข้างอาจคิดว่าเป็น “โรคสำออย” เพราะแผลนั้นฝังลึกในจิตใจ ผนวกความรู้สึกผิด จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการปรึกษานักจิตวิทยา นักจิตบำบัด จิตแพทย์ จนกระทั่งถึงพระสงฆ์องคเจ้า การพูดคุยและได้รับความเข้าใจและกำลังใจจากคนใกล้ชิด พร้อมที้การปฏิบัติสมาธิ เล่นโยคะ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยให้คนเป็นโรคนี้บรรเทาอาการและหายได้ในที่สุด แม้ว่าหลายกรณีจะต้องใช้ยารักษาต่อเนื่อง
  5. สิ่งแวดล้อมใยการเติบโตทำให้ผู้หญิงรู้สึกผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตในครอบครัวที่มีบรรยากาศของการทารุณกรรม ทำร้ายร่างกาย ละเมิดทางเพศ กดขี่ข่มเหง ขณะที่เด็กชายในสถานการณ์เช่นนี้จะกลายเป็นคนก้าวร้าวรุนแรงขี้โมโหเพื่อระบายความกดดันออกไป แต่เด็กผู้หญิงจะเก็บกดความรู้สึกละอายและความรู้สึกผิดไว้มากกว่า ด้วยเหตุผลของความรู้สึกสิ้นหวังไปจนถึงการต้องฝืนทนรับชะตากรรมกับการถูกรุกรานพื้นที่ส่วนตัวในกรณีละเมิดทางเพศหรือทุบตีทำดยคนในครอบครัวเอง
  6. ต่อเนื่องจากข้อ ๕ แต่อาจจะไม่ได้เกิดในบริบทครอบครัว คือ ผู้หญิงรู้สึกละอายแก่ใจหลังถูกละเมิดทางร่างกายและถูกข่มขืน และด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป เหยื่อของความรุนแรงในครัวเรือนมักรู้สึกผิดที่ตัวเองไม่สามารถช่วยให้คนที่ตัวเองรัก (เช่น พ่อ หรือ พี่ชาย) หยุดยั้งจากการทำผิดได้ ส่วนเหยื่อของการข่มขืนจากคนแปลกหน้าจะรู้สึกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของตัวเอง เช่น ไปเดินในที่เปลี่ยว แต่งตัวล่อแหลม ไม่ระวังตัวเอง สังคมเองก็มักจะให้ความเห็นอกเห็นใจน้อย และออกจะคิดไปในทางซ้ำเติมด้วยซ้ำ
  7. ความรู้สึกผิดยังลุกลามไปถึงชีวิตทางเพศ โดยเฉพาะถ้าผู้หญิงรู้สึกผิดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก เช่น เคยถูกลวนลามข่มขืน หรือแอบไปเป็นกิ๊กของคนที่มีลูกเมียแล้ว หรือเจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานที่มีแฟนแล้ว โอกาสที่เธอจะไม่สนุกกับเรื่องทางเพศที่ตามมา ยิ่งมีมากขึ้น หรือรู้สึกว่าตัวเองมีราคีคาวไม่ควรคู่กับผู้ชายดี ๆ เลยหาทางออกในทางที่ผิด เช่น ไปนอนกับคนนั้นคนนี้ ไหน ๆ ก็เสียไปแล้ว หรือไปเป็นหญิงขายบริการ (ทั้งที่อาชีพนี้มิใช่อาชีพที่ต้องถูกดูถูก แต่คนที่น่าตำหนิคือคนที่ไปเที่ยวต่างหาก) หรือทำงานที่ต้อยต่ำกว่าความสามารถอื่น ๆ ไม่กล้าสู้หน้าสังคม หนีจากท้องถิ่นเดิมไปอยู่ที่อื่น ซึ่งเป็นการสูญเสียศักยภาพแห่งสตรีที่น่าเสียดายยิ่ง
  8. ผู้หญิงกับความอ้วน เมื่อยิ่งรู้สึกผิดก็ยิ่งกินผิด ๆ ความละอายใจในพฤติกรรมการกินเป็นตัวทำนายที่ชัดเจนว่า ผู้หญิงกำลังมีความผิดปกติในเรื่องกิน และรู้สึกไม่ดีกับนิสัยการกินและรูปร่างเรือนกาย ความรู้สึกผิดนี้อาจนำสู่โรคกินไม่หยุด ซึ่งถือเป็นภาวะการเจ็บป่วยแบบหนึ่ง ภาวะความอ้วนกำลังคุกคามมนุษยชาติเพราะความกินดีอยู่ดีและการย้ายถิ่นที่ทำให้ร่างกายต้องรับอาหารชนิดใหม่ที่ไม่คุ้นเคย (เช่น ผู้หญิงไทยกับการดื่มไวน์ ดื่มเหล้า กินชีส กินนมเนย กินเนื้อสัตว์กินแป้งมากกว่าอยู่ที่เมืองไทย เพราะร่างกายต้องใช้พลังงานสู้กับความหนาวเย็น)
  9. ผู้หญิงคุณแม่นักทำงานสามารถหยุดความรู้สึกผิดได้ เย้ !!! ถ้าคุณเป็นคุณแม่ที่ทำงานนอกบ้าน คุณเตรียมดีใจได้เลย การศึกษาโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า ลูกสาวของคุณแม่นักทำงานส่วนใหญ่จะโตขึ้นเป็นผู้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และมีความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกว่ากับคนรอบข้าง แต่อย่าลืมว่า คุณแม่และคุณพ่อเลี้ยงดูลูกแบบไหนด้วย ถ้าคุณแม่นำวินัยในการทำงานมาเป็นแนวทางให้ลูก ๆ และแบ่งเวลาเลี้ยงลูกและทำงานได้เหมาะสมก็ยิ่งจะหวังผลที่น่าชื่นชมได้ แต่พ่อแม่สมัยใหม่รู้สึกผิดที่ไม่ได้อยู่กับลูก มักทุ่มเทเป็นเงินทองของมีค่าแต่ไม่มีเวลาอบรมสั่งสอนลูก ๆ ด้วยตัวเอง แบบนี้ก็ไม่แน่ใจว่าเด็กจะเติบโตขึ้นมาแบบไหนเหมือนกัน
  10. คำเล็ก ๆ เพียงคำเดียว สามารถทำให้คุณรู้สึกพ้นผิดได้ คำพูดคำนั้นคือ … คำว่า “ไม่” การรู้จักพูดว่า “ไม่” จะเริ่มขีดเส้นที่ชัดเจน และช่วยให้คุณดูแลตัวเองได้ดีขึ้น อย่าหวังว่าคุณจะพูด “ไม่” ได้โดยง่ายดายตั้งแต่ครั้งแรก เป็นไปได้ว่า คุณต้องเผชิญกับความรู้สึกผิดมาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ ไม่เคยพูดว่าไม่ ทุกอย่างที่พ่อแม่สั่ง คุณต้องทำแม้ว่าจะขัดกับสิ่งที่ตัวเองต้องการ ผู้หญิงส่วนใหญ่พูด “ไม่” ออกไปแล้ว ยิ่งรู้สึกผิด แล้วถอนคำพูด กลับไปทำในสิ่งที่คุณบอกว่าจะไม่ทำ ขอให้รู้ว่าคุณจะไม่สามารถแก้นิสัยนี้ในชั่วข้ามคืน นอกจากนั้น คุณต้องพร้อมรับอุปสรรคหรือการประท้วงกดดันจากคนที่เคยได้รับแต่ว่าว่า  “ได้ค่ะ” จากคุณมาตลอดด้วย แต่คุณแก้ได้แน่นอนถ้าตั้งใจมั่น เหมือนคนหัดยืดหยุ่นในการเล่นโยคะที่ครั้งแรก ๆ ยืดแทบไม่ได้ ทำบ่อย ๆ ก็ยืดได้อย่างไม่น่าเชื่อ
  11. มีเทคนิคที่น่าแปลกใจว่า คุณสามารถทำตัวเองให้รู้สึกผิดน้อยลง นั่นคือการเสแสร้งว่า คุณ ไม่มีทางเลือก นอกจากจะต้องเห็นแก่ตัวเองและดูแลตัวเองก่อน นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียพบว่า เรารู้สึกผิดเมื่อเราต้องดูแลผลประโยชน์ของตัวเอง เช่น ถ้าไม่ช่วยคน ๆ นี้ทั้ง ๆ ที่ช่วยได้แต่คุณต้องเสียเงิน เสียเวลา เสียการปกครองคน หรือลูกจ้างคนนี้ไม่มีแนวโน้มว่าจะทำตัวให้ดีขึ้น ถ้าให้ออก เขาก็จะไม่มีที่ไป คุณเลยยอมทนจ้างไว้ทั้ง ๆ ที่ลูกจ้างคนอื่นเขาไม่เอาด้วยแล้ว คุณจะรู้สึกผิดในกรณีเอาลูกจ้างคนนี้ออก แต่เมื่อคุณบอกว่าตัวเองว่า เราเลือกอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากเลือกคนส่วนใหญ่ (คือลูกจ้างที่เหลือ) ความรู้สึกผิดนั้นก็จะหายไป แต่อย่าลืมว่าคุณต้องใช้วิจารณญาณที่เที่ยงธรรมด้วย อย่าให้กฎหมู่มาอยู่เหนือคุณธรรม

อ่านมา ๑๑ ข้อแล้ว เหนื่อยไหมคะกับการแบกความรู้สึกผิด มีข้อไหนที่ตรงกับเพื่อน ๆ มีข้อไหนที่ไม่เห็นด้วย มีทางแก้ไขตัวไหนที่พอจะทำได้บ้าง

ในทางพุทธ มีคนสงสัยและรู้สึกผิดต่อสิ่งที่ทำไปแล้วหรือสิ่งที่ไม่ได้ทำเมื่อควรจะทำในอดีต เช่น เคยทำแบบนี้ไว้ รู้สึกบาป เคยผิดศีล เคยละเมิดผู้อื่น เคยละเลยพ่อแม่ เคยทอดทิ้งลูก เคยตัดสินใจพลาด ไปไม่ทันดูใจพ่อแม่ น่าจะเรียนภาษานี้ก็ไม่ได้เรียนเลยต้องมาลำบาก เลือกเพื่อนผิด เลือกสามีผิด ฯลฯ

ต่อคำถามเหล่านี้ คนพุทธควรจะคิดอย่างไร พระท่านสอนว่า สิ่งที่ทำไปแล้ว โยมก็ได้ทำดีที่สุดในขณะที่โยมทำแล้ว โยมทำเท่าที่ความรู้ กำลังสติ กำลังแห่งศีล ของโยมมีในขณะนั้น เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว เรากลับไปแก้ไขไม่ได้ แต่เรายอมรับได้ว่า ขณะนั้นเรารู้แค่นั้น เราทำดีที่สุดในจุดนั้น เราปล่อยผ่าน และมาทำดีที่สุดในจุดปัจจุบันดีกว่า มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะ ปล่อยให้อดีตเป็นเรื่องของอดีต

และถ้าทำปัจจุบันขณะแล้ว ผลออกมาไม่ดีดังใจก็บอกตัวเองว่า ก็แก้ไขตามสติกำลังแล้ว บอกว่าเราทำดีที่สุดเท่าที่เรามีพละกำลัง สติ ปัญญาและศีลธรรมกำกับไว้ เข้าใจตัวเอง เข้าใจข้อจำกัดของตน มุ่งหน้าพัฒนาตัวเองต่อไป แล้วกองความรู้สึกผิดไว้ตรงนั้น ไม่ต้องแบกไปด้วย

ทำได้อย่างนี้ แล้วจะไม่ “ดีต่อใจ” ก็ให้มันรู้ไปค่ะ

* ที่มาของบทความ ข้อ ๑ ถึง ๑๑ : thestir.cafemom.com