เงาความคิด โดย Mou Sikharin
Cover photo credit: https://www.abc.net.au/news/2021-11-12/why-thailand-s-sex-workers-want-the-industry-legalised/100556522
เวทีวันนี้ (วันที่ 28 พฤษภาคม 2561) ถามเราว่า
“เห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้อาชีพค้าบริการทางเพศ เป็นอาชีพถูกกฎหมาย”
หลังจากประชุมรับฟัง แลกเปลี่ยนความเห็นมาทั้งวัน ..พอขึ้นนั่งแท็กซี่ เลยถามคำถามนี้กะพี่แท็กซี่ … พี่แท็กซี่ออกตัวก่อนเลยว่า “มันมี 2 แง่นะ… แต่ก่อน #กฏหมายไม่ห้าม (ค้าบริการทางเพศ) คดีข่มขืนมันก็ไม่มี ใครเกิดอารมณ์ ก็ไปสถานค้าบริการ พอกฏหมายห้าม คดีข่มขืนมันก็มาก คนที่ถูกข่มขืน ก็เป็นคนแต่งตัวมิดชิด เรียบร้อย… #คลิปโป๊ ก็หาง่ายมาก เข้าไปในกลุ่มไลน์ เยอะแยะ (แล้วพี่เค้าก็เปิดตัวอย่างกลุ่มไลน์ มีทั้งคลิปผู้ใหญ่ และคลิปเด็กมัธยม มันเป็นตัวกระตุ้นสำคัญให้คนต้องการมีเพศสัมพันธ์) … #สถานค้าบริการก็มีทั่วเมือง แทนที่จะไปเสียใต้ดิน ก็ทำให้เป็นอาชีพ แล้วเสียภาษีเข้ารัฐซะ .. ผมไปส่งลูกค้าที ก็ได้ค่าน้ำหัวละพันอยู่แล้ว”
แล้วเพื่อนๆ หล่ะ .. คิดยังไง #ค้าบริการทางเพศควรเป็นอาชีพถูกกฎหมายหรือไม่?
==============================================
จากการบรรยายความรู้กฎหมายนานาประเทศ โดยทีม ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ ออรุ่งโรจน์ และคณะอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ให้ตัวอย่างกฎหมายของ 8 ประเทศ ขอเล่าโดยสังเขป ดังนี้
#สถานการณ์ทั่วไป : ก่อนตรากฎหมาย ทุกประเทศ มีจำนวนผู้ประกอบอาชีพค้าบริการทางเพศอยู่แล้ว เคยประสบปัญหาเรื่องการควบคุมโรค หรือการระบาดของโรคทางเพศสัมพันธ์ ปัญหาสุขภาพทางกายและทางจิตของหญิงผู้ให้บริการ ปัญหาความรุนแรงทางเพศและการก่ออาชญากรรมทางเพศ .. จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงกฎหมาย เพื่อแก้ไขหรือปรับปรุงสถานการณ์เหล่านี้ให้ดีขึ้น
#หลักการเบื้องต้น : ทุกประเทศ ไม่อนุญาตให้บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี ประกอบอาชีพค้าบริการทางเพศ, การประกอบอาชีพนั้น ใช้หลัก “สมัครใจ” เป็นสำคัญ หากไม่สมัครใจ จะถือว่าการค้าบริการนั้น เป็นการค้ามนุษย์
การพัฒนากรอบกฎหมายของทั้ง 8 ประเทศ สามารถจัดกลุ่มได้เป็น 3 แนวทาง คือ
แนวทางแรก #เปิดเสรี
#ประเทศนิวซีแลนด์ ถือว่าเป็นประเทศแรกของโลกที่เปิดให้มีการค้าบริการทางเพศแบบเสรี (แต่ควบคุมด้วยกฎหมายสาธารณสุข และกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย) อนุญาตให้ค้าได้แบบเป็นอาชีพอิสระ ไม่ต้องขออนุญาตหรือขึ้นทะเบียน และอนุญาตให้เปิดสถานประกอบการค้าประเวณี โดยจะต้องขอใบอนุญาตจากศาล ซึ่งใบอนุญาตมีอายุ 1 ปี กรณีที่สถานค้าประเวณี มีผู้ให้บริการน้อยกว่า 4 คน ไม่ต้องขออนุญาต .. กฎหมาย จะควบคุมโดยมีกำหนดมาตรการสุขอนามัย การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ผู้ค้าบริการมีสิทธิยุติการให้บริการได้ทุกเมื่อ และกฎหมายยังให้ความคุ้มครองกับการถูกดูหมิ่นเหยียดหยามทั้งจากผู้ประกอบการและลูกค้า … นับแต่การตรากฎหมายปี 2003 ถึงปัจจุบัน อาชีพค้าประเวณีไม่ได้มีอัตราเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด … ข้อสังเกตที่สำคัญ คือการอนุญาตให้ประกอบอาชีพนี้ อนุญาตเฉพาะคนชาติ เป็นผลให้คนต่างชาติ ยังคงลักลอบค้าประเวณีอยู่ใต้ดิน ไม่มีมาตรการดูแลคุ้มครองคนกลุ่มนี้
#ประเทศเนเธอแลนด์ เดิมการค้าประเวณีไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่ผิดกฎหมาย คือการตั้งสถานค้าประเวณี จนกระทั่งปี 2000 ได้แก้ไขให้การตั้งสถานค้าประเวณี เป็นสิ่งถูกกฎหมายด้วย กำหนดให้มีระบบควบคุม โดยต้องขออนุญาตเปิดสถานค้าประเวณี ให้มีระบบลงทะเบียนลูกจ้าง ลูกจ้างนั้น สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคม มีมาตรการส่งเสริมการตรวจสุขภาพ มีการจัดทำทะเบียนข้อมูลผู้ประกอบอาชีพค้าประเวณี และมีหน่วยงานช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้
#ประเทศเยอรมัน เป็นประเทศหนึ่งที่มีการผกผันของสถานการณ์อยู่หลายครั้ง จากดั้งเดิมที่สังคมมองว่าการค้าประเวณี ไม่ขัดต่อศีลธรรม แถมยังจรรโลงสังคมให้ไม่เกิดการล่วงละเมิดทางเพศด้วย จนมาถึงยุคการเผยแพร่ศาสนา (คริสต์) ก็เปลี่ยนมุมมองว่าการค้าประเวณีเป็นสิ่งผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แมงดา” คือผู้แสวงหาประโยชน์จากร่างกายผู้อื่น จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมันแพ้สงคราม ต้องจ่ายค่าสงคราม เศรษฐกิจย่ำแย่ ผู้ค้าบริการทางเพศจึงเกลื่อนเมือง โรคระบาดก็ตามมา เป็นโอกาสให้มีการตรากฎหมายขึ้น โดยผู้ตรากฎหมาย มีแนวคิดว่า “การควบคุมโรคระบาด ไม่ใช่ทำให้การค้าประเวณีเป็นสิ่งต้องห้ามหรือถูกควบคุมโดยเคร่งครัด จนต้องมีการลักลอบทำกัน ซึ่งจะทำให้การควบคุมโรคเหล่านั้นยากลำบากมากขึ้น” .. พรบ.ต่อสู้โรคทางเพศสัมพันธ์ จึงเป็นกฎหมายเพื่อการควบคุมโรค มิใช่ควบคุมการค้าบริการทางเพศ กำหนดให้ผู้ที่จงใจแพร่เชื้อ มีความผิดทางอาญา, ผู้รักษาโรค ต้องเป็นแพทย์เท่านั้น และหญิงบริการมีหน้าที่ตรวจสุขภาพและรักษาโรค.. ต่อมายุคฮิตเล่อร์ ที่เกลียดหญิงค้าบริการ แต่ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองควบคุมทหารของตน (เอาไปปรนเปรอทหารในค่าย) แล้วก็ผ่านยุคกำแพงเบอร์ลิน ยุคทะลายกำแพง … จนกระทั่งมาถึงกฎหมายปัจจุบัน (ใช้เวลา 30 ปี ในการตรากฎหมายนี้) จากแนวคิดตามคำพิพากษาที่ว่า “การค้าประเวณีโดยสมัครใจของผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่แล้วโดยไม่มีอาชญากรรมมาเกี่ยวข้อง ไม่ควรถูกมองว่าผิดศีลธรรมตามคุณค่าของสังคมอีกต่อไป” จึงเกิดพรบ.ค้าประเวณี 2002 ยกเลิกแนวคิดว่า “ขัดต่อศีลธรรม” เป็นผลให้การค้าประเวณีถูกยกระดับ ข้อตกลงที่เกิดขึ้น สามารถร้องต่อศาลได้ ผู้ค้าบริการกับสถานประกอบการสามารถจัดทำสัญญาจ้างงานได้ นายจ้างมีหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้มีสภาพการจ้างงานที่ดีและถูกหลักอนามัย (กำหนดละเอียดจนถึงขั้นว่า ต้องเปลี่ยนผ้าปูเตียงทุกครั้ง ฯ) จนปี 2017 มีการบัญญัติพรบ.คุ้มครองผู้ค้าประเวณี ที่บังคับให้ผู้ค้าบริการทางเพศ ต้องขึ้นทะเบียน (เริ่มจะไม่เสรีละ) .. มาถึงตรงนี้ เป็นจุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ทำให้ผู้ค้าบริการทางเพศที่ไม่ต้องการขึ้นทะเบียน กลายเป็นบุคคลที่กระทำผิดกฎหมาย เพราะไม่ใช่ทุกคนที่อยากเปิดเผยตัว รวมถึงข้อท้าทายต่อประเด็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และนักค้ามนุษย์ที่นำเหยื่อมาขึ้นทะเบียนเป็นถูกกฎหมายด้วยเสียอีก ปัจจุบันอยู่ระหว่างการต่อสู้ในศาลรัฐธรรมนูญต่อประเด็นเหล่านี้
แนวทางที่สอง #ควบคุมด้วยการจดทะเบียน
#สหราชอาณาจักร ช่วงยุคกลาง ศตวรรษที่ 11 Bishop สามารถอนุญาตให้เปิดสถานค้าประเวณีหรืออนุญาตให้บุคคลค้าประเวณีในเขตอำนาจของตนได้ ต่อมาได้ขับให้กลุ่มค้าประเวณีอยู่นอกกำแพงเมือง จนศตวรรษที่ 15 พระเจ้า Henry กำหนดให้สถานค้าประเวณีทุกแห่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย จนกระทั่งศตวรรษที่ 19 ถือว่าเป็นอาชีพที่ควรถูกประณาม เป็นการกระทำที่ชั่วร้าย บุคคลที่ดำรงชีพด้วยรายได้ของการค้าบริการทางเพศ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย แต่ด้วยปัญหาการแพร่ระบาดของโรค จำนวนการค้าประเวณีที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนปัญหาการบังคับค้าประเวณี ส่งผลให้ ศตวรรษที่ 21 มีแนวคิดพัฒนากรอบกฎหมาย และในปัจจุบัน อาชีพการค้าบริการทางเพศ ไม่ถูกระบุว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่มีการควบคุม และไม่อนุญาตให้มีสถานค้าบริการทางเพศ โดยอนุญาตให้ขายบริการได้ในพื้นที่ที่กำหนด (Zoning) ไม่อนุญาตให้ค้าขายหรือชักชวนบุคคลตามท้องถนนหรือสถานที่สาธารณะ แต่สามารถประกาศโฆษณาบริการได้ในสื่อต่างๆ เพื่อนัดหมายพบกันได้ อีกทั้ง ห้ามโดดเด็ดขาดต่อการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากผู้ค้าบริการ สำหรับความผิดฐานชักชวนขายบริการในที่สาธารณะเป็นความผิดทางอาญา ที่มีโทษให้ถูกว่ากล่าวตักเตือนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและลงทะเบียนประวัติการกระทำผิด ซึ่งผู้ค้าบริการที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ และไปสมัครงานกับสถานประกอบการ ประสบปัญหาว่าต้องแจ้งประวัติอาชญากรรม ทำให้นายจ้างทราบว่า เขา/เธอ เป็นบุคคลที่เคยประกอบอาชีพค้าประเวณีมาก่อน จึงมีการฟ้องร้องต่อศาล ถึงสิทธิความเป็นส่วนตัวในการเปิดเผยประวัติ ซึ่งศาลมีคำพิพากษาแล้วว่า การเปิดเผยประวัติส่วนนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อใคร เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม คาดว่าจะมีการผลักดันคำพิพากษานี้ ให้เป็นกฎหมายต่อไป
#ประเทศเบลเยียม ในกฎหมายระดับรัฐบาลกลาง กำหนดว่าการค้าประเวณี เป็นความผิด ในขณะที่กฎหมายระดับรัฐ อนุญาตให้กระทำได้ในพื้นที่ที่กำหนด โดยกำหนดให้มีมาตรฐานความสะอาดและความปลอดภัย ห้ามการกระทำในลักษณะเป็นธุระจัดหาบุคคลหรือจัดหาสถานที่ หรือกระทำการณ์ในลักษณะแมงดา โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ควบคุมดำเนินการและออกใบอนุญาต ดูแลความสงบเรียบร้อย .. แต่ละรัฐ มีการดำเนินการที่แตกต่างกัน ทั้งจัดพื้นที่เฉพาะ แยกจากชุมชน ในขณะที่บางรัฐอยู่ปะปนกับห้างร้านและที่พักอาศัย .. แต่ด้วยการให้อำนาจบริหารจัดการเบ็ดเสร็จไปที่ตำรวจ เป็นผลให้เกิดการนำเด็กอังกฤษและเบลเยียมกว่า 50 คนมาลักลอบขายบริการทางเพศที่บาร์แห่งหนึ่งในกรุงบรัชเซล เป็นผลให้มีมาตรการลดทอนอำนาจตำรวจ และมีหน่วยงานพิเศษร่วมดำเนินการ
#ประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศหนึ่งที่ประสบปัญหาการค้าประเวณีทั้งโดยคนชาติและคนต่างชาติที่เข้าไปอาศัยอยู่ในประเทศสิงคโปร์ จากเดิมบุคคลที่เข้าสู่อาชีพนี้เพราะความยากจน เปลี่ยนเป็น ความสมัครใจประกอบอาชีพ หรือ ประกอบอาชีพแบบชั่วคราว จากเดิมที่สิงคโปร์ห้ามโดยสิ้นเชิง ทำให้เกิดการหลบเลี่ยงยากลำบากต่อการจัดการปัญหา รวมถึงมีปัญหาโรคติดต่อ เกิดการค้ามนุษย์ และอาชญากรรมต่างๆ ตามมา .. จึงได้มีการพัฒนากฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎหมายควบคุมโรคติดต่อ กฎหมายคุ้มครองสตรีและเด็ก จนกระทั่งมีบทบัญญัติให้การซื้อขายบริการทางเพศไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ให้มีการขึ้นทะเบียน (เฉพาะผู้หญิง) กับคณะทำงานด้านการค้าประเวณี มีการตรวจสอบอายุของบุคคลนั้น มีการคัดกรองว่าเป็นบุคคลที่สมัครใจ ไม่ใช่ถูกบังคับขืนใจ จากนั้นจะมีการติดตามตรวจสุขภาพต่อเนื่อง.. อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอให้การขายบริการทางเพศ เป็นงานชนิดหนึ่งที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน รวมถึงควรกำหนดให้การร่วมประเวณีโดยผู้ค้าไม่สมัครใจ เป็นการกระทำข่มขืนกระทำชำเราด้วย คุ้มครองจากการถูกทำร้ายร่างกาย ถูกเอารัดเอาเปรียบ ตลอดจนการถูกดูหมิ่นเหยียดหยามโดยเจ้าหน้าที่ หรือมีทัศนคติเชิงลบต่อผู้ค้าบริการทางเพศ และถูกเลือกปฏิบัติระหว่างผู้ค้าประเวณีที่เป็นคนชาติ กับคนต่างชาติ
#ประเทศญี่ปุ่น ที่แม้จะเป็นประเทศอนุรักษ์นิยม แต่ในเรื่องของทางเพศ เปิดให้มีสื่ออนาจารผู้ใหญ่อย่างแพร่หลาย รวมถึงมี “เกอิชา” หญิงขายบริการที่สังคมยอมรับ ถูกสั่งสอนอบรมให้มีความสามารถในการชงชา จิตวิทยาในการพูดคุยให้อีกฝ่ายสบายใจ รวมถึงการวางตัว มารยาททางสังคมต่างๆ ต่อมา มีแนวคิดว่าการค้าประเวณี เป็นสิ่งผิดศีลธรรมและไร้อารยธรรม ทำให้รัฐบาลควบคุมสถานค้าประวเณีเข้มงวดขึ้น ต้องขอใบอนุญาตประกอบการ มีการรับรองให้สัญญาจ้างของสถานค้าประเวณี เป็นสัญญาจ้างแรงงานประเภทหนึ่ง .. ต่อมา ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกาเข้ายึดครองประเทศญี่ปุ่น ได้ยกเลิกระบบการขออนุญาต แต่มีการจัดพื้นที่ให้เป็นระบบระเบียบ .. แม้จะไม่ได้กำหนดให้การค้าประเวณีเป็นความผิด แต่กำหนดความผิดสำหรับการกระทำที่เอื้อต่อการค้าประเวณี เช่น เป็นผลให้มีการค้าประเวณีแบบแอบแฝงตามสถานอาบอบนวด หรือสถานบันเทิงต่างๆ ในเว็บไซด์หาคู่หรือออกเดท รวมถึงการเรียกใช้บริการผ่านหมายเลขโทรศัพท์ .. ปัจจุบันยังคงมีการถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปว่าควรบัญญัติให้การค้าประเวณีเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือไม่
แนวทางที่สาม #บัญญัติความผิดให้กับผู้ซื้อบริการทางเพศ
#ประเทศฝรั่งเศส แนวคิดนี้ เริ่มต้นมาจากสวีเดน และฟินแลนด์ ที่ไม่บัญญัติโทษให้ผู้ค้าบริการทางเพศ แต่บัญญัติโทษให้กับผู้ซื้อบริการทางเพศแทน (ลดอุปทาน) เพราะจากการสำรวจพบผู้ค้าบริการทางเพศ 30,000 – 40,000 ราย ร้อยละ 93 เป็นคนต่างชาติที่เข้ามาค้าบริการ (ส่วนใหญ่จากยุโรปตะวันออก) พบว่า พวกเขามีปัญหาว่าถูกกระทำความรุนแรง คิดฆ่าตัวตาย และติดสารเสพติด .. รัฐบาล ยังคงมีแนวคิดว่าการขายบริการทางเพศ เป็นการละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องการที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จึงกำหนดบทลงโทษผู้ซื้อ ส่วนผู้ขายให้เข้าโปรแกรมส่งเสริมอาชีพกับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ขึ้นทะเบียนแล้ว โดยรัฐบาลนำเงินที่ได้จากค่าปรับผู้ซื้อ นำมาเป็นเงินเดือนและทุนพัฒนาอาชีพให้กับผู้เคยมีอาชีพขายบริการทางเพศ ในกรณีที่เป็นคนต่างชาติ จะให้บริการฝึกอาชีพ 6 เดือน ก่อนการส่งกลับ .. แต่ด้วยงบประมาณของรัฐมีจำกัด จ่ายเงินเดือนให้กับผู้ขายบริการได้เพียงเดือนละ 300 – 400 ยูโร ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมถึงความต้องการอยากกลับไปทำอาชีพเดิม จึงทำให้โปรแกรมนี้ยังไม่มีผลสำเร็จนัก
=====================================
สำหรับประเทศไทย .. ถ้าถามหมูก่อนเข้าประชุมครั้งนี้ ก็จะตอบแบบไม่ลังเลว่า “ไม่เห็นด้วย” ที่จะให้อาชีพค้าประเวณีเป็นอาชีพถูกกฎหมาย แต่เห็นด้วยกับการมีมาตรการส่งเสริมช่วยเหลือทางด้านสุขภาพและการถูกกระทำความรุนแรง
แต่พอฟังแนวคิดของหลายๆ ประเทศที่พยายามพัฒนากรอบกฎหมาย เพื่อรับมือกับ “ความมีอยู่” อย่างปฏิเสธไม่ได้ … ที่ต้องชั่งใจระหว่าง การห้าม ที่นำไปสู่การปกปิดซ่อนเร้น กับ การอนุญาต ที่ทำให้ทุกอย่างมันชัดเจนขึ้น .. หมูก็เริ่มลังเล ว่า เอ.. หรือเราก็ควรทำให้ชัดเจนนะ เพื่อให้บริการมันชัดเจน ตรงตัวบุคคล .. ซึ่งแน่นอนว่า ปราการแรก คือ ทัศนคติของคนในสังคม ปราการต่อมา คือทัศนคติของผู้ประกอบอาชีพที่มีต่อตนเอง ว่าเขาจะเปิดเผยตัวตนได้แค่ไหน จะสามารถใช้สิทธิเรียกร้องที่ตนมีตามกฎหมายบัญญัติได้หรือไม่ ปราการถัดมา คือ คนในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ ถ้าคิดในมุมเด็ก ที่แม่มีอาชีพค้าบริการทางเพศ จะตอบเพื่อน ตอบสังคมอย่างไร เวลาถูกใครถาม หรือแม้แต่ในฐานะแม่ ที่วันหนึ่งลูกบอกว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นโสเภณี” มันเป็นข้อท้าทายเชิงทัศนคติ ที่เป็นปราการสำคัญ
ถัดมา คิดต่อไปว่า .. เอาหล่ะ อย่างไรอาชีพนี้มันก็มีอยู่ ทำให้มันชัดเจน ทำให้ผลประโยชน์นอกรัฐ เข้าสู่รัฐบ้างหล่ะ ก็คงจะดี .. คำถามถัดมา คือ แล้ว Sex worker ที่เขาได้รับประโยชน์จากฎหมายในประเทศที่พัฒนาแล้วหล่ะ เขาคิดอย่างไร เราอาจจะมองว่ากฎหมายดี คุ้มครองสิทธิของเขา แต่ตัวเขาคิดอย่างไรกับสิทธิที่ได้มานี้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย เขารับมือกับทัศนคติตนเองและสังคมอย่างไร.. ไหนจะ Sex worker ในไทย ทั้งหญิง ชาย และเพศทางเลือก เขาคิดอย่างไรกับแนวคิดใหม่นี้ หากมีการคุ้มครองเขามากขึ้น เขาต้องการมันอย่างแท้จริงและใช้ประโยชน์จากมันได้จริงหรือไม่???
ก็เลยต้องค้างคำตอบ และตอบไปว่า “ข้อมูลเราไม่พอ” .. ถึงแม้เบื้องต้น เราจะเห็นด้วยกับแนวคิดของการ “ไม่กล่าวโทษ” ผู้ขายบริการ แต่กระบวนการหลังจากนั้น มันคงยุ่งยากวุ่นวาย และที่สำคัญ เรายังรับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงอย่าง Sex worker ไม่เพียงพอ
ชื่นชมเวทีวันนี้ ที่ได้ให้ความรู้ และปรับมุมมองให้กว้างออกไปมากขึ้น มากกว่ากรอบบรรทัดฐานของไทย แบบไทยๆ รวมถึงกรอบ “ศีลธรรม” ที่กางกั้นสิทธิทางกฎหมาย .. เป็นประเด็นที่น่าคิดต่อ และอยากชวนทุกคนคิด .. คิดดังๆ ก็ดีนะคะ
==============================
การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการทบทวนกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ครั้งที่ 2 : โครงการพัฒนากฎหมายเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและครอบครัว
วันที่ 28 พฤษภาคม 2561
ณ โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ, หลานหลวง กรุงเทพ