รู้เท่าชีวิตออนไลน์

โลกในปัจจุบันเป็นโลกสังคมออนไลน์ที่ทุกคนรู้จักกันดี เพราะทุกวันนี้โทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตมีอิทธิพลเหนือมนุษย์ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ทุกระดับการศึกษาและจำนวนรายได้ ซึ่งจะเห็นได้ทุกแห่งในโลกรวมทั้งประเทศไทย

จากผลสำรวจของ We Are Social พบว่าประชากรกว่า 68 ล้านคนของประเทศไทยในปี 2559 มีผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตและใช้งาน Social Media มากถึง 38 ล้านคน คิดเป็น 56% ของประชากร และในจำนวนนี้มีผู้ใช้งานออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือจำนวน 34 ล้านคน

พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้รูปแบบการทำธุรกิจ การค้าและบริการ การติดต่อสื่อสาร และการทำธุรกรรมทางการเงิน ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายสะดวกรวดเร็วและประหยัด ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงใช้คำว่า โลกสังคมออนไลน์ และยังรวมถึงโลกของฉัน โลกของเธอ และโลกของเราด้วย เพราะเหตุใดผู้เขียนจึงกล่าวเช่นนี้

คำว่า โลกสังคมออนไลน์ ผู้เขียนหมายถึง การติดต่อสื่อสารทุกอย่างผ่านระบบอินเตอร์เน็ตบนเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งแบบตั้งโต๊ะ แบบพกพาที่เรียกว่าโน้ตบุ๊ค และโทรศัพท์ที่เป็นระบบสมาร์ทโฟน

ในขณะที่ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา บัญญัติศัพท์ว่า สื่อสังคม หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า สื่อออนไลน์ หรือ สื่อสังคมออนไลน์

สำหรับการเข้าถึงสารหรือข้อมูลที่ผู้สื่อสาร และผู้รับสารจะได้รับสารหรือข้อมูล โดยผ่านสื่อกลางคือระบบอินเตอร์เน็ต การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในสังคมออนไลน์นั้นผู้สื่อสารและผู้รับสารต้องมีเครื่องมือสื่อสารที่รองรับระบบอินเตอร์ได้ และสามารถสื่อสารกันได้ ซึ่งเครื่องมือดังกล่าว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งแบบตั้งโต๊ะและแบบพกพา สมาร์ทโฟน (Smart Phone) แทบเล็ต (Tablet) แฟบเล็ต (Phablet) เป็นต้น

ด้วยระบบการสื่อสารที่ใหม่และทันสมัย สร้างแรงจูงใจและกระตุ้นความอยากของมนุษย์ โดยเฉพาะ Operating System (ระบบปฏิบัติการ) Application (แอพพลิเคชั่น) Web Access (การท่องเว็บไซต์) QWERTY Keyboard (แป้นพิมพ์ QWERTY) Messaging (การส่งข้อความ) นำมาสู่การเลือกซื้อแบรนด์โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นที่นิยมและต้องการของคนทุกเพศทุกวัย มีความสะดวก พกพาไปได้ทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่การออกกำลังกายทั้งในร่ม เช่น ฟิตเนส แบดมินตัน และกลางแจ้ง เแบบวิ่ง แบบปั่น มีหลายแบรนด์ หลายรูปแบบ และราคาที่ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อได้ตามปรารถนา โดยเฉพาะแบรนด์ดัง ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปัญหาสังคม เพราะสมาร์ทโฟนที่เป็นแบรนด์ดัง ราคาแพง เป็นที่ต้องการของคนส่วนใหญ่ และเป็นที่ต้องการของมิจฉาชีพเช่นกัน

ผู้เขียนจึงมองเป็นเรื่องของภัยใกล้ตัว ในประเทศไทยเคยมีข่าวเยาวชนถูกฆ่าเพราะต้องการสมาร์ทโฟนแบรนด์ดังนี้เอง บางคนเงินไม่พอไปก่อวีรกรรมไม่ดีไว้ หมดโอกาสในชีวิตก็มีไม่น้อย บางคนขอเงินผู้ปกครองไปซื้อ เมื่อไม่ได้ดังใจมองว่าพ่อแม่ผู้ปกครองไม่รัก ก็เลยฆ่าตัวตายก็มีมาก บางคนหลงผิดทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมเช่น ขายตัวเพื่อสิ่งเหล่านี้

ความเจริญด้านเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเจริญและการพัฒนาประเทศและโลกด้านวัตถุ มนุษย์วิ่งตามความเจริญโดยขาดสติและความยั้งคิด เป็นเพราะว่าวัตถุเจริญก้าวหน้าเร็วกว่าการพัฒนาด้านจิตใจนั่นเอง อีกทั้งคำโฆษณาชวนเชื่อที่กระตุ้นความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีความต้องการตามลำดับขั้น (Hierarchy of Needs) ของ อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) เขาเชื่อว่า มนุษย์มีแนวโน้มที่จะมีความต้องการอันใหม่ที่สูงขึ้น เมื่อความต้องการพื้นฐานได้รับการตอบสนอง ซึ่งได้แก่

ลำดับที่ 1. ความต้องการด้านร่างกายหรือด้านกายภาพ (Physiological Needs) ซึ่งได้แก่ ปัจจัย 4 คือ น้ำ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ซึ่งมีความจำเป็น หากมนุษย์ได้รับไม่เพียงพอ จะส่งผลต่อคุณภาพของชีวิต รวมถึงประสิทธิภาพในการทำงาน

ลำดับที่ 2. ความต้องการด้านความมั่นคงปลอดภัย (Safety Needs) เกี่ยวข้องกับการมีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น มีอาชีพที่มั่นคง เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

ลำดับที่ 3. ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ (Belongingness and Love Need) ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น เรื่องความรักต้องการรักที่จริงจังยั่งยืน นำไปสู่การแต่งงานสร้างครอบครัวที่อบอุ่นเป็นการแสดงออกถึงความต้องการเป็นเจ้าของในเรื่องความรัก

ในเรื่องของสมาร์ทโฟนก็เช่นเดียวกันทุกคนมีความต้องการเหมือน ๆ กัน คือแบรนด์ดัง ทันสมัย ราคาแพง โดยเฉพาะถ้าบางคนมีบุคคลที่เป็นต้นแบบอยู่แล้ว อยากได้ทุกอย่างที่เหมือนคนที่เป็นต้นแบบที่ตนเองรักและชอบ สิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งปัญหาของบุคคล ครอบครัว และสังคม ปัญหาการขาดสติ สมาธิในการศึกษาเล่าเรียนสำหรับเยาวชนในวัยเรียน วัยทำงานใช้ผิดที่ผิดเวลาปัญหาการว่างงานก็จะตามมา และปัญหาที่เราพบเห็นในสังคมปัจจุบันมากขึ้นคือการใช้สมาร์ทโฟนในทางผิดกฎหมาย แทนที่จะเกิดประโยชน์กลับเป็นโทษ เหมือนคำกล่าวที่ว่า “สิ่งใดมีคุณอนันต์ย่อมมีโทษมหันต์” แม้จะได้ครอบครองสมาร์ทโฟนแบรนดังก็ตาม

ลำดับที่ 4. ความต้องการเกียรติยศชื่อเสียงและความภาคภูมิใจ (Self- Esteem Need) โดยเฉพาะในที่ทำงาน ถ้าเป็นผู้อาวุโสอยู่มานาน ย่อมไม่ต้องการให้รุ่นลูกหลานมาลูบคม หรือทดสอบความรู้ความสามารถ แต่เขาต้องการการยอมรับ การยกย่อง ชมเชย ในประสบการณ์ที่มีมาก่อน

ลำดับที่ 5. ความต้องการความสมบูรณ์ของชีวิต (Self-Actualization Needs) หมายความว่า คนเราต้องผ่านประสบการณ์ในความต้องการทั้ง 4 ด้านดังกล่าวมาแล้ว เมื่อมาถึงความต้องการด้านนี้เป็นความต้องการสร้างสรรค์ผลงานตามศักยภาพของแต่ละบุคคล เช่น เป็นครูสอนหนังสือมานานอยาก จะมีงานเขียนเป็นผลงานของตนเอง หรือมีความถนัดด้านศิลปะ ก็อยากจะสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบต่าง ๆ ไว้เป็นที่ระลึก เป็นต้น

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาการเข้าสู่สังคมออนไลน์และโลกของเรา โดยทุกคนที่จะเข้าสู่สังคมออนไลน์ ควรได้ศึกษาข้อมูลเชิงลึกในสังคมออนไลน์ก่อน และรู้วิธีจัดการกับข้อมูลของตนเองอย่างเป็นระบบและปลอดภัย ป้องกันการล้วงข้อมูลจากบุคคลภายนอก การพูดคุยผ่านโปรแกรมแชทซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นหนึ่งในสมาร์ทโฟน ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ หากไม่มั่นใจเราสามารถสร้างข้อมูลส่วนตัวไว้อีกชื่อหนึ่งเพื่อความปลอดภัย

ผู้เขียนอยากฝากผู้อ่านทุกท่านไว้ว่า สื่อทุกสื่อมีไว้ให้ศึกษาเรียนรู้ หมายความว่ารู้จักวิเคราะห์อย่างมีหลักการโดยต้องแยกให้ออกว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เช่น เรื่องส่วนตัว ส่วนรวม ครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งเรื่องเทคโนโลยี เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าเหตุที่เกิดขึ้นนั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งใด แล้วจะได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยที่เราไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวเหล่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับเรา ถ้าเกิดกับเรา ไม่แน่ว่าเราอาจคิดและตัดสินใจเช่นในเรื่องที่เกิดขึ้น หรืออาจมีวิธีการอื่น ๆ ก็ได้ การบริโภคข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ จึงควรวิเคราะห์และพิจารณาโดยใช้วิจารณญาณ

ในประเทศไทยนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีการปฏิรูปภารกิจหลักมุ่งเน้นการพัฒนาคน และเทคโนโลยี ตามนโยบายรัฐบาลไทย “การพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0” ในเรื่องความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน การพัฒนาคนจึงเน้นการพัฒนาด้านการศึกษา ซึ่งกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ล้วนเป็นนวัตกรรม การใช้วัสดุอุปกรณ์หาได้ในท้องถิ่นก่อนเป็นอันดับแรก จะเห็นได้ว่าสังคมออนไลน์และโลกของเรานั้น มีความสำคัญทั้งต่อตัวบุคคล สมาชิกในครอบครัว สังคมและประเทศชาติ เพราะเมื่อทุกคนมีประวัติตัวเองเข้าไปสู่ระบบสังคมออนไลน์แล้ว คนบนโลกออนไลน์ต้องเห็นตัวตนของเรา เห็นข้อมูลส่วนตัวที่เรานำเข้าในระบบออนไลน์ ถือเป็นการเปิดตัวในโลกออนไลน์

ดังนั้นการนำเข้าข้อมูล เอกสาร หรือรูปภาพ ทุกคนต้องมีความระมัดระวัง เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น การป้องกันด้วยตัวเราเองดีที่สุด คนอื่นเป็นเหมือนกระจกสะท้อนตัวเราให้กลับมาคิดทบทวน และตัดสินใจ ก่อนจะเข้าสู่โลกออนไลน์ต้องคิดไว้เสมอว่า “สิ่งใดมีคุณอนันต์ ย่อมมีโทษมหันต์” การป้องกันดีกว่าการแก้ไขปัญหาที่ไม่รู้จะจบเมื่อไรและอย่างไร

นอกจากนี้ยังมีปัญหาความรัก ประเภทรัก ๆ เลิก ๆ รักเขาข้างเดียว รักสามเส้า และรักต้องห้าม อันนำมาสู่โลกของฉัน โลกของเธอ และโลกของเรา ผู้ที่มีความรักหรือตกอยู่ในโลกแห่งความรักจะไม่มีผู้ใดอยู่ในสายตานอกจากเราสองคน เหมือนโลกนี้มีเพียงเรา เมื่อผู้ใหญ่หรือญาติ หรือผู้หวังดีแสดงความคิดเห็นหรือแนะนำจะเกิดความรู้สึกต่อต้านและหลงเข้าไปสู่เส้นทางแห่งรัก ที่ผู้เขียนกล่าวไว้ว่า โลกของเรา นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ คนที่มีแต่โลกของเรานั้น ควรเพิ่ม “โลกของความเป็นจริง” เข้าไปด้วย เพราะความรักที่แท้จริงต้องอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงของชีวิต แล้วโลกทั้งใบจะเป็นของเรา

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนในโลกใบนี้พึงตระหนักอยู่เสมอ ดังคำโคลงโลกนิติ คือ

ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร
มารยาทส่อสันดาน ชาติเชื้อ
โฉดฉลาดเพราะคำขาน ควรทราบ
หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ บอกร้าย แสลงดิน

Message us