มุมคิดวิกฤติโลก

วิกฤติผู้อพยพซีเรียในยุโรป
มุมคิดของหญิงไทยในเยอรมนี

โลกเราเล็กลงทุกที ใครทำอะไรอยู่ในมุมหนึ่งของโลก สามารถสะท้านสะเทือนไปถึงส่วนที่เหลือ ใครจะเชื่อว่าการฆ่าฟันกันในประเทศหนึ่งๆ จะกลายมาเป็นภาระให้ประเทศที่อยู่ห่างไปเป็นพันๆกิโลต้องมาแบกรับ

ข่าวรัฐบาลเยอรมันอ้าแขนรับผู้อพยพชาวซีเรีย (และอาฟกานิสถานและเอริเทรีย) ให้โควต้า ๘๐๐,๐๐๐ คนสำหรับปี ค.ศ. ๒๐๑๕ พร้อมงบ ๖ พันล้านเพื่อรองรับการเข้าประเทศและบูรณาการผู้อพยพสู่สังคม “ที่ปลอดภัย” ในเยอรมนี สร้างความสั่นสะเทือนให้กับสังคมยุโรปไม่น้อย แม้ในสังคมคนไทยต่างแดนต่างก็หวั่นไหวไปตามๆ กัน เกิดคำถามมากมาย

  • ทำไมผู้อพยพต้องเข้ามายุโรป
  • ทำไมไม่อพยพไปที่ประเทศเพื่อนบ้านก่อน
  • ทำไมไม่อพยพไปหาพวกเดียวกันเองในตะวันออกกลาง
  • ทำไมผู้อพยพต้องเลือกมาที่เยอรมนี
  • ผู้นำเยอรมันทำอย่างนี้เพราะอะไร
  • ผู้นำเยอรมันทำอย่างนี้ต้องเสียฐานเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
  • ทำไมคนเยอรมันจำนวนหนึ่งถึงอ้าแขนรับผู้อพยพอย่างอบอุ่น
  • คนพวกนี้เป็นผู้ก่อการร้าย จะเข้ามาสร้างความวุ่นวาย
  • คนพวกนี้จะมาแย่งงานพวกเรา มาใช้เงินภาษี มาแย่งพื้นที่ มาแพร่ลูกแพร่หลาน ไม่ปรับตัว
  • คนพวกนี้จะมาเรียกร้องสิทธิมากมายที่กว่าพวกเราจะได้แสนยากเย็น
  • พวกเราผู้เสียภาษีจะได้รับผลกระทบอย่างไร
  • เงินบำนาญคนชราเราจะเหลือสักเท่าไรหากเอาเงินภาษีมาช่วยคนเหล่านี้หมด
  • อย่างนี้พวกเราก็อยู่ยากมากขึ้นน่ะสิ

ก่อนจะตอบคำถาม ขอท้าวความสั้นๆ

วิกฤติในซีเรียเริ่มมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. ๒๐๑๑ เป็นผลกระทบแบบโดมิโน่มาจากวิกฤติโค่นอำนาจผู้นำในแถบตะวันออกกลาง หรือที่เรียกกันว่า อาหรับสปริง เพราะเกิดในฤดูใบไม้ผลิ

ประชาชนซีเรียคนหนึ่ง(หรือกลุ่มหนึ่ง)เขียนล้อเลียนผู้นำเผด็จการของตนบนกำแพงว่า “ดร อัซซาด คราวต่อไปจะถึงทีของท่านแล้ว” ซึ่งคำพูดประโยคเดียวนี้ กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่นำมาซึ่งการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อผู้ชุมนุมเรียกร้องอิสรภาพ

ลุกลามไปจนเกิดกองกำลังเพื่อปลดปล่อยซีเรีย ห้ำหั่นกันจนประชาชนต้องหนีตายกันเป็นโกลาหล แล้วก็มีการแทรกแซงของกองกำลังอื่นๆ จนมาถึงกองกำลังไอซิส หรือรัฐอิสลาม ที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในยุคปัจจุบัน

นับจากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านไป ๔ ปีครึ่งความรุนแรงมิได้ลดลง มีแต่ลุกลามเพิ่มมากขึ้น จากประชากรประมาณ ๒๑ ล้านคนก่อนสงครามกลางเมือง คาดว่า ณ วันนี้ชาวซีเรียกว่า ๑๑ ล้านคนได้หนีภัยในบ้านตัวเองไปทุกทิศทุกทาง หรือประมาณครึ่งหนึ่งของประชากร

ชาวซีเรียผู้เดือดร้อนแรกสุดก็แห่กันเข้าไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงสุด ได้แก่เลบานอน จอร์แดน ตุรกี อิรัก จนนับถึงวันนี้ได้ประมาณ ๕ ล้าน เลบานอนประเทศที่เล็กกว่าสวิตฯมีประชากรแค่สองล้านกว่าๆ แต่รับผู้อพยพไว้เป็นล้าน โดยผู้อพยพสร้างเพิงพักอยู่ตามที่ต่างๆ ไม่มีค่ายโดยเฉพาะ ส่วนที่จอร์แดนก็อีกนับล้าน เกิดค่ายผู้อพยพใหญ่ๆหลายค่าย ในตุรกีอีกเป็นล้าน ในอิรักก็อีกมากมาย แต่อิรักกำลังประสบปัญหาวิฤกติผู้ก่อการร้ายเช่นกัน กลายเป็นเตี้ยอุ้มค่อม

ประเทศตะวันออกกลางอื่นๆมหาอำนาจทางน้ำมัน ไม่เปิดประเทศรับผู้อพยพ เพราะเสถียรภาพทางประชากรที่เปราะบาง กล่าวคือ มีประชากรเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นเจ้าของประเทศ ที่เหลือคือแรงงานต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ได้ด้วยวีซ่าทำงานและวีซ่าครอบครัว มีเวลาอาศัยจำกัด และไม่มีสิทธิพักอยู่ถาวร การรับผู้อพยพมาอยู่โดยไม่ได้เป็นแรงงานจึงไม่ใช่คำตอบ เพราะไม่มีทั้งงานรองรับและแหล่งพักพิงให้อาศัย

ปัจจุบันวิกฤติผู้อพยพหรือผู้พลัดถิ่น ไม่ว่าจะพลัดอยู่ในประเทศตัวเอง หรือพลัดไปต่างประเทศจำนวน ๑๑ ล้านคน ถ้าหัก ๕ ล้านคนที่หนีไปประเทศเพื่อนบ้าน เราก็ยังเหลืออีก ๖ ล้านคนที่กระจัดกระจายไปตามที่ต่างๆ แน่ละว่า ส่วนหนึ่งประเดประดังเข้ามาในยุโรป ดินแดนแห่งเสรีภาพ เสถียรภาพทางสังคม กฎหมายที่เป็นกฎหมาย โอกาสทางเศรษฐกิจ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การศึกษา ชีวิตที่ดีกว่า และนโยบายเปิดประตูอ้าแขนรับ

ประเทศแรกๆที่เจอก็คือ กรีซ มาซีโดเนีย ซึ่งอยู่ใกล้ๆ แล้วเลยมาเซอร์เบียซึ่งเป็นทางผ่านไปสู่ฮังการี ออสเตรีย และ เยอรมนีในที่สุด

ชาวซีเรียที่มีเงินมีโอกาสดีกว่าได้อพยพหอบครอบครัวและสมบัติไปประเทศโลกที่หนึ่งกันตั้งแต่ในวิกฤติปีแรกๆ (ซึ่งรวมถึงแคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ และประเทศยุโรปประเทศอื่นๆ) แต่ชาวซีเรียที่เหลืออยู่ในปีหลังๆ ก็คือคนที่ทนแล้วทนอีกจนทนไม่ไหว ตั้งแต่หมู่บ้านถูกระเบิดถล่ม พ่อแม่พี่น้องถูกฆ่าตายต่อหน้า ผู้ก่อการร้ายคุกคาม ความแร้นแค้นขาดแคลนอดหยาก สิ้นไร้ทางทำมาหากิน หากพวกเขามีเงินมีโอกาสมากกว่านี้พวกเขาคงหนีกันไปนานแล้ว

คนเหล่านี้ใช้เงินเก็บหอมรอบริบที่มีน้อยนิดซื้ออาหารประทังชีวิตในราคาแพงตามขอบชายแดน จ่ายค่าหัวให้นักลักลอบขนส่งคนข้ามชายแดน พาตัวเองข้ามประเทศ ซื้อพาสปอร์ตปลอมบ้าง จ่ายค่ายานพาหนะบ้าง

การหนีไปประเทศเพื่อนบ้านไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป เนื่องจากผู้อพยพรุ่นแรกๆได้ทะลักไปจนล้น ประเทศเหล่านั้นไม่สามารถรับได้อีกไหว

แม้หนีไปที่ตุรกีได้ ก็ไม่สามารถทำงานได้เพราะรัฐบาลตุรกีไม่ให้วีซ่าทำงาน แม้จะอยู่ก็อยู่อย่างผิดกฎหมาย บ่อยครั้งไม่มีแม้พาสปอร์ตติดตัว ส่วนหนึ่งยอมเสี่ยงชีวิตนั่งเรือข้ามทะเลเมดิเตอเรเนียนไปประเทศกรีซด้วยหวังจะได้รับความช่วยเหลือ คนเหล่านี้เจอภัยทางทะเล เรือล่ม จมน้ำตาย เด็กน้อยอลัน เคอร์ดิส (http://www.bbc.com/news/world-europe-34150419) จมน้ำ ร่างลอยไปเกยหาดในตุรกี กลายเป็นภาพข่าวสะเทือนใจไปทั่วโลก

และเป็นภาพแห่งประวัติศาสตร์ที่บาดลึกหัวใจชาวโลกและชาวเยอรมันอย่างประมาณมิได้

  • ทำไมผู้อพยพต้องเข้ามายุโรปเพราะยุโรปอยู่ใกล้ที่สุดเพียงแต่ผ่านตุรกีก็ถึงกรีซแล้ว กัดฟันอีกหน่อยก็ถึงฮังการีและออสเตรีย สามารถเดินทางบนภาคพื้นดินได้ เข้าประเทศเชงเก้นแรกได้ก็เหมือนเป็นประตูไปสู่ประเทศเชงเก้นอื่นๆ อเมริกาหรือแคนาดาอยู่ไกลเกินไปวิกฤติการณ์มีแต่เลวร้ายขึ้น ไม่มีหวังได้กลับประเทศในเร็ววัน สู้ไปตายดาบหน้าในประเทศที่จะได้ลืมตาอ้าปากได้อย่างแท้จริงใครจะไม่อยากไปประเทศที่เจริญแล้ว ไม่ต้องเสี่ยงกับสงครามกลางเมือง การฆ่ากันแบบบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแปความสงบและรัฐสวัสดิการของยุโรปเป็นแหล่งดึงดูดให้คนอยากเข้ามาแสวงหา อยากมาอยู่อาศัย อยากมาสร้างชีวิตใหม่ เช่นเดียวกับเรามาดามหญิงไทยเมียฝรั่ง ถามใจคนไทย ถ้าบ้านเราเกิดวิกฤติอย่างนั้นจริง เราจะอยากไปอยู่ประเทศพม่า ลาว เขมร เวียตนาม มาเลเซียหรือเปล่า ถ้าเรารู้ว่าอเมริกาจะเปิดรับเรา ถ้าเราดิ้นได้ เราก็คงไปอเมริกา ออสเตรเลีย ยุโรป ประเทศที่เจริญกว่า แล้วทำไมพวกเขาจะคิดอย่างเดียวกันไม่ได้
  • ทำไมไม่อพยพไปที่ประเทศเพื่อนบ้านก่อน หรือไม่อพยพไปหาพวกเดียวกันเองในตะวันออกกลางประเทศเพราะเพื่อนบ้านรับไม่ไหวแล้ว วิกฤติมันผ่านมาตั้งสี่ปีกว่า และไม่มีท่าทีจะจบลง ประเทศเพื่อนบ้านเต็มหมดแล้ว ไม่มีที่ให้หยั่งเท้าได้อีกต่อไปประเทศกลุ่มตะวันออกกลางอื่นๆก็ไปกันแล้ว อิรักรับไปหลายแสนคนแต่โอกาสได้งานทำแทบไม่มี บางประเทศกลุ่มน้ำมันไม่เปิดรับให้เข้าประเทศเลยเพราะไม่มีงานและที่พักอาศัยรองรับ และเพราะปัญหาโครงสร้างประชากรแรงงาน
  • ทำไมผู้อพยพต้องเลือกมาที่เยอรมนีเพราะเมื่ออเมริกาหรือแคนาดาเปิดให้คนต่างชาติสมัครรับสัญชาติหรือขอกรีนการ์ด คนทั่วโลกต่างก็แห่กันไปสมัคร ทั้งๆที่พวกเขาไม่ได้มีความเดือดร้อนในประเทศบ้านเกิด ทำไมพวกเขาถึงไปถ้าประเทศที่เจริญอย่างเยอรมนีมีนโยบายเปิดรับผู้อพยพหนีภัยสงคราม มีงบประมาณช่วยเหลือรองรับ ทำไมจะไม่ไป เหตุผลของคนซีเรียก็คงไม่ต่างกันสักเท่าไร
  • ผู้นำเยอรมันทำอย่างนี้เพราะอะไรมันเป็นวิกฤติทางมนุษยธรรม สหประชาชาติได้เรียกร้องมาเป็นปีๆแล้วให้ประเทศโลกที่หนึ่งช่วยกันแบ่งเบาภาระนี้ ถ้าไม่มีใครสักคนเริ่มต้นก่อน ก็จะไม่มีใครยอมทำอะไร ยุโรปเป็นที่กำเนิดของแนวคิดสิทธิมนุษยชน แล้วจะให้มือถือสากปากถือศีลได้อย่างไรและการช่วยเหลือผู้อพยพจำนวนมากเช่นนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรก ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ชนชาติเยอรมันที่กระจายกันอยู่ทางยุโรปตะวันออกและรัสเซีย ต้องแห่หนีตายเข้ามาเยอรมนีจำนวน ๖ ล้านคน รัฐบาลเยอรมันในยุคนั้นก็อ้าแขนรับไว้ทั้งหมด จึงไม่ใช่ครั้งแรกที่เยอรมนีคิดทำสิ่งนี้
  • ผู้นำเยอรมันทำอย่างนี้ต้องเสียฐานเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไปพรรคร่วมรัฐบาลมีการปรึกษากันก่อนจะออกมาประกาศเปิดประตูรับผู้อพยพ ถือว่าได้เสียงข้างมากเป็นแรงหนุน แน่นอนว่าย่อมมีพรรคฝ่ายค้านหรือกลุ่มอื่นที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นธรรมดาของประเทศประชาธิปไตยเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่านโยบายนี้จะนำไปสู่ความวุ่นวายภายในประเทศ หรือช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในระดับโลกได้บางส่วน พร้อมทั้งเป็นตัวอย่างให้ประเทศอียูอื่นๆ อ้าแขนรับผู้อพยพเพิ่มขึ้นเราน่าจะภูมิหากผู้นำเยอรมันตัดสินใจช่วยมนุษย์ผู้เดือดร้อนโดยไม่กลัวเสียคะแนนเลือกตั้ง เรามีนักการเมืองที่ห่วงคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่ามนุษยธรรมมากมายพอแล้วChancellor Merkel ได้กล่าวว่า จากนี้ไปอีกหลายปีข้างหน้า ประเทศเยอรมนีจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่
  • ทำไมคนเยอรมันจำนวนหนึ่งถึงอ้าแขนรับผู้อพยพอย่างอบอุ่นอย่างที่บอกแล้วว่า ประเทศเยอรมันเคยผ่านวิกฤติผู้อพยพมาก่อนในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง คนเยอรมันจำนวนมากยังจำได้ เมื่อมีโอกาส พวกเขาก็อยากจะช่วยคนอื่นบ้างอีกส่วนหนึ่งคือภาพของเด็กน้อยอลัน เคอร์ดิช ที่ศพนอนคว่ำหน้าบนชายหาด เป็นที่สะเทือนหัวใจของชาวเยอรมันจนกลายมาเป็นแรงใจที่จะร่วมกันช่วยเหลือผู้อพยพจากซีเรียอย่างเป็นระบบ
  • คนพวกนี้เป็นผู้ก่อการร้าย จะเข้ามาสร้างความวุ่นวายเป็นธรรมดาว่าปลาข้องเดียวกัน ถ้ามีตัวใดเน่า ย่อมเหม็นไปทั้งหมด แต่ถ้าเราหยุดคิดก็จะรู้ว่า ทุกสังคมมีคนดีคนเลว เราไม่ควรตัดสินว่าคนทั้งหมดเป็นคนเลวเพียงเพราะคนกลุ่มหนึ่งทำไม่ดีเอาไว้เราสมควรกลัวเกรงผู้ก่อการร้าย แต่เราไม่ควรใช้คำนี้หมายหัวคนทั้งกลุ่มเช่นเดียวกัน หากฝรั่งคิดว่า ผู้หญิงไทยทั้งหมดแต่งงานกับฝรั่งเพราะเห็นแก่เงิน เราก็ย่อมไม่เห็นด้วย เพราะมันเป็นจริงแค่ส่วนน้อยเท่านั้น
  • คนพวกนี้จะมาแย่งงานพวกเรา มาใช้เงินภาษี มาแย่งพื้นที่ มาแพร่ลูกแพร่หลาน ไม่ปรับตัวฐานประชากรของเยอรมนีกำลังหดตัวลง สัดส่วนคนแก่รับบำนาญกับคนทำงานเสียภาษีเริ่มแคบลง การรับคนจำนวนเกือบล้านเข้าประเทศ แน่นอนว่า รัฐและประชาชนต้องใช้เวลาในการปรับตัว ให้การศึกษา ฝึกทักษะแรงงาน สอนภาษา ให้ที่อยู่ สร้างงาน เพื่อให้ผู้อพยพสามารถกลมกลืนกับสังคมใหม่ เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ เป็นประชากรที่เสียภาษีอากรเช่นเดียวกับพวกเราที่เข้ามาก่อน พวกเขาและพวกเราจะเป็นฐานเงินบำนาญให้กับคนชรา และลูกหลานของพวกเขาก็จะเป็นฐานเงินบำนาญให้พวกเราอย่าลืมว่า เราเองก็เป็นคนต่างชาติในสายตาของคนเยอรมันรุ่นดั้งเดิมเช่นกัน สิ่งที่เราคิดเกี่ยวกับผู้อพยพในวันนี้ ก็คงจะเป็นสิ่งเดียวกับที่คนเยอรมันเคยคิดกับเราเมื่อเรามาถึงประเทศนี้ใหม่ๆ ดังนั้น ขอให้มีเมตตา คิดถึงใจเขาใจเรา ถ้าเราเคยได้โอกาส เราได้พิสูจน์ตัวเอง เราก็ต้องให้โอกาสพวกเขาได้พิสูจน์เช่นกันแต่เราต้องใช้ความอดทนเพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดชั่วข้ามคืน
  • คนพวกนี้จะมาเรียกร้องสิทธิมากมายที่กว่าพวกเราจะได้แสนยากเย็นสถานการณ์เช่นนี้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นปฏิบัติการด้านมนุษยธรรม เป็นสภาวะที่ไม่ปกติธรรมดา สิทธิที่พวกเขาจะได้รับก็คือสิทธิของมนุษย์คนหนึ่งที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข มันผิดด้วยหรือพวกเราคงไม่อยากแลกการได้สิทธิต่างๆ กับการที่บ้านแตกสาแหรกขาด ครอบครัวกระจายกระจัดไปคนละทางสองทาง ประสบการณ์ที่เหมือนฝันร้าย รวมทั้งการที่จะต้องมาปรับตัวใหม่ทั้งหมด เริ่มต้นมือเปล่า กระมัง?สิ่งที่พวกผู้อพยพจะได้รับ มันเอาไปเทียบกับสิ่งที่พวกเขาสูญเสียไปไม่ได้หรอกนะ
  • อย่างนี้พวกเราก็อยู่ยากมากขึ้นน่ะสิ

การอยู่ยากของพวกเรา คงจะเทียบไม่ได้แม้แต่ส่วนเสี้ยวของการอยู่ยากของพวกเขา

เราก็คงอยู่ยากถ้าเราคิดว่าในชีวิตเราจะไม่แบ่งปันอะไรให้ใครที่เดือดร้อนกว่าเรา ถ้าเราหลับหูหลับตาไม่เห็นว่าปัญหาของมนุษยชาติมันมาค้ำคอเราแล้ว

มันก็คงเป็นจริง เมื่อรัฐต้องแบ่งปันงบประมาณและทรัพยากรให้ผู้อพยพจำนวนนับล้าน เงินช่วยเหลือก็มาจากภาษีอากรของพวกเรา เราต้องแบ่งปันมากขึ้น ได้รับน้อยลง เราต้องใช้พื้นที่ร่วมกับคนกลุ่มใหม่ๆ มีสังคมใหม่ๆ เจอกับความไม่เคยชินใหม่ๆ ว่าง่ายๆ เราต้องปรับตัว และการปรับตัวก็ไม่มีอะไรง่าย แต่ถ้าเราไม่ตีตนไปก่อนไข้มากจนเกินไป ทำหน้าที่ประจำวันของเราอย่างดีที่สุด รู้จักวางแผนชีวิตและการใช้จ่าย วางจิตใจให้มีเมตตาและเป็นอุเบกขา ผลกระทบก็คงจะไม่ลบจนเกินไป

ไม่แปลกหรอกที่เราจะกังวล ไม่มีใครอยากเดือดร้อน ไม่มีใครอยากถูกกระทบ ไม่มีใครอยากให้ใครมาแย่งทรัพยากร แต่ขอให้คิดว่า “อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่” หากเราแบ่งปันเป็นวัตถุสิ่งของไม่ได้ อย่างน้อยก็ให้ความเห็นใจ เมตตา สงสาร และเข้าใจคนพลัดบ้านพลัดเมือง

และคงต้องเชื่อมั่นในฝีมือของรัฐบาลด้วยว่าจะจัดให้กระบวนการแบกรับผู้อพยพเป็นไปอย่างเดือดร้อนน้อยที่สุดต่อทุกฝ่าย

แม่สามีของผู้เขียนเป็นหนึ่งในผู้อพยพเชื้อชาติเยอรมันจากฝั่งปรัสเชียที่หนีภัยสงครามรัสเซียมาสู่เยอรมนีตะวันออก ครอบครัวของแม่เป็นผู้มีอันจะกิน แต่เมื่อมาถึงเยอรมนีแล้วก็เหลือแต่เสื้อผ้าติดตัว แม่อพยพมากับตาและยาย ตาถูกจับเข้าค่ายกักกันของทหารอเมริกัน ถูกปล่อยให้อดตาย แม่กับยายหนีมาถึงคุกซฮาเฟ่น ในยุคนั้นรัฐบาลได้กำหนดให้ชาวเยอรมันช่วยกันรับผู้อพยพเข้าไปอยู่ในบ้านกันบ้านละครอบครัว แม่กับยายโชคดีมาเจอผู้หญิงคนหนึ่งเดินทางบนรถไฟที่ถูกชะตากัน ผู้หญิงคนนั้นบอกว่าบ้านเขาต้องรับผู้อพยพหนึ่งครอบครัวอยู่แล้ว ในเมื่อถูกชะตากันก็ขอรับแม่กับยายมาอยู่ด้วยแล้วกัน แล้วก็ยกห้องนอนให้อยู่ ให้ความช่วยเหลืออุปถัมภ์ตามสมควร แม่กับยายไปตามหาตาจนเจอ ตาถูกอดอาหารจนผอมเหลือแต่กระดูก ต้องมาพยาบาลอยู่นานกว่าจะฟื้นตัวเหมือนเดิม ตอนนั้นอาหารการกินก็หายากมาก ผู้หญิงเจ้าของบ้านก็เที่ยวไปเสาะแสวงหาจากเกษตรกรรอบๆหมู่บ้านก็ได้อาหารแบ่งปันมา

สามีผู้เขียนเล่าเรื่องนี้ให้ฟังเพื่อบอกว่า นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่คนเยอรมันในวันนี้จึงมีจิตคิดช่วยคนซีเรีย เพราะความเมตตาที่ได้จากคนเยอรมันด้วยกันในยุคนั้น ทำให้คนเยอรมันอพยพ ๖ ล้านคนสามารถสร้างชีวิตใหม่ได้ กลายเป็นกำลังทางเศรษฐกิจในยุคต่อมา ครอบครัวของแม่เปิดโรงงานทำรั้วเหล็ก ธุรกิจดีใช้ได้ และได้ขายทอดต่อไปเมื่อตายายแก่ตัวลง เรียกว่าไม่ได้มารับความช่วยจากรัฐเปล่าๆ แต่ได้ก่อร่างสร้างตัว-สร้างงานทันทีที่มี แม่เคยทำงานในโรงงานนี้ พอแก่ตัวก็มีเงินบำนาญเลี้ยงชีพจนทุกวันนี้

เราตั้งคำถามได้ และเราควรถามมากๆ เพื่อที่จะได้เข้าใจทุกแง่มุมของปัญหาและการแก้ไข และเข้าใจว่า นโยบายหนึ่งๆของรัฐจะมีผลต่อเราในฐานะสมาชิกในสังคมอย่างไร แต่อย่ามองอะไรแค่ด้านเดียว โดยเฉพาะด้านลบ

แต่อย่าลืมว่า วันหนึ่งในอดีตเราก็เคยเป็นคล้ายๆพวกเขา เราเป็นคนพลัดถิ่นมา หวังจะมาสร้างชีวิตใหม่ หากโอกาสที่เราได้รับมีความหมายต่อเราเพียงใด โอกาสที่ผู้อพยพชาวซีเรียจะได้รับก็มีความหมายต่อพวกเขาเพียงนั้น …

ความต่างก็อยู่ตรงที่ว่า พวกเขาคงไม่มีประเทศบ้านเกิดเมืองนอนให้กลับไปหาอีกแล้ว