รำลึกวันยุติความรุนแรงต่อสตรี

Photo by Julia Mourão Missagia from Pexels

บทความโดย จิตราภรณ์ วนัสพงศ์

สำหรับคุณแล้ว ข้อใดคือบทสรุปที่ถูกต้องคะ ระหว่าง “เงินซื้อศักดิ์ศรีหนูไม่ได้” กับ “ศักดิ์ศรีกินไม่ได้”

วันนี้อยากจะรำลึกถึงน้องก้อย (นามสมมติ) เนื่องจากวันที่ข้าพเจ้าพบน้องก้อยครั้งแรกคือปีที่แล้วของสัปดาห์นี้ที่มีการรณรงค์วันความรุนแรงสากลกัน

ทั้งสัปดาห์ น้องก้อยได้มาร้องเพลงปิดท้ายงานรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงในอำเภอที่เราจัด เพลงที่ร้องคือ “เมื่อยามที่ท้อแท้ ขอเพียงแค่คนหนึ่ง จะคิดถึงและคอยห่วงใย เมื่อยามที่ชีวิต หม่นหมองร้องไห้ ขอเพียงมีใครปลอบใจสักคน” ฟังแล้วเล่นเอาน้ำตาซึมเลย

น้องก้อยอายุน่าจะราวสัก 20 ปี เราเคยช่วยเหลือไว้เมื่อสักปีกว่ามาแล้ว ข้าพเจ้ารู้เรื่องของน้องก้อยมาตลอดตั้งแต่ก่อนเจอตัว เพราะทีมงานที่ช่วยน้องก้อยอินกับเรื่องของน้องมากจนนอนฝันร้ายติดกันหลายคืน ข้าพเจ้าจึงคอยปลอบและให้กำลังใจทีมงานตอนดึก ๆ ดื่น ๆ

เรื่องคือน้องก้อยเป็นนักร้องอาชีพแบบรับจ้างร้องตามงาน วันหนึ่งถูกจ้างไปร้องในงานฉลองตำแหน่งใหม่ของผู้นำชุมชนแห่งหนึ่ง (ชื่อตำแหน่งขึ้นต้นว่า “กำ” จะย่อไปทำไมเนี่ย) ร้องไปร้องมาก็ถูกผู้นำชุมชนคนนั้นลากเข้าห้องไปลวนลามแล้วก็ข่มขืน ทั้งที่มีคนเฮฮาอยู่ร่วมงานเลี้ยงมากมาย ไม่มีใครเข้ามาช่วยสักคน

เราทราบเรื่องตอนที่พี่สาวน้องก้อยที่เป็นแกนนำสตรีในหมู่บ้านที่ทำงานกับศูนย์ น้องก้อยบอกว่าจะแจ้งความเพราะเค้าถูกย่ำยีศักดิ์ศรี จากนั้นเราจึงสนับสนุนน้องโดยการไปแจ้งความที่สภอ. แห่งหนึ่งชื่อย่อว่า พ. ปรากฏว่าตำรวจไม่ยอมรับแจ้งความ เพราะกำเค้าบอกว่าเค้าไม่ได้ทำ เราก็สงสัยว่าทำไมแจ้งไม่ได้ ข้าพเจ้าแค้นตามน้องจนคิดว่าจะเอากฎหมายอาญา ม. 157 ไปฟ้องตำรวจว่าปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ตื๊อกับตำรวจอยู่สามสี่วันก็ไม่ยอมรับ

ในที่สุดต้องไปแจ้งตำรวจภาค 5 มากดดัน ตำรวจภูธรจึงยอมรับแจ้งความในที่สุด น้องข้าพเจ้ายื้อกับกำไปมาอีกเป็นเดือน กว่าเค้าจะยอมรับว่า เค้ามี sex กับน้องก้อย แต่ทั้งนี้เค้าไม่ได้ข่มขืน เพราะน้องก้อยเป็นนักร้องย่อมสมยอมกัน เจ้าหน้าที่ผู้ชายอะไรก็เชื่อไปทางนั้นหมด เค้าก็ส่งคนมาที่บ้านหลายครั้ง ทั้งขู่ทั้งปลอบมากมาย เพื่อให้น้องก้อยถอนแจ้งความ แต่น้องก้อยก็ยืนยันว่า “เงินซื้อศักดิ์ศรีหนูไม่ได้”

ระหว่างนี้น้องก้อยก็มีชีวิตอยู่แบบไม่ค่อยสงบสุขเท่าไร ผ่านไป 6 เดือนเห็นจะได้ เรื่องก็ขึ้นไปถึงขั้นตอนของอัยการ ทีนี้อัยการก็มาไกล่เกลี่ยละ ทางกำเค้าจะให้ 2 แสนบาทแก่น้องก้อยเพื่อไม่ให้เป็นคดี อัยการก็บอกว่า รับไปเถอะ เพราะถ้าฟ้องต่อไปก็จะเหนื่อย เหนื่อยกว่านี้อีกเยอะนะ เสียเวลาด้วย เงินก็จะไม่ได้ ถ้าจะเรียกค่าเสียหายต้องไปฟ้องแพ่ง ฟ้องได้แล้วจะบังคับคดีได้เงินรึเปล่าก็ยังไม่รู้เลย

ในที่สุดน้องก้อยก็ยอมรับเงินและถอนคดี โดยบอกกับเราว่า “หนูเหนื่อยแล้วพี่” ทางเราก็ดำเนินการตามความประสงค์ของน้องก้อยด้วยความเคารพในการตัดสินใจและเข้าใจอย่างยิ่ง

ต่อมาน้องก้อยจะมาร่วมงานกับเราเสมอ จนถึงทุกวันนี้ งานล่าสุดเมื่ออาทิตย์ที่แล้วก็มา บางทีบอกว่า ติดงานก็ไม่ต้องมานะ ทำงานไป น้องก็มาทุกงานบอกว่า “หนูมาได้ๆๆ” มาแล้วก็ร้องเพลงตามถนัด แล้วก็จะพูดให้กำลังใจผู้หญิงคนอื่น ๆ ประมาณว่า “หนูก็เคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมาก่อน แต่หนูก็สู้จนผ่านมันมาได้… ฯลฯ”

ข้าพเจ้าเคยเล่ากรณีน้องก้อยให้แหล่งทุนของเราฟัง มองว่าเป็นความสำเร็จของการสร้าง resilience ของผู้หญิง แต่บางคนก็เห็นว่า มันเป็นความล้มเหลวของการดำเนินคดี violence against women เพราะการดำเนินคดีความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศมีน้อยกว่าความเป็นจริงเนื่องจากติดอุปสรรคหลายอย่าง รวมทั้งผู้หญิงไม่อยากแจ้งความและไม่ยอมเอาผิดผู้กระทำ ถ้าจะให้ดี เราควรผลักดันให้น้องก้อยฟ้องคดีให้ชนะดีกว่า จะได้เพิ่มความสำเร็จทางสถิติทางเราเห็นว่า ชนะคดีแล้วได้อะไร

การชนะคดีเป็นชัยชนะ ของ women’s rights movement แน่ๆ แต่เป็นชัยชนะของผู้หญิงธรรมดา ๆ ด้วยหรือเปล่า วานบอก

เราผลักดันให้เค้าดำเนินคดีต่อน่ะพอได้ แต่เราก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปเป็นหลักประกันความสุขกายสบายใจพอประมาณในการดำเนินชีวิตประจำวันของน้องเค้านับจากวันที่มีคดี แล้วเราก็ไม่ได้เป็น รปภ. ไปยืนอารักขาหน้าบ้านเค้า 24 ชั่วโมง ไม่ได้เป็นเกราะรองรับการกระแทกจากอำนาจของคนในท้องถิ่น แรงกดดันของคนในชุมชนที่คอยแต่จะบอกว่า ก็เค้าเป็นนักร้อ นักร้องเค้าก็ต้องเจอแบบนี้แหละ ฯลฯ แล้วเค้าก็ได้เงิน 2 แสนไปดูแลแม่ดูแลลูก

แล้วเราก็คิดถึงคำที่น้องเค้าบอกว่า “พอแล้วดีกว่าพี่ หนูเหนื่อย”

ฉะนั้นแล้ว ช่วยบอกข้าพเจ้าทีว่าสำหรับคุณแล้ว ข้อใดคือบทสรุปที่ถูกต้องคะ ระหว่าง “เงินซื้อศักดิ์ศรีหนูไม่ได้” กับ “ศักดิ์ศรีกินไม่ได้”

ภาพประกอบ ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในเนื่องวันสตรีสากลปีที่แล้ว

“ผู้หญิงต้องสามารถตัดสินได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องสำหรับเรา ต้องสามารถยืนหยัดได้ในทุกสถานการณ์เพื่อหลักการและความสุขกายสบายใจของเรา ต้องสามารถหารายได้เป็นของตนเอง และต้องเชื่ออย่างจริงใจว่า คนที่ล้มแล้วย่อมสามารถลุกขึ้นยืนใหม่ได้เสมอ..และอย่างสง่างามด้วย”

เกี่ยวกับเรื่องที่เล่าหรือเปล่าไม่รู้ แต่ข้าพเจ้าว่าเกี่ยว

Message us