เฮฮาอาสาเขาหลัก (04)

โดย รจนา ณ เจนีวา

ตอน : เรามาเป็นอาสาสมัคร

ซีรี่ย์ย้อนยุคปี พ.ศ. ๒๕๔๙ สามเดือนหลังภัยสึนามิที่เขาหลัก สถานที่แห่งประวัติศาสตร์ที่รวมและแสดงพลังของอาสาสมัครจากทั่วโลก…เพื่อร่วมสร้าง Hope (ความหวัง) Spirit (กำลังใจ) และ Renewal (การฟื้นฟู)

เพื่อน ๆ คะ

แม่บ้านก็ไม่รู้หรอกค่ะ ว่าตอนไหนในช่วงสามวันนี้ ที่แม่บ้านเริ่มเปลี่ยนจากคุณหนู คุณนาย มาเป็นอาสาสมัครกับเขา (อาสาสมัครแบบสำอางหน่อยๆ) มันเกิดความซึมลึกขึ้นมาเอง จากการร่วมทำงาน ร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหา พูดคุย สังเกต สอบถาม พูดเล่นตลกh ให้คำแนะนำซึ่งกันและกัน กินข้าวด้วยกัน ซ้อนท้ายรถไปด้วยกัน (อะแฮ้ม แม่บ้านนั่งท้ายกระบะจนผิวดำคล้ำไปหลายองศาแล้วนะคะ หาใช่แม่บ้านหน้าขาวคนเดิมไม่)

แม่บ้านได้เห็นคนหน้าใหม่แวะเวียนเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย มาลงทะเบียนเป็นอาสาสมัคร แล้วต่างก็กระจายกันไปทำงานใครงานมันในเวลาอันรวดเร็ว วัน ๆ หนึ่ง แม่บ้านยังไม่รู้แน่ชัดว่าพวกเรามีใครกี่คนบ้างแต่รู้ว่า เรามีกันและกัน และชาวบ้านมีเราเป็นผู้คอยอาสารับใช้พวกเขา ค่ะ

วันหนึ่ง ตอนเช้าก่อนจะออกไปโบกรถ แม่บ้านยืนเล่นอยู่หน้าที่พัก มองออกไปทะเลที่อีกฟากหนึ่งของถนน ที่ยังมีโครงโรงแรมเหลืออยู่จากการถูกพัดพัง ก็มีหนุ่มน้อยญี่ปุ่นสองคนมาถามหาทางว่าจะไปอุทยานเขาหลัก ซักไปซักมาทราบว่า จะไปศูนย์อาสาสมัครเหมือนกัน ก็เลยบอกว่า มาเลย เดี๋ยวเราโบกรถไปด้วยกัน ก็เลยได้พาทั้งสองคนไปพร้อมกับเราสมใจหมายค่ะ ระหว่างทางก็พูดคุยกัน ทำความรู้จักกัน พอเขาไปถึงศูนย์ฯสมัครงาน เอ๊ย สมัครอาสาฯเสร็จ ต่างก็แยกย้ายกันไป แม่บ้านจำไม่ได้ว่า ได้เห็นหน้าอีกหรือไม่

บางครั้ง เราไปโบกได้รถกระบะที่รับอาสาฯฝรั่งมาแล้วคนสองคน เราก็ขึ้นไปแจม บางทีท้ายรถกระบะ ชาวบ้านที่ไปทำงานก็กำลังนั่งล้อมวงกินข้าวกับปลา (จริง ๆ) ทั้ง ๆ ที่รถยังวิ่งอยู่ เขาก็ชวนเรากินข้าวด้วยด้วยมิตรภาพแบบไทย ๆ จริง ๆ (เมืองนอกหาไม่ได้ค่ะ) แม่บ้านน่ะเห็นปลาเขาแล้วอยากกินจริง ๆ (แบบว่าตะกละ) แต่ต้องปฏิเสธไป เพราะถึงจะกินก็กินไม่ทัน เนื่องจากรถนั่งรถเข้าแค่สองสามนาทีเอง เป็นอันว่า ชาวบ้านโชคดีไม่ถูกแย่งกิน

นี่คือสภาพชีวิตประจำวันจริง ๆ ค่ะ และเชื่อว่าบริเวณแถบนี้ คนที่สัญจรไปไหนมาไหนมากที่สุดโดยการโบกรถก็คือ พวกอาสาสมัครอย่างพวกเรานี่แหละค่ะ ดีนะคะที่ต่างจังหวัดมีรถกระบะเยอะ เพราะไม่แน่ใจว่ารถเก๋งสวย ๆ จะอยากรับพวกเราโทรม ๆ ฝุ่นมอมแมมเหมือนเด็ก (และผู้ใหญ่) ข้างถนนบ้างหรือเปล่า

กระชับมิตรไม่จำกัดเวลาและสถานที่

ตอนเย็นแม่บ้านจะเดินไปทานข้าวจากที่พัก ห่างไปสักครึ่งกิโล นึกโรแมนกะติกโทรไปคุยกับพ่อบ้าน โทรไป คุยไป เดินไป เอ๊ะ มีมอเตอร์ไซค์มาปิ๊น ๆ เอ้า น้อง ๆ ผู้ชายจากที่ศูนย์ฯตะโกนถามว่า พี่จะไปไหน บอกว่าไปกินข้าว เขาบอก มากับพวกผม ก็เลยบอกว่า เดี๋ยววนกลับมารับได้ไหม เพราะยังคุยกับพ่อบ้านเพลินอยู่ น้องเขาก็กลับมารับจริง ๆ ต้องรีบบอกลาพ่อบ้าน เพราะไม่อยากพูดโทรศัพท์ระหว่างซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์

แม่บ้านไปนั่งทานข้าวตามสั่งแบบง่าย ๆ กับน้อง ๆ ที่บอกว่า เบื่ออาหารที่ศูนย์ฯ (พอเข้าใจได้เพราะทานมาสองเดือนกว่าแล้ว) แล้วน้อง ๆ ยังบอกว่า ขนาดคนทำกับข้าวที่ศูนย์ฯ ยังมาทานข้าวที่นี่เลย ป่อยยย….

น้องทั้งสามเป็นหนุ่มไฟแรง น่ารัก ต่างวัยต่างความถนัด แต่มีความกลมกลืนระหว่างกัน “เพราะเราเป็นอาสาสมัคคคคครรรรร” (เวลาอ่านประโยคนี้โปรดจินตนาการว่ากำลังยืนอยู่บนยอดเขา ชูมือขึ้นเหนือศีรษะ และตะโกนก้องหุบเขาด้วยค่ะ แฮ่ม)

น้องสองคนเป็นนักปั่นจักรยานทางไกล ชื่อ จากกรุงเทพฯมาระนอง บอย และ จักร จักรเคยทำงานกำกับฝ่ายศิลป์ให้กับภาพยนตร์เรื่อง “สุริโยทัย” เราเรียกเขาว่า พี่จักร น่ารัก ถ่อมตัว คุยสนุก มีความเบิกบานอยู่เสมอ พี่จักรที่ปั่นจักรยานมาจากระนองตั้งแต่วันแรก ๆ ที่เกิดเหตุ แล้วก็อยู่กับทางศูนย์ฯตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พี่จักรเป็นครูสอนศิลปะเด็กด้วยค่ะ

มันก็แปลกนะคะ การเดินทางเที่ยวนี้ เป็นการเดินทางที่แม่บ้านได้พบและรู้จักคนที่ไม่เคยเจอะเจอมาก่อนในชีวิตมากที่สุดในช่วงเวลาสั้นที่สุด และทุกคนต่างให้ภาพประทับใจและข้อคิดแก่ชีวิตให้กับแม่บ้านทั้งสิ้น พี่จักรนี่เขียนหนังสือทำมือ (เครื่องซีรอกซ์ช่วย) ขึ้นมาเล่มหนึ่งด้วย ซึ่งแม่บ้านได้รับมาหนึ่งเล่ม เขียนเรียบง่าย น่าอ่านค่ะ เป็นคนมีจิตใจอ่อนโยนงดงามทีเดียว

เพื่อนนกน้อยเป็นกำลังใจอาสาหน้าใหม่

อยากเล่าย้อนไปวันที่ก่อนจะเดินทางมาเขาหลัก วันนั้นยังอยู่กรุงเทพฯ และได้นัดพบกับกิ๊กนกน้อยที่ไม่เคยเห็นหน้าหลายคน ได้แก่ ป้าแก่ ป้าแอ๊ด พญาไฟ Poceille กางเขนดง และ ลุงเปี๊ยก (ทั้งสองคนหลังนี่เคยเจอกันแล้วเมื่อปีก่อน)

นัดพบรอบแรกที่เซ็นทรัลบางนา คนที่เสียสละสูงสุดคือ น้องโพเซอิลเล่ ขับรถมาทิศนี้เป็นครั้งแรก (เนื่องจากแท้กซี่เห็นหน้าแล้วไม่กล้ารับ เห็นมั้ย เรากัดหมับเลย ไม่นานอาจต้องเอาตัวไปฉีดยากันพิษรจบ้า) แต่ทุกคนต่างมากันแต่หัววัน แล้วก็มาแกร่วไปกร่ายมาตรงบริเวณที่นัดพบด้วยไม่มีใครกล้าแสดงตัว ป้าแอ๊ดกับป้าแก่เจอกันก่อน แม่บ้านเป็นคนที่สาม แล้วตามด้วยพญาไฟ และอาจารย์โพเป็นคนสุดท้าย แต่ขอเรียกน้องโพแล้วกันค่ะ

รอบแรกที่เซ็นทรัลนี้ได้ความอนุเคราะห์จากป้าแก่เลือกสถานที่แล้วยังซื้อน้ำซื้อท่า(ทำไมต้องซื้อท่าด้วยไม่รู้นะ) กับขนมเพร็ทเซลเลี้ยง แสนอร่อย คุยกันเมามันแล้วถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ป้าแก่อุตส่าห์มาด้วยส้นสูงเพราะคิดว่าแม่บ้านแต่งงานกับฝรั่งคงจะตัวสูง อ้าว ป้าแก่ท่าจะไม่ได้เช็คสถิติสาวไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่ความสูงห่างกันอย่างน้อยหนึ่งฟุตทั้งนั้น แม่บ้าน 157 ซม ส่วนพ่อบ้าน 193 ซมจ้า

พวกเราพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะด้วยความสนุกสนาน ส่วนหนึ่งทำความรู้จักกัน ใครทำงานอะไรที่ไหน อย่างไร ส่วนที่สองพูดถึงงานเขียนต่าง ๆ ในฐานะเราต่างเป็นสมาชิก เม้าท์กันเพลินจนเวลาผ่านไปสองชั่วโมงโดยไม่รู้ตัว

พญาไฟขอลาไปปฏิบัติธรรมที่วัดใกล้ ๆ และอย่างที่ป้าแก่เล่าไปแล้ว พญาไฟอุตส่าห์หยิบยื่นสิ่งดีงามโดยการชวนพวกเราไปวัดด้วย แต่ได้ยินเสียงปฏิเสธกันเสียงหลง หาใช่คนบาปกันไม่ เพียงแต่ยังหลงในเสียงสีแสงที่จะได้จากเพื่อน ๆ ด้วยกัน ถือเป็นภวตัณหาอยากมีอยากเป็นแบบหนึ่ง พญาไฟก็เลยมุ่งหน้าไปทางสายสว่างสดใสไร้มลทินคนเดียวไปก่อน

พวกเรากระเตงกันไป แม่บ้านกับน้องโพ หนึ่งคัน ป้าแก่กับป้าแอ๊ดหนึ่งคัน ไปเจอลุงเปี๊ยกและกางเขนดงที่บ้านไร่กาแฟตรงหัวมุมถนนเอกมัย แม่เจ้าโวย แม่บ้านไม่ได้มาสองปี กรุงเทพฯเปี๋ยนไป๋เยอะทีเดียว ประทับใจกับร้านนี้โดยไม่ได้คิดโฆษณาให้เขา ว่าสร้างพื้นที่เขียว สงบ อบอุ่นขึ้นมากลางเมือง แต่กาแฟกับขนมแพงจับใจ ราคาเดียวกับเมืองเจฯเลยแหล่ะจ้า

แต่ดวงพวกเราไม่ได้ทานกาแฟเป็นอาหารเย็น ร้านเกิดไฟดับเพราะไฟไหม้ เอ๊ะ ฟังดูแปลก ๆ พวกเราเลยข้ามถนนไปกินสุกี้ไม่ไกลกัน ทำเอาป้าแก่บ่นกระปอดกระแปดว่าทำไมไม่เอารถไป ต้องเดินไปเดินมา ห้าห้าห้า แต่พอขากลับป้าแก่ก็ได้ทานกาแฟเย็นกับพวกเราแม่บ้านกับน้องโพต่อ…ถือเป็นได้กำไรสามต่อนะ เซ็นทรัลบางนา สุกี้เอ็มเค แล้วจบด้วยกาแฟ ไม่นับที่แม่บ้านพาน้องโพขับรถหลงทางสองรอบ

การเจอกับ ลป ครั้งนี้ ลป มาในฐานะอาสารุ่นพี่ มาให้ความรู้ คำแนะนำ กำลังใจ สิ่งที่ลป ช่วยได้มากแม้จะเป็นเรื่องง่าย ๆ คือ การที่ลุงบอกว่า ที่โน่นไปไหนมาไหนสามารถโบกรถได้ คำนี้ แม่บ้านจำติดใจค่ะ พอตอนต้องโบกจริงก็เลยไม่กลัวอะไรมากนัก ยังจำได้วันนี้ลุงเปี๊ยกเลี้ยงสุกี้แสนอร่อย แถมด้วยปลาหมึกปิ้ง (ราวกับรู้ว่าแม่บ้านอดอยากปลาหมึกปิ้งจากเมืองเจฯ) พร้อมด้วยบรรยากาศจ๊อกแจ๊กของเสียงนกน้อยที่ต่างกันแย่งพูดด้วยความสุข ลป ให้กำลังใจและพูดจนป้าแก่เกิดไอเดียว่าน่าจะตามไปอาสาบ้าง

มีคำถามภาษาอังกฤษประโยคหนึ่งที่ ลป ถามแล้วพวกเราถึงกับอึ้งหาคำตอบไม่ได้ ลป ถามว่า ประโยคนี้แปลว่าอะไร “แวร์วู้ดยูคัม?” ใครอยู่เมืองนอกช่วยกันคิดคำตอบเร็ว อยากรู้คำตอบโปรดดูท้ายบทความนี้

แม่บ้านอยากสรุปว่า อานิสงค์แห่งความตั้งใจนี้หนุนส่งในทางดีนับแต่วันก่อนเดินทางถึงเขาหลักด้วยซ้ำ กำลังใจที่ได้มากมายจากเพื่อน ๆ ที่เพิ่งมาพบกันครั้งแรกในชีวิต แต่ราวกับเป็นเพื่อนนักเรียนมาจากชั้นอนุบาล (แต่ตอนเราอยู่อนุบาล ป้าแก่กับป้าแอ๊ดน่าจะอยู่มัธยมแล้วนะ หุหุหุ) ไม่นับขนมนมเนยอีกเพียบที่ขนมาราวกับกลัวว่าอาสาสมัครจะไปอดอยากที่เขาหลัก

เพื่อน ๆ คะ นับจากวันไปจนถึงวันกลับ ทุกวันเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม สมกับที่ลุงเปี๊ยกได้บอกไว้

วันเวลาเหล่านี้ และผู้คนที่ได้พบพานเหล่านี้ คงยากที่จะเลือนไปจากความทรงจำของพวกเรา เขียนแบบนี้ยังไม่จบนะคะ แค่อยากจะสะท้อนความรู้สึกดี ๆ กับสิ่งที่เกิดกับเราเท่านั้นเอง

แม่บ้านอาสา

เฉลย
แวร์วู้ดยูคัม? = คุณจะมาไม้ไหน? = Where wood you come? โปรดสังเกตว่า wood นะจ๊ะ ไม่ใช่ would นี่คือภาษาอังกฤษฉบับเขาหลัก เหอ เหอ เหอ

Message us