ชุดความรู้เรื่องการเยี่ยมไข้
โดย ป๊อก ศรแก้ว
ภาพปก pexels.com
การเยี่ยมไข้ดูเหมือนน่าจะเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตของคนไทย ใครๆก็เคยทำกันทั้งนั้น
แต่น้อยคนจะตระหนักว่าการเยี่ยมไข้ที่ไม่ระมัดระวังนั้นอาจมีผลกับสภาวะร่างกายและจิตใจผู้ป่วยได้มากอย่างคาดไม่ถึง
เพราะการเยี่ยมไข้ที่บ้านผู้ป่วยระยะพักฟื้นเปิดช่องให้ผู้เยี่ยมไข้ลืมตัวและลืมมารยาทการเยี่ยมไข้ที่ต้องยังอ่อนไหวด้านสภาพจิตใจและอารมณ์ของผู้ป่วยมากเป็นพิเศษ
ขอฉันตั้งคำถามกับผู้ที่เคยเยี่ยมไข้ว่า
>>> คุณเคยไหมที่นำขนมหรืออาหารที่คุณชอบไปคะยั้นคะยอให้ผู้ป่วยกิน โดยไม่ได้ถามว่าผู้ป่วยชอบหรือทานอะไรได้บ้าง
>>> คุณเคยไหมที่ไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยใกล้เวลาอาหารเที่ยงและอยู่จนบ่ายโมง ตัวคุณกินอาหารไปแล้ว แต่ผู้ป่วยและเจ้าของบ้านยังไม่ได้กิน
>>> คุณเคยไหมที่นำเรื่องทุกข์ใจส่วนตัวไปนั่งระบายให้ผู้ป่วยฟัง เพราะผู้ป่วยเป็นผู้รับฟังที่ดีฟัง
>>> คุณเคยถูกผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยถามไหมว่ามีธุระที่ไหนต่อหรือเปล่า (หลังจากคุณนั่งอยู่เกินหนึ่งชั่วโมงแล้ว) และคุณไม่เข้าใจนัยยะว่าถึงเวลาที่คุณควรลากลับ
>>> คุณเคยไหมที่ไปบ้านผู้ป่วยแล้วไปเจ้ากี้เจ้าการแนะนำว่าตรงนั้นตรงนี้น่าจะต้องปรับปรุงอย่างไรบ้าง
>>>คุณเคยรู้บ้างไหมว่าหลังจากที่คุณไปเยี่ยมไข้แล้ว คนป่วยมีอาการแย่ลงทันที
คงไม่ต้องบอกว่าฉันเป็นผู้ป่วยที่เจอภาวะกระอักกระอ่วนแบบนั้น และต้องเจอกับสภาวะจิตตกเหน็ดเหนื่อยหมดแรงเป็นวันๆหลังจากการมาเยี่ยมของคนรู้จักที่ไม่รู้ใจ
เพราะเพื่อนส่วนใหญ่ที่กรุณาแวะมาให้กำลังใจ ล้วนทิ้งความรู้สึกที่ดีไว้ให้
ฉันเชื่อว่ามันเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์มากกว่าสิ่งใด เพราะผู้เยี่ยมไข้ทุกคนก็อยากให้คนป่วยหายดีกันทั้งนั้น ซึ่งเมื่อฉันมาทบทวน ก็คิดว่าเพื่อนมาเยี่ยมก็มีภาพว่า เราคือเจ้าของบ้านคนเดิมที่แอคทีฟ คล่องแคล่ว ขยันรอบด้าน ร่าเริงมีแต่ความสุข แค่มีข้อจำกัดจากการผ่าตัดนิดหน่อย แต่จิตใจยังเต็มร้อย
เราเองก็แอบคิดว่าเราน่าจะเป็นอย่างนั้น
บทบาทเจ้าของบ้าน – แขกคือคนสำคัญ ต้องดูแลไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ไม่ทำอะไรให้แขกอึดอัดใจ รักษามารยาท รับฟังแขกพูดคุย ไม่ทำให้แขกรู้สึกไม่เป็นที่ต้อนรับ ไม่แสดงอาการอึดอัดเบื่อหน่าย ฯลฯ
บทบาทคนป่วย – เราคือคนสำคัญ สุขภาพและการพักผ่อนต้องมาก่อน ไม่ปล่อยให้ตัวเองเหนื่อยหรือเครียด ไม่สามารถคุยทีละยาวๆนานๆ หรือรับฟังการคุยของคนอื่นได้ โดยเฉพาะเรื่องราวทางลบ … ว่าง่าย ๆ ผู้ป่วยต้องถนอมตัวเองทั้งกายและใจ
ที่พูดทั้งหมดนี้ ไม่ได้รู้ซึ้งมาก่อน จนเจอกับตัวเอง
เลยมาสรุปข้อคิดเชิงบทเรียนต่อไปนี้ให้ตัวเองหลังจากรับแขกมาเยี่ยมที่บ้านไปหลายชุด และเจอแค่ชุดสองชุดที่เล่นเอาไปต่อไม่เป็น
ข้อควรปฏิบัติสำหรับคนป่วยพักฟื้นที่บ้าน
1. ให้เวลาตัวเองพักฟื้นตัวอย่างน้อยสองอาทิตย์ก่อนเริ่มรับแขก เพื่อปรับตัวกับชีวิตคนป่วยที่บ้าน และให้คนที่บ้านได้คุ้นเคยกับกิจวัตรใหม่ของเรา
2. ไม่รับนัดแขกวันละหลายกลุ่ม และลืมจำกัดเวลาเยี่ยม จนต้องวุ่นวายกับการต้อนรับ และไม่ได้พักผ่อนหรือกินอาหารกินยาไม่ตรงเวลา
3. อย่าทำตัวเป็นคนขี้เกรงใจหรือเพื่อนที่แสนดี ไม่กล้าปฏิเสธการขอเยี่ยม เพราะตอนนี้หน้าที่ของเราคือการพักผ่อนให้มากที่สุด รับสิ่งกระทบให้น้อยที่สุด
4. พูดคุยกับคนที่บ้านล่วงหน้าว่ามีแผนจะรับแขกอย่างไร ครั้งละนานเท่าไร และช่วยกันรักษาเวลานั้น
5. ตระหนักว่าเราเป็นคนป่วย ไม่ใช่เจ้าของบ้านที่มีหน้าที่รับแขกไม่ให้ขาดตกบกพร่อง หากคิดว่าแยกบทบาทไม่ได้ ก็ต้องงดเยี่ยมไปก่อน
ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้เยี่ยมไข้ที่บ้าน
1. สอบถามล่วงหน้าว่าคนป่วยมีอาการระดับไหน พร้อมให้เยี่ยมหรือยัง สมควรนำอะไรไปเยี่ยม เรื่องใดที่ควรหลีกเลี่ยง จะเยี่ยมได้นานเท่าไร
2. แจ้งว่าจะมาเยี่ยมกี่คน มาเวลาไหน และรักษาเวลานั้น ควรเยี่ยมเป็นเวลาสั้น ๆ กลุ่มเล็กๆ
3. อย่าวางแผนเยี่ยมใกล้เวลาอาหารหรืออยู่ยาวคาบช่วงเวลาอาหารของคนป่วย และไม่ยอมลากลับแม้จะเห็นเจ้าบ้านเริ่มเตรียมอาหาร
4. เมื่อไปถึง ควรจะวางของฝากไว้อีกทาง และทักทายเจ้าของบ้านก่อน ไม่มัวแต่นำเสนอของฝากจนลืมมารยาทการทักทายอันดีงาม และไม่เอาแต่บ่นเรื่องรถติดหรือความยากลำบากในการเดินทางมาเยี่ยมหรืออื่นๆ
5. ไม่คะยั้นคะยอให้คนป่วยชิมหรือทานของที่นำมาเพื่อเอาใจคนนำมาฝาก หรือนำของที่ตัวเองชอบทำแต่ไม่ชอบกินไปเยี่ยมคนป่วย
6. คำถามแรกๆที่ควรถาม คืออาการและความรู้สึกของผู้ป่วย โดยถามในลักษณะที่ไม่เป็นการละลาบละล้วงหรือซักไซร้หรือตัดสินเปรียบเทียบ
7. เตรียมตัวมาเป็นผู้รับฟังที่ดีมากกว่ามาคุยให้ผู้ป่วยฟัง โดยเฉพาะหลีกเลี่ยงการคุยปัญหาส่วนตัว เรื่องกลุ้มอกกลุ้มใจ หรือเปรียบเทียบอาการป่วยของเจ้าบ้านกับเคสอื่นๆที่รู้จัก
8. ไม่เสนอแนะให้ผู้ป่วยแสวงหาแนวทางรักษา ทดลองยาหรืออาหาร หรือวิถีอื่นๆ ที่ตนเองคิดว่าดีกว่า โดยมิได้รับการร้องขอ
9. ไม่ติติง เปรียบเทียบ แก้ไข วิธีการดูแลตัวเองที่บ้านของผู้ป่วย หรือของผู้ดูแล
10. ไม่ไปเยี่ยมผู้ป่วยในช่วงที่ตัวเองมีความทุกข์หรือปัญหาเกาะกินใจอยู่ เพราะจะอดไม่ได้ที่จะระบายออกมา หรือมีการแสดงออกซึ่งความทุกข์ในสีหน้า
11. ไม่ลืมว่าคนป่วยอาจจะเกรงใจ ไม่กล้าบอกว่าเหนื่อย อยากพักผ่อนแล้ว เพราะไม่อยากบกพร่องในหน้าที่ของเจ้าของบ้าน
12. ไม่ลืมว่านี่เป็นการเยี่ยมไข้ ไม่ใช่การไปเที่ยวสังสรรค์บ้านเพื่อนตามปกติ
13. ไม่คาดหวังหรือพูดทำนองขอให้เจ้าของบ้านเตรียมอะไรไว้เป็นพิเศษเพื่อต้อนรับตนเอง
14. ควรลากลับเมื่อถึงเวลามื้ออาหารตามปกติ แม้ว่าเจ้าของบ้านจะยังไม่ได้เตรียมตัวอะไร หรือเมื่อคนป่วยเริ่มมีเริ่มอึดอัด ไม่สบายตัว ไม่มีสมาธิ เหนื่อยอ่อน เริ่มใจลอย หรือ มีอาการเงียบ
15. จำไว้ว่าวัตถุประสงค์ของการเยี่ยมไข้คือการไปให้กำลังใจผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีผ่านการสื่อสารที่เป็นบวกและอบอุ่น และมีการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวและการพักผ่อนของผู้ป่วยให้น้อยที่สุด
ฉันต้องขอโทษคนไทยทุกคนด้วยที่เหมือนจะพูดถึงแต่แง่ลบของการเยี่ยมไข้ เพราะสิ่งนี้คนไทยมักเกรงใจไม่กล้าพูดให้ใครฟังเนื่องจากจะเป็นการดูหมิ่นน้ำใจของผู้มาเยี่ยม
และธรรมเนียมไทยเรายังเห็นของกินของฝากเป็นส่วนสำคัญของการเยี่ยมไข้ และเน้นความเป็นกันเองแบบครอบครัวไม่ต้องเคร่งครัดในกิริยามารยาทเหมือนอย่างในยุโรป การถือวิสาสะบางครั้งต้องมองเป็นความหวังดี
ก็จริงที่อาหารอันโอชะ ของหายาก ของที่เลือกมาฝากจากใจคือสิ่งที่ช่วยชุบชูใจและกำลังกายของผู้ป่วยได้ และแสดงว่าผู้มาเยี่ยมให้ความสำคัญกับผู้ป่วยเพียงใด เพียงแต่การเยี่ยมไข้ไม่ได้หยุดที่การนำเสนอของฝาก แต่เป็นประสบการณ์ที่ดีของการเยี่ยมทั้งหมด ที่จะมีผลต่อการฟื้นฟูของผู้ป่วยเมื่อการเยี่ยมไข้ผ่านพ้นไปแล้ว
หากข้อคิดนี้มีประโยชน์ก็ยินดี
หากขาดตกบกพร่องอะไร ฉันในฐานะผู้ป่วยพักฟื้นมือใหม่ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้
ฝากไว้ให้คิด ณ บ้านธิ
29.01.2024