บารัค โอบามา ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก เขียนเรื่องสั้นเมื่อสมัยหนุ่ม ๆ ระหว่างเวลาที่ดํารงตําแหน่ง ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา โอบามาชอบอ่านนวนิยายเพื่อพักผ่อนสมองและหันเหความสนใจจากการเมือง แต่วรรณคดีไม่ใช่เพียงเพื่อรื่นเริงสันทนาการ วรรณคดีคือการเรียนรู้ชีวิตผ่านถ้อยคําเลือกสรร (คัดจากบทสัมภาษณ์ของมิชิโกะ คาคุตานิ หัวหน้าแผนกวิจารณ์วรรณคดีของหนังสือพิมพ์ New York Times ว่า วรรณคดีนั้น # ดีต่อใจของบารัค โอบามา เพียงใด)
โอบามาถ่ายทอดความรักการอ่านถึง เมเลีย ลูกสาววัยรุ่น ด้วยการให้หนังสืออิเลกโทรนิกส์เป็นของขวัญ เช่น งานเขียนของ Norman Mailer หรือของ Gabriel Garcia Marquez บางครั้งเขาเสนองานเขียนที่เขาคิดว่าน่าสนใจ เช่นเรื่อง The Golden Notebook ของนักเขียนรางวัลโนเบล Doris Lessing แต่แม้ว่าโอบามามีความเห็นว่างานเขียนหลายเรื่องเป็นงานวรรณกรรมเยี่ยมคุณภาพ เขากลับไม่แนะนําให้ลูกสาวอ่าน เพราะคิดว่าคงไม่มีประโยชน์สําหรับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย บางครั้งโอบามาจะคุยกับลูกสาวเรื่องหนังสือที่อ่านจบแล้ว ลูกสาวคนนี้อยากทํางานด้านภาพยนต์ ปรากฎว่าเธอติดใจเรื่อง A Moveable Feast ของ Ernest Hemingway มาก และชื่นชมเฮมิงเวย์ที่ตั้งใจจะเขียนบันทึกเรื่องจริงทุก ๆ วัน
วรรณคดีไม่ใช่เพียงเพื่อรื่นเริงสันทนาการ วรรณคดีคือการเรียนรู้ชีวิตผ่านถ้อยคําเลือกสรร
สิ่งที่ทําให้เขาภูมิใจเป็นพิเศษคือ เมื่อลูก ๆ ของเขาเลือกอ่านหนังสือที่เขาเองเคยอ่านเมื่อ 30 หรือ 40 ปีก่อน ทั้งนี้เพราะลูก ๆ เลือกเองโดยที่เขาไม่ต้องแนะนําเลย ชีวิตเด็กของโอบามาคือการเดินทางเกือบไม่รู้จบ การอ่านช่วยฆ่าเวลาเดินทางอันยาวนาน ที่อินโดเนเซีย โอบามาเป็นเด็กแปลกหน้า ตัวโต ผิวคล้ำ พอย้ายไปอยู่ฮาวายก็แปลกหน้าอีก กลายเป็นว่าเขาประพฤติตัวเหมือนเด็กอินโดเนเซีย การอ่านจึงเสมือนการสร้างกําแพงปกป้องตนเอง อยู่ในโลกที่รู้จักเคยชินและรู้สึกปลอดภัย
โอบามาเริ่มลองเขียนเรื่องสั้นเมื่อเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยปีที่สอง เขารู้สึกว่า การอ่าน การคิดและการเขียนนั้นเป็นสิ่งที่ # ดีต่อใจ ที่สุด เพราะเวลาเขียน ผู้เขียนค้นพบว่า ภาษาและคําพูดนั้นมีอํานาจ มีพลังจูงใจ การเขียนต้องเรียบเรียงถ้อยคําและความคิด ทําให้ค้นพบตนเองที่แท้จริง ถามตนเองว่าต้องการอะไร เชื่อมั่นในสิ่งใด และอะไรคือสิ่งสําคัญสําหรับชีวิตที่มีคุณค่า
โอบามาเริ่มเขียนบันทึกชีวิตประจําวัน และเรื่องสั้น พอจบการศึกษาและเข้าทํางาน เรื่องเล่าของโอบามามักเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ที่มีอายุมากกว่า เกี่ยวกับความรู้สึกสูญเสียและความผิดหวังของกลุ่มชนที่ต่อสู้ชีวิต -ไต่เต้าขึ้นอยู่ระดับชนชั้นกลางมาอย่างลําบากแสนเข็ญ แต่ต้องประสบความล้มเหลวในที่สุดเพราะเศรษฐกิจเริ่มตกต่ํา และสังคมหย่อนศีลธรรม
โอบามาเชื่อว่า การเขียนทําให้เขารู้จักและเข้าใจตนเองได้ดีขึ้น เพราะเป็นโอกาสให้เขาตรึกตรองหลายต่อหลายสิ่งที่ผูกพันต่อชีวิตของเขาเอง อาทิ เผ่าพันธุ์ ชนชั้น และครอบครัว ตําแหน่งประธานาธิบดีทําให้เขามีเวลาว่างเหลือเพียงเขียนบันทึกเป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตาม โอบามาพยายามเขียนคําปราศรัยเอง โดยเฉพาะปราศรัยที่สําคัญ ๆ เขาเชื่อว่าประสบการณ์เขียนร่างคําปราศรัยช่วยรักษาสมรรถภาพการเขียน ทั้งนี้เพราะไม่ว่าจะร่างคําปราศรัยหรือเขียนเรื่องสั้น หรือเขียนนวนิยาย ผู้เขียนจะตั้งคําถามคล้าย ๆ กันว่า คํานี้ใช้ได้ไหม คํานี้ถูกหรือเปล่า ตรงความหมายหรือไม่ อ่านแล้วรื่นตารื่นหูไหม เพราะไหม มีจังหวะไหม ซ้ําซากไหม
ในฐานะประธานาธิบดี โอบามาต้องอ่านข้อเขียนเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเมืองมากมาย เป็นข้อเขียนที่ต้องวิจัย ดังนั้นเขาจึงพยายามเจียดเวลาอ่านนวนิยายหรือวรรณคดีอื่น ๆ เพื่อค้นพบความสละสลวยและจินตนาการ ค้นพบสิ่งที่ # ดีต่อใจ ในขณะเดียวกัน นวนิยายหรือวรรณคดีที่เขาอ่านยังช่วยให้เขาเข้าใจส่วนลึกในใจของเพื่อนมนุษย์ด้วย ตัวละครคือกระจกของสังคมประจําวันนั่นเอง
หนังสือที่โอบามาอ่านซ้ำระหว่างดํารงตําแหน่งประธานาธิบดีคือ บทละครของเชกสเปียร์ สมัยเป็นนักเรียน เขาเกลียดและคิดว่าเรื่องของเชกสเปียร์น่าเบื่อที่สุด เมื่ออายุมากขึ้นโอบามาพบว่าโศกนาฏกรรม คือส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะวิถีมนุษยสัมพันธ์มีแบบอย่างที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก รัก โลภ โกรธ หลง จนถึงอิจฉาริษยา และความเคียดแค้นโหดเหี้ยม บางครั้ง โอบามาหันเข้าหาวรรณคดีเพราะต้องการแสวงหาเพื่อนร่วมทาง โดยเฉพาะเมื่อเขาต้องเผชิญสถานการณ์เลวร้าย เช่น การกราดยิงแบบไม่เลือก หรือการก่อการร้าย ในสถานการณ์เช่นนี้ โอบามามักหันเข้าหาข้อเขียนหรือบทความของลินคอล์น ของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ของคานธี ของเชอร์ชิลล์ ของเทดดี โรสเวลต์ หรือของ มันเดลา (Lincoln, Martin Luther King, Gandhi, Churchill, Teddy Roosevelt, Mandela) เป็นต้น
นวนิยายหรือวรรณคดีที่อ่าน ยังช่วยให้เขาเข้าใจส่วนลึกในใจของเพื่อนมนุษย์ด้วย ตัวละครคือกระจกของสังคมประจําวันนั่นเอง
โลกของเราขณะนี้เต็มไปด้วยปัญหาและคําถามเกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นฐาน โลกาภิวัฒน์ การต่อสู้ระหว่างวัฒนธรรม โอบามาต้องการให้นักปกครองและผู้นํารุ่นต่อ ๆ ไปไม่ละเลยปัญหาและเห็นความสําคัญของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ การใช้อาวุธ และการปฏิรูปขบวนการยุติธรรม ในขณะเดียวกัน เขาตั้งความหวังไว้ว่า ทุกคนจะไม่ลืมให้เวลาต่อวรรณคดีเพื่อเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เอาใจเขามาใส่ใจเราเพื่อโลกที่ # ดีต่อใจ