สวัสดีค่ะ
วันนี้จะมาเขียนเรื่องการทำ Alternance คือทำงานควบคู่ไปกับการเรียนหรือการอบรม (Formation) นั่นเอง
ส่วนตัวเราเริ่มทำ BTS Support à l’action managériale en alternance และทำงานในแผนกทรัพยากรบุคคลกับบริษัทใหญ่บริษัทหนึ่งในฝรั่งเศสมาได้เกือบ ๆ สี่เดือนแล้ว จริง ๆ กะว่ายังไม่มาเขียนจนกว่าจะเรียนจบ แต่ถือว่าเป็นการมาแชร์ประสบการณ์สำหรับคนที่สนใจแล้วกันนะคะ
อธิบายกันก่อนสำหรับคนที่ไม่รู้ว่า Alternance คืออะไร
แนวคิดของ Alternance ก็คือ pouvoir à la fois étudier et travailler หรือง่าย ๆ คือ “ทำงานไปด้วย-เรียนไปด้วย” นั่นเอง แต่ไม่ใช่การทำพาร์ทไทม์หรืออะไรแบบนี้นะ เป็นการทำงานจริง ๆ จัง ๆ เลย เหมือนลูกจ้างในบริษัทจริง ๆ เช่น อาจจะทำงานสามวัน เรียนสองวัน ทำงานสองวันเรียนสามวัน หรือทำงานหนึ่งอาทิตย์เรียนหนึ่งอาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งตรงนี้จะขึ้นอยู่กับสถาบันการศึกษาและหลักสูตรที่เราเลือกเรียน
ข้อดี
- มีเงินเดือน
- เมื่อจบหลักสูตรจะได้ประสบการณ์การทำงานและวุฒิการศึกษา
- การเรียนทฤษฎีสามารถนำมาประยุกต์กับการทำงานได้ ซึ่งตรงนี้เป็นข้อดีมากๆ เช่น formation (หรือการอบรม) ที่เราทำอยู่เป็นแนวสายอาชีพด้านบริหาร ผู้ช่วยผู้จัดการประมาณนั้น ซึ่งงานหลัก ๆ จะเป็นงานเอกสาร บางทีเรียนอย่างเดียวในห้องไม่เข้าใจ แต่พอมาเจอจริง ๆ ที่ทำงานแล้วลองทำ เออ มันเข้าใจแฮะ หรือกลับกัน บางทีทำงานก็ไม่ได้มีคนมานั่งอธิบายโน่นนี่นั่นตลอด มันต้องมีสิ่งที่เราไม่เข้าใจบ้างอยู่แล้ว พอมาเจออีกทีในห้องเรียน ก็จะทำให้ได้รู้ว่า อ๋อ มันเป็นแบบนี้นี่เอง
- ไม่น่าเบื่อ เช่น หลักสูตรของเราทำงานจันทร์ถึงพุธ เรียนพฤหัสและศุกร์ พอเวลาเริ่มเบื่องาน วันพฤหัส ก็จะได้ไปเรียนละ ได้เจอเพื่อน เม้าท์มอยกัน พอเบื่อเรียน ก็มาทำงานละ มันจะวนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะจบหลักสูตร
ข้อเสีย
- เหนื่อย อันนี้ไม่รู้จะนับเป็นข้อเสียได้รึเปล่า เพราะทำงาน หรือเรียนก็เหนื่อยหมดนั่นแหละ ไม่อยากเหนื่อยก็ต้องนอนอยู่บ้าน
- แบ่งเวลาได้ยาก เพราะมีทั้งการบ้านมีทั้งสอบ งานก็ยุ่งวุ่นวาย ลูกเต้าก็ต้องเลี้ยง ครูก็สั่ง ๆ ๆ ๆ แต่การบ้าน อันนี้เป็นข้อเสียใหญ่สำหรับคนที่แบ่งเวลาไม่ได้ ไม่สามารถทำอะไรทีละหลายอย่างในเวลาเดียว (multitasking) เพราะการทำ alternance จะต้องทำงานหรือเรียนวันละ 7 ชม. เกินได้แต่ห้ามขาด ซึ่งมันจะต่างกับการเรียนในห้องเรียนอย่างเดียว เพราะบางทีมันต้องมีวันที่เลิกเร็ว เราก็จะแบ่งเวลาตรงนี้มาทบทวนได้ แต่นี่ไม่ใช่ ต้องทำงานและเรียน 7 ชม. ต่อวัน ต่อให้อาจารย์ผู้สอนไม่มา เราก็ต้องอยู่ที่โรงเรียนหรือไม่เขาจะหาครูคนอื่นมาสอนแทน ซึ่งเวลาสำหรับการทบทวนหรือทำการบ้านมันก็จะลดลงด้วย
- ชีวิตวัยเรียนขาดหายไป สำหรับบางคนที่นี่เริ่มทำ alternance ตั้งแต่อายุ 15 ก็มี ซึ่งการก้าวกระโดดนี้อาจเป็นข้อเสียสำหรับคนที่ยังหนุ่มสาวมากทีเดียว เพราะเหมือนชีวิตวัยรุ่น ชีวิตมหาลัย ที่ควรจะต้องอยู่กับเพื่อน เฮฮาปาร์ตี้มันไม่มี เพราะว่าต้องเริ่มก้าวเข้าสู่ชีวิตผู้ใหญ่แล้ว แต่ถ้าถามว่าอย่างเรา ๆ ที่โตกันแล้ว ข้อนี้ไม่ถือเป็นข้อเสียซะทีเดียว
- รายได้ต่ำกว่า SMIC สัญญาแบบ alternance (Contrat d’apprentissage – สัญญาฝึกงาน หรือ Contrat de professionnalisation – สัญญาจ้างงาน) ค่าตอบแทนจะต่ำกว่า SMIC ขึ้นอยู่กับสัญญาและอายุ สำหรับคนที่มีลูกก็อาจจะต้องรัดเข็มขัดกันสักหน่อย
สถานะของ alternants
Les alternants คือ คนที่ทำงานไป-เรียนไป ต่อให้ยังเรียนอยู่ แต่จริง ๆ สถานะคือมนุษย์เงินเดือน ถือเป็นสัญญาจ้างประเภทหนึ่ง เขาจะถือว่า บริษัทจ้างพนักงานแล้วส่งพนักงานเรียน ไม่ใช่จ้างนักเรียนมาทำงาน เพราะฉะนั้นขาดเรียน มาสาย ก็ถือว่าขาดงาน หักเงินเดือน ซึ่งทางโรงเรียนจะแจ้งบริษัทหมด (นี่ขาดเรียนแค่ชั่วโมงครึ่งเพราะไม่สบาย แต่ไม่ได้ไปหาหมอเลยไม่มีใบรับรองแพทย์ ยังโดนจิกๆๆๆๆๆอ่ะ คิดดู) ใครขาดเรียนบ่อยแบบไม่มีเหตุผล บริษัทมีสิทธิเชิญออกได้เลยนะคะ
แต่ les alternants มีสิทธิเหมือนมนุษย์เงินเดือนทุกประการ ไม่ว่าจะเป็น congés annuels (วันหยุดพักร้อน), mutuelle (เงินสะสม), ticket resto (บัตรขึ้นรถ), สามารถเบิกค่าเดินทางได้ครึ่งหนึ่ง ขอเข้ารับการอบรมที่บริษัทจัดขึ้นได้ หรือแม้แต่โบนัสก็ได้นะ (ขึ้นอยู่กับบริษัท) พูดง่าย ๆ ก็เป็นพนักงานคนหนึ่งนั่นแหละ
Alternance มีระดับชั้นไหนบ้าง
การทำ Alternance ครอบคลุมเกือบทุกระดับชั้น ตั้งแต่ BAC, CAP, BTS, Licence ยัน Master และเกือบทุกสาขา
เริ่มต้นยังไง/วิธีการสมัคร
1. ติดต่อโรงเรียน มหาลัยหรือ centre de formation (ศูนย์ฝึกอบรม) ที่ต้องการเข้าเรียน (ต้องเป็นสถานศึกษาที่มีหลักสูตร Alternance เท่านั้น) ทางสถานศึกษาจะให้รายชื่อบริษัทที่เป็นพาร์ทเนอร์กันและกำลังเปิดรับสมัคร เราก็แค่ส่งประวัติการทำงาน (CV) จดหมายสมัคร (lettre de motivation) ไป ถ้าเข้าตากรรมการ ก็จะถูกเรียกไปสัมภาษณ์ ถ้าไม่ผ่านก็วนกลับไปเริ่มใหม่
2. ค้นหาจากเว็บสมัครงาน Google ต่าง ๆ นานา หลายบริษัทจะลงประกาศว่าต้องการ alternance กี่คน คุณสมบัติอย่างไร วุฒิอะไร เราก็ทำเหมือนสมัครงานทั่วไป ส่งประวัติและจดหมายสมัคร แล้วรอเรียกสัมภาษณ์
3. ติดต่อผ่าน Pôle emploi (ศูนย์จัดหางาน) อันนี้ทำได้ แต่จริง ๆ ไม่แนะนำเท่าไร เพราะส่วนตัวได้คนให้คำปรึกษา (conseillère) ที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าไร เหมือนมาทำงานไปวัน ๆ ไม่ได้ช่วยอะไรเลย สรุปพึ่งตัวเองดีที่สุด
สรุปคือเราสามารถทำทั้งสามวิธีไปพร้อมกันเพื่อเพิ่มโอกาสในการหาบริษัท ซึ่งจุดที่ยากจริง ๆ คือตรงนี้ คือการหาบริษัทที่จะมาจ้างเรา เพราะว่าหลัก ๆ เลยคือเราเป็นคนต่างชาติ ถ้าไม่ได้มีวุฒิในฝรั่งเศสมาก่อน เขาจะไม่มั่นใจในตัวเราว่าเราคล่องภาษาฝรั่งเศสไหม ถึงถ้าคล่องเราจะทำงานให้เขาได้มั้ย เพราะการทำ Alternance นายจ้างจะจ่ายทั้งค่าเทอมและเงินเดือนให้เรา ซึ่งบอกเลยว่าค่าเทอมไม่ใช่ถูก ๆ (ของเราประมาณหนึ่งหมื่นยูโรตลอดหลักสูตร) ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าทำไมกว่าจะหานายจ้างได้ยากเย็นเหลือเกิน หายากกว่าหางานปกติอีกนะ
และอีกเหตุผลนึงคือ Alternance เริ่มฮิตในบรรดาคนฝรั่งเศส เพราะฉะนั้นการแข่งขันจึงสูงมาก แม้แต่กับคนฝรั่งเศสเอง หานายจ้างก็ไม่ง่ายเลยนะ
สุดท้ายถ้าโดนปฏิเสธก็อย่าพึ่งท้อนะคะ ส่งใบสมัครไปเรื่อย ๆ นั่นแหละ เราเองก็ส่งมานับไม่ถ้วนกว่าจะได้
สู้ ๆ นะคะ
ถ้าใครมีคำถามทัก inbox หรือเม้นท์ถามในนี้ได้เลยค่ะ Yotsavalee Pobamrung