โดย โสภาพร หย่ง
ส่วนหนึ่งของชีวิตที่หายไปชีวิตฉันเกี่ยวพันกันเครือเนชั่นมาตั้งแต่ยังเด็ก ที่บ้านชอบดูการรายงานข่าวโดยคุณสุทธิชัย หยุ่น เราเป็นสมาชิก นสพ.กรุงเทพธุรกิจอยู่นานเป็นสิบปี เราเป็นสมาชิกการ์ตูนรายสัปดาห์ Boom นานมาก ๆ และทุกงานสัปดาห์หนังสือ เราจะต้องเสียตังค์ให้กับสำนักพิมพ์เครือนี้ส่วนตัวฉันที่ได้เกี่ยวพันจริงจัง เริ่มมาจากตอน ม. ๔ ที่ฉันเขียนเรียงความภาษาอังกฤษไปประกวดโครงการ Lapalala Wilderness Experience
จำได้ว่านั่นเป็นครั้งแรกที่นิตยสารเนชั่นจูเนียร์จัดโครงการนี้เมื่อผ่านรอบแรก ก็เข้าสู่รอบการสัมภาษณ์ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษล้วน หนึ่งในคณะกรรมการคือคุณแอนดรูว์ บิกส์ บรรณาธิการนิตยสารในขณะนั้นและเจ้าของประโยคทอง ภาษาอังกฤษ ง่ายนิดเดียว สัมภาษณ์ว่าอะไรก็จำไม่ได้แล้ว จำได้อย่างเดียวว่า ได้บอกคุณแอนดรูว์ไปว่า ฉันเป็นสมาชิกนิตยสารเนชั่นจูเนียร์นะ คุณแอนดรูว์ทำหน้าดีใจมาก
ฉันเป็น ๑ ใน ๓ เยาวชนไทยที่ได้รับเลือกให้ไปเข้าค่ายนี้ที่อาฟริกาใต้ ร่วมกับเพื่อนเยาวชนอีกหลายประเทศในเอเชีย พอกลับมา ก็มีพี่นุ่น รัชดา ธราภาค นักข่าวโต๊ะการศึกษา นสพ. กรุงเทพธุรกิจ มาขอสัมภาษณ์หลังจากนั้น ฉันก็เป็นหนึ่งในแหล่งข่าวของพี่เขา และเริ่มขยับมาเขียนเรื่องส่งหน้าการศึกษาให้กรุงเทพธุรกิจสมัยอยู่มหาวิทยาลัย ฉันก็ยังเขียนข่าวส่งอยู่เรื่อยๆ สมัยนั้นเนชั่นทำวารสารเตรียมสอบเอ็นทรานซ์ด้วย ชื่อเนชั่น ‘Ent มั้งถ้าจำไม่ผิด ฉันก็เขียนเรื่องส่ง สุดแล้วแต่พี่ๆ จะมอบหมายอะไรให้มา
พอขึ้นปีสาม ด้วยความอยากจะพัฒนาภาษาอังกฤษของตัวเอง ฉันเลยแวะเวียนไปที่เนชั่นจูเนียร์ และขอว่าอยากจะเขียนเรื่องส่งบ้างได้หรือไม่ ความพยายามครั้งแรกไม่เห็นผลแต่ฉันก็ยังถามมาเรื่อยๆจนกระทั่งวันหนึ่ง พี่ตุ๊ด อนุตรา อึ้งสุประเสริฐ บก. เนชั่นจูเนียร์ในขณะนั้น ให้พื้นที่ครึ่งหน้ามาลองเขียน Yong’s Space และฉันก็ได้เขียนคอลัมน์นี้ต่อมาอีกกว่า ๒ ปีอยากบอกว่านั่นคือช่วงที่ดีที่สุดในชีวิตช่วงหนึ่ง สนุกมากที่ต้องคิดว่าอีกสองอาทิตย์ข้างหน้าเราจะเขียนอะไรดี มันฝึกให้เราคิด สังเกต และทักษะการเขียน การเล่าเรื่องเป็นภาษาอังกฤษของฉันก็ดีขึ้นเรื่อยๆพอเรียนจบ
พร้อมๆ กับที่ยุติคอลัมน์นี้ ก็ได้เวลาหางาน และเป็นพี่ตุ๊ดอีกนั่นเอง ที่พาเดินขึ้นไปที่ออฟฟิศ หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น (The Nation) ที่เราไม่เคยอาจเอื้อมขึ้นมาเยื้องกราย (สมัยโน้น ออฟฟิศหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย อยู่ที่ตึกเล็กด้านหลัง คมชัดลึก อยู่ชั้น ๔ กรุงเทพธุรกิจอยู่ชั้น ๕ นสพ. เนชั่นอยู่ชั้น ๖) ขึ้นมาทีไรก็รู้สึกว่าตัวเราเล็กและลีบ ออฟฟิศอื่นจะมีเสียงดังจ้อกแจ้กจอแจ แต่ออฟฟิศนี้จะเงียบ เย็น ยะเยือก รู้สึกว่าแอร์ชั้นนี้เย็นกว่าชั้นอื่นๆ คิดเสมอว่า พี่ๆ ทุกคนที่อยู่บนนี้เป็นยอดมนุษย์แน่ๆ เขาเขียนข่าวเล่าเรื่องเป็นภาษาอังกฤษยืดยาวขนาดนั้นกันได้ยังไงนึกถึงตัวเองสมัยเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัย เวลาต้องอ่านหนังสือพิมพ์แต่ละที ยังกะกินยาขม อึดอัด อ่านไม่ออก ศัพท์อะไรเนี่ย อ่านได้สองพารากราฟ ก็ขอยกธงขาว ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง
วันที่พี่ตุ๊ดพามาสมัครงาน จำได้ว่าได้เจอกับพี่วีณา – วีณา ธูปกระแจะ การทดสอบความสามารถคือ ให้แปลข่าวไทยเป็นอังกฤษ จำได้ว่าต้องทำอยู่สองเรื่อง ทำเสร็จแล้วก็ให้กลับบ้านรอฟังผลสมัยนั้นเป็นยุครุ่งเรืองของหนังสือพิมพ์ เนชั่นรับนักข่าวใหม่ไล่ ๆ กันถึง ๕ คน ฉันไม่ได้เป็นคนแรกที่ถูกเรียกตัว แต่ก็ได้เข้ามาทำในเวลาต่อมาฉันทำที่โต๊ะโฟกัส คือบันเทิงและไลฟ์สไตล์ทุกอย่าง จำได้ว่าสนุกมาก ตื่นตาตื่นใจ เปิดโลกทัศน์เป็นที่สุดและเนื่องจากนักข่าวมีมาก จึงเหมือนกับต้องแย่งพื้นที่หน้านสพ. กันกลายๆ เราต้องลุ้นตลอดว่าเรื่องของเราจะดีพอที่จะได้ได้ลงหน้าใหญ่ หน้าสี ลงปก (ของเซ็คชั่น) ไหม ซึ่งโดยมากก็ไม่ได้หรอก เรื่องจะไปอยู่ด้านในมากกว่า เรื่องใหญ่ๆ พี่ซีเนียร์ก็ทำไป แต่วันใดที่เรื่องได้ลงปกทีเราก็หน้าบานสุดๆ หัวใจพองฟู
ระหว่างที่ทำงานที่นั่น ฉันได้เรียนรู้บทเรียนพื้นฐานสำคัญของการเขียนข่าว นั่นก็คือ ต้องมี 5W+1H รวมทั้งการให้เครดิตรูปภาพ ถ้าเราไม่ได้ถ่ายเอง ไปเอาของใครมา ต้องบอกที่มาของภาพ มิเช่นนั้น เป็นเรื่องใหญ่มากฉันทำอยู่แค่ ๓ เดือน ก็ได้ทุนไปเรียนโทที่สิงคโปร์และต่อด้วยที่อเมริกา แม้ฉันจะเรียนโทด้านวารสารศาสตร์ด้วย แต่สามปีที่ห่างหายไปจากเขียนข่าวจริงจัง ก็ทำให้ฉันคิดถึงการทำงานที่นสพ. เนชั่นมากๆ
ตอนเรียนใกล้จบเทอมสุดท้าย ฉันเขียนมาคุยกับทางนสพ. เนชั่นอีกว่าช่วงนี้รับคนบ้างไหม? สำหรับตัวฉันรู้สึกว่าอยากกลับมาทำงานที่นี่อีก ก่อนหน้านั้นมันน้อยเกินไป ยังไม่ทันสะใจ ยังไม่อิ่่มตัวปรากฏว่า ตอนนั้นมีตำแหน่งว่างที่โต๊ะโฟกัส ซึ่งพี่วีณาบอกว่าอยากได้ตัวฉัน จะให้มาช่วยมากขึ้น รับผิดชอบปิดหน้าด้วย ไม่ใช่แค่เขียนเรื่องเฉยๆ ฉันดีใจ ปีติใจมากที่พี่เขาเห็นศักยภาพของฉันแต่อีกโต๊ะที่มีตำแหน่งว่างคือ Regional คือดูข่าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ส่วนข่าวต่างประเทศที่ไกลกว่านั้น จะใช้ข่าวของเอเยนซี่ มักไม่ได้ไปทำหรือเขียนเอง)
สุดท้าย ฉันตัดสินใจไปทำที่โต๊ะนี้เพราะคิดว่าอยากใช้ประโยชน์จากที่สิ่งที่เรียนมา (ฉันเรียนรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) เป็นอันว่ายุติการไปทำข่าวไลฟ์สไตล์ เครื่องสำอางออกใหม่ รีวิวหนัง ละคร สัมภาษณ์ดารา งานมิวเซียม ฯลฯ เข้ามาสู่ของหนักของจริง เนื้อๆ เน้นๆที่โต๊ะ Regional นี้ ฉันมีเจ้านาย/พี่ซีเนียร์ ๓ คน คือ พี่ดอน – ดอน ปาทาน, พี่ลักษณ์ – สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี และพี่เปีย – มาริสา ฉิมประภา ทั้ง ๓ คนเมตตาฉันมาก สอนทุกสิ่งทุกอย่างและเปิดโอกาสให้น้องสุดๆ ฉันเป็นเด็กที่สุด ประสบการณ์แทบเป็นศูนย์ แต่พี่ๆ ไม่เคยทำให้ฉันรู้สึกว่าเป็นคนอื่นเลยเพราะโต๊ะเราดูข่าวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจัง ฉันจึงเป็นคนที่ต้องดูข่าวจากถังที่สตริงเกอร์ (นักข่าวในพื้นที่) ส่งมา และคอยนับว่าวันนี้มีคนถูกยิงและตายกี่คน
จำได้ว่าอาทิตย์แรกกลับบ้านไปแต่ละวัน รู้สึกหดหู่ จิตตก และเหนื่อยมาก เป็นเรื่องน่าเศร้าสลดใจที่ต้องมาทำหน้าที่นี้ แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็ชินชา และได้ความรู้ใหม่เรื่องอาวุธไปด้วย เพราะถ้านึกถึงปืน เราจะนึกถึงคำว่า gun แต่จริงๆ ยังมีอีกมาก เช่น pistol, assault weapon, rifle และอีกมากมายนอกจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โต๊ะเรายังดูนโยบายต่างประเทศของไทยด้วย ฉันจึงต้องไปทำข่าวที่กระทรวงต่างประเทศ ที่นั่นทำให้ได้พบกับเพื่อนใหม่จำนวนมาก จากทั้งนสพ.อื่น และสื่อในเครือ
มีเรื่องราวความผูกพัน การดูแลกันอยู่ในกลุ่มนักข่าวด้วยกันที่น่าประทับใจมากมายรวมทั้งฉันยังได้เดินทางเยอะมาก เพราะฉันต้องทำข่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย ซึ่งในสมัยนั้นมีนโยบายว่า ทุกทริปที่ไปจะมีนักข่าวไปด้วย ๔ คน จาก หนังสือพิมพ์ไทย, หนังสือพิมพ์อังกฤษ และโทรทัศน์ (นักข่าวกับช่างภาพ) หมุนเวียนสลับกันไปนสพ.ไทย ก็ต้องวนกันหลายฉบับหน่อย แต่ฉันซึ่งมาจากเดอะเนชั่น ต้องวนสลับกับนักข่าวจาก นสพ. บางกอกโพสต์เท่านั้น และในส่วนของเดอะเนชั่นเองนั้น เนื่องจากพี่ๆ ซีเนียร์ของฉัน เดินทางกันมาเยอะแล้ว หากหมายไม่สำคัญจริงๆ เขาก็ไม่ไปกัน ฉันจึงเหมือนบุญหล่นทับ ได้เดินทางไปต่างประเทศเยอะมาก
ที่ประทับใจที่สุด คือได้ไปประเทศบอตสวาน่า ซึ่งขณะนั้น กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศของไทย ไปจัดเวิร์คช้อปเรื่องการป้องกันโรคเอดส์ ซึ่งเราทำได้ผลดีเยี่ยม จึงมีองค์ความรู้มาแบ่งปันให้ประเทศอื่นๆ ในทวีปอาฟริกาไม่รู้ว่าชาตินี้จะได้มีโอกาสไปเหยียบที่นั่นอีกไหม………
ฉันทำข่าวอยู่ที่เดอะเนชั่นด้วยความสุข สนุกเป็นที่สุด เรียนรู้มากมายจำได้ว่าวันที่มีรัฐประหาร บรรยากาศในออฟฟิศโหวงเหวงพิกล และพี่ซีเนียร์หลายคนไล่ฉันให้รีบกลับบ้าน ปกติฉันออกจากออฟฟิศสองทุ่ม วันนั้นทุ่มกว่าก็ถึงบ้านแล้ว ถนนโล่งมากพอเกิดรัฐประหาร วันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ออฟฟิศแน่นที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาในชีวิต ตอนประชุมข่าวบ่าย ๒ โมง ไม่มีที่นั่ง ทุกคนมาออกันยืนฟัง พี่ตุลย์ พี่ทนง บรีฟว่ามันเกิดอะไรขึ้น…
แต่ต่อมา ด้วยเหตุต้องย้ายสำมะโนครัวตามสามีมาที่เยอรมนี ทำให้ฉันต้องลาออก ฉันพยายามยืดระยะให้ได้มากที่สุด โดยบอกให้สามีกลับไปหางานทำให้ได้ก่อน หาได้แล้วฉันจะตามไป ยื้อมาได้จนถึง กุมภาพันธ์ ๒๐๐๗ ก็ต้องออกจริงๆ อีกคำรบหนึ่งตลอดเวลาที่อยู่เยอรมนี ฉันยังส่งข่าวกลับมาอย่างต่อเนื่อง และพี่ๆ โดยเฉพาะพี่วีณาก็ใจดีมาก แทบไม่เคยปฏิเสธเรื่องที่ฉันส่งมา หลายครั้งพี่ๆ ก็ยังแนะนำด้วยว่า ทำเรื่องนี้สิ นั้นสิ ทำให้ชีวิตของฉันในเยอรมนี ไม่เหงาเปล่าเปลี่ยวใจรวมทั้งช่วยให้ฉันได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากชุมชนไทยในเยอรมนีและยุโรปว่า เป็นนักข่าวจริงๆ สัมภาษณ์ไปแล้ว ได้ลงจริงๆ ไม่ใช่นักข่าวโปเกที่ไหนก็ไม่รู้
หลังจากที่อยู่คู่เมืองไทยมา ๔๘ ปี หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นได้ตัดสินใจยุติการพิมพ์ไปตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อนับถึงวันที่เล่าเรื่องนี้ก็ครบหนึ่งปีเต็มหากหนังสือพิมพ์ยังอยู่ วันนี้จะเป็นวันที่เราได้อิ่มอร่อยมากที่สุดวันหนึ่งของปี เพราะเป็นวันเกิดของหนังสือพิมพ์ เราจะมีเค้กและของกินอร่อยๆ จากบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทพีอาร์ ส่งมาร่วมแสดงความยินดีอย่างล้นหลามแน่นอนว่าภาพนั้น คงเหลืออยู่แต่ในความทรงจำในฐานะคนที่เคยเป็นฟันเฟืองตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น คงได้แต่เพียงกล่าวขอบคุณทุกท่าน ทุกคน ทุกแผนก ที่มีส่วนร่วมทำให้หนังสือพิมพ์ปรากฏโฉมออกมาได้รู้สึกสำนึกรู้คุณอย่างแท้จริงจากใจ
ที่นสพ.และออฟฟิศนี้ ได้ช่วยประสิทธิประสาทความรู้ให้ฉัน รวมทั้งยังเป็นเหมือนนามสกุลให้ฉันได้ใช้เวลาไปทำงานข่าวตลอดช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาไม่มีงานเลี้ยงใดไม่มีวันเลิกรา ไม่มีอะไรที่คงอยู่ได้ตลอดไป ในวันที่ที่โซเชียลมีเดียโหมกระหน่ำ ข่าวเปลี่ยนเร็วทุกเสี้ยววินาที หนังสือพิมพ์จึงไม่ตอบโจทย์ยุคสมัยอีกต่อไป แต่สิ่งที่นสพ.เนชั่นได้ทำมาตลอดเกือบครึ่งศตวรรษ ก็จะอยู่ในประวัติศาสตร์ชาติไทยตลอดไปแน่นอนและเชื่อเหลือเกินว่า ไม่ว่ารูปแบบ platform การนำเสนอจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่หัวใจของการทำข่าว การทำเนื้อหา (content) ที่แน่น ปัง ลึก ตรวจสอบได้ จะไม่มีวันตาย
ขอเป็นกำลังใจให้นักข่าว นักเขียน นักเล่าเรื่อง ทุกท่านเช่นกันค่ะ
โสภาพร หย่ง รายงาน
(ไม่ได้เป็นญาติกับคุณสุทธิชัย หยุ่น และคุณเทพชัย หย่อง นะคะ)