เขียนและเรียบเรียง โดย จงเจริญ ศรแก้ว กริมสมันน์

สำหรับรายการ “จิบกาแฟชวนคุย”

Episode 63 วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

ผู้ดำเนินรายการ กรชวัล ทรูเซ่น

แขกรับเชิญ จงเจริญ ศรแก้ว กริมสมันน์

กรชวัล: วันนี้เรามาฟังเรื่องเล่าของอาสาสมัครช่วยหม้ายคนไทยในยุโรปให้ก้าวต่อ ภายใต้โครงการที่มีชื่อน่าสนใจว่า “หม้ายเดียวดาย ไม่โดดเดี่ยว” หรือ Alone…but not Lonely!

เราจะมาคุยกับพี่ป๊อกกันว่าโครงการนี้เป็นมาอย่างไร ทำไมจึงบอกว่า หม้าย“เดียวดาย” แต่ “ไม่โดดเดี่ยว”

และเราจะเจาะที่กิจกรรมก้าวสำคัญของโครงการคือการประชุมถอดบทเรียนที่เบอร์ลิน เครือข่ายหญิงไทยในยุโรปและภาคี-พันธมิตรเขาคุยอะไรกัน มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจไหม และบทเรียนการทำงานที่สรุปได้นั้น พวกเราและใครจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร

กรชวัล: ก่อนอื่นรบกวนพี่ป๊อกแนะนำตัวเองอีกรอบนะคะ

พี่จบปริญญาตรีรามคำแหงด้านบริหารธุรกิจสาขาบริหารทั่วไป จบประกาศนียบัตรพิเศษจากมหาวิทยาลัยเจนีวาด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ทำวิทยานิพนธ์เรื่องความรับผิดของผู้ซื้อบริการทางเพศจากเหยื่อการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นงานที่ทำให้พี่ป๊อกได้มาสัมผัสกับเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป และอยู่เป็นสมาชิกจนถึงทุกวันนี้

พี่ป๊อกเป็นสะใภ้เยอรมันแต่มีประสบการณ์ทำงานกับหลายประเทศ ประเทศไทย ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบทั้งแถบ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ไปจนถึงประเทศตะวันออกกลาง เช่น เลบานอน จอร์แดน โอมาน อยู่หลายประเทศ ประสบการณ์ที่นำมาใช้ประโยชน์ทุกวันนี้มาจากการทำงาน การได้เห็นโลกและผู้คนที่หลากหลาย ความสนใจใช้และพัฒนาภาษาอังกฤษและภาษาอื่นเพิ่มเติม และการเรียนรู้ต่อเนื่อง กับทักษะที่คนมองข้ามเพราะเป็นทักษะนอกโรงเรียน คือ ความกล้าที่จะไปไหนมาไหนคนเดียว การใช้ยวดยานสาธารณะเป็น การอ่านแผนที่และป้ายจราจร การขับรถเป็น การใช้แอพพ์ช่วยในการเดินทางและค้นคว้า

กรชวัล: พี่ป๊อกช่วยท้าวความเกี่ยวกับโครงการหม้ายเดียวดาย ความสำคัญและแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดโครงการนี้ได้ไหมคะ

ระหว่างรับตำแหน่งประธานเครือข่ายหญิงไทยในยุโรปมาได้สองปี จัดกิจกรรมทางซูมและอบรมออนไลน์ในยุคโควิดจนชำนาญและอิ่มตัว พอช่วงโควิดกำลังผ่านพ้น เครือข่ายฯจะจัดประชุมสามัญที่ประเทศสโลวีเนีย น้องดวง มนัสนันท์ และทีมงานเจ้าภาพก็เสนอให้หัวข้อสิทธิของแม่หม้ายขึ้นมาเป็นหัวข้อการสัมมนา เพราะเห็นว่าหญิงไทยที่สโลวีเนียยังไม่รู้อะไรเลย เมื่อสูญเสียสามีจึงพบกับความลำบากมาก จิตอาสาจึงเกิดแรงบันดาลใจว่าน่าจะต้องมาพูดคุยอบรมกันเรื่องนี้ และเป็นที่มาของสโลแกนซึ่งเป็นการระดมสมองของสมาชิกเครือข่ายจากหลายประเทศเลยค่ะ เรียกว่าเราทำงานเป็นทีม การประชุมที่สโลวีเนียสำเร็จออกมาอย่างงดงาม

สโลแกน “หม้ายเดียวดาย” เป็นการเล่นคำอย่างแนบเนียน โดยเบื้องแรกต้องการเน้นถึงสภาวะความเดียวดายของผู้ตกพุ่มหม้าย ทั้งเตรียมตัวและไม่ได้เตรียมตัว เป็นจุดผ่านที่สำคัญและเปราะบางมากในชีวิตผู้หญิง และเราทุกคนที่มีครอบครัวคู่ครองคือกลุ่มเสี่ยงที่จะพบกับสภาวะเช่นนี้ จึงถือว่าเป็นประเด็นที่อยู่ในสมัยได้ตลอดเวลา

และหากเราออกเสียง หม้ายเดียวดาย ให้สั้น ก็จะกลายเป็น “ไม่เดียวดาย” และเมื่อคู่กับคำว่า “ไม่โดดเดี่ยว” ก็สะท้อนถึงสังคมไทยในยุโรปโชคดีที่มีกลุ่มจิตอาสาและคนทำงานเชิงอาสาสมัครที่ยินดีให้ความช่วยเหลือ เป็นเพื่อน ประคับประคอง และเสริมพลังให้กับผู้ตกเป็นหม้าย โดยเชื่อว่าหม้ายทุกคนต่างมีความเข้มแข็งภายในที่จะก้าวผ่าน ขอเพียงมีใครให้กำลังใจ ให้ข้อมูลที่ตรงทิศ และให้โอกาส

กรชวัล: แล้วจากสโลวีเนียต่อยอดมาเบอร์ลินจนเป็นโมเดลได้อย่างไรคะ

ง่าย ๆ เลยค่ะ เราทำโครงการให้เป็นกระบวนการต่อเนื่อง โดยใช้ชื่อโครงการว่า “ครงการส่งเสริมศักยภาพและสร้างกลไกการทำงานของอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือหญิงไทยและคนไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติในยุโรปที่ตกอยู่ในสภาวะหม้ายหรือภาวะโดดเดี่ยวไร้ที่พึ่ง (Alone…but not Lonely!)”  หรือ รู้จักกันในชื่อสั้น ๆ คือ “โครงการหม้ายเดียวดาย…ไม่โดดเดี่ยว” โครงการนี้ได้รับทุนส่วนหนึ่งจากกองทุนส่งเสริมสวัสดิการสังคม ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม เป็นโครงการระยะยาว เริ่มจากเดือนกรกฎาคมและจะจบในเดือนธันวาคม ปีนี้

เราเลือกให้สโลวีเนียเป็นการจุดประเด็นนำเสนอปัญหาโดยใช้ตัวอย่างของสโลวีเนีย แล้วเราไปทำการเก็บข้อมูลให้ได้ภาพรวมของยุโรป โดยการสำรวจออนไลน์ มีผู้ให้ข้อมูลมา 71 คนและสัมภาษณ์ทำกรณีศึกษา 11 คน เรานำข้อมูลที่ได้ไปคุยกันที่เบอร์ลินในลักษณะของการระดมสมองแลกเปลี่ยน และสกัดบทเรียนโดยใช้เทคนิควิเคราะห์ที่เรียกว่า SWOT คือ จุดแข็ง จุดอ่อน จุดโอกาส และ จุดเสี่ยง SWOT ทำให้เรามองสภาพปัญหาได้รอบด้าน และเคารพความเข้มแข็งภายในของผู้ตกสภาพหม้ายด้วย

ที่เบอร์ลินเราสรุปเลือกประเทศนำร่องสำหรับการเขียนโมเดลสองประเทศ คือ เยอรมนี และ อิตาลี โดยการเลือกนี้เป็นความสมัครใจของตัวแทนจากประเทศทั้งสอง จากนั้นตัวแทนสองประเทศก็ไปประชุมต่อที่อิตาลี นั่งทำงานหามรุ่งหามค่ำสองวัน ได้ออกมาเป็นโมเดล

เรานำร่างโมเดลไปเสนอผ่านสมาชิกเครือข่ายฯและผู้สนใจจากภาคการศึกษา (มหาวิทยาลัย) และภาครัฐ (พม) ทางซูม ให้ที่ประชุมเห็นชอบ ทั้งสองโมเดลได้รับความเห็นชอบท่วมท้นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ถือว่าเราสอบผ่านด้านการตอบโจทย์รูปแบบการเพิ่มศักยภาพอาสาสมัครช่วยเหลือประคับประคองหม้ายคนไทยให้ก้าวต่อ

ตอนนี้พี่ป๊อกก็ถือโมเดลทั้งสองมากรุงเทพฯ เพื่อเตรียมนำเสนอและปิดโครงการวันที่ ๓๐ เดือนพฤศจิกายนนี้ค่ะ

โครงการทั้งหมดใช้เวลาทำงานหนึ่งปี คือเตรียมการครึ่งปี และทำตัวโครงการจริงอีกครึ่งปีค่ะ

กรชวัล: กว่าจะมาเป็นโครงการที่มีองค์ประกอบหลากหลายเช่นนี้ พี่ป๊อกออกแบบโครงการอย่างไร เผื่อว่าแฟนเพจที่ฟังอยู่วันนี้จะได้ไอเดียหรือแนวทางไปปรับใช้ได้บ้าง

เนื่องจากพี่ป๊อกทำงานด้านเขียนโครงการ ออกแบบกิจกรรม กำกับดูแล เขียนรายงาน บันทึกบทเรียนและประเมินโครงการด้านป้องกันแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กและสิทธิเด็กมามาก่อน รวมทั้งเป็นมือปืนรับจ้างแปลและเขียนโครงการก็บ่อย ความคิดอยู่ในหัวมากมาย

ช่วงเดินทางไปพักผ่อนฤดูหนาวที่เมืองไทย พี่ป๊อกได้ไปหารือเรื่องนี้กับทางอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ทางกรมฯอยากสนับสนุนการสัมมนา ซึ่งเครือข่ายหญิงไทยในยุโรปเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ มีสิทธิขอทุนจัดทำโครงการได้

พี่ป๊อกจึงไปคุยกับผู้อำนวยการกองทุนส่งเสริมสวัสดิการสังคมของ พม และทีมงาน ซึ่งเป็นการพูดคุยเชิงลึกว่า เราจะออกแบบโครงการอย่างไรให้มีผลกระทบทางด้านการพัฒนา สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางบวกให้กลุ่มเป้าหมาย ใช้ทรัพยากรซึ่งเป็นภาษีอากรของประชาชนไทยอย่างคุ้มค่า ไม่ใช่จัดประชุมหรืออบรมครั้งเดียวก็จบไป ต้องมองเห็นความยั่งยืนด้วย

ประเด็นสำคัญที่พี่ป๊อกกำลังบอกก็คือ การเขียนโครงการ เราจะต้องคุยกับผู้ให้ทุนให้ชัดเจนว่า อะไรทำได้ทำไม่ได้ เราต้องไปพร้อมประเด็นหลักว่าเราอยากจะทำอะไร อยากให้เกิดอะไรขึ้น และเขาจะบอกว่าประเด็นของเราจะทำอย่างไรให้มันอยู่ในกรอบงานพัฒนาสังคม ว่าง่าย ๆ เนื้อหาเป็นของเรา แต่กรอบการใช้งบประมาณ และพิสูจน์ว่าผลงานเราดีจริง ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของผู้ให้ทุน

ต้องบอกว่าเป็ฯการทำงานที่ทำให้พี่รู้สึกท้าทายมาก แม้จะเป็นแนวออกแบบโครงการพัฒนาสังคมที่ถนัด แต่ยังไม่เคยนำมาทำกับองค์กรอาสาสมัคร เราเคยทำแต่กับองค์กรพัฒนาระดับสากล ที่มีวิถีทางวิชาการที่แน่นปึ้ก กระบวนงานละเอียดยิบ มืออาชีพ และมีต้นทุนสนับสนุนพอเพียง แต่เมื่อนำมาสวมในกรอบการทำงานอย่างอาสาสมัคร เราจะทำอย่างไรให้มันเวิร์ค เพราะเราทุกคนทำด้วยใจ ด้วยแรง ด้วยสมอง บ่อยครั้งก็ควักทุนทรัพย์ของเราเอง เราไม่มีค่าจ้าง แต่พี่เชื่อว่าทำได้ นี่คือแนวคิดของพี่

กรชวัล: พี่ป๊อกคิดว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานออกมาสำเร็จคืออะไรคะ

ปัจจัยที่ทำให้งานสำเร็จคือความเป็นเครือข่ายฯค่ะ พี่ได้นำสิ่งที่รู้และเข้าใจจากการทำงานกับเครือข่ายฯและร่วมกับภาคีต่าง ๆ มาผสมผสานกับวิธีการทำงานแบบองค์กรสากล โดยออกแบบเป็นโครงการที่มีความเบ็ดเสร็จแต่มีขนาดที่กลุ่มอาสาสมัครจัดการได้ไม่ยุ่งยาก อาศัยเครือข่ายฯและเทคโนโลยีในมือมาช่วย ตั้งแต่ใช้กูเกิ้ลฟอร์มเก็บข้อมูลเพื่อเข้าใจสภาพปัญหา ไหว้วานอาสาสมัครช่วยสัมภาษณ์และเขียนกรณีศึกษา ทำเวิร์คชอปสรุปบทเรียนกับกลุ่มที่ชำนาญงานในด้านเดียวกันและควักกระเป๋ากันเองส่วนหนึ่ง ขอความร่วมมือจากสถานทูตและสปอนเซอร์ จัดประชุมเขียนโมเดลโดยใช้งบน้อยมาก นำเสนอโมเดลเพื่อประชาพิจารณ์ผ่านซูม และนำโมเดลกลับไปคุยที่ กทม เพื่อให้รัฐไทยได้รับรู้และร่วมประสานงานในระยะยาว

ส่วนความสำเร็จของโครงการนี้ในระยะยาวก็คือ เราจะมีแนวทางการทำงานประสานส่งต่อที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม อาสาสมัครมีความเข้าใจบทบาทตนเองและรู้จักแหล่งที่จะส่งต่อทั้งในภาครัฐและเอกชน มีเครื่องมือทำงานที่เข้าใจง่าย ผู้ตกในภาวะหม้ายในยุโรปจะไม่เดียวดายและเข้าถึงเครือข่ายความช่วยเหลือได้รวดเร็ว ขณะเดียวกันสะใภ้ยุโรปที่ตกเป็นหม้ายในประเทศไทย ก็จะเข้าถึงความช่วยเหลือในเมืองไทยได้ง่ายขึ้น  

กรชวัล: ทราบว่ากิจกรรมสำคัญของโครงการคือการถอดบทเรียนที่เบอร์ลิน พี่ป๊อกพอจะเล่าถึงบรรยากาศและผลการประชุมที่น่าสนใจได้ไหมคะ

เบอร์ลินเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือค่ะ โครงการเชื่อว่าอาสาสมัครที่มีประสบการณ์มีทั่วทุกที่ เราเพียงแต่เชิญชวนและนำพวกเขามาร่วมกันถกในประเด็นเฉพาะ พูดถึงจุดอ่อน-จุดแข็ง-โอกาส-อุปสรรค

เนื่องจากหัวใจของโมเดลทั้งสองคือ “อาสาสมัครที่มีศักยภาพในการทำงานช่วยเหลือและประสานงานส่งต่อ” โดยมีทาร์เก็ตหรือกลุ่มเป้าหม้ายแท้จริงคือ หญิงไทย(และชายไทยคนไทย)ที่สมรสหรือใช้ชีวิตคู่กับชาวยุโรป ว่าจะเกิดการเตรียมพร้อมมากขึ้น มีอุปสรรคน้อยลงเมื่อต้องก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงสำคัญระดับนี้ในชีวิตไปอย่างไร

  • เราได้บทเรียนว่า เราทุกคนเป็นกลุ่มเสี่ยงทันทีที่ก้าวมาสู่ความเป็นครอบครัวกับใครคนหนึ่ง แต่เราพบว่าการปรับตัวกับชีวิตใหม่ในต่างแดนยังเป็นเรื่องยากและซ้บซ้อนหากขาดต้นทุนชีวิต การตกสภาวะหม้ายเหมือน “ผีซ้ำด้ามพลอย” หากการบูรณาการยังไม่ถึงจุดที่ผู้ย้ายถิ่นช่วยตัวเองได้เต็มที่แล้วต้องมาเผชิญกับความโดดเดี่ยวโดยไม่ได้ตั้งตัว
  • เราได้บทเรียนว่า กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ติดอยู่กับคำว่า “ไม่” ตั้งแต่ไม่รู้ ไม่กล้า ไม่เป็น ไม่ต้องการ ไม่มี เช่น ไม่มีพินัยกรรม ไม่ได้สั่งเสีย ไม่กล้าเรียกร้อง ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ฯลฯ ทำให้เสียสิทธิโดยไม่จำเป็นหรือเข้าถึงไม่บริการที่มีอยู่ อุปสรรคสำคัญที่ทำให้เกิดคำว่า “ไม่” อย่างมากมายก็คือ การขาดความเตรียมพร้อม ความไม่รู้ภาษา การตกอยู่ภายใต้ความหวดกลัวและกดดันหรือความโดดเดี่ยว โครงการจึงต้องคิดว่าด้วยว่า จะทำอย่างไรจะช่วยเอื้อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดทัศนคติว่า “ทำได้” หรือ “จะพยายาม”
  • เราได้บทเรียนว่า ภาษาเป็นทั้วอุปสรรคยิ่งใหญ่ที่อาจกั้นขวางสิทธิต่าง ๆ หากไม่รู้ แต่ก็เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการเข้าถึงสิทธิและการปรับตัวได้เช่นกัน ความช่วยเหลือทางภาษามักผ่านมาทางอาสาสมัครเป็นหลัก แต่บางครั้งความช่วยเหลือทางภาษาก็มีต้นทุน (ค่าแปล) ทำให้ผู้ประสบปัญหาต้องเดือดร้อนเพิ่ม
  • เราได้บทเรียนว่า การทำงานช่วยเหลือผู้สูญเสียระดับนี้ เป็นงานที่ยากเพราะต้องประคองหม้ายให้รับกับความสูญเสียหรือความเปลี่ยนแปลงทั้งทางกาย ทางวัตถุและทางจิตใจ อาสาสมัครเองไม่ได้เก่งไปทุกเรื่อง อาสาสมัครที่ไม่มีประสบการณ์ตรงก็อาจไม่มี “ความเข้าถึงหัวใจ” ของแม่หม้ายได้ หรือขาดความอ่อนไหว ส่วนอาสาสมัครที่ผ่านการสูญเสียมาแล้ว ก็อาจเกิด “ทรอม่า” หรือ อ่อนไหวซ้ำได้เมื่อต้องมาช่วยเหลือผู้อื่นที่เผชิญปัญหาเดียวกัน

กรชวัล: พี่ป๊อกพูดถึงการสำรวจปัญหาในยุโรปและกรณีศึกษา หากแฟนเพจสนใจจะหาอ่านได้ที่ไหน

เอกสารประชุมสรุปบทเรียนเบอร์ลินมีเนื้อหาละเอียดมากค่ะ เปิดดูได้ที่นี่เลย

Graphical user interface, application, Word

Description automatically generated

ส่วนกรณีศึกษา เนื่องจากวันนี้มีเวลาน้อย พี่ขออนุญาตขอเชิญให้พวกเราไปติตดามรังฟังในวันที่ ๓๐ ที่จะถึง ซึ่งเราจะมีการนำเสนอกรณีศึกษาในการประชุม และผู้สนใจสามารถรับฟังได้ทางซูม ท่านที่สนใจให้ติดตามประกาศและลิงก์เข้ารับฟังได้ทางเพจเครือข่ายฯเลยค่ะ

กรชวัล: อยากให้พี่ป๊อกให้ภาพโมเดลได้ไหมคะว่าหน้าตาเป็นอย่างไร  

โมเดลของสองประเทศมีความโดดเด่นแตกต่างกัน โมเดลเยอรมนีเน้นการสร้างเครือข่ายการทำงานระหว่างองค์กรและระหว่างอาสาสมัครด้วยกัน เน้นแม่หม้ายจากคู่สมรสเสียชีวิต ในขณะที่โมเดลอิตาลีเน้นการสร้างอาสาสมัครรุ่นน้องใหม่และแม่หม้ายจากการหย่าร้างและจากคู่สมรสเสียชีวิต โมเดลทั้งสองหน้าตาประมาณนี้นะคะ

ลองดูแผนผังอธิบายโมเดลเยอรมนี

และแผนผังอธิบายโมเดลอิตาลี

กล่าวโดยสรุป โมเดลก็คือการสะท้อนบทเรียน ประเด็นปัญหาที่เด่นชัด ชุดประสบการณ์ที่ดีที่สุดของผู้เกี่ยวข้อง รวมไปถึงขั้นตอนการช่วยเหลือที่พิสูจน์ว่าได้ผล รายชื่อผู้มีส่วนในการช่วยเหลือและหน่วยงานบริการ การสร้างเครือข่ายทางสังคม มารวมไว้ในที่เดียว และตอบโจทย์ว่า แล้วคนทำงานจะทำอย่างไรให้งานมันดีขึ้น ง่ายขึ้น คล่องขึ้น ไม่ต้องลองผิดผลองถูกไปเรื่อย ๆ และทำอย่างไรจะมีคลื่นลูกหลังมาแทนคลื่นลูกแรกต่อไปเรื่อย ๆ

ในฐานะหัวหน้าโครงการ พี่ป๊อกมองภาพระยะยาวของโมเดลที่จะเกิดขึ้นอย่างไรคะ

หากมองจากโครงการนี้ ถือว่าการประชุมที่กรุงเทพฯคือสเต็ปสุดท้ายของการทำงานแล้วค่ะ สิ่งสำคัญที่พี่ป๊อกคิดว่าควรเกิดที่ กทม คือ หน่วยงานไทยเกิดความตระหนัก เข้าใจว่าต้องช่วยเหลือหม้ายของชาวยุโรปในไทยอย่างไร และผู้เกี่ยวข้องมีเครื่องมือง่าย ๆ เช่น เช็คลิสต์สำหรับการทำงานช่วยเหลือ แบบเป็นขั้นตอน หนึ่ง-สอง-สาม ค่ะ

หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องการเผยแพร่โมเดล อย่างเช่นการคุยกันวันนี้ และทำให้เกิดการต่อยอดออกไปในวงกว้าง

แน่นอนว่า เราไม่อยากเห็นผลงานอยู่บนหิ้งมีฝุ่นจับ แต่อาสาสมัครมีทุนทรัพย์จำกัด มีกำลังจำกัด เรามอบตัวอย่างให้ผู้มีส่วนในวงการรับรู้ได้ ที่เหลือเป็นเรื่องของการนำไปสร้างเสริมกันต่อ เครือข่ายฯก็ move on ไปจับประเด็นอื่น ๆ ต่อไป ถือว่าเราได้กรุยทางไว้แล้ว

โดย พี่ป๊อก จงเจริญ ศรแก้ว (หนึ่งในกลุ่มเสี่ยง)

บ้านธิ วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565