สะพานข้ามน้ำเชี่ยว-ระบบส่งต่อ

Cover photo credit: Stefan Stimpfle

“เส้นทางการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทางเพศ”

(Bridge over troubled water)

การประชุมโต๊ะกลมผู้เชี่ยวชาญ วันที่ 28 ตุลาคม 2563

ผู้ดำเนินรายการ    คุณกุสุมาลย์ ราชวงศ์

AAT TH             คุณชลีรัตน์ แสงสุวรรณ คุณมนปริยา ลบหนองบัว คุณธมนพัชร์ คูเปอร์ไรเดอร คุณเจอร์เก้น http://allianceantitrafic.org/about-us/

Oasis Belgium   คุณชูชีพ ฉิมสัญชาติ คุณผ่องศรี สุวรรณ https://oasisbe.com/about-us-1

NightLight TH   คุณพนมภรณ์ อุทัยศรี https://www.nightlightinternational.com/

Tamar UK         คุณพินทุสร แอนซ์ตี https://tamarwestminster.org/

กระทรวง พม        ผอ. วริสรา บุญมา คุณนิลเนตร บุบผากัณฑ์ คุณวรวุฒิ ไขแสง คุณณัฐกานต์ สายเพ็ชร์ (กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กลุ่มส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ) http://yingthai.dwf.go.th

ผู้เชี่ยวชาญอิสระ          คุณศิขรินทร์ สิงห์สาคร

TWNE                คุณจงเจริญ ศรแก้ว กริมสมันน์ (สรุปการประชุม) https://twne.eu/

โฮสต์                  คุณตฤณ ขุมทรัพย์ https://iminimal.co.th/

ความเป็นมา

ระบบส่งต่อ หรือ Referral Mechanism เหมือนการส่งผู้เสียหายข้ามสะพานเหนือน้ำเชี่ยวกลับบ้าน ใครจะชี้ทางขึ้นสะพาน ใครจะตรวจว่าสะพานอยู่ในสภาพแข็งแรง ใครจะช่วยจูงมือเดิน หรือผู้ปฏิบัติงานจะประเมินได้อย่างไรว่าผู้เสียหายเดินได้เอง เดินแล้วไม่ตกลงไปในน้ำเชี่ยว หรือถ้าตกลงไป ใครจะช่วยกู้ภัยอีก เมื่อถึงอีกฝั่ง ใครจะช่วยรับและชี้ทางให้ถึงถิ่นกำเนิดอย่างปลอดภัย ฯลฯ ระบบส่งต่อเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ใช่เพียงกลไกการทำงานจากหน่วยงานหนึ่งไปอีกหน่วยงานหนึ่ง ผู้เสียหายมีมิติของความเป็นมนุษย์ที่ทั้งเปราะบาง หวาดกลัว เหน็ดเหนื่อย ทุกข์กังวล ขณะเดียวกัน พวกเธอก็มีพลังความเข้มแข็งและชุดประสบการณ์ชีวิตที่จะก้าวข้ามสายน้ำเชี่ยว และเปลี่ยนตัวเองมาเป็นผู้ช่วยเพื่อนและผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้

แนะนำองค์กรที่ร่วมประชุม

โอเอซิส (เบลเยียม) เป็นองค์กรช่วยเหลือผู้หญิงจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเด็นการทำงานคือความรุนแรงในครอบครัวและค้ามนุษย์ มีสำนักงานใน ๙ ประเทศ ที่เบลเยียมมี ๓ โครงการ หนึ่งในนั้นคือ โครงการเวลคัม สำหรับสตรีย้ายถิ่นเพื่อทำงาน สมรส หรือมาด้วยการจ่ายค่าหัว โครงการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยใช้สื่อออนไลน์ ตลาดนัด งานสถานทูต ออกเยี่ยมตามร้านนวด นวดไทย-นวดอีโรติกทุก ๒ เดือน แจกแผ่นพับไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส มีร้านนวดที่เยี่ยม ๒๕ ร้าน โครงการก็ประสานกับหน่วยงานสงเคราะห์ต่าง ๆ กับบ้านฉุกเฉินในกรณีมีผู้ขอความช่วยเหลือ ถ้าผู้เสียหายคิดว่าถูกเอาเปรียบ มีเวลาตัดสินใจ ๔๕ วัน แต่ต้องไปอยู่เซฟเฮ้าส์ มีอยู่ ๓ เขตตามภาษาที่ใช้ ถ้าอยากกลับบ้าน โครงการจะติดต่อไอโอเอ็ม ผู้เดินทางกลับจะมีเงินขวัญถุง มีองค์กรรองรับในไทย ใช้เวลาติดตาม ๑ ปี หางานทำ สร้างอาชีพ มีเจ้าหน้าที่ประสานงาน เป็นล่าม เอกสาร แปลภาษา ให้กำลังใจ กลับมาเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันอีกครั้งหนึ่ง

Night Light (ไทย) ทำงานช่วยเหลือหญิงขายบริการ เริ่มต้นที่ซอยนานากับหญิงไทยและเด็กที่มีความเสี่ยง เราเห็นว่ามีทั้งไทยและต่างชาติ เราไปช่วยเหลือ เยี่ยมเยียน เปิดโอกาส ให้การอบรม ให้ความช่วยเหลือ อบรมอาชีพ มีการจ้างงานสำหรับหญิงไทยที่อยากออกจากอาชีพนี้ ส่วนหญิงขายบริการที่เป็นต่างชาติ อาฟริกา รัสเซีย เป็นภาระใจ คนเหล่านี้มาได้อย่างไร เรามีโครงการช่วยเหลือหญิงจากการค้ามนุษย์มาได้ ๕-๖ ปี เคสที่ช่วยมากคือ ยูกานดา แทนซาเนีย ยูเครน อุซเบกิสถาน ช่วยเรื่องดำเนินคดี การส่งกลับ เนื่องจากแต่ก่อนเมืองไทยเป็นบ้านพักแบบปิดและรับคนไทยเป็นหลัก พอเป็นเคสต่างชาติก็ค่อนข้างลำบาก เราเลยทำบ้านพักแบบเปิด เรามีบ้านพักสำหรับผู้เสียหายต่างชาติ เปิดมาได้ ๒ ปีแล้ว เราอยากให้เขาเป็นอิสระ ภายใต้การดูแลของเรา ให้ที่พักอาหาร สุขภาพ บาดแผลทางใจ ไปพบหมอ นักจิตฯ อบรมอาชีพด้วย

Tamar (ยูเค) ทำงานโดยตรงกับตำรวจยูเคและรัฐสภาอังกฤษ การทำงานคล้ายกับไนท์ไลท์และโอเอซิส เราประกอบด้วยจิตอาสา-อาสาสมัคร มุ่งทำงานกับหญิงไทยขายบริการที่เวสมินเตอร์ เจาะแค่กลุ่มที่นี่ เพราะลอนดอนใหญ่มาก บริการมีตั้งแต่การเป็นล่ามไปจนถึงผลักดันในวุฒิสภาเพื่อเปลี่ยนกฎหมาย เริ่มจากการที่ตำรวจให้เราไปร่วมการเยี่ยมตามร้าน สถานบริการ บาร์ ฯลฯ เพื่อหาเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ถ้ามี เราจะเป็นตัวแทนในการสกรีนหญิงเหล่านี้ว่าเป็นเหยื่อจริงตามกฎหมายอังกฤษ ประสานให้ผู้เสียหายเข้าไปสู่ระบบ National Referral Mechanism ของยูเค มีเหยื่อหลายสัญชาติ ทั้งคนไทย จีน บราซิล สเปน ยุโรปตะวันออก มีผู้หญิงเป็นส่วนมาก มีเพศที่สาม เพศทางเลือกมากขึ้นในช่วงสองสามปีนี้ และมีเหยื่อที่เป็นผู้ชายเพิ่มขึ้น ข้อสังเกตคือ ยิ่งเศรษฐกิจไทยแย่เท่าไร ก็จะมีคนสัญชาติไทยเข้ามามากขึ้น หลังจากเข้าสู่ระบบช่วยเหลือ มีทนายความทางสิทธิมนุษยชนช่วยให้มีสิทธิพำนักในฐานะผู้ลี้ภัย (Asylum seekers) ถ้าเข้าเกณฑ์เหยื่อการค้ามนุษย์จริง ก็จะมีบ้านพักฉุกเฉิน ได้เงินช่วยเหลือเป็นรายสัปดาห์ ได้รับการดูแลทางแพทย์ฟรี มีฝึกอาชีพ

Alliance Anti-Trafic หรือ มูลนิธิพิทักษ์สตรี (ไทย) มุ่งเน้นต่อต้านการค้ามนุษย์ในธุรกิจทางเพศ และการช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ สำหรับคนข้ามเพศหรือผู้ชาย เราใช้วิธีส่งต่อ ระยะเวลาแรก เราช่วยผู้หญิงที่ถูกบังคับ ข่มขู่ ล่อลวง ถูกใช้อุบาย ฯลฯ ให้ไปขายบริการทางเพศ เราเน้นช่วยผู้หญิงและเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก ทำงานตามจุดข้ามแดนหลายแห่ง เราช่วยเหลือทางกฎหมาย ให้เขารู้สิทธิ มีลาว เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา ที่ผ่านมา เราได้ช่วยเหลือออกจากสถานที่อันตราย ๖๐๐๐ กว่าราย ไม่นับอยู่ในสถานคุ้มครอง ของ พม เราทำงานด้านป้องกันและครอบครัวในชนบท เน้นมุกดาหาร อุบล หาดใหญ่ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และในประเทศต้นทางที่เมียนมาร์ รัฐฉาน เชียงตุง ทำงานผ่านรัฐบาล มีบันทึกข้อตกลง เราทำงานสร้างความเข้มแข็งของผู้เสียหาย (Empowerment) ทำงานกับสถานคุ้มครองของรัฐ มีให้ทุนการศึกษา นอกจากการส่งกลับบ้าน (repatriation) แล้ว ยังผลักดันให้ผู้เสียหายได้รับสิทธิไปยังประเทศที่สาม หากเป็นเคสของอาชญากรรมข้ามชาติ สนับสนุนด้านผลักดันกลไกด้านกฎหมาย มีส่วนร่วมฟ้องให้เด็กและหญิง มูลนิธิฯมีเจ้าหน้าที่รวม ๒๔ คน ที่ประเทศลาว (เวียงจันทน์) ๓ คน มีประเทศเมียนมาร์ ๓ คน เน้นการทำงานผ่านเครือข่ายอาสาสมัคร ผู้นำชุมชน จากการศึกษา พบว่าหญิงไทยถูกหลอกไปค้าบริการที่ตะวันออกกลางจะผ่านมาเลเซียไปยุโรป ทำให้เรามีคำถามว่ามีเหยื่อในยุโรปมากและพวกเธอมีชีวิตอย่างไร มูลนิธิฯจึงต้องการประสานกับกลุ่มหญิงไทยในยุโรป

คุณศิขรินทร์ (ไทย) จากการสัมภาษณ์เคสค้ามนุษย์ จุดที่เขาสะท้อน คือ เวลาเป็นผู้เสียหาย พวกเขาจะสูญเสียความไว้วางใจในคนอื่น กระบวนส่งต่อระหว่างทาง บางประเทศมีความยุ่งยากมากและเร่งรัดในบางจุดมากทำให้ผู้เสียหายไม่มีเวลาได้พักผ่อน ถูกคัดแยกทันทีเพื่อส่งกลับภูมิลำเนา สิบกว่าปีที่ผ่านมา มีการช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์มากขึ้น มีกองทุน มีระบบส่งต่อตามกรอบกฎหมายชัดเจน ซึ่งผิดกับกรณีอื่น เช่น ประมงต่างชาติ การพัฒนาอาชีพ มีโครงการสร้างความเข้มแข็ง ข้อท้าทาย คือ เมื่อเป็นคดีความในต่างประเทศ การได้รับสิทธิชดเชยเยียวยา ถ้าไม่ได้จ่ายก่อนกลับเมืองไทย จะเรียกร้องได้อย่างไร นอกจากผู้เสียหายเป็นคนเคลื่อนที่แล้ว ผู้กระทำผิดเป็นคนเคลื่อนที่ด้วย ย้ายที่หลอกลวง ถ้าผู้กระทำผิดถูกนำไปดำเนินคดีในประเทศต้นทาง ผู้เสียหายในประเทศปลายทางจะทำอย่างไร ถ้าผู้เสียหายเป็นหัวหน้าครอบครัวจะมีกระบวนการให้เขาได้ทำหน้าที่ในฐานะหัวหน้าครอบครัวได้อย่างไร รายได้เขาขาด ทางบ้านเขาไม่มีเงิน เป็นส่วนสำคัญที่เราจะฟื้นฟูบทบาท หนุนเสริมอาชีพของเขา ให้คืนสู่สังคมได้อย่างไร

สรุปปัญหาในการทำงานที่ประสบ

ผู้เสียหายบางคนไม่อยูในเกณฑ์ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐ  ผู้เสียหายไม่สามารถเข้าใจภาษาในประเทศปลายทาง ความกังวลใจในฐานะหัวหน้าครอบครัว มักจะตัดสินใจไม่ได้ว่าจะอยู่หรือจะไป บางคนกลัวฟ้องร้อง กลัวครอบครัวเมืองไทยเดือดร้อนโดนทำร้าย กระบวนการช่วยเหลือ-กระบวนการส่งต่อยังไม่ราบรื่น ผู้เสียหายที่มีความหวาดกลัวและเปราะบาง ไม่รู้สิทธิ หรือประโยชน์ที่ควรได้รับ ผู้ละเมิด-ผู้กระทำผิดเคลื่อนที่ ขั้นตอนที่ยุ่งยากในการขอค่าชดเชยจากผู้ละเมิด ความกลัวว่าตนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทำให้เคสไม่กล้าเรียกร้อง เหยื่อที่เป็นเพศทางเลือกหาบ้านพักที่เหมาะสมได้ลำบาก ชุมชนไทยในต่างแดนกลุ่มหนึ่งมีส่วนรู้เห็นทำให้ผู้เสียหายในบางพื้นที่กลัวคนไทยด้วยกันเอง การช่วยเหลือต้องใช้ทรัพยากรและความใส่ใจสูงมาก บริการการแพทย์ (ไทย) ยังไม่มีระบบอัตโนมัติ ผู้เสียหายต้องจ่ายก่อนแล้วมาเบิก รวมถึงค่าเดินทางกลับบ้าน

ตัวอย่างเครื่องมือหรือวิธีการทำงานที่หน่วยงานใช้

  • กฎหมายและนโยบาย กฎหมายไทย กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายประเทศปลายทาง ที่กำหนดนิยามการค้ามนุษย์ชัดเจน และกำหนดกลไกที่รับผิดชอบในระดับต่าง ๆ  การจัดทำหมายเลขคดีโดยรัฐเพื่อให้เข้าถึงบริการ 
  • ความร่วมมือแบบเครือข่าย ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ร่วมคัดกรองผู้เสียหายกับฝ่ายรักษากฎหมาย ทำบันทึกข้อตกลงในกรณีต้องเข้าไปทำงานในต่างประเทศ ร่วมมือในการส่งกลับผู้เสียหาย ทำงานแบบสหวิชาชีพกับผู้เชี่ยวชาญและผู้รักษากฎหมายในระดับต่าง ๆ ส่งต่อเคสไปหน่วยงานเฉพาะทาง หรือหาหน่วยงานสนับสนุนทุน หน่วยงานรองรับเพื่อคืนถิ่น
  • บริการด้านต่าง ๆ งานช่วยเหลือด้านกฎหมาย ด้านคดี ฝึกอาชีพ แปลภาษา ให้คำปรึกษา ถุงยังชีพ คู่มือความปลอดภัย รักษาพยาบาล บ้านพักฉุกเฉินหรือที่อยู่ปลอดภัย ช่วยให้มีสิทธิอยู่ต่อในประเทศนั้น ประสานงานส่งต่อ เพื่อกลับบ้าน ไปประเทศที่สาม กลับประเทศต้นทาง คุ้มครองระหว่างดำเนินคดี ระหว่างรอความช่วยเหลือ รอวีซ่า ให้ความช่วยเหลือกรณีที่รัฐไม่ครอบคลุม (เช่น ไม่มีหมายเลขคดี) จัดหาทุนทรัพย์หรือหน่วยงานช่วยส่งกลับบ้าน
  • ข้อมูลความรู้ เอกสารเผยแพร่ภาษาต่าง ๆ ด้านสิทธิ ความเสมอภาค ข้อกฎหมายในประเทศนั้น ใบแจ้งเหตุ คำแนะนำ เบอร์ตำรวจ เบอร์ฉุกเฉิน จดหมายข่าวให้กำลังใจ เฟสบุคสำหรับแจ้งเหตุ
  • การเข้าถึง-การลงพื้นที่ ออกเยี่ยมแหล่งค้าบริการสม่ำเสมอ สร้างความไว้วางใจ การทำงานกับชุมชนเสี่ยงเพื่อเก็บข้อมูลผู้หญิงย้ายถิ่น การลงไปอยู่กับเคสโดยตรง
  • แนวทางเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer-to-Peer) โดยนำอาสาสมัครชุมชนมาช่วยเก็บข้อมูลกลุ่มเสี่ยง ทำหน้าที่เหมือน Agents of change เพื่อเข้าถึงกลุ่มเปราะบางได้ดีขึ้น

ประเด็นที่น่าสนใจ

“สิทธิเข้าเมือง”

หญิงไทยในภาคค้าบริการส่วนใหญ่ (เบลเยียม) มาด้วยวีซ่าท่องเที่ยวสามเดือน เดินทางผ่านอิตาลี เยอรมนี สวีเดน ฮอลแลนด์ ปลายทางที่เบลเยี่ยม การขอวีซ่าต้องจ่ายให้แม่แท็ก น้อง ๆ มักขอให้หน่วยงานช่วยให้อยู่ถูกกฎหมาย เมื่อทราบว่าทำไม่ได้ ก็ไปจ้างทนาย ถูกหลอกซ้ำซ้อน ทนายคิดค่าต่อวีซ่าเป็นรายเดือน

“สมัครใจหรือไม่สมัครใจ”

กรณีผู้หญิงที่สมัครใจ แต่ถูกแสวงประโยชน์ ถูกฉ้อฉล ฯลฯ ก็ถือว่าเป็นผู้เสียหายทั้งหมดในการค้ามนุษย์ นอกจากสมัครใจ ยังต้องพิจารณา “ภาวะจำยอม” และ เงื่อนไข “การขูดรีดบุคคล” ประกอบด้วย   

“เพศทางเลือก”

ในอังกฤษมีแนวโน้มมากขึ้น และเป็นกลุ่มที่พบความลำบากในการหาบ้านพักฉุกเฉินที่เหมาะสม ที่เบลเยี่ยม หากมีเคสเพศทางเลือกที่ต้องการที่พัก ก็จะได้อยู่ตามลักษณะเพศของตน หากมีทุนน้อย ก็เช่าสถานที่จนกว่าเขาจะหาที่อยู่ได้ หรือส่งกลับ ถ้ามีกรณีในตะวันออกกลาง ไม่มีที่พักรับรอง ประเทศปลายทาจะรีบส่งกลับเร็วมากทำให้ผู้เสียหายไม่ได้พักเลย ที่เมืองไทย มีหน่วยงานช่วยเหลือโดยตรงหลายหน่วยงาน หรือใช้วิธีส่งต่อ

“ค้าบริการถูกกฎหมายหรือไม่”

ยูเคและเบลเยียมถือว่าการค้าบริการถูกกฎหมาย แต่ห้ามโฆษณาและห้ามตั้งสถานค้าประเวณี ใน เบลเยียม มีผู้หญิงยืนตามตู้กระจก เรียกว่าแชมเปญบาร์ ห้ามบอกว่าขายบริการทางเพศ การค้าบริการต้องเสียภาษี แต่ห้ามสื่อสาร ห้ามโฆษณาชวนเชื่อ คนที่ทำงานต้องมีสัญญาการทำงาน ได้รับบริการ มีนักสังคมสงเคราะห์ งานนวดเป็นงานที่ง่ายที่สุดสำหรับหญิงไทยและเป็นเส้นทางที่นำไปสู่การค้าบริการทางเพศด้วย ในประเทศไทย กรมกิจการสตรีและครอบครัวอยู่ระหว่างทบทวนกฎหมาย พ.ร.บ. การค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เนื่องจาก พรบ. มีมานานมาและไม่ทันต่อยุคสมัย

“ไม่อยากกลับบ้าน”

เหยื่อคนไทยในยูเคบอกเป็นเสียงเดียวว่า ตนได้รับการดูแลเอาใจใส่ช่วยเหลือทุกด้าน กฎหมาย ที่อยู่อาศัย สุขภาพ ดีมากจากรัฐบาลอังกฤษ เกือบทุกคนไม่ต้องการกลับเมืองไทย น้อยมากที่จะขอกลับเมืองไทย นอกจากนั้น พวกเธอยังให้สัมภาษณ์รัฐบาลอังกฤษตรงกันว่า วิธียุติการค้ามนุษย์ ต้องเริ่มจากที่ประเทศไทย

“ความกตัญญู”

คนไทยที่ได้รับความช่วยเหลือในยูเคเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ระบุว่ามาอยู่ในสถานะนี้เพราะความกตัญญู พ่อแม่ยากจน พ่อแม่มีหนี้ กู้เงินนอกระบบ นาล่ม พวกเธอในฐานะลูกจึงต้องมาทำงานบริการ เป็นไปได้ไหมที่ทางเมืองไทยจะเปลี่ยนค่านิยมตรงนี้ ความกตัญญูเป็นสิ่งที่งดงาม เป็นคุณค่าของคนไทย แต่มันควรถึงขั้นพ่อแม่รังแกฉันไหม กตัญญูไม่ใช่ต้องแลกทุกอย่าง ประสบการณ์ทำงานชี้ให้เห็นว่าเหยื่อการค้ามนุษย์ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจน

ข้อเสนอแนะ

  • ปลายทางในยุโรปช่วยกระจายข้อมูลข่าวสาร กฎหมาย สิทธิ การเข้าถึงสิทธิ ทำเป็นคู่มือเข้าถึงสิทธิในต่างแดน เมื่อเจอปัญหาต่าง ๆ หรือทำงานวิจัยสถานการณ์ที่ปลายทาง ต้นทางช่วยกันเตรียมความพร้อมให้หญิงไทยทราบว่าจะเจออะไรที่ปลายทางและจัดหาคู่มือด้านสิทธิหน้าที่พลเมือง (ภาษาไทย) และเบอร์ติดต่อในประเทศปลายทางให้ติดตัวไป
  • การย้อนกลับไปทำงานที่ต้นทาง Back to the Origin เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับชุมชนต้นทาง ชุมชนเสี่ยง และนำพวกเขามามีส่วนในการสร้างความเปลี่ยนแปลง
  • หัวข้อในการหารือครั้งต่อไป เช่น ความกตัญญูที่ส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การทำงานกับเพศทางเลือก สิทธิการเข้าเมือง นิยามผู้เสียหาย-หลักเกณฑ์คัดกรอง ค้นหาผู้เล่นที่น่าสนใจ อดีตผู้เสียหาย จิตอาสา อาสาสมัคร ชุมชนไทยในยุโรป และ การสร้างความร่วมมือไทย-ยุโรปอย่างเป็นรูปธรรม
Message us