ดูแลคนชรากับป้าแม้ว

โดย ป้าแม้ว (สวิตเซอร์แลนด์)

สวัสดีค่ะ


ชื่อกุหลาบค่ะ เรียกตัวเองแทนหลาน ๆ ว่า “ป้าแม้ว”


ป้าแม้วย้ายตามลุง มาอยู่สวิตเซอร์แลนด์เกือบ 12 ปีแล้วค่ะ


อาศัยอยู่เมืองที่ติดกับแหล่งท่องเที่ยว ที่มีชื่อเสียง คือ Interlaken แต่งงานตอนอายุเยอะ และชอบที่จะอยู่กันสองคน จึงตัดสินใจว่าไม่มีทายาทไว้สืบสกุลค่ะ


มาอยู่ที่นี่ช่วง 5 ปีแรก เป็นแม่บ้าน เรียนภาษาท้องถิ่น และเยอรมัน เป็นจิตอาสาไปทำงานบ้านพักคนชราแถวบ้าน อาทิตย์ละ 1 วัน ได้ฝึกภาษา ได้ทำอะไรบ้าง ได้ออกจากบ้าน ไปเห็นว่าที่อื่น ๆ เป็นอย่างไร และจัดการเรื่องเอกสาร เพื่อจะเป็นพยาบาลที่สวิส แต่สุดท้ายไม่ได้ทำ เพราะหลังจากตรวจสอบโดยสภากาชาดสวิสแล้ว ต้องสอบภาษาเยอรมันให้ผ่านระดับบีสอง ไปเรียนเพิ่มเติม เพราะระบบสาธารณสุขของไทยและสวิสไม่เหมือนกัน ซึ่งใช้เวลาเรียน 6 เดือน ในรัฐเบิร์น ค่าเรียนก็ไม่ถูก และต้องฝึกงานที่โรงพยาบาล หรือบ้านพักคนชรา แล้วแต่เราจะหาได้ อีก 8-12 เดือน ทำงาน 80-100 เปอร์เซ็นต์ ในวัยตอนนั้นก็ 44 ปีแล้ว


คิดสารตะ (อยู่เมืองไทยทำงานในห้องไอซียูมา 16 ปี เรียนมา 4 ปี เอาน่ะ พอก็ได้นะ) บวกกับแรงสนับสนุนใหญ่คือคุณลุง ว่าไม่ต้องทำหรอกงานพยาบาลนะ แต่สุดท้ายก็ถามสภากาชาดสวิสว่า ทำอย่างไรเพื่อจะได้ใบประกาศเป็นผู้ช่วยพยาบาลก็ยังดี เพื่อในอนาคตจะได้ทำงานบ้าง เพราะอย่างไร การทำงานมีรายได้เป็นของตัวเอง จะทำอะไรให้ใคร (ครอบครัวทางเมืองไทย ก็สบายใจ และภูมิใจกว่าค่ะ)


สรุปว่าก็สอบภาษาเยอรมันให้ผ่านบีหนึ่ง แล้วไปฝึกงานที่บ้านพักคนชราอีก 15 วัน ซึ่งเราต้องหาเอง ป้าก็ขอไปฝึกที่บ้านพักคนชราที่ป้าเป็นอาสาสมัครนั่นแหละ เขาก็ให้ฝึกแต่โดยดี (นี่คือข้อดีที่ได้รับ เมื่อพาตัวเองออกไปทำประโยชน์ จากสิ่งที่เรามี) เพราะเขารู้จักเราแล้ว เมื่อการฝึกงานครบตามจำนวน หัวหน้าก็จะประเมิน แล้วส่งใบประเมินนั้น พร้อมใบสอบผ่านภาษาเยอรมันบีหนึ่งไปที่สภากาชาด รอไม่นานก็ได้รับใบประกาศนียบัตร เป็นผู้ช่วยพยาบาลของสภากาชาดสวิส (Pflegehelferin SRK)

สมัครงานครั้งแรกก็ได้งานเลยในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล (ลดวุฒิลงมานิด รายได้น้อย แต่สบายกว่ามาก ชีวิตที่พอเพียง แค่นี้จึงเพียงพอค่ะ) ทำงานเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์ อาทิตย์ละประมาณ 4-8 ชั่วโมง


งานก็คือไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้านค่ะ ชอบงานนี้ มีความสุขที่ได้ไปช่วยดูแล ส่วนใหญ่เป็นคุณยาย (คุณตา มีน้อยทำงานมา เกือบ 6 ปี นับจำนวนได้ 2 คน) คุณยายบางท่านอยู่บ้านหลังใหญ่คนเดียว งานเราส่วนใหญ่ก็ช่วยดูแลเรื่องร่างกาย จิตใจ และสังคม หลังจากช่วยจัดการเรื่องร่างกายแล้ว พร้อมกันนั้นก็ดูแลเรื่องจิตใจไปด้วย การพูดคุย ชวนทำโน่นนี่นั่น แล้วแต่สถานการณ์จะพาไป เพราะดูออกว่าบางทีคุณยายก็เหงา


การได้ทำงานในองค์กรที่ใหญ่ เราได้รับโอกาสในการเรียนต่อไม่ว่าจะเป็นคอร์สสั้น หรือจะเรียนให้เป็นพยาบาล (สำหรับผู้ที่ยังมีความต้องการที่จะทำงานในอาชีพด้านสุขภาพต่อไปนะคะ) และเวลาไปเรียนก็ได้เป็นชั่วโมงทำงานด้วย แต่ค่าเดินทางเราจ่ายเอง


และอีก 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นแม่บ้าน ควบคู่กับเป็นจิตอาสาทำงานในสมาคมหญิงไทยเพื่อหญิงไทย สวิตเซอร์แลนด์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการวารสารรวงข้าวของสมาคม และเป็นบรรณาธิการ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 ไม่เคยทำงานนี้มาก่อน แต่ชอบอ่าน ชอบเขียน และคิดว่าเราฝึกได้ ถ้าใจรัก และสนุกกับงานค่ะ


อยากจะบอกว่า การที่ได้เข้ามาในสมาคม ทำให้ได้เรียนรู้อะไรมากมาย ทั้งเกี่ยวกับกฎหมาย คนดี ๆ ที่ชักชวนให้พบกับสิ่งที่ดี ๆ เช่น ได้พบกับพุทธศาสนา ในมุมที่ก่อนหน้านี้รู้จักน้อยนิด เมื่อพบกัลยาณมิตร ก็ทำให้มีความเจริญในทางธรรมมากขึ้น มองเห็นสุขง่ายขึ้น ปล่อยวางทุกข์ได้เร็วขึ้น แต่ยังไม่หมดทุกข์นะคะ


และเมื่อช่วงที่มีโควิด-19 ก็เริ่มทำช่องยูทูป (ชอบทำอะไรใหม่ ๆ ท้าทาย และรู้สึกสนุก) นำสิ่งที่ตัวเองพอรู้ มาแบ่งปัน รวมทั้งพาไปชมสถานที่ที่ตัวเองไปเยือนมาแล้วค่ะ สนุกดี และได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เยอะมากค่ะ แต่ใช้เวลาเยอะมากเหมือนกันกว่าจะได้แต่ละคลิป ทดสอบความอดทน


กำลังใจที่ทำต่อก็คือ มีคนติดตาม และมีคนดูค่ะ

Message us