ผัวเมียตีกัน ทำไงดี

มาดามหลายคนมีเพื่อนเดือดร้อนมาขอปรึกษาว่า ถูกสามีทำร้ายร่างกาย บางทีก็บาดเจ็บขั้นปางตาย และพอมาดามได้ฟังก็ของขึ้น ให้คำแนะนำไปต่าง ๆ นานา ยุบ้าง ปลอบบ้าง ขู่บ้าง แนะให้เอาคืนบ้าง แนะให้อดทนบ้าง แจ้งตำรวจบ้าง ชวนเพื่อนหนีบ้าง ตามไปด่าแฟนเพื่อนบ้าง แต่เรารู้หรือไม่ว่าการให้คำแนะนำผิด ๆ อาจทำให้เพื่อนเดือดร้อนมากขึ้น หรือทำให้สถานการณ์แย่ลง หรือบางทีช่วยเพื่อนแทบตาย เพื่อนกลับไปคืนดีกับสามีนักมวยเอาง่าย ๆ ทำเอามาดามกองเชียร์เงิบไปตาม ๆ กัน นอกจากเสียเพื่อน ยังโดนสามีนักมวยมาด่าแถมท้ายว่า ไป “เผือก” เรื่องคนอื่น แถมสามีที่บ้านก็อาจจะสมน้ำหน้าหรือคาดโทษไม่ให้ไปยุ่งเรื่องคนอื่นด้วย ดังนั้น การจะให้คำปรึกษากับใครสักคน ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ หากเราไม่พร้อมหรือไม่เข้าใจกลไลและความซับซ้อนของปัญหาผัว ๆ เมีย ๆ ดีพอ

ขอบข่ายของปัญหาความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence)

กล่าวกันว่าผู้ชายชอบใช้ความรุนแรงกับ ผู้หญิงข้างตัว(ในครอบครัว) โดยผู้หญิงที่มีครอบครัวจำนวน ๑ ใน ๓ ของโลกต้องเผชิญกับการถูกทำร้ายทั้งกายและใจจากคนใกล้ชิด ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล นอกจากพ่อเจ้าประคุณสามีนั้นเอง ปัญหาผัวตบตีเมียเป็นปัญหาขนาดมหึมาที่ซ่อนตัวอยู่หลังประตูบ้าน และโลกมีสิทธิรับรู้เพียงไม่กี่กรณีที่กล้าออกมาขอความช่วยเหลือ เหมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ออกมาให้เราเห็นเพียงนิดเดียว ส่วนที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำนั้นใหญ่ขนาดไหน เราไม่รู้ เรารู้แค่ว่าภูเขาน้ำแข็งทำเอาไตตานิก “เรือที่ไม่มีวันจม” ทั้งลำจมได้ สาเหตุสำคัญของความรุนแรงในครอบครัว คือ ความที่ฝ่ายหนึ่งต้องการควบคุมและแสดงอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่งอย่างเด็ดขาด สั้น ๆ ง่าย ๆ แค่นี้เอง

ละครชีวิตครอบครัวนี้มักมีสมาชิกคนหนึ่งที่ เล่นบท “ผู้ควบคุม” (ซึ่งมักจะเป็นฝ่ายชาย) และ สมาชิกอีกคนหนึ่งหรือหลายคนเล่นบท “เหยื่อ” (ซึ่งมักจะเป็นฝ่ายหญิงหรือเด็ก) ตัวละครไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดชาติ ศาสนา วัฒนธรรม สีผิว และการศึกษา แต่เหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวถึง ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์คือ ผู้หญิง หรือถ้าเป็นผู้ชายก็เป็นผู้ชายในครอบครัวรักเพศเดียวกัน ถ้าเป็นผู้หญิงก็เป็นผู้หญิงที่รักเพศเดียวกัน เรื่องที่เมียจะทำร้ายสามีนั้นมีอยู่ แต่น้อยกว่าน้อย

ลักษณะของความรุนแรงในครอบครัว

ความรุนแรงในครอบครัว รวมเอาความรุนแรงทางร่างกายและความรุนแรงทางจิตใจ เพราะ ๒ อย่างนี้มักจะมาด้วยกัน สิ่งที่ผู้กดขี่มักทำเพื่อให้เหยื่อตกอยู่ในอาณัติของตน ก็คือ แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ละเมิด ข่มขู่ บังคับใจ ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ทั้งด้านจิตใจ ด้านการเงิน ทางเพศ หรือทางร่างกาย และรวมถึงพูดขู่ ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว และทำให้รู้สึกต้อยต่ำขายหน้า การละเมิดมักจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป นั่นหมายความว่า ยิ่งปล่อยปัญหาไว้ ไม่แก้ไข ปัญหาก็จะยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้น ที่แน่ ๆ นั้น ความรุนแรงทางร่างกายเป็นสิ่งที่เห็นได้ง่าย เกิดได้บ่อยที่สุด และ อันตรายที่สุด เพราะผลของมันอาจถึงแก่ชีวิต ส่วนความรุนแรงทางจิตใจจะเห็นผลในระยะยาวที่เหยื่อจะกลายเป็นคนกลัวสังคม เกิดโรคซึมเศร้า ไม่สามารถเชื่อใจใครได้อีก หลายคนต้องรับการรักษาทางจิตไปด้วย

หากรู้ว่าจะถูกทำร้ายหรือระหว่างที่ถูกทำร้าย ให้ทำตัวดังนี้

  • อยู่ใกล้ๆประตูหรือหน้าต่าง เผื่อจะต้องหนี
  • อย่าอยู่ในห้องน้ำ ห้องครัว หรือ บริเวณที่เก็บอาวุธ ของมีคม
  • ฝึกซ้อมการหนี รู้ว่าประตูไหน หน้าต่างไหน ลิฟต์ตัวไหน หรือบันไดไหนจะปลอดภัยที่สุด
  • เตรียมกระเป๋าเก็บของสำคัญไว้ และซ่อนไว้ในที่ที่จะหยิบได้ง่าย
  • หาเพื่อนบ้านที่ไว้ใจได้ที่จะช่วยเรียกตำรวจถ้าเห็นหรือได้ยินเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายที่บ้านของคุณ ·
  • ใช้รหัสลับกับลูกๆ สมาชิกครอบครัว เพื่อน หรือ เพื่อนบ้าน ให้โทรหาตำรวจ ถ้าคุณใช้รหัสคำนี้
  • รู้ว่าจะต้องไปหาใครก่อนเป็นอันดับแรก หากจำเป็นต้องหนีออกจากบ้าน แม้คุณจะคิดว่าจะไม่ต้องหนีก็ตาม
  • ให้เชื่อสัญชาติญาณของคุณเอง และทำทุกอย่างที่จะเอาตัวรอดให้ได้

ถ้าเจอเพื่อนที่ถูกทำร้าย ควรปฏิบัติอย่างไร

มาดามอาจคิดว่า แค่การคุยกับเพื่อนที่ถูกทำร้ายไม่น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาอะไรได้มากมาย แต่จริง ๆ แล้วการรู้จักคุยและรับฟังจะช่วยได้มาก อย่างน้อยที่สุด เมื่อผู้ถูกทำร้ายรู้ว่า ยังมีคนที่ห่วงใย ก็จะเกิดกำลังใจที่จะก้าวข้ามความรู้สึกโดดเดี่ยว ซึ่งมักเกิดกับคนที่เป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ถ้ามาดามสงสัยว่า มีเพื่อนที่ถูกทำร้าย (กายและใจ) ขอให้คุยกับเพื่อน และ “รับฟัง” บอกให้เพื่อนรู้ว่า เราห่วงใย มาดามไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่จำเป็นต้องรู้คำตอบไปทุกปัญหา และไม่ต้องใส่อารมณ์ร่วมไปด้วย แต่ขอให้อยู่ตรงนั้นให้เพื่อนรู้สึกอุ่นใจก็พอแล้ว

ยอมรับข้อมูลที่ได้รับฟัง

มาดามควรรับรู้ในสิ่งที่ได้ยิน และบอกกับเพื่อนว่า ตัวเองเชื่อในเรื่องที่เพื่อนเล่าให้ฟัง ผู้ประสบเคราะห์จำนวนมากกลัวว่า จะไม่มีใครเชื่อเรื่องของตัวเอง กลัวคนอื่นจะเห็นว่าเรื่องที่ตัวเองเจอนั้นเป็นแค่ “เรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่สำคัญ” และกลัวคนจะคิดว่า ตัวเองกุเรื่องขึ้นมา ขอให้มาดามรับฟังความเห็น ความรู้สึก ความเชื่อ และ ข้อคิดต่าง ๆ จากผู้ประสบเหตุ และอย่าลืมย้ำว่า “ผู้ประสบเหตุไม่ใช่คนผิด”

ฟัง โดยไม่ตัดสิน

เราอยู่ในสังคมที่มักจะ “โยนความผิด” ให้คนที่เป็นเหยื่อ หรือให้ผู้คุกคามเหยื่อ เพื่อนของมาดามอาจรู้สึกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของตัวเองที่ไม่ใช่ภรรยาที่ดีพอจึงถูกสามีตบตีเอง (ปมความรู้สึกผิดที่ซับซ้อน) อาจรู้สึกอับอาย รู้สึกกลัวจะถูกตัดสิน อย่าอารมณ์เสีย ถ้าเพื่อนผู้ประสบเคราะห์ไม่ได้คิดหรือทำอย่างที่มาดามคิดว่า เธอควรจะทำ คนที่ถูกควบคุมพฤติกรรมจากคู่สมรสอยู่ตลอดเวลาจะขาดความเชื่อมั่นหรือไม่กล้าที่จะตัดสินใจเลือกอะไรที่ดีกว่าง่าย ๆ พวกเธอจะต้องได้รับข้อมูลหลายอย่างมากพอ ก่อนจะตัดสินใจเข้าหาความช่วยเหลือ

ขอให้ผู้ประสบเหตุเป็น “คนตัดสินใจด้วยตัวเอง”

และ มาดามควรให้ความช่วยเหลือกับเพื่อนตลอดกระบวนการ สร้างพลังใจ-สร้างความเข้มแข็ง ปล่อยให้ผู้ประสบเหตุเป็นผู้เลือกวิธีการแก้ไขปัญหาเอง ไม่ว่ามาดามจะคิดว่า ไอเดียของตัวเองดีกว่าหรือไม่ก็ตาม เพราะนั่นคือ การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแก้ปัญหาให้กับผู้ประสบเหตุในการรู้จัก ตัดสินใจด้วยตัวเอง อย่าลืมว่าเพื่อนของคุณถูกริดรอนอำนาจต่าง ๆ จากคู่ครองที่ล่วงละเมิดเธอตลอดมา ดังนั้น จึงสำคัญมากที่มาดามจะต้องทำให้ผู้ประสบเคราะห์เข้าใจความรู้สึกที่ แท้จริงของตัวเอง และ สามารถเลือกทางออกให้ตัวเองได้

ยอมรับว่าเพื่อนผู้ประสบเคราะห์รู้สภาพของตัวเองดีกว่าใครๆ

ผู้ประสบเคราะห์รู้ว่า คู่ครองตัวอ งจะมีปฏิกิริยาเช่นใดในสถานการณ์ใด ดังนั้นจงอย่าเข้าไปแทรกแซงคู่ครองของเธอ ยกเว้นเพื่อนจะขอร้องให้เข้าไปช่วยเท่านั้น และเมื่อปลอดภัยที่จะทำได้ (เช่น คู่ครองคนนั้นไม่ได้ใช้อาวุธ หรืออยู่ในสภาพที่อันตรายต่อคนรอบข้าง)

ข้อมูล-ข้อมูล และ ข้อมูล

ให้ข้อมูลทุกอย่างที่มีประโยชน์ในแง่ทางเลือกและการช่วยเหลือแบบต่าง ๆ แต่อย่าทิ้งเอกสารข้อมูลหน่วยงานช่วยเหลือ วิธีหนีออกจากบ้าน หรืออะไรอื่น ๆ ที่เป็นสิ่งพิมพ์ไว้กับเพื่อน เพราะอาจทำให้คู่ครองนักซ้อมเห็นแล้วเกิดโมโหขึ้นมา ขอให้เคารพการตัดสินใจของเพื่อนว่าจะต้องทำอะไร ใช้ประโยคเหล่านี้ให้เป็น

ประโยชน์ในการปลอบใจเพื่อน

  • ฉันเป็นห่วงเธอจริงๆ
  • ขอให้รู้ว่าฉันจะอยู่ข้างเธอเสมอ ไม่ว่าเธอจะตัดสินใจอย่างไร
  • เธอไม่สมควรจะถูกกระทำอย่างนี้
  • ฉันจะให้ข้อมูลเหล่านี้ไว้กับเธอะ เผื่อว่าเธอต้องการใช้
  • ขอให้รู้ว่านี่ไม่ใช่ความผิดของเธอนะ
  • นั่นฟังดูเหมือนเป็นเรื่องที่จัดการยากมากๆเลย
  • ฟังดูเหมือนแฟนเธอชอบควบคุมบังคับมากๆเลย
  • เธอคิดว่าจะสามารถเป็นตัวของตัวเองได้หรือเปล่า
  • ฉันแค่อยากจะแน่ใจว่าเธอปลอดภัยดีนะ
  • เธอรู้สึกปลอดภัยหรือเปล่า
  • ขอบคุณมากที่ไว้ใจและเล่าเรื่องให้ฉันฟัง
  • ฉันรู้ว่ามันยากแค่ที่ไหนที่จะพูดเรื่องนี้

ความปลอดภัย

ความปลอดภัยต่อร่างกายและชีวิตเป็นความสำคัญเร่งด่วนอันดับแรก ถ้ามาดามเชื่อว่าเพื่อนตกอยู่ในอันตราย ก็ควรจะบอกเพื่อนเช่นนั้น และแนะนำให้เพื่อนวางแผนเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง ในกรณีฉุกเฉิน

ความเป็นส่วนตัว

เคารพความลับของเพื่อน และสัญญากับเพื่อนว่าจะไม่นำเรื่องไปเล่าต่อ อธิบายว่าคุณอาจจะต้องปรึกษาผู้รู้เพื่อหาทางช่วยเหลือเพื่อน โดยไม่บอกว่าเป็นเรื่องของใคร ผู้เสียหายควรได้รับข้อมูลและความช่วยเหลือโดยไม่ต้องบอกชื่อจริงก็ได้

เสริมความรู้ให้ตัวเอง

มาดามควรรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่เอารัดเอาเปรียบและมีการละเมิด มาดามควรรู้ว่า คนที่ทำร้ายคนอื่นนั้นมักจะยิ่งเพิ่มความก้าวร้าวอันตรายมากขึ้นเมื่อเวลายิ่งผ่านไป การทำร้ายร่างกายนั้นเป็น “การเลือกที่จะทำ” ไม่ใช่ผลของการดื่มเหล้าจนเมามายอย่างที่อ้าง ๆ กัน หรือจากการใช้ยาเสพติด ปัญหาการเงิน โรคซึมเศร้า ความหึงหวง หรือเพราะพฤติกรรมยั่วยุใด ๆ ของฝ่ายที่ถูกทำร้าย

การทำร้ายแล้วขอโทษ พร้อมสัญญิงสัญญาว่าจะไม่ทำอีกนั้น เป็นแค่คำพูดลอยลมที่ไม่เป็นจริง ถ้าหากมาดามต้องการรู้ว่าจะช่วยเหลือเพื่อนอย่างไร มาดามควรติดต่อหน่วยงานใกล้บ้านที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกทำร้ายในครอบครัว หรือโทรปรึกษาสายด่วน

ทำให้เพื่อนไม่รู้สึกว่าตัวคนเดียว ผู้หญิงนับล้านคนทุกกลุ่มอายุ ชาติพันธุ์ และศาสนา สามารถเจอเหตุการณ์ละเมิดในความสัมพันธ์ได้เสมอ จงช่วยทำให้พวกเธอไม่รู้สึกอ้างว้าง โดยการบอกว่าเธอจะมาพูดคุยกับคุณเมื่อไหรก็ได้ที่รู้สึกเหงาเศร้า

คำแนะนำที่ “ไม่มีประโยชน์” และอาจทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น

  • อย่าบอกเพื่อนว่าต้องทำอะไร หนีเมื่อไร หรือไม่ควรหนีเมื่อไร
  • อย่าบอกให้เพื่อนกลับไปสู่สถานการณ์เดิมและอดทนให้มากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา ·
  • อย่าคิดหาทางออกแบบรวบรัดโดยไม่คิดถึงการแก้แค้นที่อาจจะตามมา
  • อย่าแนะนำว่าตัวเองจะไปพูดกับคู่ครองเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหา
  • อย่านำตัวเองไปสู่อันตรายโดยการเผชิญหน้ากับผู้ละเมิด
  • อย่าแนะนำการปรึกษาคู่สมรสในกรณีที่มีการละเมิดทางกายและใจ สิ่งนี้จะเป็นอันตรายกับผู้ตกเป็นเหยื่อ และไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น
  • แนะนำให้มีการขอคำปรึกษาแยกจากกัน หากผู้ประสบเหตุต้องการเช่นนั้น

ทำให้เพื่อนไม่รู้สึกว่าตัวคนเดียว

ท้ายสุด คุณต้องทราบข้อเท็จจริงว่า ผู้หญิงนับล้านคนทุกกลุ่มอายุ ชาติพันธุ์ และศาสนา สามารถเจอเหตุการณ์ตบตีทำร้ายร่างกายได้ (และทำร้ายจิตใจได้เสมอ) ไม่เฉพาะผู้หญิงไทย สามีต่างชาติ เมื่อคุณต้องเจอเหตุการณ์โดยตรงหรือเมื่อเพื่อนมาขอปรึกษา จงทำให้เพื่อนที่เดือดร้อนไม่รู้สึกอ้างว้างไร้ทางไป โดยเปิดประตูใจของคุณไว้เสมอ บอกเพื่อนว่า เธอจะมาพูดคุยกับคุณเมื่อไหร่ก็ได้ที่รู้สึกเหงาเศร้า และไม่ปลอดภัย การเปิดประตูใจและอ้อมแขนของคุณจะมีค่ามากกว่าที่คุณคิด

Message us