Empathy กับ Sympathy

พักนี้เห็นคนแชร์และสรุปคำว่า Empathy กับ Sympathy กันถี่ ๆ เลยค่อนข้างประหลาดใจว่าอะไรทำให้หมู่มวลโลกโซเชียลสนใจคำสองคำนี้มากขึ้น ตัวผู้เรียบเรียงเองก็กำลังค้นคว้าเรื่องนี้อยู่พอดี เลยขอถือโอกาสมาขยายความเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย แต่จะเจาะลึกเพื่อคนทำงานและจิตอาสานำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย แม้จะไม่ใช่เรื่องยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้

แปลและเรียบเรียงโดย จ. ศรแก้ว

นิยามศัพท์

Empathy (เอม’พะธี) ได้รับการแปลเป็นไทยไว้หลายแบบ โดยอ้างอิงจากพจนานุกรรมออนไลน์ ได้ดังนี้

1. ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ความสามารถในการเข้าใจความยากลำบากของผู้อื่น [N] (NECTEC’s Lexitron-2)
2. ความร่วมรู้สึก [แพทยศาสตร์ ๖ ส.ค. ๒๕๔๔] (ราชบัณฑิตยสถาน)
3. อารมณ์ร่วม [TU Subject Heading] หรือ การสูญเสียสมารมณ์ [การแพทย์] (คลังศัพท์ไทย โดย สวทช.)
4. การเอาใจใส่ การหยั่งรู้ การใส่อารมณ์ ความร่วมรู้สึก [N] (HOPE Dictionary)
5. การเข้าถึงใจ (http://www.runwisdom.com/2017/06/empathy.html)

Sympathy (ซิมพะธี)
1. ความเห็นใจ ความเห็นอกเห็นใจ ความสงสาร [N] (NECTEC’s Lexitron-2)
2. ความมีใจเหมือนกัน ความเห็นพ้องต้องกัน การเข้าข้างกัน [N] (NECTEC’s Lexitron-2)
3. ความเห็นใจ [แพทยศาสตร์ ๖ ส.ค. ๒๕๔๔] (ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน)

จะเห็นได้ว่าสองศัพท์นี้มีความหลากหลายในภาษาไทย และบางคำก็พ้องกันมาก เช่น “อารมณ์ร่วม (empathy)” กับ “ความมีใจเหมือนกัน (sympathy)”

แต่ว่าเราจะไม่มาถกเรื่องนัยยะในสถานการณ์ต่าง ๆ ตามศัพท์บัญญัติกัน ผู้เรียบเรียงจะขออนุญาตสรุปบทความที่อธิบายสองคำนี้ไว้อย่างน่าอ่าน ดังต่อไปนี้ และจะขอคงคำศัพท์ภาษาอังกฤษไว้เพื่อป้องกันความสับสนระหว่างแปล

ที่มาของบทความ What is Empathy?

Empathy คืออะไร

ถ้ากล่าวอย่างง่าย ๆ ที่สุด Empathy คือความตระหนักที่คน ๆ หนึ่งมีต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่น ถือเป็นหนึ่งในคุณสมบัติหลักของผู้มีความฉลาดทางอารมณ์ (โปรดดูบทความที่เครือข่ายฯได้เรียบเรียงไว้ที่ ความฉลาดทางอารมณ์) นั้นคือมีการเชื่อมโยงระหว่างตัวเองและผู้อื่น เปรียบเสมือนว่าเราได้ “ร่วมรู้สึก” กับประสบการณ์ของคนอื่นราวกับว่านั่นคือความรู้สึกของเราด้วย

Empathy มีความหมายที่ลึกซึ้งกว่า sympathy เพราะเป็นการที่เรา “รู้สึกร่วม (feeling with)” โดยใช้จินตนาการช่วย แทนที่จะ “รู้สึกเพื่อ (feeling for)” คนอื่นเฉย ๆ

นิยามบางประการของคำว่า Empathy

empathy n. อำนาจที่จะเข้าถึงบุคลิกภาพของผู้อื่น และจิตนาการให้ตัวเองรู้สึกอย่างที่ผู้อื่นรู้สึก
Chambers English Dictionary, 1989 edition

“[Empathy คือ] ความตระหนักในความรู้สึก ความต้องการ และความกังวลของผู้อื่น.”
Daniel Goleman ในหนังสือ Working with Emotional Intelligence

“Empathy เป็นสัญชาติญาณ เป็นการหยั่งรู้ แต่ก็เป็นสิ่งที่เราทุกคนฝึกฝนได้โดยใช้สติปัญญา “
Tim Minchin

Daniel Goleman ผู้ประพันธ์หนังสือ Emotional Intelligence กล่าวว่า empathy โดยพื้นฐานแล้วคือ ความสามารถที่จะเข้าใจความอารมณ์ของผู้อื่น แต่ว่าเป็นความรู้สึกที่หยั่งลึกมากกว่าที่เราเข้าใจทั่วไป เพราะ empathy ครอบคลุมการตีความ ความเข้าใจ การตอบสนองต่อความกังวลและความต้องการของอีกฝ่ายที่เป็นเหตุให้ฝ่ายนั้นแสดงอารมณ์และปฏิกิริยาต่าง ๆ ออกมา

ส่วน Tim Minchin ให้ข้อสังเกตว่า empathy เป็นทักษะที่เราสร้างขึ้นได้ และเช่นเดียวกับทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคลทั้งหลาย “การร่วมรู้สึก” เป็นสิ่งที่เกิดได้อย่างเป็นธรรมชาติสำหรับคนส่วนใหญ่

องค์ประกอบของ Empathy

Daniel Goleman กำหนดให้ empathy มีคุณลักษณะห้าประการ
1. ความเข้าใจผู้อื่น
2. การพัฒนาคนอื่น
3. การมีจิตใจให้บริการ
4. การใช้ประโยชน์จากความหลากหลาย
5. ความตระหนักทางการเมือง

1. ความเข้าใจผู้อื่น (Understanding Others)

นี่คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็น ‘empathy’ ซึ่ง Goleman ขยายความว่า ผู้ที่ “รับรู้ความรู้สึกและมุมมองของผู้อื่น และมีความสนใจจริงต่อสิ่งที่อีกฝ่ายทุกข์ร้อน” จะแสดงออกมาโดย

• รับความรู้สึกที่แสดงออกมาเป็นนัยได้
• ตั้งใจฟัง ให้ความสนใจกับภาษาร่างกายของอีกฝ่าย
• ไวต่อสิ่งที่อีกฝ่ายแสดงออกโดยไม่รู้ตัว
• แสดงความอ่อนไหว เข้าใจมุมมองมุมคิดของอีกฝ่าย
• สามารถช่วยผู้อื่นให้เข้าใจความต้องการและความรู้สึกของตัวเอง

“อย่าวิจารณ์ใคร จนกว่าท่านจะบองใส่รองเท้าของอีกฝ่ายเดินไประยะหนึ่งแล้ว” ภาษิตอินเดียนแดงอเมริกัน

ทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ ถ้าคุณต้องการ บางคนอาจปิดเสาอากาศทางอารมณ์ของตนเพื่อไม่ให้ท่วมท้นด้วยความรู้สึกของอีกฝ่าย

ตัวอย่างเช่น บุคลากรทางการแพทย์ในสหราชอาณาจักรถูกติว่าไม่แสดงความใยดีต่อคนไข้ ความเป็นจริงอาจเป็นไปได้ว่า เจ้าหน้าที่ต้องรับรู้รับฟังและแบกปัญหาความเจ็บป่วยของคนไข้ไว้มากเกินกำลัง และไม่มีโอกาสผ่อนคลายอย่างเหมาะสม ทำให้ต้องปิดตัวเองจากการรับรู้ความทุกข์ของคนไข้ เพราะไม่เช่นนั้นพวกเขาอาจจะไม่สามารถรับได้อีกต่อไป

2. การพัฒนาผู้อื่น (Developing Others)

หมายถึงการสนองต่อความต้องการและความกังวลของอีกฝ่ายเพื่อช่วยให้ฝ่ายนั้นพัฒนาได้เต็มศักยภาพของตัวเอง บุคคลที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ มักจะ

• ให้รางวัลและชมเชยคนที่มีความเข้มแข็งและกระทำการได้สำเร็จ ให้คำแนะนำที่สร้างสรรค์เพื่อช่วยให้พัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น
• เป็นพี่เลี้ยง ให้กำลังใจ ให้อีกฝ่ายพัฒนาได้จนเต็มศักยภาพ
• ให้โจทย์ที่ใช้เวลาทำร่วมกัน เพื่อพัฒนาการทำงานเป็นทีม

3. ความมีจิตใจให้บริการ (Having a Service Orientation)

แต่ก่อน อุปนิสัยนี้เป็นที่ต้องการของสถานประกอบการต่าง ๆ การมีจิตใจให้บริการหมายถึงการให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าเป็นอันดับแรก และมองหาช่องทางต่าง ๆ ที่จะเพิ่มความพอใจและความซื่อสัตย์ของลูกค้าให้กลับมาให้บริการขององค์กรอีกเรื่อย ๆ

คนที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ “จะไปได้ไกล” ในการทำงานกับลูกค้า พวกเขาเข้าใจความต้องการของผู้มาใช้บริการ และจะช่วยให้ลูกค้าได้ในสิ่งที่ต้องการโดยไม่เกรงต่อความเหนื่อยยาก

ด้วยวิธีนี้ พวกเขาก็จะกลายเป็น ‘ที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้’ สำหรับลูกค้า และช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่างลูกค้าและบริษัท ไม่ว่าจะในสาขาอุตสาหกรรมใดและในสถานการณ์ใด

กรณีตัวอย่างบริษัท Mercedes Benz – เลิกสนใจความพอใจของลูกค้า
________________________________________
บริษัท Mercedes-Benz ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก ไม่สนที่จะเอาใจลูกค้าอีกต่อไป

แต่…นี่ไม่ได้หมายความว่าทางบริษัทไม่เห็นความสำคัญของลูกค้า แต่ตรงกันข้ามเลยว่า บริษัทใส่ใจกับการทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่ จนแค่คำว่า “ความพอใจ” นั้นยังน้อยไป บริษัทต้องการให้ลูกค้ารู้สึกเบิกบานยินดีที่ได้ใช้บริการของ Mercedes

ประธานบริษัทและ CEO เชื่อว่าการนำพนักงานมามีส่วนร่วมในเป้าหมายนี้สำคัญมาก ตัวอย่างเช่น การสำรวจของบริษัทพบว่า พนักงานถึง 70% ไม่เคยขับรถยนต์ Mercedes เลย ทางบริษัทจึงให้พนักงานได้ลองขับขี่รถเมอร์ซิเดส เพราะจะได้ประสบการณ์จริง และสามารถอธิบายให้กับลูกค้าอย่างมีอารมณ์ร่วม และทำให้พนักงานเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น

ยังมีสถานการณ์ที่ไม่เกี่ยวกับโลกของการทำงานที่จะช่วยให้เรา “ช่วยเหลือ” ผู้อื่นได้ในวิธีเดียวกัน นั่นคือ ทำให้ความต้องการของอีกฝ่าย “เป็นศูนย์กลาง” เพื่อทำให้เราวิเคราะห์สถานการณ์ได้ต่างมุม และอาจจะให้ความช่วยเหลือและบริการที่เป็นประโยชน์มากขึ้น

4. การใช้ประโยชน์จากความหลากหลาย (Leveraging Diversity)

การใช้ประโยชน์จากความหลากหลายนี้หมายถึงความสามารถในการสร้างและพัฒนาโอกาสต่าง ๆ โดยผ่านคนหลาย ๆ รูปแบบ ยอมรับและแสดงความยินดีที่แต่ละคนได้นำความแตกต่างมาผนึกกำลังกัน

การใช้ความแตกต่างให้เป็นประโยชน์นี้ไม่ได้หมายความว่า คุณปฏิบัติต่อทุกคนในแบบเดียวกัน แต่คุณปรับวิธีการสื่อสารกับแต่ละคนให้เหมาะกับความต้องการและความรู้สึกที่ต่างกันไป

บุคคลที่มีทักษะเช่นนี้จะเคารพและเชื่อมโยงกับทุกคนได้ดี ไม่ว่าใครจะมีความเป็นมาเช่นไร กฎโดยทั่วไปคือ คนเหล่านี้มองว่าความหลากหลายคือโอกาส เข้าใจว่าทีมงานที่แตกต่างจะทำงานร่วมกันได้ดีกว่าทีมงานที่มีพื้นฐานเดียวกัน

บุคคลที่เก่งเรื่องบริหารความแตกต่างนี้จะท้าทายต่อความใจแคบ อคติ และการมองอย่างเหมารวม และจะสร้างบรรยากาศที่ทำให้ทุกคนมีความเคารพในความแตกต่างของกันและกัน

อันตรายของการมองอย่างเหมารวม (Stereotyping)

Claude Steele นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ได้ทำแบบทดสอบออกมาชุดหนึ่งเกี่ยวกับการมองแบบเหมารวม เขาได้ถามชาย-หญิงสองกลุ่มให้ทำแบบทดสอบคณิตศาสตร์ กลุ่มแรกถูกบอกว่า ผู้ชายส่วนใหญ่ทำข้อสอบเก่งกว่าผู้หญิง แต่ไม่มีการบอกอะไรกับกลุ่มที่สอง
ในกลุ่มแรก ผลออกมาว่าผู้ชายทำคะแนนได้ดีกว่าผู้หญิงมาก แต่ในกลุ่มที่สองคะแนนออกมาไล่เลี่ยกัน
Steele สรุปจากการทดลองนี้ว่า การที่มีใครใส่ความคิดตายตัวให้กับเรา จะทำให้เกิดการกระตุ้นศูนย์กลางอารมณ์ในสมองของเรา เป็นผลให้ผู้หญิงรู้สึกวิตกกังวล จึงทำให้ผลสอบออกมาไม่ดี สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงอันตรายของการมองแบบเหมารวม และผลลบที่อาจเกิดขึ้นกับสมรรถภาพด้านต่าง ๆ

5. ความตระหนักทางการเมือง (Political Awareness)

คนจำนวนมากมองว่าความรู้ทาง “การเมือง” เป็นทักษะของคนที่ชอบชักจูงคนอื่น แต่ในความหมายที่บวกที่สุดแล้ว “การเมือง” หมายถึงการสัมผัสและตอบสนองต่อคลื่นกระแสอารมณ์และความสัมพันธ์เชิงอำนาจของกลุ่ม ๆ หนึ่ง
การมีสำนึกทางการเมืองสามารถช่วยให้บุคคลจำนวนมากเดินไปปรับตัวให้เข้ากับความสัมพันธ์เชิงองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จในสิ่งที่คนอื่นอาจจะทำพลาดมาก่อน

นักจิตวิทยาระบุว่ามี empathy อยู่สามแบบ
1. Cognitive empathy คือ การเข้าใจความคิดและอารมณ์ของอีกฝ่ายอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าโดยใช้อารมณ์เป็นเครื่องวัด
2. Emotional empathy หรือเรียกอีกอย่างว่า การจับอารมณ์ เป็นการ “จับ” ความรู้สึกของอีกฝ่ายได้ หรือว่าง่าย ๆ คือ คุณรู้สึกแบบที่อีกฝ่ายรู้สึก
3. Compassionate empathy คือ การเข้าใจความรู้สึกของอีกคนและทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อจะช่วยเหลือคน ๆ นั้น

การเข้าถึง Empathy

ไม่ใช่เรื่องง่ายหรือเป็นไปได้เสมอไปที่เราจะเข้าถึงใจหรือร่วมอารมณ์ของอีกฝ่าย แต่บุคคลที่มีทักษะและจินตนาการก็อาจจะพัฒนาความเห็นอกเห็นใจอย่างลึกซึ้งชนิดนี้ได้

มีงานวิจัยที่พบว่า บุคคลที่เข้าถึงจิตใจผู้อื่นมักจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกว่ากับคนอื่น ๆ และมีชีวิตที่ปกติสุขไปจนสิ้นอายุขัย

ผมคิดว่าเราควรพูดถึงความขาดแคลนการร่วมรู้สึก – ความสามารถที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรา มองโลกด้วยสายตาของผู้อื่นที่แตกต่างจากเรา – เด็กที่หิวโหย คนทำงานเหมืองเหล็กที่ถูกปลดจากงาน ครอบครัวที่สูญเสียไม่เหลืออะไรจากพายุที่กวาดไปทั้งเมือง เมื่อเราทุกคนคิดเช่นนี้ เมื่อเราเลือกที่จะขยายความห่วงใยและความร่วมรู้สึกของเราไปกับความทุกข์ยากของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหาย หรือคนแปลกหน้าโดยสิ้นเชิง เมื่อนั้นเราจะพบว่า การไม่ทำอะไรเพื่อช่วยเหลือคนอื่นจะกลายเป็นสิ่งที่ยากสำหรับเรา

Barrack Obama ปี ค.ศ. 2006

ความร่วมรู้สึกหรือการเข้าถึงใจ (Empathy) ความเห็นอกเห็นใจ (Sympathy) และความเมตตากรุณา (Compassion)

ที่มา What is Sympathy?

สามคำที่ได้ยินบ่อย แต่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจ เป็นเรื่องความรู้สึก สำหรับ คน ๆ หนึ่ง ได้มองเห็นความเจ็บปวดเศร้าเสียใจของคน ๆ นั้นและตระหนักว่า เขาหรือเธอกำลังได้รับความทุกข์ รากของคำสองคำนี้เหมือนกัน แม้ว่าการกระทำจะต่างกันอยู่บ้าง

ในส่วนของความร่วมรู้สึก จะตรงกันข้าม เพราะเป็นการสัมผัสความรู้สึกเหล่านั้นด้วยตัวคุณเอง เสมือนกับว่าคุณเป็นคน ๆ นั้นโดยใช้พลังของจินตนาการ

Sympathy มาจากรากศัพท์ภาษากรีกว่า syn ซึ่งหมายถึง with (ด้วย) และ pathos (ความทุกข์)

Compassion มาจากรากศัพท์ภาษาลาติน ว่า com ซึ่งหมายถึง with (ด้วย) และ passus (ทุกข์)

อีกนัยหนึ่ง sympathy และ compassion มีรากศัพท์เดียวกัน แต่มาจากคนละภาษา

Empathy มาจากภาษากรีกเช่นกัน จากคำว่า en ซึ่งหมายถึง in (ใน) และคำว่า pathos (ความทุกข์) ซึ่งมีสัมผัสที่ชัดกว่าในด้านประสบการณ์

Sympathy หรือ compassion คือความรู้สึกที่เรามี สำหรับ คนอื่น ส่วน empathy คือ การร่วมรู้สึก กับ คนอื่น ราวกับว่าเราเป็นคน ๆ นั้น โดยใช้จิตนาการช่วย

แต่ Compassion มีความแตกต่างจากอีก Sympathy Emphaty คือ จะมีการกระทำ(เพื่อช่วยเหลือ)เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น บริจาคเงิน หรือสละเวลาให้

ส่วน Sympathy มักจะเริ่มและจบด้วย “การแสดงความเห็นอกเห็นใจ” เท่านั้น

แล้ว Sympathy คืออะไร

Sympathy หรือความสงสารเห็นใจ คือ ความรู้สึกแย่เมื่อเห็นสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นกับคนอื่น
เราพูดถึงความเห็นอกเห็นใจกันบ่อย ๆ เมื่อมีคนเสียชีวิต หรือเมื่อบางสิ่งที่เลวร้ายเกิดขึ้น โดยเรามักพูดว่า “ช่วยแสดงความเห็นใจให้พวกเขาด้วย” หรือ “ฉันเข้าใจความรู้สึกของพวกเขา”

สาเหตุของ Sympathy

การที่เราจะเห็นอกเห็นใจใครสักคนได้นั้น จะต้องมีเหตุปัจจัยหลายอย่างประกอบเข้าด้วยกัน

• คุณมีความสนใจให้คนอื่น หากคุณเป็นว้าวุ่นอยู่ตลอดเวลาก็จะเป็นข้อจำกัดไม่ให้คุณรู้สึกเห็นอกเห็นในคนอื่นได้

• อีกฝ่ายต้องดูเหมือนมีความต้องการอะไรบางอย่าง ระดับความยากลำยากของอีกฝ่ายเป็นการกำหนดระดับความเห็นอกเห็นใจที่เรามีให้ อย่างเช่น คนที่ขาถลอกย่อมได้รับความเห็นใจน้อยกว่าคนที่ขาหัก

• เรามักเห็นใจกับคนที่ได้รับความเดือดร้อน “อย่างไม่สมควร” เด็กที่วิ่งหกล้มเองจะได้รับการโอ๋มากกว่าเด็กที่หกล้มจากการทำในสิ่งที่ถูกห้าม

Sympathy ในงานพยาบาล
คนเรามีแนวโน้มจะเห็นใจคนที่เจ็บป่วยอย่างไม่สมควรมากกว่าคนที่เรารู้สึกว่า “ทำตัวเอง” เช่น บุคลากรในสถานพยาบาลอาจไม่ค่อยเห็นใจคนที่เป็นโรคเพราะแนวทางการใช้ชีวิตที่ไม่สมดุล เช่น คนเป็นโรคอ้วนเพราะกินมากไป คนเป็นโรคปอดเพราะสูบบุหรี่ แต่จะเห็นใจคนที่เป็นโรคปอดจากการสูดดมควันบุหรี่ของคนอื่นมากกว่า
ดังนั้น ผู้ทำงานด้านสงเคราะห์จึงต้องระวังความรู้สึกลำเอียงเหล่านี้ให้ดี เพราะอย่างน้อยเราทุกคนก็คือมนุษย์ที่สมควรได้รับการเยียวยาและความช่วยเหลือในเวลาที่เจ็บป่วยสิ้นหวังเหมือน ๆ กันทุกคน

ความเห็นอกเห็นใจตามสภาวะ

เรามักเห็นอกเห็นใจคนที่อยู่ร่วมเขตพื้นที่เดียวกันมากกว่าคนที่อยู่ในอีกซีกโลกหนึ่ง เรียกว่า spatial proximity (ความใกล้ชิดทางพื้นที่)

และเรายังมีความสงสารคนที่มีสภาพเหมือนเรามากกว่าคนที่ต่างจากเรา เรียกว่า social proximity (ความใกล้ชิดทางสังคม)

นอกจากนั้น เรายังให้ความเห็นใจคนที่ประสบเหตุการณ์ยากลำบากเหมือนที่เราเคยประสบ

อย่างไรก็ตาม การรับรู้เรื่องเดียวกันเหตุการณ์เดียวกันซ้ำ ๆ ก็จะทำให้ระดับความเห็นใจลดลง อย่างเช่น ครั้งแรกที่เราได้เห็นภาพเหตุการณ์แผ่นดินไหว เราจะอยากบริจาคเงินช่วยเหลือ แต่หากมีเหตุการณ์ซ้ำตามมาอีกสองสามวัน เราก็จะรู้สึกร่วมน้อยลง ปรากฏการณ์นี้มีชื่อว่า compassion fatigue (ความเหนื่อยล้าจากความสงสาร)

วิธีแสดงความเห็นอกเห็นใจ

เนื่องจากความเห็นใจมักเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ร้าย ๆ เช่น มีคนเสียชีวิต การแสดงความเห็นใจจึงมักทำผ่านบุคคลที่สามบ่อยครั้ง

แม้จะเป็นการแสดงความเห็นใจเสียใจอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้สูญเสียรู้สึกดีขึ้นได้

เราอาจแสดงความเห็นใจได้ทั้งคำพูดและการกระทำ เช่น
• บอกว่าเราเสียใจกับสิ่งที่อีกฝ่ายต้องเผชิญ
• ส่งการ์ดแสดงความเสียใจ
• แตะบ่าของอีกฝ่ายเบา ๆ ในงานศพ (น่าจะเป็นธรรมเนียมฝรั่งมากกว่าไทย)
• จับแขนของอีกฝ่ายเมื่อฝ่ายนั้นบอกข่าวร้ายให้ทราบ
• พูดเสียงเบาลง

ผู้เรียบเรียงหวังว่าเพื่อนจิตอาสาจะสามารถนำชุดความรู้เหล่านี้ไปปรับใช้ในการทำงานได้ตามความเหมาะสม

หากมองกลับมาทางพุทธ การมี Sympathy และ Empathy ก็คงเปรียบเหมือนการมีพรหมวิหารสี่ อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นั่นเอง

Cover photo credit
Message us