จิตอาสามือใหม่กับพี่แพท

สรุปการบรรยาย โดย พี่แพท (ประไพรัตน์ มิกซ์)

เพื่อสมาชิกเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป และ ผู้สนใจ

วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๐๒๐

อาสาสมัคร (Volunteer) คืออะไร

หมายถึงผู้ที่สมัครใจและอาสาเข้ามาเพื่อช่วยเหลือเยียวยาและทำงานที่เป็นประโยชน์แก่สังคมและผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก เพื่อช่วยเหลือดูแลแก้ไขปัญหาโดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นเงิน หรือสิ่งอื่นใด

คุณลักษณะของอาสาสมัคร คือ มีความคิดเป็นอิสระ ในการเลือกที่จะทำตามความสนใจและพรสวรรค์ มีความรับผิดชอบต่อสังคม และไม่ใช่งานที่ต้องทำโดยหน้าที่

ใครที่ต้องการเป็นอาสาสมัครต้องมีใจรักและมีจิตใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่นรวมทั้งยอมเสียสละเวลาโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ

ผลตอบแทนที่ได้รับคือความสุข ความภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์แก่สังคมและผู้อื่น

จิตอาสา (Volunteer Spirit)

จิตอาสา หมายถึงจิตแห่งการให้ โดยเต็มใจจะช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่คิดค่าตอบแทน ยอมสละเวลา ทรัพย์สินเงินทองและกำลังกายเพื่อกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

จิตอาสา เป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมเหตุการณ์สึนามิที่เกิดในภาคใต้ของประเทศเมื่อปลายปี ค.ศ. ๒๐๐๔ เป็นการอาสาสมัครเพื่อสร้างจิตสำนึกใหม่ จึงเป็นที่มาของคำว่า จิตอาสา หรือ Volunteer spirit หรืออาจพูดได้ว่าเป็นอุดมการณ์หรือสำนึกของอาสาสมัคร

ปัจจุบันมีการใช้คำว่า”อาสาสมัคร” และ ”จิตอาสา” ในลักษณะที่เสมือนหนึ่งเป็นคำเดียวกัน ซึ่งคำว่า

“จิตอาสา” นี้อาจเทียบได้กับคำว่า “อุดมการณ์อาสาสมัคร” หรือ “สำนึกอาสาสมัคร” ที่เคยเรียกกันมา

จิตสำนึกสาธารณะ (Public Consciousness)

จิตสำนึกสาธารณะ เป็นคุณสมบัติของจิตใจที่จะรักษาสิ่งที่เป็นของส่วนรวม ซึ่งรวมไปถึงการใช้และรักษาสิ่งของที่เป็นของส่วนรวม เช่น รักษาความสะอาด การทิ้งขยะ มีหลายระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน และ สังคม

การเริ่มต้นเป็นจิตอาสา

ต้องเริ่มจากตัวเอง ตั้งใจทำงาน สร้างความสุขในครอบครัว ถ้าเรามีความสุข เราก็ไปช่วยคนอื่นได้ มีความรับผิดชอบต่อบุคคลอื่น ไม่เอาเปรียบ รักษาสิทธิซึ่งกันและกัน ทำตามระเบียบสังคม ทำตามกฎหมาย

ถ้าเราได้รับการอบรมแต่ไม่ปฏิบัติ จิตสาธารณะก็ไม่เกิด ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนจึงสำคัญต่อการมีจิตอาสา หรือจิตสาธารณะเป็นอย่างยิ่ง

คำนิยาม เป็นคำพูดที่สวยหรู แต่การปฏิบัติจะเป็นไปได้เพียงใด ขึ้นอยู่กับตัวเรา

สิ่งที่จิตอาสาควรรู้

ในกรณีที่ต้องการทำงานจิตอาสาที่ต้องให้คำแนะนำปรึกษาช่วยเหลือแก่ผู้มืปัญหา กฏหมายสำคัญที่เราต้องเรียนรู้ คือ กฎหมายครอบครัว (Family Law) กฎหมายการเข้าเมืองหรือว่าด้วยคนต่างด้าว (Immigration Law) และ กฎหมายสังคม (Social Law)

กฎหมายครอบครัว เช่น การแต่งงาน การหย่าร้าง อำนาจปกครองบุตร ค่าเลี้ยงดู ฯลฯ

กฎหมายว่าด้วยคนต่างด้าว – สิทธิพำนัก วีซ่า มีข้อปลีกย่อยมาก ๆ วีซ่าทำงาน การถูกเนรเทศ การอยู่แบบผิดกฎหมาย ฯลฯ กฎหมายพวกนี้สำคัญ สถานทูตไทยสามารถให้คำตอบได้ในบางข้อ

กฏหมายทางสังคม เช่น การขอเงินตกงาน เงินประกันสังคม เงินเจ็บปวย ฯลฯ

นอกจากนั้น ต้องมีความรู้ทางด้านภาษาท้องถิ่น (ประเทศที่เราพำนักอยู่) เป็นอย่างดี เพราะผู้หญิงจำนวนมากไม่สามารถกรอกข้อความในเอกสารได้เพราะอ่านไม่ออก เราสามารถช่วยกรอกเอกสารหรือไปเป็นล่ามแปลได้ โดยเฉพาะเวลาไปติดต่อกับหน่วยราชการที่ต้องใช้ภาษาของเขา

ถามว่าอาสาสมัครต้องรู้ขนาดนี้เชียวหรือ

ถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช่นักกฏหมาย แต่เราต้องเรียนรู้ที่จะตอบคำถามจากปัญหาเหล่านี้ คนที่จะทำงานด้านนี้ต้องรู้ และ รู้จริง ไม่เช่นนั้นจะให้ข้อมูลผิดพลาด

เราเรียนรู้ได้โดยเปิดอ่านคู่มือต่าง ๆ จากการอบรมหรือผู้รู้ หรือ อ่านข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต (ควรเป็นข้อมูลจากหน่วยงานราชการจริง ๆ ไม่ใช่ถาม-ตอบจากในบล๊อกหรือเว็บไซต์ทั่วไปที่บางครั้งเป็นการพูดคุยจากประสบการณ์ของตัวเอง) และไม่ควรเอาคำแนะนำมาบอกต่อโดยอ้างจากข้อมูลของคนอื่น

แม้แต่คนที่ทำงานมานานหรือเป็นเป็นอาชีพ หากมีข้อมูลที่ไม่แน่ใจ แม้จะเป็นเรื่องเดิม ๆ ก็ยังต้องคุยกับทนายหรือหน่วยงาน เพราะถ้าเราให้ข้อมูลผิด จะเป็นการทำร้ายผู้มาขอความช่วยเหลือจากเรา

งานจิตอาสาที่ทำได้ในยุโรป

สำหรับคนใหม่ ๆ ที่ต้องการเริ่มต้นงานแบบ ”จิตอาสา” ต้องถามตัวเองว่าต้องการทำอะไร มีพรสวรรค์ด้านไหน และจะรู้ได้อย่างไรว่าในประเทศที่เราพำนักอาศัยอยู่นั้น มีสมาคมอะไรบ้างและแต่ละสมาคมหรือชมรมเขาทำอะไร เราสามารถเปิดหาได้ในอินเตอร์เนท สอบถามจากเพื่อนหรือผู้ที่อยู่มานานในประเทศนั้น หรือโทรศัพท์สอบถามที่สถานทูตไทย เพราะสมาคมส่วนใหญ่มักจะประสานงานกับสถานทูตไทย

อย่าไปเป็นจิตอาสาในงานที่ไม่ถนัดและไม่ชอบ

ในยุโรปมีงานทางด้านสังคมมากมายที่มีคนต้องการขอความช่วยเหลือ เพราะในหลายประเทศไม่ได้มีสำนักงานให้คำแนะช่วยเหลือที่มีเจ้าหน้าที่คนไทยทำงานให้คำปรึกษาปัญหาครอบครัว ปัญหาเรื่อง

วีซ่า ฯลฯ ดังนั้น จึงมีจิตอาสาที่ทำงานเป็นล่าม หรือช่วยพาผู้มีปัญหาไปสถานที่ราชการ

จิตอาสาที่จะทำงานด้านนี้ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านภาษา (ท้องถิ่น) อย่างดีและสามารถตอบปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วย

ส่วนงานสมาคมด้านวัฒนธรรมก็มีมากมายหลายประเภท สมาคมที่ทำงานเผยแพร่วัฒนธรรมไทย เช่น การสอนรำไทย แกะสลัก สอนทำอาหาร สอนมวยไทย ฯลฯ หรือทางด้านศาสนา การช่วยงานในวัดก็เป็นงานอาสาสมัครจิตอาสาทั้งสิ้น เช่น มีการเปลี่ยนเวรกันไปทำอาหารถวายแก่พระสงฆ์ในวัดไทยต่าง ๆ งานทำบุญตามประเพณี ทำอาหารแจกในวันบุญ (โรงทาน) ทุกคนทำโดยไม่หวังผลกำไร

งานครูอาสา การสอนภาษาไทยให้เด็ก (ลูกครึ่ง ลูกไทย) งานครูอาสาเป็นการรักษาวัฒนธรรม รักษาความเป็นไทยของเรา งานครูเป็นงานหนัก การสอน ต้องทุ่มเท ต้องเตรียมตัว ขอชื่นชมผู้ทำงานสอนเด็ก ๆ และขอชื่นชมจิตอาสาต่าง ๆ ทั้งหลายเหล่านี้

” เครือข่ายหญิงไทยในยุโรป” ก็เป็นหนึ่งในสมาคมที่มีอาสาสมัครและจิตอาสาก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือหญิงไทยและคนไทยในยุโรป ประสานงานที่จัดให้ความรู้ ให้ข้อมูล จัดสัมมนา เวิร์คช้อป จัดพิมพ์วรสาร เว็บไซต์ ฯลฯ แต่ก่อนที่จะมาเป็นอย่างทุกวันนี้ อาสาสมัครหรือจิตอาสาทั้งหลายก็ได้ฝ่าฟันอุปสรรคการทำงานมาหลายปี สละแรงงาน แรงใจและกำลังทรัพย์เพื่อให้มีวันนี้ จนมีสมาชิกหลากหลายประเทศในยุโรปและประเทศไทย

คำถาม-คำตอบ

คำถามที่ ๑ ”พี่แพทเข้ามาทำงานจิตอาสาได้อย่างไร”

คำตอบ “เริ่มมาเรียนภาษาเยอรมันที่สำนักงาน Amnesty for Women และได้ช่วยงานเป็นอาสาสมัคร โดยเป็นล่ามภาษาไทย ทำสตรีทเวิร์ค (เยี่ยมหญิงไทยที่ทำงานขายบริการในสถานที่ทำงาน) ต่อมาได้เริ่มทำงานเป็นนักพัฒนาสังคมที่นี่ Amnesty for Women เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ไม่มีความเกี่ยวข้ององค์กร Amnesty International แต่อย่างใด มีสำนักงานในเมืองแฮมเบิร์ก เยอรมนี เท่านั้น ไม่มีสาขา”

คำถามที่ ๒ “ทำอย่างไรเราจะดึงคู่สมรสหรือเพื่อนฝูงให้มีจิตอาสาเหมือนกัน”

คำตอบ “งานจิตอาสาไม่ใช่หน้าที่ ขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมหรือเปล่า เราเลือกตาม “พรสวรรค์” และ “ความสนใจ” ถ้าเราชอบทำงานเย็บปักถักร้อย แล้วไปทำงานด้านกฎหมายที่เราไม่ถนัด ก็จะไม่มีความสุข นี่เรียกว่ายังไม่ใช่

คู่สมรสหรือคนข้างกายย่อมมีความสำคัญแก่งานอาสาสมัครเหล่านี้ ควรเล่าให้เขาฟังและขอการสนับสนุน (ที่บางครั้งอาจจะเป็นกำลังทรัพย์ หรือบางครั้งคือเวลาของครอบครัว) เมื่อคนใกล้ตัวเข้าใจ การทำงานอาสาสมัครก็จะประสบความสำเร็จ หรือการชักชวนเพื่อนที่มีความต้องการจะช่วยเหลือสังคมเข้ามาช่วยกัน

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเอง บังคับกันไม่ได้ ถ้าใจไม่พร้อม ก็คงไม่เริ่มทำ ดังนั้น กำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ สำคัญมาก ”

คำถามที่ ๓ “การอยู่ในกลุ่มคนที่มีจิตอาสา จะช่วยเราพัฒนาตัวเองได้หรือไม่”

คำตอบ “อยู่กับคนที่มีจิตอาสาช่วยให้เราพัฒนาตัวเองได้ เช่น การเริ่มต้นของเครือข่ายฯ ถ้าเราอยู่ในกลุ่มคนที่จับมือเดินทางไปด้วยกัน เราจะเดินไปข้างหน้าด้วยกัน ตัวอย่าง เช่น การก่อตั้ง ”เครือข่ายหญิงไทยในยุโรป” พวกเราจิตอาสาใช้เวลาสามปีเต็ม ๆ ที่ประชุมหารือ ถกเถียง รวบรวมความคิดของคนในกลุ่ม ไม่มีใครเป็นผู้นำ แต่ในที่สุด เราต้องยอมรับความคิดที่เป็นแนวทางเดียวกัน จุดมุ่งหมายเดียวกัน ใครจะนำหรือตามก็ได้ ดังนั้น การอยู่ในกลุ่มที่ทำงานจิตอาสา ย่อมเกิดพัฒนาการในความคิดและการช่วยเหลือสังคมไม่ว่าทางใดทางหนึ่งอย่างแน่นอน”

คำถามที่ ๔ “ถ้าอยากเป็นจิตอาสา แต่ไม่มีกำลังทรัพย์ทำอย่างไร”

คำตอบ “มันมีหลายรูปแบบ งานบางอย่างไม่ต้องใช้เงินด้วยซ้ำ งานบางอย่างเราอยากช่วย แต่ไม่มีทุนทรัพย์ เช่น ต้องเดินทางข้ามเมือง เราไม่มีรถส่วนตัว เราต้องออกไปช่วยคนที่เดือดร้อน เราสามารถบอกกับเขาได้เลยว่า เราไม่มีเงินค่ารถ ถ้าเขาเสนอว่า ออกค่าเดินทางให้ ถือว่าเราไม่ได้รับเงิน ไม่ใช่ค่าตอบแทน มันอยู่ที่กรณีของการช่วยเหลือ หรือการทำงาน”

คำถามที่ ๕ “จะรู้ได้อย่างไรว่าเราทำงานมาถูกทาง”

คำตอบ “ถ้าเราไปช่วยใครแล้ว เรากลับบ้าน เรามีความสุข ปลื้มปริ่ม นี่คือการที่เรามาถูกทาง แต่เมื่อไรกลับมาบ้านแล้วเครียด ช่วยไม่ได้ดังใจ นอนไม่หลับ รู้สึกผิด หมกหมุ่น นั่นหมายความว่า เรามาผิดทางแล้ว”

คำถามที่ ๖ “ทำอย่างไรจะมีไฟไปเรื่อย ๆ”

คำตอบ “ถ้าต้องมีอะไรมากระตุ้นให้เราทำ แสดงว่าเรายังไม่พร้อมจริง ๆ ที่จะทำ เราต้องถามตัวเองว่า “เราพร้อมหรือยัง” “เราพร้อมแค่ไหน” เช่น รับปากว่าจะไปเป็นครูอาสา แล้วเกิดไม่อยากไป ทำอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าไปสอนแล้วไม่มีความสุข หมดแรง ไม่มีไฟ ต้องบอกเพื่อนร่วมงานว่า จะสอนไปอีกกี่ครั้ง ไม่ใช่ว่าสอนแล้วเบื่อ ก็ไม่ไป ถือว่าขาดความรับผิดชอบ    

ไม่ว่าจะทำงานอาสาอะไร เราต้องพร้อม เมื่อกายพร้อม ใจก็พร้อม ไฟในการทำงานก็มี ทำให้สนุกในการทำงานช่วยเหลือ”

คำถามที่ ๗ “ถ้าเกินขอบเขต เกินกำลัง เราจะทำอย่างไร”

คำตอบ “อย่าลืมบอกผู้ที่มาขอความช่วยเหลือว่า เราทำได้แค่ไหน ทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ครอบคลุมไปทุกอย่าง การช่วยเหลือต้องมีขอบเขต เราต้องตระหนักว่า เราทำงานแบบ ”จิตอาสา” ผู้ได้รับความเดือดร้อนบางคนต้องการเข้าถึงเราทุกเวลาแม้ว่าในเวลาพักผ่อนหรือเสาร์อาทิตย์ เราต้องสร้างเกราะป้องกันตัวเองด้วย บอกให้เขาทราบว่า เขาสามารถติดต่อเราในเวลาใด ช่วงไหน เราต้องใจแข็ง ถ้าเราใจอ่อน ผลลัพท์จะมาตกที่เราเอง เราจะเกิดอาการเครียด เพราะถูกรบกวนในเวลาที่เราต้องการพักผ่อน”

คำถามที่ ๘ “ถ้าเขาไม่ทำตามที่เราเสนอ ไม่เคยขอบคุณ จะทำอย่างไร”

คำตอบ “ต้องยอมรับมัน เขาไม่ขอบคุณ ก็ไม่ต้องเสียใจ ถ้าคิดว่าเราทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องทำ ทำแล้วเกิดความเครียด อย่าทำ เราอยากช่วยสังคม พอเราช่วยแล้วโดนต่อว่าเพราะเขาไม่ถูกใจ ไม่พอใจ กลับมาถามตัวเองว่าทำอะไรผิด ถ้าเราออกมาจากบ้าน จากความสะดวกสบายของเรา เพื่อทำงานจิตอาสา  เราเสียสละ เราต้องทำใจ

การช่วยเหลือต้องเป็นแบบช่วยกันทั้งสองฝ่าย เขาเองก็ต้องช่วยตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง เราต้องช่วยแบบประคองข้าง ๆ ไม่ต้องอุ้ม เราต้องทำให้เขาเข้มแข็ง อาสาสมัครอาจต้องไปเรียนด้านการให้กำลังใจบ้าง ถึงแม้เราไม่ใช่นักจิตวิทยาแต่เราสามารถให้กำลังใจใครได้ เราให้ข้อมูลต่าง ๆ เอามาประกอบเป็นทางเลือกให้แก่เขา เราต้องบอกข้อดีและข้อเสียของข้อมูลที่เราให้ไปสำหรับให้ผู้ขอคำปรึกษา แต่เขาต้องตัดสินใจเอง เราไปตัดสินใจแทนไม่ได้ เขาไม่ขอบคุณ ก็ไม่เป็นไร”

คำถามที่ ๙ “ถ้าอาสาสมัครคิดว่าตัวเองรู้แล้ว สามารถช่วยคนอื่นได้ ไม่ต้องไปพึ่งคนอื่น”

คำตอบ “ขนาดคนทำงานมา ๓๐ ปี ยังแก้ปัญหาไม่ได้ทุกข้อ คนเราไม่มีใครรู้ไปหมดทุกอย่าง การเรียนรู้ไม่มีวันจบ กฎหมายหรือข้อบังคับต่าง ๆ ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงเกือบทุกปี”

คำถามที่ ๑๐ “บางคนเล่าเรื่องเข้าข้างตนเอง ไม่เล่าทั้งหมด เราอาจวิเคราะห์ผิดพลาด เราจะรู้ได้อย่างไร”

คำตอบ “การให้ข้อมูลไม่หมดเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่เห็นมาบ่อย หลายคนยังไม่ไว้ใจเรา ถ้าเขาบอกเราไม่หมด ให้ข้อมูลมาไม่หมด ก่อนอื่นเราต้องจดข้อมูลแล้วเอามาวิเคราะห์ เราจะบอกเขาว่า จะช่วยเหลือตามข้อมูลที่ให้มา เราช่วยตามนี้

สำหรับมือใหม่จะตื่นตระหนกไปกับเรื่องที่เขาเล่า คนที่มีประสบการณ์ทำงานมานาน จะรู้ว่าเรื่องที่เล่ามันไม่สมเหตุสมผล เราสามารถถามย้ำ เขาอาจเล่าไม่ตรงกับเรื่องเดิม เราก็จะรู้ว่าขอมูลที่เขาเล่ามานั้นไม่จริง คนที่ทำงานให้คำแนะนำต้องมีความละเอียดอ่อน เราเปิดโอกาสให้ผู้ประสบปัญหาเล่าเรื่องราวของเขาประมาณห้าถึงสิบนาทีก่อนที่จะสรุป ได้ข้อมูลมาเท่าไร เราให้ความช่วยเหลือเท่านั้น”

คำถามที่ ๑๑ “การไม่เปิดโปง การเคารพข้อมูลส่วนตัวของเคส (case)

คำตอบ “จรรยาบรรณเป็นสิ่งที่เราควรรู้ เราไม่สามารถเอาเรื่องของคนที่มาปรึกษาเราไปเล่าให้ใครฟังได้ ถ้าเขาทราบว่าเราไปเล่าเรื่องส่วนตัวของเขากับคนอื่น จะมีเรื่องแน่นอน เราต้องรักษาความลับ ถ้าเราไม่มีจรรยาบรรณตรงนี้ ถือว่าเราทำงานผิด”

คำถามที่ ๑๒ “วัฒนธรรมไทยชอบตอบแทนเป็นของขวัญหรือเงิน ควรวางตัวอย่างไร”

คำตอบ “ถ้ามีการรับเงินก็เป็นค่าจ้างทันที ถ้าเขาขอเลี้ยงกาแฟ เลี้ยงข้าวถือว่าเขาทำเป็นการขอบคุณในการช่วยเหลือ ไม่ใช่ค่าจ้าง ถือเป็นสินน้ำใจ ผิดไหมที่เขาจะเอาของขวัญมาให้ ขอตอบว่าไม่น่าจะผิด เช่น มีผลไม้ มีขนมมาฝาก เราจึงไม่ควรพูดว่า เอามาทำไม ไม่ต้องก็ได้ค่ะ มันจะทำให้ผู้ให้รู้สึกผิดหวัง ขอให้เราขอบคุณไว้ก่อน “

คำถามที่ ๑๓ “อาสาสมัครยุคไอทีหาข้อมูลตามกูเกิ้ล จะทำให้จิตอาสายังน่าเชื่อถืออยู่หรือเปล่า”

คำตอบ “ข้อมูลต่าง ๆ ในกูเกิ้ลมีประโยชน์ถ้านำไปใช้ได้ แต่การสัมมนา เห็นหน้าเห็นตากัน ได้สอบถามข้อข้องใจ มีข้อมูลใหม่ ๆ ตอบคำถามได้ทันที บางครั้งข้อมูลจากอินเตอร์เนท กูเกิ้ลไม่ได้บอกว่าทำแบบนี้แล้วถูกไหม ไม่มีใครมาบอกว่าต่อหน้าเราว่าจากประสบการณ์มันเป็นอย่างนี้ ผลลัพท์จะออกมาเป็นอย่างนี้ ควรทำอย่างไร เพราะฉะนั้น ภาคปฏิบัติ เรายังไม่ตกเทรนด์”

คำถามที่ ๑๔ “การทำงานเพื่อหาชื่อเสียงให้ตัวเอง”

คำตอบ “เป็นเรื่องเก่าแก่ เช่น การทำงานจิตอาสา เป็นสมาชิกของสมาคม เขาก็อยากให้คนยอมรับเขา หรือทำงานแบบไม่แสดงตัวและไม่ต้องการชื่อเสียง มันก็มีทั้งสองแบบ ดังนั้น การแสวงหาผลประโยชน์หรือหาชื่อเสียงของบางคนที่ชอบออกสื่อ มันอยู่ที่คน เราห้ามกันไม่ได้”

บทกลอนจากพี่แพท *

(* สงวนสิทธิ์ โปรดขออนุญาตก่อนนำไปใช้ และให้เครดิตผู้แต่ง – คุณประไพรัตน์ มิกซ์)

“จิตอาสา” ร้อยเรียงโดย ประไพรัตน์ มิกซ์

จิตอาสาคืออะไรเราใคร่รู้

เอาไปสู้อุปสรรคและขวากหนาม

เอาไปช่วยคนเดือดร้อนด้วยใจงาม

ให้พบพานความสุขทุกข์ห่างไกล

ก่อนจะช่วยถามก่อนเราพร้อมไหม

ช่วยด้วยใจและจิตเป็นกุศล

ผลตอบแทนเป็นสุขแก่ตัวตน

กลายเป็นคนมีค่าต่อสังคม

ความเมตตาปราณีนั้นดียิ่ง

ทำทุกสิ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

ผลตอบแทนไม่ต้องการจะเอาคืน

พร้อมหยิบยื่นเยียวยาพาสุขใจ

เป็นความสุขทางใจช่วยใครได้

ดำรงไว้ความดีเป็นศรีขวัญ

เมื่อเขาสุขเราก็สุขไปทุกวัน

ได้ร่วมกัน “จิตอาสา” พาใจเพลิน…….

บันทึกและตรวจทาน โดย ป๊อก จงเจริญ

แก้ไขและเพิ่มเติม โดย พี่แพท ประไพรัตน์

19.11.2020

Message us