ชีวิต lockdown ที่เยอรมนี

ชีวิตแบบ Lockdown ที่เยอรมนี

โดย เพจเรื่องเล่าจากหย่งศรี https://www.facebook.com/441448396692939/posts/617585739079203/

สารภาพเลยว่า สิ่งแรกที่อยากทำเมื่อเหยียบแผ่นดินเยอรมนี คือ ไปร้านซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะอยากเห็นว่า กระดาษทิชชู่หมดเกลี้ยงจริง ๆ อย่างที่อ่านข่าวมาไหม (เขาเครียดกัน ยังจะฮาได้อีกนะหย่งศรีเอ๊ย…)

คือ ฉันและสามีคิดตรงกันว่า หากจะเกิดภาวะฉุกเฉินขั้นสุด สิ่งที่ควรกลัว คือ อดตาย ไม่ใช่เหรอ? ดังนั้น เราน่าจะต้องกักตุนอาหารมากกว่ากระดาษทิชชู่ไหม? (ฮา)

และฉันก็อยากเห็นด้วยว่า ชีวิตในยุค COVID–19 ระบาดและมีมาตรการต่างๆ จากรัฐบาลมากมาย จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนเยอรมันไปมากน้อยเพียงใด? จะประพฤติปฏิบัติแตกต่างไปจากเมืองไทยหรือไม่ อย่างไร?

โชคดีที่รัฐบาลยังไม่ได้ประกาศเคอร์ฟิว หรือห้ามออกจากบ้าน ตอนนี้เป็นการขอความร่วมมืออย่างจริงจังว่า อย่าออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ยกเว้นไปซื้อกับข้าว ยา หาหมอ ในขณะที่โรงเรียน สระว่ายน้ำ ฟิตเนส ร้านเสริมสวย ร้านอาหาร ฯลฯ ปิดหมด

ฉันจึงยังสามารถออกไปซูเปอร์ฯ แถวบ้าน ซื้อของเข้าบ้าน และมีเรื่องมาเล่าสู่กันฟัง

และนี่คือ ๕ ข้อ ที่ได้มา จากการไปสำรวจค่ะ

๑ ภาพรวมทั่วไป เยอรมนีเงียบมาก

เหมือนกับวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่ทุกอย่างหยุดหมด เยอรมนีสงบเงียบ แทบไม่ได้ยินเสียงรถ เสียงนกร้องดังชัดมาก แม้ว่าอากาศจะดีเป็นที่สุด ฟ้าใส ลมเย็น แต่ไม่มีใครออกมาเดินเล่นค่ะ

ตามร้านค้าที่ยังเปิดให้บริการอยู่ มีผู้คนประปราย ไม่ค่อยเห็นเด็กเล็กเดินออกมา

สังเกตว่าไม่มีการเดินรวมกันเป็นกลุ่มด้วย หลังจากที่รัฐบาลประกาศเมื่อวันอาทิตย์ ห้ามการรวมตัวกันมากกว่า ๒ คนขึ้นไป ยกเว้นคนในครอบครัวเดียวกัน (ซึ่งก็หมายความว่า ห้ามให้มีการนัดพบเจอกันนั่นเอง)

ไม่มีขวดแอลกอฮอล์หรือเจลล้างมือให้บริการเหมือนในประเทศไทยที่มีอยู่ทุกที่ ยกเว้นที่คลินิกหมอ

ที่คลินิกที่ฉันไป ไม่ถึงขั้นกับปิดประตูแล้วให้รับเอกสารทางหน้าต่าง เหมือนที่อื่นๆ ที่เคยได้ยินมา (คงทำไม่ได้เพราะไม่ได้อยู่ชั้นพื้นดิน) แต่มีมาตรการป้องกันค่อนข้างดี หมอ เจ้าหน้าที่ใส่หน้ากาก ทุกคนยืนรักษาระยะห่าง

และอันที่จริง คลินิกโล่งมากๆ ค่ะ สอบถามได้ความว่า ช่วงแรกผู้คนแตกตื่นมาหาหมอกันเยอะมาก แต่ตอนนี้ เหมือนคนรู้แล้วว่า โรคนี้คืออะไร อาการเป็นอย่างไร ติดต่ออย่างไร และพวกเขาต้องปฏิบัติตัวอย่างไร คลินิกหมอก็กลายเป็นที่ต้องห้ามกลายๆ

คนพยายามไม่มาเพราะสุ่มเสี่ยงต่อเชื้อโรค คุณหมอก็ได้พอหายใจหายคอหน่อยค่ะ

๒ คนเยอรมันใส่หน้ากากน้อยมาก

คนเยอรมันเกือบร้อยทั้งร้อย ไม่ใส่หน้ากาก สันนิษฐานว่า เป็นจากความเชื่อดั้งเดิมว่า หน้ากากมีไว้สำหรับคนป่วย คนไม่ป่วยไม่ต้องใส่ นอกจากนี้รัฐบาลเองก็ไม่พูดถึง ไม่สนับสนุนชักชวนให้ประชาชนใส่ รวมทั้งมันไม่ใช่สิ่งที่หาซื้อได้ทั่วไปด้วย

แต่เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบัน เลวร้ายลงไปมาก ยอดคนติดเชื้อเกิน ๒๐,๐๐๐ คนไปแล้ว เท่าที่เห็นในละแวกบ้าน ในร้านซูเปอร์มาร์เก็ต มีฝรั่งใส่บ้าง แต่น้อยมาก ส่วนมากที่เห็น เป็นคนเอเชีย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็อยู่ในราวไม่เกิน ๕ เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด

ซึ่งถ้าเป็นที่เมืองไทย ตัวเลขนี้ตรงกันข้ามกัน แทบทุกคนใส่หน้ากาก มีเป็นส่วนน้อยจริงๆ ที่ไม่ใส่

ฉันคิดว่า ไม่ได้เป็นแต่เยอรมนีกับไทยที่เป็นแบบนี้ แต่เป็นเหมือนวิถีปฏิบัติและความเชื่อของโลกตะวันออกและตะวันตกที่แตกต่างกัน

ตัวฉันเองไม่มีความรู้พอที่จะฟันธงว่า สำหรับคนธรรมดาที่ไม่ได้ป่วย การใส่หน้ากากจำเป็นหรือไม่? ช่วยได้มากน้อยเพียงใด เพราะฉันได้อ่านข่าวมาทั้งสองกระแส

ในโลกตะวันออก เราตื่นตัวเรื่องหน้ากากกันมาก เราเชื่อว่าเป็นการป้องกันตัวเองและป้องกันคนอื่นไปพร้อมกัน การไม่ใส่มักถูกมองว่าเป็นการไม่รับผิดชอบต่อส่วนรวม

ส่วนโลกตะวันตกเชื่อว่าไม่ป่วยไม่ต้องใส่ และหลายคนก็เชื่อตามบทความที่ได้อ่านว่า หน้ากากไม่ได้ช่วยอะไรมากเท่ากับการล้างมือ ตัวหน้ากากเองนั้น ถ้าใส่นานเกินครึ่งชั่วโมง ความชื้นจากไอน้ำในลมหายใจทำให้ประสิทธิภาพของหน้ากากลดลง เชื้อโรคทะลุทะลวงผ่านหน้ากากเข้าไปได้ รวมทั้งจะเป็นการช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ ไม่ขาดแคลนหน้ากากด้วย

มีตัวอย่างขั้นสุดโต่งของทัศนคติที่แตกต่างกันในเรื่องหน้ากากมาเล่าให้ฟังด้วยค่ะ

เป็นเรื่องของพี่คนหนึ่งที่รู้จักกัน แกเล่าว่า แกใส่หน้ากากอนามัยออกไปซื้อกับข้าวที่ซูเปอร์ฯ แถวบ้าน มีฝรั่งคนหนึ่งเดินมาต่อว่า ว่าป่วยแล้วยังจะออกมาข้างนอกอีก ทำไมไม่เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน!? แกพยายามอธิบายว่า แกไม่ได้ป่วย แกแค่ต้องการป้องการตัวเอง แต่ฝรั่งก็ไม่ฟัง กลายเป็นทะเลาะกันไปเสียอีก

ขอย้ำว่านี่เป็นตัวอย่างขั้นสุดโต่งค่ะ คนส่วนมากไม่ได้เจอประสบการณ์แบบนี้ ตอนนี้คงอยู่ในโหมดว่า ใครใคร่ใส่ ใส่ นะคะ

หน้ากากไม่ค่อยใส่กัน แต่ที่เห็นมากขึ้น คือ ใส่ถุงมือค่ะ ใส่ถุงมือยางแบบที่หมอใส่ หรือเราๆ ใส่กันเวลาทำความสะอาดบ้าน เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ

๓ อาหารทุกอย่างหาได้ แต่ทิชชู่ขาดตลาดจริงๆ

จากการสำรวจซูเปอร์มาร์เก็ตสามแห่งรอบบ้าน อาหารทุกอย่าง โดยเฉพาะอาหารสด เนื้อ ผัก ผลไม้ มีครบครัน ไม่ได้รู้สึกว่าตกอยู่ในภาวะวิกฤตต้องกักตุนอะไรเลย อาหารแห้ง เช่น เส้นสปาเก็ตตี้ ข้าว พร่องไปมากแต่ก็มีของมาเติม เลยไม่น่าห่วงอะไร

ส่วนที่จากไปไร้วี่แวว ไม่เห็นร่องรอยและวิญญาณเลย คือกระดาษทิชชู่แบบม้วน รวมไปถึงกระดาษทิชชู่สำหรับห้องครัวด้วย เหลือแต่กระดาษแบบพกพา กระดาษทิชชู่เช็ดหน้าบ้างประปราย

เพื่อนบ้านชั้น ๒ ของฉันเดือดร้อนกับปรากฏการณ์นี้มาก เธอบอกว่าที่บ้านของเธอ ตอนนี้เหลืออยู่ ๘ ม้วนเท่านั้น พวกเขาอยู่กันสี่คน พ่อแม่และลูกอีก ๒ ซึ่งเป็นวัยรุ่นแล้ว หากไม่ได้ทิชชู่มาในเร็ววัน พวกเขาคงเดือดร้อนแน่ เขาออกตามล่าหาทิชชู่กันเมื่อวันจันทร์ตอนเช้า ไปถึง ๕ ซูเปอร์มาร์เก็ตในละแวกบ้าน แต่ไม่เจออะไรเลย

ฉันได้ยินจากเพื่อนๆ พี่ๆ ในเมืองอื่นๆ ว่า แถวบ้านเขามีของมาเติม ยังพอหาได้บ้าง (แต่กำหนดให้ซื้อได้แค่คนละแพ็ค)

ในแง่หนึ่ง ฉันพอเข้าใจเรื่องการกักตุนกระดาษทิชชู่ได้ ทิชชู่เป็นของใหญ่ ฟู เปลืองพื้นที่ ดังนั้น เวลาของหมด จึงดูเหมือนของหายไปเยอะ ทั้งที่จริงๆ ถ้าเทียบเป็นจำนวนชิ้น อาจจะน้อยกว่าอาหารกระป๋องด้วยซ้ำ พอคนเห็นว่าหมด ก็ยิ่งตระหนก ยิ่งต้องการซื้อ ก็เป็นวงจรไปอย่างนี้

และฉันก็เข้าใจ mentality ของคนที่กักตุน ทิชชู่ บางทีเราก็ไม่ได้ตั้งใจทำหรอก แต่มันเป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติ

ดูอย่างตัวฉันเอง ฉันก็เป็น เคราะห์ดีที่สามียังฟังฉันบ้าง ไปซื้อติดบ้านไว้ ๑ แพ็คใหญ่ ทำให้ปัจจุบันเรามี ๑๐ ม้วน ซึ่งในยามปกติ มี ๑๐ ม้วนคือเหลือเฟือ ถ้าใช้กันอย่างประหยัด น่าจะอยู่ได้เป็นอาทิตย์ และใกล้หมดเมื่อไร ค่อยไปซื้อ แต่ตอนนี้ รู้สึกไม่อุ่นใจ อยากได้อีกสักแพ็คนะ

ล่าสุด เช้านี้เองค่ะ ไปจ่ายตลาดซื้อกับข้าวเต็มมือ เดินออกมา เห็นคนถือทิชชู่ โอ้… ทิชชู่ม้วนมาลงพอดี ที่ร้านขายเครื่องใช้ส่วนตัวในบ้าน (แชมพู สบู่) คนต่อคิวยาวเลย ไอ้ตัวฉันจะไปต่อคิวก็ไม่ได้เพราะของเต็มสองมือ ไม่มีปัญญาหอบของ กลับมาอีกที หมดแล้วค่ะ

เลยปลอบตัวเองว่า ถ้ามันหมดจริงๆ หาไม่ได้จริงๆ ก็ใช้ทิชชู่เช็ดหน้าไปก่อน ยังพอหาได้ หนักนัก ก็ล้างเอาแล้วกัน

บอกเลยว่า ตอนนี้ นึกถึงสายฉีดบ้านเรามากค่ะ (ห้องน้ำที่เยอรมนีไม่มีสายฉีดน้ำค่ะ)

๔ คนเยอรมันล้างมือและรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distance) อย่างเคร่งครัด

ในขณะที่คนไทยยึดวิถีปฏิบัติที่ว่า กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ดูเหมือนว่าคนเยอรมันจะเน้นเฉพาะการล้างมือเท่านั้น

นี่ก็คงเป็นเหตุผลทางวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่ง เพราะธรรมเนียมการทานอาหารของคนเยอรมัน จะทานจานใครจานมัน ไม่แชร์กัน จึงไม่ต้องเน้นเรื่องช้อนกลาง ส่วนอาหารร้อน ไม่เห็นมีการพูดถึงเลย

สิ่งที่ทุกคนเน้นมาก คือ ล้างมือ เห็นได้จากตัวสามีฉัน (ซึ่งจะทำฉันเป็นบ้าอยู่แล้ว) และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการล้างมือหมดเกลี้ยงในทุกซูเปอร์มาร์เก็ต

และเมื่อรัฐบาลประกาศขอความร่วมมือให้รักษาระยะห่างทางสังคม ยืนห่างกันอย่างน้อย ๑.๕ เมตร คนเยอรมันปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลค่อนข้างเคร่งครัดและพร้อมเพรียงกัน

ในวันแรกที่ฉันออกไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต ฉันพบเพื่อน ฉันเดินตรงเข้าไปหาเขา พอเข้าไปใกล้ แม้ใบหน้าเขาจะยิ้มแย้มดีใจที่ได้เจอ แต่เขาไม่ขยับตัวเดินเข้าหา เขารักษาระยะห่างกับฉันประมาณ ๑ เมตรเศษ และเรายืนคุยกันห่างๆ อย่างนั้น เวลาฉันเผลอขยับตัวก้าวไปใกล้เขา เขาจะถอยออก

ในซูเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่ง ผู้คนก็รักษาระยะห่างกัน และมีสก็อตเทปติดที่พื้น บอกระยะว่า ตอนเข้าแถวจ่ายเงินควรจะยืนห่างกันประมาณไหน นอกจากนั้น พื้นที่ตรงที่จ่ายสตางค์ของบางห้าง ยังมีแผ่นพลาสติกใส กันไม่ให้ลูกค้าเข้าใกล้พนักงานแคชเชียร์มากจนเกินไป

ปัจจุบัน พนักงานเหล่านี้ สวมถุงมือในการทำงานด้วย และห้างร้านต่างแนะนำให้ลูกค้าจ่ายเงินผ่านบัตรต่างๆ ด้วย เพื่อที่แคชเชียร์จะได้ไม่ต้องทอนเงิน ไม่ต้องสัมผัสมือของลูกค้า

ฉันรู้สึกว่าเรื่องรักษาระยะห่างนี้ เยอรมนีจริงจังมากและทำได้ดีด้วย พอหลับตานึกถึงที่เมืองไทย รู้สึกว่ายังจริงจังไม่เท่า ฉันคิดว่าอาจจะยากกว่าด้วยวิถีชีวิตของเราด้วย

เรายังเป็นชาติที่ใช้ทรัพยากรบุคคลเยอะในพื้นที่จำกัด เช่นในหลายซูเปอร์ฯ เรามีคนยืนช่วยใส่ของลงถุง เคาน์เตอร์จ่ายเงินของร้านสะดวกซื้อก็อยู่ติดกัน ทำให้ปฏิบัติจริงได้ยากกว่า เป็นต้น

๕ รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนและห้างร้านในทุกระดับ

ในระดับบุคคล เมื่อรัฐบาลประกาศปิดโรงเรียน เด็กๆ ต้องอยู่บ้าน มีการปรับผังรายการโทรทัศน์ เพิ่มรายการเด็กที่ดีมีคุณภาพจากที่ฉายสัปดาห์ละหน เป็นฉายทุกวัน รวมทั้งมีเว็บไซต์สารพัดที่รวบรวมไอเดีย กิจกรรมที่จะทำกับเด็กๆ ในยาม Lockdown เช่นนี้

ขอบคุณรัฐบาลจากใจนะคะ ช่วยได้มากจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ ที่พ่อแม่ต้องทำงานในขณะที่เด็กๆ อยู่เต็มบ้านน่ะ

ระดับห้างร้าน มีมาตรการของแต่ละรัฐออกมา ให้เจ้าของกิจการทุกระดับ ไม่ว่าจะเล็ก กลาง ใหญ่ ให้พอชื้นใจได้บ้าง ขอไม่ลงรายละเอียดตรงนี้นะคะ แต่หากสนใจอ่าน (ของเยอรมนี) หลังไมค์มาได้เลยค่ะ

xxxxxxxxxx

นี่คือสิ่งที่ฉันพบเจอในช่วงสองสามวันที่ผ่านมาค่ะ ระหว่างนี้ก็หากิจกรรมชวนเด็กๆ เล่นสนุกกันไป สอนภาษาไทยบ้าง ทำขนมบ้าง รวมทั้งทำกับข้าว ซักผ้า พับผ้าวนไปเหมือนเดิมค่ะ หากท่านใดมีกิจกรรมแนะนำ จะดีใจมากนะคะ ยังต้องอยู่กันอย่างนี้ยาวไปถึงกลางเมษายนเลยค่ะ

ว่าแล้วก็นึกขึ้นได้ แฟนเพจหย่งศรี มีอยู่ในหลายประเทศมากๆ ทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ รวมไปถึงแทบทุกประเทศในยุโรปตะวันตก และสหรัฐอเมริกา หากท่านใดจะเขียนเล่าประสบการณ์ในขณะนี้มาเล่าสู่กันฟังบ้าง ก็จะดีใจมากค่ะ

อย่างน้อย เราก็ได้อุ่นใจว่า เราไม่ได้สู้อยู่คนเดียว เราก็กำลังสู้ไปด้วยกันทุกคนนะคะ