สวัสดีค่ะ
เมื่อวันก่อนสุได้พูดคุยกับแม่ และเราได้สนทนาถึงเรื่องในอดีตทำให้สุมีความคิดเล่าเรื่องราวชีวิตตัวเองในวัยเด็กให้เพื่อนๆได้ลองฟังกันดู เผื่อว่าสิ่งที่สุจะเล่านั้นมันจะทำให้คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ท้อแท้กับโชคชะตาชีวิตได้มีกำลังใจฮึดสู้อีกครั้งเพราะสุเชื่อว่าคุณอาจจะยังไม่เคยผ่านจุดที่ยากที่สุดที่สุและครอบครัวเคยได้ผ่านมาแล้วก็เป็นได้
ก่อนอื่นสุต้องบอกก่อนว่า ปัจจุบันสุได้อาศัยอยู่ในประเทศอิตาลี และมีครอบครัวที่น่ารัก หลายคนมักจะเรียกชีวิตอย่างที่สุเป็นอยู่ว่า ”มาดาม” และมองเห็นแต่ภาพในปัจจุบัน ใครจะรู้ว่าสุคนนี้แหละที่ชีวิตได้จากต้นทุนที่ติดลบมาก่อน
สุจะเล่าย้อนกลับไปถึงอดีตในวัยเด็ก ช่วงอายุประมาน 6-7 ขวบ สุมีพี่น้องทั้งหมดสามคน สุเป็นลูกคนกลางและเป็นผู้หญิงคนเดียว ในตอนนั้น สุอายุหกขวบและน้องชายขวบเศษ ๆ ส่วนพี่ชายนั้นห่างจากสุสองปี
ตอนนั้นพ่อกับแม่ได้แยกทางกัน แม่จึงตัดสินใจพาลูกทั้งสามกับเงินติดตัวไม่กี่บาทออกระเหเร่ร่อนไปอาศัยเช่าห้องอยู่แถวสมุทรปราการ
ต่อมา แม่สุได้งานทำเป็นแม่ครัวที่โรงเรียน ได้รับค่าจ้างวันละ 150 บาท และเงิน 150 บาทนี่แหละที่ต้องเอามาเลี้ยงดูคนในบ้านถึง 4 ชีวิต แต่ไม่เคยมีวันไหนเลยที่แม่จะปล่อยให้ลูกอด เมนูประจำของเราคือ ข้าวผัดกะเพรา 1 ห่อ และข้าวเปล่า 1 ถุง เอาคลุกให้เข้ากัน ราดด้วยน้ำปลาเพื่อเพิ่มรสชาติ มันเป็นอาหารที่เอร็ดอร่อยที่สุด ทุกครั้งแม่จะนั่งรอให้ลูกทั้งสามกินกันจนอิ่ม แล้วตัวเองถึงจะคอยเก็บส่วนที่เหลือกินต่อ ถ้าลูก ๆ กินกันหมด แม่ก็ต้องอดในมื้อนั้น
อยู่มาไม่นาน แม่ก็ได้คิดออกจากงานมาเร่ขายลูกโป่งและของเล่นเด็กตามตลาดนัด ตอนนั้น พี่ชายที่เรียนอยู่ชั้น ป. 2 และสุอยู่ชั้นอนุบาล เราต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยแม่ขายของและดูแลน้องที่ยังเล็ก พี่ชายจะยืนขายและจับหลักลูกโป่ง ส่วนแม่ก็คอยเป่าลูกโป่งให้พี่ชาย ตัวสุก็ได้รับหน้าที่ดูแลน้องอยู่ใกล้ ๆ
ทุกวันเราจะเปลี่ยนที่ขายกันไปเรื่อย ๆ แล้วแต่ว่าวันนั้นจะมีตลาดนัดที่ไหนให้เราไป แต่เราอยู่ที่นั้นได้ไม่นาน เราก็ต้องหาที่อยู่ใหม่ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน
เราสี่คนแม่ลูกต้องออกระเหเร่ร่อนอีกครั้ง โดยแม่ได้พาลูกทั้งสามกลับเข้ามาใน กทม พร้อมกับเสื้อผ้าเพียงไม่กี่ชุดและเงินแทบไม่มีติดตัว แม่พาเราไปอยู่ที่ “ปากคลองตลาด”
ใช่ค่ะ ที่นั่นคือตลาด ไม่มีบ้านให้เราอยู่ ไม่มีที่นอนให้เรานอน เราต้องไปอาศัยนอนตามแผงผักในช่วงที่พ่อค้าแม่ค้าเขาเก็บแผงกันเสร็จแล้ว เราสี่คนแม่ลูกไปลากเอาลังกระดาษที่พอหาได้มาเป็นที่หลับนอนของพวกเรา และอาวุธคู่กายที่เราต้องมีติดตัวในทุกวันก็คือยากันยุงและ กย15 😊
วิถีชีวิตของเราในตอนนั้น ถ้าเราอยากจะเข้าห้องน้ำ ก็ต้องจ่าย 2 บาท อาบน้ำ 5 บาท นั่นคือสิ่งที่เราต้องเจอ และทุกวันแม่จะพาเราเดินเก็บผักที่พ่อค้าแม่ค้าเขาคัดทิ้ง เราเก็บเศษผักเหล่านั้นมาคัดแต่งใหม่ และเอาไปนั่งขาย 3 กำ 5 หรือ 3 กำ 10 ที่ตลาดเช้าที่อยู่ห่างออกไปอีก (ผักพวกนั้นยังไม่เน่าไม่เสีย แต่แค่มีรอยช้ำ หรือใบไม่สวย เลยไม่สามารถส่งขายได้ เขาจึงทิ้ง)
พอสาย ๆ หลังจากเราขายผักกลับมา แม่ก็จะพาเราไปรับจ้างเด็ดพริกในตลาด โดยได้ค่าจ้างเพียงกระสอบละ 12 บาท แต่มันก็พอให้เราได้ประทังชีวิตไปในแต่ละวัน
ชีวิตไม่เคยอยู่ติดที่ แม่ได้พาเราไปเช่าห้องแถวรายวันที่มีค่าเช่าวันละ 40 บาท แถว “ตลาดดาวคนอง” สภาพห้องเช่าคือ บ้านไม้ผุ ๆ มีทางเดินตรงกลาง และสองข้างซ้ายขวาคือห้องเช่าที่เรียงยาวกันเข้าไป สุดทางเดินนั้นจะมีแท้งก์น้ำขนาดใหญ่ไว้เพื่อให้คนที่เช่าอยู่ได้ใช้อาบ พร้อมกับห้องน้ำรวมที่สุดแสนจะสกปรดอยู่ประมาน 3-4 ห้อง (แต่มันก็ดูมีเกรดกว่านอนตลาดแหละน่า…..😂)
คนที่อาศัยอยู่ที่นั้นส่วนมากจะเป็นคนแก่ คนพิการและลูกเด็กเล็กแดง ล้วนแล้วแต่มีอาชีพเหมือน ๆ กัน นั่นก็คือ “ขอทาน” จึงทำให้เราสี่คนแม่ลูกถูกชักชวนไปเป็นเพื่อนร่วมอาชีพกับพวกเขาด้วย 😁
ใช่ค่ะ สุเคยเป็นขอทาน อาชีพที่คนมองว่าน่าสมเพชและเวทนา โดยแรกเริ่ม เพื่อนข้างห้องนี่แหละพาไป แต่ละวัน สุต้องเดินหลายกิโล และตลอดทาง สุกับพี่ชายก็จะพากันวิ่งไปตามโต๊ะอาหาร และจะพูดว่า “พี่คะ ขอตังซื้อข้าวกินหน่อยค่ะ” บางคนก็ให้เราเป็นเงิน แต่บางคนให้เป็นอาหารที่เขากินอยู่
อาชีพนั้นมันทำให้เรามีรายได้หลายร้อยบาทต่อวัน แถมเพียบพร้อมไปด้วยของกินดี ๆ อีกมากมาย 😊
อยู่มาวันหนึ่ง หลังจากที่เราเดินขอกันมาเรื่อย ๆ จนไปถึงย่านสุขุมวิท เราแวะนั่งพักกันอยู่ที่ใต้สะพานลอยแห่งหนึ่ง (ถ้าจำไม่ผิดตรงนั้นคือสุขุมวิท ซ. 19 ก่อนมีรถไฟฟ้า) และแม่เลยตัดสินใจพาพวกเราขึ้นไปนั่งขอทานบนสะพาน จากวันนั้น เราแม่ลูกก็พากันขึ้นไปนั่งทุก…….วัน และในบางวัน สุจะขอแม่แยกไปนั่งอยู่ที่กลางสะพานคนเดียว สุได้แกล้งเอาแขนเข้าไปในเสื้อ เพื่อเรียกร้องความสงสาร ตามประสาของเด็กที่คิดได้ในตอนนั้น แล้วมันก็ได้ผลจริงๆ 😂😂😂
จุดจบแห่งอิสรภาพเกิดเร็วกว่าที่คิด ระหว่างที่สุกำลังนั่งขออยู่วันหนึ่ง สุก็ได้ยินเสียงแม่ตะโกนเรียกชื่อ “สุ!!!!” ดังมาจากหัวสะพาน พอสุหันไป สุก็เห็นผู้ชายร่างใหญ่อีก 2-3 คนกำลังล็อคตัวแม่เอาไว้ พอสุเห็นอย่างนั้น สุก็รีบลุกขึ้นเพื่อวิ่งหนี ในตอนนั้น สัญชาตญาณของสุมันบอกว่า คนพวกนั้นต้องเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมประชาสงเคราะห์เป็นแน่
แต่ก็ไม่ทัน เขาคว้าคอเสื้อสุไว้ได้ แล้วถามด้วยน้ำเสียงเข้ม ๆ ว่า “จะไปไหน” 55555 สุยังจำท่าทางและน้ำเสียงของเขาได้เป็นอย่างดี เพราะมันทำให้สุกลัวมากในตอนนั้น
จากวินาทีนั้น เราก็รู้เลยว่า ต่อแต่นี้ชีวิตเราจะขาดอิสรภาพไปในทันที
เราโดนจับขึ้นรถตู้สีขาว ในรถมีขอทานที่โดนจับมาก่อนหน้านี้ 4 ถึง 5 คน ส่วนมากเป็นคนต่างด้าว เราถูกส่งไปอยู่สถานแรกรับปากเกร็ด ซึ่งเป็นที่กักขังชั่วคราวสำหรับขอทานและคนเร่ร่อน
เมื่อครบสามวัน ทางสถานสงเคราะห์ก็คัดแยกคนที่เป็นต่างด้าวออกไปเพื่อส่งกลับชายแดน ส่วนเราที่เป็นคนไทยถูกส่งต่อไปที่สถานสงเคราะห์อื่น โดยที่ไม่มีวันได้ออกมาหากเราไม่มีญาติมารับ และนั่นเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ให้เราติดต่อกับใครได้เลย
แต่แม่สุก็ไม่ละความพยายามที่จะพาลูก ๆ ออกไป เมื่อมีพ่อค้าจากข้างนอกเข้ามาขายไอศครีมผ่านหน้าต่างลูกกรงที่ขังพวกเราไว้ แม่ก็ได้แอบเขียนชื่อและเบอร์โทรใส่กระดาษ โดยไหว้วานให้พ่อค้าคนนั้นโทรตามญาติให้มารับเราออกไป
เมื่อครบกำหนดอีกสามวัน เราต้องถูกส่งตัวไปสถานสงเคราะห์แห่งใหม่ โดยที่เขาจะแยกแม่กับลูกไปอยู่กันคนละที่ วันนั้นเป็นวันที่หัวใจของเด็กคนหนึ่งแทบแตกสลาย เมื่อได้รู้ว่าต้องห่างจากอกแม่ โดยที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้เจอกันอีก มันเป็นความรู้สึกที่เจ็บปวดและทรมานในหัวใจของเด็ก ๆ และแม่แบบหาที่เปรียบไม่ได้
สุถูกส่งตัวไปที่ “สถานสงเคราะห์เด็กพญาไท” ที่คล้าย ๆ เป็นโรงเรียนประจำ ตั้งแต่วันแรกที่สุได้เข้าไป ไม่มีวันไหนเลยที่สุจะไม่ร้องไห้ น้ำตาของสุมันไหลจนแทบจะเป็นสายเลือด ในหัวมีแต่คำถามที่ว่า “แม่อยู่ไหน แม่ไปไหน เมื่อไหร่แม่จะมารับ” หนึ่งวินาทีในนั้น มันช่างยาวนานเหลือเกิน…….
ครั้งใดที่มีเสียงประกาศมาจากตึกประชาสัมพันธ์ เด็กทุกคนจะเงี่ยหูรอฟังว่าจะประกาศชื่อของตัวเองหรือเปล่า เพราะถ้าใช่ นั่นหมายความว่าเด็กคนนั้นจะมีญาติมาเยี่ยมหรือมารับออกไป
จนผ่านไปได้หนึ่งเดือนที่สุได้ใช้ชีวิตอยู่ในนั้น ความเจ็บปวดโหยหาของสุก็สิ้นสุดลง เมื่อสุได้ยินเสียงที่สุเฝ้ารอที่จะได้ยิน คือเสียงประกาศชื่อสุที่ดังมาจากตึกประชาสัมพันธ์ สุดีใจมาก เหมือนความฝันที่สุรอคอยมันเป็นจริง สุรีบเดินตรงเข้าไปในตึก และเมื่อสุเปิดประตูเข้าไปในห้องนั้น สิ่งที่สุเห็นคือผู้หญิงคนหนึ่งนั่งหันหลังอยู่ และเมื่อเธอหันมา สุเห็นใบหน้าเธอเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เธอแลดูมีความสุขมาก เราโผกอดกัน แล้วน้ำตาเราก็ไหล และมันคือที่สุดของคำว่าความสุขแล้วจริง ๆ เพราะเธอคือแม่ที่สุรอคอยอยู่ทุกวัน
หลังจากแม่รับสุออกมาจากสถานสงเคราะห์ เราก็ไปเริ่มต้นชีวิตกันใหม่ที่ “ท่าเตียน” แม่ไปทำงานเป็นลูกจ้างร้านขายโจ๊ก ถึงแม้ค่าแรงจะยังคงน้อยนิด แต่มีที่พักให้พวกเราอยู่ฟรี สุได้กลับเข้าไปเรียนอีกครั้งในชั้นประถมปีที่ 1 สุและพี่ชายจะออกไปช่วยแม่ที่ร้านก่อนไปโรงเรียนทุกเช้า แม่ทำงานเพียงแค่ครึ่งวัน จึงพอมีเวลาที่จะสามารถเลี้ยงดูน้องได้
และด้วยความที่สุเป็นคนที่มีความตั้งใจในการเรียน จึงทำให้สุสอบผ่านได้ที่ 1 ในเทอมแรกและเทอมเดียวในวิตของสุ สุได้เป็นตัวแทนประจำเขตไปสอบชิงทุน แต่มันก็ต้องจบลงแค่ตรงนั้น เพราะเราต้องย้ายที่อยู่กันใหม่ จึงทำให้สุและพี่ชายต้องออกจากโรงเรียนเป็นหนที่สอง (ครั้งนี้สุจำไม่ได้ว่าเพราะอะไร) จนสุรู้สึกว่า สุเคยชินกับการเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ไปแล้ว ครั้งนี้ เราต้องกลับไปเป็นคนไม่มีบ้านเหมือนเคย
เราได้ไปอาศัยกันอยู่ที่ “ตลาดพาหุรัด” อาชีพที่เรายึดในตอนนั้นคือ เก็บกระดาษและพลาสติกไปชั่งกิโลขาย ในตอนเย็นหลังร้านค้าเริ่มปิด แม่พาสุกับน้องไปนั่งรอและเฝ้าของที่แม่เก็บมาไว้ที่ข้างตู้โทรศัพท์ ส่วนแม่และพี่ชายพากันลากถุงกระสอบใบใหญ่ ๆ ไปหาเดินเก็บมาไว้เพิ่ม
สุจำได้ว่าในทุกเย็นจะมีเสี่ย ”ร้านทองใบ” เดินผ่านตรงนั้น และคอยหยิบยื่นของกินและเงินให้สุกับน้องเป็นประจำ (ขอบคุณนะคะ เราไม่เคยลืม 😭)
พอช่วงค่ำ ก็จะมีรถมารับซื้อของที่เราเก็บมา ที่นอนของเราคือแผงขายผ้า เข้าห้องน้ำในตลาด แต่ถ้าเราอยากจะอาบน้ำ เราต้องนำขวดพลาสติกไปกรอกน้ำสาธารณะมาเพื่อไว้อาบในเวลากลางคืน ซึ่งมันยากลำบากมาก แต่อยู่มาแค่สักพัก แม่ก็พาพวกเราไปหาเช่าห้องอยู่อีกครั้ง
ครั้งนี้ เราได้ไปอยู่ในสลัม “วงเวียนเล็ก” คุณจินตนาการคำว่า สลัม ไว้ว่ายังไงกันบ้างคะ? เพราะสิ่งที่สุได้เข้าไปสัมผัสมัน คือ ห้องเช่าที่ตั้งอยู่ในน้ำโคลนน้ำเน่า สร้างจากไม้ผุ ๆ เก่า ๆ และล้อมรอบด้วยสังกะสี มีคนอาศัยอยู่ 40-50 หลังคาเรือน ในพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร มันแออัดมาก
ถ้าบ้านไหนพอมีเงินก็จะมีห้องน้ำไว้ใช้ และจะเปิดให้บ้านอื่นเข้ามาใช้ โดยเก็บค่าเข้าครั้งละ 2 บาท แต่ละห้องเช่าจะมีตุ่มน้ำวางไว้ให้ที่หน้าห้องหนึ่งใบ โดยค่าเช่าห้องวันละ 30-40 บาท และค่าน้ำตุ่มละ 12 บาท โดยเราต้องไปลากสายยางมาเปิดน้ำใส่ตุ่มไว้ทำกับข้าวและอาบ พอน้ำเต็ม เจ้าของน้ำก็จะมาเก็บสายยางนั้นกลับไป คนที่อาศัยอยู่ที่นั่นมีอาชีพหาบถั่วขาย ขายพวงมาลัยตามไฟแดง ขอทาน จนไปถึงค้ายา
หลังจากที่เราได้ที่อยู่ แม่ก็เริ่มหาขายของจากทุนเพียงน้อยนิด แม่ลงทุนซื้อรถเข็นหนึ่งคัน เตาหนึ่งใบ และครกหนึ่งลูกไปนั่งขายน้ำพริกปลาทู ทุกเย็น แม่พาน้องนั่งในรถเข็น เข็นข้ามสะพานพุทธเพื่อไปขายที่พาหุรัด และมีลูกอีกสองคนคอยเดินตาม
ช่วงไหนที่เป็นหน้าเทศกาล เทกระจาด เราก็จะพากันไปรับแจกข้าวสารอาหารแห้ง มันเลยพอทำให้เราได้มีข้าวสารไว้หุงกิน
มีอยู่วันหนึ่ง เรารู้สึกอยากกินทุเรียน แต่ด้วยราคาที่แพง (สำหรับเราในตอนนั้น) เราพี่น้องเลยพากันเดินเข้าไปร้านทุเรียนในตลาด และเข้าไปบอกเขาว่า “พี่มีทุเรียนลูกแตก ๆ ไหมคะ หนูขอให้น้องหนูกินหน่อย 😭” (เพราะลูกแตก ๆ เขาขายไม่ออก) พอเราได้ทุเรียน เราก็เดินข้ามสะพานพุทธกลับมาและกินกันอย่างเอร็ดอร่อย 😊
หลังจากชีวิตช่วงนั้น เราก็ยึดอาชีพค้าขายกันมาเรื่อย และได้เปลี่ยนสินค้ากันไปหลายอย่าง จนพอที่จะมีเงินที่จะย้ายที่อยู่ใหม่ เปลี่ยนจากบ้านสังกะสีไปเป็นบ้านไม้เหมือนเดิม
ต่อมาชีวิตเราก็เริ่มทรงตัว พอที่จะค้าขายได้ และก็มีบ้านให้เราอยู่ มีที่นอนให้เรานอน แถมอยู่ต่อมา แม่ก็ซื้อโทรทัศน์ขาวดำมือสอง 14 นิ้ว ให้พวกเราไว้ดูด้วย (เราจะได้ไม่ต้องไปเกาะหน้าต่างบ้านคนอื่นเขาดูแล้ว😁)
นั่นแหละค่ะ ช่วงชีวิตที่ลำบากที่สุดของเรา ถามว่าหลังจากนั้นเราสบายขึ้นแล้วเหรอ ก็ไม่สบายหรอกค่ะ แต่ก็ไม่ได้ลำบากถึงตอนนั้น และชีวิตเราก็ค่อยดีขึ้นเรื่อย ๆ (สำหรับเรา)
ถึงแม้ว่าชีวิตนี้สุจะไม่ได้เข้าห้องเรียนเพื่อไปนั่งเรียนหนังสือเหมือนใครเขา แต่สุก็หาความรู้ได้จากประสบการณ์ชีวิตและจากผู้คนที่สุพบเจอ
สุขอจบเรื่องราวไว้แต่เพียงเท่านี้นะคะ หวังว่าเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่เข้ามาอ่านจะมีกำลังใจในการใช้ชีวิต และก้าวเดินต่อไปข้างหน้า ☺️ และขอฝากข้อคิดดีๆไว้ด้วยนะคะว่า 👇
บางที ก็ไม่จำเป็น
ต้องยืนอยู่ในจุดที่ดีที่สุด
แค่รู้จัก……..ทำตัวเอง
ให้มีความสุข ในจุดที่เรายืนก็พอ☺️☺️☺️
_________________________
ฝากกดไลค์ กดแชร์ และคอมเม้นเพื่อเป็นกำลังให้กับใครหลาย ๆ คนด้วยนะคะ
ปล. จุดประสงค์ในการบอกเล่าเรื่องราวในครั้งนี้ เพื่อต้องการให้เพื่อนเห็นอีกมุมชีวิตหนึ่งที่หลายคนอาจไม่เคยได้เห็นเท่านั้น ไม่ได้มีจุดประสงค์อื่นใด