โดย จงเจริญ ศรแก้ว
Cover photo credit: https://www.futureofbusinessandtech.com/women-in-business/modern-leadership-as-told-by-women-in-power/#
บทความนี้ ดิฉันเขียนขึ้นเพื่อ “วารสารรวงข้าว” โดยเฉพาะ และตีพิมพ์ในเว็บไซต์นี้หลังจากวารสารเผยแพร่ออกมาเป็นรูปเล่มแล้ว
ดิฉันเป็นสมาชิกวารสารรวงข้าวอยู่หลายปีในช่วงที่พำนักในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ชื่นชมคุณภาพของวารสารและความตั้งใจของทีมบรรณาธิการเสมอมา
ไม่เคยคิดว่าจะมีส่วนร่วมอะไรอื่นได้มากกว่าการเป็นผู้อ่านที่ดี
ครั้งนี้ได้รับเชิญมาเป็นนักเขียนให้วารสารเป็นครั้งแรก รู้สึกเป็นเกียรติและขอบคุณ…พร้อมตื่นเต้นเล็ก ๆ
โจทย์ที่ได้รับคือ “พลังสตรี แม่ ภรรยา”
อืมม์ คำสามคำนี้มีพลังในตัวของมันเอง
สตรี คือ ผู้ร่วมสร้างโลก…เคียงข้างบุรุษ
แม่ คือ ผู้สร้างมนุษยชาติจากรุ่นสู่รุ่น…ร่วมกับพ่อ
ภรรยา คือ ผู้ร่วมสร้างสถาบันครอบครัว…เคียงข้างสามี
จะเห็นว่าดิฉันเน้นบทบาทสตรีที่อยู่เคียงข้างบุรุษในทุกนิยาม แต่แน่นอนว่า สตรีทุกคนสามารถมีพลังได้แม้ต้องยืนอยู่เพียงเดียวดาย ไม่ว่าจะด้วยการเลือกเองหรือเลือกไม่ได้
เรามีสตรีผู้นำโลกที่บุรุษต้องให้ความนับถือ เรามีครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ดาบแกว่ง เปลไกว เรามีภรรยาที่เป็นช้างเท้าหน้าทางเศรษฐกิจ
สตรีมีพลังได้ แม้จะไม่มีบุรุษอยู่เคียงข้าง เพราะพลังข้างในของสตรีนั้น มาจากความเป็นตัวของเธอเอง ภาระหน้าที่รับผิดชอบ และแรงบันดาลใจของเธอ
พลังจากความเป็นตัวเอง (I Am a Woman)
ในฐานะหญิงไทยคนหนึ่ง ดิฉันกล้ากล่าวว่า ความเป็นสตรี คือ สิ่งพิเศษที่โลกนี้มอบให้มนุษยชาติ สตรีเป็นตัวแทนแห่งความแข็งแกร่งแต่ก็อ่อนหวาน
เธอเป็นแม่แรงแห่งการผลิตและพยุงเศรษฐกิจของครอบครัว เธอเป็นผู้โอบอุ้มดูแลและเยียวยาที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
สตรีสวมบทบาทเหล่านี้อย่างเป็นธรรมชาติ อย่างที่สถาบันการศึกษาหรือโรงเรียนแห่งไหนก็สอนให้ไม่ได้
และถ้ามองในมุมของหญิงไทยย้ายถิ่น ดิฉันพบว่า การที่สตรีทิ้งถิ่นเกิดเพื่อมาเผชิญโลกและสังคมต่างแดน คือความกล้าหาญที่หาได้ยาก
ไม่ว่าเหตุผลของการย้ายถิ่นจะเป็นอะไร ตามหัวใจไปสุดปลายฟ้า ไปเสี่ยงโชคหางานทำ หรือไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า การย้ายถิ่นก็ยังมีความท้าทายมากมายที่รออยู่
นั่นคือ ความแตกต่างที่มหาศาลของสองประเทศในด้านภาษา อากาศ เสื้อผ้า กฎระเบียบ ตลาดแรงงาน สังคมและวัฒนธรรม การศึกษา เอกสารพำนัก สวัสดิการสังคมและระบบสุขภาพ
และที่สำคัญที่สุดคือ การทำหน้าที่เป็นคู่ชีวิตร่วมกับบุคคลต่างชาติ (รวมไปถึงเพศทางเลือก) ที่มีความซับซ้อนของครอบครัวพหุวัฒนธรรมอันกล่าวได้ไม่หมดสิ้น
แต่ในที่นี้ เราจะพบประเด็นปัญหาหลัก คือ ความคิดไม่ลงรอยด้านการเงิน วิธีเลี้ยงดูบุตรที่แตกต่าง อุปสรรคด้านภาษาและการสื่อสาร และภาระส่งเสียครอบครัวที่เมืองไทย
บ่อยครั้ง สตรีใช้ทัศนะของการ “ไปตายเอาดาบหน้า” เป็นพลังสู้ชีวิตและความยากลำบาก ไปด้วยวิธีเฉพาะของแต่ละคน หรือด้วยความช่วยเหลือของคู่สมรสหรือเพื่อนฝูง
พวกเธอบางคนอาจไม่ประสบความสำเร็จ แต่พวกเธอส่วนมาก ไม่เคยยอมแพ้ พลังแห่งการปรับตัวของเธอไม่เคยเหือดหาย
นักวิจัยสรุปไว้ว่า การแต่งงาน และ การย้ายบ้าน คือสองในสิบปัจจัยตึงเครียดสูงสุดของชีวิต (https://thriveglobal.com/stories/10-most-stressful-life-events/)
หากเป็นเช่นนั้นจริง ความกล้าหาญที่จะย้ายถิ่น ก็คือพลังที่น่ามหัศจรรย์โดยแท้ เพราะสตรีไทยกล้าเผชิญกับความเครียดสูงสุดของชีวิตถึงสองด้าน ด้วยหัวใจ ด้วยหน้าที่ และการเสี่ยงดู
พลังจากภาระหน้าที่รับผิดชอบ (Know My Duty)
สตรีไทยเกิดมาพร้อมกับคำว่าหน้าที่และความรับผิดชอบ ไม่ว่าเธอจะอยู่ในจุดไหนของสังคม ความตระหนักในหน้าที่ของลูกสาวและความกตัญญูทำให้สตรีสร้างพลังพิเศษที่จะฝ่าฟันไปสู่ความสำเร็จ หรือแม้จะล้มก็ยังมีพลังที่จะลุก เรียนรู้ และก้าวต่อ
สตรีมีดีเอ็นเอของการดูแลอุปถัมภ์ครอบครัวทันทีที่ทำได้ เมื่อเป็นลูกสาว เธอก็ต้องการเป็นลูกสาวที่พ่อแม่พึ่งพาได้ และสร้างความภูมิใจ และตอบแทนบุญคุณในรูปแบบที่เกือบจะไม่จำกัด
เมื่อเป็นภรรยา เธอก็พร้อมทิ้งหลายสิ่งที่มีความหมายต่อเธอ แม้แต่บ้านเกิดหรืองานอาชีพ เพื่ออยู่เคียงข้างสามี
เมื่อเป็นแม่ เธอก็มอบความรักความอุทิศสุดหัวใจให้กับลูกเท่าที่ความรู้คิดและความสามารถของเธอจะบันดาลได้
แต่พลังจากการมีภาระหน้าที่นั้นไม่เพียงพอ สตรียังอาศัยพลังจาก “ต้นทุนชีวิต” ที่จะทำให้เธอทำหน้าที่ “ลูกสาวที่ดี” “ภรรยาที่สมบูรณ์แบบ” “แม่ตัวอย่าง” หรือ “หญิงไทยย้ายถิ่นที่ประสบความสำเร็จ” ได้ด้วย
ต้นทุนชีวิตที่สำคัญ คือ การศึกษาในระบบโรงเรียนที่เป็นใบเบิกทางไปสู่การเรียนต่อ การหางานทำ และ สร้างความเคารพตัวเองว่าไม่ได้ต่อสู้มือเปล่าในสังคมใหม่
และเพื่อไม่ให้เกิดภาวะ “ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” หรือเกิดความท้อแท้ที่ต้อง “เริ่มต้นใหม่จากศูนย์” พลังที่ช่วยเสริมให้การศึกษานั้นมีความหมายในสังคมใหม่ คือ ทักษะทางอาชีพ และทักษะชีวิตทั้งหลาย
ทักษะอาชีพ คือ พลังสำคัญของคนไทยย้ายถิ่นที่ปฏิเสธไม่ได้ อาชีพคือความภาคภูมิใจ ยิ่งมีทักษะอาชีพหลากหลายในระดับวิชาชีพหรือผู้ชำนาญ ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะแทรกเข้าสู่ตลาดแรงงานง่ายขึ้น หรือหากไม่ใช่ผู้ชำนาญ ก็ยังใช้ทักษะอาชีพเดิมมาเป็นฐานให้พัฒนาทักษะอาชีพเพิ่มเติมในประเทศปลายทางได้
แต่พลังที่สำคัญที่สุด คือ พลังจากทักษะชีวิต ไม่ว่าจะมีปริญญาหรือไม่มี หญิงไทยย้ายถิ่นจะประสบความสำเร็จในอาชีพหรือครอบครัวไม่ได้ หากขาดทักษะการปรับตัว การเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม การสร้างสัมพันธภาพทางบวก ความรอบคอบช่างสังเกต การรู้จักแยกแยะเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน การรู้จักวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียของสิ่งที่เลือกทำ … และความกล้าที่จะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ทักษะชีวิตยังรวมไปถึงความมั่นใจในการช่วยตัวเอง เช่น ขับรถเป็น นั่งรถประจำทาง อ่านป้ายบอกทางได้ รู้จักเมืองที่ตัวเองอยู่ ใช้เครื่องมือเครื่องใช้สมัยใหม่ทั้งในบ้านและในที่ทำงาน รู้จักเอกสารประจำตัวของตนเองทั้งหมด รู้เท่าทันสื่อทางสังคมและออนไลน์ ค้นคว้าหาข้อมูลและติดต่อขอความช่วยเหลือที่ตรงด้าน
แม้จะนำเสนอเป็นประเด็นสุดท้าย ดิฉันเชื่อว่าทักษะชีวิตที่หยั่งลึกที่สุด คือ การหล่อหลอมจากครอบครัวและชุมชนสังคมในถิ่นกำเนิด ที่เป็นตัวแปรสำคัญให้สตรีมีความแกร่งหรือความเปราะในการย้ายถิ่นก็ได้
พลังจากแรงบันดาลใจ (My Aspiration)
พลังกลุ่มสุดท้าย แต่ไม่น่าจะท้ายที่สุด คือ พลังที่เกิดจากการมีแรงบันดาลใจ มีเป้าหมายในชีวิต
ดิฉันกำลังพูดถึงการสร้างความหมายให้กับชีวิตโดยแท้ แม้ว่าหญิงไทยอาจจะย้ายถิ่นเพื่อแต่งงาน เพื่อสร้างครอบครัว เพื่อมีงานทำ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า หรือเพื่ออะไรก็แล้วแต่ สุดท้าย เราต่างต้องการชีวิตที่มีความหมายกับตัวเอง และตัวตนของเราที่มีความหมายกับผู้อื่น
เป้าหมายเหล่านั้นคือพลังของสตรี ที่ทำให้เราเป็นหญิงไทยในสวิตเซอร์แลนด์ ในฝรั่งเศส ในเยอรมนี หรือในที่ไหน ๆ ก็ตามในโลกนี้ ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้
พลังจากแรงบันดาลใจของดิฉัน ได้มาจากประสบการณ์ทำงานที่สั่งสมมาตลอดชีวิต โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาสังคมและปกป้องสิทธิเด็กและสตรี
งานเหล่านี้สร้างทักษะให้ดิฉัน และดิฉันก็นำไปใช้ในการเป็นอาสาสมัครทางสังคม โดยเริ่มจากด้านที่ตัวเองถนัด เช่น งานแปล งานเขียนบทความ งานตอบคำถามให้กำลังใจ งานทำเว็บไซต์ งานทำเพจ งานข้อมูลทุกชนิด
ไปจนถึงด้านที่เริ่มท้าทายมากขึ้น คือ การเป็นผู้บริหารสูงสุดของเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป ที่ต้องใช้ทักษะที่ยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทักษะการฟัง การอ่าน การจับประเด็นอย่างไม่เอนเอียง การตีความให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงสารที่ต้องการจะสื่อ รวมไปถึง ทักษะการประสานสัมพันธ์ระดับบุคคลและระดับหน่วยงาน
สิ่งที่ยากที่สุด คือ การนำสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาในองค์กรโดยให้สมาชิกไม่รู้สึกถูกคุกคาม หรือรู้สึกว่ากำลังจะตกขอบ นั่นคือทักษะการนำทุกคนให้ก้าวไปด้วยกัน ก้าวเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ช้าบ้าง เร็วบ้าง โดยเป็นการเลือกที่จะก้าวของแต่ละคนเอง
และสิ่งที่ยากอันดับต่อไป คือ การรับคำตำหนิ คำวิจารณ์ ข้อสงสัยต่าง ๆ นานา ความเห็นแตกต่าง ทั้งที่เป็นธรรมและไม่เป็นธรรม เพื่อเป็นกระจกส่องตนเอง และสอนให้รู้จักถ่อมตน แต่ไม่อ่อนแอ
สำคัญที่สุด คือ ผู้นำจะเป็นผู้นำที่ดีไม่ได้ หากไม่รู้ว่าจะเป็นผู้ตามได้อย่างไร ดิฉันอาศัยการทำงานเป็นทีม ระบบตัดสินใจแบบเสียงข้างมาก และการถอยมาเป็นผู้เชียร์ผู้ชมเมื่อถึงเวลา
การได้มองจากมุมของผู้ตาม และการยอมรับว่าผู้นำมีหลากหลายแบบ ดิฉันเองก็มีจุดอ่อนและจุดบอดไม่น้อย นั่นคือพลังที่ช่วยให้ดิฉันบรรลุอุดมการณ์ในใจของตัวเองได้อย่างสบายใจ
สตรีมีขุมพลังจากข้างใน จากข้างกาย และจากมโนสำนึกของพวกเธอ(หรือพวกเรา)
สตรีจะยิ่งแกร่งขึ้นเมื่อทำงานเคียงข้างกับบุรุษ หากเธอเลือกเช่นนั้น
ดิฉันขอส่งพลังให้ผู้อ่านวารสารรวงข้าวทุกคนด้วยสโลแกนว่า
ด้วยรักและพลังแห่งความเชื่อมั่น
จงเจริญ ศรแก้ว
Once a woman, always a strong woman!
Mingot (France)