เรื่องเล่า – คุณปุ๊ก พจนา วีแอนเดน
ภาพปก เพจเรื่องเล่าจากหย่งศรี
ภาพประกอบเนื้อเรื่อง ปุ๊ก วีแอนเดน
โดย เพจเรื่องเล่าจากหย่งศรี
การย้ายประเทศอาจเป็นเรื่องในฝันสำหรับหลายคน การได้ไปอยู่ประเทศใหม่ สังคมใหม่ ฟังดูเป็นเรื่องหอมหวาน
แต่ในความเป็นจริง การย้ายประเทศมีความกดดัน ความตึงเครียดในหลายมิติ รวมทั้งหลายสิ่งหลายอย่างอาจไม่ได้เป็นไปอย่างหวังหรือตั้งใจ และหลายคนก็เลือกที่จะตัดสินใจย้ายกลับมายังประเทศไทย
การย้ายกลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีครอบครัวและลูกน้อยแล้ว มีสิ่งที่ต้องคิด เตรียมตัว และตัดสินใจหลายอย่าง
วันนี้หย่งศรีจะพาไปพบกับคนที่เลือกกลับมาเริ่มต้นใหม่ที่ประเทศไทย คุณปุ๊ก – พจนา วีแอนเดน CEO VP Mosquito Control Co., Ltd. & Key Account Manager Asia-Pacific ของ Biogents AG Germany ค่ะ
คุณปุ๊กเล่าว่า ตนเองมีพี่น้อง ๔ คน โดยตนเองเป็นคนที่ ๓ เรียนจบนิเทศศาสตร์ จุฬา และพบรักกับคุณดาเนียล หนุ่มหล่อชาวเยอรมัน เมื่อครั้งที่ทั้งคู่ไปเรียนภาษาที่ประเทศจีน
หลังจากคบหากันเป็นเวลาปีกว่า ทั้งสองตัดสินใจแต่งงาน แล้วคุณปุ๊กก็ย้ายติดตามสามีมาอยู่ที่เมือง เรเกนส์บวร์ก (Regensburg) ประเทศเยอรมนี มีโซ่ทองคล้องใจด้วยกัน ๒ คน คือ น้องมีนา และโนอา
ระหว่างที่อยู่เยอรมนีเกือบสิบปี คุณปุ๊กไม่เคยอยู่เฉย นอกจากภารกิจเลี้ยงลูกเต็มเวลา เธอหางานทำโดยไม่เคยเกี่ยง รวมทั้งเมื่อลูกทั้งสองโตขึ้น เธอยังขวนขวายไปเรียนต่อปริญญาโท ด้าน Culture Science/Ethnology เน้นศึกษาวัฒนธรรมของชาวเยอรมันด้วย
ถึงแม้จะเรียนทุกอย่างเป็นภาษาเยอรมัน จบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยในเยอรมนี แต่โอกาสที่จะได้งานที่ดีเหมาะกับความรู้ที่มีในเมืองเล็กๆ กลับดูริบหรี่
เมื่อคิดต่อว่า หากอยู่เยอรมนีต่อไป ตนเองก็ควรมีรายได้ เพราะลูกทั้งสองโตขึ้นทุกวัน ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว คุณปุ๊กจึงเริ่มมองหาทางออกอื่น
“เราแค่คิดว่า เราทำทุกอย่างแล้วนะ เรียนภาษา วัฒนธรรม เรียนปริญญาโท สอบได้สัญชาติ แล้วไง มันไปต่อไม่ได้ มันไม่ได้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สามีไม่ได้มีธุรกิจอะไรให้ต้องช่วยทำ เราต้องหาด้วยตัวเราเอง”
เราว่า ประเด็นหลักของเราคือเรื่องรายได้ กับความรู้สึกที่เสียดายถ้าจะต้องยังชีพด้วยการทำงานที่ต้องออกแรงมาก สมองไม่ได้ใช้และจะไม่เกิดการพัฒนา เราคิดว่าเราต้องการสร้างรายได้จากงานที่เรามีความภาคภูมิใจด้วย
หลังจากลังเลใจไปมาอยู่นาน ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้คุณปุ๊กตัดสินใจได้เด็ดขาดว่า “จะย้ายกลับประเทศไทย”
“มันคือวันที่เราได้เจอเพื่อนคนเอเชียที่เรียนภาษามาด้วยกันตั้งแต่ตอนที่เราเพิ่งย้ายมาอยู่ใหม่ เขาเป็นคนอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ร่างเล็ก เป็นนักดนตรีอาชีพ เขามีลูกหลังจากเราปีนึง และเรารู้ว่าเขาพยายามที่จะหางานในสายที่เรียนมาอยู่พักใหญ่ วันนั้นเจอเขาที่สถานีรถไฟ เขากำลังขายขนมปัง”
“ขายขนมปังเป็นอาชีพที่มีเกียรตินะ ห้ามเข้าใจกันผิด แต่เรารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อ่านตำรามาหนักหนา หรือเขียนวิทยานิพนธ์ด้วยน้ำตา เพื่อมายืน ณ จุดนี้ จุดที่ต้องมีรายได้ไปจุนเจือครอบครัว จุดที่ขอให้เป็นงานที่ไม่เอาเปรียบคนอื่น ก็ต้องทำ”
“จริงๆ เราก็เคยผ่านมาหมดแล้ว ทั้งขายไอศกรีมหน้าร้อน ดูแลความสะอาดบ้านแบบ AirBnB เป็นพนักงานในร้านกาแฟ ฯลฯ เราจึงรู้ตัวดีว่า เราต้องประกอบอาชีพที่เราคู่ควร เพราะเราไม่ได้ต้องการแค่มาขายแรงงาน เราพร้อมกลับบ้าน ไปตรากตรำในถิ่นเรา เราน่าจะมีโชคมากกว่านี้”
คุณปุ๊กบอกว่า การเจอบริษัท Biogents ที่ผลิตเครื่องดักยุงแบบไร้สารพิษ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองเรเกนส์บวร์ก นับเป็นโชคดีอย่างยิ่ง เป็นเหมือนตัวเร่งให้แผนการของเธอดูเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาได้
“Biogents” ไร้สารพิษ เพราะใช้หลักการล่อยุงจากพฤติกรรมของยุงเอง คือตามหาคนด้วยกลิ่นเหงื่อและคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราถอนหายใจออกมา ปลอยภัยร้อยเปอร์เซนต์ ไม่มีอันตรายใดๆ ต่อมนุษย์”
คุณปุ๊กมองเห็นโอกาสการทำธุรกิจนี้ในประเทศไทย ซึ่งทางบริษัทก็ยังไม่มีตัวแทนในประเทศไทยและเอเชียเลย เธอจึงตัดสินใจลองเสี่ยงด้วยทุกอย่างที่มี
“เราโกยทุกอย่างทิ้ง เฟอร์นิเจอร์ยกให้คนอื่นหมด แพคกระเป๋าแค่สี่ใบแล้วกลับประเทศไทยมาแบบมือเปล่า กับความคิดการทำธุรกิจจากเครื่องดักยุงนี้”
“เป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงแต่ต้องลอง เพราะถ้าไม่ลอง เรารู้ว่าวันหนึ่งเราจะต้องย้อนกลับมาเสียใจ”
“แม่สามีเคยสอนไว้ว่า ถ้าวันหนึ่งเจอสถานการณ์ที่ยากลำบาก ต้องตัดสินใจ ให้ถามตัวเองว่า ฉันจะกลับมาเสียใจไหม ถ้ามั่นใจว่าวันนึงฉันจะย้อนกลับมาเสียใจกับผลของมัน เราก็รู้แล้วล่ะว่าอะไรคือคำตอบที่ดีที่สุด”
และที่สำคัญ คุณดาเนียล ผู้เป็นสามี สนับสนุนการตัดสินใจครั้งนี้
คุณปุ๊กใช้เวลาหนึ่งปีในการไปๆ กลับๆ ระหว่างไทยและเยอรมนีทุกสองเดือน บินไปไทยแล้วอยู่นานหนึ่งเดือน เพื่อหาช่องทางการตลาด ทดลองติดตั้งเครื่องดักยุง ทดลองหาลูกค้าจริง สร้างโมเดลธุรกิจ ขณะที่สามีอยู่เยอรมนีและทำงานเต็มเวลา รวมทั้งเลี้ยงลูกไปด้วย ตอนนั้นน้องมีนาอายุหกขวบและโนอาสี่ขวบ
“โชคดีมีเพื่อนๆ และครอบครัวช่วยเหลือดูแลลูกๆ ให้ด้วยความเอาใจใส่ รับจากโรงเรียนไปเล่นที่บ้าน พอดาเนียลเลิกงานห้าโมงก็ค่อยไปรับกลับบ้าน เป็นช่วงเวลาที่โหดและต้องไว้ใจกันและกันทุกๆ ฝ่ายมาก”
เวลาผ่านไปครบปี ทำแบบนี้ได้สี่ครั้ง คุณปุ๊กก็เห็นว่าการอยู่สองประเทศเพื่อสร้างธุรกิจและดูแลครอบครัวไปพร้อมกันอย่างนี้คงจะแย่มากกว่าดี จึงตัดสินใจ “ย้ายประเทศ” ทั้งครอบครัว
“การตัดสินใจครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้น แบบทำเลยอย่างด่วน เสร็จสิ้นภายในสองเดือน เราย้ายมากรุงเทพฯ ตั้งแต่พฤษภาคม ๒๐๑๖ เพื่อมาให้ทันการเปิดเทอมหนึ่งที่โรงเรียนใหม่ในกรุงเทพฯ“
เช่นเคย คุณดาเนียล ผู้เป็นสามี สนับสนุนเต็มที่
แน่นอนว่า การย้ายประเทศจากเยอรมนีมาไทย ทำให้ลูกทั้งสองคนต้องปรับตัวเรื่องภาษาอย่างมาก
“ปีแรกโชคดีที่มีโรงเรียนเล็กๆ ชื่อโรงเรียน ณ ดรุณ อยู่ติดกับรั้วบ้าน เด็กๆ จึงไม่ต้องมีประสบการณ์ตื่นเช้ากินข้าวบนรถ รถติดไปโรงเรียน เรายังคงเดินไปโรงเรียนเหมือนกับตอนที่อยู่เยอรมนี โรงเรียนเลิกบ่ายสาม เรียนนานกว่าที่เยอรมนี ลูกๆ ปรับตัวได้ดี”
“มีนาต้องเข้าไปเรียนชั้นป. ๒ เลย เพื่อไล่ให้ทันกับอายุเพื่อนๆ ในห้อง ถ้าอยู่ป.๑ มีนาจะอายุเยอะสุด จะเข้ากับเพื่อนได้ยาก ตอนแรกเราก็ไม่เห็นด้วย อยากให้เริ่มป. ๑ มากกว่า แต่เมื่อพิจารณา ครูใหญ่เขาคิดถูกแล้ว”
“การเข้าได้กับสังคมใหม่ เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเด็ก ก่อนหน้าที่จะย้ายไปไทย มีนาเข้าใจภาษาไทยในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้เรียนเขียนอ่านจริงจัง การมาเรียนป. ๒ จึงต้องถูกจัดให้เรียนแยกบางวิชา”
“โชคดีว่าโรงเรียน ณ ดรุณเป็นโรงเรียนที่ค่อนข้างพิเศษ ในห้องมีนามีนักเรียนเกาหลีหนึ่งคน และต้องแยกมาเรียนภาษาไทยกัน มีนาจึงมีเพื่อนเรียนด้วย ไม่ต้องรู้สึกว่าตัวเองแปลกประหลาด”
และด้วยความเอ็นดูของคุณครู คอยสอนพิเศษ ดูแลใกล้ชิด ความสามารถทางภาษาของน้องมีนาพัฒนาเร็วมาก พอเรียนระดับป. ๓ ก็สามารถอ่านออก เขียนได้ เข้าใจหลักภาษาไทยเบื้องต้นได้ดี
ส่วนน้องโนอา เนื่องจากย้ายมาในช่วงที่ยังเล็ก ทำให้สามารถซึมซับภาษาไทยได้ คุณปุ๊กบอกว่า ในช่วงเวลานั้นน้องโนอา พูดไทยได้ชัดมาก จนคุณปุ๊กกังวลว่าจะลืมภาษาเยอรมัน ขนาดต้องหาครูเยอรมันมาสอนที่บ้านเลยทีเดียว
แต่ไม่นานนัก เด็กๆ ก็มีเหตุให้ได้กลับไปที่เยอรมนีนานหนึ่งปี เนื่องจากคุณดาเนียลมีปัญหาเรื่องวีซ่า จึงตัดสินใจกลับเยอรมนีและได้ไปทำงานที่บริษัท Biogents ด้วย ในปี ๒๐๑๙ เด็กๆ จึงกลับไปใช้ชีวิตปกติที่เยอรมนี โดยน้องมีนาเรียนป. ๔ ส่วนน้องโนอาเข้าเรียนป. ๑
“นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก เพราะพื้นฐานภาษาเยอรมันของเด็กๆ ได้รับการรื้อฟื้นและปูพื้นแน่นมาก คราวนี้พอโนอากลับมาประเทศไทย พูดไทยแทบไม่ได้เลย ทุกวันนี้ก็ยังพูดมีสำเนียงแปร่งๆ” คุณปุ๊กบอก
ปัจจุบัน คุณปุ๊กย้ายครอบครัวมาอยู่ที่เชียงใหม่ และพาเด็กๆ มาเรียนที่โรงเรียนคริสเตียนเยอรมันเชียงใหม่ (Christian German School Chiang Mai (CDSC)) ซึ่งเป็นโรงเรียนหลักสูตรเยอรมันแห่งเดียวในประเทศไทย ต้องขอให้เล่าว่าเป็นมาอย่างไร
“ตอนปี ๒๐๑๙ เด็กๆ จะย้ายกลับมาอยู่ไทย เราคิดว่าการกระชากพวกเขาให้เข้าโรงเรียนไทยบ้าง เยอรมันบ้าง เป็นเรื่องที่เหนื่อยมากสำหรับลูกๆ และเราก็ไม่คิดจะสู้กับค่าเทอมโรงเรียนอินเตอร์ที่เมืองไทย ซึ่งแพงมากๆ”
“เราลองหาข้อมูล แล้วพบว่ามีโรงเรียนไทยคริสเตียนเยอรมัน ซึ่งเป็นเยอรมันแท้ๆ ที่เชียงใหม่ เราเลยตัดสินใจบินไปพบกับผู้อำนวยการโรงเรียน และเล่าสถานการณ์ของเราให้เขาฟัง
“เพราะเด็กๆ มีผลการเรียนที่ดีจากเยอรมนี ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาหลักอยู่แล้ว การตอบรับจึงไม่ยาก”
คุณปุ๊กบอกด้วยว่า การมาเรียนที่โรงเรียนนี้ตอบโจทย์หลายอย่าง โดยเฉพาะค่าใช้จ่าย โดยค่าเทอมนั้นแบ่งเป็นระดับ อนุบาล ประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย สองคนตกปีละสามแสนกว่าบาท ซึ่งถือว่าไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับโรงเรียน RIS Swiss ซึ่งเป็นอีกโรงเรียนที่ใช้ภาษาเยอรมันในการเรียนการสอน แต่หลักสูตรแบบสวิส คุณปุ๊กเคยคำนวณว่าส่งเรียนสองคนต้องใช้เงินต่อปีถึงหนึ่งล้านบาท
ส่วนหากให้เปรียบเทียบกับการเรียนที่ประเทศเยอรมนีแล้ว ความแตกต่างของที่เชียงใหม่คือ จำนวนนักเรียนน้อยกว่า
“ตอนนี้โนอาอยู่ป. ๖ ในห้องมีเด็กยี่สิบกว่าคน มีนาเรียนชั้น ๙ มี ๗ คน แต่ละขั้นมีแค่ห้องเรียนเดียว ทั้งโรงเรียนมีนักเรียนสองร้อยกว่าคน”
คุณดาเนียลบอกด้วยว่า เท่าที่สังเกต ครูที่เชียงใหม่ดูจะเคร่งเครียดน้อยกว่า เพราะจำนวนนักเรียนที่ต้องดูแลน้อยกว่า
ส่วนข้อเสียคือ จะมีการเปลี่ยนครูบ่อย เพราะเมื่อหมดสัญญา/ครบเทอมก็จะมีครูชุดใหม่มาแทน โดยมักจะเปลี่ยนทุกสองปี เวลาครูมาใหม่ก็จะแอคทีฟหน่อย คุณครูที่ใกล้จะกลับแล้วก็อาจจะไม่กระตือรือร้นเหมือนตอนแรก
เมื่อทางโรงเรียนตอบรับ คุณปุ๊กตัดสินใจซื้อบ้านที่เชียงใหม่ ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่นี่ เพื่อให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนที่ใช่ โดยตัวเองยอมเหนื่อย บินไปมาระหว่างกรุงเทพฯ – เชียงใหม่
“พอตัดสินใจย้ายไปเชียงใหม่ ตารางชีวิตก็เปลี่ยนไปเหมือนเหรียญสองด้าน คือ ทำงานที่กรุงเทพฯ ตารางงานหนักๆ แน่นๆ สิบวันถึงสิบสี่วันรวด พอกลับบ้านไปเชียงใหม่ ก็ไปพักผ่อน เลี้ยงลูก ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ ผ่อนคลายได้ แล้วก็ค่อยกลับไปโหมงานใหม่ ตอนนี้วงจรชีวิตจึงเป็นแบบครึ่งเหนื่อยครึ่งสบาย”
“ช่วงที่สถานการณ์โควิดรุนแรง งดการบินในประเทศ ทำให้ต้องติดอยู่ที่เชียงใหม่นานติดต่อกันสองเดือนกว่า แต่ตอนนั้นงานที่กรุงเทพฯ ก็ยังต้องดำเนินต่อไป เลยทำให้เกิดโมเดลการควบคุมและวางแผนงานที่ดีขึ้น ทำให้ความจำเป็นต้องลงมาทำงานเองที่กรุงเทพฯ เป็นประจำทุกๆ เดือนลดลงไปบ้าง”
เพราะเป็นครอบครัวแล้ว การตัดสินใจเรื่องใดๆ จึงไม่ได้เป็นเรื่องของคนๆ เดียวอีกต่อไป อดถามไม่ได้ว่าคุณปุ๊กพูดคุย โน้มน้าวใจคุณสามีอย่างไรให้ตัดสินใจย้าย? รวมทั้งฝ่ายที่ย้ายตามมาต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง?
“สำหรับคู่ของเรา คนที่อยากมาเมืองไทยมากๆ (ลากเสียง) จริงๆ คือสามี เขาอยากมาลองใช้ชีวิตที่นี่ แบบว่าเบื่อเยอรมนี แล้ว”
“ดาเนียลพยายามเรียนภาษา แต่ก็ไม่ถึงกับสื่อสารได้ เขาจะจับได้เป็นคำๆ ฟังพอเข้าใจ แต่โต้ตอบกลับได้น้อย”
สำหรับชีวิตคู่ที่ต้องบุกเบิกสร้างธุรกิจด้วยกัน เราคิดว่าปัญหาเรื่องภาษาแทบไม่ใช่ประเด็น แต่จะเป็นเรื่องแนวคิดวิธีการ การโต้ตอบสถานการณ์มากกว่าที่สามารถมีผลต่อการรักษาความสัมพันธ์ ความอดทน การรับฟัง การยอมรับผิด และการให้อภัยกัน สำคัญมาก
ตอนนี้ คุณปุ๊กย้ายกลับเมืองไทยมาได้ ๘ ปีเต็มแล้ว หากมองย้อนกลับไป คิดว่าการตัดสินใจ “ย้ายกลับ” ในครั้งนี้ คิดถูกแล้วหรือไม่
“เราใช้ชีวิตบนหลักการว่า “สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นดีเสมอ” จึงยากที่จะตอบคำถามนี้”
“กลับบ้านเรา อยู่บ้านเรา ยังไงก็เรียกได้ว่าสบายกว่า คุ้นชินกว่า โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน แต่ก็มีหลายอย่างที่ทำให้คิดถึงที่เยอรมนีเหมือนกัน เช่น บรรยากาศ ฤดูกาล เพื่อนฝูง ญาติมิตร อาหารบางเมนู”
“ให้มองย้อนกลับไป ก็คิดว่าการตัดสินใจกลับมาเพื่อสร้างฐานะเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ“
“แน่นอนว่าเงินไม่ใช่ทุกสิ่ง แต่การมีเงินทำให้ลดความกังวลและสร้างอิสระทางเลือกที่มากกว่า”
“และการให้ลูกๆ ได้มีช่วงเวลาเติบโตในวัฒนธรรมที่แม่เติบโตมาก็สำคัญเช่นกัน เราเข้าใจกัน เรารู้ใจกัน ทุกวันนี้ลูกใช้ภาษาเยอรมันมากกว่าไทย และใช้ได้คล่องกว่ามาก แต่เราก็ยอมรับและไม่คาดหวังว่าลูกจะต้องแตกฉานในภาษาของแม่”
“เพราะเราคาดการณ์ว่า ลูกๆ จะกลับไปเรียนที่เยอรมนีหลังจาก Abitur ชีวิตจะเป็นของเขา สุดแต่ที่เขาอยากเลือกเดิน”
และนี่คือเรื่องราวของคุณปุ๊ก นักสู้ชีวิตอีกคนหนึ่ง ที่มองเห็นแล้วว่าการย้ายประเทศติดตามสามีไปยังเยอรมนี ไม่ได้ตอบโจทย์สำคัญของชีวิต และตัดสินใจย้ายกลับมาสร้างธุรกิจใหม่ของตนเองที่เมืองไทย รวมทั้งพาครอบครัวและลูกน้อยมาด้วย
เส้นทางของการย้าย สิ่งที่ต้องเผชิญ ต้องตัดสินใจ มีเข้ามาในทุกด้าน ทั้งเรื่องส่วนตัว ครอบครัว ลูก และธุรกิจ แต่เธอก็ฟันฝ่ามาจนถึงปัจจุบัน
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรื่องราวของปุ๊กจะเป็นประโยชน์ให้กับใครอีกหลายๆ คน ที่กำลังพิจารณาเรื่องการย้ายกลับประเทศนะคะ