เพื่อเยาวชนไทยในยุโรป (สารสตรี ๒๐๑๑)

สารสตรี 2011: (พ่อ)แม่รักลูก ลูกรู้ไหมว่า(พ่อ)แม่รัก – เพื่อเยาวชนเชื้อชาติไทยในยุโรป

คุยกันไม่รู้เรื่อง เป็นคำพูดที่ได้ยินกันจนกลายเป็นเรื่องปกติจากผู้ปกครองและเด็กวัยรุ่น เมื่อต่างฝ่ายพูดถึงการสื่อสารระหว่างกันในครอบครัว

แต่สิ่งที่คำพูดนี้สะท้อน คือ ปัญหาสากลในเรื่องธรรมชาติที่แตกต่างระหว่างคนต่างวัย ที่มาจากครอบครัวเดียวกัน ใช้เวลาส่วนใหญ่ร่วมกัน และมีประสบการณ์ส่วนหนึ่งในชีวิตร่วมกัน แต่กระนั้นลูกวัยรุ่นก็ยังมีโลกส่วนตัวที่ต่างไปจากพ่อแม่ ปัญหาการสื่อสารระหว่างกันจึงเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้ จากการที่พ่อแม่ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับธรรมชาติและโลกภายในของวัยรุ่น

ก้าวแรกของการพูดคุยระหว่างกันด้วยดีจึงต้องเริ่มจากการเรียนรู้และปรับใจรับความแตกต่าง…

วัยรุ่นคือ ?

ตามหลักสากล ช่วงวัยรุ่นมักเริ่มเมื่อเด็กมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายกลายเป็นหนุ่มเป็นสาว เด็กแต่ละคนจะเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้ว คือช่วงอายุ ๑๐-๑๔ ปี สำหรับเด็กชาย และ ๙-๑๕ ปี สำหรับเด็กหญิง

การเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นเริ่มจากทางร่างกาย ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนของแต่ละเพศที่กระตุ้นการสร้างลักษณะทางเพศของตนและร่างกาย ให้เติบโตจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ ฮอร์โมนดังกล่าวยังมีผลต่ออารมณ์ของวัยรุ่น วัยรุ่นจึงต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพจิตใจของตน ได้แต่ สนใจเพื่อนต่างเพศ ต้องการเป็นตัวของตัวเอง ต้องการการยอมรับ

วัยรุ่นยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางสังคม โดยเฉพาะในด้านการศึกษาและกลุ่มเพื่อนฝูงที่คบหา เด็กประถมต้องย้ายโรงเรียนสู่ระดับมัธยมต้น จากมัธยมต้นสู่มัธยมปลาย และมหาวิทยาลัยในที่สุด

การเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ดังกล่าว ย่อมเป็นงานหนักสำหรับวัยรุ่น วัยรุ่นจึงต้องการความเข้าใจ การสนับสนุน และความรักจากผู้ปกครองและสังคมรอบข้าง เพื่อช่วยให้พวกเขาผ่านพ้นช่วงเวลานี้ได้อย่างงดงาม

ธรรมชาติของวัยรุ่นแท้จริงแล้ว คือ ผลผลิตของการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายและสังคมของพวกเขาซึ่งอาจสรุปได้เป็น ๕ ลักษณะเด่น คือ

๑. การแสวงหาอัตลักษณ์ของตนเอง

เด็กเป็นวัยแห่งการพึ่งพา เพราะเด็กยังไม่สามารถดูแลตัวเอง จึงต้องมีพ่อแม่หรือผู้ปกครองทำหน้าที่เลี้ยงดู สั่งสอน ปกป้อง และตัดสินใจในเรื่องต่างๆ แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เด็กต้องสั่งสมประสบการณ์และทักษะเพื่อใช้ชีวิตในฐานะผู้ใหญ่ต่อไป

สิ่งหนึ่งที่เด็กวัยรุ่นต้องทำ คือ การสร้างตัวตนของตัวเองหรือที่เรียกว่า อัตลักษณ์ตัวตนนี้หมายรวมถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวเองตามที่ตนรับรู้ เช่น เป็นใคร มีลักษณะอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร มีความสามารถหรือความถนัดในด้านไหน ฯลฯ วัยรุ่นจะหาทางสร้างอัตลักษณ์ของตนตามที่คิดและต้องการ ส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ได้มาจากครอบครัว ที่เหลือคือสิ่งที่วัยรุ่นสั่งสมมาจากโลกรอบตัวของพวกเขา

ดังนั้น เด็กวัยรุ่นจึงต้องการ พื้นที่ส่วนตัวและความเป็นตัวเอง เริ่มห่างจากพ่อแม่ทีละน้อย แต่นั่นก็เพราะธรรมชาติที่อยู่ในระหว่างกระบวนการเติบโตสู่วัยผู้ใหญ่

๒. การแสวงหาการยอมรับในความเป็นตัวของตัวเอง

วัยรุ่นไม่อาจสร้าง”อัตลักษณ์” ขึ้นมา ตามที่ตนคิดหรืออยากทำได้ทันที เพราะยังขาดความมั่นใจ ความรู้และประสบการณ์ พอที่จะรู้ว่าทางเลือกนั้นดีหรือไม่ วัยรุ่นจึงต้องสร้างความมั่นใจจากการยอมรับของผู้อื่น หากคนรอบข้างเห็นด้วยและสนับสนุนในสิ่งที่พวกเขาเลือกจะเป็นหรือทำ วัยรุ่นก็จะมั่นใจว่านั่นคือทางที่ใช่ แต่หากผู้อื่นตำหนิ คัดค้าน หรือไม่สนับสนุนในสิ่งที่เขาเลือก วัยรุ่นก็จะขาดความมั่นใจ ไม่กล้า เพราะคิดว่าตัวเองไม่ดีพอ หรือเป็นในสิ่งที่ไม่ถูก ไม่ดี

และเมื่อสังคมของวัยรุ่นขยายขอบเขตใหญ่ขึ้น วัยรุ่นก็จะต้องการการยอมรับจากกลุ่มต่างๆให้มากที่สุด เพื่อสร้างความใจในโลก ทั้งที่บ้าน โรงเรียนและกลุ่มสังคมอื่นๆที่ได้พบเจอ

๓. การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อน

เพื่อนกลายเป็นกลุ่มใหม่ที่เด็กวัยรุ่นผูกพันอย่างเหนียวแน่น เพราะใช้เวลาส่วนใหญ่ที่โรงเรียนมากกว่าครอบครัวที่บ้าน และเพราะอยู่ในวัยเดียวกัน เพื่อนจึงกลายเป็นโลกใหม่ทั้งใบของวัยรุ่น เป็นที่พูดคุย ปรับทุกข์ ระบายความรู้สึก ความฝันและต้องการ เป็นโลกที่เหมือนและเข้าใจพวกเขาที่สุด

วัยุร่นจึงมุ่งสร้างอัตลักษณ์ของตนในกลุ่มเพื่อนเป็นหลัก และมองว่าการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกันเป็นสิ่งสำคัญ วัยรุ่นจึงอยากอยู่กับเพื่อนและพูดคุยกับเพื่อนได้ไม่รู้เบื่อ เพราะนั่นคือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลในโลกของเขา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์และแสวงหาการยอมรับ

๔. ความในใจด้านเพศ

ฮอร์โมนเพศชายและหญิงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ร่างกายของเด็กวัยรุ่นเปลี่ยนแปลง และเริ่มมีลักษณะทางเพศที่สมบูรณ์เหมือนในผู้ใหญ่ เด็กวัยรุ่นจึงเริ่มให้ความสนใจกับเพศตรงข้าม

ความสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามมีความสำคัญกับชีวิตวัยรุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายของวัยรุ่น ความสนใจด้านเพศเห็นได้จากพฤติกรรมหลายอย่าง เช่น ใส่ใจรูปร่างหน้าตาและการแต่งตัวมากขึ้น คบเพื่อนต่างเพศมากกว่าเดิม และอยากมีแฟน ฯลฯ

ความสนใจด้านเพศเป็นเรื่องธรรมชาติและจำเป็นต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในเวลาต่อไป

๕. การแสวงหาประสบการณ์แปลกใหม่และพฤติกรรมเสี่ยง

นิสัยเช่นนี้ เกิดจากความรู้อยากเห็นเป็นหลัก เพราะวัยรุ่นเป็นวัยแห่งการค้นหาพื้นที่ของตนเองบนโลกใบนี้ ซึ่งหลายครั้งก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่ซ้ำแบบใคร วัยรุ่นจึงต้องลองผิดลองถูก จับโน่นผสมนี่ เพื่อให้รู้ว่าสิ่งต่างๆเป็นอย่างไร เหมาะสมกับตนหรือไม่ ในด้านดี ความอยากรู้อยากลองอาจนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ แปลกใหม่ แต่ถ้าหากวัยุร่นอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี หรือไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างถูกต้อง วัยรุ่นอาจอยากลองในสิ่งที่ไม่เหมาะสมหรือเป็นอันตรายได้

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวัยรุ่น

  • ผู้ใหญ่มักมองว่า “วัยรุ่น” เป็นช่วงเวลา “ขบถ” เพราะเด็กวัยรุ่นมักต่อต้านสิ่งที่พ่อแม่สั่งสอน และแนวทางเดิมๆที่เคยมีมา แต่แท้จริงแล้ว วัยรุ่นกำลังพยายามหาแนวทางของตัวเอง เพราะธรรมชาติที่ต้องการแสวงหาอัตลักษณ์ของตนเอง
  • วัยรุ่นมักถูกมองว่า คิดอะไรแผลง” แต่ต้องเข้าใจว่า นิสัยเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการค้นหาตัวตนและการลองถูกลองผิดนั่นเอง
  • วู่วาม ใจร้อน เอาแน่เอานอนไม่ได้ ใช้แต่อารมณ์” นั่นเพราะฮอร์โมนเพศที่กระตุ้นการเติบโตของร่างกาย ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างกายยังพัฒนาไม่เต็มที่

สิ่งที่ผู้ปกครองควรเข้าใจใหม่

  • วัยรุ่นคือ วัยแห่งการก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ เป็นช่วงของการเปลี่ยน วัยรุ่นจึงต้องการความเข้าใจ ส่งเสริมและสนับสนุน
  • วัยรุ่นต้องการโอกาสจากผู้ปกครองในการศึกษาและเรียนรู้ชีวิตอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่ผู้ปกครองทำได้

ลดช่องว่างระหว่างผู้ปกครองและบุตรหลานวัยรุ่น

จากธรรมชาติทั้ง ๕ ด้านของวัยรุ่น เราอาจสรุปได้ว่า เด็กวัยรุ่นต้องการพื้นที่ส่วนตัวและแสวงหาประสบการณ์แปลกใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจและค้นหาตนเอง แต่เหนือสิ่งอื่นใด วัยรุ่นต้องการความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับเพื่อนและจากครอบครัวที่รัก เข้าใจ ยอมรับและคอยสนับสนุน เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองมีค่า มีความหมาย

การสื่อสารเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ โดยเริ่มจากการยอมรับว่า ผู้ปกครองและวัยรุ่นมีธรรมชาติและโลกภายในที่ต่างกัน รูปแบบการสื่อสารจึงต่างกัน จากนั้นผู้ปกครองก็ต้องพยายามปรับใจให้รับความแตกต่างนี้ และปรับวิธีการสื่อสารให้เข้ากับลูกวัยรุ่น

การพูดคุยที่ดีกับลูกวัยรุ่น

ควร

  • แสดงความรักและความห่วงใย อาจด้วยคำพูด หรือการแสดงออก เช่น ท่าทางใส่ใจ การบริการช่วยเหลือ การโอบกอด สัมผัสฯลฯ เมื่อมีโอกาสทำได้
  • ฟังอย่างลึกซึ้งด้วยความตั้งใจ ให้รู้ถึงความรู้สึกและความปรารถนาที่แท้จริงของอีกฝ่าย
  • แสดงท่าทีตอบรับเป็นระยะ เมื่อฟังอีกฝ่ายพูด เช่นพยักหน้า ยิ้ม ตอบรับ
  • พูดด้วยเหตุผล อย่างสงบ เยือกเย็น มีสติ
  • พูดให้ตรงประเด็นที่ต้องการสื่อสาร
  • คิดถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายและคอยสังเกตความรู้สึกของอีกฝ่าย
  • พูดถึงในสิ่งที่เป็นจริง มีประโยชน์ ทำให้ผู้อื่นมีความสุข ถูกกาละเทศะ
  • พูดหรือแสดงถึงความคิดและความรู้สึกที่มี แต่ไม่ควรใช้อารมณ์โกรธ
  • พูดด้วยน้ำเสียงที่ยอมรับอีกฝ่าย และเปิดใจกว้าง

ควรเลี่ยง

  • ขัดจังหวะ พูดแทรก หรือแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย ขณะที่อีกฝ่ายพูด
  • ใช้อารมณ์ด้านลบในการพูดมากเกินไป
  • ใช้คำพูดและน้ำเสียงในด้านลบ เช่นเสียดสี ประชดประชัน ตวาด
  • พูดตัดสิน หรือวิจารณ์อีกฝ่าย
  • พูดเพ้อเจ้อ พูดเรื่องที่เไม่เป็นประโยชน์ หรือทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์

พึงระวัง

  • อย่าคาดหวังในสิ่งที่ตนเองและผู้อื่นทำไม่ได้ ยอมรับและเชื่อมั่นในตนเองและผู้อื่น
  • สนับสนุนและพยายามเข้าใจ
  • รักษาคำพูด

คัดลอกจาก หนังสือคู่มือใช้ VCD “เทคนิคการคุยกับลูกวัยรุ่น
โดย นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล พญ.วรลักษณา ธีราโมกข์ และ พญ. ปริชวัน จันทร์ศิริ
(กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข)