เด็กกับสงคราม

เราควรปกป้องและหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกหลานของเราต้องรับฟังและรู้ถึงเหตุการณ์ร้ายแรงหรือไม่

โดย นงลักษณ์ ใจสงฆ์ เทร็พพ์ ประธานเครือข่าย ฯ แม่ลูกสาม หลานหนึ่ง

เราจะอธิบาย “การก่อการร้าย” “สงคราม” “การใช้กำลัง” ให้ลูกๆเข้าใจได้อย่างไร เราอาจพยายามปกป้องไม่ให้เขารับรู้เรื่องความรุนแรงและความโหดร้ายต่างๆ แต่เราจะปฏิบัติตนอย่างไรถ้าอยู่มาวันหนึ่งมีคนถือปืนเข้ามายิงกราดที่โรงเรียน ของลูก และวันรุ่งขึ้นลูกต้องรับรู้ว่าเพื่อนสนิทตกเป็นเหยื่อของการกระทำที่ไม่อาจหาคำอธิบายได้

ทุกคนในยุโรปหรือเกือบทั่วโลกไม่อาจลืมเหตุการณ์ร้ายล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่ปารีสได้ เราต้องยอมรับว่าแม้แต่ผู้ใหญ่เองยังไม่เข้าใจเลยว่าเกิดอะไรขึ้นแน่ และทำไมถึงเกิดขึ้น ทำไมจึงมีการฆ่าและทำร้ายคนหมู่มากที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ไม่เคยมีปัญหาหรือข้อขัดแย้งใดๆ “เหตุผล”กลายเป็นคำที่ไม่มีความหมาย ลูกหลานของเรารับสถานการณ์นี้ได้อย่างไร เราจะอธิบายให้ลูกหลานเข้าใจได้อย่างไรในเมื่อเราเองยังไม่แน่ใจว่า การก่อการร้ายคืออะไร ทำไมเหตุการณ์ร้ายแบบนี้จึงเกิดขึ้นได้

หรือว่าเราควรตัดปัญหาโดยการปิดวิทยุ ปิดโทรทัศน์ เอาหนังสือพิมพ์ไปซ่อน ห้ามการใช้อินเตอร์เน็ตเสียเลย แต่เหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นจริงๆ ในโลกที่ลูกหลานของเรามีชีวิตอยู่ เราควรปกป้องเขาจากความเป็นจริงของโลกโดยอ้างว่าเขายังไม่พร้อมที่จะรับรู้หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะคุ้มครองเขาไปได้นานเพียงไหน

เด็กสมัยนี้อยู่ในโลกดิจิตอล เขาเข้าใจสมาร์ทโฟนได้ก่อนที่เขาจะพูดได้เสียอีก

ดิฉันเองมีความเห็นว่า เราไม่ควรปิดบังเด็ก เราควรหาเวลาพูดคุยกับเขาโดยเลือกภาษา เลือกถ้อยคำที่เหมาะสมกับวิวัฒนาการของเขา กรั่นกรองแหล่งข่าว เช่น ภาพข่าวทางโทรทัศน์ ลูกอายุสี่ขวบคงไม่เข้าใจภาพโหดร้ายประกอบข่าวบนจอ เราอาจเลือกเล่าให้ลูกฟังว่าเกิดอะไรขึ้น เขาจะได้ไม่หลงเชื่อว่าโลกนี้มีแต่ความสวยงามและคนดีเท่านั้น พวกเราที่อยู่ในประเทศทีพลเมืองกินดีอยู่ดี ไม่มีสงคราม ไม่มีทหารเด็ก ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก และการทำโทษเด็กโดยการใช้กำลังนั้นผิดกฎหมาย ประเทศเหล่านี้ยิ่งต้องชี้ให้เยาวชนเห็นว่า โลกนี้มีทั้งขาวและดำ ทั้งดีและชั่ว ทั้งความสวยงามและความโหดร้ายและมีคนนับร้อยล้านที่ไม่มีโชคได้ใช้ชีวิตสงบสุขเหมือนพลเมืองของประเทศนั้น ๆ

ที่สำคัญคือเขาควรได้รับทราบเหตุการณ์ รับคำอธิบายจากคนใกล้ชิดผู้รู้และเข้าใจว่าเขารับความเป็นจริงได้เร็วหรือลึกซึ้งแค่ไหน ให้ความมั่นใจต่อเขาว่าเรารักเขาและจะปกป้องคุ้มครองเขาเสมอ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

ลูกหลานของเราจะได้เติบโตอย่างมีความเชื่อมั่นในตนเองและเชื่อมั่นในชีวิตอย่างแน่นอน

Photo credit