สถาปนิกสาวไทยในเบอร์ลิน

บทสัมภาษณ์ คุณตั้ม อัจฉรา โดย เพจเรื่องเล่าจากหย่งศรี

#เชื่อมั่นในทางที่เลือกเดิน

ตอนขึ้น ม.ปลาย เป็นครั้งแรกที่ฉันได้รู้จักกับคำว่า “สถาปัตย์” หรือคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

เพื่อนๆ ที่อยากเอ็นท์คณะนี้ จะดูเก๋ เท่ พวกเขาต้องเรียนวาดรูป และวาดออกมาได้สวยมาก มีน้ำหนักเส้นหนักเบา มีแรเงา สร้างสรรค์สิ่งสวยงามได้จากดินสอ 2B นี่ล่ะ แล้วก็ต้องเก่งคำนวณด้วยนะ

คณะนี้ไม่ใช่เข้าง่าย ที่ ร.ร. ฉัน มีแบ่งเป็นห้องสำหรับคนอยากเอนท์คณะนี้จริงๆ (สองห้อง ร้อยกว่าคน ถ้าจำไม่ผิด) แต่มีเพียงไม่กี่คนที่สอบติด ได้ไปเรียนสถาปัตย์จริงๆ

ตอนเข้ามหาวิทยาลัย หนุ่มๆ คณะสถาปัตย์ ดูเป็นที่หมายปองมาก ใครเรียนคณะนี้ก็ดูดีไปหมด (ฮา)

แล้วพอโตขึ้นมา ยิ่งได้อ่านประวัติคนมากขึ้น ก็พบว่ายิ่งน่าสนใจ คนเก่งๆ ดังๆ เท่ๆ หลายคนในสังคมที่ฉันชื่นชม เช่น ดู๋ สัญญา คุณากร, นิ้วกลม, วินทร์ เลียววาริณ, แต้ว ณฐพร ฯลฯ ล้วนแต่จบคณะนี้

ฉันทึ่งในความสามารถในการคิดของสถาปนิก พวกเขาสามารถ “คิด” สิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์หลายอย่าง ออกมาจากความว่างเปล่า รวมทั้งทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้ด้วย

……….

ดังนั้น ตอนที่ได้รู้จักน้องตั้ม – สุจิรา ครั้งแรก ผ่านทางเพจฉัน ซึ่งตั้มมาอ่านและตอบคอมเมนต์เป็นระยะ แต่ได้มาคุยกันจริงจัง เพราะเราไปลงคอร์สการเขียนของครูปรายพร้อมกันโดยบังเอิญ

และทราบว่าน้องทำงานเป็น “สถาปนิก” อยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ทำมาหลายปีแล้วด้วย ฉันจึงกรี๊ดอยู่คนเดียวหนักมาก

เป็นผู้หญิง ทำงานเป็นสถาปนิก อยู่ที่เยอรมนี ด้วยเว้ยเฮ้ย…

โหย… เก่งมาก แกร่งมาก สตรองมาก

แล้วน้องเขียนมาถามอีกว่า ซัมเมอร์นี้พอมีวันหยุด อยากขอมาเจอพี่หย่งหน่อยได้ไหมคะ มีหรือฉันจะปฏิเสธ

จะต้องขอสัมภาษณ์เลยล่ะว่า เส้นทางการเป็นสถาปนิกที่กรุงเบอร์ลินนี้ มาได้อย่างไร

วิญญาณนักข่าวเข้าสิงครั้งใหญ่ (ฮา)

……….

ตั้มเล่าว่า คุณพ่อเรียนเกี่ยวกับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และมีกิจการเกี่ยวกับงานรับเหมาภายในอาคาร จึงเป็นจุดเริ่มต้นความสนใจทางด้านการออกแบบ “บ้าน”

แต่ตอนที่เป็นเด็ก ตั้มรู้จักแต่ “มัณฑนากร” หรือผู้ออกแบบที่ว่าง (space) ภายในอาคาร

จนมาเข้าเรียนม.๑ ถึงเริ่มได้ยินและรู้จักคำว่า “สถาปนิก” ในฐานะผู้ออกแบบและสร้างบ้าน และเริ่มมีภาพในใจนับแต่นั้นว่า อยากเป็นผู้ออกแบบบ้าน อยากเรียนคณะสถาปัตย์ เพื่อจะได้มีความรู้ในการสร้างบ้าน

*ฉันคิดว่า นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า สภาพแวดล้อมส่งผลต่อความคิด/แรงบันดาลใจให้เด็กๆ อย่างไรบ้าง ตัวฉันเองมาได้ยินคำนี้ตอนม.ปลาย หูหางไม่กระดิกเลยกับ สถาปัตย์ (รวมไปถึงการตกแต่งภายใน เลือกเฟอร์นิเจอร์ สีบ้าน ฯลฯ)

ตำราเลี้ยงลูกทั้งหลายจึงบอกว่า หากเราอยากให้ลูกสนใจด้านไหน เราก็ควรแวดล้อมลูกด้วยสิ่งนั้น ตั้งแต่เด็ก (จะได้หรือไม่ก็อีกเรื่องเนาะคะ)

……….

แน่นอนว่า ตอนม.๓ เมื่ออาจารย์แนะแนวให้เขียนว่า ม.ปลายจะเลือกเรียนสายไหน และ อยากจะเอนท์คณะอะไร ตั้มเขียนว่าอยากเรียนวิทย์-คณิต และจะเอนท์ สถาปัตย์

นำไปสู่เหตุการณ์ระดับสายฟ้าฟาด ที่จำได้ถึงทุกวันนี้

“พออาจารย์เห็นกระดาษตั้ม ก็พูดว่า “อาจารย์ไม่คิดว่าเธอจะเรียนคณะสถาปัตย์ฯ ได้””

พูดกลางห้อง ทุกคนได้ยิน

ตอนนั้นตั้มได้แต่อึ้ง พยายามทำความเข้าใจว่า คงเป็นเพราะเกรดเฉลี่ยของตัวเองไม่ถึง ๓.๐๐ ที่แม้จะพอที่จะเลือกสายวิทย์-คณิตได้ แต่ดูเป็นไปได้ยากสำหรับการเข้าสถาปัตย์ อาจารย์ถึงพูดแบบนั้น

“แต่ความรู้สึกของตั้มตอนนั้น คือ ทำไมสิ่งที่เราฝัน สิ่งที่เราอยากทำถึงไม่มีค่าในสายตาอาจารย์ (หรือคนอื่น) เลยนะ”

“เราสงสัยอีกด้วยว่าสิ่งที่เราอยากทำนั้นสร้างความไม่สบายใจ สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นอย่างนั้นเลยหรือ? รู้สึกอายที่มีคนพูดต่อหน้าเพื่อนนักเรียนในห้องว่า “เราเป็นคนไม่มีความสามารถ””

“ตอนนี้มองย้อนกลับไป ตั้มรู้สึกว่า หากใครคนหนึ่งมีความฝัน แม้มันอาจดูอ่อนแรงหรือแทบเป็นไปไม่ได้ แต่จะดีกว่าไหม หากมีใครช่วยบอก ช่วยเหลือ ชี้ทางว่า เราควรปรับปรุง พัฒนาตรงไหน เพื่อที่จะได้ลองก้าวต่อไปตามที่ใจปรารถนา”

“อย่างน้อยก็ให้คำปรึกษา ช่วยชี้ทางบอกว่าให้ระวังนะ อนาคตมันจะยาก ให้เตรียมตัวเรื่องนี้ให้ดีนะ มันคงดีกว่ามาก หากได้รับกำลังใจ ไม่ใช่คำที่ทำให้เสียความมุ่งมั่น”

……….

สารภาพว่า ตัวฉันเอง หากถูกอาจารย์ฟันธงมาขนาดนี้ อาจมีท้อ เปลี่ยนใจ แต่สิ่งนั้นไม่เกิดขึ้นกับตั้ม เธอยังคงเลือกเรียนสายวิทย์-คณิต และเดินหน้ามุ่งมั่นเอนท์คณะสถาปัตย์ต่อไป

และเอนท์ติด ภาควิชาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรจนได้

แต่เส้นทางก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

“ตั้มเป็นคนไม่ถนัดวิชาคำนวณ เมื่อมาเจอโจทย์แคลคูลัสและสมการโครงสร้างที่ใกล้เคียงกับหลักสูตรของนักศึกษาวิศวะ จึงเป็นเรื่องยากมากๆ”

“ผลคือสอบไม่ผ่านจนต้องไปเรียนซ่อมในรอบเสริม ซึ่งตั้มคงเป็นอีกคนหนึ่งที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับอาจารย์ประจำวิชาเพราะสอบตกบ่อย”

ครั้งหนึ่ง อาจารย์เรียกให้ไปแก้โจทย์ที่หน้าห้อง ตั้มไม่สามารถหาคำตอบได้ถูกต้องในตอนนั้น อาจารย์บริภาษออกมาว่า “ไม่ได้เรื่อง” (ชุ่ย)

มวลพลังลบของคำว่า “ไม่ได้เรื่อง” ที่อาจารย์เอ่ยออกมา กระแทกใจตั้มสุดๆ

“ตั้มเสียใจมาก เพราะการที่เราเจอสิ่งที่ไม่ถนัดและต้องทำมันซ้ำๆ (สอบตก) โดยพื้นฐานก็รู้สึกแย่กับตัวเองมากแล้ว เราคิดเสมอว่าทำไมเราทำไม่ได้ ทำไมเราไม่เข้าใจ”

“และเห็นได้ชัดว่าเราไม่สามารถดูแล แก้ปัญหานี้ได้ตัวเอง ตั้มถูกหลอกหลอนมาโดยตลอดว่าคณิตศาสตร์เป็นสิ่งที่เรากลัว และเราก็ไม่กล้าพอที่จะเข้าชนกับความกลัวนั้น”

“คำพูดของอาจารย์จึงทำให้เรายิ่งเหยียบปัญหานั้นให้ลงลึก ซ่อนความกลัวนั้นลงไปให้มิด และไม่มีกำลังใจที่จะสู้กับความกลัวนั้นอีกแล้ว”

…………

ฟังตั้มแล้ว สารภาพ (อีกเช่นเคย) ว่า ถ้าเป็นฉัน โดนตอกย้ำขนาดนี้ หนักๆ สองครั้ง และก็สอบตกด้วย คงท้อ อาจจะเบี่ยงเบนความสนใจไปเรียนด้านอื่น เอนท์ใหม่

แต่นั่นก็ไม่เกิดกับตั้ม เธอยังคงมุ่งมั่นเรียนต่อ และในที่สุด ก็จบปริญญาตรี จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จริงๆ

ตั้มเล่าว่า ทำงานในบริษัทแลนด์สเคปที่กรุงเทพฯ เกือบสี่ปี แล้วจึงตัดสินใจมาเรียนต่อปริญญาโทที่เยอรมนี

“เหตุผลที่มาไกลถึงต่างประเทศ คือเราอยากปล่อยชีวิตเดิมๆ ออกจากบริบทสังคมเดิม และทำอะไรสักอย่างให้ตัวเอง”

“ตั้มอยากเลือกทางเดิน ตัดสินใจให้ตัวเองโดยไม่ต้องมีคำจากคนอื่น ทั้งอาจารย์และจากที่บ้านมากระทุ้งว่า เราทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีพอ หรือเราต้องทำให้ดีกว่านี้”

“ตั้มอยากเลือก ตัดสินใจ แล้วลงมือทำ และไม่ว่ามันจะดีหรือแย่ เราอยากจะก็อยู่กับผลลัพธ์ที่ตามมา เพราะมันคือสิ่งที่เราเลือกเอง”

จากเด็กที่ทั้งอาจารย์แนะแนวและอาจารย์มหาลัยปรามาส ตั้มเรียนจบปริญญาโท ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านนี้ที่เยอรมนีด้วย

และชีวิตก็ไม่ได้พาเธอย้อนกลับไปประเทศไทยอีก

“ตอนแรกตั้มไม่ได้คิดจะอยู่ต่อที่เยอรมนี หรือย้ายมาเบอร์ลินหลังจากเรียนจบปริญญาโทเลย แต่เดาว่าแรงขับเคลื่อนลึกๆ ที่มีในใจมันได้เริ่มทำงาน”

“การจะอยู่ที่นี่ได้ เราต้องมีวีซ่า และวีซ่าการทำงานเป็นตัวเลือกเดียวที่ทำได้ง่ายและสมเหตุสมผลที่สุด ด้วยเงื่อนไขของวีซ่าประเภทนี้ อีกทั้งข้อจำกัดของภาษา ทำให้ตั้มหางานได้เฉพาะในสายสถาปัตยกรรมเท่านั้น เพราะเรามีความรู้อยู่บ้างแล้ว”

และหลังจากที่ใช้เวลาหาอยู่นานพอสมควร ถูกปฏิเสธมานับครั้งไม่ถ้วน ในที่สุด เธอได้งานเป็นสถาปนิกที่เบอร์ลิน

………..

ฉันอดถามไม่ได้ว่า วันที่ได้เป็นสถาปนิกจริงๆ รู้สึกอย่างไรกับคำปรามาสในอดีต

ตั้มหัวเราะกิ๊ก แล้วตอบว่า ตอนแรกไม่ได้คิดถึงคำพูดเหล่านั้นเลย จนกระทั่งเมื่อสองปีที่แล้ว ได้มาอยู่ในทีมทำงานให้กับโปรเจ็กต์อาคารสาธารณะขนาดใหญ่ในเบอร์ลิน ต้องเจอกับวิศวกร นักออกแบบชาวเยอรมันจำนวนมาก

“ได้เห็นสมการที่เราเคยสอบตก เห็นสิ่งที่เราเจอในชั้นเรียนที่มหาวิทยาลัย (ศิลปากร) เราได้ทำงาน “ของจริง” กับสิ่งที่เรา “ไม่ผ่าน” เราได้เป็นในสิ่งที่คนไม่เคยเชื่อ”

“มันเลยทำให้ตั้มคิดได้ว่า “สิ่งที่เราเลือกตัดสินใจเอง มีความหมายนะ” การเชื่อ มั่นใจในตัวเอง เป็นสิ่งที่ทรงพลังและมีคุณค่า หากเราทำมันอย่างมุ่งมั่นบนพื้นฐานความถูกต้อง”

“ถ้าตั้มคล้อยตามคำพูดในอดีต ถ้าตั้มปล่อยให้ตัวเองอยู่กับความคิดที่ว่า “เป็นสถาปนิกไม่ได้” “ไม่ได้เรื่อง (ชุ่ย)” ตั้มจะไม่มีวันได้พบความหมายในตัวเองอย่างวันนี้เลย”

ปรบมือรัวๆๆๆๆๆๆๆ ค่ะทุกคน (มีใครน้ำตาเล็ดเหมือนฉันบ้างไหม? ฮือๆๆ)

………..

งั้นต้องให้ตั้มเล่าให้ฟังหน่อยว่า การทำงานเป็น สถาปนิกที่เยอรมนี เหมือนหรือแตกต่างอย่างไร กับที่เมืองไทย

“นอกจากภาษาและรายละเอียดของงานสถาปัตยกรรม เช่น ศัพท์ก่อสร้าง ลำดับงาน (Leistungsphasen) แล้วคือวัฒนธรรมการทำงานกับคนเยอรมัน”

“จากประสบการณ์การทำงานในไทยนั้น มีขั้นอาวุโส หรือ hierachy เยอะมาก มีความเกรงใจ มีความหยวนๆ ยอมๆ กันไป”

“แต่กับคนเยอรมัน ถึงจะมีซีเนียร์ มีหัวหน้าทีม แต่ไม่มีความเด็ก ความผู้ใหญ่ เราแลกเปลี่ยนความคิด โต้แย้ง ตั้งคำถามได้กับทุกคนแม้กระทั่งคนที่เป็นเจ้านาย”

“บางทีตั้มก็ยอมๆ หยวนๆ บ้างนะคะกับผู้ร่วมงาน แล้วแต่สถานการณ์ แต่ก็มีการพูดตรงๆ อย่างที่ไม่เคยกล้าทำตอนทำงานที่กรุงเทพฯ ด้วย (หัวเราะ)”

“การพูดอย่างตรงไปตรงมากับคนเยอรมัน ไม่ได้แปลว่าเราก้าวร้าวหรือเราคิดจะหักหน้าใคร แต่มันเป็นการทำให้ทุกคนเข้าใจในงานและเดินไปในทิศทางเดียวกัน และเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานเป็นทีม”

“ปัจจุบันนี้ ที่เยอรมนีมีแนวความคิดเรื่อง flache hierarchie หรือ flat hierachy หรือ flat organization ซึ่งเป็นไอเดียที่ตั้มว่าน่าสนใจ เพราะน่าจะช่วยลดเวลา ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นไปได้และทุกคนมีความหมาย มีความเท่าเทียมกันในทางความคิด”

“ส่วนเรื่องงานหนัก เลิกงานช้า หรืออาจทำงานไม่เป็นเวลาบ้าง น่าจะเป็นเรื่องธรรมดาของอาชีพสถาปนิกทั้งที่ไทยและเยอรมนี”

“แต่จากการทำงานในเบอร์ลินหลายปีที่ผ่านมานั้นคนที่นี่ให้ความสำคัญเวลาส่วนตัวมาก นอกเวลางานคือเวลาที่เราได้พักจริงๆ หากเจ็บป่วย ไม่สบายเราสามารถลาป่วยได้โดยไม่มีใครมาโทรหรือส่งข้อความเรื่องงาน”

……….

สุดท้ายอยากให้ตั้ม ฝากอะไรถึงคนที่อยากทำตามความฝันอย่างตั้มบ้าง น้องๆ ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้างคะ

“ศึกษาความฝันของเราให้ชัดเจนว่าอยากทำอะไร แล้วเก็บข้อมูลว่า ถ้าอยากทำอย่างนั้นต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้างในการช่วยให้ฝันเป็นจริง”

“เช่น อยากมาศึกษาหรือใช้ชีวิตต่างประเทศ ก็ควรหาข้อมูลว่าจะมาอย่างไร ต้องสมัครวีซ่าแบบไหน ภาษาควรฝึกถึงระดับไหน ต้องเตรียมเรื่องเงินอย่างไรบ้าง”

“ทำความรู้จักความฝันเราให้ดี เก็บมันไว้ให้ปลอดภัย ใช้คำครหา คำปรามาสเป็นการตรวจสอบจุดอ่อน ตรวจทานว่าเราจะไม่หลงลืมประเด็นที่สำคัญไป”

“แน่นอนว่ามันจะมีความพลาดพลั้งผิดหวังบ้าง แม้เราอาจไม่ได้ทั้งหมดอย่างที่ใจต้องการ แต่การได้เตรียมตัว ได้ลงมือทำนั้น เป็นตัวบอกได้อย่างชัดเจนแล้วว่า เราจะไปได้ไกล และมีความสามารถมากกว่าที่ตัวเองคิดมาก”

……….

และนี่คือ เรื่องราว ตัวจริง เสียงจริง ของนักสู้ชีวิตคนหนึ่งที่ไม่หยุด “ก้าวตามฝัน” และพาตัวเองมาได้ถึงฝั่งฝันจริงๆ

ตัวฉันเองรู้สึกเป็นเกียรติมากๆ ที่ได้ฟังเรื่องนี้จากปากเจ้าตัว และได้รับอนุญาตให้เอาเรื่องราวนี้มาแบ่งปันให้กับคุณผู้อ่าน เชื่อเหลือเกินว่า จะเป็นประโยชน์เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอีกจำนวนมาก

ติดตามงานเขียนของตั้มได้ที่ เพจ บ้านหมี เมืองเบียร์ ด้วยค่ะ มีมุมมองแบบ musing ของสถาปนิกสาวในกรุงเบอร์ลินให้เราติดตามอ่านกันด้วยล่ะ

แล้วก็ตั้มเคยเล่าเรื่องนี้แบบเต็มๆ ไว้ที่นี่ด้วยค่ะ
https://www.facebook.com/strangerthanparadies/photos/412816657255494

เชื่อมั่นในทางที่เลือกเดินกันนะคะทุกคน ถ้าเราไม่หยุด วันหนึ่งต้องเป็นของเราแน่ๆ ค่า

สัมภาษณ์ #สถาปนิก #เยอรมนี #ก้าวตามฝัน

Message us