ห้าถิ่นแผ่นดินงาม 4

ตอน : เยือนถิ่นบังคลาฯ – ฐากุรคาม

แม่ต้อยตีวิดที่รัก

ตอนนี้ฉันต้องเขียนจดหมายถึงเธอตุนไว้ แล้วเอาไปส่งเมล์วันหลัง ฉันอยู่ที่เมืองชื่อว่า ฐากุรคาม (Thakurgaon) จ้ะ เธอคงเคยได้ยินชื่อ ระพินทรนาถ ฐากูร์ ใช่ไหม ชื่อเมืองนี้แหละตรงกับนามสกุลท่านเลย คำว่า Gaon หรือ คาม นี่แปลว่าเมืองจ้า คนที่นี่เขาจะกระดกลิ้นจนฟังไม่เหมือน กะออน แต่ฟังเหมือน “กวน” หรือ “กัน” เป็นซะอย่างนั้น

ฉันเล่าว่าจะเดินทางโดยสายการบินพิมานแอร์ไลน์ใช่ไหม ทุกอย่างผ่านไปด้วยความราบรื่นจ้า เครื่องบินขนาดเขื่องสักร้อยที่นั่ง และมีคุณสมบัติพิเศษคือ เทคออฟสั้นและแลนดิ้งสั้น คือใช้ระยะทางวิ่งก่อนลอยลำแ่ค่หกร้อยเมตร กับใช้ระยะทางแลนดิ้งแค่ห้าร้อยเมตรก็สามารถเบรกหยุดได้ แต่ที่จริงเครื่องเขาก็ไม่ได้หยุดกะทันหันขนาดนั้น เพียงแต่เป็นความสามารถของเครื่องในกรณีต้องลงฉุกเฉินในสนามบินเล็ก ๆ เท่านั้น เธอก็รู้ว่าฉันเคยเป็นนักเรียนบินเครื่องบินเล็ก เรื่องแบบนี้ฉันเลยให้ความสนใจเป็นพิเศษ

เช้าวันเดินทางนั้น เด็กหนุ่มคนเสิร์ฟน้ำชาที่สำนักงานเขามารับฉัน พาไปบ้านมาซุด (ฉันมาทราบในภายหลังว่า นอกจากเขาจะกลัวว่าฉันไม่รู้จักบ้านมาซุดแล้ว เขาคงไม่ไว้ใจว่าแท้กซี่จะพาฉันไปที่อื่นหรือเปล่า) เรารับมาซุดแล้วก็นั่งแท้กซี่ต่อไปสนามบิน ส่วนเด็กหนุ่มคนนั้นก็กลับบ้านไป

การเช็คอินก็เรียบร้อยดี แต่สังเกตว่าต้องเอ๊กซเรย์บ่อย ค้นกระเป๋าบ่อยหน่อย หลายด่าน เพื่อความปลอดภัย ที่สนามบินเราเจอกับรัฐมนตรีกระทรวงสังคมและสตรี มาซุดก็เข้าไปทักทาย พร้อมนำฉันไปแนะนำตัว ท่านรมต.หญิงก็ดูน่าเกรงขามดี ท่านพูดคำว่า “สวัสดี” กับฉัน เพราะเคยไปรักษาตัวที่บำรุงราษฎร์เป็นเดือน ๆ ฉันก็ไม่ได้ถามว่าท่านเป็นโรคอะไร แต่เดาในใจว่า ไปรักษาเมืองไทย ค่ารักษาคงแพงน่าดู

เราได้ขึ้นเครื่องเดียวกับท่าน รมต อานิสงส์ก็คือ ทำให้เราได้บินตรงไปเมืองไสยทปุระเลย (ไม่มีเครื่องบินตรงไปฐากุรคาม) มาซุดบอกว่า บ่อยครั้งที่เครื่องจะหยุดที่เมืองกลางทาง ให้คนขึ้นลงก่อน แล้วจึงบินไปเมืองไซด์ปูร์ ซึ่งอยู่ใกล้ฐากุรคามที่สุด ฉันได้ยินแล้วก็นึกขำว่า เหมือนรถประจำทางเลยนิ

บนเครื่องบินเราก็เลือกนั่งตามสบาย มีที่ว่างเยอะ เครื่องบินดูบึกบึน แต่ก็สีสันถลอกไปแล้วหลายแ่ห่ง เก้าอี้สีสวยแต่ก็โทรมไปเยอะแล้ว กลิ่นอับพอควร ที่เก็บของเหนือศีรษะก็ชำรุด แอร์ฯผู้ชายต้องเอาไขควงมาซ่อม แต่ก็ดูเหมือนจะไม่สำเร็จ บนเครื่องนี่ก็จะมีช่างเทคนิคการบินนั่งประจำมาด้วย เกิดเครื่องขัดข้อง เสียหาย แต่ฉันยังสงสัียว่า แล้วจะจอดซ่อมกันกลางอากาศหรือว่าอย่างไร

ใคร ๆ มักบ่นกลิ่นแขกเวลาขึ้นเครื่องบิน แต่สงสัยจมูกฉันมันจะบื้อ ก็เลยไม่รู้สึกอะไร หรือกลิ่นตัวฉันมันจะแรงกว่าก็ไม่รู้ อิอิ

พอเครื่องออกตัว ลอยเหนือพื้นดิน ฉันก็รู้สึกว่า โอเคแล้ว เพราะแม้เครื่องจะเก่า แต่เสียงเครื่องยนต์หนักแน่นดี การลอยตัวก็เป็นไปอย่างน่าเชื่อมั่น ไม่มีสั่นไหว คาดว่าอากาศคงจะดีด้วย ฉันก็นั่งอย่างสบายใจจนถึงเมืองไซด์ปูร์ มองวิวนอกหน้าต่าง ซึ่งเขียวสดใส ราบเรียบสุดลูกหูลูกตา ไม่มีเนินเขามาขวางกั้น จะเห็นแหล่งน้ำน้อยใหญ่เป็นระยะ ๆ บางแห่งก็มองเห็นสายน้ำคดโค้ง ทอดตัวเหมือนงูเกียจคร้านไปตามผืนแผ่นดิน เป็นทิวทัศน์ที่สงบ งดงามแบบไม่ฉูดฉาด ฉันอดคิดไม่ได้ว่า ออกมาต่างจังหวัดอย่างนี้ การจราจรคงไม่โหดเหมือนในเมืองหลวง รถราคงสัญจรสะดวกไม่หนาแน่น

เราไปถึงเมืองไสยทปุระ เห็นคนกลุ่มใหญ่ที่สนามบินมารอรับท่านรมต.หญิง กับสมาชิกสภาผู้แทนหญิงสองท่าน (ซึ่งทำงานร่วมกับโครงการแรงงานเด็กนี่ด้วยเหมือนกัน)

ส่วนทางเรา มาซุดจัดเช่ารถไว้แล้ว เป็นรถเก๋งสภาพค่อนข้างดี คนขับเป็นหนุ่มหุ่นแข็งแรงเหมือนทหารเกณฑ์ หน้าตาสุภาพเรียบร้อย มาซุดบอกว่า จะเลือกใช้คนนี้ประจำ กับอีกคนหนึ่งซึ่งขับรถดีพอกัน

ความฝันของฉันที่จะได้เดินทางอย่างสงบ ๆ สลายลงในพริบตา พอเลี้ยวออกจากสนามบิน เข้าสู่ถนนกึ่งชนบทกึ่งหัวเมืองต่างจังหวัด ที่มีต้นไม้ ทุ่งหญ้า ตึกรามเรียงรายห่าง ๆ แต่บนถนนและริมถนนกลับไม่สงบเช่นนั้น ที่จริงรถที่นี่ไม่ได้หนาตามาก แต่เขาก็ขับกันอย่างที่รู้ ๆ “ตามสบาย ตามใจบังคลาฯ”

ดังนั้น คนขับของเราก็ตะบึงรถไปด้วยความเร็ว (เพราะไม่รถติดเหมือนในเมือง ซึ่งกลับเพิ่มความหวาดเสียวมากขึ้น) บีบแตรไปด้วยความร่าเริงและความเคยชิน เวลาแกจะแซงจักรยาน ก็จะบีบทีนึง หากจักรยานยังไม่หลบ ก็จะบีบสองทีซ้อน หากจวนตัว จักรยานดื้อด้าน ก็จะบีบยาว ๆ ข่มขู่ แต่งานนี้ไม่มีใครโกรธใคร ไม่ว่าจะเป็นสามล้อ รถซาเล้งขนของ รถบรรทุก รถบัสโดยสาร คนขับของเราก็จะปฏิบัติเสมอหน้าเหมือนกัน มีแต่ฉันที่(แอบ)นั่งถอนหายใจเฮือก ๆ ไปตลอดทาง นั่งปลงว่า “มันเป็นเช่นนี้เอง”

ดูเหมือนจะมีกฎบางอย่างที่รู้กันว่า ถ้าเป็นรถเก๋ง หรือรถใหญ่ที่ความเร็วสูงกว่า จะมีสิทธิได้ไปก่อน ไม่ว่าทางข้างหน้าจะติดหนึบแค่ไหน มันจะต้องเจอช่อง หากรถบัสสวนมาบนนถนนแคบ ๆ รถเก๋งก็จะแซงรถที่อยู่ข้างหน้าเลนเดียวกัน วิ่งไปรับหน้าเสื่อรถบัสที่มาจากอีกทาง แล้วในวินาทีอันเร้าใจ ก่อนที่รถสองคนจะมาบวกกัน เขาก็จะเบี่ยงตัวออกจากกันคนละสองสามฟุต เท่านั้นก็จะแซงผ่านไปได้ แล้วไปเจอสามล้อที่ลอยชายอีกสามสี่คัน หรือจักรยาน หรือรถคันอื่น ๆ ที่กำลังใช้พื้นที่ถนนอยู่ บางครั้งก็คนเดิน แพะบ้าง วัวบ้าง (นาน ๆ ที) สุนัขบ้าง (น้อยมาก) เด็กวิ่งเล่นบ้าน แม่บ้านกำลังเอาเมล็ดพืชหรือหญ้าฟางมาตากบนพื้นถนนบ้าง

ด้วยเหตุนี้ แทนที่ฉันได้จะชมวิวทิวทัศน์ด้วยความสบายใจ ก็เลยต้องนั่งหนวกหูเสียงแตรไปตลอดทาง แล้วยังร่วมลุ้นว่า แซงครั้งนี้จะพ้นไหม หรือจะต้องไปแงะออกจากหน้ารถบรรทุกไปด้วย สุดท้ายก็เลยชินไป ชนิดว่า แอบหลับนกในรถได้ แต่ฉันสรุปในใจได้เรียบร้อยแล้วว่า ชาตินี้คงไม่สามารถขับรถในเมืองบังคลาฯได้

เฮ้อ จากสนามบินไปฐากุรคามใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง เส้นทางค่อนข้างตัดตรง ผ่านทุ่งนานับไม่ถ้วน (และความตื่นเต้นจากวิธีขับรถของที่นี่) ฉันชอบสีเขียวของท้องทุ่งมากจริง ๆ มาซุดบอกว่า ที่นี่ทำนาได้ถึงปีละสามครั้ง บางแห่งสองครั้ง เนื่องจากเป็นประเทศลุ่มแม่น้ำร้อยสาย เอ๊ย สี่ห้าสายหลัก เข้าใจว่า เขาปลูกข้าวคนละพันธุ์กับเราจึงปลูกได้บ่อย

เราไปถึงศูนย์อบรมของโครงการที่สำคัญแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ชื่อย่อโครงการว่า MKP เป็นโครงการที่จัดการศึกษานอกโรงเรียนกับศูนย์เด็กเอนกประสงค์ ที่ศูนย์อบรมนี้จัดเป็นที่พักด้วย (แต่เราไม่ได้พักที่นี่) คุณอะซัม ผู้อำนวยการ มาต้อนรับพวกเรา คุณอะซัมเป็นชายวัยกลางคน ท่าทางแข็งแรง น่ารักมาก จัดอาหารกลางวันไว้ต้อนรับพวกเรา

เธอทายได้ไหมจ๊ะว่าฉันได้ทานอะไร ห้า ห้า ห้า ทายได้ใกล้เคียง คือ ผัดผักผงกะหรี่สีเหลือง ผักทอดกับหอมเจียว แกงปลาตัวขนาดนิ้วมืออ้วน ๆ เหลือง ๆ (ทำให้คิดถึงนักเขียนนกน้อย นามปากกาเชิงดอย ที่ชอบยิงนกตกปลาทำกับข้าวป่า ๆ ดูแกงนี้แล้วคงใกล้เคียง หึหึ) ข้าวซ้อมมือหัก ๆ (แต่คิดว่าไม่แข็งกระด้างปากเท่าข้าวไร่)

อาหารง่าย ๆ อย่างนี้ ถ้าบ้านเราก็ถือว่าอัตคัดพอควร (คือฉันมันคนภาคกลาง เกิดมาพร้อมการกินอยู่ที่อุดมสมบูรณ์ ไม่เคยไปขุดรูงูรูหนูแต่อย่างใดนะจ้ะ คิกคิก) แต่แปลกมาก ฉันทานได้อร่อย ผักทอดกับหอมเจียวนี่หอมดีจริง ๆ (วันหลังจะลองทำบ้าง) ฉันรู้สึกว่า อาหารเรียบง่ายแต่ได้รสชาติ เหมือนกับเวลาได้ไปทานส้มตำปลาร้าในหมู่บ้านอีสานที่ชาวบ้านตำให้ทาน คือ มีแต่มะละกอเพิ่งเด็ดจากต้น น้ำปลาร้านิดนึง น้ำปลาไม่มียี่ห้อ (เกลือผสมสี) กับผงชูรส กับข้าวเหนียวนึ่งร้อน ๆ เพียงแค่นี้แต่กลับอร่อยมากมายกว่าส้มตำปรุงแต่งสารพัดในเมือง ความรู้สึกของฉันต่ออาหารมื้อนี้เหมือนกันเลยจ้ะ

อ้อ มาซุดกับอะซัมเขาทานมือกัน เขาจะล้างมืออย่างสะอาด เอาแกง ผัก ผสมข้าวละเลงแล้วก็ป้อนเข้าปาก ดังนั้น ระหว่างทานเขาจึงไม่สามารถบริการเติมข้าวเติมน้ำให้คนอื่นได้ ทานเสร็จแล้วก็รีบไปล้างมือ ไม่ค่อยได้คุยกันระหว่างอาหารเท่าไร นับว่าเป็ํนการทานที่ีรวดเร็วรวบรัดดี

มีคนเตือนเรื่องน้ำดื่มว่าให้ดื่มแต่น้ำจากขวดเฉพาะยี่ห้อหนึ่งเท่านั้น แต่ฉันดูเอาว่า หากมาซุดดื่มได้ฉันก็ดื่มได้ ทางโครงการฯเขาเสิร์ฟน้ำเปล่าในขวด และมีน้ำสไปรท์มาด้วย คงรับแขกต่างบ้านต่างเมือง ฉันดื่มนิดนึงพอเป็นพิธี พบว่ารสแปลก ๆ แต่คิดว่าคงปลอดภัย ของหวานรู้สึกจะไม่มี หรือมีแต่กล้วยหรือไงเนี่ย ฉันก็ลืมเร็วเสียด้วย

ทานอาหารเสร็จพวกเราก็เดินทางต่อไปยังหมู่บ้าน มีคุณอะซัมไปด้วย แกยังเขิน ๆ ไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษ (ทั้งที่ความจริงพูดได้ดี แต่คงเกรงใจที่อยู่ต่อหน้ามาซุด) ก็เลยไม่ค่อยได้คุยกันเท่าไร เราเดินทางเพื่อไปดูศูนย์เด็กเอนกประสงค์ (Multi-purposes Child Center หรือ MCC) และโรงเรียน กศน หรือ การศึกษานอกโรงเรียน (รวมกันในศูนย์เดียว) การเดินทางก็เต็มไปด้วยเสียงบีบแตร และความตื่นเต้นจากการลุ้นว่าจะชนหรือไม่ชน ใช้เวลาอีกเกือบหนึ่งชั่วโมง ถนนตอนแรก ๆ ก็ค่อนข้างดี แต่พอใกล้ ๆ หมู่บ้านจริงก็จะขรุขระ เป็นหลุมบ่อ นั่งโยก ๆ คลอน ๆ ไป ข้อดีที่ต้องชมคือ แอร์ในรถเย็นดี

เราไปถึงศูนย์เด็กที่หมู่บ้านชื่อว่า เพียร์กันจ์ เด็กหญิงวัยรุ่นหลายคนแต่งตัวสีสดใสสวยงาม ออกมาทักทายต้อนรับด้วยดอกไม้ มีดอกบัวที่เอาตัวก้านมันมาฟั่นและร้อยเหมือนสร้อยคอน่ารักมาก และดอกไม้อื่น ๆ (ดูรูป) เป็นการต้อนรับที่อบอุ่น จากนั้นพวกเจ้าหน้าที่ก็ออกมาทักทาย แนะนำชื่อตัวเอง ฉันก็จำได้บ้างไม่ได้บ้าง

ที่ศูนย์นี้อยู่ติดหมู่บ้าน เป็นตึกชั้นเดียวก่อด้วยคอนกรีตผสมดิน มีสามห้องใหญ่ ๆ สำหรับทำกิจกรรม สอนหนังสือ สอนเรื่องสิทธิเด็ก และนันทนาการ ฉันสังเกตว่ามีกลุ่มเด็กโต (ที่ต้อนรับพวกเรา) เป็นคนจัดกิจกรรมเป็นหลัก แล้วยังมีการเล่นละครเรื่องการค้าเด็กเพื่อไปเป็นทาสรับใช้ในบ้านให้เด็ก ๆ ดูด้วย แม้ฉันไม่รู้ภาษา แต่ก็เดาได้จากการแสดงออกของเด็ก ๆ

ตอนแรกก็มีเฉพาะเด็ก ๆ ที่อยู่ในชั้นเรียน แต่เผลอแป๊บเดียว เด็กจากทั้งหมู่บ้านท่าจะขนกันมาพร้อมด้วยแม่ ๆ มายืนดูฝรั่ง เอ๊๊ย คนต่างชาติกันเต็มลานศูนย์ฯ ไม่ว่าฉันจะเดินไปดูกิจกรรมห้องไหน ก็จะมีใบหน้าของเด็กสลอนอยู่นอกหน้าต่าง จับจ้องดูด้วยความอยากรู้อยากเห็น ทุกสายตาเต็มไปด้วยความไร้เดียงสา ความอยากรู้ ความเป็นมิตร พอฉัีนยิ้มให้ก็จะยิ้มอาย ๆ กลับมา หรือหัวเราะกันเอง ทั้งเด็กในห้องและนอกห้่อง

ฉันมีโอกาสได้คุยกับน้อง ๆ ที่เป็นแกนนำ น้อง ๆ เหล่านี้อายุระหว่าง ๑๑ ถึง ๑๗ ปีเป็นกลุ่มผู้นำเด็กและคณะกรรมการเด็ก ที่ได้รับการอบรมทักษะผู้นำ ทักษะชีวิต ความรู้เรื่องสิทธิเด็ก และปัญหาการค้ามนุษย์มาจากองค์กรด้านเด็กแล้ว เป็นเด็กเฉลียวฉลาด แจ่มใส กล้าแสดงออก แต่อ่อนหวาน เหมือนช้างเผือกในป่าจริง ๆ เธอเอ๋ย ฉันเพลิดเพลินที่ได้คุยกับเด็ก ๆ มีมาซุดช่วยแปล แล้วในห้องเล็ก ๆ ที่อับแสงก็เหมือนสว่างไสวด้วยแสงแห่งความหวัง ระหว่างคุยกันเด็กนอกห้องก็ค่อย ๆ ลามเข้ามาในห้องจนแออัดไปหมด เพราะอยากมาฟังด้วยว่าเขาคุยอะไรกัน นี่อาจจะเป็นความต่างจากเด็กไทยที่จะขี้อายมากกว่านี้ อย่างน้อยเด็กไทยจะไม่กล้าล้นเข้ามาในห้องประชุมเป็นแน่

เสร็จแล้ว ก็มีเด็กชายหญิงสองคนแต่งตัวแต่งหน้าเต็มยศมาร้องและรำให้พวกเราดู สั้น ๆ ฉันก็ทำตัวเป็นแขกที่ดีคือถ่ายรูปดะไปหมด เป็นการเก็บภาพประทับใจไว้ ทั้งรายชื่อเด็กบนฝาผนัง แผนผังกิจกรรม ชื่อคณะกรรมการ ชื่อโรงเรียน เพราะรู้ว่าจดไม่ทันแน่ เอารูปถ่ายไว้เป็นหลักฐานดีกว่า คนที่นี่ไ่ม่ขี้อาย มาขอถ่ายรูปกับฉันด้วย เห็นกล้องก็สนอกสนใจ มาซุดบอกว่า เขาไม่ค่อยเห็นคนต่างชาติกับไม่ค่อยเห็นรถยนต์เข้ามาในหมู่บ้านเท่าไร ตอนเราเดินกลับไปที่รถ เขาก็จะเดินตามกันมาเป็นพรวน ล้อมรถยนต์ไว้ ต้องทำไม้ทำมือให้หลบรถตอนรถจะออกตัว สะท้อนให้เห็นว่าคนที่ “ไม่กลัวรถ” จริง ๆ จ้า เธอ

ฉันสังเกตว่า คนทำงานโครงการที่นี่แต่งตัวสุภาพสมถะจริง ๆ คือไม่มีลักษณะแต่งตัวตามสบาย ผู้ชายจะแต่งเหมือนไปธุระราชการ เสื้อเชิ้ตไม่แขนสั้นก็แขนยาว กางเกงเรียบร้อย ไม่มีกางเกงยีนส์ รองเท้าหุ้มมิดชิด ก็เห็นมีรองเท้ากึ่งแตะบ้่าง ชาวบ้านที่เห็นก็ใส่เสื้อผ้าสะอาดดี ไม่เก่าเปื่อย สีสันหลากหลาย แม้ว่าบางทีจะดูรู้ว่า ไม่ใช่เสื้อขนาดของคนใส่ เช่นเด็กอาจใส่เสื้อที่หลวมโพรก ก็ยังถือว่ามีเสื้อผ้าใส่ ผู้หญิงที่โตแล้วจะใช้ผ้ามากหน่อยเพื่อปกปิดร่างกายให้เรียบร้อย หญิงมุสลิมที่ปิดหน้าหรือปิดผมไม่ค่อยมีให้เห็น ผู้หญิงหากไม่ใส่กระโปรงยาว ก็กางเกงพื้นเมืองยาว หรือแต่งส่าหรี เสื้อก็แขนยาว หรือแขนสั้นหากยังเป็นเด็กหญิงอยู่ ฉันไม่มีโอกาสได้เห็นคนจนมาก ๆ ที่ไม่มีแม้แต่เสื้อผ้าติดตัว

จากศูนย์ฯเด็ก แสงแดดเริ่มอ่อนตัวลงแล้ว พวกเราเดินทางต่ออีกสักสิบห้านาทีก็ไปถึงหมู่บ้านชายแดนติดอินเดีย ไปที่โรงเรียนแ่ห่งหนึ่งซึ่งมีคณะชาวบ้านชายหญิงมารออยู่นานแล้ว นึก ๆ ฉันก็เกรงใจชาวบ้างจัง เรานัดเขาแล้วไม่เคยตรงนัดสักที เขาก็ไม่ว่า ขณะเดียวกัน เราเดินทางหลายทีก็กะเวลายากมาก แต่ละที่ก็ล้วนแต่น่าสนใจน่าศึกษา จะใช้เวลาแค่เดี๋ยวด๋าวก็ไม่ค่อยได้เรื่อง (ภาพข้างล่างคือคุณอะซัมทางขวามือ กับเด็ก ๆ จ้ะ)

กลุ่มคนที่เรามาพบคือ กลุ่มเฝ้าระวังชุมชน ซึ่งมาพร้อมกันจาก ๓ หมู่บ้านเกือบ ๖๐ คน ประมาณว่า ให้ฉันได้เจอพร้อมกันหมดเลย เป็นกลุ่มที่น่าประทับใจมากจ้ะ ชาวบ้านทั้งชายหญิงล้วนแสดงออกฉาดฉานเชื่อมั่นแต่ไม่เว่อร์ พวกเขาและเธอต่างพูดเป็นเสียงเดียวว่า ตอนนี้เข้าใจปัญหาการค้าเด็กแล้ว แต่ก่อนเวลาเด็กหายไปจากหมู่บ้านก็จะเรียกว่า “เด็กสูญหาย” ไม่รู้ว่าหายไปไหน เวลามีใครมาหลอกเอาเด็กไปก็เรียกว่า “คนหลอกเด็ก” แต่ตอนนี้รู้แล้วว่า พวกนี้เป็นนักค้ามนุษย์แบบหนึ่ง

เนื่องจากบังคลาเทศเป็นประเทศเล็ก (หนึ่งในสามของเมืองไทย) แต่มีประชากรสองเท่า ร้อยสี่สิบล้าน พื้นที่ต่อประชากรจึงน้อยมาก แม้แต่ชนบทก็ยังดูหนาแน่นด้วยผู้คน หมู่บ้านที่มีคนสองสามพันคนถือว่าปกติ และการที่คนมากมาย ลูกมากมายนี้ บางทีเวลามีคนแปลกหน้าเข้ามา แล้วล่อหลอกเด็กขึ้นรถไปจึงมักจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ตอนหลังเมื่อโครงการได้เข้าไปอบรมให้รู้จักปัญหาการค้าเด็ก ชาวบ้าน ครู ช้าราชการท้องถิ่น ผู้นำศาสนา นักเรียนที่แข็งขันจึงรวมตัวกันเป็น “กลุ่มเฝ้าระวัง” ที่คอยดูว่า มีใครแปลกปลอมเข้าออกในหมู่บ้าน ช่วยกันสอนเด็กในโรงเรียน บอกพ่อแม่กับเด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนให้ระวังเนื้อระวังตัว และส่งลูก ๆ ไปเรียนหนังสือเสีย จะได้เป็นภูมิคุ้มกันตัวเอง เป็นการทำงานที่ค่อนข้างได้ผลทีเดียวในแง่การสร้างความตระหนัก

กลุ่มเฝ้าระวังที่ฉันได้ไปพบนี่ก็มีผลงานช่วยเหลือเด็กที่ถูกหลอกไปไกลถึงอินเดียให้กลับบ้านได้อย่างปลอดภัย แล้วยังช่วยให้เด็กที่ออกจากโรงเรียนได้กลับมาเรียนหนังสือ หรือป้องกันไม่ให้เด็กต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เป็นการลดความเสี่ยงจากการถูกล่อลวงได้ด้วย เป็นความงดงามเล็ก ๆ ที่อยู่ไกลโพ้นทางภาคเหนือของเมืองบังคลาฯ

เราลาจากกลุ่มเฝ้าระวังเมื่ออาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว มาซุดค่อนข้างกังวลใจเพราะไม่อยากเดินทางค่ำ เราจึงเร่งรีบผันผายออกเดินทาง แม้ว่าจะมืดแล้ว คนก็ยังใช้ถนนกันอยู่ ทั้งเดินเท้าหรือปั่นจักรยานปั่นซาเล้ง คนขับของเราก็บีบแตรเหมือนเดิม แถมเปิดไฟสูงตลอดทาง จะหรี่ก็เฉพาะเวลารถสวน เรียกว่าไม่เกรงใจคนเดินถนนที่สวนมาเลย ฉันก็นึกแปลกใจ แต่พอเขาหรี่เป็นไฟต่ำก็เลยเข้าใจ เพราะรู้สึกว่าไฟต่ำเขาจะไม่ทำงาน หรือแสงน้อยมาก เขาก็เลยใช้ไฟสูงดีกว่า จะข่มขู่โจรที่คอยดักจี้ปล้นหรือเปล่า มาซุดก็ไม่ได้บอก

ไปถึงที่พักแล้ว ตัดสินใจยังไม่อาบน้ำ แต่เขียนงานนิดหน่อยก่อน พอได้เวลามาซุดก็มาเรียกไปทานข้าว เธอจ๊ะ คนที่นี่เขาไม่ค่อยหวานเท่าไร ไม่ค่อยถามว่าอยากได้อะไรอยากทำอะไร คือจะพาไปทำอะไรก็ไปเลย แ่ต่ฉันก็ไม่มีปัญหาอะไร สบายใจดีเสียอีกว่า ไม่ต้องเกรงใจคอยรับความช่วยเหลือจากใคร

อาหารเย็นไม่ผิดหวังเลยจ้า อาหารบ้านนี้อร่อย ทั้ง ๆ ที่ก็คล้าย ๆ เดิม แต่คงเป็นรสมือ มีผักผัดผงกะหรี่ เป็นมะละกอดิบกับผักอีกสองสามอย่าง แต่หวานผักอร่อย มีแกงปลาให้ฉัน แกงไก่ให้มาซุดกิน วิธีแกงคล้าย ๆ กัน มีอาจาดปลาซิวกับกุ้งฝอยจานเล็ก ๆ ทานเป็นเครื่องเคียง วันนี้ได้กินจาปาตีแทนข้าว และมีแตงกวาสดมาด้วย คราวนี้ฉันกล้าทานผักสดขึ้นมาบ้าง เพราะรู้สึกที่นี่เหมือนบ้าน สะอาดดี

(ให้เธอดูกาน้ำชาที่เขาขายข้างทางจ้า ฉันได้ดื่มชาจากกานี้มาแล้วนะ ท้องไม่เสียแต่ประการใด)

ทานเสร็จก็ต่างแยกย้ายกันเข้านอน มาซุดนั่งสูบบุหรี่โดยไม่มีเพื่อน เพราะฉันไม่สูบ ด้วยเหตุนี้เราก็เลยไม่ได้ทำความรู้จักกันให้มากนัก ซึ่งก็ดีสำหรับฉันที่ต้องมุ่งเรื่องเก็บข้อมูลเอามาเขียนก่อน โดยทั่วไปมาซุดเป็นคนที่รอบรู้ปัญหาสังคม การเมือง เศรษฐกิจ สมกับเคยเป็นนักข่าว ฉันได้ความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับประเทศนี้ตั้งเยอะก็จากเขานี่แหละจ้า

เอาละวันแรกในภาคเหนือผ่านไปด้วยดี ฉันชักชอบประเทศนี้ขึ้นมาแล้วสิเธอ แปลกไหม รู้สึกทุกอย่างมันลงตัวดี

ราตรีสวัสดิ์จ้า

แม่นกน้อยเจนีวาในแดนไกล

Photo credit

อ่านตอนที่แล้ว

อ่านตอนต่อไป

Message us