ห้าถิ่นแผ่นดินงาม 5

ตอน : เยือนถิ่นบังคลาฯ – ทินาชปุระ (Dinajpur)

แม่ต้อยตีวิดที่รักยิ่ง

เริ่มสนุกขึ้นมาเรื่อย ๆ แล้วจ้า ฉันยังเรี่ยวแรงดีอยู่ แม้ว่าจะนอนไม่ค่อยเต็มอิ่มนักก็ยังไม่ถือว่าลำบากอะไรมากมาย

อาหารเช้าที่เกสต์เฮ้าท์น้อย ๆ นี่อร่อยจ้า ได้ทานจาปาตี กับผัดผักจากเมื่อคืน แล้วก็ยังเอากล้วยมาฝานใส่จาปาตีทานกับน้ำชา อร่อยดี

พวกเราเช็คเอ้าท์ เพราะคืนนี้จะต้องไปพักที่เมืองทินาชปุระ (Dinajpur) มีเจ้าหน้าที่หนุ่มของทารังโก้ (จำได้ไหมที่ฉันไปเยี่ยมสำนักงานใหญ่ได้เจอกับคุณโคหินูร์ กับคุณเมือง) เจ้าหน้าที่สนามคนนี้ชื่อว่า จอร์จ มารับพวกเรา เพื่อนำทางไปดูโครงการ จอร์จพูดภาษาอังกฤษได้ดี ฉันเลยได้คุยซักถามในรถอย่างเพลิดเพลินเกี่ยวกับหลักสูตรอบรมความเป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็ก ที่เน้นสตรีที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้โดยเฉพาะ (หรืออ่านได้นิดหน่อย) หลักการคัดเลือกก็ดูจากเกณฑ์ความเสี่ยงของเด็ก ๆ ที่จะถูกค้า เช่น ครอบครัวยากจนมาก เด็กไม่ไปโรงเรียน หรือผลการเรียนย่ำแย่ท่าทางได้ออกโรงเรียนแน่ หรือมีพี่น้องที่ไปทำงานในเมือง เคยถูกค้า ฯลฯ

(ถนนในชนบท)

ฉันไปได้หนังสือคู่มือเล่มใหญ่ ภาพเยอะมาจากคุณโคหินูร์ เป็นคู่มือใช้อบรมแม่บ้านให้รู้จักทักษะธุรกิจโดยไม่ต้องรู้หนังสือก็ได้ มีการสอนเรื่องคิดเลข (จะขายของก็ต้องบวกเลขเป็น) การคำนวณค่าใช้จ่ายรายเดือน (แต่ละเดือนมีภาพไร่นาหรือเหตุการณ์ทางธรรมชาติประกอบ) ได้ถือติดมือมาเป็นคัมภีร์อ้างอิงด้วย

จอร์จตอบคำถามได้ดี ทำให้ฉันได้ความรู้เพิ่มเติม เช่น เวลาแม่บ้านมาอบรมแล้ว จะเลือกอาชีพ ขอรับเงินทุนจากโครงการนั้้น ทางโครงการก็จะเชิญพ่อบ้านมาพูดคุยทำความเข้าใจให้เห็นความสำคัญของกิจการเล็ก ๆ ของแม่บ้่านนี้ด้วย ส่วนใหญ่แรก ๆ พ่อบ้านก็จะไม่เห็นด้วยเพราะวัฒนธรรมของเขาผู้หญิงไม่ทำงาน (แต่ทำงานบ้าน) ไม่ออกนอกบ้าน ยกเว้นไปไร่นา ไปธุระ ดังนั้นการที่จะมาเป็นเจ้าของกิจการแม้จะเล็กแค่ไหนก็เป็นเรื่้องที่แหกคอกในสายตาชาวบ้านหัวโบราณทีเดียว แต่จอร์จและเจ้าหน้าที่ก็สามารถพูดคุยให้เหตุผลกับพ่อบ้านเหล่านี้ได้ จนหลายคนมาร่วมช่วยภรรเมียทำงาน กิจการก้าวหน้า

(ร้านขายของของอณุวรา)

พวกเราก็นั่งรถโคลงเคลงกันจากฐากุรคามไปทินาชปุระ ซึ่งอยู่ค่อนไปทางตะวันตก ติดชายแดนอินเดีย ไปตามเส้นทางผ่านทุ่งนาเขียวสวยและหนองน้ำ จนไปถึงหมู่บ้านเล็ก ๆ ริมทางมีร้านขายของ ปลูกเป็นเพิงไม้เล็ก ๆ ปรากฏว่านี่คือที่ที่สตรีกลุ่มเป้าหมายคนหนึ่งได้รับเงินทุนมาเปิดร้านขายของเล็ก ๆ ฉันก็ลงไปคุยจ๊ะจ๋าทันที โดยมีมาซุดกับจอร์จช่วยแปล ได้ความว่า อณุวรา (ชื่อเพราะ) นี้มีลูกมาก เข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง ก็เลยได้รับคัดเลือกไปรับการอบรม ได้คู่มือกับประกาศนีบัตรมาประดับ (ดูรูป) แล้วก็นำเงินทุนมาเปิดร้านขายของ ซึ่งที่จริงเงินที่ได้ก็แค่สองพันห้าร้อยตะกะ ไม่พอเปิดร้าน อณุวราก็เลยขายแพะเอาเงินมาเสริม สามีของเธอก็ให้ความช่วยเหลือดี มีการทำบัญชีง่าย ๆ ไว้ดูประกอบ (ต้องไม่ลืมว่า พวกผู้หญิงจะอ่านหนังสือไม่ค่อยออกเขียนไม่ค่อยได้กัน) รายได้ประมาณวันละหกเจ็ดสิบตะกะ ไม่มาก แต่มาซุดบอกว่าโอเคสำหรับหมู่บ้านห่างไกลเช่นนี้

(อณุวรากับสามี และคู่มือการอบรม กับใบประกาศ)

ฉันก็อยากรู้อยากเห็นขอดูบ้านช่องห้องหับเขา เขาก็พาไปดูด้วยความเต็มใจ ก็พบว่า ซ่อมซ่อ ยากไร้เอาการ มีเตียงนอนกับมุ้งเก่า ๆ ข้าวของจุกจิกนิดหน่อย ไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ก็เห็นว่ามีความตั้งใจปัดกวาดเก็บให้เป็นระเบียบอยู่เหมือนกัน ส่วนห้องน้ำห้องส้วมนั้น แยกไปอยู่ใกล้ ๆ เขตบ้าน แต่ฉันไม่กล้าไปดู

วันเดียวกันฉันก็ได้ไปดูสตรีนักธุรกิจรายย่อยอีกคนหนึ่งคือ นาร์กิส คนนี้สาวกว่าอณุวรา มีลูกสามคนน่ารัก ร้านของนาร์กิสใหญ่มั่นคงกว่า ก่อด้วยดิน นาร์กิสทำขนมขายเองด้วย โดยได้รับการอบรมทำขนมจากโครงการ ขนมนี้เป็นเหมือนขนมเกลียวเล็ก ๆ ลองทานแล้วหวาน ๆ อร่อยดี ฉันช่วยอุดหนุนไปสิบตะกะ สามีของนาร์กิสเป็นช่างไฟ ก็เลยค่อนข้างหัวดีหน่อยทั้งสามีภรรยา ค่อย ๆ ต่อทุนที่ได้มาตกแต่งขยายร้านจนค่อนข้างใหญ่ใช้ได้

(ร้านของนาร์กิสค่อนข้างแน่นหนามั่นคงกว่าของอณุวรา)

สตรีทั้งสองนี้เป็นเพียงตัวแทนสตรีอีกสามร้อยคนที่ได้รับการอบรมจากโครงการ ฉันลืมบอกแม่ต้อยไปว่า ที่เมืองบังคลาฯนี้ ยังถือว่าเป็นเรื่องต้องห้ามที่ผู้หญิงจะออกไปทำงานนอกบ้าน ดังนั้น เส้นทางอาชีพของนาร์กิสหรืออณุวราจึงไม่ง่าย ต้องผ่านด่านทำความเข้าใจกับครอบครัว (สามี) ให้ยินยอมก่อน ไหนจะยังชาวบ้านและผู้นำชุมชนที่(แน่ละ)คอยเฝ้าดูด้วยความไม่เห็นด้วยหรืออาจมาพูดให้เขวได้ แต่นาร์กิสบอกว่า ตอนนี้ร้านของขายดี มีรายได้ ทำให้ผู้หญิงคนอื่น ๆ ในหมู่บ้านอยากมาฝึกอาชีพ ฝึกทักษะธุรกิจกันบ้าง นี่คือผลทางบวกที่มองเห็น

(นาร์กิสกับครอบครัว)

วันนี้โปรแกรมค่อนข้างแน่น เราไปดูศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนเล็ก ๆ ในหมู่บ้านด้วยอีกสองแห่ง ได้เจอกับเด็ก ๆ น่ารักสดใส แห่งหนึ่งเตรียมดอกไม้ไว้ต้อนรับ ทั้งสองแห่งเป็นโรงเรียนเล็ก ๆ ปลูกด้วยไม้ที่หาได้จากในหมู่บ้าน หลังคามุงจาก ด้วยแรงงานของพ่อแม่เด็กและสมาิชิกชุมชน ครูก็มาจากในท้องถิ่น แต่ต้องผ่านการสอบคัดเลือก เพื่อให้คุณภาพมาตรฐาน จะมีเจ้าหน้าที่นิเทศคอยตรวจงานของคุณครูตามศูนย์ต่าง ๆ ซึ่งมีกว่าร้อยห้าสิบศูนย์ด้วยกัน สาเหตุที่ไปปลูกโรงเรียนเสียไกลและมากมายก็เพื่อให้เข้าถึงหมู่บ้านยากจนที่เด็ก ๆ ต้องเสี่ยงต่อการไปขายแรงงาน หรือถูกล่อลวง และครูที่มาจากหมู่บ้านก็จะเข้าใจเด็ก ๆ มากกว่า ทางโครงการบอกฉันว่า เด็ก ๆ ที่มาโรงเรียนนั้นจะอยู่ไม่ไกล บางคนเดินแค่สิบนาทีก็ถึงโรงเรียนจ้ะ

ตอนเที่ยงเราแวะที่องค์การพัฒนาชุมชนอีกแห่งหนึ่ง ชื่อ SUPK ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่มีเครือข่ายมากมาย ได้เงินอุดหนุนจากรัฐค่อนข้างมาก แต่หัวหน้าองค์กรเพิ่งเสียชีวิตไปกะทันหันด้วยโรคร้าย เจ้าหน้าที่และคณะกรรมการยังขวัญเสียกันอยู่ แต่ทุกคนก็ต้อนรับฉันเป็นอย่างดี อาหารกลางวันก็คล้าย ๆ ที่ทานวันก่อน ๆ คือ แกงกะหรี่ไก่ ปลา ผัก ข้าว แล้วก็กล้วย ฉันว่าปลาวันนี้ก้างเยอะ แต่ก็อร่อยดี ส่วนไก่ฉันไม่แตะจ้า

(ทีมงานเฝ้าระวังในชุมชน ท่าทางเอาจริงเอาจังกันทั้งนั้น)
ฉันยังได้เจอกลุ่มเฝ้าระวังชุมชนอีกกลุ่มหนึ่งที่โรงเรียนสอนศาสนาของอิสลามจ้ะ ผู้นำกลุ่มเป็นครูใหญ่โรงเรียน เป็นคนอบอุ่นมาก ขอพรให้พระเจ้าคุ้มครองฉันที่เดินทางมาไกลเพื่อมาพบกับพวกเขา ทำให้ฉันซาบซึ้งมาก เพราะฉันนั้นกลับเป็นฝ่ายคิดว่า ทำให้พวกเขาต้องลำบากมาต้อนรับ นี่แหละนะ มองต่างมุมกัน แต่เป็นมุมบวกทั้งคู่ ก็เลยมีแต่ได้กับได้ Win-win จ้า

ฉันเองประทับใจกับกลุ่มนี้มาก คิดว่าเป็นกรณีตัวอย่างของ “แนวปฏิบัติที่ดี” ตัวอย่างหนึ่งทีเดียว ทั้งกลุ่มมีสมาชิกผู้หญิงสามคน เป็นนักเรียนอิสลามรุ่นโตสองคน และสตรีผู้ใหญ่รุ่นคุณแม่อีกหนึ่งคน พวกเขาบอกฉันว่ารวมตัวกันมาได้ห้าปีแล้ว และทำงานอย่างเข้มแข็ง ช่วยป้องกันเด็กถูกล่อลวงได้หลายคน และมีความคิดอ่านที่จะรณรงค์สร้างความเข้าใจให้กับชุมชนต่อไป พวกเขาเห็นคุณค่าของการศึกษา อยากให้มีศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอีกหลาย ๆ แห่ง มีต่อไปนาน ๆ เด็ก ๆ จะได้มีที่เรียน ปัญหาหนึ่งของโครงการก็คือ การทำงานเพียงแค่ปีสองปีก็ต้องจากไป เงินก็หมดลง งานก็ไม่ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของทุกประเทศที่ได้เงินทุนภายนอกมาทำงาน แล้วไม่มีองค์กรในประเทศหรือรัฐมารองรับต่อ

(ครูใหญ่คือผู้ชายแถวหน้าสุด มีหมวกขาวเสื้อตัวยาว ส่วนพี่สาวฉันก็ผู้หญิงแถวหน้าซ้ายสุดกับลูกสาวจ้า)

เราคุยกันสักครึ่งชั่วโมงก็ขอลาไปดูละครชุมชน แต่ก่อนไปก็ถ่ายรูปร่วมกันที่หน้าโรงเรียนด้วย คุณแม่ที่อยู่ในกลุ่มนี้ เธอเกิดชอบใจฉันขึ้นมาท่าไหนก็ไม่รู้ ขอติดรถไปด้วย ระหว่างทาง เราหยุดที่โรงเรียนน้อยอีกแห่งหนึ่งอย่างรวดเร็ว ไปทักทายครูกับนักเรียนที่รออยู่ แล้วทั้งแขก(ต่างชาติ)กับครูนักเรียนก็พากันมุ่งหน้าไปดูละคร ที่อยู่ห่างไปสักกิโล ได้ทราบว่าครูที่สอนอยู่โรงเรียนนี้เป็นน้องสาวของคุณแม่ที่มากับฉันนี่แหละจ้ะ

(บรรยากาศในโรงเรียน กศน จ้า)

แล้วเราก็ได้ไปเจอสมาชิกสภาผู้แทนสตรีสองคนที่เจอกันที่สนามบิน (พร้อมรัฐมนตรีหญิง) อีกครั้งที่หน้าเวทีละครจ้า เนื่องจากท่านสมาชิกสภาผู้แทนฯทั้งสองได้รับเลือกตั้งมาจากเมืองนี้ มาซุดกับฉันได้รับเชิญให้ออกไปพูดหน้าเวทีกับชาวบ้าน ไอ้ฉันละก็ไม่อยากเชียว ไม่ใช่อาย แต่เพราะรู้สึกว่าไม่มีอะไรจะพูดให้เขาฟัง เพราะไม่รู้ว่าพูดแบบไหนจึงจะโดนใจชาวบ้าน ก็เลยได้แต่บอกว่า ขอให้ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูชีวิตของตัวเราเองด้วย ช่วยกันปกป้องลูกหลาน ทำนองนั้น

แม่ต้อยคงไม่แปลกใจกับคำว่า ละครชุมชน เพราะเธอคุ้นเคยดี และเคยจัดบ่อย ๆ หลัก ๆ ก็คือละครที่หยิบยกปัญหาสังคมมาเล่าขาน เพื่อให้คนดู ซึ่งมักเป็นกลุ่มเป้าหมาย เกิดความตระหนักในปัญหาและลงมือป้ัองกันแก้ไขปัญหา มักเป็นที่นิยมใช้กับประเด็นเช่น โสเภณีเด็ก เด็กเร่ร่อน โรคเอดส์ สิทธิเด็ก ความรุนแรงในครอบครัว ความอยุติธรรมในสังคม เรื่องการเมือง เป็นต้น

(บรรยากาศหน้าเวทีละคร เด็ก ๆ และผู้ใหญ่เฝ้ารออย่างใจจอใจจ่อ)

ที่เมืองทินาชปุระนี้แหละ เป็นหนึ่งในหลาย ๆ เมืองที่ละครคณะนี้ได้เดินทางไปแสดง ซึ่งต้องแสดงทั้งหมดทั่วประเทศห้าสิบรอบ เนื้อเรื่องก็ได้มาจากชีวิตของเด็ก ๆ ที่ถูกลักพาถูกค้าไปต้มยำทำแกงโดยคนใจโหดในรูปแบบต่าง ๆ คณะละครนี้ ชื่อ ศูนย์เด็กชนกลุ่มน้อย (Centre for Ethnic Children) แต่ที่จริงเป็นศูนย์รวมนักแสดงมืออาชีพ ตัวผู้อำนวยการนี่เป็นผู้บุกเบิกละครใบ้และละครท่าทางคนแรกของบังคลาเทศ ชื่อ คุณจอห์น นักแสดงต่างฝึกฝนกันมาอย่างเข้มงวดตามแบบการละครอาชีพโดยเฉพาะ

ละครชุมชนนี้ถือเป็น “แนวปฏิบัติที่ดี” อีกแนวหนึ่งทีเดียว ที่นำเอาความเป็นมืออาชีพมาร้อยเรียงและถ่ายทอดประสบการณ์ที่กินใจของเด็ก ๆ ให้ชาวบ้านได้ชม แล้วนำไปขบคิด ใคร่ครวญและเปลี่ยนพฤติกรรมที่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ มาสอดส่องเด็ก ๆ ในชุมชนมากขึ้น

(เวทีละครแบบง่าย ๆ แต่ใช้สีสันเข้าช่วย)

ละครที่ฉันได้ดูนี้ ฉากเรียบง่าย แต่เนื้อเรื่องสนุกสนาน ดนตรีไพเราะ ผู้แสดงเยี่ยมในลีลาท่าทาง เขาแบ่งเรื่องเป็นห้าตอนด้วยกัน ใช้เวลาแสดงบ่ายแก่ ๆ จนพระอาิทิตย์ใกล้ตกดิน ก่อนที่ชาวบ้านจะไปทำละหมาดกัน

เรื่องที่แสดงก็มีเรื่องแรกได้แก่ นายหน้าหาคู่มาหลอกเด็กหญิงจากบ้านนอกไปแต่งงานกับหนุ่มลูกคนรวย(ปลอม) แล้วก็เอาเด็กหญิงไปขายซ่อง เรื่องที่สองคือแม่เลี้ยงใจร้ายเอาลูกเลี้ยงไปขาย เรื่องที่สามคือนายหน้าหางานทำมาหลอกหญิงสาวไปทำงานเย็บเสื้อผ้าในเมือง แต่ที่จริงเอาไปขายในซ่อง ส่วนเรื่องที่สี่เป็นเรื่องของเด็กชายที่ถูกขายเอาไปเป็นจ๊อคกี้อูฐ เพราะตัวเล็ก น้ำหนักเบา แต่เป็นงานอันตรายมากเพราะเด็กยังเล็กเกิน ขี่อูฐยังไม่เก่ง ตกอูฐตายก็มาก ส่วนเรื่องสุดท้ายคือ การลักพาตัวเด็กจากงานวัดนี่แหละ ที่คนแน่น ๆ ยัดทะนาน ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องจริงที่ได้มาจากปากคำของเด็กหญิงและชายที่เคยเป็นเหยื่อกระบวนการค้ามนุษย์มาก่อน ฉันดูแล้วก็หดหู่ใจจริง ๆ เลยเธอ นี่แหละหนา ความไม่รู้ ความยากจน ขาดการศึกษา ทำให้คนเป็นเหยื่อคนด้วยกัน

(นี่แค่คนดูส่วนหนึ่งเท่านั้น)

พอแสดงเสร็จ ครูใหญ่ที่โรงเรียนที่จัดแสดงละคร ก็มาเชิญพวกเราไปดื่มน้ำชากันมืด ๆ ในห้องครูใหญ่ เพราะโรงเรียนไม่มีไฟฟ้า จุดเทียนกัน สนุกดี ครูใหญ่นี่ท่าทางแกมีความรู้ ฉันเห็นบนโต๊ะแกเขียนว่าจบปริญญาภาษาอังกฤษ มิน่าเลยพูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นเรื่องปกตินักในเขตชนบท พอทานน้ำชาเสร็จออกมา ปรากฏว่าคณะละครเก็บเสื่อเก็บหมอน เอ๊ย เวทีกันเสร็จแล้ว เตรียมเดินทางกลับ ฉันก็เลยไปชมเชยหัวหน้าทีม และนัดเจอกันพรุ่งนี้อีกหมู่บ้านหนึ่ง เรื่องของเรื่องคือฉันจะได้ดูละครนี้สองครั้งในสองหมู่บ้าน ละครวันนี้มีคนดูสักสามพันคนได้ เพราะจัดบนสนามหน้าโรงเรียน ด้านนอกหมู่บ้านมีพื้นที่มากหน่อย

ฉันก็ได้พี่สาวคนใหม่นี่แหละ ติดตาม คอยอธิบายเป็นภาษาเบงกาลี กับอังกฤษสองสามคำ ฉันก็ภาษามือบ้าง ถูกคอกันดี พี่สาวคนนี้นั่งดูละครเป็นเพื่อนฉันจนจบ แล้วก็ขึ้นรถตามฉันมาก่อนจะลงที่บ้านของเธอ แม่ต้อยจ๊ะ การท่องเที่ยวไปนี่ดีอย่างนี้เองนะ ที่เราได้เจอญาติมิตรที่สูญหายของเรา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะกลับมาเจอกันเมื่อไรอีก

นี่แหละเธอจ๋า ประสบการณ์ของฉััน ไม่มีอะไรเร้าใจ หวาดเสียว ตื่นเต้นหรอก แต่เป็นการเรียนรู้และซึบซับวัฒนธรรมที่แตกต่างอย่างช้า ๆ ในระดับหมู่บ้าน

(การแสดงละครแข่งกับแสงอาทิตย์ที่กำลังจะลับขอบฟ้า)

คืนนี้เราย้ายไปพักอีกโรงแรมหนึ่ง ซึ่งเป็นตึกสองชั้น สะดวกสบายตามสมควร ทายได้ไหมว่า มีอะไรในห้องน้ำ ถังน้ำกับขันมีหูจับจ้า ดูเหมือนมันจะตามฉันไปทุกหนทุกแห่ง

มาซุดต้องไปพบกับคณะเจ้าหน้าที่ของ SUPK เพื่อวางแผนกันว่าจะปรับโครงการกันอย่างไรเมื่อไร้ผู้อำนวยการเช่นนี้ ก็เลยขอตัวไปประชุมกับเจ้าหน้าที่ ให้ฉันหาอาหารเย็นทานคนเีดียวที่โรงแรม ฉันก็ไม่มีปัญหาอะไร เดินไปสั่งอาหารไว้ที่รีเซฟชั่นก่อน (ผู้ชายตามเคย) แล้วบอกว่าจะลงมาทานตอนกี่โมง ขึ้นไปเปลี่ยนเสื้อผ้า รื้อกระเป๋า จัดเอกสาร เขียนบันทึกงาน แล้วก็ลงมาทานอาหาร ในห้องอาหารไม่มีใครเลยจ้ะ สงสัยเขาไปกินที่อื่นกันหมด อาหารของฉันก็คือปลาทอด จาปาตี แล้วก็ผัดผัก(กับผงกะหรี่) กับกล้วย (อีกตามเคย)

(นี่โรงแรมที่ฉันพัก เข้าท่าไหม)

แค่นี้ก็อิ่มสบาย เข้านอนได้ โชคดีหน่อยที่แอร์ที่นี่เสียงไม่ดังมาก แต่ถนนหน้าโรงแรมมีเสียงรถบรรทุกวิ่งครืน ๆ ผ่านไปเป็นระยะ ๆ

วันแรกที่ทินาชปุระานไปอย่างเรียบง่ายจ้ะ

แม่นกน้อยเจนีวาคนเดิม

Message us