ห้าถิ่นแผ่นดินงาม 9

ตอน : ย่ำผ่านเมืองอิเหนา – จาการ์ต้าและอินดรามายู

แม่ต้อยตีวิดที่รักยิ่ง

ฉันข้ามวันที่อยู่กรุงเทพฯไปเลยนะเธอ เพราะไม่มีอะไรจะเล่ามากนัก นอกจากเรื่องไปเจอเพื่อน ๆ

ประเทศต่อไปที่ฉันจะเล่าถึงก็คือ อินโดนีเซียจ้ะ ก็ตามเคย ฉันเอาความรู้รอบโต๊ะมาฝากเธอก่อนแล้วกันนะจ๊ะ

– พื้นที่ประเทศ 1,919,440 ตร กม
– ประชากร 241,973,879 คน ประมาณการในเดือนกรกฎาคม 2005
– ประกาศอิสรภาพจากเนเธอแลนด์เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1945 แต่ได้รับการรับรองจากประเทศเจ้านิคมเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1949 หรือสี่ปีให้หลัง
– ชนเผ่าต่าง ๆ ประกอบด้วย ชาวจาวานีส (Javanese) 45% ชาวซุนดานีส (Sundanese) 14% ชาวมาดูรีส (Madurese) 7.5% ชาวมาเลย์ชายฝั่ง 7.5% และอื่น ๆ อีก 26%
– ศาสนา ประชากรนับถือศาสนามุสลิม 88% เป็นโปรเตสแต้นท์เสีย 5% โรมันแคทอลิก 3% ฮินดู 2% พุทธ 1% และ อื่น ๆ 1% (ข้อมูลปี ค.ศ. 1998)
– ภาษาที่ใช้ยังไม่หลากหลายเท่าเนปาล แต่นับได้ดังนี้คือ ภาษาบาฮาสา อินโดนีเซีย (เป็นภาษาราชาการ ปรับมาจากภาษามาเลย์) ภาษาอังกฤษ ภาษาดัทช์ ภาษาของท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งมีภาษาจาวานีสที่ใช้กันมากที่สุด
– รายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปี คือ 3,500 ดอลล่าร์สหรัฐ น้อยกว่าเมืองไทยแค่ห้าร้อยดอลล่าร์
– ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ดีบุก แก้สธรรมชาติ แร่นิกเกิ้ล ไม้ซุง แร่โบไซท์ ทองแดง ดินอันอุดม ถ่านหิน เงิน และ ทอง วาว….ทรัพยากรของเขาไม่ใช่ขี้ไก่เลยนะเธอ นับว่าดีกว่าประเทศอื่น ๆ ที่ฉันได้ไปเยือนมาแล้ว
– ผลิตผลทางการเกษตร มีข้าว มันสำปะหลัง ถั่วลิสง ยางพารา โกโก้ กาแฟ น้ำมันปาล์ม สัตว์ปีก เนื้อวัว เนื้อหมู (เอ๊ะ ประเทศอิสลามไม่ใช่เหรอ) ไข่
– อุตสาหกรรมได้แก่ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับปิโตรเลียมและแก้สธรรมชาติ สิ่งทด เสื้อผ้า รองเท้า เหมืองแร่ ปูนซีเมนต์ ปุ๋ยเคมี ไม้อัด ยางพารา อาหารและการท่องเที่ยว
– สินค้าส่งออก คือ น้ำมันและแก้ส อุปกรณ์ไฟฟ้า ไม้อัด สิ่งทอ และยางพารา
– การผลิตน้ำมันได้วันละ 971,000 บาเรล บริโภคน้ำมันวันละ 1.183 ล้านบาเรล ส่งออกน้ำมันวันละ 518,100 บาเรล และนำเข้า 370,500 บาเรล ทั้งหมดนนี้เป็นข้อมูลของปี ค.ศ. 2003 จ้า
– ภัยธรรมชาติก็มีน้ำท่วม ความแห้งแล้ง สึนามิ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ไฟป่า โอ…น่ากลัวทั้งนั้นเลย
– ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ป่าไม้ถูกทำลาย น้ำเสียจากของเสียอุตสาหกรรมและสิ่งปฏิกูล อากาศเสียในเขตเมือง ควันและหมอกจากไฟป่า

ฉันนั่งสายการบินไทยไปจาการ์ต้าเช้าวันอาทิตย์จ้ะ ไปถึงเที่ยงวัน เพื่อนร่วมงานไม่หนุ่มชื่อ ปานจิ มารับ บังเอิญช่วงนี้เป็นช่วงถือศีลอด บ้านเืมืองก็จะเงียบเหงาหน่อย ฉันเองก็เกรงใจที่ปานจิต้องมารับในวันอาทิตย์ แต่เขาก็ดูเต็มใจดี เราเคยเป็นเพื่อนร่วมงานรุ่นเดียวกัน ฉันทำตำแหน่งเดียวกับเขาในเมืองไทย รู้จักกันดี เขาเรียกฉันว่า “บี๊ฟ (เนื้อ)” ในภาษาอังกฤษ เพราะชื่อฉันมันออกเสียงคล้าย ๆ กับคำว่า หมู ในภาษาอังกฤษ เขาเป็นอิสลามก็เลยล้อฉันขำ ๆ แล้วก็เปลี่ยนชื่อให้

ปานจิส่งฉันที่โรงแรมแล้วก็ลาไป บอกว่าตอนเย็นจะมากินข้าวด้วย โรงแรมที่ฉันไปพักใหญ่โต ห้าดาว นี่ฉันมาเมืองนี้ครั้งที่สองแล้ว ครั้งก่อนออกไปประชุมนอกเมืองเกือบตลอด ไม่ไ้ด้เห็นจาการ์ต้าสักเท่าไร คราวนี้เห็นแล้วว่าใหญ่โต ตึกระฟ้ามากมายไปหมด ถนนก็เส้นใหญ่มาก ๆ จะว่าเจริญเท่ากับกรุงเทพฯก็คงจะได้ แต่ยังมีความล้าหลังในจุดอื่น ๆ ที่ต่างกันออกไป

ที่หน้าโรงแรมมีเครื่องตรวจโลหะ แขกทุกคนต้องเดินผ่านเครื่องนี้ เหมือนสนามบิน และมีการตรวจกระเป๋าถือด้วย แต่กระเป๋าเดินทางไม่ยักกะตรวจแฮะ เขาให้พนักงานเข็นไปต่างหาก

ผ่านเมืองบังคลาฯกับเนปาลมาแล้ว ต้องถือว่า อินโดฯเป็นสวรรค์น้อย ๆ ในแง่ของผู้คนที่คล้ายเมืองไทย ความหลากหลายของอาหารการกิน และบริการต่าง ๆ ส่วนห้องพักสะดวกสบาย ฉันขอห้องที่อยู่ด้านหลัง วิวแหล่งก่อสร้างไม่สวยนัก แต่อย่างน้อยไม่หนวกหูเสียงรถจากถนนใหญ่ โรงแรมอยู่ตรงข้ามตึำกสำนักงานของปานจิ

ฉันใช้อินเตอร์เน็ตแล้วนั่งทำงานจนค่ำ ที่จริงก็ใช้เวลาเขียนเมล์หาเจ้ากรมฯที่บ้านด้วยแหละ เขียนรายงานถึงเขาเกือบจะทุกวันก็ว่าได้ วันไหนไม่ได้ส่งก็ทิ้งไว้ในเมล์บ๊อกซ์ก่อน แบบนี้จะได้มีข่่าวรายวันให้เจ้ากรมฯทราบ จะได้ไม่เป็นห่วงมาก ส่วนใหญ่ก็ SMS ทุกครั้งที่ไปถึงประเทศใหม่ ๆ ให้เขารู้ว่าถึงเรียบร้อยปลอดภัยดี หลาย ๆ วันก็โทรคุยกันที ทำไงได้ อยากมีภรรเมียเป็นคอนซัลแตนท์ชีพจรลงเท้า

ตอนเย็นปานจิโทรมาขอตัว ไม่ได้มาทานข้าวด้วย ฉันว่าเขาคงหิวเพราะอดข้าวทั้งวัน ฉันก็เลยไปหาข้าวกินคนเดียว หันซ้ายหันขวาแล้วก็เข้าร้านอาหารญี่ปุ่น สักหมี่น้ำกุ้งทอดมาหนึ่งชาม แค่นี้ก็อิ่มสบาย ไปเดินดูส่วนต่าง ๆ ของโรงแรมด้วยความสบายใจ เหมือนโรงแรมใหญ่บ้านเราดี ๆ นี่เอง สวย แต่ขาดเสน่ห์

นอนหลับฝันดี ตอนเช้าปานจิมารับ แล้วบอกให้เช็คเอ้าท์เลย ฉันก็เตรียมกระเป๋าไว้บ้างแล้ว ก็รีบแพ็คแล้วก็จ่ายเงินค่าห้องพัก หอบผ้าหอบผ่อนไปกับปานจิ เราเข้าไปที่สำนักงานก่อน ไปไหว้(ที่จริงจับมือ)ผู้หลักผู้ใหญ่ และ้ก็เดินทางไปเยี่ยมโครงการแรก ชื่อว่า YKAI คือมูลนิธิเด็กของอินโดฯนี่เอง ได้พบกับผู้อำนวยการ ชื่อวินารตี ชื่อเล่น โววง น่ารักดี กับเจ้าหน้าที่สองคนชื่อ ฮามิด กับ อันโต เป็นเหมือนมือขวากับมือซ้าย

ฉันไม่ค่อยสบายใจในการเยือนประเทศนี้เพราะทุกคนเขากำลังถือศีลอด แต่ต้องทำงาน แล้วยังต้อนรับแขกอีก บางทีพอเขาเสนอจะเสิร์ฟน้ำชา ฉันต้องปฏิเสธเพราะเกรงใจ ไม่อยากนั่งดื่มอะไรต่อหน้าพวกเขา แต่เขาก็บอกว่าโอเค นี่ก็เป็นน้ำใจอีกแบบหนึ่ง

โครงการวายไก (ออกเสียง อี คา อา อิ) นี้ทำงานหลากหลายมาก เป็นองค์กรใหญ่ได้รับทุนเยอะ เป็นที่เชื่อถือของผู้สนับสนุน ในส่วนงานที่ฉันมาดูนี้ จะมีคู่มืออบรมครู รายการวิทยุชุมชนเด็ก กศน แก่เด็กกลุ่มเสี่ยง ชั้นเรียนติวเข้มสำหรับเด็กเรียนอ่อน การอบรมอาชีพเย็บผ้าอุตสาหกรรม และศูนย์บำบัดฟื้นฟูเด็กขั้นทดลองร่วมกับกระทรวงสวัสดิการสังคม

ฉันมีเวลาคุยกับเจ้าหน้าที่ไม่นาน เราก็ลาไปดูศูนย์ฟื้นฟูเด็ก ได้เจอกับเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่ง ชื่ออาปา เคยมาอบรมเมืองไทยเหมือนกัน อาปาเอาพาวเวอร์พ้อยท์ผลงานมาเสนอให้ฉันดู ที่นี่รับเด็กที่ส่งต่อมาจากตำรวจ โรงพยาบาลและหน่วยงานอื่น แล้วให้ที่พัก อาหาร เยียวยา การศึกษา ก่อนจะติดต่อครอบครัวให้มารับเด็กกลับไป อาปานำเสนอผลงานได้ดี มีข้อมูลครบถ้วน ตอบคำถามได้ดี แล้วยังพาฉันไปดูฐานข้อมูลเด็ก เหมือน ๆั กับของไมตีเนปาลอยู่เหมือนกัน แต่ดูเข้าใจง่ายกว่า ไม่ซับซ้อนเท่า อาจเป็นเพราะจำนวนเด็กที่ศูนย์ฯนี้มีแค่สามสี่สิบคนเท่านั้น

ตัวศูนย์เป็นบ้านชั้นเดียว อยู่ในบริเวณส่วนราชการซึ่งเป็นศูนย์อบรมหลายอย่าง บรรยากาศดี ต้นไม้เยอะ สงบ ทาสีอบอุ่น ห้องพักเด็กก็ดูโปร่งสะอาด เป็นสัดส่วน มีหน้าต่างให้แสงดี มีตู้เสื้อผ้า ห้องน้ำดูเรียบร้อย มีห้องทีวี มีสนามเด็กเล่นเล็ก ๆ ดูแล้วใช้ได้ทีเดียว ตอนฉันไปมีเด็กอยู่ไม่กี่คน หลายคนเข้ามานัวเนียเล่นด้วย บางคนอาย ๆ หลบเข้าห้องไป ฉันเก็บภาพทั้งข้างในข้างนอก ด้วยความประทับใจ เสร็จแล้วก็ต้องลาเจ้าของบ้านเพราะเราต้องเดินทางต่อไปอินดรามายู ซึ่งอยู่ีทางตะวันออกของจาการ์ต้า ต้องใช้เวลาเดินทางประมาณสี่ชั่วโมง

เนื่องจากปานจิไม่ทานข้าวไม่ดื่มน้ำ เราก็เลยแวะร้านขายของเล็ก ๆ ให้ฉันซื้อบิสกิตกับน้ำทานบนรถ บังเอิญฉันซื้อสละแกะแล้วมาจากเมืองไทย เอาติดกระเป๋ามาด้วยก็เลยได้ผลไม้ช่วยชีวิตระหว่างเดินทางไป ต้องกินแบบกระมิดกระเมี้ยนเกรงใจคนที่ไม่กิน กินเสร็จก็ดูวิวไป หลับไปบ้าง เส้นทางยาวไกล แดดแรง อากาศร้อน แต่แอร์บนรถเย็นใช้ได้ การขับรถไม่มีเสียงบีบแตรเหมือนเมืองบังคลาฯ แต่ฉันกลับรู้สึกหวาดเสียวกับการจราจรมากกว่า

เส้นทางก็ราบเรียบดี มีรถติดนิดหน่อยเวลา่ผ่านแยกเข้าเมือง ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ เราไม่ได้วิ่งเข้าเขตภูเขา นาน ๆ เห็นทะเลไกล ๆ ที ตอนนี้เป็นหน้าแล้ง เก็บเกี่ยวผ่านไปแล้ว (เมืองบังคลาฯยังปลูกข้าวเขียว ๆ อยู่)

เราไปถึงอินดรามายูบ่ายแก่ ๆ ก็เข้าพักที่โรงแรม มีต้นมะม่วงหน้าห้องพักเต็มไปหมด ปานจิบอกว่า อันดรามายูคือถิ่นมะม่วง แล้วแกก็ตื่นเต้นเห็นมะม่วงออกลูกเต็มต้น ลืมบอกไปว่า ฉันซื้อผลไม้แกะแล้วมาจากเมืองไทยหลายห่อ แบ่งให้ปานจิไปตั้งแต่เช้า แต่เขายังทานไม่ได้จนกว่าจะเย็น พอเราเข้าห้องพักใครพักมันแล้ว ฉันก็เอาของกินเล่นของฉันออกมาทานเพราะไม่ได้ทานข้าวเที่ยง ตอนเย็นออกไปเจอปานจิ เห็นหน้าตาสดใส บอกว่าเพิ่งกินส้มโอที่ฉันเอามาฝาก แล้วก็มะม่วงเขียวเสวยด้วย ห้า ห้า แกไม่ได้รอกินมะม่วงบ้านแก

ตอนเย็นเรากินอาหารที่โรงแรม เป็นปลาทอด กับผัดผักคล้าย ๆ ผักบุ้ง กับข้าวเปล่า ฉันไม่ค่อยกล้าสั่งอย่างอื่นเห็นเป็นโรงแรมเล็ก ๆ แต่อาหารก็พอกินได้ ปานจิสั่งซัมบัลหนึ่งถ้วย พอมาถึงแล้วหน้าตาเหมือนน้ำพริกกะปิแต่ไม่เผ็ด ก็เลยเอามาคลุกข้าวกันกิน

เราคุยกันไม่มากนัก แต่ฉันก็ได้ความรู้เรื่องจังหวัดอันดรามายูพอสมควร ที่แน่ ๆ คือ เป็นพื้นที่ที่มีการตกเขียวมาก เพราะความยากจน การศึกษาที่ไม่ได้คุณภาพ เด็กเรียนตกซ้ำชั้นเยอะทำให้หมดกำลังใจเรียน ค่านิยมไปทำงานในเมืองหลวงและเมืองนอก เด็กหญิงถูกมองเป็นสินค้่าทำเงินสู่ครอบครัว คล้าย ๆ ปัญหาบ้านเรา

สิ่งหนึ่งที่ได้รู้เพิ่มก็คือ ค่านิยมการเฉลิมฉลองอย่างสุดเหวี่ยง ทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้สิน ต้องใช้เงินสดมาก ทำให้ลูกสาวต้องไปหางานทำ ขายร่างกายง่ายสุดและได้เงินมากสุด โดยเฉพาะหากไปญี่ปุ่น ค่านิยมที่ว่านี้หมายถึง หากจะเก็บเกี่ยวก็ฉลอง หากจะเพาะปลูกก็ฉลอง ใครคลอดลูกก็ฉลอง ใครได้เลื่อนขั้นก็ฉลอง มีอะไรนิดอะไรหน่อยก็ฉลอง และฉลองกันจริง ๆ แบบไม่อั้นล้มวัวล้มควายเลี้ยงกัน ใครเคยมาช่วยงานเรา เราก็ต้องไปช่วยงานเขา(ด้วยเงิน)ตอบแทน มีการจัดดนตรีใหญ่โต เครื่องเสียงครบ มีมหรสพมากเท่าที่จะจัดได้ ประมาณว่าล่มจมไม่ว่า แต่ต้องไม่น้อยหน้าใคร ทั้งหมดนี้ปานจิเป็นคนบอกฉัน จริงเท็จฉันก็ไม่ได้เห็นด้วยตาเหมือนกัน

ปัญหาลักษณะนี้ไม่ปรากฏในบังคลาเทศหรือเนปาล เป็นปัญหาคนละแบบกัน บังคลาฯคือความยากจนล้วน ๆ กับสถานะที่ต้อยต่ำของผู้หญิง ส่วนเนปาลทั้งจน ทั้งพื้นที่ธุรกันดาร ทั้งสงครามภายใน ทั้งวัฒนธรรมที่กดผู้หญิงไว้ข้างล่าง แต่ทั้งสองประเทศนี้มีข้อเหมือนกันคือชายแดนติดอินเดีย เด็ก ๆ ถูกลักพาหรือขายข้ามพรมแดนง่าย ๆ

วันนี้ฉันเล่าแค่นี้ก่อนนะแม่ต้อยตีวิด ต้องขอตัวไปนอนก่อนแล้ว เดินทางทั้งวันเหน็ดเหนื่อยจัง

นกน้อยเจนีวาตาจะปิดอยู่แล้ว

Message us