โลกเฉาเมื่อย้ายถิ่น (Trailing Spouse Syndrome)

โดย เพจเรื่องเล่าจากหย่งศรี

(Photo credit: https://www.pexels.com/photo/black-and-green-luggage-bag-on-brown-carpet-7368191/)

Trailing Spouse Syndrome – TSS

อันที่จริง หากพูดถึงการได้ย้ายไปใช้ชีวิตในต่างประเทศนั้น ในแวบแรก ฟังดูดีและน่าลิ้มลอง เพราะเป็นการเปิดประตูสู่โลกใหม่ ได้ไปเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ และมองเห็นโลกที่กว้างขึ้น

แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วน การไปใช้ชีวิตจริงๆ ยุ่งยากซับซ้อนกว่าการไปเที่ยวหรือไปเรียนมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายต่างเคยมีรายได้มาก่อน พอคนหนึ่งต้องหยุดทำงาน เพื่อติดตามอีกคน จะมีความเครียด สับสน กดดัน ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

……….

Trailing Spouse Syndrome (TSS) – อาการของคู่ชีวิตผู้ติดตาม เป็นคำที่ใช้เป็นครั้งแรกโดย แมรี่ บราโลฟ นักข่าวหนังสือพิมพ์ วอลล์สตรีท เจอร์นัล เมื่อปี ๑๙๘๑ เพื่ออธิบายคอนเซปต์การเสียสละอาชีพของตัวเองเพื่อติดตามคู่ชีวิตไปยังต่างประเทศ

TSS ไม่ใช่โรคที่ทางการแพทย์ระบุไว้ แต่เป็นกลุ่มอาการที่มักจะเกิดขึ้นกับคนกลุ่มดังกล่าว (แต่ไม่ได้เกิดกับทุกคนที่ย้ายประเทศ)

อาการที่พบได้ทั่วไปของคนเป็น TSS คือ เหงา ซึมเศร้า รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า และสูญเสียตัวตน (identity) ของตัวเอง

………

ประเด็นสำคัญของ TSS คือ คู่ชีวิตฝ่ายที่มีอาชีพการงานชัดเจน ถือว่า “มีหลัก” คือ ถึงแม้จะย้ายประเทศไป แต่ก็รู้ว่าตัวเองไปด้วยจุดมุ่งหมายอะไร ย้ายไปแล้วก็ไปพบเจอกับเพื่อนร่วมงานในแวดวงเดียวกัน มีตารางชีวิตที่แน่นอน รู้ว่ากำลังไต่เต้าไปบนบันไดหรือเส้นทางอาชีพเส้นไหน ฯลฯ

แต่คู่ชีวิตฝ่ายที่ติดตามไปด้วย คือคนที่ “หลัก” หายไป และต้องรับภาระการปรับตัวที่สูงกว่ามาก

พูดง่ายๆ ว่า เสียหลัก เสียศูนย์ และต้องมา “ตั้งหลักใหม่”

ในช่วงแรกที่ย้ายไป อาจมีความตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจ มีความสุขที่ได้เดินทางมายังประเทศใหม่ สภาพแวดล้อมใหม่

แต่เมื่อนานวันเข้า (หมดช่วงโปรโมชั่น) ความเป็นจริงเริ่มปรากฏ คู่ชีวิตฝ่ายนี้จะต้องปรับตัวอย่างมาก ต้องหากิจกรรมให้ตนเองทำในทุกๆ วัน เพื่อจะได้รู้สึกว่าตนเองมีค่าและมีจุดหมาย

ในขณะที่ก็รู้สึกว่าต้องพึ่งพา (dependent) ฝ่ายตรงข้ามอย่างมาก ทั้งเรื่องภาษา, การเงิน พร้อมกับรู้สึกตัดขาด (disconnected) กับครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงานในประเทศที่จากมา

รวมทั้งรู้สึกตัดขาดจากโลกภายนอก คือ ประเทศที่ย้ายมาอยู่ใหม่ เพราะพูดภาษาไม่ได้ ฟังไม่ออก อ่านไม่เข้าใจ ไม่คุ้นเคย รู้สึกว่าตนเองไม่ belong – ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหม่ รู้สึกแปลกแยก ไม่มีที่ให้ยืน

เรื่อยไปถึงรู้สึกตัดขาดจากตัวเอง กับตัวตนที่เคยเป็น เช่น เมื่อก่อนเคยมีอาชีพ มีรายได้ เคยเป็น Career Women/Men มาก่อน

บางคนก็อาจจะเลยไปถึง รู้สึกตัดขาดกับคู่ของตัวเอง เช่น คนหนึ่งทำงานนอกบ้าน พบปะผู้คนมากมาย เติบโตก้าวหน้าในอาชีพ อีกคนอยู่แต่ที่บ้าน ทั้งสองฝ่าย มีเรื่องที่คุยกันได้น้อยลงเรื่อยๆ

หลายคนจะเริ่มตั้งคำถามกับตนเองว่า มาทำอะไรที่นี่ คุณค่าของตนเองอยู่ที่ไหน และอาจพัฒนาไปสู่ความกระวนกระวายใจและอาการซีมเศร้า (depression)

และอาการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะมีความเพียบพร้อมทางกายภาพและการเงินเพียงใด มีโอกาสเกิดได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ที่มีสถานะเป็นผู้ติดตาม

………

ในกรณีของฉัน แม้จะไม่ได้เป็น expat แต่อาการตามที่บรรยายความมา ตรงทุกข้ออย่างน่าตกใจ

ฉันลองได้คุยกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ชะตาชีวิตพลิกผันทำให้ต้องย้ายประเทศในโอกาสต่างๆ กัน พบว่า อาการนี้ไม่ได้เป็นแต่เฉพาะในบรรดา expat เท่านั้น แต่มีถึง ๔ กลุ่มใหญ่ๆ กล่าวคือ

๑ คู่สมรสจากประเทศเดียวกัน เดินทางไปยังประเทศอื่น (เช่น นักการทูต และ expat ทั้งหลาย)

๒ คู่สมรสจากคนละประเทศ เดินทางไปยังประเทศของฝ่ายหนึ่ง (เช่น ฉัน และผู้ที่มีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ ย้ายติดตามสามี/ภรรยา ทั้งหลาย)

๓ คู่สมรสจากคนละประเทศ เดินทางไปยังประเทศที่ ๓ พบได้บ่อยในคู่ที่ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ, บริษัทข้ามชาติ ฯลฯ

นอกจากนั้น คุณแม่ทั้งหลาย เมื่อได้อ่านเรื่องราวของ TSS นี้ ก็อาพบว่า ตัวเองก็รู้สึกไม่ต่างกัน ทั้งๆ ที่ไม่ได้ย้ายประเทศไปไหน

๔ คุณแม่ / ผู้หญิงเก่งจำนวนมาก ที่มีอาชีพหน้าที่การงานที่ดี มั่นคง ก้าวหน้า แต่ตัดสินใจลาออกมาเลี้ยงลูกเต็มเวลา

……….

ในคู่ที่การย้ายประเทศมีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน เช่น สามปี สี่ปี ฯลฯ อาการ TSS อาจจะไม่หนักมาก เพราะอีกฝ่ายสามารถอดทนได้จนกระทั่งครบวาระ แล้วก็จะได้กลับประเทศเดิม

แต่ในคู่ที่การย้ายไม่มีกำหนดเวลาชัดเจน ระยะเวลาที่ยาวนานก็อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น

อนึ่ง ในกรณีย้ายติดตามสามีอย่างฉัน ยังมีหลักที่ชัดเจนว่าย้ายมายังประเทศของคู่ชีวิตและน่าจะอยู่ยาว การทำใจ การพยายามปรับตัวให้อยู่ให้ได้ การตั้งรกรากก็ดำเนินไปได้ พูดง่ายๆ คือ มองเห็นอนาคตว่าจะอยู่ที่นี่

ขั้นสุดของคนเป็น TSS คงเป็นคู่ที่ทำงานระหว่างประเทศ แล้วต้องย้ายไปเรื่อยๆ มองไม่เห็นว่าชีวิตจะไปตั้งหลักตั้งรกรากที่ประเทศไหน เรียกว่า พอเริ่มคุ้นชินก็เปลี่ยนอีกแล้ว

ยิ่งถ้าทั้งสองคนมาจากคนละประเทศด้วยแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างจะประดังประเดเข้ามา เหมือน Two of us against the world ยิ่งทำให้อาการสาหัสไปกันใหญ่ ส่งผลต่อความสัมพันธ์/ชีวิตการแต่งงานไปด้วย

ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ ยังมีเรื่องของลูกอีก หากมีลูกติดตามไปด้วย เด็กๆ ก็อาจมีอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน

………..

ฉันเคยนึกถามตัวเองเหมือนกันว่า ความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า นี้มาจากไหน?

สำหรับตัวฉัน เมื่อพิจารณาดูแล้ว คิดว่าส่วนหนึ่งมาจากการเลี้ยงดูในครอบครัว และยุคสมัย

ครอบครัวฉันมีอาชีพค้าขาย ฉันถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่าหนักเอาเบาสู้ อย่ายืมจมูกใครหายใจ เราต้องทำได้ด้วยตัวเอง ฉันจึงไม่คุ้นชินอย่างยิ่งที่จะต้องมาพึ่งพาคู่ชีวิต ทั้งในเรื่องเงินทองและภาษา

นอกจากนั้น ฉันเกิดมาในยุคปลาย ๗๐ ที่ความเท่าเทียมของผู้หญิงมีมากขึ้น การที่ผู้หญิงออกมาทำงานนอกบ้านเป็นเรื่องปกติ การศึกษาที่เราพากเพียรทำให้ดีที่สุดเพื่อให้เรามีอนาคตที่ดีกว่า หล่อหลอมตัวเรามาหลายสิบปี

และเมื่อต้องหยุดทุกอย่างมาอยู่บ้าน เรียนภาษา ไม่ได้ “ทำงาน” ตาม “ศักยภาพ” ที่เรามีและสะสมมา เท่ากับตัวตนของเราที่สร้างมาทั้งชีวิตหายไป

สะท้อนใจเหมือนกันว่า ฉันเอาคุณค่าของตัวเอง เอาความสุข ไปผูกไว้กับความสำเร็จทางอาชีพและเงิน มากขนาดนี้

อันที่จริง ความสำเร็จ ไม่ได้เท่ากับ ความสุข ว่าไหม?

และ ความสำเร็จ ก็มาได้ในหลายรูปแบบไม่ใช่เหรอ?

………..

ถามว่า เพราะอะไรฉันถึงเล่าเรื่อง TSS นี้เสียยืดยาว

เพราะฉันพบว่า ตัวเองได้ประโยชน์อย่างยิ่ง ที่ “ได้รู้” ว่าตัวเองเป็นอะไร และที่สำคัญ ฉันไม่ได้เป็นอยู่คนเดียว มันเป็นปรากฎการณ์ที่คนจำนวนมากก็เป็น

หากย้อนเวลากลับไปได้ ฉันจะกลับไปกอดและลูบหัวตัวเอง ไม่ให้ตีอกชกหัว หงุดหงิด งุ่นง่าน beat up ตัวเอง ในวันแรกๆ หรือปีแรกๆ ที่ย้ายมาที่นี่

ไม่ตั้งคำถามเชิงตำหนิตัวเองว่า นี่กรูเป็นอะไร? ชีวิตก็ดีทุกอย่าง ทำไมยังไม่มีความสุข?

จะบอกตัวเองว่า แกเป็น TSS นี่แหละหย่ง และอิสโอเคที่จะรู้สึกไม่มีความสุข นี่เป็นเรื่องธรรมดาที่คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์นี้จะเป็น จะรู้สึก

ฉันจะรักและเมตตาตัวเองมากขึ้น จะเสียเวลาไปกับการตำหนิ ด่าทอ ตัวเองน้อยลง

……….

เมื่อต้องมาอยู่ในสถานภาพเป็นผู้ติดตามและย้ายประเทศ ฉันคิดว่า สิ่งสำคัญที่ช่วยให้หลีกเลี่ยงการเป็น TSS ได้ คือ การเตรียมตัว เตรียมใจ และ “ยอมรับ” ความเป็นจริง ว่าสถานการณ์และสถานภาพเราเปลี่ยนไป จัดการกับความ “คาดหวัง” ของตัวเอง

พร้อมกับ “เปลี่ยนมุมมอง” ในเรื่องความสำเร็จ ความก้าวหน้าของชีวิตด้วย ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับใคร เพราะชีวิตของแต่ละคน มีเส้นทางเดินไม่เหมือนกัน

รวมทั้ง เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อสถานการณ์ตรงหน้าว่า ชีวิตกำลังหยิบยื่นโอกาสให้ได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ ที่หากเรายังอยู่ในที่เดิม ก็จะไม่มีโอกาสนั้น อาทิ ได้เรียนภาษาใหม่ วัฒนธรรมใหม่ ได้ค้นพบตัวเองในแง่มุมใหม่ๆ มีโอกาสได้พบเจอกับศักยภาพและ/หรือความสามารถของตัวเองในด้านที่ไม่รู้จักมาก่อน

อย่างตัวฉันเอง พูดได้เต็มปากว่า หากไม่ได้ย้ายมาอยู่เยอรมนี ฉันจะยังคงทำกับข้าวไม่เป็นแน่นอน (ฮา)

นอกจากนั้น จะไม่ได้มีโอกาสมาเห็นโลกอีกใบ (ที่ไม่เคยรู้ว่ามีอยู่) ไม่ได้โอกาสลองทำงานอีกหลายๆ อย่าง เช่น เป็นล่ามในงานแสดงสินค้า, นักข่าวในต่างแดน ได้พบปะพบเจอผู้คนใหม่ๆ มากมาย ไม่มีสารพัดเรื่องที่จะมาเล่าให้ฟังกันต่อไปในเพจนี้

รวมทั้ง ฉันก็จะไม่มีโอกาสได้พัฒนาตัวตนภายใน เดินทางภายใน ปลดปมในใจหลายๆ อย่าง ซึ่งเปลี่ยนให้ฉันเป็นแม่คนที่ดีขึ้น เป็นฉันในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้นอย่างในปัจจุบันนี้

………..

และที่สำคัญที่สุด ที่ฉันเล่าเรื่องนี้ เพราะฉันอยากเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ตัดสินใจเลือกติดตามคู่ชีวิตมาต่างแดน

พวกคุณทุกคน มีความ “กล้าหาญ” มากนะคะ

เพราะคุณเลือกที่จะก้าวออกจาก comfort zone ของตัวเอง ออกมาเผชิญกับอนาคตที่ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร สละทุกสิ่งอย่างที่คุ้นชิน มาอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ทุกอย่าง ภาษาใหม่ วัฒนธรรมใหม่ ครอบครัวใหม่ ฯลฯ

เชื่อเถิดว่า มีคนอีกจำนวนมากที่ไม่กล้าทำแบบนี้ เพื่อนบ้านชาวเยอรมันของฉัน ก็คนหนึ่งล่ะ เธอเป็นหมอ และเธอจะพูดชื่นชมฉันเสมอว่า

หย่ง เธอกล้าหาญมาก ฉันไม่รู้เธอทำได้ยังไง ที่ต้องย้ายมาอยู่ประเทศใหม่ ใช้ภาษาที่สาม ออกไปทำสารพัดงานที่เธอก็ไม่ได้เรียนมา ครอบครัวเธอก็ไม่ได้อยู่แถวนี้ ฉันยอมรับว่าตัวฉันกอดเก้าอี้หมอไว้แน่นมาก ฉันนึกภาพตัวเองไม่ออกจริงๆ ถ้าต้องทำแบบเธอ

ขอให้ได้รับคำชื่นชมจากใจหย่งศรี และคนอีกจำนวนมากนะคะ

เป็นกำลังใจให้ทุกคนค่า

……….

อ่านเกี่ยวกับ TSS เพิ่มเติม

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีย์ #ชีวิตใหม่หัวใจพลัดถิ่น

#TSS#หย่งศรีบ้านกริฟฟินดอร์

Message us