รายงานลีลาชีวิต (Integration)

สรุปผลการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ
โดย ชมพูนุท ไทโซน

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสามัญและสัมมนาประจําปี 2562/2019 ของเครือข่ายหญิงไทยในยุโรปในหัวข้อ “นวัตกรรมชีวิต One Life, Two Worlds” ณ นครซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2562

วัตถุประสงค์ของการสัมมนา คือ เพื่อรวบรวมวิธีบูรณาการชีวิตเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคมต่างแดนและต่างวัฒนธรรม

ผู้เข้าร่วมสัมมนา เป็นชาวไทยที่สมรสกับชาวยุโรปและอาศัยอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 10 คน เยอรมนี 9 คน ฝรั่งเศส 2 คน ฟินแลนด์ 1 คน ไอซ์แลนด์ 3 คน อิตาลี 3 คน นอรเวย์ 2 คน อังกฤษ 2 คน สวีเดน 1 คน เนเธอร์แลนด์ 1 คน และ ประเทศไทย 1 คน โดยอาศัยอยู่ในประเทศเหล่านี้ เป็นเวลา 10-40 ปีแล้ว

ผู้เข้าร่วมสัมมนาให้คําจํากัดความ “ลีลาชีวิต” ในต่างแดนของตนโดยใช้คําต่าง ๆ เหล่านี้ ลีลาราบเรียบ ราบรื่น เรียบง่าย โลดโผน ล้มลุกคลุกคลาน ผสมผสาน ลุ่ม ๆ ดอน ๆ สู้ไม่ถอย ไม่ยอมแพ้ สู้ตาย และครบทุกรสชาติ

ผู้เข้าสัมมนารู้ภูมิใจ มีความพึงพอใจคุณภาพชีวิต และมองตนว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมต่างแดนที่ตนอยู่ ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาความเป็นไทยไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
รวบรวมวิธีการบูรณาการชีวิตเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคมต่างแดนและต่างวัฒนธรรมได้ดังนี้

1. การเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่อยู่ประเทศไทย ก่อนเดินทางมาอยู่ต่างแดน เป็นการเสริมสร้างความมั่นใจและทําให้การปรับตัว เมื่อมาถึงแล้วง่ายขึ้น โดยเรียนภาษาท้องถิ่น และ/หรือ ภาษาอังกฤษ เป็นเรื่องสําคัญที่สุด นอกจากนี้ การหาข้อมูลเบื่องต้นเกี่ยวกับประเทศและคนท้องถิ่น ภูมิอากาศ กฎหมาย สังคม ประเพณี วัฒนธรรม อาหาร เท่าที่จะหาได้ก็เป็นเรื่องสําคัญ

2. เรียนภาษาท้องถิ่น แม้ว่าภาษานั้น ๆ จะยากมาก เช่น ภาษาเยอรมัน ภาษาไอซ์แลนดิก ภาษาสวีดิช ภาษา นอรเวย์ ซึ่งต้องใช้เวลา นานมากกว่าจะพูดได้ดี ต้องอดทน อย่่ายอมแพ้ ให้เรียนไปเรื่อย ๆ ฝึกพูดกับคน รอบตัวและครอบครัว เทคนิคการเรียนภาษาใหม่ที่ยาก ๆ คือ เรียนรู้เหมือนเด็กเล็ก ๆ ฟังอย่างตั้งใจ ฝึกออกเสียง จดจําคําศัพท์ โดยใช้บัตรคํา เข้าเรียนในโรงเรียนสอนภาษา และเข้าร่วมกลุ่มฝึกสนทนาที่มีคนพื้นเมืองเป็นผู้สอน ทําตัวให้ทันสมัย อ่านข่าว ดูทีวี ฟังวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น นอกจากจะเป็นการฝึกและพัฒนาภาษาถิ่นของตนแล้ว ยังทําให้รู้ความเป็นไปของสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นตน เพราะภาษาเป็นประตูที่เปิดไปสู่อาชีพการงานที่ดีขึ้น มีผลต่อการขอสถานภาพผู้พํานักของประเทศที่ตนอยู่ รวมทั้งลดปัญหาเรื่องความ เข้าใจไม่ตรงกันระหว่างคู่สมรส ซึ่งอาจนําไปสู่การ หย่าร้างหากพูดกันไม่เข้าใจ

3. เรียนรู้ที่จะเข้าใจคู่สมรสของตน เพื่อปรับตัวเข้าหากันและรักษาความสัมพันธ์ของคู่ครองที่อาจมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมในด้านต่าง ๆ เช่น ศาสนา ความเชื่อ พิธีกรรม มารยาท สามัญสํานึก รสนิยม อุปนิสัย ทัศนคติต่อเรื่องต่าง ๆ เช่น ความรัก ครอบครัว ความสะอาด อาหารการกิน ฯลฯ การปรับตัว ของคู่ครองที่ต่างวัฒนธรรม ต้องเป็นลักษณะปรับตัว เข้าหากันทั้งสองฝ่ายจึงจะอยู่กันรอด ต้องมีความจริงใจ และ ซื่อสัตย์ ให้เกียรติยกย่องคู่ครอง รับผิดชอบ หน้าที่ของตน รู้จักประนีประนอม และยอมถอยคนละก้าว หากมีปัญหาหรือข้อขัดแย้งให้ใช้เหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ หรือความรุนแรง

4. เรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศเจ้าบ้าน ศึกษาการดํารงชีวิตประจําวัน ธรรมเนียมการปฏิบัติ หรือกฎระเบียบทางสังคมของท้องถิ่นนั้นๆ เช่น การใช้บริการรถสาธารณะ วิธีแยกขยะ การรักษา สิ่งแวดล้อม การทักทาย เช่นการจับมือ การหอมแก้ม ที่แตกต่างจากไทย รู้จักมารยาทสังคมต่าง ๆ ไม่แซงคิว ตรงต่อเวลา ไม่ส่งเสียงดังในอาคารที่พักหลัง 21.00 น. รู้จักมารยาทบนโต๊ะอาหาร การระมัดระวังในการทําอาหารกลิ่นแรง การต้อนรับแขกหรือ การได้รับเชิญ ไปเป็นแขก การสบตาคู่สนทนา การแกะของขวัญต่อหน้าผู้ให้ทันทีที่ได้รับ หัวข้อสนทนาที่ไม่ควรถาม เช่น อายุ นํ้าหนัก เงินเดือน

5. การเลี้ยงลูกแบบสองวัฒนธรรมสองภาษา พ่อพูดภาษาท้องถิ่นกับลูก ส่วนแม่พูดภาษาไทย รู้จักเลือกสิ่งดี ๆ ของสองวัฒนธรรมมาใช้ในการเลี้ยงดูลูก เช่น คนยุโรป เช่น เยอรมัน หรือ สวิส จะฝึกให้เด็กรู้จักระเบียบวินัย หัดช่วยเหลือตัวเองตั้งแต่เล็ก ๆ ตักอาหารกินเอง ไม่ต้องวิ่งตามป้อนข้าว ใส่เสื้อเอง เดินไปโรงเรียนเองตั้งแต่ชั้นอนุบาล หากหกล้มก็ไม่เข้าไปโอ๋ ส่งเสริมให้ลูกรักการอ่าน ไม่ลงโทษโดยการตีลูก แต่ให้เข้ามุมหรือแยกตัวไปนั่งเพื่อให้สํานึกความผิด ฯลฯ ขณะเดียวกัน ก็สอนให้ลูกรู้จักวัฒนธรรมที่ดีของไทย เช่น ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความีนํ้าใจช่วยเหลือผู้อื่น

6. รู้จักสภาพภูมิอากาศของประเทศที่ตนอยู่ คนที่อยู่ในประเทศที่มีสภาพอากาศหนาวจัดแสงแดดน้อย เช่น ไอซ์แลนด์ นอรเวย์ สวีเดน และฟินแลนด์ ต้องมีความอดทนสูงและต้องรู้จักแต่งกายให้อบอุ่นเพียงพอ และปฏิบัติตนให้เหมาะกับความรุนแรงของสภาพ อากาศ เช่น ไม่อาบนํ้าบ่อย ใช้ครีมบํารุงผิวที่เข้มข้น กินวิตามินดี กินอาหารที่ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น เพื่อรักษาสภาพร่างกายให้แข็งแรงไม่ป่วยไข้ เพราะสภาพอากาศที่แตกต่างจากเมืองไทยอย่างมาก

7. ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ศึกษาต่อ เพื่อเพิ่มพูนทักษะให้ตนเอง เข้าคอร์สฝึกอบรมวิชาชีพ เพื่อโอกาสในการ หางานที่ดี เปิดโลกให้ตัวเองก้าวไปสู่สังคมใหม่ พึ่งพาตัวเองได้ มีรายได้และไม่ต้องพึ่งสามีตลอดเวลา

8. เป็นสมาชิกสมาคม ชมรม กลุ่มต่าง ๆ และเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ปิดตัวเอง การทํากิจกรรมจะทําให้เกิดเพื่อนใหม่ ได้เห็นพฤติกรรมของคนท้องถิ่น จะได้เรียนรู้ว่าสิ่งใดควรทํา ไม่ควรทํา จะได้มีเพื่อนใหม่ที่มีความสนใจคล้าย ๆ กันและเป็นการเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ วัฒนธรรมจาก เพื่อนใหม่ เช่นคนสวิสรักสิ่งแวดล้อม ชอบเดินป่า เล่นสกี คนสแกนดิเนเวียนชอบท่องเที่ยว รักธรรมชาติ เล่นกีฬา คนเยอรมันชอบฟุตบอล ชอบขี่จักรยาน คนอิตาลีรักครอบครัว ชอบศิลปะ มีรสนิยมการแต่งกายที่ดูดี และชอบสังสรรค์กับเพื่อนฝูง

9. เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการบูรณาการชีวิตในต่างแดน เกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย สิทธิประโยชน์ตลอดจน เรื่องที่ทําให้เข้าใจตนเอง ถิ่นที่อยู่ คู่สมรส ดีขึ้น สร้างความมั่นใจในการปรับวิถีชีวิตของตนได้ดีขึ้น รวมทั้ง จะได้ข้อมูลเรื่องแหล่งที่ให้ความช่วยเหลือหากประสบปัญหา

10. รักษาวัฒนธรรมที่ดีของไทยไว้ รวมทั้งเผยแพร่ชักชวนให้สามีและลูกตลอดจนเพื่อนฝูงเห็นคุณค่า โดยการเข้าร่วมกิจกรรมทางประเพณีและวัฒนธรรมของไทยที่จัดขึ้น เช่น งานวัด ทอดกฐิน สงกรานต์ ลอยกระทง รําไทย แกะสลักผักผลไม้ งานเทศกาลอาหารไทย ฯลฯ อีกทั้งควรรักษาคุณสมบัติที่ดีของ ผู้หญิงไทย ที่มีความอ่อนโยน ประนีประนอม ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ยินดีดูแลครอบครัวและผู้สูงอายุ

Message us