Cover photo credit: https://pillarsofwellness.ca/psychotherapy/5-best-tools-to-fight-depression/
ปัญหาหนึ่งของผู้เป็นโรคซึมเศร้าคือคนข้างตัวถอยหนี บางทีแม้แต่เพื่อนที่คบกันมาเป็นสิบปี การถูกเพื่อนเมินเฉย ตัดการติดต่อ เยาะเย้ยใส่หน้า มักสร้างความสะเทือนใจเพิ่มให้กับผู้ป่วย โดยอาจไม่ได้เป็นความตั้งใจของใครเลย
ทำให้เราคงต้องหันมาเข้าใจว่า ทำไมโรคนี้จึง “รับ” ได้ยากสำหรับคนที่ไม่ป่วย รวมทั้งคนที่ถูกเรียกว่า “เพื่อน”
เหตุผลต่อไปนี้อาจจะช่วยทั้งคนป่วยและคนไม่ป่วยได้
เหตุผลแรก #เพื่อนตกอยู่ภายใต้มายาคติ
มายาคติคือความเข้าใจผิดที่เชื่อต่อ ๆ กันมาโดยยากจะเปลี่ยนแปลง คนส่วนใหญ่กลัวโรคซึมเศร้า รู้สึกเป็นโรคของคนอ่อนแอ จิตใจน่ารังเกียจ เป็นคนน่ากลัว คนป่วยก็เหมือนคนบ้า คนไม่สมประกอบ ใครอยู่ใกล้จะพลอยซึมเศร้าติดร่างแหไปด้วย แม้ว่าสังคมยุคปัจจุบันเปิดกว้างกับโรคนี้มากขึ้น แต่น้อยคนจะเข้าใจโรคนี้จริง ๆ ว่ามีกลไกความเจ็บป่วยอย่างไร รักษาอย่างไร เยียวยาได้ไหม คนรอบข้างต้องทำตัวอย่างไร ทำให้มายาคติที่รังเกียจผู้ป่วย ยังยากจะลบเลือน – ความไม่รู้นำมาสู่ความรังเกียจ
เหตุผลที่สอง #เขาไม่ใช่เพื่อนที่ใช่
บางทีคนที่เราคิดว่าเป็นเพื่อน คบกันนาน ๆ ไปเที่ยวไปกินไปสนุกสนานด้วยกัน กลับกลายเป็นแค่เพื่อนแบบผิวเผิน เพราะยังไม่มีบทพิสูจน์ กว่าจะเห็นความเชื่อ ทัศนคติ อคติ ความเห็นแก่ตัว หรือขี้ขลาด มิตรภาพเทียม ก็เมื่อมีวิกฤตบางอย่างมาพิสูจน์ เช่น พอถึงภาวะอันตราย เพื่อนวิ่งหนีเอาตัวรอดคนเดียว หรือ พอคุยเรื่องการเมืองก็แตกคอไม่มองหน้ากัน หรือ เมื่อผลประโยชน์ขัดกัน
เหตุผลที่สาม #เพื่อนรับมือกับเราไม่ไหว
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่หนีห่าง ต้องเป็นคนที่แย่เสมอไป เราคงต้องทำใจร่ม ๆ เหมือนกันว่า การเจ็บป่วยของเราทำให้เพื่อนกลัว เครียด ล้า หมดหวัง ขาดพื้นที่ส่วนตัว เพราะเราอาจเหมือนคนกำลังจะจมน้ำ เจออะไรก็ต้องเกาะไว้ก่อนไม่ให้จมลงไป ถ้าเพื่อนไปช่วยพยุงเราเข้าฝั่ง แต่เราไม่ยอมปล่อยเพื่อนเสียที และไม่ยอมพาตัวเองขึ้นฝั่ง (รับการรักษาจากมืออาชีพ) อะไรก็เอาไปถมให้เพื่อนคนนี้หมด ไม่ว่าเพื่อนที่ดีที่สุดคนไหน ก็คงต้องหนีห่างเราไปในที่สุด ไม่มีใครอยากจมน้ำไปกับเรา
เหตุผลที่สี่ #เพื่อนมีปัญหาของตัวเอง
ผู้ป่วยมักจะลืมไปว่า คนอื่นก็มีความซับซ้อนทางจิตใจ มีปมดราม่าของตัวเอง มีปัญหาที่ต้องเผชิญ เจ็บป่วย ตกงาน อกหัก ถังแตก ฯลฯ การต้องรับมือกับคนป่วยอาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐที่เพื่อนไม่สามารถแบกไว้ได้ต่อไป เพื่อนที่ไม่ใช่มืออาชีพ หรือมีประสบการณ์รับมือกับภาวะซึมเศร้ามาก่อน ย่อมไม่อาจตอบโจทย์เราได้ ว่าง่าย ๆ ทุกคนต้องเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง แม้แต่ตัวเราผู้ป่วยเอง
สิ่งที่น่ากลัวกว่าเพื่อนตีจากไป คือ การหมกมุ่นหาเหตุผลว่าทำไม แล้วเศร้า วน ดิ่งอยู่อย่างนั้น
สงสัยนั้นสงสัยได้ แต่ต้องเข้าใจว่า มันเป็นการตัดสินใจของเพื่อน และเราไม่จำเป็นต้องเอาการตัดสินใจนั้นมาสร้างปมทางใจเพิ่มให้ตัวเองอีกหนึ่งปม บอกตัวเองว่า เพื่อนเลือกทางของเขาแล้ว เราไม่จำเป็นต้องรู้เหตุผล เพราะถึงรู้ไปก็ไม่ได้ช่วยให้เราอาการดีขึ้น เรามีหน้าที่ต่อตัวเราเองเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ไปเข้าใจว่าเพื่อนชิ่งหายไปเพราะอะไร
สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด #โฟกัสกับตัวเองและการเยียวยารักษา ไปหาจิตแพทย์ นักจิตบำบัด กินยาสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ใช้ธรรมะประโลมใจ ไปอาสาช่วยงานสังคม ช่วยทำงานบ้าน เลี้ยงสุนัขหรือแมว และที่สำคัญที่คนไทยไม่ค่อยถนัด คือ อ่านศึกษา ดูคลิป ฟังบรรยาย ให้เข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น ใช้แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ หลีกเลี่ยงการอ่านหรือดูอะไรที่ดราม่า ในช่วงที่กำลังดิ่ง ดูสิ่งที่สร้างความหวังและจรรโลงใจ
เมื่อจิตใจเราดีขึ้น เราจะมองเรื่องนี้ว่าเป็นบททดสอบอีกบทหนึ่งของคนเป็นซึมเศร้า มันมีด่านความรังเกียจเดียดฉันท์ที่จะต้องพบเจอ ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ เราก็ไม่ เพื่อนก็ไม่ ความเป็นเพื่อนแท้หรือเพื่อนเทียม แค่ต้องเจอการพิสูจน์ เราจะบอกตัวเองว่า ทำถูกแล้วที่ move on และ ตั้งหน้าตั้งตารักษาตัวเอง
เราอยากสรุปว่า การเป็นโรคซึมเศร้า คือ #การเปิดประตูสู่ชีวิตที่มีสมดุล หากไม่เป็นโรคนี้ เราอาจต้องคบกับคนที่ไม่ใช่ เราจะไม่เข้มแข็งกับชีวิต เราคงไม่ได้จัดการกับปมชีวิตของตัวเอง และปล่อยให้มันกำหนดพฤติกรรมที่กัดกินตัวเองต่อไป โดยไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ค้นพบการเจริญงอกงามทางใจ
เชื่อเถอะว่า เราทุกคนจะผ่านพ้นไป แต่เส้นชัยไม่ได้มาถึงโดยการกินยาเท่านั้น มันต้องใช้ความพยายาม ความอดทน สติ
ขอให้มีศรัทธาว่า พลังของเราซ่อนอยู่ข้างใน รอให้เราไปค้นพบ นำมาเยียวยา…
แถมท้าย……
ในกรณีที่เราเป็นเพื่อนหรือคนใกล้ชิดของผู้ป่วย เราสามารถช่วยได้ด้วยการ (1) เข้าใจว่านี่คือภาวะป่วยจากความบกพร่องของสารเคมีในสมอง ไม่ใช่เนื้อหาแท้จริงของผู้ป่วย ไม่ตั้งอคติกับผู้ป่วย (2) รับฟังอย่างเดียว ไม่ตัดสินว่าเรื่องนี้งี่เง่า มโนไปเอง รับฟัง รับฟัง และ รับฟัง วางใจให้เป็นกลาง และให้กำลังใจเพื่อนไปรับการรักษา (3) ยอมรับว่าเรามีขีดจำกัด หากรู้สึกเราไม่ไหวแล้ว ก็รักษาระยะห่าง ดูแลตัวเอง หากเพื่อนเริ่มดราม่า วนเวียนไม่รู้จบ หรือมีพฤติกรรมบงการ – บอกเพื่อนว่าขอเบรค… (4) จัดเวลาไว้ในใจว่าเราจะคุยในช่วงเวลานานไม่เกินเท่าไรในแต่ละครั้ง ไม่ลากยาว ไม่เยิ่นเย้อ เป็นการขีดเส้นเพื่อปกป้องทั้งสองฝ่าย (5) ไม่กดดันให้เพื่อนแบกรับความคาดหวังของเรา เช่น เธอต้องหายเร็ว เธอต้องเลิกคิดมาก เธอต้องยิ้มสู้ แต่แสดงความเชื่อมั่นว่าเพื่อนมีศักยภาพที่จะก้าวข้าม หากได้ตัวช่วยที่เหมาะสม
ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับระดับความสนิทและไว้วางใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งการรับฟังอย่างจริงใจและเป็นกลาง และพูดแนะนำให้น้อยที่สุดหรือไม่แนะนำอะไรเลย ยกเว้นจะถูกถาม…มักช่วยได้เสมอ
หากทั้งหมดยังช่วยไม่ได้ ก็ต้องยอมรับว่าเราไม่มีศักยภาพที่จะช่วยเพื่อนได้ อาการเพื่อนอาจจะหนักเกินมือของเรา เรามีสิทธิถอยห่างด้วยความเมตตา และคงต้องปล่อยวางค่ะ