ต้อนรับน้องใหม่ในยุโรป

บทความสรุปการอภิปรายออนไลน์ “ร่วมพลังจิตอาสา ต้อนรับน้องใหม่ในยุโรป” ที่จัดโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวง พม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

วิทยากร นาตาลี สตอรีย์ จรรยา แซ่เจียง จุฑาทิพย์ ตาฬุมาศสวัสดิ์
ดำเนินรายการ โดย จงเจริญ ศรแก้ว

จงเจริญ ศรแก้ว: สวัสดีท่านอธิบดีกรมกิจการสตรีและครอบครัว ประธานเครือข่ายคนไทยในญี่ปุ่น ข้าราชการ พม สมาชิกเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป และเพื่อนจิตอาสาทั้งในยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย


เครือข่ายหญิงไทยในยุโรปเป็นหนึ่งในสรรพกำลังของจิตอาสาในภูมิภาคนี้ ทีมวิทยากรจะนำเสนอแรงบันดาลใจ กิจกรรม โครงการ และตัวอย่างการทำงานของจิตอาสาบางส่วน ที่คัดสรรมาเล่าสู่กันฟัง 

ดิฉันขอแบ่งการอภิปรายออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการทำความรู้จักวิทยากรและแรงบันดาลใจ ส่วนที่สองคือ โครงการที่น่าสนใจสามตัวอย่าง และ ส่วนสุดท้าย คือ คำถาม-คำตอบ

นาตาลี สตอรีย์ (วิทยากรท่านที่หนึ่ง) วุฒิการศึกษา จบปริญญาตรีรัฐศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ AAT [Basic Accounting] จาก Gloucestershire College เป็นสมาชิกเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป และปัจจุบันทำงานพาร์ทไทม์กับ องค์กร Pioneers UK Christian International และ อยู่ฝ่าย Security ของ Cheltenham Horse Racing

แรงบันดาลใจที่มาเป็นจิตอาสา คือ เคยทำงานองค์กรคริสเตียน เป็นที่ปรึกษาที่มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่ ไปร่วมเป็นจิตอาสาสึนามิตั้งแต่สามวันแรกจนหนี่งปี ให้คำปรึกษาผู้ประสบภัย เป็นล่ามให้จิตอาสานานาชาติ ช่วยทหารไทยสร้างบ้านให้ผู้เสียหาย ช่วยน้ำท่วม ออกเรือช่วย

เมื่อย้ายมาอยู่ยูเค ได้ยินเรื่องราวของจิตอาสายูเคจากคุณพินทุสร เห็นพี่น้องคนไทยในต่างแดนต้องปรับตัว จึงอยากนำประสบการณ์ของตัวเองมาใช้

จรรยา แซ่เจียง (วิทยากรท่านที่สอง) เป็นรองประธานเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป TWNE และยังทำงานเป็นล่าม สื่อกลางวัฒนธรรม ศูนย์ต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว Mascherona จังหวัดเจนัว แคว้นลิกูเรีย ประเทศอิตาลี ก่อตั้งเพจสะใภ้อิตาลี perche no เพื่อเสนอข่าวสารและเป็นศูนย์รับปรึกษาปัญหาการใช้ชีวิตในอิตาลี ก่อตั้งกลุ่ม “ห้องเตรียมเอกสาร คนไทยในอิตาลี” เผยแพร่เกร็ดความรู้และส่งเสริมทักษะการใช้ชีวิตในอิตาลี

แรงบันดาลใจที่มาเป็นจิตอาสา อยู่เมืองนอกมาเกือบสามสิบปี แต่เข้ามาในแวดวงเมื่อสิบสามปี ศูนย์การค้ามนุษย์แห่งหนึ่งเรียกไปช่วยเป็นล่าม การสืบพยาน เราทำหน้าที่แล้วก็พลอยรับรู้เคราะห์ร้ายของเพื่อนคนไทยไปด้วย จากคนที่เคยมีแต่ตัวเองกับครอบครัว มันเขย่าสำนึกในตัวเรา เราอยากช่วยบรรเทาทุกข์ อยากทำให้เขาลุกขึ้นมาได้ จากการได้ทำงานล่าม ได้เห็นปัญหาของเพื่อนคนไทย ทำให้คิดว่าการทำเพจรวบรวมความรู้คำถาม-คำตอบจะเป็นประโยชน์กับคนไทยจำนวนมาก นอกจากเพจแล้ว ยังรวมกลุ่มกับเพื่อนจิตอาสาเปิดตลาดนัดไทยโตริโน่ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อบูรณาการชีวิต สร้างรายได้ให้คนไทย สร้างสัมพันธ์ครอบครัวพหุวัฒนธรรม ทำกิจกรรมเพื่อสังคม

จุฑาทิพย์ ตาฬุมาศสวัสดิ์ (วิทยากรท่านที่สาม) ความรู้ปริญญาตรีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ปริญญาโทด้านการโยกย้ายถิ่นระหว่างประเทศ จาก University of Kent, Belgium เป็นเจ้าของและ CEO ของสถาบันที่ชื่อว่า “Inspire” ที่มุ่งสร้างพื้นที่เรียนรู้อย่างมีคุณภาพสำหรับเด็ก ๆ และเคยได้รับรางวัลที่สองด้าน  Social Enterprise New Gen Awards ของโครงการ UNDP “Youth CO: LAB Thailand

แรงบันดาลใจ เคยไปเรียนที่อเมริกา ได้เรียนภาษา ตัวเองป็นเด็กต่างจังหวัด เริ่มไปสอนหนังสือ เมื่ออายุ 16 เราสามารถทำอะไรก็ได้ที่เรามีทักษะ เรียนที่เบลเยียมสองปี เรียนจบกลับไปทำงานเมืองไทย แล้วได้กลับมายุโรป ตอนมาฝึกงาน ก็ค้นหาในกูเกิ้ล คำสำคัญ เราจะทำอะไรได้บ้าง ได้รู้จักกับโอเอซิสเบลเยียม ได้รู้จักโครงการที่มีหัวหน้าเป็นคนไทย ความที่เราพูดภาษาไทย จีน อังกฤษได้ จึงได้อาสาช่วยทำงานเอกสาร ช่วยด้านภาษา ให้กำลังใจกับทั้งคนไทยที่มาใหม่และที่อยู่มาก่อน การทำงานทำให้แรงบันดาลใจมันเติบโต เราให้เขา เขาให้เรา ใจเราใหญ่ขึ้นมาเรื่อย ๆ เราเรียนรู้ เราสร้างครอบครัวใหม่ในต่างแดน

โครงการ New in Town “แด่เธอผู้มาใหม่” แนะนำโดย นาตาลี สตอรีย์

โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะเราเห็นความต้องการของคนที่ย้ายมาอยู่เมืองใหญ่ เช่น ลอนดอน ไม่ว่าจะเป็นการย้ายตามสามี การทำงาน หรือ การเรียนต่อ คนที่มาใหม่อาจช็อคทางวัฒนธรรม ไม่ได้ภาษา ไม่รู้จักใคร ปรับตัวกับอากาศ ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน กลุ่มจิตอาสายูเคซึ่งประกอบด้วยสมาชิกและเพื่อนเครือข่ายในยูเค เข้ามารวมตัวกันเพื่อช่วยเพื่อนใหม่ให้สามารถเริ่มต้นด้านภาษา เข้าใจวัฒนธรรมอย่างง่าย ๆ เข้าใจความเป็นอยู่พื้นฐาน สิทธิหน้าที่ที่คนไทยไม่ค่อยสนใจก่อนย้าย เพื่อให้เข้าใจว่าเราทำอะไร จะขอเสนอภาพสักสองสามภาพ

ภาพแรกเจอกับน้องที่ย้ายมาใหม่ เราทานกาแฟด้วยกันเพื่อสร้างบรรยากาศสบาย ๆ เราสอนเรื่องนิสัยใจคอและมารยาทแบบคนอังกฤษ เราจัดหาเอกสารแนะนำลอนดอนให้ เราพาไปทัวร์สถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้น้อง ๆ รู้จักการไปไหนมาไหนในเมืองใหญ่

ภาพต่อไป เรามีการพบปะกับคุณหน่องตำรวจชุมชนหญิงไทยคนแรกในลอนดอนที่มาให้ความรู้ด้านกฎหมาย และการดูแลความปลอดภัยของตนเอง

ภาพต่อไป เราแนะนำให้น้องใหม่รู้จักทีมจิตอาสาของเราซึ่งมีทั้งคนไทยคนอังกฤษ ซึ่งอาสาสมัครอังกฤษได้ช่วยให้คำแนะนำกับน้องใหม่เรื่องการสมัครงานด้วย

โครงการเราได้รับการตอบสนองที่ดี ทำไปสี่ครั้ง เจอล็อคดาวน์แต่เรายังส่งข่าวสารเสมอ ผ่านเฟซ 

น้องใหม่ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับเราสะท้อนว่า รู้สึกขอบคุณที่มีกิจกรรมนี้ เพราะตอนมาแรก ๆ ไม่มีใคร พูดภาษาไม่รู้เรื่อง หลังจากได้เจอเรา เธอรู้สึกเหมือนมีครอบครัวที่นี่ เหมือนกับเราคือครอบครัวใหม่ของเธอผู้มาใหม่

หลังจากพบน้องใหม่ครั้งแรกแล้ว โครงการยังทำกิจกรรมต่อเนื่องผ่านสื่อโซเชียล เช่น การให้คำแนะนำเรื่องวีซ่า ให้คำปรึกษาด้านการปรับตัว ตอบคำถามต่าง ๆ เพื่อให้น้องๆรู้สึกว่าโครงการ New in Town อยู่ตรงนั้นเพื่อพวกเธอเสมอ

ตอนนี้เรายังไม่มีน้องใหม่เข้ามาร่วมเป็นจิตอาสา คิดว่าโควิด-19 เป็นสาเหตุสำคัญ ทีมงานคิดว่าหลังจากทุกอย่างเข้าสู่สถานการณ์ปกติแล้ว น้องใหม่เหล่านี้จะเข้าใจและเกิดแรงบันดาลใจจากความห่วงใยและเอื้ออาทรของพี่ๆจิตอาสา และสนใจมาร่วมทํางานจิตอาสากับเรา

“ต่อยอดศักยภาพคนรุ่นใหม่” The Welkom Project, Belgium แนะนำโดย จุฑาทิพย์ ตาฬุมาศสวัสดิ์

องค์กรโอเอซิส เป็นองค์กรที่ทำงานด้านป้องกันการค้ามนุษย์และความรุนแรงต่อสตรี มีสำนักงานอยู่ใน ๙  ประเทศ ทั้งในยุโรปและอาฟริกา และที่พิเศษเกี่ยวกับโครงการ The Welkom Project ในเบลเยียมคือหัวหน้าโครงการเป็นคนไทย เดิมทีโครงการมีเป้าหมายเพื่อ “ผู้หญิง” แต่ความที่เป็นคนไทย จากที่คนไทยได้รับความช่วยเหลือหนึ่งคน ก็บอกต่อ ๆ กันไปก็มีคนไทยรู้จักเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนโครงการกลายเป็นไอค่อนหนึ่งของคนไทยในประเทศนี้

สมชื่อ “ยินดีต้อนรับ” โครงการอยากให้คนไทยในเบลเยียมรู้สึกว่ามีครอบครัว มีเพื่อน มีที่ปรึกษา มีแหล่งข้อมูล เช่น ที่กิน ที่เรียนภาษา ที่ฝึกทักษะ หรือเมื่อมีปัญหาก็ขอความช่วยเหลือได้

สิ่งที่สำคัญคือ โครงการให้ความรู้ว่าคนไทยมีสิทธิและหน้าที่อะไรในประเทศนี้ โดยเฉพาะสิทธิด้านแรงงานของคนไทยที่ทำงานในร้านอาหารและร้านนวด

โครงการมีการออกเยี่ยมสถานที่ทำงาน คุ้มครองพิทักษ์สิทธิ ให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง แจกเอกสารต่าง ๆ

โครงการดูแลเคสที่มีปัญหาด้านสัญญาการจ้างงาน การถูกเอาเปรียบ ความรุนแรงทางกาย วาจา ใจ ไปจนถึงปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพใจ

การทำงานกับกลุ่มเป้าหมายในสถานประกอบการนั้นต้องอาศัยการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและเวลาที่จะทำความรู้จักกัน ประเด็นปัญหาหลายอย่างเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์

ด้วยความที่ทิพย์รู้ภาษาและเรียนทางด้านสิทธิมนุษยชนมา การได้ทำงานกับองค์กรโอเอซิสภายใต้โครงการนี้ ทำให้ทิพย์ได้เรียนรู้วิธีคิดและทำงานที่มีสิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในสมัยอยู่เมืองไทยทิพย์จะไม่มีโอกาสได้ใช้แนวคิดนี้ในการทำงานได้เด่นชัดเท่า

การเป็นจิตอาสากับ Welkom Project ทำให้เราได้ใช้ความรู้เรื่องการย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศมาต่อยอดในการทำงานอีกด้วย การลงพื้นที่ทำให้เราเข้าใจปัญหาและความเป็นจริงอย่างลึกซึ้ง ได้เปิดใจรับรู้ถึงเหตุผลที่หลากหลายของหญิงไทยที่ย้ายมายุโรป เข้าใจถึงสิทธิอันพึงมีของผู้หญิงและคนไทยทุกเพศ และได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่เกิดจากการถูกล่วงละเมิด

ทิพย์ทำวิทยานิพนธ์เรื่องแรงงานพม่าในไทยซึ่งเป็นกลุ่มย้ายถิ่นที่ข่วยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เมื่อได้มาอยู่ยุโรป ก็ทำให้เห็นว่าหญิงไทยย้ายถิ่นก็คือกลุ่มขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในยุโรป

“รับเธอไว้ในอ้อมกอด” คำถามยอดฮิตของสะใภ้ใหม่ แนะนำโดย จรรยา แซ่เจียง

ถ้าพูดถึงคำถามยอดฮิต ขอแบ่งเป็นสามกลุ่มคำถาม คือ คำถามด้านวีซ่าและสิทธิพำนัก คำถามด้านการสมรสและการหย่าร้าง และคำถามเรื่องสถานทูต ในสามกลุ่ม ต้องบอกว่าแยกย่อยคำถามได้อีกเป็นร้อย เพราะชีวิตของคนย้ายถิ่นเปลี่ยนประเทศเป็นเรื่องซับซ้อนมาก

คนให้คำปรึกษาต้องละเอียด ฝึกถามฝึกตอบด้วยกัน เบียร์คอยนิเทศน้อง ๆ ในเพจที่เบียร์ดูแล คอยให้กำลังใจ สร้างจิตอาสาใหม่ ๆ เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้องและสร้างเป็นชุดความรู้ที่ใช้ไปได้อีกนาน ๆ

คำถามกลุ่มแรกคือ เรื่องวีซ่าและใบพำนัก สะใภ้ขาดความเข้าใจ กฎเกณฑ์ระเบียบ ไม่ทราบขั้นตอน สามีมักจะช่วยอะไรไม่ได้เพราะ กม เข้าเมืองเป็นเรื่องที่เจ้าของประเทศเองจะไม่สนใจ และคนไทยเราหากไม่มีปัญหาตรงหน้า ก็จะไม่อยากรู้ ใบพำนัก อยากให้ลูกมาอยู่ด้วย จะทำวีซ่าอย่างไร กำลังถูกส่งกลับไทย กำลังจะหย่าจากสามี จะไปอย่างไรต่อ ต่ออายุไม่ได้ แต่ละเคสมีลักษณะเฉพาะ

คำถามกลุ่มที่สองเรื่องการสมรสและหย่า ตอนแต่งก็ไม่ค่อยเข้าใจ เซ็นอย่างเดียว ขอให้ได้แต่งแล้วค่อยมาทำความเข้าใจ ตอนหย่าก็ไม่เข้าใจว่ามีสิทธิและหน้าที่อย่างไร สิทธิการปกครองคืออะไร หย่าแล้วจะได้แบ่งทรัพย์สินไหม สับสนระหว่างคำว่าแบ่งทรัพย์สินกับเรียกค่าเลี้ยงดู เมื่อคนถามถามผิด-คนตอบก็ตอบผิด

คำถามที่สาม เรื่องสถานทูต น่าประหลาดใจแต่เป็นเรื่องจริงที่คนที่ย้ายมาอยู่ใหม่ มาขอความช่วยเหลือเพราะไม่รู้ว่าติดต่อสอท อย่างไร ที่ไหน เจ้าหน้าที่พูดภาษาไทยไหม เข้าถึงอย่างไร ไม่รู้จักบริการแผนกไหน สอท ทำอะไรได้ อยากได้ทนาย ล่ามต่าง ๆ

อย่างไรก็ดี ในยุคโควิด คำถามเปลี่ยนไป คนเข้าออกประเทศลดลง สามกลุ่มคำถามข้างต้นก็ลดลง และเกิดคำถามชุดใหม่สามประเด็น ประเด็นแรกคือจะกลับไทยต้องทำอย่างไร ต้องเตรียมเอกสารอย่างไร แต่ละวันเรื่องคนไทยกลับไทยมีคำถามทุกวัน กฎหมายเปลี่ยน ปรับมาตรการ การตรวจโควิดเป็นเรื่องใหม่

ประเด็นที่สอง สามีเสียชีวิต ภรรยาไทยกลายเป็นแม่ม่าย เกิดคำถามเรื่องเงินบำนาญ เหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ของจิตอาสา เราต้องไปศึกษาหาคำตอบ

ประเด็นที่สาม แรงงานไม่ค่อยสนใจเรื่องสัญญาจ้างงาน ไม่สนใจเพราะคิดว่าเมื่อไม่มีสัญญา ไม่ต้องเสียภาษี ก็ได้เงินเพิ่มขึ้น แต่พอมีปัญหาโควิด ร้านรวงปิด ตัดพนักงาน ตัดชั่วโมงงาน ฯลฯ ไม่มีสัญญาคุ้มครอง เกิดคำถามมากมาย

จากสามคำถามยอดฮิตก่อนยุคโควิด มาเป็นสามคำถามยอดฮิตยุคโควิดดังนี้ แต่ไม่ว่าคำถามจะมาอย่างไร อ้อมกอดของเรายังเปิดกว้างเสมอ

“ช่วงตอบคำถาม”

ความต้องการของน้องใหม่ในช่วงวิกฤติโควิดเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร และจิตอาสาจะมีส่วนช่วยและพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในทางทิศทางใด (จรรยา)

  • ในอิตาลีเรามีคนไทยเจ็ดพันคนแต่อยู่กระจัดกระจายยี่สิบแคว้น ไม่เข้าได้ต่อเชื่อมถึงกัน แต่โควิดทำให้เราต้องมองว่าเป็นบวก
  • โควิดทำให้พวกเรามาพบกันได้ออนไลน์ เวทีนี้คงมีน้อง ๆ มานั่งฟัง ให้พลิกวิฤติให้เป็นโอกาส มาทำความรู้จักกัน รู้จักตัวเอง คนอื่นเห็นความสามารถในตัวเรา และเราเห็นคนอื่นเรามาร่วมกัน มาจอยกัน
  • กลุ่มที่เบียร์ดูแลเพิ่งมีแอดมินเพิ่มก็ยุคโควิดนี้ เอาตรงนี้ไปบวก นี่คือหนึ่งในตัวอย่าง เราไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่าง แค่เราค้นพบ เรามีดีตรงไหน แล้วเราพยายามพัฒนา
  • กรณีน้องใหม่มาแต่งงานที่อิตาลี ทำให้ได้เริ่มช่วยตั้งแต่ต้นแทนที่จะมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

เราควรดูแลตัวเองยังไงในสถานการณ์ปัจจุบันเมื่อต้องอยู่ไกลบ้าน (จุฑาทิพย์)

ความเหงา ความหนาว มาร่วมทำกิจกรรมจิตอาสากับพี่ ๆ

เทคนิก CCC

การสร้างเครือข่ายออนไลน์สำคัญมาก เกือบทุกประเทศ ทุกเพจมีประโยชน์ อยากให้เพื่อน ๆ ลองเข้าไปเช็ค จะได้ไม่เหงา และอาจค้นพบแรงบันดาลใจที่ปิดล็อคอยู่ก็ได้

เทคนิคในการรวมพลังจิตอาสาในชุมชนในช่วงโควิด ให้ทำกิจกรรมร่วมกันแบบยั่งยืนมีอะไรบ้าง (นาตาลี)

  • Communication: ต้องขอบคุณเทคโนโลยี ไลน์ แมสเซนเจอร์ facebook, website ที่ทำให้เราได้สื่อสารกับทุกคนได้มากขึ้นโดยเฉพาะข่าวสารจากทางรัฐบาลที่แปลเป็นภาษาไทย
  • Continue: ทางจิตอาสาไม่ได้หยุดให้ความช่วยในการให้คำปรึกษา ล๊อคดาวน์ประเทศแต่ไม่สามารถล๊อคดาวน์ความห่วงใยและการสื่อสารของเรา
  • เทคนิคที่เราใช้ได้ผลในช่วงโควิดฝั่งยูเคคือ จิตอาสาจะมีการสื่อสารกันทุกวัน โดยผ่านไลน์หรือFacebook page ของ New In Town
  • ในการสร้างความมั่นใจให้น้องใหม่ เรามีคนที่มีประสบการณ์มาร่วมดูแลน้องใหม่จากหลายๆด้าน เรื่องการแนะนำบางอย่างเราก็มีเอกสาร หน่วยงานที่น่าเชื่อให้ตรวจสอบและอ้างอิงและเราทำแบบกลุ่มเล็กๆ ใกล้ชิด ให้เวลากับเขาตัวต่อตัวได้

สิ่งที่น้องใหม่ควรเตรียมตัวในการหางานในต่างประเทศ วิธีต่อยอดสิ่งที่เคยเรียนหรือประสบการณ์ที่มีจากประเทศไทย (จุฑาทิพย์)

ส่วนการเตรียมตัวหางานนั้น สิ่งที่ควรต้องมีคือ ภาษา ทักษะอาชีพ ความรู้เกี่ยวกับตลาดแรงงานที่อยู่ในสายงานของตน

การต่อยอดก็อย่างที่เล่าไปในการทำงานกับโครงการ Welkom Project นะคะ

ทำอย่างไรเราจะช่วยเหลือทุกคนได้ง่ายๆและรวดเร็ว (จรรยา)

รู้แม่น รู้จริง จะช่วยแก้ปัญหาได้เร็ว ฯลฯ

จะเตรียมความพร้อมในการปรับตัวและเวลาเดียวกันไม่ลืมวัฒนธรรมของตัวเองได้อย่างไร (จงเจริญ)

ยอมรับว่านี่คือสิ่งที่เราเลือก ถอดวางสิ่งที่ตัวเองเป็นในเมืองไทยไปก่อน ทำความรู้จักคู่ชีวิตให้ดี เปิดใจกว้างเรียนรู้ เรื่องวัฒนธรรมของตน ไม่เชื่อว่าใครจะลืมได้ แต่เป็นการเลือกว่าจะปรับตรงไหนให้เข้ากับชีวิตใหม่ วัฒนธรรมใหม่ ความเป็นไทยของคุณคืออะไร ภาษา? ศาสนา? การทำบุญ? การแต่งกาย? เทศกาล? กลุ่มเพื่อน? อาหารการกิน? หากเข้าใจความหมาย คุณจะไม่ลืมวัฒนธรรมของชาติ

การเตรียมพร้อมน้องใหม่ที่ไปยุโรป เรียนรู้ชีวิตวัฒธรรมก่อนล่วงหน้า จะมีโอกาสติดต่อช่องทางไหน รวมทั้ง การเตรียมพร้อมก่อนมาเยอรมัน (จงเจริญ)

อยากทราบว่ามีการจัดเตรียม”คู่มือ” (Handbook) หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ไว้ให้เพื่อนสมาชิกใหม่ที่เพิ่งเดินทางมาใช้ชีวิตในต่างประเทศหรือไม่คะ ถ้ามีสามารถติดต่อขอรับได้จากหน่วยงานใดได้บ้าง (จงเจริญ)

สถานทูต เพจสะใภ้ประเทศต่าง ๆ การอบรมของ พม เครือข่ายหญิงไทยในยุโรป สมาคมคนไทยในต่างประเทศ หลายประเทศมีการทำคู่มือสำหรับคนไทยที่มาใหม่ ขอให้สอบถาม

TWNE Channel on YouTube https://www.youtube.com/channel/UCsMO49vrEqwsG7dHPhc1dUQ

มีเพื่อนที่อยู่เมืองเดียวกันสามีเขาติดยา เวลาเล่นยาไล่ภรรยาออกจากบ้าน ภรรยาก็ได้ไปพักกับเพื่อนชั่วคราว แต่พอสามีโทรมาง้อภรรยาก็กลับเข้าบ้านไป ถ้ากลับไปประเทศไทยไม่รู้จะทำอะไร ผู้หญิงคนนี้ต้องนอนร้องไห้จ่มอยู่กับความทุกข์ พี่น้องที่ไทยไม่อยากให้กลับเพราะเขาทำงานที่ต่างประเทศส่งเงินให้ครอบครัวเดือนละ 4-5 หมื่นบาทไทย และเขามีลูกที่ไทย 1 คน (จรรยา)

การวางตัววางใจมุมมองของจิตอาสา เป็นกลาง รับฟัง ไม่ด่วนตัดสิน ค้นหาว่าเพื่อนต้องการอะไร

ให้กอดงานที่มีไว้ให้ดี

ตัวจิตอาสา อย่าลืมชักโครก

แต่งงานกับสามี 5 ปีมาอยู่ถาวรที่สเปนได้ 2 ปี เคยเป็นพยาบาล จบปริญญาโท nurse practitioner มีความชำนาญด้านชุมชน และผู้สูงอายุ แต่มาถึงสเปนกลับใช้ทำอะไรไม่ได้ จนต้องเรียนป.เอกตอนนี้ได้ 2 ปีแล้ว และต้องปรับตัวเองกับวัฒนธรรมใหม่ทั้งหมด สูญเสียความมั่นใจไปมาก (นาตาลี)

ทุกคนเมื่อย้ายมาอยู่ต่างประเทศ สิ่งสำคัญอันดับแรกที่ต้องรักษาไว้คือ คุณค่าของตัวเราที่มี เพราะมันไม่ได้สูญสลายไป มันยังอยู่ สิ่งที่สองอย่ากดดันตัวเอง ให้เดินไป Step by Step

คำถาม ผญ.ไทยหลายคนแม้จะอยู่มานานแล้ว แต่ยังคงมีปัญหาด้านภาษา ในภาวะโควิทเมื่อไม่สบายจำเป็นต้องพบหมอที่รพ. แต่ไม่กล้าไปคนเดียว เพราะรพ.อนุญาตให้เฉพาะคนที่มีนัดเข้าเท่านั้น ทำให้บางคนต้องเผชิญปัญหาสุขภาพต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงการไปพบหมอ เนื่องจากปัญหาเรื่องภาษาและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในภาวะฉุกเฉิน เราจะช่วยให้เค้าก้าวผ่านภาวะนี้ได้อย่างไรในระยะเวลาที่จำกัดนี้ (จุฑาทิพย์)

ในปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่สามารถช่วยในการแปลภาษาและช่วยให้ความสะดวกในการสื่อสาร ในกลุ่มนี้มีอาสาหลายท่านและองค์กรที่พร้อมให้ความช่วยเหลือในด้านภาษา ดังนั้นในกรณีนี้ท่านสามารถโทรศัพท์เพื่อรับการประสานในการช่วยเหลือเรื่องการสื่อสารเมื่ออยู่​ในสถ​านการณ์นั้น

สรุปบทเรียนจากการอภิปราย (จงเจริญ)

  • บทเรียนที่หนึ่ง ก้าวแรกที่ประทับใจคือสิ่งสำคัญ ความรู้สึกว่าถิ่นใหม่เป็นบ้าน เป็นครอบครัว มีเพื่อน จะทำให้เธอผู้มาใหม่ปรับตัวได้เร็วขึ้น
  • บทเรียนที่สอง การให้ความรู้คำแนะนำยังเป็นงานสำคัญของจิตอาสาทุกกลุ่ม คำถามที่มีคำตอบทำให้คนสิ้นหวังมีทางไปต่อ คำตอบที่ถูก นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง
  • บทเรียนสุดท้ายแต่ไม่ท้ายที่สุด จิตอาสาต้องก้าวให้ทันยุค โควิดมาประชิดเราเร็วและยาวนานกว่าที่คาดคิด อาสายุคนี้ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ได้ทั้งในโลกแห่งความเป็นจริงและในโลกเสมือนจริง
คลิปจากการอภิปราย “ร่วมพลังจิตอาสา ต้อนรับน้องใหม่ในยุโรป”
Message us