ผู้หญิงและเอเจนซี่ (Women’s Agency)

Photo credit:

โดย จงเจริญ ศรแก้ว

ในฐานะนักแปล ผู้เขียนมักเจอศัพท์ที่ไม่คุ้ยเคยเป็นครั้งคราว บางคำก็ไม่รู้ว่าจะใช้ภาษาไทยอย่างไร

เช่น ครั้งหนึ่งเจอคำว่า women’s agency ในงานวิจัยความรุนแรงทางเพศ ทีแรกคิดว่าเป็นหน่วยงานช่วยเหลือผู้หญิง แต่ดูเนื้อหาแล้วไม่ใช่

พอป้าแม้วมาขอให้เขียนบทความเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวเอง ทำให้ผู้เขียนคิดถึงคำ ๆ นี้ขึ้นมา

ผู้เขียนจึงอยากอภิปรายและแนะนำคำนี้ให้เพื่อน ๆ รู้จัก ลองยกตัวอย่าง แล้วดูว่าจะโยงไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มได้ไหมและอย่างไร

การค้นคว้าห้องสมุดไซเบอร์ ทำให้ไปเจอบทความที่อธิบายคำว่า ‘เอเจนซี’ ได้อย่างน่าสนใจและละเอียดพอ

บทความนี้มีชื่อว่า — “What is agency and why does it matter for women’s empowerment?” เปิดดูได้ที่ลิงก์นี้ค่ะ  https://www.includovate.com/what-is-agency-women-empowerment/

ความหมายของ Agency

’เอเจนซี่’ ในนิยามของบทความข้างต้น คือ ‘สิทธิเสรี’ ของผู้หญิงในการตั้งเป้าหมาย หรือการตัดสินใจแล้วจึงก้าวตามความมุ่งมั่นนั้น ผู้หญิงอาจมีตัดสินใจตามลำพังหรือร่วมกันเป็นกลุ่ม เช่น ผู้หญิงในครอบครัว ผู้หญิงในการตลาด ผู้หญิงในงานการเมือง และเครือข่ายการรวมตัวของผู้หญิง

ตัวอย่างของ ‘สิทธิเสรี’ ดังกล่าว คือ การต่อรอง การเจรจา การโน้มน้าว การหลอกล่อ การโค่นล้ม และการต่อต้าน ไปจนถึงสิ่งที่สัมผัสไม่ได้ เช่น ปัญญาในการไตร่ตรองและวิเคราะห์

     Syn: Action; operation; efficiency; management.

          [1913 Webster]

พจนานุกรมเว็บสเตอร์ปี 1913 ข้างต้น ให้ ‘เอเจนซี’ เป็นคำพ้องความหมายร่วมกับคำ เช่น ปฏิกิริยา ปฏิบัติการ ประสิทธิผล และการบริหารจัดการ

แล้วมันเกี่ยวกับผู้อ่านอย่างไร

ผู้หญิงทุกคนมี ‘เอเจนซี่’ เช่นที่ว่า

ผู้หญิงไทยที่โยกย้ายถิ่นฐานใช้ ‘สิทธิเสรี’ ในการ ‘เลือก’ (choice) ว่าจะไปใช้ชีวิตใหม่ในต่างแดน เมื่อเลือกแล้วก็ลงมือ ‘ทำตามความฝัน’ (action) เท่าที่สติปัญญาและประสบการณ์จะเอื้อให้

กลุ่มหญิงไทยย้ายถิ่นจำนวนหนึ่งที่มีอุดมการณ์ทางสังคม และ/หรือ มีจิตใจอยากช่วยเหลือผู้อื่น ต่างมาจับมือกัน สร้างพลังกลุ่มเพื่อทำงานช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน เช่น สมาคมหญิงไทยเพื่อหญิงไทย สวิสเซอร์แลนด์ เครือข่ายหญิงไทยในยุโรป สมาคมช้างเผือก สวิตเซอร์แลนด์ สมาคมแสงตะวัน สวิตเซอร์แลนด์ โครงการไทยไวส์ สวีเดน สมาคมนวดไทยในนอร์เวย์ สมาคมภาษาและวัฒนธรรมไทย-นอร์เวย์ รายการจิบกาแฟชวนคุย สมาคมสตรีไทยในนอร์เวย์ สมาคมคนไทยและศูนย์ปฏิบัติธรรมในกรีซ สมาคมธารา เยอรมนี เครือข่ายคนไทยในต่างแดน เป็นต้น

ความหยั่งรู้ของผู้หญิงหน้าตาเป็นอย่างไร

เอเจนซี่ ยังเชื่อมโยงกับผู้หญิงที่ ‘หยั่งรู้’ (aware) ถึงศักยภาพของตนและเชื่อมั่น (believe) ในการนำศักยภาพไปใช้สานฝันได้

ตัวอย่างแรก เช่น ยูทูบเบอร์ไหมไทยในฝรั่งเศสรักการทำอาหารขาย รักความเป็นไทย รักชีวิตที่พอเพียงกับครอบครัว เธอจึงใช้ ‘สิทธิเสรี (agency)’ ในการเลือกอาชีพทำของทอดในตลาดนัด แต่งตัวด้วยผ้าไทยเพื่อโปรโมทความเป็นไทย เรียนภาษาฝรั่งเศสเพื่อสื่อสารกับครอบครัวและลูกค้า เธอได้รับการยอมรับจากชุมชน มีฐานแฟนคลับจำนวนล้าน (efficiency) สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยในฝรั่งเศส

ไม่เพียงแต่เธอจะขายอาหารดี มีรายได้เลี้ยงตัวเท่านั้น เธอยังทำให้คนฝรั่งเศสรู้จักเมืองไทยมากขึ้น ทำให้คนไทยรู้จักวิถีชีวิตในฝรั่งเศสมากขึ้น และเป็นบุคคลตัวอย่าง (role model) ให้หญิงไทยอีกจำนวนมากได้เดินตาม

นั่นเป็นเพราะไหมไทย ‘หยั่งรู้’ ว่า เธอทำสิ่งใดได้ดี เธอจะทำมันอย่างไร (efficiency) เธอมีแผนบริหารจัดการ (management) เธอทำงานเป็นทีมกับครอบครัว (team work)

ที่น่าสนใจคือ ไหมไทยสามารถรับมือกับคำถามนานาหนัก ๆ เช่น ทำไมต้องทำงานเลี้ยงฝรั่ง ด้วยคำตอบที่ชัดเจน ซื่อตรง และเคารพตนเอง (self respect) และให้คำตอบในทำนอง ‘ผัวหาบ เมียกระเดียด’

ตัวอย่างที่สอง ห้องแอดมินงานเอกสารสะใภ้อิตาลี เป็นการหยั่งรู้ในระดับกลุ่มเล็ก ๆ ร่วมกัน ที่เชื่อการให้ความรู้งานเอกสารที่ถูกต้อง จะช่วยเปลี่ยนชีวิตของผู้หญิงไทยสะใภ้ต่างชาติ จากฝ่ายเสียสิทธิเป็นฝ่ายมีสิทธิ ห้องแอดมินเริ่มจากคน ๆ เดียว ต่อมาจึงมีทีมงานมาเพิ่ม เนื่องจากพลังบวกต่างดึงดูดพลังบวกเข้าหากัน

แล้วการปลุกจิตสำนึกคืออะไร

ถ้าดูตัวอย่างของห้องงานเอกสารฯสะใภ้อิตาลี ที่เน้นเรื่องสิทธิการพำนัก การทำงาน การสมรส การหย่าร้าง กฎหมายครอบครัว การทำธุรกรรมและงานนิติกรรม เป็นงานระดับ ‘ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย’ และสร้างคนทำงานรุ่นใหม่ในขณะเดียวกัน

นั่นคือการ ‘ปลุกจิตสำนึก (consciousness-raising)’ ในแบบหนึ่ง

ข้อควรคำนึง คือ การปลุกจิตสำนึกเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเผยว่า ‘สิทธิเสรี’ บางอย่างอาจสร้างผลลัพธ์ในทันที (immediate) และสังเกตเห็นได้ (observable) … แต่ไม่คงทน (durable)

การทำงานช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์อาจ ‘ไม่ ’ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการร่วมมือกันเป็นพลังกลุ่มที่จะเอื้อให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาท้าทายโครงสร้างที่กดขี่ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง’

แล้วอย่างไรจึงใช่

ไม่มีคำตอบตายตัว แต่ปฏิบัติการใดที่ทำให้ฐานอำนาจทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง กระจายไปอย่างได้สัดส่วนระหว่างหญิง-ชาย เด็ก-ผู้ใหญ่ คนในชาติ-คนย้ายถิ่น นายจ้าง-ลูกจ้าง คือคำตอบ

ตัวอย่างเช่น การช่วยเหลือเคสงานเอกสารจำนวนมากเป็นเรื่องของการแปล การจับมือทำ การช่วยกรอกแบบฟอร์ม แม้การช่วยเหลือจะทำได้สำเร็จ ก็ไม่น่าจะยั่งยืน เนื่องจากอาสาสมัครต้องทำงานหนัก เคสยังอยู่ที่ฐานความรู้เดิม และยังเสี่ยงต่อการมีปัญหาซ้ำ เคสไม่เรียนภาษาเพราะเหตุผลอะไรก็ตาม เช่น สามีไม่สนับสนุน ไม่มีเวลาไปเรียน โรงเรียนอยู่ไกล ต้องการทำงานมากกว่าเรียน ต้องเลี้ยงลูกอยู่บ้าน  

เคสไม่ได้เพิ่มมูลค่าของตนเองที่จะช่วยป้องกันปัญหาเดิม ๆ ในอนาคต ความไม่เสมอภาคทางเพศยังชัดเจน ความกดดันทางเศรษฐกิจ (ทำงาน หาเงิน ส่งครอบครัว ใช้หนี้) มีความสำคัญกว่าการพัฒนาส่วนบุคคล

การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ช่างไกลตัวเหลือเกิน  

คำตอบอยู่ที่ไหน

คำตอบอาจอยู่ที่นโยบายรัฐท้องถิ่นปลายทางที่จะชดเชยรายได้ให้กับผู้หญิงย้ายถิ่นที่ต้องเลี้ยงลูกและไปเรียนภาษา หรือศูนย์เด็กเล็กที่รับดูแลเด็กโดยไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับแม่ที่อยู่ในระหว่างการปรับตัวทางภาษาและการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน หรือศูนย์จัดหางานที่มีบริการล่ามแปลภาษาต่าง ๆ

คำตอบสุดท้ายที่ยากที่สุด คือ ผู้หญิงต้องใช้ ‘สิทธิเสรี’ หรือ ‘การหยั่งรู้’ เพื่อทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมรอบตัว โครงสร้างอำนาจ บทบาทชายหญิง หน้าที่พลเมืองของรัฐต้นทางและปลายทาง  และต้องเริ่มคิดวิเคราะห์ความไม่เท่าเทียมทางเพศและสาเหตุเชิงโครงสร้าง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวเองอย่างยั่งยืน

เพิ่มมูลค่าเพิ่มด้วยการตัดสินใจ ‘เป็น’

การตัดสินใจ “ได้” กับการตัดสินใจ “เป็น” ไม่เหมือนกัน ลองดูตัวอย่าง

ผู้หญิงไทยย้ายถิ่นฐานเพื่อการแต่งงาน และหางานทำในยุโรป แม้ว่าจะมีความห่วงครอบครัวในไทยมากมาย เธอตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้า – ตัดสินใจได้และกล้า แต่เป็นการตัดสินใจที่ไม่เพิ่มมูลค่า

ผู้หญิงไทยย้ายถิ่นฐานเพื่อการแต่งงาน ศึกษาข้อมูลด้านสิทธิ หน้าที่ โอกาส ทางเลือก เตรียมหาโรงเรียนภาษา โรงเรียนสอนขับรถ เจรจากับคู่สมรสว่าต้องใช้เวลาเรียนก่อนไปทำอย่างอื่น วางแผนการเงินและเวลาที่ต้องใช้ระหว่างปรับตัว ‘ก่อนตัดสินใจย้ายถิ่น’ – ตัดสินใจเป็น เลือกตัดสินใจร่วมกับคู่สมรส เพิ่มมูลค่าให้ตนเอง

แน่นอนว่าสองตัวอย่างนี้สะท้อนแค่ความจริงบางส่วน

ทดสอบความเข้าใจเรื่อง ‘การตัดสินใจ’

ผู้อ่านลองดูสถานการณ์ต่อไปนี้ แล้วขีด เครื่องหมายถูก หน้าข้อที่ผู้อ่านคิดว่าเป็นการตัดสินใจ ‘เป็น’ ใส่  เครื่องหมายคำถาม หากคิดว่าเป็นการตัดสินใจ ‘ได้’ และเลขศูนย์ (๐) ในกรณีที่คิดว่านี่ ‘ไม่ใช่การตัดสินใจ’

  1. ฉันไม่กังวลว่าจะมาเจออะไรที่สวิส เพราะสามีรับปากว่าจะช่วยทำทุกอย่าง
  2. ฉันสมองทึบ สามีให้เรียน แต่ฉันไม่เอา เพราะเรียนไปก็จำไม่ได้
  3. ฉันพอใจที่จะเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก ทำกับข้าวให้สามีและครอบครัวก็เพียงพอแล้ว
  4. ฉันไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับคนที่มาจีบฉัน แต่ฉันจะไปตายเอาดาบหน้าที่สวิต เพราะเป็นประเทศร่ำรวย
  5. ฉันมีสามีที่ร่ำรวย ฉันได้ทุกอย่างที่ต้องการ ชีวิตไม่มีความลำบากเลย
  6. ฉันชอบผลิตสื่อ ชอบค้นคว้า ชอบเขียน ฉันจะเปิดเพจให้คำปรึกษาและทำคลิปให้ความรู้
  7. ฉันสมัครเป็นสมาชิกสมาคมหญิงไทยเพื่อหญิงไทย เพราะได้เรียนรู้สิ่งดี ๆ และสร้างกลุ่มเพื่อนใหม่ ๆ
  8. เพื่อนจ่ายค่าสมัครสมาชิกหญิงไทยเพื่อหญิงไทยให้ฉัน เพราะฉันไม่มีรายได้ สามีไม่เห็นด้วย
  9. ฉันเปิดร้านนวดและสอนนวดไทยเพราะอยากให้หญิงไทยมีรายได้และภาคภูมิใจในตัวเอง
  10. ฉันเปิดร้านนวดเพราะใคร ๆ ก็เปิด ดูแล้วทำไม่ยาก รายได้ดีด้วย  
  11. ฉันไม่เรียนขับรถเพราะค่าเรียนแพง สู้เก็บเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉินดีกว่า แล้วสามีก็ขับรถให้อยู่แล้ว
  12. ฉันเรียนไป ทำงานไป เพราะต้องการเก็บเงินไปลงทุนหลังจากเรียนจบ
  13. ฉันและเพื่อนช่วยกันเปิดชมรมให้คำปรึกษาแก่คนไทยด้วยกันและไปขอทุนจากรัฐบาลท้องถิ่น
  14. ฉันอ่านบทความนี้ แล้วลองมาเขียนดูว่าเรื่องอะไรที่ฉันตัดสินใจได้ และเรื่องอะไรที่ฉันตัดสินใจเป็น

ข้อคิดส่งท้าย

เราเริ่มจาก ‘สิทธิเสรี’ ตามด้วย ‘การหยั่งรู้’ และ ‘การปลุกจิตสำนึก’ บทความนี้อาจเข้าใจยากในบางส่วน แต่คาดว่าการยกตัวอย่างน่าจะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพดีขึ้น

ชีวิตจริงของการย้ายถิ่น เราไม่ได้ตัดสินใจ ‘เป็น’ ทุกครั้ง ทุกกรณี แต่ถ้าเราตระหนักว่า การตัดสินใจนั้น ๆ มันมีผลอย่างไรต่อเรา เข้าใจ และสรุปบทเรียน เราก็จะพัฒนาไปสู่การตัดสินใจ ‘เป็น’ และเพิ่มมูลค่าต้นทุนชีวิตให้กับตัวเอง

เพราะการตัดสินใจ ไม่ใช่แค่ทำได้ ทำเป็น แต่ยังรวมถึงการเสริมพลัง (empowerment) ของผู้หญิง ยกระดับมาตรฐานทางศีลธรรมและอาชีพ ไปจบที่การตระหนักรู้ในตนเอง

เราไม่จำเป็นต้องเก่ง สวย ดี รวย ฉลาด เหมือนกันทุกคน แต่เราทุกคนสามารถเคารพตัวเอง และภาคภูมิใจกับตัวเองในสิ่งที่เป็น และเป็นสิ่งนั้นให้ดีที่สุดค่ะ

ด้วยรักจากริมหาดหัวหิน

จงเจริญ

Message us