เลี้ยงลูกด้วยภาษาไทย

โดย เรื่องเล่าจากหย่งศรี

ตอนยังเป็นวัยรุ่น ฉันรู้สึกว่าการเรียนภาษาอังกฤษเป็นเรื่องยาก ฉันอิจฉาเพื่อนวัยรุ่นในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ที่แม้ไม่มีโอกาสภูมิใจว่าไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่การที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมทำให้พวกเขาพูดภาษาอังกฤษได้คล่องตั้งแต่เด็ก

ตอนนั้นคิดว่าวันหนึ่งหากมีลูก จะพูดภาษาอังกฤษกับลูกตั้งแต่เริ่มต้น ลูกจะได้ไม่ต้องมาลำบากอย่างเรา แถมยังคิดต่ออีกว่า จะเรียนไปทำไมภาษาไทย คนไทยก็มีแค่นี้ ภาษานี้ใช้กันแต่แค่ในประเทศ สู้ภาษาอังกฤษไม่ได้ พาเราไปได้ทั่วโลก

พอฉันพูดให้แม่ฟัง แม่ดุทันทีและบอกว่า “อย่าไปพูดอย่างนี้ที่ไหนให้ใครได้ยินนะ อายเขา เป็นลูกคนไทยก็ต้องพูดภาษาไทยสิ อย่างน้อยก็พูดกับตายายได้ ไม่งั้นจะคุยกันรู้เรื่องได้ยังไง” 

คำพูดนี้เป็นหนึ่งในคำของแม่ที่ฉันจำไม่เคยลืม แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยเต็มร้อยในทันที แต่ก็รู้สึกว่า จริง

……….

เมื่อต้องย้ายสำมะโนครัวมาอยู่เยอรมนีและทำข่าวเกี่ยวกับชุมชนไทยในยุโรป ทำให้ฉันได้เห็นว่ามีคุณแม่คนไทยจำนวนมากที่ไม่พูดภาษาไทยกับลูก ไม่ว่าจะเป็นลูกใหม่ และ/หรือ ลูกที่ติดมาจากการสมรสครั้งก่อน

บางคนอาจโดนขวางโดยคุณพ่อที่ไม่เห็นด้วย ไม่เห็นความสำคัญ กลัวลูกสับสน บ้างก็เลยไปถึงไม่อยากให้คบคนไทยด้วยกัน

แต่ก็มีคุณแม่หลายคนตั้งใจที่จะไม่พูดภาษาไทยกับลูก อาจจะคิดเหมือนฉันข้างต้น หรือคิดว่าจะได้เรียนภาษาไปพร้อมกับลูกด้วย 

บางคนอาจรู้สึกว่าตัวเองเจ๋งที่ได้พูดกับลูกเป็นภาษาต่างด้าว ใครมาเห็นมาได้ยิน ก็จะได้รู้ว่าคุณแม่มีความสามารถหลายภาษา และเมื่อลองสัมภาษณ์ไปลึกๆ สัมผัสได้ว่าคุณแม่เหล่านี้ไม่ได้ภูมิใจในความเป็นคนไทยเท่าไรนัก

เมื่อทำข่าวต่อมาอีกหลายปี ติดตามไปดูการเรียนการสอนภาษาไทยในเมืองต่างๆ ทั่วยุโรป พูดคุยสัมภาษณ์กับทั้งเจ้าหน้าที่การทูต คุณครูผู้สอน และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทย ทุกท่านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พูดภาษาไทยกับลูกดีกว่า เป็นประโยชน์กับเด็กมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ท่านเหล่านี้บอกว่าประโยชน์ที่สำคัญ ไม่ใช่ความได้เปรียบเรื่องภาษาในโลกแห่งการแข่งขันเมื่อลูกโตขึ้น แต่เป็นการที่ “คุณแม่สามารถสื่อสารกับลูกได้อย่างลึกซึ้งถึงก้นบึ้งของหัวใจ” 

เพราะภาษาไทยเป็นภาษาแม่ คุณแม่ย่อมพูดกับลูกได้อย่างเต็มที่ ตามที่ตัวเองรู้สึก ไม่มีอะไรมาปิดกั้น เด็กเอง โดยเฉพาะเด็กเล็กก็สามารถสัมผัสความรู้สึกทั้งหลายของคุณแม่ได้อย่างเต็มที่ 

ผิดกับการที่คุณแม่พูดภาษาต่างด้าว (ของคุณแม่) กับลูก ซึ่งคุณแม่เองไม่ถนัด พูดแล้วไม่เข้าใจถ่องแท้ ที่สำคัญ ออกเสียงไม่ชัด ไวยากรณ์ผิด จะสร้างปัญหาให้ลูกตามมาเมื่อเข้าเรียนในชั้นเรียนจริงๆ

คุณครูโรงเรียนอนุบาล ประถม และมัธยมที่เยอรมนีหลายท่านที่ฉันได้พูดคุยด้วย ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ให้คุณแม่พูดภาษาแม่ของตัวเองกับลูกจะดีกว่า เด็กจะได้ภาษานั้นๆ อย่างถูกต้องไปเลย และเมื่อรู้ภาษาหนึ่งอย่างถูกต้องแล้ว การเรียนภาษาที่สองก็ไม่ใช่เรื่องยาก 

ต่างจากเด็กที่แม่พูดผิดๆ ถูกๆ กับลูก เด็กมีปัญหามากในการเรียนภาษาที่โรงเรียน

ที่ร้ายไปกว่านั้น เมื่อลูกถึงวัยประถม ลูกเริ่มเก่งมากขึ้น เข้าใจภาษามากขึ้น คุณแม่หลายคนมีปัญหาในการอบรมสั่งสอนลูก เพราะโดนลูกย้อนว่า เธอยังพูดภาษาฉันไม่รู้เรื่องเลย แล้วเธอจะมาสอนอะไรฉัน

คุณแม่ที่โดนตอกหน้ามาอย่างนี้ จะมากลับลำพูดภาษาไทยกับลูกก็สายไปเสียแล้ว เพราะทั้งขัดเขิน และลูกก็ไม่สนใจด้วย 

บางคนส่งลูกมาเรียนภาษาไทยที่มีการเรียนการสอนเพียงสัปดาห์ละครั้ง ด้วยหวังว่าลูกจะฟัง พูด อ่าน เขียนได้ 

อนิจจา หากอยู่ที่บ้านทั้งอาทิตย์คุณแม่คุณลูกไม่พูดภาษาไทยกัน แล้วจะคาดหวังให้ลูกได้ภาษาไทยจากการเรียนสัปดาห์ละสองชั่วโมง ก็ดูจะเป็นจริงได้ยากยิ่ง

นอกจากนั้น ความรู้สึกเจ๋งก็จะลดหายไปเรื่อยๆ เมื่อกลับเมืองไทย ตอนเด็กๆ พูดภาษาฝรั่งกับลูกยังดูเจ๋ง แต่เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วพูดภาษาไทยไม่ได้ ไปที่ไหนก็เจอแต่คนทักว่า อ้าว ทำไมไม่พูดภาษาไทย 

คุณแม่แสนจะเหนื่อยหน่ายที่ต้องตอบคำถามนี้ และลูกก็ไม่สนุกเวลาที่มาเที่ยวประเทศไทยด้วย เพราะฟังอะไรก็ไม่รู้เรื่อง

……….

ดังนั้น จากประสบการณ์ทำข่าวตลอดห้าปี ทำให้บอกตัวเองได้ว่า หากฉันมีลูก ต้องพูดภาษาไทยกับลูก ผิดกับที่เคยคิดไว้ตอนเด็กๆ และฉันโชคดีมากที่สามีเห็นดีด้วย ไม่ได้คัดค้าน

คิดได้แล้ว แต่การลงมือปฏิบัติจริงก็ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะเราสองคนคุยกันเป็นภาษาอังกฤษ ตอนที่เริ่มตั้งท้อง สามีบอกว่า เราเปลี่ยนเป็นพูดภาษาเยอรมันในบ้านกันเถอะ เพราะฉันว่าสามภาษามันจะมากเกินไปสำหรับลูก กลัวลูกสับสน

ฉันคิดอยู่หนึ่งอึดใจแล้วตอบกลับไปว่า ฉันทำไม่ได้หรอก เพราะการมีลูกอ่อนเป็นประสบการณ์ใหม่ ไหนจะให้นม ไหนจะเลี้ยง ไหนจะปรับตัว แค่นั้นมันก็มากพอแล้ว ถ้าฉันต้องมาคิดทุกอย่างเป็นภาษาเยอรมันเพื่อคุยกับเธออีก ฉันต้องเครียดตายแน่ 

นอกจากนั้น เราไม่ได้มีเป้าประสงค์จะสร้างสิ่งแวดล้อมสามภาษาให้ลูก แต่ความเป็นจริงคือในบ้านของเรามีสามภาษา มันเป็นธรรมชาติของครอบครัวเรา ขอเพียงแต่เรามีวินัย ไม่พูดสลับไปสลับมา ฉันคิดว่าลูกจะไม่สับสน (คุณแม่ผู้มีประสบการณ์ทั้งหลายก็บอกมาอย่างนั้น)

ช่วงเดือนแรกๆ หลังจากที่ลูกเกิดมาแล้ว ทั้งฉันและสามีก็มีหลุดพูดสลับภาษาไปมาบ้าง แต่พอผ่านไปสักครึ่งปี ทุกอย่างก็เป็นเรื่องธรรมชาติ สามีพูดเยอรมันกับลูก ส่วนฉันพูดภาษาไทย และเราสองคนคุยกันเป็นภาษาอังกฤษ

แม้จะไปเจอเพื่อนแม่ชาวเยอรมันหรือต่างชาติ ฉันก็ยังคงพูดภาษาไทยกับลูก ตอนแรกอาจจะมีเขิน มีความเกรงใจว่าเพื่อนจะฟังไม่รู้เรื่องบ้าง 

แต่นานเข้าก็ชิน และคุณแม่ทั้งหลายต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ดีจังที่เธอพูดภาษาไทยกับลูก ลูกเธอเลยเป็นเด็กสองภาษาตั้งแต่เกิดเลย

……….

ปัจจุบันลูกทั้งสองคนอายุ ๙ และ ๗ ขวบตามลำดับ พูดภาษาไทยกับแม่ พูดภาษาเยอรมันกับพ่อ และฟังภาษาอังกฤษเข้าใจเยอะพอควร พูดได้เป็นประโยคถูกต้องตามหลักไวยากรณ์แบบที่เราไม่ได้สอนให้เลย อาศัยฟังพ่อแม่คุยกันอย่างเดียว

ลูกพูดภาษาเยอรมันเหมือนเจ้าของภาษา ไม่มีปัญหาด้านการสื่อสารใดๆ ทั้งสิ้น สามารถเข้าเรียนโรงเรียนประถมได้ปกติไม่ต่างจากเด็กเยอรมันแท้ๆ

ส่วนเวลาไปเมืองไทยก็พูดกับคุณตาคุณยาย และญาติๆ ทุกคนได้เข้าใจ แถมเป็นล่ามตัวน้อยให้คุณยายกับคุณพ่อในเวลาที่แม่ไม่อยู่ได้อีกด้วย

ลูกอาจจะพูดไม่ชัดเท่าเด็กคนไทยตามประสาเด็กลูกครึ่งที่โตเมืองนอก อาจจะมีคำศัพท์ไม่มากเท่า แต่ก็สื่อสารได้ และทุกครั้งที่กลับไทย เมื่ออยู่เมืองไทยได้ระยะหนึ่ง ภาษาไทยก็จะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

………..

นี่คือเรื่องจริงของครอบครัวฉัน ซึ่งมีพื้นฐานที่พ่อแม่พูดคุยกันเป็นภาษาอังกฤษ แต่ทั้งพ่อและแม่มีวินัยในการพูดภาษาแม่ของตัวเองกับลูก

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ลูกพูดและเข้าใจภาษาของพ่อแม่ทั้งสองได้เป็นอย่างดี รวมทั้งได้ภาษาที่สามอย่างภาษาอังกฤษมาเป็นของแถมอีกด้วย

ทุกครอบครัวล้วนมีสภาพการณ์และข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป ฉันเพียงแต่หวังว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังนึกสงสัยว่า จะเลี้ยงลูกด้วยภาษาอะไรนะคะ 

……….. 

เขียนเรื่องนี้ครบสามปีแล้ว เลยขอนำมาปรับปรุงเล็กน้อยและลงใหม่ พร้อมภาพประกอบที่อัพเดตขึ้นค่ะ

สามปีผ่านไป ความคิดฉันยังคงเหมือนเดิม คือ การเลี้ยงลูกด้วยภาษาแม่เป็นสิ่งที่ดีเยี่ยมยอด เป็นธรรมชาติ ทำให้การสื่อสารถึงใจมากกว่า สร้างสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันได้มากกว่า 

อย่างไรก็ดี สำหรับคุณพ่อคุณแม่ลูกครึ่งหลายท่านที่พูดภาษาไทยกับลูก แต่ลูกไม่พูดตอบกลับเป็นภาษาไทย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ฉันขออนุญาตแนะนำว่า ไม่ควรคาดคั้นลูกนะคะ เดี๋ยวน้องๆ จะมีทัศนคติที่ไม่ดีกับภาษาไทยเสียก่อน 

ขอเพียงคุณพ่อคุณแม่พูดภาษาไทยกับลูกต่อไป จะเป็นการสะสมคลังคำศัพท์ให้ตัวเด็กเองโดยไม่รู้ตัว วันใดที่ลูกอยากพูด เขาจะพูดออกมาเอง 

และวันหนึ่งที่เขาอยากเรียนภาษาไทย จะทำได้ดีกว่าเด็กที่ไม่เคยมีคนพูดเป็นภาษาไทยด้วยแน่นอน

และหากเกิดเหตุการณ์ความตึงเครียดใดๆ ในครอบครัว อันเนื่องมาจากภาษา ขอให้เลือกความสัมพันธ์ระหว่างแม่/พ่อและลูก มาก่อนภาษานะคะ 

เมื่อในบ้านสงบสุข มีความสุข สิ่งดีอื่นๆ ก็จะตามมา เรื่องภาษา เราเตรียมให้ลูกได้ในระดับหนึ่ง ที่เหลือก็ปล่อยให้ “ถึงเวลา” ของเด็กๆ ได้เช่นกัน 

ฉันเห็นตัวอย่างมานักต่อนักแล้ว ที่เด็กที่ไม่พูดไทยในวัยเด็ก เมื่อโตขึ้นมา กลับนึกอยากเรียนเอง

และเมื่อเจ้าตัวเห็นความสำคัญ อยากทำได้ ก็จะมีแรงมุมานะ ขยัน ทำเองได้จนสำเร็จ เป็นที่น่าชื่นใจของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนนะคะ

#OPOL #เลี้ยงลูกด้วยภาษาไทย

Message us