ซีรี่ย์สะใภ้ต่างชาติ
ภาพและเรื่อง โดย Pokhansa


ก่อนจะบอกว่าได้อะไรจากการเป็นมาดาม จะขอพูดถึงคำว่า “มาดาม” ที่เถียงกันเท่าไรก็คงไม่จบว่า มีความหมายบวกหรือลบ ยกย่องหรือเย้ยหยัน หรือเป็นกลาง เสียก่อน ถึงจะบอกได้ว่าได้อะไรหรือไม่

คำว่า มาดาม ที่เรียกขาน เอาเฉพาะในกลุ่มคนไทยนี่แหละ เพราะฝรั่งเขาไม่ได้สับสนไปกับเราด้วย มันอยู่ที่ความรู้ ความเข้าใจ ความเป็นมา และค่านิยมของคนที่ใช้คำนี้ ไม่ว่าจะใช้กับตนเองหรือเรียกคนอื่น ขึ้นอยู่กับวิธีพูด วิธีเรียก สภาพสังคม ประเทศที่อาศัยอยู่ ความเชื่อมั่นในตัวเอง ความเข้าใจภาษา รู้จักวัฒนธรรมท้องถิ่น บลา บลา บลา

ถ้าเรียก “มาดาม” ในประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส หรือในงานราชการ ในภาษาจดหมายอังกฤษด้วย ก็ไม่ได้มีความหมายพิเศษไปกว่าคำว่า “คุณ” ถือเป็นคำสุภาพที่ใช้เรียกสตรีที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว อาจจะแต่งงานหรือยังไม่แต่งก็ได้

เราคนไทยจะรับเอาคำว่า มาดาม มาใช้กันอย่างไร ตอนไหน ก็ไม่ชัดเจน แต่กลุ่มที่ถูกใช้คำนี้เรียกหามากที่สุดตอนนี้คงเป็นบรรดา เมียฝรั่ง ทั้งหลาย ที่ใช้ทั้งเรียกยกย่องประมาณว่า “คุณนาย” มีฐานะหน่อย มีเงิน ใช้ของแบรนด์เนม ไฮโซนิดๆ

หรือใช้เรียกเพื่อแยกแยะว่าเป็นเมียฝรั่งนะ หรือใช้แสดงความเป็นต่างชาติ หัวนอก ทันสมัยเข้ามาเสริม ไม่ว่าจะเป็นเพราะการแต่งตัว การพูดภาษาต่างชาติได้ และควงแฟนฝรั่ง ก็ตาม

แล้วก็ไม่แน่ว่าความเป็นมาดามหรือการถูกเรียกว่ามาดาม มันเปลี่ยนแปลงเนื้อแท้ของความเป็นตัวคุณหรือเปล่า ถ้าเปลี่ยน มันเป็นไปทางบวกหรือทางลบ

สำหรับตัวเอง การเป็นมาดามเป็นสิ่งที่คนอื่นเรียกขานเราตามบริบทสังคมครอบครัวเท่านั้นเอง มาดามป๊อกก็มีค่าเท่ากับเป็นนางป๊อก (เปลี่ยนจากนางสาว) หรือเฟราป๊อกในภาษาเยอรมัน ฟังดูบางครั้งก็อุ่นใจ บางครั้งก็ขำ บางครั้งก็ภูมิใจ บางครั้งก็เขิน

บางครั้งก็เตือนใจ (ว่าเราเป็นผู้ใหญ่ด้วยการแต่งงาน เราอยู่เมืองนอก) บางครั้งก็แปลกแยก (เขาเห็นเราเป็นเมียฝรั่ง) ขึ้นอยู่กับว่าใครเรียกด้วยน้ำเสียงอย่างไร ความหมายอย่างไร

ดังนั้น สิ่งที่ได้จากการมาเป็นมาดามคงจะเป็นสถานะใหม่ทางสังคมที่คนไทยผู้ไม่ค่อยเข้าใจภาษาต่างชาติแต่งตั้งให้เมียฝรั่ง โดยมีนัยยะต่างกันไปตามใจของผู้เรียก เป็นสิ่งที่ได้โดยไม่ต้องร้องขอ เป็นสิ่งที่ทำให้ความเป็นไทยของเราเจือจางไปเล็กน้อย(หรือมาก) ตามสายตาของคนนอก

ก่อนจะมาเป็นมาดาม อะไรคือต้นทุนที่เรามีติดตัวมา 

เราจบปริญญาตรี เก่งภาษาอังกฤษ เป็นโสด มีงานทำมั่นคงในหน่วยงานต่างประเทศ เงินเดือนดี มีรถใช้ มีบ้านอยู่ มีเงินส่งเสียแม่ อยากซื้ออยากใช้อะไร ไม่ติดขัด มีที่ดินเป็นของตัวเองหนึ่งผืน ได้ไปเที่ยวต่างประเทศด้วยเงินตัวเองบ่อยครั้ง
แต่เรารักการทำอาหาร เราทำงานบ้านเป็นทุกอย่าง ไม่เกี่ยงงานหนัก ตีนติดดิน ชอบคบคนธรรมดาๆ สามารถคุยเล่นหัวกับแม่ค้าในตลาดได้ ไม่เคยถือตัว เพราะแม่เราเคยเป็นชาวนาก่อนมาเป็นคุณนายนายทหาร
เราชอบใช้ของดีมียี่ห้อแต่เป็นของไทยส่วนใหญ่ ของนอกเราใช้แค่ระดับกลางๆ เราไม่ชอบแบรนด์หรูสุดๆ เพราะมันแพงเกินเหตุผล เราใช้เงินเป็น มีเงินเก็บ เราไม่ใช้เครื่องประดับพวกเพชรพลอย เราไม่เล่นหวย ไม่เล่นหุ้น ไม่เล่นแชร์ ไม่มีหนี้สิน มีบัตรเครดิตใบเดียว
เรามีนิสัยสาวฝรั่ง-ทันสมัยอยู่บ้างนิดหน่อยเพราะสภาพการทำงาน เช่น กินอาหารฝรั่งเป็น เดินทางคนเดียวได้ ช่วยตัวเองได้ เป็นผู้นำ เราเป็นนักบินเครื่องบินขนาดเล็ก
เรามีนิสัยสาวไทยทั่วไป เช่น ขี้งอน คาดหวังว่าผู้ชายต้องเป็นคนจ่าย-คนเลี้ยงดู เราชอบใช้มือตีฝ่ายชาย

ระหว่างเป็นแฟนกับฝรั่ง ช่วงแห่งการเรียนรู้

เราเรียนรู้ว่าฝรั่งคนนี้ไม่ชอบการงอน เขาไม่เข้าใจ ไม่โอ๋ ไม่เอาใจ ฝรั่งเลี้ยงข้าวเราก็จริง แต่เขาไม่สปอยล์ เขาไม่ชอบให้เราตีแม้ว่าจะตีเล่นๆ เขาจะตีกลับ เขาสอนให้เรารู้ว่าการตีเป็นการแสดงออกถึงความรุนแรงแบบหนึ่ง
เขาสอนให้เรารู้จักผลัดกันเลี้ยง ผลัดกันออก เขาไม่อิจฉาเราเรื่องหน้าที่การงาน เขาไม่ขี้หึง แม้ว่าเขาจะหวังให้เราให้ความสำคัญกับเขามากที่สุด เขาสอนให้เราคิดสูง-หวังสูงไว้เสมอ แต่ให้เรามองตัวเองว่าเท่าเทียมกับคนอื่น ฝรั่งสอนให้เรารู้จักเคารพตัวเอง รู้จักการพูดจาโดยใช้เหตุผล เมื่อไม่ชอบอะไรให้อธิบายตรงๆ โดยไม่ต้องงอนกระเง้ากระงอด เขาสอนให้เราเห็นว่าชายหญิงมีไม้มีมือเท่ากัน ควรช่วยกันในครอบครัว เราได้เรียนรู้จากเขาว่า “ชีวิตคู่ถ้าจะไปกันให้รอด เราต้องดูกันนานๆ เราคบกันสามปีกว่าก่อนจะตัดสินใจแต่งงานกันค่ะ   

หลังมาเป็นมาดาม ชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยน
 

แม้ว่าเขาไม่คาดหวังให้เราออกจากงานดีๆมาเป็นแม่บ้าน แต่เขาเชื่อว่าการแยกกันอยู่จะทำให้ชีวิตคู่ไปไม่รอด ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าจะเสียดาย เราก็ต้องออกจากงานที่มั่นคงเพื่อตามเขาไปต่างประเทศ
เจ็ดปีแรกเราไม่มีงานประจำ ต้องพึ่งเขาด้านรายได้ เราจึงเรียนรู้ “การเป็นแม่บ้านเต็มตัว” แต่เราโชคดีที่ได้งานชั่วคราวเข้ามาจุนเจือสม่ำเสมอ
ช่วงนี้ เราใช้เวลาเรียนภาษา เรียนหนังสือเพิ่มเติม เราได้เรียนรู้ “การกลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง” สรุป “เราได้ภาษาฝรั่งเศสเพิ่มมาอีกหนึ่งภาษา และประกาศนียบัตรด้านการพัฒนาอีกสองใบ”
จากการเป็นมาดาม เรามี “บ้านหนึ่งหลัง” ในเมืองนอก มี “รถคลาสสิกอีกจำนวนหนึ่ง” และ มี “เครื่องบินเล็ก” อีกหนึ่งลำ เพราะเป็นความคลั่งไคล้ของสามี เราจึง “ได้เรียนรู้การขับรถในเมืองนอกอย่างถูกกฎจราจร” สามารถไปไหนมาไหนได้คนเดียวทุกหนแห่ง สอบได้ใบขับขี่สวิส
เราได้หัดการวางตัวเข้าสังคมฝรั่ง ได้ต้อนรับแขกสำคัญๆจากนานาประเทศในบ้านในครัวของเราเอง “ได้เพิ่มโลกทัศน์อย่างรวดเร็ว” “ได้ทำให้อาหารไทยเป็นที่รักและยอมรับ” ในสังคมที่เราอยู่

แต่ขณะเดียวกัน เราก็ได้ “เรียนรู้การทำอาหารหลากหลายชาติ” ได้กินเป็น ได้เปิดใจสัมผัสอาหารประเทศอื่น “ได้ไปอยู่หลายประเทศ” ได้รู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง ได้เห็นโลกกว้าง “ได้ท่องเที่ยวในหลากหลายมุมโลก” “ได้บินไปบนน่านฟ้าเมืองนอกด้วยเครื่องบินของตัวเอง” “ได้เข้าใจวิถีชีวิตฝรั่ง” มากขึ้น เราได้เข้าใจ “ความกตัญญูแบบฝรั่ง” จากสิ่งที่สามีปฏิบัติกับแม่ของเขา ได้เพื่อนทั้งคนไทยคนฝรั่ง
สุดท้าย เรา “ได้มีงานทำที่มั่นคง” ในองค์การระดับนานาชาติเป็นเวลาถึงห้าปี ก่อนที่เราจะได้ “เกษียณตั้งแต่อายุห้าสิบกว่าๆ”
แต่ก่อนที่จะได้งาน เราได้เรียนรู้ว่า อายุเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการหางานที่เมืองนอก คนที่อายุเกินสี่สิบปีจะหางานยากมากๆ ถือว่าเป็นคนที่แก่เกินกว่าจะเริ่มต้นใหม่ของที่นี่ เพราะตลาดแรงงานนั่งโต๊ะอย่างที่เราทำนั้นเขามีแต่เด็กๆ
ส่วนงานที่หญิงไทยถนัดทำ เช่น ร้านอาหาร ร้านนวด เสริมสวย ทำของขาย ฯลฯ นั้น ไม่มีขีดคั่นเรื่องอายุ แต่งานเหล่านั้นไม่ใช่เป้าหมายชีวิตของเรา

หลังเกษียณแล้ว เราได้สร้างบ้านที่เมืองไทยสองหลัง ตอนนี้ก็รอกลับไปอยู่บ้านที่เมืองไทยจ้า


เขียนไว้เมื่อปี พ.ศ. 2016