เรื่องเล่าเงาชีวิตหญิงไทยในต่างแดน
เรื่องและภาพ โดย หมู (แอตแลนตา)
ดิฉันชื่อสุมาลี เป็นสมาชิกเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป โดยสมัครเป็นสมาชิกปี ค.ศ. 2018-2019 และยังคงเป็นสมาชิกมาจนถึงปัจจุบัน
จากประสบการณ์ของตนเองได้เคยเห็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เช่น การได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดความรุนแรงของน้องตัวเองที่ทำร้ายคนในครอบครัว ไม่ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปกี่ปีแต่ดิฉันยังคงจำได้เสมอ
ดิฉันกับสามีกลับไปเที่ยวและเยี่ยมครอบครัวช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 ในวันที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด (วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2563) น้องคนเล็กป่วยด้านจิตเวชและไม่ยอมกินยา เมื่อน้องมีอาการก็จะก้าวร้าวและทำร้ายตีทุกคนในครอบครัว
วันนั้นดิฉันอยู่กับครอบครัว เห็นแม่ พี่สาว และน้องชายขึ้นรถกู้ภัยเพื่อนำตัวน้องไปส่งตัวไปที่โรงพยาบาลศรีธัญญา
พี่สาวพูดกับดิฉันว่าอย่าเอาปัญหาไปเล่าให้สามีฟังและมันเป็นเรื่องที่น่าอาย ครอบครัวเรามีแต่ปัญหา แต่สีหน้าดิฉันคงบ่งบอกถึงความทุกข์ สามีซึ่งรู้จักดิฉันดีจึงดูออกว่า ดิฉันมีอะไรในใจ เพราะบางครั้งดิฉันก็หงุดหงิดและแสดงออกทางอารมณ์ใส่สามี และอยากอยู่เงียบๆคนเดียว บางครั้งก็คุยกับเพื่อนถึงปัญหาเดิม ๆ (เพื่อนที่ดิฉันสามารถคุยให้ฟังโดยไม่อายที่จะเล่าถึงปัญหาที่ดิฉันเป็นทุกข์)

แต่สุดท้าย สามีก็บอกว่าการที่ดิฉันเก็บกดอารมณ์เอาไว้มันเสียสุขภาพจิต ต้องพูดระบายความในใจออกมา และสามีก็ให้กำลังใจบอกว่ามีอะไรให้ช่วย ให้บอกหรือถ้าไม่สบายใจอะไร เราต้องพูดคุยกัน อย่าเก็บความคิดและความกังวลอะไรใด ๆ เอาไว้ในใจคนเดียว และอย่าอายที่มีน้องป่วยจิตเวช ดิฉันรู้สึกโชคดีที่มีสามีที่ยอมรับเข้าใจช่วยเหลือซัพพอร์ตครอบครัวเรา
ในความโชคร้ายก็ยังได้เจอกับความโชคดีเมื่อดิฉันได้มาเป็นสมาชิกของเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป และทางสมาคมได้แนะนำให้รู้จักกับรุ่นพี่ที่ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือติดต่อหน่วยงานของรัฐให้นำตัวน้องออกไปพักอยู่ที่อื่น และญาติพี่น้องก็ไปเยี่ยมเดือนละครั้ง เมื่อไปเยี่ยม น้องก็ขอร้องอยากจะกลับมาอยู่บ้าน รับปากว่าจะกินยา ไปหาหมอตามนัด (ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาแล้ว แต่เมื่อกลับมาอยู่บ้านก็เหมือนเดิม) ดิฉันจึงกำชับกับคนในครอบครัวว่าอย่าใจอ่อน เพราะว่ากว่าจะนำตัวน้องเข้าไปอยู่ในที่นั้นได้ใช้เวลาดำเนินการนานมาก ทั้งเรื่องเอกสารและการส่งตัว
ดิฉันต้องขอขอบคุณทางสมาคมฯที่ส่งข่าวสารและจัดกิจกรรมหลายอย่างในปีที่ผ่านมา เช่น การเชิญแขกรับเชิญมาพูดให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ ในรายการจิบกาแฟชวนคุย เมื่อฟังพี่ ๆ เพื่อน ๆ มาพูดก็ได้ความรู้มากมาย ขอบคุณสมาคม TWNE ที่เชิญอาจารย์หมอประเวชมาพูดคุยให้ความรู้ในกลุ่มหญิงไทยในยุโรป และขอบคุณตัวเองที่ได้เรียนรู้กับการสอนออนไลน์ของอาจารย์หมอประเวช และอาจารย์สุ สุลีวรรณ ซึ่งมีส่วนช่วยให้เข้าใจตัวเองและผู้อื่นมากขึ้น และดิฉันก็ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนรุ่นพี่ที่อยู่เมือง Torino ที่มีบ้านอยู่เมืองไทยที่ปากเกร็ด ซึ่งพี่ป๊อกแนะนำให้ได้รู้จักกัน
ขอบคุณพี่ ๆ ทุกคนที่ให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือค่ะ
ส่วนเรื่อง ‘รู้จัก รู้ใจ ป้องกันภัยชีวิตคู่’ ในฐานะที่เป็นหญิงไทยแต่งงานกับชาวต่างชาติต่างภาษา และย้ายถิ่นที่อยู่ ต้องปรับตัวและเรียนรู้กฏหมายและภาษา หาความรู้เมื่อมีโอกาส ดิฉันเคยช่วยเหลือเพื่อนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกทำร้ายจิตใจและร่างกาย อะไรที่ดิฉันไม่รู้จริงก็จะแนะนำให้เพื่อนไปหาหน่วยงานที่รู้กฏหมาย และให้ความช่วยเหลือในสิ่งที่ดิฉันทำได้ รวมทั้งให้กำลังใจ

บางครั้งเราก็เครียดแทนเพื่อน ทำไมเพื่อนเราต้องมาเจอกับคนที่ไม่มีสามัญสำนึก บังเอิญปัญหาของเพื่อนและปัญหาของคนในครอบครัวดิฉันมาประจวบในช่วงเวลาตรงกัน ซึ่งทำให้ดิฉันเป็นทุกข์ใจยิ่งขึ้นไปอีก และเครียดถึงขั้นร้องไห้และหมดสติ
ดิฉันพยายามทำดีที่สุดแล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สุดท้ายแล้วตนเป็นที่พึ่งแห่งตน (ในสภาวะที่ต้องตัดสินใจ) เพื่อนจะเลือกเดินไปหาทางออกของชีวิตที่คิดว่าดีกับอนาคตของเขาเอง และอนาคตก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่ดิฉันเชื่อในกฏแห่งกรรมที่ทำไว้แต่ชาติปางก่อน สุดท้ายแล้วเมื่อถึงเวลาทุกคนบนโลกใบนี้ก็ต้องจากกันไป และต้องทำใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น สุข ทุกข์ อยู่ให้เป็น จะจากเป็นหรือว่าจะจากตาย ทุกคนต้องได้พบเจอ
ช่วงที่ย้ายมาอยู่บ้านของสามีที่ รัฐจอร์เจีย ใน ปี พ.ศ. 2566 บางครั้งก็เบื่อรู้สึกไม่ชอบเมืองนี้เพราะว่าดิฉันไม่รู้จักคนไทยและไม่ได้พูดภาษาไทย เหมือนดิฉันไม่มีเพื่อนเลย ดิฉันจึงพูดถึงความรู้สึกของดิฉัน ณ ตอนนั้นว่าคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร อยากไปไหน สามีก็ฟัง และสามีบอกว่าเดือนกันยายน หลังวันเกิดดิฉันครบรอบ 54 ปี เขาจะขับรถพาดิฉันไปเที่ยวและพาไปดูบ้านชายทะเลที่สามีเคยเติบโตมาในช่วงวัยรุ่น และขับรถพาไปดูโรงเรียนที่เคยศึกษาอยู่ที่สะวันนา รัฐจอร์เจีย
โชคดีที่เวลานี้ดิฉันเป็นแม่บ้านเต็มตัวดูแลสามี และเราก็เข้าใจกันมากขึ้น มีอะไรเราจะเปิดอกพูดกัน
สามีบอกว่า ‘ผมเข้าใจคุณและอยากเห็นคุณมีความสุข และผมเข้าใจว่าคุณรู้สึกอย่างไรจากการที่เราเคยใช้ชีวิตร่วมกันที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มานานและคุ้นเคยกับการออกไปทำกิจกรรมกับกลุ่มเพื่อนคนไทย จะไปไหนมาไหนเราก็นั่งรถไฟ รถแทรม (รถราง) รถเมล์ได้ตามสะดวก ถ้าวันไหนผมไม่ไปเที่ยวชมวิว คุณก็เดินทางไปคนเดียวได้ ตารางเวลาของรถสาธารณะเราก็มีดูในมือถือ’

เราเคยมีความสุขที่ได้ออกไปเห็นวิวทะเลสาบ ภูเขา ธรรมชาติ หิมะที่สวยงาม บางครั้งก็นัดกับเพื่อนขึ้นรถไฟไปเที่ยวตามเมืองต่าง ๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ชมเมืองที่สวยงาม สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่สวยงามที่เราทั้งสองประทับใจมากค่ะ
แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องย้ายมาอยู่ในรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เราก็ต้องปรับตัวอีกครั้ง และคิดว่าดิฉันก็โชคดีกับอากาศที่ไม่หนาวมากต่างจากที่ซูริกซึ่งอากาศหนาวมากกว่า
ในช่วงที่เราย้ายมาอยู่ได้ปีแรก สามีก็สังเกตว่าสีหน้าดิฉันดูเรียบเฉย ไม่พูดเท่าไหร่ และเหมือนหลบหน้า บางครั้งอยากอยู่คนเดียวเงียบ ๆ อ่านข่าวทางเมืองไทย และดูไอแพดไปวัน ๆ บางครั้งก็ไม่อยากออกไปไหน เพราะว่าไม่รู้จะไปไหน (และยังไม่ชินกับการคมนาคมของที่นี่) และนั่งคิดถึงช่วงเวลาตอนที่อยู่สวิตฯ เวลาเราจะขึ้นรถแทรม รถเมล์ หน้าบ้าน ก็มีไปถึงทะเลสาบซูริก และบางวันนั่งเรือชมวิวไปสุดท่าเรือถึง Rapperwils เดินชมวิว ดิฉันจะมีความสุขมาก ๆ
บางครั้ง นัดเจอเพื่อนไปเที่ยวชมวิว ไปวัด ไปร้านอาหารที่เราชอบเดินชมเมืองกินอาหารด้วยกัน ดิฉันนั่งดูภาพปีที่ผ่านมาตอนอยู่ที่นั่นมีความสุข และถ้ามีโอกาสก็อยากจะกลับไปเที่ยวที่ยุโรปอีกสักครั้ง
แต่เมื่อดิฉันต้องย้ายตามสามีกลับมาอยู่อเมริกาช่วงแรก ๆ รู้สึกไม่สนุกกับการเดินทางขึ้นรถไฟเข้าไปในเมือง เพราะรถไฟไม่สะอาด ผู้คนเดินทางสัญจร และเจอเหุตการณ์ที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นกับตา คือในสถานีรถไฟตรงทางออกมีกองอุจจาระของคน (ไม่ใช่ของสุนัข)
เราอยากที่จะเรียนรู้การเดินทางนั่งรถไฟคนเดียวไปในเมือง พอกลับมาบ้านก็จะเล่าให้สามีฟังว่าวันนี้เราได้เจอได้เห็นอะไรมาบ้าง สามีก็ยิ้ม และบอกว่าแต่ก่อนสิบกว่าปีที่แล้ว สามีคุ้นชินกับการนั่งรถไฟไปสนามบินทุกอาทิตย์เพราะว่าต้องไปทำงานที่นิวยอร์กก่อนที่จะย้ายไปทำงานที่สวิตฯ
และสามีบอกว่าดิฉันจะต้องสอบใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ให้ผ่าน จะได้ขับรถไปไหนได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องนั่งรถไฟ สุดท้ายสามีช่วยติวและอธิบายให้เข้าใจการสอบข้อเขียน และดิฉันก็สอบผ่านขับรถยนต์ได้ใบอนุญาตขับขี่ในที่สุดเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2567

ดิฉันบอกกับสามีว่า ขอให้พาไปที่วัดไทยเดือนละ1 ครั้ง จะได้มีโอกาสทำบุญร่วมกันอุทิศกรวดน้ำ รำลึกถึงแม่และญาติที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งสามีก็ยินดีและขับรถพาดิฉันไปเสมอมา และบางครั้งก็ให้ดิฉันเป็นคนขับรถกลับบ้าน
ในหมู่บ้าน Northwood เมืองแอตแลนตา เราชอบที่การเดินทางสะดวก เราขับรถไม่ไกลไปหาบ้านญาติพี่น้อง หลาน ๆ ก็อยู่ไม่ไกลกัน โรงพยาบาล คลินิกหมอฟัน ขับรถ 15 นาที สนามบินขับรถ 35 นาที สระว่ายน้ำ ร้านค้า ร้านอาหารมีมากมาย สถานีตำรวจ อำเภอ ห้องสมุด ขับรถ 3 นาทีก็ถึง
เราเข้าร่วมเป็นสมาชิกหมู่บ้านรายปี จะได้รับข่าวสารทางอีเมลกลุ่มหมู่บ้าน และได้รับแจ้งกิจกรรมของกลุ่ม ซึ่งเราก็ไปเข้าร่วมพบปะกับสมาชิกของหมู่บ้าน ซึ่งผู้นำก็จะแนะนำให้รู้จักกับสมาชิกใหม่ที่ย้ายมาจากเมืองอื่น เราจะทำกิจกรรมร่วมกัน ช่วงเดือนมกราคม ตุลาคม พฤศจิกายน และเดือนธันวาคม
ส่วนอีกกลุ่มที่เราเข้าร่วมงานทานมื้อกลางวันด้วยกันเดือนละ 1 ครั้งก็คือกลุ่มผู้สูงอายุ (บางคนยังทำงานอยู่แต่บางคนเกษียณแล้ว) เราจะทำอาหารเข้าร่วมทุกวันพุธ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน เราทำกิจกรรมพูดคุยกัน ได้รับข่าวสารจากกลุ่มและหน่วยงานของอำเภอเที่เราอยู่

เมื่อมาอยู่ที่นี่ ดิฉันก็เรียนภาษาเพิ่มกับทางอำเภอที่จัดให้ชาวต่างชาติที่สนใจเรียน สามารถมาเรียนฟรี 2 ชั่วโมง กับคุณครูเจ้าของภาษา เมื่อดิฉันมีโอกาสก็ศึกษาเรียนรู้เพิ่ม และได้เจอกับเพื่อนร่วมห้องเรียนหลายเชื้อชาติทั้งหญิงและชาย เช่น ชาวจีน ยูเครน เม็กซิโก รัสเซีย บางคนก็เอาลูกเข้ามาเรียนภาษาด้วยในห้อง เพราะว่าเน้นการสนทนาไม่เน้นไวยากรณ์
สุดท้ายแล้ว ตอนนี้ดิฉันก็ปรับตัวได้ดี มีความสุขและเข้าใจชีวิตมากขึ้น การยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมดีเสมอ ดิฉันได้อยู่กับคนที่รักเราและเข้าใจเรา ให้อภัย ดูแลซึ่งกันและกัน ขอบคุณตัวเองที่มีโอกาสได้พบเจอกับคนดี ๆ ที่เข้ามาในชีวิต ขอบคุณสามีที่สนับสนุนและ support เสมอมา (He is my soulmate)
หมู (แอตแลนตา) 🙏🇺🇸