วิชาชีพ vs มืออาชีพ

“ใบวิชาชีพ” VS “ความเป็นมืออาชีพ”

วันก่อน ได้มีโอกาสฟังบรรยายจากนักสังคมสงเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญของประเทศอังกฤษท่านหนึ่งจบ ปริญญาตรีกฎหมาย จบปริญญาโทสังคมสงเคราะห์ และสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ของรัฐบาล เชี่ยวชาญด้านการทำงานกับเด็ก … ส่วนอีกท่านหนึ่ง เป็นนักสังคมสงเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญของเอกชน มีใบประกอบวิชาชีพและประสบการณ์ทำงานมากกว่า 20 ปี เชี่ยวชาญด้านการประเมินครอบครัว

ปัจจุบัน ประเทศอังกฤษมีนักสังคมสงเคราะห์ผู้มีใบประกอบวิชาชีพ 85,000 คน สัดส่วนนักสังคมสงเคราะห์ 1 คน ดูแลเด็ก 22 – 28 คน (นับเป็นคน ไม่นับเป็นเคส เพราะ 1 เคส อาจจะมีเด็กหลายคน จะนับจำนวนเด็กเป็นสำคัญ เพราะสัดส่วนที่เหมาะสมส่งผลต่อการทำงานเชิงคุณภาพ)…

มีหน่วยงานตรวจสอบการทำงานของนักสังคมฯ ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น และมีหน่วยงานสนับสนุนด้านองค์ความรู้ จัดฝึกอบรมต่างๆ นักสังคมฯจำเป็นต้องเข้าอบรมอยู่สม่ำเสมอ เพราะเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการต่ออายุใบประกอบวิชาชีพ

มีกติกาทำงานที่ชัดเจนว่า การเยี่ยมบ้านทำอย่างและบันทึกเยี่ยมบ้านทำอย่างไรถึงจะผ่านการอนุมัติ ต้องแสดงหลักฐานที่เพียงพอตะกล่าวอ้างได้ว่ามี ปัญหาหรือสภาพที่น่าเป็นห่วงนั้นอยู่จริง มีเงื่อนไขที่นักสังคมฯ ต้องทำ เช่น

  • การเยี่ยมบ้านเด็กทุกครั้ง จำเป็นต้องพบเด็กโดยลำพัง เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสพูดคุยอย่างเป็นอิสระ
  • ความถี่ของการเยี่ยมบ้านกำหนดตามความหนักเบาของเรื่อง

ภายใน 24 ชั่วโมงที่รับแจ้งเหตุ ต้องเข้าเยี่ยมเด็กทันที โดยต้องรับฟังเด็กแบบลำพัง หากพบว่าเด็กมีความเสี่ยง ภายใน 15 วันจะต้องจัดประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้องกับเด็ก (รวมถึงตัวเด็กและครอบครัวด้วย ถ้าเด็กและครอบครัวพร้อม) โดยมีนักสังคมสงเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานอิสระเป็นประธาน เพื่อทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า เด็กกำลังเผชิญอะไรอยู่ และจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้สถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้น

  • กำหนดระยะเวลาที่ควรเห็นการเปลี่ยนแปลง เช่น ถ้า 2 ปี เคสไม่สามารถปรับเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาหรือพฤติกรรมได้ นักสังคมฯสามารถให้ความเห็นเพื่อให้ศาลสั่งแยกเด็กได้ เนื่องจากครอบครัวไม่เหมาะสมที่จะดูแลเด็กอีกต่อไป
  • นักสังคมฯ ต้องใช้เครื่องมือการทำงานที่มีการตกลงร่วมกันมาก่อน เป็นกรอบมาตรฐานในการประเมิน
  • หากพบกรณีนักสังคมฯการกระทำที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน/จรรยาบรรณ นักสังคมฯด้วยกันสามารถรายงานเรื่องนี้เพื่อให้มีการตรวจสอบได้
  • เปิดโอกาสให้ตรวจสอบและวิพากษ์การทำงานของนักสังคมฯ ทั้งจากนักสังคมฯ ด้วยกัน จากเคส และจากบุคคลภายนอก เพื่อพัฒนาและปรับปรุงระบบ ฯ

การทำงาน 1 เคส จะมีนักสังคมสงเคราะห์หลายทีม ทำงานร่วมกัน

  • ทีมให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น-เร่งด่วน
  • ทีมส่งต่อและประเมิน
  • ทีมสังคมสงเคราะห์ระดับครอบครัว
  • ทีมดูแลเด็ก
  • ทีมพ่อแม่
  • กรณีเด็กมีความต้องการพิเศษ เช่น ทุพพลภาพ จะมีทีมเด็กทุพพลภาพ
  • กรณีเด็กอยู่กับครอบครัวเดิมไม่ได้ จะมีทีมดูแลเด็กในครอบครัวอุปถัมภ์
  • ทีมรับบุตรบุตรธรรม
  • ทีมดูแลระหว่างอยู่ในครอบครัวบุญธรรม
  • กรณีเด็กอยู่บ้านพักจะมีทีมดูแลเด็กหลังออกจากบ้านพัก
  • ทีมทำงานในระหว่างเด็กอยู่กระบวนการศาล

โดยรวมจะเห็นว่า การทำงานของนักสังคมสงเคราะห์จะมีทีมงานเฉพาะในแต่ละช่วง เพราะการช่วยเหลือแต่ละช่วงต้องใช้ทักษะและความเชี่ยวชาญที่แตกแขนงออกไป คนทำงานช่วยกู้ภัย (Rescue) ก็เชี่ยวชาญอย่างหนึ่ง คนทำงานกับเด็กก็เชี่ยวชาญด้านเด็ก คนทำงานกับพ่อแม่ก็เชี่ยวชาญในการทำงานกับผู้ใหญ่

การพัฒนาระบบต่าง ๆ ของอังกฤษ ผ่านการเรียนรู้ บันทึก ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน ผนวกกับมีเป้าหมายชัดเจนในการผลิตบุคลากรให้มีจำนวนมากพอจะรับมือกับปริมาณเคส และ มีค่าตอบแทนที่จูงใจให้คนยังคงอยู่ในระบบอย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีความพยายามพัฒนา “ความเป็นวิชาชีพ” ของนักสังคมสงเคราะห์ ด้วยการมีใบประกอบวิชาชีพ .. ข้อท้าทายสำคัญไม่แพ้วิชาชีพอื่น (เช่น พนักงานตรวจแรงงาน ที่หมูเคยเขียนถึง) .. เพราะจำนวนนักสังคมฯ ที่มีน้อย ประกอบกับภาระงานที่โหลดหลายด้าน ทำให้ไม่เอื้อต่อการสั่งสม “ความเป็นมืออาชีพ”

ทางเลือกหนึ่งที่ประเทศอังกฤษใช้ คือ ให้นักสังคมสงเคราะห์อิสระ (Freelance) หรือนักสังคมสงเคราะห์เอกชน ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เข้ามาในระบบการช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก ซึ่งแน่นอนว่า ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าปกติ เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาทำงานชั่วคราว

ความเป็นมืออาชีพจะไม่สามารถฉายแววออกมาได้อย่างเต็มที่ หากมือนั้นยังต้องทำทุกสิ่ง Everything จิงเกอเบล… ในขณะที่จำนวนเคส ก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ๆ ตามปัญหาสังคมที่เพิ่มขึ้นอยู่ทุกวี่ทุกวัน …

ปัญหามันก็ถูกถ่ายทอดมาเหมือน DNA .. ภาวะถูกกระทำของพ่อแม่ในอดีต ก็ส่งผลทางใดทางหนึ่งกับลูกในปัจจุบัน แล้วมันก็เป็นวงจรอุบาทว์แบบนี้ไปเรื่อย ๆ .. มันก็ท้าทายกับความเป็นวิชาชีพอยู่นะ

#หมูบ่นอะไรอีกแล้วววววว
ปล. ภาพประกอบเป็นตัวอย่างเครื่องมือทำงานที่นักสังคมสงเคราะห์อังกฤษมักพกติดกระเป๋าอยู่เสมอ

เครดิตภาพ: Mou Sikharin