ตอน : สู่เหย้าศรีลังกา – นีกอมโบและอนุรธาปุระ
แม่ต้อยตีวิดผู้เป็นที่รักยิ่งของฉัน
ฉบับก่อนฉันเล่าว่ากำลังจะออกจากโคลัมโบ ตกลงเราไปเมืองแรกที่อยู่ไม่ไกล เป็นเมืองตากอากาศชายทะเล ชื่อว่า นี-กอม-โบ
เราไปเยี่ยมศูนย์บำบัดเด็กขององค์การคุ้มครองเด็กจ้ะ ที่นี่มีแม่ชีเป็นผู้บริหาร สถานที่นี้เคยเป็นรีสอร์ตเก่า แล้วแปลงมาเป็นศูนย์ดูแลเด็ก สถานที่สวยงาม มีต้นไม้เขียว อยู่ไกลกับปากแม่น้ำที่ไหลลงทะเล เงียบสงัด เด็กที่นี่คือเด็กที่รอการดำเนินคดี คืออาจจะถูกหลอกลวง ถูกละเมิดในด้านต่าง ๆ แล้วยังต้องไปให้การที่ศาลจนกว่าคดีจะสิ้นสุด ก็เลยยังไปไหนไม่ได้ มาอยู่ที่ศูนย์ฯนี่ก็จะได้รับความคุ้มครอง ปลอดภัย ได้เรียนหนังสือ ได้เล่นกิจกรรม ได้ฝึกทักษะอาชีพ ทำงานฝีมือต่าง ๆ มีเด็กหญิงเป็นส่วนใหญ่
มีตึกหลายหลัง ห้องรับแขก ห้องแม่ชี ห้องพักครู ห้องสมุด หอพักเด็ก เป็นห้องเรียน ห้องอาหาร ห้องครัว มีคอกเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ด้วย ตอนฉันไปถึง เด็ก ๆ กำลังทำสวนกันอยู่
เราคุยกับแม่ชีไป เดินดูสถานที่ไป หอพักเด็กหญิงก็ดูเรียบร้อยดี เสื้อนอนแขวนกันเป็นระเบียบ แต่ออกจะมืดไปนิดนึง ฉันรู้สึกว่าห้องน้ำเด็กไม่ค่อยสะอาด แต่ห้องน้ำแม่ชีสะอาดดี คงจะเป็นสิ่งปกตินิที่ของที่ใช้ส่วนรวมมาก ๆ มักจะไม่สะอาด แต่หากใช้น้อยคนจะสะอาดดีกว่า นี่ว่าด้วยวินัยส่วนรวมนะ
ปัญหาที่นี่ก็มีอยู่เหมือนกัน คือ อย่างแรกเด็ก ๆ ไปไหนไม่ค่อยได้ เพราะอยู่ในระหว่างดำเนินคดี ต้องระวังเรื่องความปลอดภัย ทำให้เด็ก ๆ เครียด เหมือนไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวัน แต่ทราบว่าแม่ชีก็แอบพาออกไปเที่ยวอยู่ อย่างที่สองคือ เด็กบางคนได้รับผลกระทบจากจิตใจมาก มีอาละวาด หรือปีนขึ้นไปบนขื่อเพดาน สร้างความตื่นเต้นหวาดเสียวให้กับเด็ก ๆ ที่เหลือ แต่ก็มีเรื่องงดงามเกิดขึ้นในเหตุการณ์เช่นนี้ คือ เด็กเล็ก ๆ บางคนที่เคยช่วยตัวเองไม่ค่อยได้ แต่ได้เข้าไปปลอบเด็กคนนี้ ช่วยให้เด็กคนที่อาละวาดรู้สึกดีขึ้น เด็กที่ไปปลอบเองก็ได้เห็นคุณค่าของตัวเอง กลายเป็นคนเข้มแข็งไป ฟังแล้วน่ารักน่าชื่นใจดี
เราอยู่กันไม่นาน เพราะต้องเดินทางต่ออีกหลายชั่วโมง มีเส้นทางที่เร็วกว่าเลียบชายทะเล แต่เราไปไม่ได้เพราะจะไปต้องไปเลี้ยวเ้ข้าแผ่นดินใหญ่อีกเส้นทางที่มีโจรผู้ร้ายชุกชุม ไม่ปลอดภัย ฟังแล้วน่าเสียวดีนะ เราเลยไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งวิ่งกลางเกาะ ผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ ไม่เปลี่ยวไปตลอดทาง พอค่ำแล้วฉันก็มองไม่ค่อยเห็นทางแล้ว ก็หลับไปบ้างบางตอน แต่ส่วนใหญ่จะนั่งลุ้นคนขับรถไปด้วย แม้จะค่ำแล้วก็ยังมีรถราเป็นระยะ ๆ ถนนไม่ค่อยดี ซึ่งแซงไม่ค่อยได้ จึงไปได้ไม่เร็ว กว่าจะไปถึงเมืองอนุรธาปุระก็สามทุ่มกว่า มืดสนิท แต่ก็โล่งใจที่ผ่านมาได้โดยเรียบร้อย เมืองนี้เป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์มีที่เที่ยวหลายแห่ง แต่ฉันหมดสิทธิ
โรงแรมที่มาพักนี่เป็นโรงแรมรีสอร์ตสำหรับทัวริสต์ ค่อนข้างสวย มีสระน้ำ อยู่ไม่ไกลทะเลสาบ แต่เราไปมืด ๆ ไม่เห็นอะไร ลูกค้ามีแต่ฝรั่ง ที่โรงแรมนี้ทำให้ฉันได้รู้ว่า โรงแรมส่วนใหญ่จะคิดค่าห้องกับนักท่องเที่ยวแพงกว่าคนศรีลังกา ชญาม่าจ่ายแค่สี่สิบ แต่ฉันต้องจ่ายหกสิบ ประมาณนี้ จะโวยวายไปก็ไม่ช่วยอะไรได้ ห้องที่พักก็เหมือนกัน เราเอาของเข้าห้อง ออกไปกินข้าวซึ่งเป็นบุฟเฟต์ เป็นอาหารฝรั่งเสียมาก อาหารแขกมีนิดหน่อย ฉันทานไม่ค่อยอร่อยเท่าไร เพราะเพลีย และปกติไม่ชอบอาหารบุฟเฟต์เพราะมีให้เลือกมากมาย กินไม่ถูก แค่เห็นก็อิ่ม
เข้านอน อาบน้ำ จึงเห็นว่า อ่างน้ำเป็นสนิมน่าเกลียดทีเดียว ฝักบัวก็ไม่ทำงาน ตอนเช้าตื่นขึ้นมาก็ได้ยินเสียงพนักงานโรงแรมเจี๊ยวจ๊าวเพราะห้องฉันอยู่ติดบริเวณเตรียมงานของพนักงาน เสียงลอดมาจากห้องน้ำ
โผล่หน้าไปเจอชญาม่า ก็บ่นไม่ชอบห้องพัก บอกว่ามีน้ำท่วมในห้องน้ำ และห้องก็อับมาก เราสองคนทานข้าวเสร็จก็ไปแจ้งกับทางโรงแรม ทางโรงแรมก็อ้างว่า พวกเรามาช้าไปหนึ่งวัน (เพราะฉันป่วย) บ้างละ เลยไม่ได้เก็บห้องอื่นไว้ให้ บอกว่าพวกเราไม่บอกตั้งแต่เมื่อคืนจะได้เปลี่ยนห้องให้ (ก็มาถึงตั้งดึก กินข้าวแล้ว จะเข้านอนถึงรู้ กับตื่นนอนถึงรู้) นอนไปแล้ว ไม่ลดราคาให้หรอก ฟังดูก็น่าหงุดหงิดนะ แต่ว่า เอาละยูมาพักคราวหน้าจะคิดราคาพิเศษให้ ฉันเองคงไม่ได้มาอีกหรอก แต่ชญาม่าคงได้มาอีก เราก็เลิกรากันไปแบบไม่ค่อยจะเข้าใจวิธีคิดของเขาเท่าไร
แต่ก็ปล่อยผ่านไป เรารีบไปดูงานที่ศูนย์เด็กชายของดอนบอสโก้ั ซึ่งทำงานสำคัญยิ่ง อยู่ในเมืองยอคคิยากาม่า (ชื่อฟังดูญี่ปุ่นจังนิ) เป็นศูนย์ในพื้นที่ใหญ่โต มีตึกชั้นเดียวและสองชั้นมากมาย เหมือนอาณาจักรดี ๆ นี่เอง ที่นี่จัดเรียน กศน กับเรียนเร่งรัดให้กับเด็ก ๆ ที่เรียนอ่อน มีภาษาอังกฤษ กับคณิตศาสตร์เป็นหลัก ปัญหาเดียวกับทางอินโดฯคือโรงเีรียนคุณภาพต่ำ ครูไม่ค่อยสนใจการสอน (แต่ไปหาลำไผ่สอนพิเศษแทน) เพราะได้เงินเดือนน้อย เด็กยากจนมาก อาจถูกขายไปทำงานรับใช้ตามบ้าน หรือถูกลักพาตัวไปเป็นทหารเด็ก (สงครามกับชาวทมิฬ) หรือไปขายบริการ (ค่อนข้างน้อย) เกณฑ์การคัดเลือกคือ ความยากจนเป็นหลัง ซึ่งทางเราก็มีข้อติงว่า ไม่ใช่เด็กยากจนทุกคนจะเป็นเด็กเสี่ยงกับการถูกค้าเสมอไป
นอกจากนั้นก็มีฝึกอาชีพมากมายหลายอย่าง ทั้งงานซ่อมเครื่องยนต์ ซ่อมเครื่องปรับอากาศ ทำขนม ทำอิฐ ช่างไม้ ช่างเชื่อม สารพัดช่าง สอนคอมพิวเตอร์ เลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก สารพัดจะสรรทำ นักเรียนมีทั้งที่พักในหอพัก (เด็กชาย) และเด็กที่มาจากข้างนอก (ชายและหญิง) โดยมีนักเรียนหมุนเวียนประมาณสองพันคน
เนื่องจากศูนย์นี้เป็นศูนย์เด็กชาย จึงมีแต่หอพักเด็กชาย แต่กำลังมีการสร้างหอพักเด็กหญิงไว้เป็นเอกเทศ สำหรับเด็กที่ต้องเดินทางมาเรียนจากที่ห่างไกล คุณพ่อและบราเธอร์ที่ศูนย์นี้จะชำนาญเรื่องการศึกษาของเด็กเร่ร่อนดื้อด้านไม่เป็นที่ต้องการของสังคมเป็นพิเศษ จะว่าเป็นหัวใจของงานดอน บอสโก้เลยก็ได้ เขาเรียกแนวการสอนหรือครูผู้สอนแบบนี้ว่า Salesians ฉันค่อนข้างประทับใจกับกิจกรรมที่หลากหลาย และศูนย์นี้ยังมีในจุดอื่น ๆ ของประเทศด้วย เรียกว่าเป็นนิกายที่ทำงานเพื่อสังคมอย่างเข้มแข็งยิ่ง
คุณพ่อแอนโธนีเป็นชาวศรีลังกา น่ารัก มีเมตตา ยังหนุ่มอยู่ มาประจำได้สองปีแล้ว งานท้าทาย คุณพ่อมีไอเดียมากมาย และพยายามให้ศูนย์พึ่งตัวเองได้มากที่สุด มีห้องเบเกอรี่ทำขนมปังขนมนมเนยกินเอง ปลูกผักเลี้ยงสัตว์ไว้กินเอง มีแทรกเตอร์ของศูนย์ฯเพื่อจะได้ทำงานบูรณะ่ก่อสร้าง ไม่ต้องไปจ้างข้างนอก แรงงานก็ได้จากเด็กโต ๆ นี่แหละ งานทำอิฐนี่ฮิตมาก ถึงกับเอาไปขายได้ เด็กหลายคนเรียนคอมฯจบแล้วก็ได้ไปฝึกงานในบริษัทคอมฯ ได้ดิบได้ดีไป อดีตเด็กเร่ร่อนบางคนมีแวว กลายมาเป็นผู้ประสานงานช่วยเหลือคุณพ่อต่อไป น่าภูมิใจ
สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือแม้ว่าจะพยายามช่วยตัวเอง แต่ศูนย์นี้ก็ใหญ่มาก ต้องใช้เงินมากในการบำรุงรักษาดูแลเลี้ยงดูสมาชิก ตอนนี้ทางโบสถ์ไม่ได้ช่วยเพราะได้เงินจากองค์กรข้างนอก และแรงงานหลายอย่างก็ได้จากเด็ก (ก็มีคนที่ติงว่าใช้เด็กเหมือนกัน)
สิ่งที่ดีคือ ศูนย์คริสต์ของคุณพ่อสามารถทำงานร่วมกับวัดพุทธได้อย่างกลมกลืน โดยอาศัยพื้นที่วัดหลายแห่งเป็นที่จัดสอนเรียนเร่งรัด เพราะเรียนที่ศูนย์อย่างเดียวไม่พอ กับเด็กบางคนอยู่ไกลก็เรียนที่วัดใกล้บ้านได้ มีครูอาสามาสอนจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ศรัทธานี่ก็ดีนะ ทำให้คนมาช่วยงานการกุศลอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย รวมทั้งความกลมกลืนทางศาสนานี่ย่อมทำให้เกิดสันติด้วย
ฉันดูหอพักเด็ก ดูแปลงเกษตร เดินดูบริเวณสถานที่ ดื่มน้ำชากับคุณพ่อ แล้วก็ไปเจอชั้นเรียนใต้ร่มไม้ (ชั้นเรียนเร่งรัด) ก็เลยไปคุยด้วยกับทั้งสองกลุ่ม กำลังเรียนภาษาอังกฤษกัน พอเดินกลับไปชญาม่าก็บอกขำ ๆ ว่า กลุ่มที่ยูไปคุยด้วยน่ะ ไ่ม่ใช่กลุ่มที่เราให้เงินนะ
จากศูนย์ดอนบอสโก้แล้ว คุณพ่อก็พาเราไปหมู่บ้าน ห่างไปสักครึ่งกิโล ทีแรกก็ทางดีอยู่หรอก เขาบอกว่า ผู้สมัครผู้แทนมาสร้างให้ แต่พอไปอีกช่วงหนึ่ง ถนนก็แย่โคลงเคลงไปตลอดทาง ด้วยเหตุนี้ทำให้เข้าใจว่า ทำไมเด็กส่วนหนึ่งจึงไปโรงเีรียนไม่ได้ เราไปที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่บ้านเืขื่อง ๆ หลังหนึ่ง มีเด็กหนุ่มสาววัยรุ่นราวสิบคน รอคุยกับพวกเรา พร้อมคุณครู กลุ่มนี้เราเรียกว่า กลุ่มเรียนอาชีพในชุมชน คือ เลือกอาชีพเลี้ยงแพะที่เหมาะกับดินฟ้าอากาศ เป็นอาชีพที่ทุกคนทำกัน ดังนั้นจึงกลมกลืนกับความต้องการของท้องถิ่น การตลาดก็ไม่เลว เด็ก ๆ จะได้รับการอบรมทักษะการประกอบอาชีพก่อน เพื่อให้รู้เรื่องการวางแผน การบริหารรายรับรายจ่าย การรับผิดชอบเสียก่อน จึงมาเรียนเรื่องเลี้ยงแพะ วันนี้เด็ก ๆ เพิ่งเรียนเรื่องแพะเป็นวันแรก ว่ามีกี่สายพันธุ์ เหมาะกับพื้นที่แบบไหน โรคของแพะมีอะไรบ้าง การเลี้ยงดูที่ดี การรักษาสุขภาพแพะ คอกแพะควรก่อสร้างอย่างไร
เด็ก ๆ น่ารัก ตาหวาน ตอบคำถามอาย ๆ แต่ฉาดฉาน มีแม่สาวตาคม (ดูรูป) ชื่อ นุสกา นั่งใกล้ฉัน น่ารักมาก ฉันถูกชะตาเธอเป็นพิเศษ ส่วนบ้านที่เราคุยกันเป็นบ้านของเด็กชายหนุ่มชื่อ มิลินดา ซึ่งพ่อแม่มีคอกแพะอยู่แล้ว คุยกันถูกคอดี พวกเราก็ออกไปดูคอกแพะกัน ตอนนี้คุณพ่อแอนโธนีก็ขอลากลับไปบริหารที่ศูนย์ฯต่อ (ไปมอเตอร์ไซค์ค่ะ)
ถ่ายรูปเสร็จด้วยความชื่นมื่นก็ต้องกล่าวสวัสดีกัน เพราะเราต้องเดินทางไปนูวาราเอลิยา เขตขุนเขาที่ปลูกชาเพื่อไปดูงานของสหภาพแรงงานซีลอน (CWC) ซึ่งไกลถึงสี่ชั่วโมง ถึงกระนั้นเราก็แวะทานข้าวกันก่อน คอฉันหายเจ็บแล้วตอนนี้ แต่ก็ยังพยายามไม่ดื่มน้ำเย็นเท่าที่จะทำได้
ฉันเอาภาพมาฝากเยอะมาในฉบับนี้เพื่อชดเชยที่ฉบับก่อนป่วย
ขอจบภาคอนุรธาปุระที่ฉันไม่ได้เห็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์อะไรเลยนะ แม่ต้อยตีวิด เป็นคอนซัลแตนท์นี่ก็เสียเปรียบอยู่ จะขอเที่ยวก็น่าเกลียด เอาเป็นว่ามีที่เนปาลเท่านั้นที่ฉันพอจะได้เที่ยววัดฮินดูนิดนึง
แล้วจะมาเล่าเรื่องนูวาราเอลิยา (Nuwara-Eliya) ถิ่นปลูกชา ต่อจ้า
แม่นกเจนีวากลางเกาะซีลอน
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 1
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 2
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 3
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 4
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 5
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 6
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 7
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 8
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 9
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 10
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 11
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 12
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 13
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 14
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 15