ห้าถิ่นแผ่นดินงาม 8

ตอน : ข้ามฟ้าเนปาล – ย่ำหุบเขากาฐมาณฑุ

แม่ต้อยตีวิดจ๊ะ

อีกสองวันถัดมา เต็มไปด้วยรายการดูงาน ดูงาน และดูงานจ้ะ แต่ส่วนใหญ่อยู่ในเมือง ได้ออกไปบนภูเขานิดนึง

วันแรกฉันไปพบกับกลุ่มนักกฎหมาย ซึ่งที่จริงเป็นวันหยุด แต่พวกเขาก็มาพบฉันที่สำนักงาน อธิบายงานให้ฟัง เขากำลังพยายามแก้กฎหมายว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเพื่อเยาวชนกัน เป็นงานที่น่าประทับใจทีเดียว เขาจัดให้มีบัลลังก์ว่าความสำหรับเยาวชนโดยเฉพาะ โดยทำขั้นทดลองในบางจังหวัดก่อน เมื่อทดลองเป็นที่พอใจแล้วก็จะขยายไปสู่จังหวัดอื่น ๆ อีกต่อไป

วันนี้เป็นวันหยุดประจำชาติ แต่หน่วยงานที่จ้างฉันเขาไม่หยุด ทว่าตอนบ่ายเราไม่มีโปรแกรมเยี่ยมโครงการ มินิชาก็เลยพาฉันไปทานอาหารร้านชื่อ The Bakery Café ชื่อร้านก็ไม่มีอะไรประหลาดหรอกนะ ขายพวกพิซซ่า แฮมเบอร์เก้อร์ โมโม่ (เกี๊ยวซ่าแบบเนปาล) กับของกินเร็ว ๆ และชากาแฟ ไอศกรีม แต่ที่น่าประทับใจคือ ร้านนี้มีหลายสาขา และเขาจะจ้างพนักงานส่วนหนึ่งเป็นคนหูหนวก เป็นการช่วยเหลือคนพิการที่ดีมาก เวลาสั่งอาหารเราก็ชี้ ๆ เอา ไม่ต้องพูดให้เมื่อยปาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าพนักงานทุกคนจะหูหนวกหรอกนะ คนที่หูได้ยินก็มี (แต่จะฟังหรือเปล่านี่อีกเรื่อง อิอิ)

ฉันสั่งโมโม่นึ่งไส้ผักมาทานจ้า ก้อนเบ้อเริ่ม แต่รสชาติอย่างงั้น ๆ ราคาถูกมาก มากับซอสเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ จานหนึ่งตั้งสิบกว่าอัน มากจนฉันทานเข้าไปไม่หมด ส่วนมินิชาสั่งพิซซ่า รสอร่อยใช้ได้ โดยฉันแย่งทานไปหน่อยนึง

หลังกินข้าว มินิชาเลยพาฉันไถลไปซื้อของ ซื้อได้ผ้าพันคอแคชเมียร์สองผืนสำหรับตัวเอง และผ้าฝ้ายเป็นสำรับแบบแขก ๆ สองสำรับ เป็นของฝากทั้งสองอย่าง ไปซื้อของกับผู้ัหญิงนี่ก็สนุกดี

วันนี้ฉันเลยได้กลับที่พักแต่วัน ก็มานั่งทำงาน อ่าน ๆ เขียน ๆ ตอนเย็นก็กินอาหารง่าย ๆ คนเดียว

วันต่อไป คุณลิลี่มาเจอที่โรงแรมแต่เช้า แล้วมินิชาก็เอารถโครงการมารับ เราเดินทางขึ้นเขา ออกนอกเมืองไปแต่เช้า ไปดูสตรีผู้ประกอบการ ทิวทัศน์ระหว่างทางสวยมาก เขาไม่ให้ฉันออกไปโครงการที่อยู่ไกล ๆ กว่านี้ เนื่องจากเหตุการณ์สู้รบที่ไม่ค่อยจะสงบ คงกลัวจะได้รับอันตราย

เราไปดูร้านขายผักของสตรีหม้ายคนแรก ทักทาย ยิ้มแย้มกันสองสามคำ ถ่ายรูป แล้วเราก็ตรงไปที่วัดฮินดู ซึ่งกำลังมีงานบุญกัน คุณลิลี่พาเราไปดูทางเข้าวัด ที่เรียงรายได้ด้วยร้านขายของที่ระลึกและเครื่องบูชาต่าง ๆ คนขายหลายคนคือผู้หญิงที่ร่วมโครงการจ้า

ฉันได้พูดคุยและถ่ายรูปมาหลายคน คนหนึ่งมีลูกชายหน้าตาน่ารัก พูดภาษาอังกฤษได้ และมีพี่สาวกับพี่ชายอีกสองคน ที่ช่วยกันขายของร้านใกล้ ๆ ครอบครัวนี้ขายพวกพริกต่าง ๆ ถั่วหลายแบบ มะพร้าว และของกินอื่น ๆ ส่วนผู้หญิงอีกคนร้อยลูกปัดขาย อีกคนขายตุ๊กตาบาร์บี้ฝรั่งจ๋าเชียว โดยเธอให้เหตุผลว่า ลูก ๆ ของคนที่มาทำบุญมักจะชอบ และในวันงานบุญแล้ว คนส่วนใหญ่จะซื้อของโดยไม่ต่อราคา เรียกว่าเต็มใจซื้อกันเพื่อให้ได้บุญมาก ๆ ทีแรกมินิชาก็บ่นว่า ทำไมไปซื้อของสมัยใหม่มาขาย อย่างนี้พ่อค้าคนกลางก็ได้กำไร คนขายจะขายออกหรือ แต่พอฉันเดินย้อนกลับไปดูเห็นเขาก็ขายได้เรื่อย ๆ เหมือนกัน นี่แหละ เรียกว่าเขารู้จักตลาดของเขาเอง

การดูงานตรงนี้จะว่าไปก็เหมือนได้ไปทัวร์วัดด้วยเหมือนกัน มินิชากับลิลี่ก็เป็นชาวฮินดูที่ดี พากันซื้อดอกไม้ ธูปเทียนไปไหว้พระ ฉันไม่ได้เข้าไปด้วย เพราะต้องถอดรองเท้า แล้วพื้นมันก็ทั้งเปียกทั้งแฉะ ดูไม่สะอาด คิวคนรอเข้าวัดยาวเป็นหางว่าว ฉันถ่ายรูปอยู่ห่าง ๆ เห็นสองสาวลัดเลาะตัดคิวเข้าไปไหว้พระอย่างสะดวกโยธินก็นึกขำ ๆ ว่า เขาคงรู้เส้นทาง แถวนี้จะมีขอทานมากมาย เพราะคนชอบให้ทาน ส่วนของถวายบูชาก็มีทั้งของแห้ง ของสด และของมีชีิวิต ฉันเห็นบางคนหอบไก่เป็นตัว ๆ มีคนจูงลูกควายเล็ก ๆ มาขายก็มี เห็นแล้วก็สงสารสัตว์เหล่านั้น คงเกิดมาใช้กรรมให้เขาเอาไปฆ่า ได้แต่แผ่เมตตาให้ทั้งคนทั้งสัตว์

พอลิลี่กับมินิชากลับมาจากในวัด ก็ชวนฉันไปทานน้ำชากับขนม ฉันสังเกตว่าสายมากแล้ว เราจะไปอีกทีหนึ่งไม่ทันแน่ แต่เข้าเมืองตาหลิ่วก็หลิ่วตาตาม และไม่อยากวิ่งตามเวลาจนเหน็ดเหนื่อย ได้แต่ขอให้มินิชาโทรไปแจ้งอีกโครงการด้วยว่า พวกเราจะไปถึงช้าหน่อย มีมือถือก็ดีอย่างนี้แหละ เธอ แล้วพวกเราก็สั่งน้ำชากับขนมมากิน ฉันชอบชาแขกที่ชงใส่นม รสหวาน ๆ ทำเองทีไรไม่เคยอร่อยเหมือน

อิ่มขนมแล้วพวกเราก็ลงเขา ไปส่งคุณลิลี่แล้ว ก็ไปเยี่ยมอีกโครงการหนึ่งต่อ เป็นบ้านเปลี่ยนวิถี (Transit Home) ที่รับเด็กที่ถูกล่อลวงมาอยู่ ดูแล บำบัดเียียวยา แล้วก็ส่งกลับบ้าน คล้าย ๆ กับไมตีเนปาลที่ฉันไปดูมาวันแรก

สิ่งที่น่าสนใจของที่นี่คือ หนึ่ง ทีมงานเป็นทีมคนหนุ่มสาว เต็มไปด้วยความรู้ความสามารถ และ “ไฟ” ที่คนวัยอย่างฉันเริ่มขาดแคลน

สอง เป็นโครงการร่วมของสามหน่วยงาน คือ Helpline, Change Nepal and Saathi ที่แยกกันรับผิดชอบงานอย่างชัดเจน และนำความถนัดของแต่ละหน่วยงานมาสร้างสรรค์โครงการ

สาม เป็นโครงการที่ทั้งรุกและรับ คือเข้าไปตะเวณหาเด็กกลุ่มเสี่ยงถึงสถานีขนส่ง (แบบหมอชิตบ้านเรา)

และสุดท้ายคือมีแนวการหาทุนเพื่อช่วยตัวเองในอนาคต โดยเปิดบัญชีหลักและให้คณะกรรมการเป็นคนฝากเงินก่อนเป็นกลุ่มแรก (ห้า ห้า ไม่ใช่นั่งเป็นกรรมการแล้วสั่งเฉย ๆ แต่ต้องช่วยออมเงินด้วย) และมีกิจกรรมจัดคอนเสิร์ต ทำวีดีโอออกมาขาย ผู้ประสานงาน ชื่อ ชริณคลา เป็นนักอ่านข่าววิทยุ ครูสอนภาษาอังกฤษและจิตวิทยา ภาษาอังกฤษสำเนียงเยี่ยม การนำเสนอชัดเจนทั้งการออกเสียงและแนวความคิด ฉันว่าไอ้ที่ฉันประทับใจคงเป็นพวกเด็ก ๆ นักทำงานมากกว่าอย่างอื่นใด

คุยกันเสร็จ เราก็เดินชมศูนย์็ฯ ดูห้องหับที่พักของเด็ก ๆ แล้วก็ถ่ายรูปร่วมกันหน้าศูนย์ฯ เด็ก ๆ บางคนก็มาดึงแขนฉันยิก ๆ ให้ช่วยถ่ายรูปด้วย ฉันก็ถ่ายด้วยความเต็มใจ กล้องดิจิตัลไม่เปลืองฟิล์มอยู่แล้ว

วันนี้เราไปกินข้าวที่ร้านอาหารธรรมดา ๆ โดยสั่งอาหารแขกผสมจีน คือ สั่ง นัน แป้งอบแบบอินเดียมากินกับแกงเห็ด และผัดผักแบบจีน แป้งนันที่นี่อร่อยมากเลยเธอ ลองดูรูปนะ แต่แกงเห็ดแบบแขกนั้น ฉันว่าเขาเคี่ยวน้ำแกงไม่เก่ง ไม่ค่อยอร่อยเท่าไร

กินแบบรีบ ๆ แล้วก็ไปอีกโครงการสุดท้าย เป็นศูนย์ช่วยเหลือเด็กที่เป็นเหยื่อการทรมาน (Centre for Victims of Torture) เป็นศูนย์ของผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาโดยเฉพาะ ที่นี่ ทางหน่วยงานได้สนับสนุนการอบรมนักจิตวิทยาอาชีพ และกึ่งอาชีพ ให้มีความรู้และทักษะการช่วยเหลือเด็กที่ได้รับบาดแผลทางใจโดยเฉพาะ สิ่งที่น่าสนใจคือคู่มือการอบรมที่ออกแบบมาอย่างดี และหลักสูตรการอบรมนักจิตวิทยากึ่งอาชีพ กับนักศึกษาปริญญาเอกด้านจิตวิทยา นับเป็นการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่เปี่ยมคุณภาพ ให้ออกมารับใช้สังคม โดยนักศึกษาที่ได้รับทุนจากโครงการนั้น จะต้องไปทำงานตามหน่วยงานช่วยเหลือเด็กต่าง ๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้สัมผัสกับปัญหาจริง ประเทศเนปาลนี้ต้องนับว่า ก้าวหน้าในเรื่องนี้มาก

เธอจะสังเกตว่า ตั้งแต่ฉันเล่ามา เกือบทุกหน่วยงานที่ฉันไปดูงานจะมีเรื่องการให้คำปรึกษาเชิงบำบัดทางจิตใจทั้งสิ้น แม้ว่าแนวการปรึกษาแบบจิตบำบัดจะถือว่าเป็นแนวตะวันตก และยังต้องเอามาปรับใช้อีกมากให้เหมาะกับสังคมเนปาล แต่ก็ถือว่า งานนี้รุดหน้าไปไกลทีเดียว ฉันได้อ่านคู่มือของเขา และเอกสารวิเคราะห์ประสบการณ์แล้ว เขียนได้ดีมาก อ่านเข้าใจแม้จะเป็นภาษาวิชาการ (คนเขียนเป็นฝรั่ง) และก็วิเคราะห์แง่มุมต่าง ๆ ตั้งแต่การพัฒนาคู่มือ ภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ แนวคิดเรื่องจิตบำบัดในสังคมเนปาล การปรับให้เหมาะกับสภาพทางวัฒนธรรม ความคาดหวังของผู้รับการบำบัด ปัญหาอุปสรรคในการฝึกงาน (เช่น หน่วยงานนั้นเอานักจิตบำบัดไปทำงานเรื่องอื่นเสียนี่)

ฉันได้คุยกับผู้อำนวยการศูนย์ฯซึ่งเป็นหมอ กับผู้ประสานงานซึ่งเป็นนักจิตวิทยา สองคนก็คุยดี ทีแรกก็เกร็ง ๆ เพราะไม่รู้ฉันจะมาไม้ไหน แต่ฉันน่ะ ไม่มีสักไม้ แค่อยากรู้อยากเห็นแล้วก็ถาม ได้ข้อมูลน่าสนใจเยอะ คุณหมอเน้นว่า การอบรมเพื่อให้คำปรึกษาทางจิตบำบัดหรือจิตวิทยานั้น จะทำเล่น ๆ ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเอาใครก็ไม่รู้มาอบรมแค่อาทิตย์สองอาทิตย์แล้วก็ส่งไปให้คำปรึกษาด้วย มันเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่ต้องเรียนให้ได้ดีเป็นครึ่งค่อนปี แล้วจึงควรนำไปใช้

ที่น่าภูมิใจคือ หลักสูตรหรือคู่มือนี้ตอนนี้มีชื่อเสียงขจรขจาย ศูนย์สิทธิมนุษยชนของญี่ปุ่นก็พิจารณาให้ติดอันดับสิบงานวิชาการสุดท้ายที่จะเข้าไปชิงรางวัลต่อไป

การดูงานของฉันถือว่าจบลงที่โครงการนี้ แต่มินิชาหัวไว รีบพาฉันไปที่บัสปาร์ค (หมอชิต) ไปดูซุ้มของ Helpline ที่คอยสกัดเด็กที่มาจากต่างจังหวัดแบบน่าสงสัยว่าจะถูกหลอกมา เราได้เจอกับเจ้าหน้าที่ชายที่เพิ่งพบกันที่บ้านเปลี่ยนวิถี ก็ขอดูเอกสาร แบบฟอร์ม ซักถามเรื่องการทำงาน เขาบอกว่า เพิ่งมีคนเอาเด็กเร่ร่อนนอนข้างถนนมาส่งคนหนึ่ง เขาสัมภาษณ์เด็กแล้วก็ส่งต่อไปที่ศูนย์พักชั่วคราว (Drop In Centre) เขาบอกว่า มีการประสานกับผู้จัดการบัสปาร์ค รวมทั้งคนขับรถประจำทาง คนเก็บเงิน คนขายตั๋ว คนขายของไว้แล้ว เวลาใครเจอเด็กที่น่าสงสัยก็ให้พามาที่นี่ก่อน อ้อ ฉันเห็นยังมีอีกซุ้มติด ๆ กันของ CWIN ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่ดังมากในเนปาล ก็เลยไปถ่ายรูปเขาไว้ด้วย

สุดท้าย เราก็พากันกลับไปที่สำนักงาน ไปพบกับพี่ผู้บริหารคนไทย(ที่พาฉันไปทานข้าว) แล้วก็สรุปงานกัน ฉันก็ตั้งข้อสังเกตของงานด้านต่าง ๆ แล้วก็แจ้งว่าจะเขียน “แนวปฏิบัติที่ดี” ด้านใดบ้าง กล่าวโดยสรุป ฉันถือว่า ประเทศนี้ทำงานก้าวหน้าและหลากหลายดีมาก มีทั้งเรื่องจิตบำบัดผู้ตกเป็นเหยื่อด้านต่าง ๆ งานแก้ไขทางกฎหมาย งานเข้าถึงกลุ่มเสี่ยงที่บัสปาร์ค งานจับมือประสานกันหลายหน่วยงาน ศูนย์ข้อมูลเด็กในคอมพิวเตอร์ และงานกับสตรีหม้าย

คุยงานเสร็จ พี่เขาเห็นว่าฉันไม่มีอะไรทำตอนค่ำ ก็เลยชวนไปกินข้าวด้วยอีกหน เพราะภรรยาเธอยังรู้สึกว่า ไม่ได้ต้อนรับฉันมากพอ ฉันก็เกรงใจบอกจะเป็นคนเลี้ยงเอง พี่เขาก็ไม่ยอม คราวนี้เราไปตระเวนดูร้านอาหารกัน สุดท้ายไปจบที่อาหารจีน รสชาติใช้ได้ คุยกับคนเสิร์ฟ กลายเป็นว่าเป็นร้านเครือข่ายเดียวกับเบเกอรี่คาเฟ่ที่สนับสนุนคนหูหนวกให้ทำงาน ก็เลยรู้สึกดีใจที่ได้อุดหนุนกิจการของคนที่มีความคิดทางสังคมดี

สุดท้ายฉันเชิญพี่ทั้งสองมาดูห้องพักที่โรงแรม แล้วก็อวดผ้าสวย ๆ ที่ซื้อมาให้ดู และพากันไปทานไอศกรีมในโรงแรม ก่อนจะลาจากกัน พรุ่งนี้ฉันต้องบินเข้ากรุงเทพฯ พักสองวัน แ้ล้วต่อไปอินโดนีเซีย

โรงแรมซัมมิทพักสะดวกสบายมากจ้ะ น้ำร้อนก็ร้อนจริง ๆ ห้องน้ำสะอาด เตียงนอนเรียบร้อย ห้องกว้างขวาง ที่ชอบสุดคือบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ถึงในห้อง

ฉันถือว่าเป็นประสบการณ์ดูงานที่ประสบความสำเร็จใช้ได้ มีเรื่องที่จะต้องให้เขียนเยอะเลย ตั้งแต่งานของไมตีเนปาล กลุ่มสตรีทำงานร้านอาหารเคบิน งานของกลุ่มสตรีหม้าย และบ้านเปลี่ยนวิถี

ความจริงนี่เป็นครั้งที่สามที่ฉันมาเนปาล และครั้งที่สองที่พักที่ซัมมิท แต่ครั้งนี้ประทับใจกว่าทุกครั้ง เนื่องจากไม่หนาวมาก มาทำงานของตัวเองโดยเฉพาะ ไม่ใช่มากันเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ก็เลยไม่มีเวลาจะเม้าท์จะบ่นกับใคร

คิดว่าคงจบภาคเนปาลแต่เพียงเท่านี้นะ แม่ต้อยตีวิด

นกเจนีวาเริ่มเหนื่อยแล้วจ้า

Message us