ห้าถิ่นแผ่นดินงาม 6

ตอน : เยือนถิ่นบังคลาฯ – ทินาชปุระร์คืนสู่ธากา

แม่ต้อยตีวิดที่รักยิ่ง

ฉันตื่นแต่เช้า ตื่นแล้วก็โทรสั่งชาหนึ่งแก้ว เข้าท่าทีเดียวแหละเธอ เป็นชาดำ เสิร์ฟพร้อมกานพลูกับขิงชิ้นเล็ก ๆ ดื่มแล้วติดใจ พอสายหน่อย มาซุดก็มาเีรียกไปทานข้าวเช้าด้วยกัน วันนี้ฉันทานจาปาตีกับกล้วยหอมเป็นอาหารเช้า พร้อมชาหนึ่งเหยือก ฉันมันคอชา เธอจ๋า กาแฟนั่นนาน ๆ ที

โปรแกรมของเราก็แน่นอีกตามเคย คือไปเยี่ยมโรงเรียน กศน สามแห่ง กับศูนย์เด็กเอนกประสงค์อีกหนึ่งแห่ง ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานที่ชื่อว่า ACLAB แล้วจบลงด้วยการดูละครของ CEC ที่หมู่บ้าน

โรงเรียนทั้งสามแห่งน่ารักกันไปคนละแบบ เป็นกระท่อมปลายนาเล็ก ๆ จุเด็กได้สัก ๓๐ คน มีกระดานดำ ดอกไม้ โปสเตอร์แต่งผนังว่าด้วยสิทธิเด็ก ปัญหาการค้ามนุษย์ เด็ก ๆ นั่งเรียนกับพื้ันที่ปูด้วยถุงกระสอบ แต่ดูสะอาดเรียบร้อยดี ฉันสังเกตว่า โรงเรียนไหนที่ครูแอกทีฟ นักเรียนก็จะแอกทีฟ แจ่มใส กล้าแสดงออกไปด้วย หากครูเงียบ ๆ ขรึม ๆ นักเรียนก็พลอยเรียบร้อยไปด้วย ฉันเล่าแล้วใช่ไหมว่า ทางโครงการพิมพ์หนังสือเรียนแจกให้เด็กฟรี แล้วมีการทำป้ายชื่อประจำตัวให้เด็กด้วย แต่ป้ายชื่อนี้จะเก็บไว้ที่ครู ไม่ให้เด็กเอากลับบ้าน คงกลัวไปเล่นแล้วหาย ส่วนขนมนมเนยของเด็กจะได้มาจากหน่วยงานที่ชื่อว่า World Food Program นับเป็นการประสานประโยชน์ที่ดีมาก ๆ เลย

ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง พอดูงานในชั้นเรียนเสร็จแล้ว ตัวแทนคณะกรรมการครูก็เชิญพวกเรานั่งหน้าโรงเีรียน ถ่ายรูปกัน แล้วเด็กชายคนหนึ่งก็เอามะพร้าวสด ๆ มาปอกให้เรากิน เป็นที่ประทับใจ เด็ก ๆ ชอบถ่ายรูป ไม่กลัวกล้อง ชาวบ้านก็ชอบด้วยเหมือนกัน ฉันสังเกตว่า ครูของโรงเรียนยืนถ่ายรูปกับประธานคณะกรรมการอย่างใกล้ชิด ก็เดาเอาว่าเป็นสามีภรรยากัน และก็เดาถูกด้วย หัวฉันไว เพราะว่า ครูเธอเป็นสาวอิสลามมีผ้าคลุมผมเรียบร้อย แต่ตอนถ่ายรูป เธอไปยืนชิดประธานฯหนุ่ม เอามือแตะนิด ๆ ก็ต้องเดาว่า ต้องใกล้ชิดกันมาก เพราะไม่เช่นนั้นเธอก็คงไม่ทำเช่นนั้น

คุณประธานฯเดินตามมาส่งเราที่รถ มีเด็กเดินตามกันมาเป็นพรวน ฉันก็คุยกับเด็ก ๆ ที่พอพูดภาษาอังกฤษได้สองสามคำ สนุกสนานดี เธอเอ๋ย เด็ก ๆ ช่างสวยงาม แจ่มใส ไร้เดียงสากันจริง ๆ ดวงตากลมโต ดำเป็นมันขลับ นี่แหละ คือเด็ก ๆ ที่พวกคนใจร้ายจ้องจะเอาตัวไปทำมิดีมิร้าย ฉันได้แต่ดีใจที่เรามีโครงการให้เด็กได้เรียนหนังสือ ให้พ่อแม่มีงานทำ และหวังว่าจะมีโครงการแบบนี้ในทุก ๆ ที่ แต่ก็คงอีกยาวนานมากเธอเอ๋ย กว่าประเทศหนึ่ง ๆ จะหลุดพ้นความยากจน การเอาเปรียบ การคอร์รัปชั่น แล้วทุกคนมีกินทัดเทียมกัน

พอลาจาก ฉันก็เอาดินสอที่ได้มาจากคนขายของที่เมืองสวิสฯมาแจกเด็ก ๆ มอบความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ กันไป

ฉันได้มีโอกาสเยี่ยมศูนย์เด็กเอนกประสงค์อีกแห่งหนึ่ง น่ารักเช่นกัน มีผู้ประสานงานขื่อ อโฟรซา ซึ่งเคยมาอบรมที่เมืองไทย อโฟรซาทำอาหารเก่ง วันนี้ฉันได้กินแกงปลา ผัดผักฝีมือเธอ ยอมรับว่าอร่อยจริง ๆ เพราะปลาสดมาก เธอเป็นคนน่ารัก เพียงเวลาไม่นานเราก็กลายเป็นเพื่อนซี้ ถ่ายรูปคู่กัน ส่วนฮัสซันเพื่อนร่วมงานของอโฟรซาก็น่ารัก ติดตามเราไปเยี่ยมโรงเรียนทั้งสามแห่ง แล้วก็ตามมาที่นี่แห่งสุดท้าย บรรยากาศในศูนย์ฯแห่งนี้อบอุ่น ครึกครื้น เด็ก ๆ ร้องเพลงให้พวกเราฟังด้วย

จากศูนย์เด็กฯแล้ว เราก็ไปดูละครชุมชนกันอีกรอบหนึ่ง เรื่องเดิม จัดในหมู่บ้าน ใกล้โรงเรียนเหมือนกัน แต่เนื้อที่แคบกว่า อยู่ระหว่างตึกเรียน กับทางรถไฟ จึงขยายพื้นที่รับคนไม่ได้มาก มีคนบอกว่า มีคนดูไม่ถึงพันคน ผู้จัดท่าทางผิดหวังนิดหน่อย แล้วสรุปกันว่า เป็นเพราะประสานไม่ดี คนที่เลือกพื้นที่ไม่เข้าใจ เลยเลือกสถานที่แบบนี้ทำให้มีคนมาดูน้อย โดยเฉพาะผู้หญิงจะไม่ค่อยมีเท่าไร โดยทั่วไปก็เป็นอย่างนั้น เพราะผู้หญิงที่นี่จะออกไปไหนมาไหนใกล้ ๆ ค่ำโดยไม่มีผู้ชายตามมาด้วยนั้นแทบจะไม่ได้เลย

เนื้อหาละครเหมือนคืนก่อน แต่ฉันได้เจอกับคุณจอห์น ผู้อำนวยการด้วย แกคุยเก่งมาก ยกทฤษฎีการละครมาให้ฉันฟังเป็นฉาก ๆ จนฉันเกือบกลายเป็นลิง(หลับ) แกมีความรู้มาก คุยเก่ง อธิบายดี สมกับเป็นผู้อำนวยการละคร แล้วยังมานั่งแปลให้ฉันฟังอยู่หลายฉาก พอละครจบ ตัวละครต่างก็วิ่งไปหาคนสัมภาษณ์ เื่พื่อซักถามว่ารู้สึกอย่างไรกับละคร ดูแล้วได้อะไรบ้าง เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการแสดงด้วย ฉันก็ไปยืดคอดูเขาสัมภาษณ์ ที่ต้องยืดเพราะคนดูนั่นแหละที่ล้อมรอบตัวนักแสดงเสียหลายชั้น เพราะอยากดูนักแสดงสัมภาษณ์คนดู แต่พอเขาเห็นฉันไปชะเง้อ เขาก็เลยมา้ล้อมดูฉันแทน ฉันเลยจับพวกเขาถ่ายรูปคู่กับผู้อำนวยการเสียเลย

นี่แหละ ค่ำคืนสุดท้ายในดินัจปูร์ และจบการดูงานของฉัน คืนนี้ฉันก็ทานข้าวกับมาซุดเงียบ ๆ แล้วต่างเข้าห้องใครห้องมัน

ตอนเช้า เก็บกระเป๋าเตรียมเดินทางโดยรถยนต์เพื่อไปสนามบินตอนสาย ๆ ปรากฏว่า คุณอะซัมมาเยี่ยมพวกเราเพื่อล่ำลา ก็เลยกินชาด้วยกัน ฉันทราบว่าคุณอะซัมเป็นเบาหวาน ก็เลยเอาน้ำตาลเทียมกล่องเล็ก ๆ ที่ฉันพกติดตัวมายกให้เขาไป เขาก็ไม่ค่อยกล้าจะรับ ฉันต้องบอกว่า เดี๋ยวจะกลับเมืองไทย ไม่ได้ใช้แล้ว แกถึงกล้ารับไป คุณอะซัมเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนต้องเดินทางจากธากามาฐากูรกะออนโดยทางรถยนต์ ใช้เวลายี่สิบกว่าชั่วโมง เพราะสะพานข้ามแม่น้ำใหญ่ยังสร้างไม่เสร็จ ต้องนั่งเรือยนต์ แต่ต่อมา ณ ปัจจุบันก็แค่แปดชั่วโมง (รถติดด้วยมั้ง) ส่วนฉันโชคดีไม่ต้องมาทางรถยนต์ ไม่อย่างนั้นคงก้นบวมแน่

การเดินทางไปสนามบินเรียบร้อยดี เครื่องบินเที่ยวขากลับนี่แวะกลางทางด้วยจริง ๆ แหละเธอ แต่ก็แป๊บเีดียว เราไปถึงธากาเที่ยงกว่า ๆ มาซุดเชิญฉันไปทานข้าวที่บ้าน เพราะอยู่บนเส้นทางกลับโรงแรม แฟนเขาน่ารัก กับลูก ๆ อีกสองสามคน พ่อ แม่ และหลาน การไปทานข้าวบ้านมาซุดก็ทำให้ได้เห็นธรรมเนียมการทานอาหารอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน มาซุดรู้ว่าฉันไม่ทานเนื้อสัตว์ใหญ่(เฉพาะตอนนี้) ก็เลยสั่งแฟนทำพวกผักพวกกุ้วแทน อาหารจานใหญ่หลายจานเสิร์ฟเต็มโต๊ะจนฉันตกใจ มีแกงกะหรี่กุ้ง แกงผัก แกงฟักทอง ผัดผัก ข้าว กับอะไรอีกสองสามอย่างฉันก็จำไม่ได้หมด

ตอนแรกก็มีฉัน มาซุด กับพ่อของเขาทานกัน แฟนเขาก็คลุกข้าวให้ลูกชาย (ทานมือ) ก่อนจะมาร่วมทานกับเรา จากนั้นแม่ กับพี่สาวก็มาทาน เดี๋ยวมีเพื่อนแฟนมาเยี่ยมก็ทานข้าวอีกชุด มาซุดลุกแล้ว พ่อลุกแล้ว ฉันกินอิ่มแล้ว จะลุกจากโต๊ะเขาก็บอกว่า ไม่ต้อง ให้นั่งอยู่เูถอะ ฉันก็เลยนั่งคุยไป ดูเขากินไป ตอนนี้ฉันเลยถึงบางอ้อว่า ทำไมเขาทำอาหารเยอะ เพราะมาทานกันหลายชุด หลายคน หลายรอบนี่เอง รอบสุดท้ายเป็นคนมาเยี่ยมพ่อสองคน ก็ได้รับเชิญให้ทา่นข้าวด้วย ถึงตอนนี้ มาซุดย้ายมาต้อนรับฉันในห้องนอน พร้อมลูกเมีย คุยกันสักพักก็ลากลับ

มาซุดให้คนขับรถพาฉันออกมาเรียกแท้กซี่กลับโรงแรม ฉันไม่ได้ให้เขาไปส่งเพราะรถติด และไกลด้วย เกรงใจครอบครัวเขาจะต้องใช้รถ ฝนก็ตกหนัก คนขับรถกางร่มฝ่าสายฝนลงไปเรียกแท้กซี่ให้ สุดท้ายได้มาหนึ่งคัน ฉันก็ตัวเปียกนิดหน่อย แต่โอเค แต่โอเคไม่นาน ปรากฏว่า ตาแท้กซี่ที่นั่งมาด้วย ชวนคุยรู้เรื่องมั่งไม่รู้เรื่องมั่ง ทำเสียงดัง ตาขวาง ๆ ฉันก็ชักไม่ชอบมาพากล เวรละสิ กระเป๋าก็ใบเบ้อเริ่ม จะหอบหนีก็ไม่ไหว ต้องทนไป แท้กซี่หยุดเติมน้ำมันที่ปั้ม ฉันหันซ้ายหันขวา จำได้ว่ามีมีดพกเล็ก ๆ ก็เลยควักมาถือไว้เผื่อเหนียว แต่ไม่คิดว่าจะกล้าใช้หรอก สุดท้ายก็เดินทางไปถึงโรงแรมจนได้ ไม่มีอะไรน่ากลัวกว่านี้ แต่ทำเอาปอด ๆ ไม่ค่อยอยากขึ้นแท้กซี่คนเีดียวอีก ไหนจะพูดกันไม่รู้เรื่อง

เข้าโรงแรม เปลี่ยนห้องพัก แอร์ไม่ส่งเสียงดัง ฉันก็สบายใจ แต่ยังตะกายไปหาซื้อของฝากจนได้ คราวนี้เรียกสามล้อไป นั่งไปไกลมากเลยเธอเอ๋ย สักสามสี่กิโลมั้ง ประมาณยี่สิบนาที ค่ารถแค่ยี่สิบตะกะ (สิบบาท) เอาแบ้งก์ร้อยให้ สามล้อไม่มีทอน ก็เลยบอกว่า งั้นรอตรงนี้ ซื้อของเสร็จแล้วพากลับด้วย พูดด้วยภาษามือนี่แหละ สามล้อก็เข้าใจ ว่าแล้วฉันก็ชะแว้บไปซื้อของ ได้เสื้อแขก ๆ มาหลายตัว ของกระจุกกระจิกอีกพอสมควร หอบลงมาเจอสามล้อ พากันกลับโรงแรง ผ่านซอกซอยเล็ก ๆ มืด ๆ อยู่เหมือนกัน ตอนนั้นก็เสียว ๆ อยู่ แต่คาดว่า พระคงคุ้มครอง จึงความปลอดภัยทุกประการจ้า

ข้าวเย็นวันสุดท้าย ฉันก็ทานข้าว ปลากับผักเท่านั้นเองจ้า น่าเบื่อไหมเธอ

เฮ้อ คืนนี้จะนอนให้สบายใจ พรุ่งนี้ไปสนามบินตอนเที่ยง ๆ ต่อเครื่องไปเนปาล

กล่าวโดยสรุปแล้ว ฉันคิดว่า โครงการที่บังคลาเทศนี้ดีมากทีเดียว เป็นโครงการขนาดกะทัดรัด มุ่งไปที่ตัวปัญหาตรง ๆ คือ ความยากจน กับการขาดโอกาสทางการศึกษา ในชนบทเมมืองบังคลาฯยังถูกรุกรานด้วยลัทธิบริโภคนิยมน้อยอยู่ ชาวบ้านอยู่อย่างเรียบง่าย สมถะ สิทธิสตรียังด้อย ดังนั้นการส่งเสริมอาชีพสตรีจึงเป็นยกระดับทางสังคมและเศรษฐกิจให้ผู้หญิงในชนบท ขณะเดียวกันก็ทำควบคู่ไปกับการศึกษา คือ โรงเรียน กศน และศูนย์เด็กเอนกประสงค์ฯ ซึ่งฉันเห็นว่าเป็นความหวังของเด็ก ๆ และครอบครัวที่เด็ก ๆ จะได้มีความรู้ ไม่ถูกหลอก หางานที่ดีทำได้ ทั้งหมดนี้ประกอบกับการรณรงค์ให้ความรู้ต่อสังคม และสร้างกลุ่มเฝ้าระวังปัญหาที่เข้มแข็ง หน่วยงานทั้งหมดประสานงานกันเป็นอย่างดี เห็นแล้วน่าชื่นใจ

สุดท้ายที่อยากจะเล่าให้เธอฟังก่อนฉันจากภาคเหนือของเมืองบังคลาฯ คือ มาซุดบอกฉันว่านี่ยังไม่ได้พาไปที่ที่จนที่สุดของประเทศนะ อยู่ทางตอนเหนือขึ้นไปอีก พาจาร์กอน ซึ่งเรามีโครงการอยู่ด้วย ผู้คนที่นั่นยากจนมาก ไม่มีแม้แต่เสื้อผ้าจะใส่ เวลาหน้าหนาวก็ตายเพราะความหนาวก็มาก หน้าร้อนก็ตายเพราะความร้อน และความอดอยากอีก มีครั้งหนึ่งมาซุดจัดประชุมองค์กรที่ร่วมงานกัน ก็มีผู้อำนวยการโครงการจากภาคเหนือ (ฉันก็จำชื่อไม่ได้แลเว) มาร่วมประชุมด้วย ช่วงนั้นอากาศหนาว มาซุดสังเกตเห็น ผอ. มีแค่เสื้อกันหนาวตัวบาง ๆ เสื้อโค้ทตัวเก่งหายไป จึงถามว่า ทำไมไม่เอาเสื้อโค้ทมาด้วย ลืมหรืออย่างไร

คุณผอ.ก็บอกว่า ไม่ได้ลืมหรอก บังเอิญวันก่อนเดินทางขับรถกลับบ้าน ก่อนถึงบ้าน เห็นชายแก่ข้างถนนเสื้อผ้าแทบไม่มีติดร่างกาย นั่งงอก่องอขิงอยู่ ทีแรกก็ไม่ได้สนใจเพราะเป็นภาพที่เห็นค่อนข้างปกติ แต่พอเช้าวันรุ่งขึ้น ออกจากบ้านกำลังจะเดินทาง ก็ยังเห็นชายแก่คนเดียวกันนั้นอยู่ที่เดิม คุณ ผอ. คราวนี้อดไม่ไหว เลยจอดรถ แล้วลงไป ถอดเสื้อโค้ทที่ใส่อยู่คลุมกายให้แก่ชายแก่ผู้ยากไร้อย่างอ่อนโยน แล้วบอกว่า “พ่อท่าน นี่เสื้อของผม ผมยกให้ พ่อจะได้อุ่นขึ้น” จากนั้น แกก็ควักเงินออกมายัดใส่มือชายแก่อีก ๑๐๐ ตะกะ “นี่เงินนะ ผมให้ไว้ด้วย” ชายแก่ยกมือขอบคุณท่วมหัว ถามว่า “ขอโทษเถอะนะ พ่อใจบุญ เงินที่พ่อให้ไว้นี่มันกี่ตะกะ ๑๐ ตะกะได้หรือเปล่า ฉันตาบอด มองไม่เห็น” ผอ.ซ่อนความสะเทือนใจ และบอกอย่างอ่อนโยนอีกครั้งหนึ่งว่า “ไม่ใช่ ๑๐ ตะกะหรอกพ่อ แต่เป็น ๑๐๐ ตะกะ น่ะ” “โอ้ พ่อเจ้าประคุณ….” ชายแก่ตาบอดพูดด้วยความซาบซึ้ง และร้องไห้ออกมา

เมื่อฉันฟังมาซุดเล่ามาถึงตอนนี้ น้ำตาก็ไม่รู้ไหลมาจากไหนเหมือนกัน….

…..เป็นเรื่องราวแห่งการแบ่งปันเล็ก ๆ ที่ฉันคงไม่มีวันลืม

ฉันดีใจที่ได้มาเห็นประเทศนี้ และได้พบความงดงามที่ไม่คิดมาก่อนว่าจะได้พบ แปลกนะ ก่อนจะมา ฉันเฝ้านับวันให้เดินทางจบเร็ว ๆ แต่พอวันสุดท้ายใกล้มาถึงจริง ๆ ฉันกลับไม่อยากจากประเทศนี้ไปเลย มันยังมีอะไรให้ค้นคว้าเรียนรู้และซาบซึ้งอีกมากมาย

ไม่นึกเลยว่าฉันจะรู้สึกผูกพันกับประเทศนี้ขึ้นมาแล้วจริง ๆ นะ แม่ต้อยตีวิด

แต่ Life must go on ฉันยังต้องเดินทางไปค้นหาความงามในแผ่นดินอื่น ๆ อีกต่อไปจ้ะ

จากแม่นกน้อยเจนีวาของเธอเอง

Message us