ห้าถิ่นแผ่นดินงาม 12

ตอน : สู่เหย้าศรีลังกา – โคลัมโบ

แม่ต้อยตีวิดที่รัก

เราได้เจอกันเมื่อเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมาด้วยความสุขสดชื่นมากมาย น่าดีใจที่ตังค์ในกระเป๋าไม่พร่องไปมากเพราะการชอปปิ้ง

ฉันจากเธอวันอาทิตย์ วันจันทร์เย็นฉันก็เดินทางไปศรีลังกาจ้า คราวนี้ไปเครื่องแอร์ลังกา เครื่องทันสมัยแต่เก่า พูดอย่างนี้เธอคงเข้าใจ ผู้โดยสารเป็นชาวศรีลังกาส่วนใหญ่ ต่างหอบกระเป๋าของฝากใบโต ๆ กัน

ฉันเจ็บคอยังไม่หาย แต่ก็ไม่รุนแรงขึ้น พยายามพักผ่อนในเครื่องเพราะจะไปถึงประมาณตีหนึ่งเมืองไทย เที่ยงคืนเมืองแขก แต่รู้สึกนอนไม่สบาย อากาศในเครื่องมันอึดอัด

ไหน ๆ ก็จะไปประเทศนี้แล้ว เอาความรู้รอบโต๊ะมาฝากเธออีกแล้วกัน ในแผนที่ข้างล่างนี้ เธอจะเห็นชื่อเมืองต่าง ๆ เมืองที่ฉันจะได้ไปเยี่ยมคือ Colombo Negombo Anuradhapura Newara Eliya เมืองสุดท้ายอยู่ทางใต้ของ Kandy เป็นแถบที่ปลูกชาขึ้นชื่อของโลกจ้ะ

– พื้นที่ ๖๕๐๐๐ กว่า ตร กม
– ประชากรประมาณ ๒๐ ล้านคน
– ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๘
– รายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปี ๔๐๐๐ ดอลล่าร์สหรัฐ
– ศาสนาพุทธ ๖๙% มุสลิม ๗.๖% ฮินดู ๗.๑% คริสเตียน ๖.๒% แยกแยะไม่ได้ ๑๐% (ข้อมูลสัมมะโนประชากร ปี ๒๐๐๑)
– ประชากรแบ่งเป็น คือ ชาวสิงหล ๗๓.๘% ศรีลังกันมัวร์ ๗.๒% ทมิฬอินเดียน ๔.๖% ทมิฬศีลังกัน ๓.๙% อื่น ๆ ๐.๕% และระบุไม่ได้อีก ๑๐% (ข้อมูลสัมมะโนประชากร ปี ๒๐๐๑)
– ภาษาพูด คือ สิงหล (ภาษาราชการและภาษาประจำชาติ) ๗๔% ภาษาทมิฬ (ภาษาประจำชาติเช่นกัน) ๑๘% ภาษาอื่น ๆ ๘% (แต่ภาษาอังกฤษก็เป็นภาษาที่ใช้กันในวงราชการ และมีประชากรเกือบ ๑๐% ที่พูดภาษาอังกฤษได้)
– ทรัพยากรธรรมชาติมีหินปูน หินกราไนต์ ทรายที่มีแร่ธาติ อัญมณี (อย่าเพิ่งตาลุก เธอ) ฟอสเฟต และพลังงานจากน้ำ
– ผลิตผลทางการเกษตร ได้แก่ ข้าว อ้อย ธัญพืชและพืชให้เมล็ดต่าง ๆ เมล็ดพืชน้ำมัน เครื่องเทศ ชา ยางพารา มะพร้าว นม ไข่ เนื้อวัว
– อุตสาหกรรมหลัก คือ ผลิตยาง ผลิตชา มะพร้าว และพืชผลทางการเกษตร โทรคมนาคม การประกันภัย การธนาคาร เสื้อผ้า ปูนซีเมนต์ กลั่นน้ำมัน สิ่งทด และยาสูบ
– สินค้าส่งออก คือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ชาและเครื่องเทศ เพชร มรกต ทับทิม (ที่กินไม่ได้แต่ชมได้) ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ผลิตภัณฑ์ยางพารา ปลา
– ปัญหาการแบ่งแยกและการสู้รบระหว่างรัฐบาลและกลุ่มแบ่งแยกติดอาวุธทมิฬตั้งแต่กลางทศวรรษ ๑๙๘๐ มีผลให้ชาวทมิฬหลายแสนคนต้องหนีออกจากประเทศ และเกือบสองแสนคนยังอยู่ในฝั่งตะวันตก (ข้อมูลกรกฎาคม ๒๐๐๕)
– ปัญหาอื่น ๆ ได้แก่ การตัดไม้ทำลายป่า และหน้าดินพังทลาย (เหมือนกับเมืองไทยเลย) สัตว์ป่าถูกคุกคามจากเมืองขยาย ความเสื่อมโทรมชายฝั่งที่เกิดจากการทำเหมืองแร่และมลภาวะ แหล่งน้ำสะอาดถูกมลพิษจากของเสียอุตสาหกรรมและของเสียครัวเรือน อากาศเป็นพิษในโคลัมโบ

เอาละเธอ ความรู้แค่เบาะ ๆ ก่อนนะ ฉันกำลังง่วง ๆ คงโม้มากกว่านี้ไม่ได้

พอไปถึงก็ไปเข้าคิวตรวจลงตรา เขาบอกว่ามาขอวีซ่าที่นี่ได้ แต่ฉันก็ไม่เห็นมุมวีซ่าที่ไหนสักแห่ง ก็เลยเข้าคิวไปพร้อมคนอื่นนี่แหละ ก็ไม่เห็นเจ้าหน้าที่เขาว่าอะไร ปั๊มตราลงหนังสือเดินทางแล้วฉันก็เดินตัวปลิวไปเอากระเป๋า แล้วก็แลกเงิน แต่จุดที่เอากระเป๋า อากาศร้อนมาก ไม่มีแอร์ อึดอัด หายใจไม่ออก กระเป๋าก็รอนานมาก ๆ

พอฉันเอาตัวหลุดออกไปได้แล้ว แลกเงินแล้ว ข้างนอกคลาคล่ำไปด้วยพนักงานโรงแรมที่มารับแขก ฉันก็มองไม่เห็นป้ายชื่อตัวเอง ก็เดินออกไปเสียไกล ไปถามแท้กซี่คนหนึ่ง เขาก็ใจดีบอกว่า มาดาม ยูกลับเข้าไปอีกทีนะ เพราะรถรับแขกทั้งหมดจะอยู่ข้างใน ข้างนอกไม่มี ฉันเข้าไปก็เจอชื่อตัวเองจริง ๆ เป็นบริษัทรถ ไม่ใช่รถโรงแรม ดูเหมือนโรมแรมที่นี่จะไม่จัดรถให้ แปลกดี

ยืนรอรถอีกชาติกว่า ๆ ง่วงก็ง่วง จะตีสามแล้ว ร้อนก็ร้อน ในที่สุดรถเก๋งใหม่เอี่ยมก็มาถึง พาฉันเดินทางประมาณค่อนชั่วโมงกว่าจะถึงโรงแรมเล็ก ๆ ระหว่างทาง ถนนเงียบสงบ ไม่มีรถเลย ได้เห็นพระพุทธรูปพระพักตร์เปี่ยมด้วยเมตตาตามสี่แยก เห็นแล้วอบอุ่นใจ สงบใจ เหมือนได้คืนสู่เหย้า เนื่องจากพุทธศาสนาในบ้านเราก็ได้มาผ่านเมืองศรีลังกา

เข้าโรงแรมแล้ว รู้สึกผิดหวัง เพราะห้องทึบ ๆ เตียงสีทึม ๆ อากาศอึดอัด ยิ่งไปกว่านั้นคืออาการไม่สบายของฉันดูจะรุนแรงขึ้น นอนก็ไม่หลับ ผิดเวลา รู้สึกที่นอนมันแข็ง เลยไปนอนบนโซฟา นอนไปได้หน่อย ก็ไม่สบายตัว กลับไปนอนเตียงอีก พอใกล้รุ่ง เสียงจากถนนก็สนั่นเลย เสียงเครื่องรถยนต์ เสียงแตร ในที่สุดฉันก็ตื่นขึ้นมาพร้อมด้วยอาการไมเกรนเบื้องต้น อุตส่าห์แข็งใจ อาบน้ำ ออกไปทานข้าวเช้า แต่ทานได้ไม่กี่คำ ก็กลับเข้าห้อง อาเจียน ต้องนอนเอาแรง แต่ใจกังวลว่าจะทำอย่างไรดี วันนี้ต้องไปดูงาน

พอได้เวลานัด ก็มีคนโทรมาจากหน้ารีเซฟชั่น คือ เบอร์นี่ (ผู้หญิง) ซึ่งเป็นเลขาของสำนักงาน จะมารับฉันไปประชุม ฉันเลยบอกเบอร์นี่ว่า ฉันป่วย ลงไปไม่ไหว เขาก็เลยขึ้นมาที่ห้อง มาดูอาการฉัน แล้วโทรไปหาหัวหน้าของเขาคือ ชญาม่า ว่าจะทำอย่างไรดี สรุปว่า ชญาม่าจะพาคุณเบ็ทซี่กับทีมมาเจอฉันที่โรงแรมแทน ก่อนเบอร์นี่ลากลับ ฉันขอให้ช่วยจองโรงแรมให้ใหม่ เพราะที่นี่ไม่ถูกโรคกับฉันเลย และเอาของฝากจากเมืองไทยให้เขาไป

ชญาม่ากับทีมงานมาถึงในเวลาไม่นาน มีเบ็ทซี่ โรส และเการี เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแห่งซีลอน ซึ่งทำงานเข้มแข็งมาก และเป็นตัวแทนคนงานในไร่ชา ซึ่งถือเป็นสหภาพที่ใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองแห่งชา ฉันก็ลงไปเจอที่ห้องรับแขกของโรงแรมด้วยอาการโผลเผล แต่ก็คุยทักทายกันอย่างอบอุ่น ทุกคนมองหน้าซีด ๆ ของฉันแล้วก็คงเชื่อว่าป่วยจริง คุยงานไปได้สักหน่อย ฉันก็วิงเวียน วิ่งไปเข้าห้องน้ำ อาเจียนเสียทีนึง ชญาม่าตามเข้าไปดูด้วยความเป็นห่วง ออกมาเจอแขกอีกครั้งก็ขอลา แต่ปากบอกลา ตัวยังไม่ยอมขยับ ก็ยังคุยกับเขาอีกหลายคำ ด้วยความสนใจในงานจริง ๆ แล้วก็วิ่งไปเข้าห้องน้ำอีกเที่ยว เที่ยวนี้ต้องลากันจริง ๆ ฉันก็ขอโทษพวกเขาที่ทำให้เสียเวลา งานที่คุยก็ไม่ค่อยเข้าหัวเท่าไร แต่ก็จดไว้เท่าที่จดได้

(ฉันกับเบ็ตซี่ โรส เการี และชญาม่าจ้ะ ถึงแม้จะป่วย แต่ก็ยิ้มสยามอยู่นะ)

จากนั้นก็ไปนอนพัก สายอีกหน่อย เบอร์นี่โทรมา บอกว่าจองโรงแรมใหม่ได้แล้ว เดี๋ยวใกล้ ๆ เที่ยงจะส่งรถมารับไปโรงแรมอีกแห่ง ตอนนี้ให้พักผ่อนเต็มที่ พรุ่งนี้ค่อยว่ากันว่าจะทำงานไหวไหม งานนี้วุ่นวายเบอร์นี่มากพอควร

ฉันนอนหลับ ๆ ตื่น ๆ คลื่นไส้ ปวดหัว แต่กินยาไม่ลง รู้ว่าอาการนี้เป็นเพราะขาดการพักผ่อน นอนดึก ตรากตรำหลายประเทศ ไหนจะเป็นหวัดเจ็บคอมาจากอินโดฯ นอนไปก็พยายามตามลมหายใจไป เคลิ้มหลับไปบ้าง รู้ว่าอาการนี้ต้องนอนอย่างน้อยหนึ่งวันจึงหาย ยาไม่ต้องใช้ ตั้งนาฬิกาปลุกไว้ใกล้ ๆ เที่ยง ฝืนใจลุกขึ้นมา เก็บกระเป๋า ลงไปเช็คออกจากโรงแรม พอดีคนขับรถมาถึง พาขึ้นรถไปส่งโรงแรมแห่งใหม่ ระหว่างนั่งไปก็วิงเวียนไป ภาวนาให้ถึงเร็ว ๆ

แล้วเราก็มาถึงโรงแรมแห่งใหม่ ใหญ่โตเกือบสิบชั้น ตัวตึกอยู่ห่างถนนใหญ่ (คงเงียบหน่อย) ฉันยืนรอเช็คอินแทบไม่อยู่ แต่ก็ไม่นาน ได้ห้องพักที่ห่างจากลิฟต์มาก เพราะเบอร์นี่กำชับไว้ให้หาห้องเงียบ ๆ ให้ฉัันอยู่ คราวนี้ฉันพอใจห้องพักใหม่มาก จัดอย่างทันสมัย พื้นห้องเป็นไม้เกือบค่อน ดูอบอุ่น วิวดี เห็นสระน้ำธรรมชาิติใหญ่ (จอกแหนเต็ม) ข้างโรงแรม ไม่เห็นทะเล มีโซฟาน่าสบาย เป็นลักษณะบูติคโฮเต็ล แค่เห็นห้องฉันก็ใจสบาย รู้ว่านอนสบายแน่ ไม่ได้รื้อกระเป๋า ขอนอนเอาแรงก่อน นอนเอานอนเอา ลุกมาอาเจียนสองสามครั้ง เบอร์นี่โทรมาหาครั้งหนึ่ง ถามอาการ ฉันบอกว่าดีขึ้นมากแล้ว

จนค่ำ ๆ ออกมารื้อกระเป๋าได้ แล้วนอนต่อ ไม่หิว กินอะไรไม่ลง กินแล้วจะออกอย่างเดียว พอเที่ยงคืน ตื่นนอน รู้สึกได้พักเต็มที่ หายเพลียไปเยอะ เริ่มหิว ไม่เวียนหัว ไม่ปวดหัวแล้ว ก็เลยโทรไปสั่งซุปมะเขือเทศมาหนึ่งถ้วย ได้ซุปไปมีแรงขึ้น กลับไปนอนต่อได้

บรรยายอาการเจ็บป่วยเสียยืดยาว เพื่อจะบอกว่าฉันก็ไม่ใช่หญิงเหล็กหรอกจ้ะ สุดท้ายสังขารมันก็ทนกับการตรากตรำไม่ไหว ไหนจะเปลี่ยนอากาศ เปลี่ยนที่นอน เปลี่ยนน้ำ เปลี่ยนอาหาร เปลี่ยนประเทศ ที่เคยคิดว่ายังฟิตอยู่ก็ไม่ฟิตเสียแล้ว อนิจจัง

เช้าวันรุ่งขึ้นฉันเลยตื่นด้วยความสดชื่น โทรไปบอกเบอร์นี่ตอนเช้า สายแก่ ๆ เขาก็ส่งรถมารับ ฉันก็เช็คเอ้าท์ออกจากโรงแรมเลย เพราะวันนี้จะต้องเดินทางไปต่างจังหวัีด

สำนักงานอยู่ห่างไปสักสิบนาที ในซอยเล็ก ๆ บ้านเช่าหลังใหญ่ น่าสบาย ฉันเข้าไปทักทายเพื่อนร่วมงาน เบอร์นี่กับชญาม่าดีใจที่ฉันสบายขึ้นแล้ว ชญาม่าบอกว่า กลัวฉันเป็นไข้หวัดนกหรือเปล่า (อาจจะใช่ก็ได้นิ แต่ฉันไม่มีไข้)

เราคุยกันไม่นานก็เดินทางไปดูโครงการแรก เป็นหน่วยงานของรัฐชื่อว่า องค์การคุ้มครองเด็กแห่งชาติ หรือ NCPA หน่วยงานนี้ทำงานแหวกแนวมาก คือ เฝ้าระวังการหลอกลวงเด็กทางเพศในโลกไซเบอร์ หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษอย่างเก๋ว่า Cyber Watch Surveillance และมีหน่วยตำรวจสืบสวนสอบสวนที่ได้รับการอบรมจากสก๊อตแลนยาร์ดโดยเฉพาะ เพื่อไปตามจับคนพวกนี้อีกที ฟังดูน่าตื่นเต้นดีไหมเธอ

(นี่คุณหัวหน้าตำรวจนอกเครื่องแบบจ้ะ)

ทางโครงการเขาก็ฉายพาวเวอร์พ้อยท์นำเสนองานให้ฉันฟัง คนเสนอเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายชื่อเพราะปรีติกา และเจ้าหน้าที่เฝ้าหน้าจอคือ จันทิกา วัตถุประสงค์ของการทำงานแรกสุดก็เพื่อตามสืบและตามจับคนที่เอาเด็กมาทำการอนาจารทำสื่อลามกเผยแพร่ทางเน็ต อย่างที่สองคือตามจับนักท่องเที่ยวทางเพศที่ชอบมาทำมิดีมิร้ายกับเด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กชาย โดยการหลอกติดต่อในแชทรูมของพวกรักร่วมเพศบ้าง ของพวกชอบมีอะไรกับเด็กบ้าง พอเจอใครเสนอว่า จะมาเที่ยวศรีลังกา อยากเจอเด็กชายเอ๊าะ ๆ ก็จะเข้าไปเกี่ยว และนัดพบจนจับตัวได้ในที่สุด ซึ่งไม่ใช่เฉพาะนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังมีชาวศรีลังกาเองด้วยบางส่วน เมื่อจับคนเหล่านี้ไ้ด้แล้วก็ดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป ในกรณีคนต่างชาติก็ขอความร่วมมือจากสถานทูตต่าง ๆ ในการส่งตัวและให้ข้อมูล บางแห่งก็ร่วมมือดี บางแห่งก็ไม่ค่อยร่วมมือ แต่กลับปกป้องคนของตนเองแทน

(ชญาม่ากับคุณจันทิกาที่ดูแลเรื่องไซเบอร์วอทช์ชวนฉันชมบอร์ดข้อมูลต่าง ๆ)

การทำงานประสบความสำเร็จใช้ได้ทีเดียว ดำเนินคดีไปได้หลายคดี เจอคนที่มีหน้ามีตาในสังคม บางคนเป็นนักเปียโนฝรั่งที่เดินทางมาแสดงคอนเสิร์ต แต่ก็ยังมาหวังหาเศษหาเลยกับเด็กที่นี่ บางคนก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในโคลัมโบ ก็ต้องโดนปลดออกจากตำแหน่งอาจารย์ไป เสียชื่อเสียงตัวเองและสถาบัน วิธีการล่อหลอกก็มีการส่งตัวเด็กที่เป็นตัวปลอม อายุเกิน ๑๘ แต่หน้าเด็ก ไปอ่อยเหยื่อ พอเข้าห้องนอนจะเริ่มมีอะไรกันก็ถ่ายรูปเอาไว้ แล้วเข้าจับกุม บางทีก็ตามไปถึงบ้านที่มีเด็กเป็นเหยื่อจริง ๆ กำลังถ่ายวีดีโออนาจารกัน หรือบางทีก็ปลอมเป็นทีมวีดีโอไปถ่ายทำให้ แล้วก็ออกมาจับกุมคาหนังคาเขา เขาก็มีสารพัดเทคนิควิธีที่จะเอาตัวคนผิดมาลงโทษ

(นี่ก็หน่วยตำรวจนอกเครื่องแบบค่ะ)

ผลที่ได้จากการทำงานนั้นมีในเชิงป้องปรามด้วย คือเว็บไซต์ท่องเที่ยวทางเพศในโลกตะวันตกหลายแห่งเริ่มประกาศเตือนสมาชิกให้ระวังตัว และบอกว่าใครคิดทำมิดีมิร้ายกับเด็กในศรีลังกาให้ระวังไว้

นอกจากช่วยเด็กชาวศรีลังกาผ่านทางเน็ตแล้ว คณะเฝ้าระวังและสืบสวนยังคอยดูด้วยมีเด็กที่ไหนท่าทางเหมือนถูกล่อลวงบ้าง เช่นมีเด็กจีนกลุ่มหนึ่งเดินทางเข้าศรีลังกากับชายคนหนึ่งที่ไม่ใช่ญาติ จะเดินทางไปอังกฤษ ซักไซ้แล้วน่าสงสัยเลยต้องกักตัวไว้ ติดต่อทางการจีนอยู่เป็นอาทิตย์ สุดท้ายทางการจีนมานำตัวเด็กกลับไป แต่ไม่ได้ข่าวอีก

ฉันก็ถึงบางอ้อตรงนี้ เพราะตอนฉันเข้าเมืองนั้น ง่ายมากเพราะเป็นคนเอเชียเหมือนกัน ไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มวีซ่า แค่กรอกฟอร์มคนเข้าเมือง ด้วยเหตุนี้ ศรีลังกาจึงเป็นที่ผ่านทางของเด็กและผู้ใหญ่ในประเทศใกล้เคียงเพื่อต่อไปประเทศที่สามในยุโรปหรืออเมริกา

นอกจากคุยเรื่องการป้องกันปราบปรามผ่านเว็บ ผ่านมือปราบแล้ว เรื่องน่าเสียใจก็คือ มือปราบสองคนขณะนี้ถูกจับตัวไว้โดยกลุ่มทมิฬในระหว่างเข้าพื้นที่ไปสืบข่าวเรื่องเด็ก ตอนที่ฉันไปก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวออกมา แต่ทราบว่ายังปลอดภัยอยู่ สิ่งนี้ทำให้ทีมงานขวัญเสียหาน้อยไม่

(คอมพิวเตอร์หน้าตาธรรมดานี่แหละเธอเอ๋ย ที่ใช้สำรวจและจับพวกชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก และพวกผลิตสื่อลามกเด็ก)

เราได้พบกับกลุ่มนักให้คำปรึกษารุ่นใหม่ไฟแรงสามคนหลังจากนั้น ซึ่งเพิ่งเรียนจบด้านสังคมศาสตร์มาสองคน อีกคนทำงานมานานแล้ว NCPA ทำงานหลายด้านมาก สมกับเป็นองค์การคุ้มครองเด็ก มีทั้งบังคับใช้กฎหมาย จับกุมผู้ทำผิด ดำเนินคดี ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย และทางสังคมจิตใจ มีศูนย์บำบัดสำหรับเด็ก ทำกิจกรรมเด็ก ฯลฯ นับเป็นหน่วยงานรัฐที่น่าประทับใจหน่วยงานหนึ่ง

กว่าจะเสร็จก็บ่ายโมงกว่า เราต้องเดินทางไปอนุรธาปุระ ซึ่งห่างไปเกือบสี่ชั่วโมง แต่เราต้องแวะกินข้าวก่อน ก็ไปเจอร้านอาหารสะอาดแบบเบเกอรี่ สั่งข้าวกับแกงกะหรี่ ซึ่งมาเป็นชุด มีข้าว มีแกง มีผัก อร่อยใช้ได้ มากมาย ราคาถูก

เดี๋ยวฉันมาเล่าต่อส่วนที่เหลือในฉบับต่อไปแล้วกันนะ แม่ต้อยตีวิด

นกน้อยเจนีวาในเมืองพุทธฯ

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 1

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 2

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 3

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 4

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 5

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 6

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 7

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 8

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 9

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 10

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 11

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 12

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 13

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 14

ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 15

Message us