ชีวิตที่มีหลายบ้าน…อะไรคือจุดเกาะเกี่ยว

โดย จงเจริญ ศรแก้ว กริมสมันน์

บทสัมภาษณ์สำหรับรายการ “จิบกาแฟชวนคุย” วันเสาร์ที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๕

  1. แนะนำพี่ป๊อกแบบเบาสบาย ในฐานะหญิงไทยในต่างแดนคนหนึ่ง ไม่มีหัวโขนหัวหนัง ความสุขเล็ก ๆ ประจำวัน
  2. อะไรคือ “บ้าน” ในความหมายของพี่ป๊อก
    • สถานที่ ถิ่นอาศัย อาคาร สิ่งที่จับต้องได้ พื้นดินใต้อุ้งเท้า ดินฟ้าอากาศ
    • กลุ่มบุคคลและสังคมที่เชื่อมโยงกับเราด้วยความสัมพันธ์แบบต่าง ๆ
    • พื้นที่ทางใจ ความเชื่อ ความผูกพัน อาหาร ภาษา ธรรมเนียมประเพณี
    • สิ่งที่คิดถึงแล้วรู้สึกเป็นตัวเรามากที่สุด อาจทั้งรูปธรรมและเป็นนามธรรม  
  3. ทำไมถึงพูดว่า “มีหลายบ้าน”
    • คนย้ายถิ่นก็คือคนหลายบ้านด้วยความหมายของตัวมันเอง โดยไม่เกี่ยวกับฐานะหรือการครอบครองทรัพย์สิน  
    • ในเมืองไทยเอง คนไทยจำนวนหนึ่งย้ายถิ่นเพื่อหางาน หรือเพื่อเรียนหนังสือ หรือแต่งงาน มีบ้านเกิด บ้านของคู่สมรส บ้านแม่บ้านพ่อ บ้านปู่ย่าตายาย บ้านเช่า บ้านเพื่อน บทบาทในแต่ละบ้านเราต่างไป
    • โลกเล็กลง การโยกย้ายถิ่นฐาน การแต่งงานข้ามวัฒนธรรมและเชื้อชาติกลายเป็นเรื่องปกติ เด็กเกิดในประเทศหนึ่ง โตในอีกประเทศหนึ่ง ไปทำงานในอีกประเทศหนึ่ง และเกษียณอีกประเทศหนึ่ง เป็นปกติไปแล้ว
    • คนไทยย้ายถิ่นไปต่างแดน เป็นการย้ายบ้านหลังมหึมา ต้องย้ายเอาภาษา วัฒนธรรม ศาสนา ความเป็นตัวตน เอกลักษณ์ทั้งหมดติดตามตัวไปด้วย
    • การรักษาบ้านหลายหลังเป็นงานที่เหนื่อยและหนัก ทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังสมอง และจิตใจ
  4. แล้วเป็น “คนหลายบ้าน” มีข้อดีไหม อย่างไร
    • มนุษย์เราเป็นผู้แสวงหา เป็นนักผจญภัย เราค้นหาอะไรมากมายในชีวิต เราชอบท่องเที่ยว เราชอบที่จะรู้ว่าเรา belong ที่ใดที่หนึ่ง
    • บ้านหลังหนึ่งอาจมอบความรู้สึกอย่างหนึ่งให้ เช่น บ้านเกิดที่มีพ่อแม่พี่น้อง ภาษา ธรรมเนียมที่ใกล้หัวใจเราที่สุด บ้านใหม่คือชีวิตอีกแบบ การปรับตัว ความสนุก ความน่าตื่นตาตื่นใจ ความสวยงาม แปลกใหม่ ความรัก ครอบครัวใหม่ อาชีพที่แปลกไป รายได้ที่ดีกว่า รัฐสวัสดิการที่มั่นคง
    • เรากลายเป็นประชากรของโลก ได้รู้จักสิ่งที่ดีที่สุด แย่ที่สุด แปลกแตกต่าง น่าสนใจ ในหลายแง่มุม
  5. แล้วความเปราะบางของ “คนหลายบ้าน” มีไหม เป็นอย่างไร
    • ในบ้านเกิด เรามีบทบาทที่เต็มที่ แต่ในบ้านใหม่ บางทีเราเล่นบทบาทไม่ออก เพราะหลงถิ่นหลงทาง ไม่ได้ภาษา ไม่มีสังคม ไม่ได้กินอาหารที่คุ้นเคย ไม่มีเพื่อนรู้ใจ ไม่มีผู้กำกับบทที่ดี ไม่มีสถานะทางสังคมที่แน่ชัด
    • ขณะเดียวกัน บางทีเราไปได้สวยในบ้านใหม่ต่างแดน แต่เกิดความขัดแย้งกับบ้านเดิมของเราเอง เช่น ภาระหนี้สินของครอบครัว ความคาดหวังทางการเงิน ค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่วเวลากลับไทย วิธีที่คนไทยมองเมียฝรั่ง
    • เรามีกระเป๋าเดินทางแค่ใบน้อย (หนึ่งสมอง สองมือ) เราเคลื่อนย้ายสังคมเดิมไปทั้งหมดไม่ได้ เราไม่สามารถย้ายตัวตนทั้งหมดจากบ้านหลังหนึ่งไปอีกหลังหนึ่งได้อย่างสมบูรณ์
    • การเชื่อมโยงด้านสุขภาพเป็นเรื่องที่ยาก การรักษาตัวในบริบทต่างภาษาไม่ใช่เรื่องง่าย การหาหมอที่รู้ใจเป็นเรื่องยากกว่ายาก ระบบสาธารณสุขที่แตกต่าง
    • บางครั้งเราหลงอยู่กลางทางระหว่างสองบ้าน สามบ้าน สองสามวัฒนธรรม ไม่รู้จะเลือกอะไร ไม่รู้เรา belong ตรงไหน หรือ เราคิดจะหนีปัญหาจากบ้านเก่าไปบ้านใหม่ เราอาจคิดผิด เพราะปัญหาติดตามเราไปไม่ว่าจะมีกี่บ้าน
  6. ทำไมจึงต้องมีจุดเกาะเกี่ยว
    • ด้วยเหตุแห่งความเปราะบาง จุดเกาะเกี่ยวจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนหลายบ้าน เป็นที่พึ่ง เป็นสายใย ความเป็นพลเมือง ความมั่นคง ความมีตัวตน ที่คุ้มภัย และอะไรอีกหลายอย่าง
  7. จุดเกาะเกี่ยวของพี่ป๊อกมีอะไรบ้าง
    • อาวุธทางปัญญาคือจุดเกาะเกี่ยวที่สำคัญ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ถ้าได้ภาษา ถ้าช่วยตัวเองไปไหนมาไหนได้ (หรือมีใบขับขี่) รู้จักหน่วยงานช่วยเหลือท้องถิ่น มีความรู้วิชาชีพ มีทักษะบริหารการเงิน รู้จักการเก็บออม คือสิ่งที่ทำให้เราสามารถเกาะเกี่ยวกับสังคมใหม่ได้อย่างไม่ขัดเขิน ภาษายังเป็นเครื่องมือสื่อสารทรงพลังกับคู่สมรสที่เป็นจุดเกาะเกี่ยวแท้จริงของหลายคน
    • ความเป็นพลเมืองหรือเอกสารประจำตัว เรื่องหญ้าปากคอกที่เรามักมองข้าม เราเติบโตมาในสังคมหนึ่งพร้อมกับเอกสารรับรองตัวที่ได้มาตามเวลาและอายุ ซึ่งเป็นไปอย่างช้า ๆ นั่นคือจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐกำเนิดหรือความเป็นพลเมือง แต่ทันทีที่เราไปสู่ประเทศใหม่ เราต้องเริ่มต้นเอกสารแสดงตัวตนใหม่ทั้งหมดในทีเดียว เพื่อสร้างจุดเกาะเกี่ยวในรัฐปลายทาง วีซ่าชนิดต่าง ๆ บัตรพำนักอาศัย ทะเบียนครอบครัว สัญญาจ้างงาน การประกันสุขภาพ ใบเกิดของลูก การต่อพาสปอร์ตหรือบัตรประชาชนของตนเอง การถือสองสัญชาติ การเกณฑ์ทหารของลูกชาย การนำลูกมาอยู่ด้วยในต่างประเทศ สิทธิอาศัยในบ้านของครอบครัว ใบขับขี่ วุฒิบัตรการศึกษา งานเอกสารเป็นเรื่องยากมหาศาลเมื่อเป็นภาษาที่เราไม่คุ้นเคย และต้องทำให้เสร็จในช่วงเวลาอันสั้น … เหมือนว่ายน้ำในมหาสมุทร สรุปว่า หากงานเอกสารประจำตัวของเราเรียบร้อย จุดเกาะเกี่ยวในประเทศใหม่ของเราก็มั่นคงไปด้วย  
    • กลุ่มทางสังคมหรือจุดเกาะเกี่ยวทางใจ คนไทยรักการรวมกลุ่ม มีความสนุกสนาน และเป้าหมายที่จะทำอะไรดี ๆ ร่วมกัน สังคมไทยในต่างแดนมีการจัดตั้งกลุ่ม องค์กร โรงเรียน สโมสร สมาคม สมาพันธ์ฯ ในหลายลักษณะ เป็นศูนย์รวมใจ รวมความรู้ และให้ความช่วยเหลือยามจำเป็น เป็นบ้านที่เราจะได้พบเพื่อน และพบตัวเอง การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเหล่านี้ช่วยให้คนไทยด้วยกันมีจุดเกาะเกี่ยวที่มีความหมายในรัฐประเทศใหม่ เครือข่ายหญิงไทยในยุโรปคือหนึ่งในกลุ่มทางสังคมเช่นที่ว่า เป็นที่รวมของหญิงไทยและชาวไทยในยี่สิบประเทศ ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกาและประเทศไทย เครือข่ายฯยืนหยัดฯมาถึง ๒๐ ปี เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าจุดเกาะเกี่ยวนี้คือ “บ้านทางใจ” ที่มีความหมายของหญิงไทยและชาวไทยในต่างแดน
    • กิจกรรมทางภาษา อาชีพ สังคม และวัฒนธรรม เป็นจุดเกาะเกี่ยวที่มีพลัง แต่เรามักจะไม่ให้ความสนใจเพราะต่างต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกับชีวิตใหม่ กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจบ้านใหม่ ได้แสดงอัตลักษณ์ของเราให้เจ้าของประเทศรู้จักในขณะเดียวกัน แต่เป็นจุดเกาะเกี่ยวที่เราต้องลงทุน แรง และเวลา เพื่อให้ให้เกาะติด โรงเรียนภาษาทำให้เราได้เพื่อนหลากหลายชาติ และได้เรียนรู้จุดเกาะเกี่ยวที่หลากหลาย ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งเรากับเพื่อนร่วมชั้นเรียนอาจกลายมาเป็นเพื่อนซี้หรือหุ้นส่วนทางธุรกิจ งานวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ที่คนไทยในต่างแดนเข้าร่วมได้ เช่น งานเทศกาล งานบุญกฐินผ้าป่า งานออกร้าน งานประกวด งานการกุศล หรืองานจิตอาสาในรูปแบบใด ๆ กลุ่มทางสังคมนี้ ถือว่าเป็น “บ้านทางใจ” ได้ผูกพันความเป็นไทยไว้ด้วยกัน ขณะที่ก็ทำให้คนในครอบครัวเราได้รู้สึกมิติของคนไทยได้ลึกซึ้งขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน เราก็ไม่ควรเกาะติดเฉพาะกิจกรรมของคนไทย แต่ต้องเข้าร่วมและซึบซับกิจกรรมของชุมชนเจ้าของบ้านด้วย
    • หน่วยงานของรัฐที่พึ่งได้ ทั้งในบ้านเกิดและบ้านใหม่ การเข้าถึงสถานทูต สายด่วน บ้านพักพิง
    • ความรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ สมัยนี้ทุกคนใช้โซเชียลมีเดียได้ แต่ “ใช้เป็น” หรือเปล่า สื่อออนไลน์คือจุดเกาะเกี่ยวที่สำคัญของคนทั่วโลกที่ต้องการรักษาสายใยเพื่อนฝูง ครอบครัว หน้าที่การงาน เป็น “บ้านเสมือนจริง” และใช้เวทีนี้ในการสร้างตัวตน (identity) ทำมาหากินในรูปแบบทั้งสุจริตและทุจริต ดังนั้นความรู้เท่าทันและใช้สื่อให้เป็นคุณจึงเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่สำคัญ ไม่ใช่นั้นเราจะกลายเป็นผู้ที่ถูกสื่อออนไลน์เกาะเหมือนปลิงที่ดูดความมีชีวิตชีวาไปจากเรา เนื่องจากการเสพสื่อดราม่าหรือข่าวมอมเมาแบบต่าง ๆ
  8. พี่ป๊อกมองภาพระยะยาวของหญิงไทยหลายบ้านอย่างไร
    • เราจำเป็นต้องมีหรือต้องสร้าง Support System ในทุกบ้านที่เราเชื่อมโยง ซึ่งเป็นระบบช่วยเหลือทั้งเรื่องบ้านช่องห้องหอ สุขภาพอนามัย เอกสาร หรือ กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน (peer support)
    • พี่ป๊อกเคยพูดถึงคำ ๆ นี้ในการประชุมสามัญประจำปีของเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป ปี ๒๐๑๖ ที่กรุงออสโล คือ คำว่า “ทันสมัยแต่ไทยเสมอ” ด้วยแรงบันดาลใจว่าเราสามารถรับเอาความทันสมัยในโลกตะวันตกมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพื่อให้เรามีจุดเกาะเกี่ยวกับบ้านใหม่ และขณะเดียวกันเราก็ยังดำรงความ “ไทยเสมอ” เพื่อให้เรายังเกาะเกี่ยวกับบ้านเดิมของเรา ลดความแปลกแยกไม่ว่าจะอยู่ที่นี่หรือเมื่อกลับบ้าน
    • การปรับตัวสู่ความทันสมัยคืออะไร การรู้จักระบบสวัสดิการ ความเป็นพลเมือง สิทธิและหน้าที่ประชาชน การเลี้ยงลูกแบบตะวันตก แนวคิดความเท่าเทียมกันของประชาชน การไม่แบ่งแยกบุคคลด้วยอาชีพ สีผิด เชื้อชาติ ความภูมิใจในสังคมที่หลากหลาย การเข้าใจระบบโรงเรียน ระบบจราจร การใช้บริการสาธารณะ การติดต่อหน่วยงานรัฐ ไปจนถึงการแต่งตัวให้เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศ และทานอาหารที่เหมาะสมกับฤดูกาล และการใช้สื่อออนไลน์ใหม่ ๆ เป็นการรู้เท่าทันโลกรอบตัว การรู้จักกรองข่าวจริงข่าวลวง ไปจนถึงการรู้จักเผชิญหน้าและรักษาสิทธิของตัวเอง
    • การรักษาความไทยเสมอ คือ อะไร คือ เป็นคนไทยอย่างที่เราเป็น เราอาจมาจากภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ หรือชาติพันธุ์ เราก็ดำรงความเป็นเรา ด้วยเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประจำ ของแต่งบ้าน ความเป็นเจ้าบ้านที่อบอุ่น ความเอื้ออารี มีจิตอาสาทำเพื่อผู้อื่น ความอ่อนโยนสุภาพ ความโอภาปราศรัย การไม่ทำให้ใครเสียหน้า การปฏิเสธแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น รอยยิ้มอันน่าประทับใจ ฝีมือและอาชีพอันประณีต เช่น นวดไทย อาหารไทย งานศิลปะประดิษฐ์ งานฝีมือ งานเสริมสวย งานดูแลผู้ป่วยหรือคนชรา ที่คนไทยทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ และที่สำคัญคือ การไม่ลืมภาษาไทย สามารถใช้ได้อย่างถูกต้องเสมอ ไม่ว่าจะพูดได้อีกกี่ภาษาก็ตาม
    • เราต้องค้นหาและรู้จัก the best version of myself เราอาจเป็นแม่ เป็นภรรยา เป็นสามี เป็นคู่ชีวิต เป็นญาติ เป็นครูเป็นนักเรียน เป็นหัวหน้าเป็นลูกน้อง เป็นนักวิชาชีพ เป็นคนใช้แรงงาน เป็นจิตอาสา เป็นผู้ประสบทุกข์ เราต่างเข้าใจบทบาทหน้าที่อย่างไร และมันช่วยเราเกาะเกี่ยวกับบ้านแต่ละหลังของเราอย่างไร เราอาจไม่เก่งในทุกบทบาท แต่จะมีจุดที่เรารู้ว่าใช่และภูมิใจได้เสมอ ขอให้เชื่อว่าการรู้จักจุดเกาะเกี่ยวของตัวเองจะทำให้เรามีที่ยืนในทุกสังคม
  • สรุป บ้านของเรามีหลายความหมาย บ้านเรามีหลายหลังไม่ว่าเราจะอยู่ในพื้นที่ประเทศเดียวหรือหลายประเทศ เราไม่จำเป็นต้องรวยที่จะมีบ้านหลายหลัง แต่เราต้องมีจุดเกาะเกี่ยวที่มีความหมายกับบ้านทุกหลัง นั่นคือ การมีอาวุธทางปัญญา การแม่นยำในเรื่องเอกสารประจำตัว การเชื่อมโยงกับสิ่งรอบตัวอย่างฉลาด การสร้างเครือข่ายทางสังคมที่หลากหลาย การใช้ชีวิตที่สมดุลและเพียงพอ และรู้จักตัวเอง เป็นตัวเองอย่างดีที่สุดท่านที่เราจะเป็นได้ ตามศักยภาพที่เรามี

สรุปโดย

พี่ป๊อก จงเจริญ ศรแก้ว (คนหลายบ้านคนหนึ่ง)

บ้านธิ วันเสาร์ที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๕

Message us