Sanphasit Koompraphant
Photo credit: Christian the Lion
เคยเขียนบทความเกี่ยวกับวิธีเลี้ยงลูกวัยรุ่นมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ แต่ระยะนี้สังคมไทยก็ยังมีประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กวัยรุ่น จึงได้ปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาให้ทันเหตุการณ์ขึ้นมาแบ่งปันกัน แม้ว่าจะเลยวันเยาวชนแห่งชาติมาเกือบสองอาทิตย์แล้วก็ตามครับ
“เลี้ยงลูกด้วยความรักความเข้าใจ”
ผู้เขียน : นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์
ในนิตยสาร Reader’s Digest ฉบับภาษาไทยของเดือนมกราคม ๒๕๕๓ ได้เล่าเรื่องของสิงโต Christian the Lion ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างคริสตทศวรรษที่ ๖๐ ต่อกับ ๗๐ โดยชายชาวออสเตรเลียสองคนได้ซื้อลูกสิงโตนำมาเลี้ยงดู ราวกับว่ามันเป็นสมาชิกผู้หนึ่งของครอบครัวที่คนทั้งสองอยู่ร่วมกันในชุมชนแห่งหนึ่งของกรุงลอนดอน จนกระทั่งมันเติบใหญ่เกินกว่าที่จะอยู่ร่วมในสังคมมนุษย์ เขาทั้งสองบังเอิญได้ติดต่อกับ George Adamson ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สิงโตผู้ทำให้เกิด Born Free Foundation เพื่อนำมันไปปล่อยในป่าของประเทศเคนยา หลังจากนั้นอีกหนึ่งปีเขาทั้งสองเดินทางไปที่ป่าเพื่อเยี่ยม Christian แรกพบกันมันยังไม่มั่นใจว่าชายทั้งสองเป็นใคร จนเมื่อพวกเขาร้องเรียก มันรีบวิ่งเข้ามากอดรัดใช้ใบหน้าซุกไซร้ตามใบหน้าของชายทั้งสองด้วยความดีใจ อีกทั้งยังนำลูกเมียมาแนะนำให้รู้จักด้วย แน่นอนว่า Christian ย่อมไม่ปฏิบัติเช่นนี้กับมนุษย์ทุกคน หากท่านใดต้องการเห็นภาพเหตุการณ์ที่ได้บันทึกไว้ แล้วเผยแพร่อยู่ใน Internet ก็เพียงแต่ค้นหาจากคำว่า Christian the Lion
Christian the Lion บอกให้เรารู้ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมทั้งมนุษย์ สามารถสร้างความรักและผูกพันที่มั่นคงระหว่างกันได้ สิงโตไม่มีสมองส่วนหน้า (Frontal Loaf หรือ Cerebral cortex) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการใช้เหตุผล จำแนกความผิดถูกชั่วดี คิดวิเคราะห์ วินิจฉัย วางแผน และควบคุมตนเอง มันจึงไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองด้วยกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมเหมือนมนุษย์ พฤติกรรมของมันจะถูกกำหนดโดยสมองส่วนกลาง (Limbic System) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ จำแนกแยกแยะโดยสัมพันธ์กับอารมณ์ว่าสิ่งนี้น่ารัก น่าเกลียด ชอบ น่าโกรธหรือกลัว รวมทั้งโดยสมองดึกดำบรรพ์ (Hypothalamus หรือ Reptile) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตพื้นฐาน เช่น กิน นอน สืบพันธุ์ ต่อสู้ หนี เลี้ยงลูก ฯลฯ ดังนั้นพฤติกรรมของสิงโตถูกกำหนดโดยสมองเพียงสองส่วนซึ่งไม่มีการใช้เหตุผลหรือใคร่ครวญไตร่ตรองก่อนกระทำการใดๆ
การที่ Christian กับชายชาวออสเตรเลียสองคน มีความรักผูกพันระหว่างกันได้ ย่อมเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ชายสองคนได้เลี้ยงดู Christian อย่างใกล้ชิด ด้วยการสอนและกระตุ้นพัฒนาการ อย่างมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นการเล่น การกิน ทำกิจวัตรส่วนตัว การใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุข ให้ความยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ชายทั้งสองไม่ได้ใช้วิธีการเลี้ยงสิงโตแบบนักเล่นละครสัตว์ (Circus) ซึ่งใช้วิธีการให้รางวัลและลงโทษ โดยมือของผู้เลี้ยงดูจะมีเนื้อสดและแส้ (ภาษาอังกฤษใช้สำนวนเรียกว่า Carrot and Stick) เราคงจะเคยเห็นเหตุการณ์ที่ผู้เลี้ยงดูเหล่านี้ มักจะถูกสิงโตทำร้ายและหากผู้เลี้ยงดูเหล่านี้ต้องไปพบสิงโตที่เคยเลี้ยงในป่าโดยไม่มีอาวุธ คงคาดเดาได้โดยง่ายว่าเขาจะถูกสิงโตฆ่าอย่างแน่นอน เพราะการให้รางวัลไม่ได้สร้างความรักผูกพันระหว่างสิงโตกับผู้เลี้ยง สิงโตเพียงต้องการกินเนื้อหากปฏิบัติตามคำสั่งก็จะได้กิน เช่นเดียวกันกับการลงโทษ ไม่ได้ทำให้สิงโตสามารถเรียนรู้จักผิดชอบชั่วดี(เพราะมันไม่มีสมองส่วนหน้าแบบมนุษย์ ถึงมี การลงโทษก็ไม่ได้สอนอะไรเช่นกัน) เพียงแต่มันกลัวจะถูกทำร้ายหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคนเลี้ยง ถ้าหากคนเลี้ยงไม่มีอาวุธอยู่ในมือ นอกจากสิงโตจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งแล้วมันอาจจะฆ่าหรือทำร้ายอีกด้วย
เรื่องของ Christian จึงเป็นอุทาหรณ์อันดีสำหรับพ่อแม่ว่า การเลี้ยงลูกด้วยการสอนและกระตุ้นพัฒนาการอย่างมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นการเล่น การกิน ทำกิจวัตรส่วนตัว การใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุข ให้ความยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ย่อมทำให้ลูกมีพฤติกรรมที่ดีและสร้างความรักผูกพันที่แน่นแฟ้นระหว่างพ่อแม่กับลูกได้อย่างแน่นอน ไม่ใช่การให้รางวัลและลงโทษลูก
นอกจากเรื่องราวของ Christian the Lion ที่เผยแพร่อยู่ในInternet แล้ว ยังมี Video clips อีกสองเรื่อง คือ โฆษณาของไทยประกันชีวิตเมื่อปี ๒๕๔๘ ชุด Daddy และโฆษณาของกะทิชาวเกาะชุดสุขที่บ้านเรา ที่มีการเผยแพร่อยู่ใน Internet ซึ่งสามารถบอกอะไรดีๆ แก่เราเกี่ยวกับเด็กและครอบครัวได้
สำหรับโฆษณาชุด Daddy เป็นสปอตของไทยประกันชีวิต เกี่ยวกับเรื่องของพ่อผู้เลี้ยงลูกตามลำพัง (Single Dad) พ่อผู้เรียกร้องว่า “ผมอยากให้มีเวลามากกว่านี้ เวลาที่จะบอกลูกผมว่า ผมรักเขามากที่สุดในโลก อยากใช้เวลาเข้าใจเขามากกว่านี้ อยากฟังในสิ่งที่เขาอยากพูด อยากคุย อยากฟังเพลงของเค้า อยากขอโทษ ก็อย่างที่ผมบอก ผมอยากมีเวลามากกว่านี้ เวลาที่จะได้ทำในสิ่งที่ผมยังไม่ได้ทำ เวลาที่จะรักและดูแลเขามากกว่านี้” ภรรยาของเขาตายเมื่อลูกชายยังอยู่ในช่วงปฐมวัย เขาจึงต้องเลี้ยงลูกแต่เพียงลำพัง เขาไม่เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของลูกและเลี้ยงลูกด้วยความเข้มงวด เขาอยากให้ลูกเข้มแข็งจึงไม่ได้ให้ลูกพึ่งพิงทางจิตใจ (Emotional Support) เท่าที่ควร
เห็นจากเหตุการณ์ที่ลูกเริ่มเข้าโรงเรียนอนุบาล เด็กทุกคนย่อมมีความทุกข์จากการแยกจาก แต่เขาก็ยืนอยู่ห่างๆลูก ยื่นกระเป๋านักเรียนให้เพื่อให้ลูกไปโรงเรียนโดยไม่บิดพลิ้ว ตอนลูกอยู่ชั้นประถมหัดถีบจักรยาน จักรยานล้มลูกร้องไห้ เขาก็ยืนห่างๆแล้วกวักมือให้ลูกลุกขึ้นโดยไม่ช่วยประคองหรือปลอบโยน เขาต้องการให้ลูกทำตัวเป็นลูกผู้ชายที่เข้มแข็ง เวลากินข้าวด้วยกันก็เหินห่างไม่พูดคุยสื่อสารกับลูก เมื่อลูกเป็นวัยรุ่น ลูกชายเริ่มคบเพื่อนร่วมกันเล่นดนตรีซึ่งเป็นพัฒนาการตามวัยของวัยรุ่นและน่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะดนตรีเป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาสมองและพฤติกรรมได้ แต่เขาไม่พอใจเข้าใจว่าลูกไปมั่วสุมกับเพื่อนๆไม่เรียนหนังสือ เขาไล่ลูกออกจากบ้าน ลูกโกรธฟาดกีตาร์โปร่งกับโต๊ะจนกีตาร์หัก ซึ่งภายหลังพ่อนำมาประกอบวางเก็บไว้ที่ข้างโต๊ะทำงานของลูก เพื่อไว้ดูต่างหน้าลูกด้วยความเสียใจที่ได้ปฏิบัติต่อลูกเช่นนั้นด้วยอารมณ์ชั่ววูบ
ต่อมาวันหนึ่งลูกเขาประสบความสำเร็จเป็นนักดนตรีอาชีพ สามารถผลิตแผ่นซีดีขายแล้วเปิดการแสดงครั้งแรก ลูกส่งบัตรเชิญสำหรับแขกผู้มีเกียรติมาให้เขา เพื่อให้ไปนั่งชมที่แถวหน้า เขาจึงนำบัตรเชิญวางไว้ที่เบาะรถยนต์ข้างคนขับแล้วขับรถยนต์เพื่อไปแสดงความยินดีต่อความสำเร็จของลูก ช่วงที่กำลังขับรถ เขาเหลือบตามองบัตรเชิญแล้วนึกถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ระหว่างเขากับลูกด้วยความเสียใจ ทันใดนั้นรถที่เขาขับมาก็ชนประสานงากับรถบรรทุก ในวินาทีนั้นเองความคิดของเขาก็หลั่งไหล หากทำได้เขาอยากแก้ตัว เขาจะอุ้มปลอบลูกในวันส่งลูกเข้าเรียนอนุบาล เขาจะรีบเข้าไปประคองเมื่อลูกถีบจักรยานล้มลงแล้วปลอบโยน เขาจะพูดคุยสื่อสารกับลูกขณะกินข้าวและเขาจะร่วมร้องเพลงอย่างสนุกสนานไปกับลูกขณะที่เล่นดนตรี นั่นคงจะทำให้เขาสามารถไปนั่งเชียร์ลูกที่แถวหน้าได้อย่างเต็มความภาคภูมิใจ
แต่อนิจจาที่วินาทีนั้นเองที่นาฬิกาข้อมือของเขาแตกกระจายเพราะแรงปะทะของรถทั้งสองคัน นั่นหมายถึงว่าเวลาในชีวิตของเขาได้หมดลงแล้ว เขาไม่มีโอกาสแก้ไขอะไรอีกแล้ว หากว่าเขาได้ดู Video clip เกี่ยวกับ Christian the Lion ก่อนหน้านี้ เขาอาจจะไม่ตายเพราะไม่ต้องขับรถขณะที่มีความทุกข์กังวลเกี่ยวกับสิ่งที่เขาปฏิบัติต่อลูก โดยเขาย่อมตระหนักต่อวิธีการเลี้ยงลูกที่ถูกต้องตั้งแต่แรก ด้วยการสอนและกระตุ้นพัฒนาการอย่างมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นการเล่น การกิน ทำกิจวัตรส่วนตัว การใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุข ให้ความยึดเหนี่ยวทางจิตใจ อีกทั้งยังจะช่วยให้เขาคิดได้แบบเดียวกับวินาทีใกล้ตายโดยไม่ต้องทำผิดพลาดเสียก่อน
เรื่องที่สามเป็นโฆษณาของกะทิชาวเกาะชุด สุข..ที่บ้านเรา โดยมีเพลงประกอบชื่อบ้านของเรา ร้องโดยสุเมธ องอาจ ใช้ทำนอง Piano Sonata ของ Beethoven เป็นเรื่องของชายหนุ่มที่ถูกยื่นซองขาวเลิกจ้าง เขาเดินทางจากในเมืองกลับไปบ้านซึ่งน่าจะเป็นชานเมืองย่านธนบุรี นนทบุรีหรือปทุมธานี เป็นบ้านอยู่ติดลำคลองที่ยังมีการสัญจรทางน้ำ เขารู้สึกเครียดที่ตกงานจนหน้าตาเคร่งเครียด แต่พอมาถึงบ้านเขากลับยิ้มได้อย่างเบิกบานเพราะแม่และหลานๆ โผเข้ามากอดทักทายอย่างดีใจที่ได้พบหน้าเขา
ไม่มีใครพูดถึงเรื่องที่ทำให้เขาต้องกลับมาอยู่ที่บ้านสักคำเดียว แม่จัดแจงปรุงแกงเขียวหวานลูกชิ้นปลาของโปรดมาตั้งให้อย่างรู้ใจ นอกจากนั้นหลานๆยังช่วยกันไปตัดกล้วยน้ำว้ามาให้แม่ของเขาทำกล้วยบวชชีเลี้ยงต้อนรับอีกด้วย พวกเขากินกันอย่างเอร็ดอร่อยมีความสุข หลานๆก็คลุกคลีเล่นหัวกับเขาอย่างมีความสุขสนุกสนาน ทำให้เขามีแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะอย่างตรงกันข้ามกับภาวะของการว่างงาน ตอนเช้ามืดแม่ได้ทำห่อหมกและหุงข้าวให้เขาช่วยตักบาตรพระที่พายเรือมาบิณฑบาต จบท้ายด้วยครอบครัวนั่งเล่นกันที่ท่าน้ำและมีรูปน้ำกะทิเป็นวงหัวใจ
สำหรับเนื้อร้องเพลงประกอบก็ช่วยเสริมประเด็นครอบครัวได้เป็นอย่างดีว่า บ้านคือหวัง คือพลัง..ชีวิตไปข้างหน้า…. เสียงร้องของสุเมธมีพลัง ประกอบกับท่วงทำนองที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว ยิ่งทำให้โฆษณาชิ้นนี้ทรงคุณค่าเหลือเกิน เพราะช่วยนำทางให้เราเห็นแล้วว่า การแสดงความเอื้ออาทร ปลอบประโลมใจและให้กำลังใจแก่สมาชิกครอบครัวนั้น สามารถปัดเป่าความทุกข์ร้อนความเครียดความกังวลใจไปได้โดยสิ้นเชิง สิ่งนี้ทำให้บ้าน(ครอบครัว)ก็คือชีวิตทางสังคมที่สำคัญที่สุดของเรา
หากเป็นครอบครัวทั่วๆไปจำนวนมากคงจะใช้วิธีต้อนรับอีกแบบหนึ่ง เช่นถามว่า “กลับมาทำไม โดนเขาไล่ออกแล้วเหรอ ท้ายสุดก็ไปไม่รอดต้องกลับมาตายรัง” หากใครเจออย่างนี้คงไม่อยากกลับบ้าน โฆษณาสั้นๆชิ้นนี้ทำให้เกิดความเข้าใจต่อสภาพครอบครัวที่พึงปรารถนาได้ดีเหลือเกิน
เหมือนเพลง Back Home Again ของ John Denver ที่ได้กลับถึงบ้าน ขณะที่อากาศนอกบ้านหนาวเหน็บ แต่เมื่อเข้าบ้านมาก็เห็นไฟลุกในเตาผิง อาหารอุ่นอยู่บนเตา (รู้สึกอุ่นกาย) แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือประกายในดวงตาของภรรยาที่มาต้อนรับ ทำให้เขารู้สึกอบอุ่นใจ สิ่งเหล่านี้ทำให้บ้านกลายเป็นครอบครัวและทำให้เกิดความรู้สึกดีๆที่ได้กลับบ้าน(ครอบครัว)อีกครั้ง (It is the little things that make a house a home….Hey, it is good to be back home again) เราจงมาช่วยกันทำให้บ้านกลายเป็นครอบครัวกันเถอะครับ
ความสุขในครอบครัวนั้นเกิดขึ้นได้ หากทุกครอบครัวกลับมาใช้ชีวิตครอบครัวร่วมกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุข รับฟังช่วยกันประคับประคองและเป็นที่พึ่งทางใจให้กันและกัน เมื่อยามที่สมาชิกในครอบครัวรู้สึกไม่สบายใจก็ปลอบประโลมใจด้วยความรักและเข้าใจ
ในครอบครัวที่ขาดบรรยากาศแห่งความรัก ความเข้าใจและความผาสุกดังกล่าวข้างต้น มัจะพบปัญหาจากการที่เด็กๆยอมรับการค้าประเวณีเป็นอาชีพ หรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมอื่นๆเพราะเด็กๆขาดการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครอง สามประเด็นด้วยกันคือ
๑. กระตุ้นพัฒนาการตามวัยโดยเฉพาะเรื่องเพศที่เมื่อเด็กวัยรุ่นนึกถึงเรื่องเพศมีแต่เรื่องการร่วมเพศ โดยผู้ปกครองไม่เตรียมความพร้อมหรือแนะนำให้เด็กวัยรุ่น รู้จักดูแลสุขภาพด้านเพศ เช่นความสะอาดของร่างกายกลิ่นตัว ภาวะการปวดท้องช่วงมีประจำเดือน ภาวะทางอารมณ์ที่อาจซึมเศร้า ว้าวุ่นใจ วิตกกังวลใจโดยเฉพาะรูปร่างหน้าตาเครื่องแต่งกายทรงผม ความสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ที่จะเร้าอารมณ์เพศจนควบคุมตัวเองไม่ได้ การหลีกเลี่ยงหลบหนีจากสถานการณ์นั้นๆ การทำกิจกรรมทดแทนการร่วมเพศ การเข้าสังคมซึ่งสามารถปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมกับบุคคลต่างเพศและต่างวัย ชักชวนทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อทำให้เด็กมีความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นหรือมีอารมณ์ร่วม (Empathy) กับผู้อื่นและพัฒนาทักษะต่างๆในการดำเนินชีวิตและการเข้าสังคม
๒. ผู้ปกครองไม่ถ่ายทอดทักษะต่างๆ เช่น ทักษะชีวิต ทักษะการจัดการปัญหา ทักษะในการใช้จ่ายเงิน การออม การลงทุน โดยเฉพาะทักษะในการกำหนดเป้าหมายชีวิตและวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมาย ฯลฯ
๓. ไม่ชี้แนะแนวทางชีวิตให้แก่เด็ก โดยเฉพาะไม่สามารถถ่ายทอด Role model ในการวางตนกำหนดขอบเขตที่เหมาะระหว่างตนเองกับผู้อื่นทั้งทางร่างกาย จิตใจและสังคม
ที่สำคัญคือปล่อยเด็กไว้กับ Smartphone, Computer ทำให้เด็กรับรู้เกี่ยวกับโลกเสมือนจริงใน Social media ว่าเป็นโลกแห่งความจริง จึงมีความสามารถต้านทานต่อ Social media peer group pressure น้อยมาก
พฤติกรรมของเด็กวัยรุ่นที่มักจะท้าทายกฎหมายและกระทำการเสี่ยงอันตราย เช่น การขับจักรยานยนต์แข่งกันทางถนนหลวง การมั่วสุมดื่มสุราเสพยาเสพติด ฯลฯ มีเหตุปัจจัยที่ไปกำหนดพฤติกรรมเช่นนี้ของวัยรุ่นคือ
๑) วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่สำคัญสองสามประการกล่าวคือ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจแบบก้าวกระโดดคือการเปลี่ยนสภาวะจากเด็กไปเป็นผู้ใหญ่ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายคือมีฮอร์โมนเพศเริ่มทำงาน ดังนั้นเขาจะเกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับเพศสภาพของตนเอง มีอารามณ์เพศ มีความสนใจเกี่ยวกับเพศตรงข้าม(ของเพศสภาพของตน) และต้องการเป็นที่สนใจของเพศตรงกันข้ามในขณะเดียวกัน
ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือสมองส่วนหน้าของเขาจะพัฒนาแบบก้าวกระโดด สมองส่วนหน้า (Frontal Loaf หรือ Cerebral cortex) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการใช้เหตุผล คิดวิเคราะห์ วินิจฉัย วางแผน แยกแยะผิดถูกชั่วดี และควบคุมตนเอง ช่วงวัยรุ่นจึงเป็นช่วงที่เขาต้องค้นหาอัตลักษณ์ (Identity) ของตนเองโดยมีทั้งศักยภาพของสมอง (Nature) และ สังคมแวดล้อม (Nurture) ซึ่งจะช่วยให้เขาค้นพบอัตลักษณ์ที่เหมาะในการเป็นผู้ใหญ่ของตน
ทั้งนี้สังคมแวดล้อมโดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครอง กลุ่มเพื่อนๆและครู จะมีอิทธิพลมากที่สุดต่อเด็กวัยรุ่น ความรู้ว่าสังคมแวดล้อมจะมีส่วนช่วยให้เขามีพัฒนาการที่ดีได้จะทำอย่างไร มีหนังสือเล่มหนึ่งที่อธิบายเรื่องนี้ไว้ได้อย่างดียิ่ง คือ Secrets of the Teenage Brain: Research-Based Strategies for Reaching and Teaching Today’s Adolescents Kindle Edition by Sheryl G. Feinstein (Author), Eric Jensen (Foreword, Contributor) สามารถตอบโจทย์การพัฒนาวัยรุ่นได้อย่างดี ราคาราวๆสี่ร้อยกว่าบาท แต่มีเนื้อหาคุ้มค่ายิ่งกว่าคุ้มเพราะผู้เขียนได้นำเอางานวิจัยล่าสุดที่ได้รับการยอมรับ ในวงวิชาการเกี่ยวกับสมองและการเรียนรู้ของวัยรุ่นไว้อย่างครบถ้วนครับ
โดยเฉพาะการพัฒนาสมองส่วนหน้าจะเป็นไปอย่างก้าวกระโดดของกระบวนการรู้คิดที่เรียกว่า Cognitive Processes ซึ่งประกอบด้วย การมีสมาธิ (Attention) ความจำ (Memory) การคิดวิเคราะห์ วินิจฉัย การประมวลผลหาข้อสรุป การวางแผนไตร่ตรอง การจำแนกผิดถูกชั่วดี การคิดคำนวณชั่งน้ำหนักในเรื่องต่างๆ (Executive Function) และวุฒิภาวะทางสังคม (Social Cognition) คือการคิดวิเคราะห์ วินิจฉัย การประมวลผลหาข้อสรุปเกี่ยวผู้คนและสังคมในการกำหนดความสัมพันธ์ของตนเองกับผู้อื่น แต่มีเงื่อนไขว่าถ้าวัยรุ่นไม่ได้พัฒนาในเรื่องที่กล่าวมา ย่อมทำให้วัยรุ่นผู้นั้นเสียโอกาสในการพัฒนาความสามารถในการรู้จักคิด(Cognitive Development) และ การพัฒนาด้านจิตสังคม (Psycho Social Development)
๒) จากประเด็นข้างต้นนำไปสู่การสรุปว่า เด็กวัยรุ่นต้องการการชี้แนะแนวทางชีวิตและการกำหนดขอบเขตที่เหมาะสมระหว่างตนเองกับผู้อื่น (Guidance and boundary) ไม่ใช่การสั่งสอนหรืออบรมสั่งสอน (Preaching) แต่ปัญหาก็คือพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนมากจะเน้นการอบรมสั่งสอน ทั้งที่วัยรุ่นต้องการเรียนรู้ทักษะต่างๆโดยเฉพาะทักษะสังคมและทักษะการจัดการปัญหาจากพ่อแม่ในการร่วมใช้ชีวิตประจำวัน แล้วรับการถ่ายทอด Role Model จากพ่อแม่ทั้งในครอบครัว ชุมชนและสังคมใหญ่ หากสอบถามวัยรุ่นจำนวนมากว่าใครเป็น Idol ของพวกเขา คำตอบส่วนใหญ่มักเป็นพ่อแม่ อีกทั้งพ่อแม่ก็ไม่ค่อยได้ใช้ชีวิตร่วมกันกับวัยรุ่นมากนักและเหินห่างจากลูกวัยรุ่นมากกว่าวัยอื่น ด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าวัยรุ่นสามารถรับผิดชอบเรื่องต่างๆโดยเฉพาะเกี่ยวกับตนเองได้เหมือนกับผู้ใหญ่แล้ว
ทั้งนี้พ่อแม่มักมองว่าลูกวัยรุ่นไม่ค่อยยอมรับฟัง(คำสั่งสอนของ)ตนซึ่งเป็นความจริงเพราะวัยรุ่นต้องการคิดวิเคราะห์ใคร่ครวญเรื่องต่างๆด้วยตนเองอันเป็นผลมาจากการพัฒนาของสมองส่วนหน้า ยิ่งกว่านั้นคือพ่อแม่จำนวนมากแก่กว่าลูกเพียงราว ๑๕-๑๖ ปี จึงไม่มีทักษะในการเลี้ยงลูกนักเมื่อตนกลายเป็นพ่อแม่ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
๓) กระบวนการทางการศึกษาของเราไม่ได้ช่วยพัฒนาความรู้จักคิด (Cognitive Development) ของวัยรุ่น ดังกล่าวมาแล้วว่าสมองเด็กวัยรุ่นเป็นช่วงที่ การพัฒนาการรู้จักคิด(วิเคราะห์วินิจฉัย) (Cognitive Development) เป็นไปอย่างก้าวกระโดด ภายใต้การครอบงำของสมองส่วนอารมณ์ (Limbic system/Mid brain) ซึ่งมีหน้าที่จำแนกอารมณ์ต่างๆ โกรธ เกลียด รัก ชอบ ฯลฯและเป็นฐานข้อมูลในการตอบโต้ต่อสิ่งเร้าอารมณ์ เพราะสมองส่วนอารมณ์ บรรลุวุฒิภาวะก่อนสมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) ซึ่งรองรับกระบวนการรู้คิดที่เรียกว่า Cognitive Processes เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น หากผู้ใหญ่แวดล้อมไม่กระตุ้นการพัฒนาการรู้จักคิด วิเคราะห์วินิจฉัย (Cognitive Development) แล้ว ย่อมทำให้เด็กตัดสินใจกระทำการหรือไม่กระทำการตามอารมณ์ โดยจะมีอารมณ์รุนแรงเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะเด็กชายจะมีความก้าวร้าวซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมนเพศชาย หรือในช่วงที่เด็กหญิงใกล้มีประจำเดือนเพราะมีอารมณ์แปรปรวน จิตใจหดหู่เป็นพื้นอยู่แล้ว สรุปคือลักษณะของการพัฒนาสมองในกลุ่มวัยรุ่น ได้บ่งชี้ว่าเด็กกลุ่มนี้ยังมีความสามารถ ในกระบวนการรู้คิด(Cognitive abilities) ไม่เพียงพอ ที่จะควบคุมอารมณ์และยับยั้งพฤติกรรมของตนเอง ดังนั้นจึงเกิดความเสี่ยงที่เด็กกลุ่มนี้จะใช้ยาเสพติด การดื่มสุรา หรือมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร รวมทั้งเด็กวัยนี้จะมองสิ่งรอบๆตัวอย่างด้านเดียวตายตัว ทำให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาความสามารถรู้คิดของตน
การพัฒนาพฤตินิสัยที่สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจและการเปลี่ยนแปลงทางสมองของเด็กกลุ่มนี้ได้ดีที่สุด คือ กิจกรรมต่างๆที่จะกระตุ้นกระบวนการรู้คิด (Cognitive Development) ของเด็ก ให้มีวิจารณญาณ สามารถวินิจฉัยวิเคราะห์ถึงผลดีผลเสียต่างๆที่เกิดจากการกระทำใดๆ ช่วยให้เขาสามารถตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่สอดคล้องกับประโยชน์สูงสุดของตน ทั้งในชีวิตประจำวันและกิจกรรมพิเศษต่างๆทางสังคม จึงสามารถพัฒนาพฤติกรรมที่ดีให้แก่เด็ก
นอกจากนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองครูบาอาจารย์ควร ช่วยแนะแนวทางในการดำเนินชีวิต ให้คำแนะนำปรึกษา ให้ความสนับสนุนช่วยเหลือ เมื่อมีปัญหาหรือมีความต้องการ มีทักษะในการสื่อสารกับเด็ก แสดงออกถึงความต้องการและรับฟังหรือเปิดรับเมื่อเด็กต้องการสื่อสาร ให้ความสนใจและสื่อสารกับเด็กอย่างต่อเนื่อง ให้เด็กวัยรุ่นสามารถพึ่งทางจิตใจ พาเด็กเข้าสังคมไปเยี่ยมญาติเยี่ยมครอบครัวเพื่อนๆทั้งของพ่อแม่และลูก สร้างความผูกพันด้วยการใช้ชีวิตกับเด็กในชีวิตประจำวันเท่าที่ทำได้ หรือในวาระพิเศษต่างๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันสำคัญทางศาสนา วันประเพณีต่างๆ รวมทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น กิจกรรมลูกเสือ ยุวกาชาด กิจกรรมกลุ่มอาสาสมัครบำเพ็ญประโยชน์ เป็นต้น สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ลดความขัดแย้งกับเด็กและให้ความช่วยเหลือ ให้เด็กประสบความสำเร็จทางการศึกษาเพื่อวัยรุ่นจะได้มีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองและมีสมาธิอยู่กับการพัฒนาตนครับ
ประการที่สำคัญต้องไม่มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวโดยเด็ดขาด ทั้งนี้การใช้ความรุนแรงในครอบครัว แม้จะไม่ได้กระทำต่อเด็กโดยตรง แต่สามารถส่งผลกระทบทางลบต่อเด็กหลายประการกล่าวคือ
๑. เป็นการทำร้ายจิตใจของเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัววิตกกังวลและเครียด ถ้าทำอย่างต่อเนื่องจะทำให้เด็กเป็นโรคเครียด (stress disorder) และหากผู้ถูกใช้ความรุนแรงเป็นบุคคลที่เด็กมี Secure attachment และ Empathy ด้วยแล้ว เด็กจะรู้สึกเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นผู้ถูกกระทำไปด้วย นอกจากหวาดกลัววิตกกังวลแล้วยังมีความโกรธแค้นต่อผู้ใช้ความรุนแรงต้องการตอบโต้ แต่ไม่อาจทำได้ก็จะเกิดภาวะ powerlessness, helplessness, hopelessness ตามมา อาจเกิดภาวะซึมเศร้าด้วย
๒. เป็นการถ่ายทอดวิธีการแก้ไขปัญหาและจัดการความขัดแย้งด้วยความรุนแรง ทำให้เด็กมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นในอนาคต รวมทั้งมีอาการต่อต้านสังคมหรือไม่อาจคิดเป็นเหตุเป็นผลเกิดจากอาการ Cognitive Disorder ทั้งนี้การใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาหรือความขัดแย้ง ย่อมไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับเหตุผลอยู่แล้ว
๓. หากผู้ใช้ความรุนแรงเป็นพ่อหรือแม่ ย่อมส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใช้ความรุนแรงเป็นแบบ Insecure disorganized attachment ซึ่งทำให้เด็กไม่อาจสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นเพราะ Attachment working model ของเด็ก จะเป็นแบบก้าวร้าวต่อต้านผู้อื่น ถ้าเป็นผู้อ่อนแอกว่า เด็กจะข่มเหงรังแกและอาจกรรโชกทรัพย์หรืออื่นๆ
ดังนั้นการใช้ความรุนแรงในครอบครัว จึงเป็นปัญหาพื้นฐานของสังคมชุมชนและครอบครัวครับ
บุตร โดย คาลิล ยิบราน KHALIL GIBRAN แปลโดย : ระวี ภาวิไล
บุตรของเธอ ไม่ใช่บุตรของเธอ
เขาเหล่านั้นเป็นบุตรและธิดาแห่งชีวิต
เขามาทางเธอ แต่ไม่ได้มาจากเธอ
และแม้ว่าเขาอยู่กับเธอ แต่ก็ไม่ใช่สมบัติของเธอ
เธออาจให้ความรักแก่เขา แต่ไม่อาจให้ความนึกคิดได้
เพราะว่าเขาก็มีความคิดของตนเอง
เธออาจจะให้ที่อยู่อาศัยแก่ร่างกายของเขาได้
แต่มิใช่แก่วิญญาณของเขา
เพราะว่าวิญญาณของเขานั้นอยู่ในบ้านของพรุ่งนี้
ซึ่งเธอไม่อาจไปเยี่ยมเยียนได้แม้ในความฝัน
เธออาจพยายามเป็นเหมือนเขาได้
แต่อย่าได้พยายามให้เขาเหมือนเธอ
เพราะชีวิตนั้นไม่เดินถอยหลัง
หรือห่วงใยอยู่กับเมื่อวันวาน
เธอนั้นเป็นเสมือนคันธนู
และบุตรหลานเหมือนลูกธนูอันมีชีวิต
ผู้ยิงเล็งเห็นที่หมายบนทางอันมิรู้สิ้นสุด
พระองค์จะน้าวเธอเต็มแรง
เพื่อว่าลูกธนูจะได้วิ่งเร็วและไปไกล
ขอให้การโน้มง้างของเธอในอุ้งหัตถ์ของพระองค์
เป็นไปด้วยความยินดี
เพราะว่าเมื่อพระองค์รักลูกธนูที่บินไปนั้น
พระองค์ก็รักคันธนูซึ่งอยู่นิ่งด้วย
ที่มา : จากหนังสือ The Prophet (ปรัชญาชีวิต)
http://olddreamz.com/bookshelf/prophet/ppcontent1.html