ตอน : Bangkok Episode 1
แม่ต้อยตีวิดที่รักยิ่ง
เรื่องของเรื่องดังที่เธอรู้อยู่ ก็คือ ฉันได้รับจ้างให้ไปดูแล้วไปเขียน “แนวปฏิบัติที่ดี (Good practices)” จากการทำงานต่อต้านปัญหาการค้าเด็ก งานนี้ไม่ใช่แค่อ่านเอกสาร แต่ต้องไปดูงานในประเทศต่าง ๆ ถึงห้าประเทศด้วยกัน
ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงต้องเขียนใบลางาน(ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญกิจการภายในครัวเรือน)เป็นเวลาหกอาทิตย์ส่งให้เจ้ากรมฯที่บ้าน ซึ่งหนังสือลาออก เอ๊ย ลางาน ก็ได้รับอนุมัติด้วยความเต็มใจ
ดังนั้น ฉันจึงเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าเดินทางใบยักษ์ และย้ายก้นจากเก้าอี้แสนสบายที่บ้านหลังน้อยในเมืองเจนีวา เพื่อเดินทางกระเตงเข้ากระเตงออกสนามบิน ซึ่งคำนวณล่วงหน้าแล้วว่าต้องเปลี่ยนเครื่องทั้งหมด ๑๓ (สิบสาม) ครั้ง ด้วยกันไม่ขาดไม่เกิน กว่าจะครบหกอาทิตย์อันดูเหมือนจะยาวนานเหลือเกินสำหรับคนที่อยู่ติดบ้านอย่างฉัน
แต่ละประเทศที่ไปเยือนก็ล้วนแต่โหด ๆ ทั้งนั้น คือ บังคลาเทศ (ความยากจน) เนปาล (สงครามกลางเมือง กลุ่มเหมาอิสต์กับรัฐบาล) อินโดนีเซีย (แบ่งแยกดินแดน วางระเบิดบาหลี สึนามิ) ศรีลังกา (สงครามแบ่งแยกทมิฬกับรัฐ สึนามิ ขุนเขา) และประเทศไทย (ไข้หวัดนก มลพิษ รถติด)….แต่นี่คือประสบการณ์ชีวิตอันแสนยอดเยี่ยม แล้วฉันก็จะได้อยู่ “บ้าน” เมืองไทยตั้งหลายวันแน่ะ
จากเจนีวา ฉันบินลัดฟ้าไปเมืองไทยก่อน เพราะคนที่จ้างฉันเขามีสำนักงานอยู่กรุงเทพฯ ฉันบินไปถึงเมืองไทยวันศุกร์เพื่อได้พักผ่อนก่อนเสาร์อาทิตย์ ก่อนจะไปเริ่มทำงานวันจันทร์
ตลอดเส้นทางเจนีวามาแบงค็อก (ออกเสียงแบบฝรั่ง) ฉันเองไม่ได้นอนทั้งคืนเพราะบินออกจากเมืองเจฯหลังเที่ยงวัน แล้วมาถึงเมืองไทยราวเที่ยงคืนเวลาเมืองเจฯ (แต่เวลาจริงในเมืองไทยคือตอนเช้าตรู่) เป็นเวลาที่ยังไม่มีสิทธิง่วง ก็เลยนั่งอ่านหนังสือมาตลอดทาง คุยกับเืพื่อนร่วมเดินทางที่เป็นคนไทยที่เจอกันบนเครื่องพอหอมปากหอมคอ แต่ส่วนใหญ่น้องเขาจะหลับเพราะเหน็ดเหนื่อยกับการเที่ยวทัวร์
การบินไทยเดี๋ยวนี้ดี มีช่องวิทยุให้ฟังคำเทศน์ของพระอาจารย์ท่านต่าง ๆ ด้วย เป็นการเทศน์เพื่อคนเดินทางโดยเฉพาะ ทำให้การเดินทางยาวไกลได้อาหารทางใจไปด้วย ไม่ต้องนั่งอยู่เปล่า ๆ ต้องอนุโมทนากับผู้คิดริเริ่มนี้ด้วย
เมื่อไปถึง ฉันช่างโชคดีเหลือเกินแม่ต้อยตีวิดเอ๋ย ที่มีน้องน่ารักรู้จักกันผ่านเว็บนกน้อยนี่แหละมีเมตตาไปรับที่สนามบินตั้งแต่ไก่โห่ (ต้องเป็นไก่ตัวที่ไม่ได้เป็นหวัดด้วยนะ ตัวที่เป็นหวัดมันก็ต้องไม่มีเสียงโห่อยู่แล้ว แหงแซะ) น้องคนนี้ชื่อว่า โพเคอิลเล่ จ้า เนื่องจากชื่อเรียกยาก ฉันก็เลยเรียกเขาว่า น้องโพฯ
น้องโพเขาไปส่งน้องสาวที่สนามบินพอดี ส้มก็เลยหล่นใส่ฉัน น้องโพฯกรุณาพาฉันไปส่งบ้านพี่กรุณา (ชื่อสมมติ) ที่ให้ฉันพักด้วยระหว่างอยู่กรุงเทพฯ (ฉันไม่มีบ้านของตัวเองแล้วจ้ะ บ้านย้ายไปเจนีวาแหล่ว) บ้านพี่เขาอยู่แจ้งวัฒนะนี่เอง ไม่ไกลจากสนามบิน ก็เลยได้ทานข้าวเช้าด้วยกัน ก่อนพี่เขาไปทำงาน และน้องโพล่ำลากลับไปทำธุระอันควรของเธอต่อไป ขอบใจอีกครั้งนะจ๊ะน้องโพ จุ๊บ จุ๊บ
ฉันไปถึงผิดเวลา เป็นค่อนคืนของเมืองเจฯ ทั้งเหนื่อยทั้งเพลีย แต่ก็รื้อกระเป๋าเสียก่อน เอาของมาจัด แล้วจึงนอนจนสาย ๆ ก็ออกไปกินข้าวกับเพื่ือนนกน้อยคนหนึ่ง (กางเขนดง) หลังทานข้าวกัน น้องเขาก็ช่วยฉันหาร้านซ่อมรองเท้า เพราะรองเท้าฉันมันดันชำรุดพอดี จากนั้นก็เซย์กู้ดบายกัน แล้วฉันก็แว้บไปเจอกับพี่กรุณากับเพื่อนสนิทอีกสองคน คือ ดอกเข็ม กับพี่สาวใหญ่ (คนละท้อง) ที่มาจัดงานออกตัวมูลนิธิฯแถวสยามฯพอดี เราไปทานอาหารจีนกัน คุยกันไป นาน ๆ ได้เจอกันที ทุกคนบ่นถึงเธอ อยากให้เธอมาร่วมก๊วนด้วย แต่รู้ดีว่าเธอยุ่งกับงานอยู่ทางภาคเหนือ
คืนวันแรกฉันก็นอนได้ดี แล้วก็ต้องตื่นแต่เช้าวันเสาร์ด้วยอาการเบลอเป็นอย่างยิ่ง ฉันไปซื้อของกับพี่กรุณา แล้วก็แวะไปเยี่ยมพี่สาวจริง ๆ คุยกัน ทานอาหารกลางวันกัน แล้วก็กลับมาพักผ่อนที่บ้าน พี่กรุณาเดินทางไปยุโรปคืนนี้เอง ฉันเลยเป็นย่าโสมเฝ้าบ้าน
เช้าวันอาทิตย์ต้องตื่นก่อนไก่โห่อีกแล้ว (เพลียจริง ๆ ยังเจ็ทแล็กอยู่เลย) มีนัดไปนั่งสมาธิและฟังพระเทศน์ที่ไร่ทอสี ปากช่อง นัดกับน้องแอ้ (อดีตอาสาฯเขาหลักที่เคยทำงานร่วมเรียงเคียงไหล่กันมา) ที่หน้ามหาวิทยาลัยรังสิต ไอ้ฉันมันก็กำลังเบลอ ไปฟังเป็นมหา’ลัยธรรมศาสตร์รังสิต ก็เลยไปรอคนละที่กัน ดีว่าต่างมีโทรศัพท์มือถือ น้องเขาก็เลยตามมาฉันรับได้ แล้วเราก็มุ่งหน้าไปไร่ทอสีกัน ไม่ได้แวะซื้อกะหรี่พั้ฟมวกเหล็ก หรือผลไม้กลางดง อย่างไรทั้งสิ้น ไปถึงก็ได้เวลาพอดี
แน่ละ คนเพิ่งเดินทางมาถึงจากทางไกล ไปนั่งสมาธิก็เลยง่วงและเพลียมาก แทบจะเอาไม่อยู่ เวลาพระอาจารย์ชยสาโรท่านเทศน์หลังจากการนั่งสมาธิ ฉันหลับตาแบบนั่งสมาธิฟังท่านบ้าง เคลิ้มหลับบ้าง หวังว่าคงไม่บาปเท่าไร เพราะไม่ได้มีเจตนาร้ายอะไรทั้งสิ้น ยอมรับว่าจำเรื่องที่ท่านเทศน์ไม่ค่อยได้ เพราะเหนื่อยเกินไป
ไร่ทอสีเป็นสถานที่น่าประทับใจมาก ตอนเข้าไปถึงในไร่ เผลอคิดว่าเป็นสวิตเซอร์แลนด์ด้วยซ้ำ บ้านที่เราไปนั่งสมาธิเรียกว่า “บ้านบุญ” พระท่านมีกุฏิอยู่ต่างหาก ไม่ใช่สำนักสงฆ์ด้วยซ้ำ เพราะมีพระรูปเีดียวคือ อาจารย์ชยสาโร ท่านนี้ ที่ฉันขยันถอดเทปของท่านบ่อย ๆ ไง ตอนนี้ได้เจอองค์จริงเสียงจริง แต่บุญน้อย ฟังได้ไม่ตลอดเพราะง่วง
กลับเข้ากรุงเทพฯกับน้องแอ้ ไปเดินสวนจตุจักรกัน แต่ไม่ได้ของอะไรเท่าไร ฉันรู้สึกอากาศมันอึดอัด หายใจไม่สะดวก บังเอิญติดต่อเพื่อนเขาหลักได้คนหนึ่ง คือ หมูอาสา ก็เลยไปกินข้าวเย็นด้วยกันแถวสีลม ได้ทบทวนความหลัง หมูฯเอารายงานหกเดือนสึนามิ พิมพ์สวยงาม ข้อมูลเพียบมาฝากดูกันด้วย
นี่แหละเธอเอ๋ย เสาร์อาทิตย์แรกของการกลับบ้าน
ขอเล่าข้ามไปอาทิตย์แรกที่ไปทำงาน ฉันก็ไปคุยกับคนที่เขาจ้าง ดอกเตอร์วาหิด ซึ่งก็เป็นเพื่อนร่วมงานกันมาสมัยเก่าก่อนที่ฉันเคยทำอยู่หน่วยงานนี้ เป็นคนบังคลาเทศจ้า เป็นหัวหน้าโครงการใหญ่โตบริหารเงินหลายล้านบาทอยู่ (อุ๊ย จิ๊บจ๊อยถ้าเปรียบกับภาคธุรกิจ) เราก็คุยกันว่า กรอบงานเป็นอย่างไร อยากให้งานออกมาแบบไหน มีข้อกำหนดอะไรพิเศษ ต้องเดินทางไปไหนบ้าง แล้วก็เตรียมตัวเดินทาง เซ็นสัญญาจ้างงาน (เรื่องสำคัญ) จัดการเรื่องตั๋ว ทำวีซ่า รับเงินเบี้ยเลี้ยง (เรื่องสำคัญอีกเหมือนกัน แฮ่ม) เตรียมเอกสารที่ต้องอ่านกองท่วมหัว ฯลฯ ตามประสาคอนซัลแตนท์ น้องแอนเป็นเจ้าหน้าที่ที่คอยช่วยดูแล น่ารักและเก่งมาก ทุกอย่างผ่านไปด้วยความราบรื่น
วันเสาร์คือเมื่อวานนี้ ฉันไปตรวจสุขภาพที่โรงหมอที่เคยใช้บริการประจำ โอย คราวนี้รอนานมาก ๆ จนหิวข้าวจะเป็นลม กว่าจะได้ทานก็เที่ยง แ่ต่พอตอนได้ทาน ก็หิวและมึนงงจนทานอะไรไม่ลง กลายเป็นว่า ตรวจสุขภาพแล้วแข็งแรงดีทุกประการ หมอบอกว่ายังแข็งแรงกว่าหมออีก แต่ความดันต่ำกับคอเลสเตอรอลสูง (แหม มันน่าจะสลับกันเพราะฉันเป็นคนดันทุรังหาน้อยไม่) แต่ความที่อดอาหารทั้งเช้า แอร์ที่โรงพะบาลก็เย้นเย็น ฉันก็เลยป่วยเสียเลย ทีแรกตั้งใจจะไปเยี่ยมพี่สาวก็ต้องงดไป จะไปซื้อของก็ต้องงดไป กลับบ้านไปนอนพักผ่อนยาวจนถึงวันนี้ มีแรงมาเขียนจดหมายยาว ๆ ถึงเธอ
เสียดายที่แม่ต้อยตีวิดของฉันไม่ได้ลงมากรุงเทพฯช่วงนี้ เราก็เลยไม่ได้เจอกัน
พรุ่งนี้ฉันต้องจับเครื่องบินเที่ยวเช้าไปธากา (Dhaka) เมืองหลวงของบังคลาเทศจ้า ยังไม่ตื่นเต้นเท่าไร เพราะอาการปวดหัวมันยังรุมอยู่ แต่ฉันเชื่อว่าคงมีเรื่องสนุก ๆ มาเล่าให้เธอมากมาย
แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ ฉันจะเข้านอนแล้ว พรุ่งนี้จะได้ไปสนามบินไม่เหนื่อยมากนัก
แล้วฉันจะเขียนมาเล่านะจ๊ะว่าแต่ละประเทศเป็นอย่างไรบ้าง
ฉันเอง แม่นกน้อยเจนีวา
Photo credit: Jaime Cabrera Carmona
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 1
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 2
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 3
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 4
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 5
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 6
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 7
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 8
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 9
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 10
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 11
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 12
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 13
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 14
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 15