Photo credit: มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
ตอน : กลับเมืองฟ้าอมร (Bangkok – Episode 2 ตอนจบ)
แม่ต้อยตีวิดที่รัก
ขอสารภาพว่าพอมาถึงวันนี้ กลับมากรุงเทพฯอีกครั้ง ฉันก็คิดถึงเจนีวาเป็นอย่างมาก คิดถึงเจ้ากรมฯที่บ้านที่โอดครวญว่าเมื่อไรฉันจะกลับบ้านเสียที คิดถึงอากาศเย็นสดชื่นไม่มีมลพิษ คิดถึงครัวซองต์ร้อน ๆ ยามเช้ากับน้ำชารสอร่อยที่ชงเองที่บ้าน อากาศเจ็บป่วยตามประสานักเดินทางที่สมบุกสมบันทำให้แม่นกบินไกลอย่างฉันคิดถึง “บ้าน” เสียแล้ว
แต่อาทิตย์นี้ก็เป็นอาทิตย์สุดท้ายแล้ว ฉันเหลือโครงการที่ต้องไปเยี่ยมในกรุงเทพฯสามแห่ง แห่งแรกคือบ้านแรกรับเด็กชายที่ปากเกร็ด หรือที่เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า บ้านภูิมิเวท แห่งที่สองอยู่ข้ามน้ำเจ้าพระยาไปนิดเดียว คือ บ้านเด็กหญิงเกร็ดตระการ ซึ่งเธอก็รู้จักทั้งสองแห่ง เป็นบ้านภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ส่วนอีกที่คือ บ้านอุ่นรักของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
ที่จริงโครงการในส่วนที่เมืองไทยนั้นไม่ใหญ่มาก เพราะเมืองไทยเรามักเป็นต้นแบบ เป็นตัวอย่าง เป็นผู้นำงานพัฒนาเด็กให้กับหลายประเทศในภูมิภาคนี้ เช่น รูปแบบการทำงานแบบสหวิชาชีพของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์ฯนี้มีการนำไปปรับใช้ที่ไมตีเนปาล ที่ศูนย์บำบัดขั้นทดลองที่อินโดนีเซีย ที่ปากีสถาน (กับงานฟื้นฟูเด็กชายขี่อูฐที่ตะวันออกกลาง ที่ได้รับการช่วยเหลือให้กลับบ้าน)
ฉันไปบ้านภูมิเวทก่อน ตอนบ่าย เรียกแท้กซี่ไปเอง แล้วก็หลงอีกตามเคย แทนที่จะตามป้ายปากเกร็ด ดันตามป้ายไปนนทบุรี คนละทาง
เลยเสียค่าแท้กซี่ไปหลายบาท แต่งานนี้ไม่ต้องมีใครไปเป็นเพื่อน เพราะคนไทยด้วยกัน พบกับผู้ปกครองบ้านภูมิเวทคือคุณลัดดา ซึ่งน่ารัก คล่องแคล่ว โทรเข้ามือถือมาถามฉันเป็นระยะ ๆ ว่าถึงไหนแล้ว
ผอ ลัดดาเคยทำงานกับหมู่บ้านเด็ก จึงมีความเข้าใจงานแบบเอ็นจีโอดี สิ่งที่ฉันไปดูคือ ระบบเก็บข้อมูลเด็กในคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้มูลนิธิกระจกเงามาช่วยออกแบบให้ เป็นระบบที่ใช้ได้ แต่ยังขลุกขลักทางเทคนิคอยู่บ้าง หลัก ๆ คือ เพื่อให้มีการจัดเก็บข้อมูลเด็กอย่างเป็นระเบียบ เรียกหาง่าย ประมวลผลรวดเร็ว ทำรายงานส่งหน่วยเหนือและให้กับทีมสหวิชาชีพ ฉันได้พบนักสังคมสงเคราะห์สองคน และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลระบบและงานธุรการ คนหนุ่มสาวทั้งหมด ดูแข็งขันตั้งใจทำงานดี
นอกจากนั้น ผอ ลัดดายังพาดูห้องจัดกิจกรรมต่าง ๆ ด้วย แต่ฉันไม่ได้เดินดูทั่วบริเวณ จำได้ว่าเคยมาเยี่ยมแล้วสมัยยังทำงานอยู่เมืองไทย บ้านนี้รับเฉพาะเด็กผู้ชาย ส่วนหนึ่งเป็นเด็กเร่ร่อนไร้ที่อยู่ เด็กไร้ที่พึ่ง เด็กที่ถูกละเมิด และเด็กที่ต้องคดี และอีกส่วนหนึ่งเป็นเด็กชาวเขมรมาอยู่ด้วย การทำงานกับเด็กชายก็ได้รสชาติห้าว ๆ ไปอีกแบบหนึ่ง
ฉันดูงานประมาณสองชั่วโมง จสอบถามเรื่องฐานข้อมูลด้านต่าง ๆ จนพอใจ จากนั้นก็ข้ามแม่น้ำไปบ้านเกร็ดตระการ ซึ่งชื่อน่ารัก เป็นบ้านที่ดูแลเฉพาะเด็กหญิงที่ถูกละเมิด เหยื่อการค้ามนุษย์ และได้รับช่วยเหลือเอาตัวออกมา มีทั้งเด็กไทยและเด็กต่างชาติ ฉันก็ไปดูระบบข้อมูลเหมือนกัน เจ้าหน้าที่สาว ๆ ให้ความเป็นกันเอง เปิดเครื่อง ชี้ให้ดูส่วนต่าง ๆ ของฐานข้อมูล บอกเล่าปัญหาอุปสรรคในการใช้ระบบ และส่วนที่ยังใช้ยากอยู่อย่างไม่ปิดบังอำพราง พาฉันไปดูการเดินสาย LAN ข้ามตึกต่าง ๆ เหมือนเดินสายไฟฟ้า ก็เป็นข้อน่าสังเกตดี ฉันเคยมาบ้านนี้ ครั้งหรือสองครั้งในอดีต จำได้ว่าพารัฐมนตรีกระทรวงกิจการสังคมของเนปาลมาดูงานหลายปีที่แล้ว คุยกับเด็ก ๆ เจ้าหน้าที่เสร็จ ท่านผู้ปกครองญาณีก็มานั่งลุ้นด้วย ตอนลากลับก็เย็นแล้ว กำลังค่ำ ๆ ทางบ้านเกร็ดฯก็ให้เรือไปส่งเหมือนขามา
พอฉันข้ามกลับไปถึงบ้านภูมิเวท ฝนก็ตกเหมือนฟ้ารั่ว ผอ ลัดดายังนั่งทำงานอยู่ เลยให้คนขับรถพาออกไปส่งปากซอย จะได้เรียกแท้กซี่ได้ง่าย แล้วยังให้ร่มน้อยจากเมืองเขมรมาหนึ่งคัน ยืนยันว่าไม่แพงให้ฉันยึดเอาไปได้เลย ฉันก็รับไว้ด้วยความซาบซึ้งในน้ำใจ ฉันรอแท้กซี่ไม่นานก็เรียกไ้ด้ โชคดีจริง ๆ ที่ไม่ใช่ในกรุงเทพฯ ไม่งั้นคงไม่มีแท้กซี่จอดรับ ตัวฉันเปียกไปครึ่งหนึ่ง แท้กซี่ก็แอร์เย็น กลัวว่าจะเป็นหวัดเอา แต่ก็กลับไปถึงที่พักโดยเรียบร้อย
วันรุ่งขึ้นตะกายออกแต่เช้าไปพุทธมณฑลสายสอง บ้านอุ่นรัก หาไม่ยาก ไม่ไกลอย่างที่คิด ไปถึงก่อนเวลา ได้ดูเด็ก ๆ เพิ่งตื่น ทำกับข้าว กินข้าวเช้ากัน เจ้าหน้าที่ที่ดูแลเด็กแต่งชุดอยู่บ้านยืนตากผ้าอยู่ ดูเหมือนเป็นเด็กโต ๆ คนหนึ่ง แต่พอแต่งตัวเรียบร้อยก็กลายเป็นผู้ใหญ่ไป น้องคนหนึ่งเอาชามาเสิร์ฟ สักพัก คุณอัจฉราผู้ปกครองบ้านอุ่นรักก็มา ยอมโดดประชุมมาให้ฉันคุยด้วย คุณอัจน่ารัก เก่งมาก สมกับเป็นนักสังคมฯ นักจิตวิทยาเด็ก และผู้ปกครองบ้านมืออาชีพ รู้สึกได้ถึงความรักความอบอุ่นจากรอยยิ้ม คำพูด และท่าทางของเธอที่มีต่อเด็ก ๆ ถ้าบ้านต่าง ๆ ได้ผู้ปกครองอย่างเธอ โลกของเด็ก ๆ คงดีขึ้นมากมาย
สิ่งที่ทางโครงการทำคือ ใช้แนวทางสหวิชาชีพในการทำงานกับเด็ก เพื่อให้เด็กได้รับการดูรอบด้าน และทางโครงการได้แนะนำแนวทางนี้ให้กับบ้านภูมิเวทที่ฉัันเพิ่งไปดูมา ก็ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ยังยากอยู่เพราะอัตราเจ้าหน้าที่ต่อเด็กในบ้านภูมิเวทนั้นสูงมาก สักหนึ่งต่อห้าหกสิบคน ดังนั้นจึงไม่อาจทำงานในระดับคุณภาพได้ ขณะที่บ้านอุ่นรักมีอัตราเจ้าหน้าที่ต่อเด็กอย่างเพียงพอ เด็กคนหนึ่งจะอยู่ที่บ้านนี้สูงสุดหนึ่งเดือน เร็วสุดเจ็ดวัน เพราะเป็นแค่บ้านแรกรับ ไม่ใช่บ้านอยู่ถาวร เป็นบ้านที่จะตรวจสอบ วิเคราะห์ ประเมินความเป็นมาเป็นไปของเด็ก แล้วก็ส่งเรื่องต่อให้ส่วนอื่นทำต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการส่งเด็กกลับครอบครัว (ถ้าไม่มีปัญหา) หรือส่งเด็กไปเยียวยาต่อในบ้านพิทักษ์เด็ก การทำงานเขาชัดเจนดี แฟ้มเอกสารเด็กคนหนึ่งหนาเป็นปึก มีข้อมูลทุกด้าน จรรยาบรรณการทำงานเป็นไปตามมาตรฐาน เด็กได้รับความเคารพในสิทธิด้านต่าง ๆ สมเป็นศูนย์พิทักษ์็สิทธิเด็ก
คุยกันใกล้เสร็จ ฉันก็เกิดอาการแน่นท้องแน่นหน้าอก รู้สึกไม่ค่อยดี เลยขอยาธาตุเขาทาน หลังจากลาคุณอัจดวยความขอบคุณไปแล้ว คุณอัจยังให้เสื้อยืดมาอีกสองตัว แล้วก็ให้น้องคนหนึ่งพานั่งมอเตอร์ไซค์ออกไปเรียกแท้กซี่ที่ปากซอย ฉันหิวก็หิว เดินเข้าไปร้านเซเว่นก็ไม่รู้จะกินอะไร รู้สึกจะซื้อแต่น้ำเปล่า เรียกรถแท้กซี่ได้ไม่ยาก ข้ามสะพานพระรามแปด เข้าราชดำเนิน นึกชมในใจว่า กรุงเทพฯนี่เจริญจริง ๆ ตอนนี้สะพานข้ามแม่น้ำไม่รู้กี่สะพานแล้ว ทำให้การสัญจรไปมาสะดวกดี
ฉันคิดว่าคนจ้างฉันเขาก็พอใจนะ ส่วนฉันน่ะ เหนื่อยจนพูดไม่ค่อยจะออกแล้ว ลาจากวาหิดได้ ฉันก็เก็บของ เก็บจัดโต๊ะทำงานชั่วคราว แล้วก็กล่าวลาทุกคนก่อนจะไปกินข้าวเย็นบ้านเพื่ีอนฝรั่งอีกคนหนึ่ง อยู่ริมแม่้น้ำเจ้าพระยา ด้านฝั่งธนฯ ปรากฏว่าทั้งคนเชิญและคนถูกเชิญก็ต่างเหนื่อยอ่อนทั้งคู่ แต่ก็อร่อยกับอาหารที่แม่บ้านทำไว้ให้ (และเผ็ดด้วย) มีส้มโอกับมะม่วงน้ำดอกไม้ด้วยนะ ฉันกับเพื่อนอีกคนที่เป็นแขกกล่าวราตรีสวัสดิ์ไม่ดึกจนเกินไปนัก เกรงใจเจ้าของบ้าน
นี่แหละจ้า แม่ต้อยตีวิด การเดินทางอันทรหดของฉันที่มีแต่งาน งาน งาน กับการพบปะผู้คนเพื่องาน และเพื่อส่วนตัว จนไม่มีเวลาเป็นของตัวเองเท่าไร ซึ่งฉันก็ดีใจที่ได้ใช้เวลากับเธอเสาร์อาทิตย์หนึ่ง และได้เจอเพื่อนหลาย ๆ คนที่ไม่คิดว่าจะได้เจอ เช่น ทิลัก ที่ศรีลังกา ได้รู้จักเืพื่อนร่วมงานใหม่ ๆ ได้เห็นโลกกว้างที่ต่างไปจากที่เคยรู้จัก ได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง ได้เข้าใจแนวคิดที่หลากหลายขึ้น ได้เจอเพื่อนชาวนกน้อยที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนในชีวิต จนตอนฉันไปอาสาที่เขาหลักนั่นแหละ แล้วยังมีเพื่อนจากเขาหลักซึ่งกลายเป็น “เพื่อนใจ” อีกหลายคน
ฉันกลับโรงแรมไปพักสักครู่ก็ออกไปทานข้าวกลางวันกับเพื่อนอีกชุดหนึ่ง แล้วเดินทางไปสำนักงาน เจอกับดอกเตอร์วาหิดและคุณแอนเดอร์ส เจ้าหน้าที่หลักของโครงการ เรามาสรุปงานกัน ฉันก็ชี้แจงให้เขาทราบว่า ไปเจออะไรมาบ้าง มีข้อสังเกตอะไรในฐานะคนนอกโครงการ อะไรดี อะไรควรปรับปรุง ปัญหาอุปสรรคในการทำงานของเจ้าหน้าที่ แนวทางการทำงานต่าง ๆ คุยกันสักสองชั่วโมงได้ แล้วบอกว่าจะเขียนรายงาน “แนวปฏิบัติที่ดี” เรื่องอะไรบ้าง
สิ่งหนึ่งที่ฉันซื้อมากที่สุดจากกรุงเทพฯคือหนังสือธรรมะ ซื้อแ้ล้วก็ห่อส่งไปรษณีย์ไปให้ตัวเองที่เมืองเจฯ เพราะจะหอบกลับไปด้วยก็คงจะน้ำหนักเกิน สู้จ่ายค่าไปรษณีย์ดีกว่า ส่วนอาหารการกินนี่แทบไม่สนใจเลย เพราะหาที่เมืองเจฯได้ แต่ซื้อมะม่วงน้ำดอกไม้สองกิโลติดไปด้วย ไปเผื่อเจ้ากรมฯที่บ้าน
วันนี้วันสุดท้ายที่ฉันจะอยู่กรุงเทพฯแ้ล้วจ้ะ คืนนี้เดินทางกลับเจนีวาที่ “คนที่รัก” รอคอยฉันอยู่ นึกถึงเตียงนอนนุ่ม ๆ ผ้าห่มนวมหนา ๆ อากาศเย็นสดชื่นเหมือนแชมเปญ (ที่ฉันไม่ดื่ม) ความเงียบสงบรอบบ้าน อยากจะนอนติดต่อกันหลายวัน และก็ฝันถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ฉันได้เจอมา
คิดถึงทุ่งนาเขียวสวยเมืองบังคลาฯ กลุ่มเฝ้าระวังชุมชนที่เข้มแข็ง เด็ก ๆ ที่ดวงตาดำขลับพร้อมประกายซื่อแต่อยา่กรู้อยากเห็น พี่สาวต่างถิ่นของฉัน ครูใหญ่โรงเรียนอิสลามที่อวยพรฉัน สตรีผู้ประกอบการรายจิ๋ว คณะกรรมการเด็กที่ศูนย์เด็ก ครูโรงเรียน กศน อาหารที่เรียบง่ายแต่รสชาติที่ฉันไม่ลืม การจราจรอันมหัศจรรย์ สามล้อถีบ และความยากจนของชาวบ้าน
เนปาลทำให้ฉันมองเห็นฟากฟ้าและขุนเขา นาข้าวที่เป็นเทอร์เรสตามไหล่เขา วัดฮินดูในหน้าเทศกาล ความศรัทธาปสาทะในศาสนาของชาวบ้าน กลุ่มสาวทำงานร้านอาหารเคบินและเต้นรำที่ต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของพวกเธอ ผู้หญิงหม้ายที่ต่อสู้เพื่อสถานะทางสังคม งานช่วยเหลือเด็กที่บัสปาร์ค ทีมงานหนุ่มสาวที่บ้านเปลี่ยนวิถี อาหารอร่อย โรงแรมที่สวยงาม ของที่ระลึกอันละลานตา
อินโดนีเซียทำให้ฉันนึกถึงมะม่วงสุกแดงอร่ามในอินดรามายู เด็กสาวที่ใฝ่ฝันอยากไปเมืองนอก ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพชั้นนำที่สวยงาม ศูนย์ฟื้นฟูเด็กที่มีเจ้าหน้าที่ไฟแรงซึ่งไปอบรมมาจากเมืองไทย เด็ก ๆ นักจัดรายการวิทยุ และรถห้องสมุดเคลื่อนที่ ผู้คนที่หน้าตาเหมือน ๆ เราคนไทย สาวอินโดฯที่สวย บอบบาง หุ่นสะโอดสะอง เทศกาลศีลอดที่น่าทึ่ง โรงแรมที่พัีกแสนสบาย จาการ์ต้าเมืองเจริญแทบจะเทียมไหล่กรุงเทพฯได้
ส่วนศรีลังกาเมืองพุทธ ฉันยังจำพระพุทธรูปที่มีรอยแย้มสรวลเปี่ยมเมตตาตรงสี่แยกได้ถนัดตา เส้นทางคดเคี้ยวอันตรายแต่สวยงามบนยอดเขา เด็ก ๆ ที่ศูนย์ใจชุมชน สตรีนักสหภาพที่ทำงานอย่างเข้มแข็งเพื่อยกระดับการศึกษาเด็ก คุณพ่อและซิสเตอร์ที่อุทิศตัวให้กับเด็ก ๆ และงานของพระเจ้า เด็กหญิงนุสก้า(อบรมเลี้ยงแพะ)ที่ดวงตาทอแววฝัน การเดินทางไปกลับสนามบินในยามค่ำคืน และการได้พบเพื่อนเก่าอย่างทิลัก
ส่วนกรุงเทพฯเอง ทำให้ฉันตะหนักถึงความยากลำบากในการทำงานของสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ ของภาครัฐ แม้จะตั้งใจดี แต่งบประมาณน้อย เจ้าหน้าที่น้อย ขาดองค์ความรู้และเทคนิค งานที่ต้องทำมีมาก วัสดุอุปกรณ์ไม่เพียงพอ ปัญหาซับซ้อนทั้งเด็กไทยเด็กต่างชาติ ภาพผอ.ลัดดานั่งทำงานคนเดียวมืด ๆ ค่ำ ๆ ในห้องทำงานท่ามกลางสายฝนตกกระหน่ำอยู่นอกห้องทำให้ฉันจำได้ไม่ลืม
แล้วยังน้อง ๆ นักสังคมสงเคราะห์ที่บ้านเกร็ดตระการที่บอกฉันว่า “พวกหนูนะทำงานไม่มีวันหยุดวันพักจนแฟนหนูขอถอนหมั้น นี่คงไม่มีวันหาแฟนได้หากยังทำงานอย่างนี้อยู่” ที่จริงฉันคิดว่าน้อง ๆ ก็คงไม่ทุกข์กับการไม่มีแฟนหรอก แต่มัันสะท้อนถึงภาระการทำงานที่ต้องการคนที่ทุ่มเทจริง ๆ ขนาดทำขนาดนี้ปัญหาก็ยังแก้ไม่ทัน แล้วถ้าทำเช้าชามเย็นชามจะเป็นอย่างไรหนอ ฉันอดคิดถึงอนาคตของหญิงสาวที่เป็นกำลังสำคัญของชาติเหล่านี้ไม่ได้ ได้แต่ภาวนาให้พวกเธอเจอ “คู่ใจที่เข้าใจงานของพวกเธอด้วยเถิด”
อืมม์ ฉันก็ได้รำพันมาจนถึงบทสุดท้ายแล้วนะ แม่ต้อยตีวิดฯ ฉันคงได้แต่บอกว่า การเดินทางครั้งนี้ของฉันมีค่าเหลือเกิน มีค่าต่ออาชีพการงาน มีค่าต่อชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ทำให้เราได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น ได้สัมผัสสิ่งที่ไม่เคยได้สัมผัส ได้เข้าใจสิ่งที่ไม่เคยรู้จัก…
ฉันคงได้แต่ขอบใจโอกาสที่ฉันได้รับครั้งนี้
ด้วยรักยิ่ง
แม่นกเจนีวาจะบินกลับรังแล้ว เย้
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 1
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 2
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 3
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 4
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 5
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 6
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 7
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 8
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 9
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 10
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 11
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 12
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 13
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 14
ห้าถิ่นแผ่นดินงาม ตอน 15