คุณแม่คนดีไม่ตีลูก

หยุดก่อน…คุณแม่ตีลูกเพื่อระบายอารมณ์หรือเปล่า

มีเพื่อนหลายคนมีความกลัวว่า จะพูดหรือทำอะไรกับลูกผิดไปแล้วจะโดน Barnevernet (Child Protection หรือ หน่วยงานคุ้มครองเด็กของประเทศนอร์เวย์) จัดการ เราเลยมาเขียนเกี่ยวกับ Barnevernet การแก้ไขปัญหาและข้อห้ามที่ห้ามทำกับเด็ก

อย่าลืมถามตัวเองว่า ทำไมเราอยากตีลูก เป็นเพราะเราระบายอารมณ์ของตัวเองที่ลูกไม่อยู่ใต้ความต้องการของเราหรือเปล่า

ทุกครั้งที่โกรธลูก อย่าลืมถามตัวเองว่า ทำไมเราโกรธลูก ทำไมเราอยากตีลูก เป็นเพราะเราระบายอารมณ์ของตัวเองที่ลูกไม่อยู่ใต้ความต้องการของเรา หรือเป็นเพราะอะไร?

ในฐานะคนทำงานโรงเรียนอนุบาล ขอตอบจากใจจริงเลยว่า ทุกครั้งที่มีกรณี (เคส) ที่ต้องแจ้งกับ Barnevernet เราน้ำตาตกร้องไห้ทุกครั้งไป เราคลุกคลีกับเด็กวันละ 7-8 ชม. อยู่ด้วยกัน กอดกัน เด็กบอกรักเรา อย่าคิดว่าครูไม่มีหัวใจนะคะ แต่มันเป็นหน้าที่ที่เราเลี่ยงไม่ได้

เมื่อเด็กยื่นรหัสขอความช่วยเหลือ เราจำเป็นที่จะต้องตอบสนอง แต่ไม่ใช่ว่าเด็กมาพูดครั้งสองครั้งแล้วรีบแจ้ง อันนี้ไม่ใช่ ข้อความที่เด็กสื่อจะต้องมีอะไรที่สะกิดใจว่าเด็กไม่ปลอดภัย และจะต้องพูดบ่อยครั้ง ในแต่ละครั้งจะมีการจดบันทึกเอาไว้ จนถึงที่สุด จะมีการประชุมในห้องและตัดสินใจดำเนินการ

บางครั้งข้อมูลที่ได้ไม่ได้มาจากเด็กเท่านั้น แต่ได้จากคนใกล้ตัวด้วย เช่น สามี ภรรยา ลุง ป้า น้า อา เพื่อนพ่อ เพื่อนแม่ เพื่อนบ้าน ที่โทรแอบบอก Barnevernet คือมันหลากหลายมาก

ขอยืนยันว่ากฎหมายคุ้มครองเด็กของที่นี่ไม่ใช่เล่นงานเฉพาะคนต่างชาติ สำหรับคนนอรวีเจี้ยนเองก็โดนหนักเหมือนกันถ้าทำผิด

ผู้เขียนมาจากครอบครัวที่ไม่มีการตี คุณแม่ไม่ตี ใช้พูดสอนเอา แต่ก็จะมีดุเสียงดังบ้างอะไรบ้าง แต่จะไม่มีการตีหรือข่มขู่ใด ๆ ทั้งสิ้น จะเป็นการคุยกันเสียมากกว่า คุณแม่จะออกแนวคิดแหวกแนวกว่าคนไทยหน่อยค่ะ ผู้เขียนเลยชอบแนวคิดที่ใช้การคุยกันในครอบครัว

พอมาทำงานอนุบาลที่นอร์เวย์ ได้พบเห็นอะไรเยอะมากเกี่ยวกับปัญหาของเด็ก ขอยืนยันว่ากฎหมายคุ้มครองเด็กของที่นี่ไม่ใช่เล่นงานเฉพาะคนต่างชาติ สำหรับคนนอรวีเจี้ยนเองก็โดนหนักเหมือนกันถ้าทำผิด ตัวผู้เขียนก็เคยเจอกรณี
– ปัญหาพ่อแม่ตีลูก
– ปัญหาพ่อแม่ไม่ใส่ใจเด็ก
– ปัญหาพ่อแม่ใช้คำพูดทำร้ายจิตใจเด็ก
– ปัญหาเด็กไทยที่ตามแม่มาอยู่ที่นี่ และแยกตัวออกมาไม่ติดต่อแม่อีก
– ปัญหาแม่ไทยที่ลูกหนีหายจากบ้านไป
– ปัญหาเด็กเข้ากับพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงไม่ได้
– ปัญหาเด็กเกิดความผิดปกติทางจิต เพราะสาเหตุจากพ่อแม่

การเปิดใจยอมรับสังคมและความคิดใหม่ของแม่ที่มาจากไทยเป็นสิ่งสำคัญมาก อย่าโกรธกันถ้าผู้เขียนจะบอกว่า สังคมไทยโบราณพยายามปลูกฝังให้เราเชื่อว่า การตีลูก การตีนักเรียนเป็นสิ่งดี และจะทำให้เด็กกลายเป็นคนดี ดังนั้น คนไทยจำนวนมากจึงละเลยการพูดคุยทำความเข้าใจกับเด็ก แต่กลับลงโทษโดยการตีอย่างเดียว พอตีก็คิดไปว่าเด็กจะหลาบจำ โดยลืมคิดไปว่า คนเรานั้นมีนิสัยสันดานที่ต่างกัน บางคนอาจจะจำ บางคนอาจจะเชื่อฟัง หรือบางคนอาจจะทำมากกว่าเดิม

การเปิดใจยอมรับสังคมและความคิดใหม่ในการเลี้ยงลูกแบบนอรเวย์ สำหรับแม่ที่มาจากไทยเป็นสิ่งสำคัญมาก

1. ข้อห้ามไม่ให้ผู้ใหญ่ทำเพราะผิดกฎหมายที่นอร์เวย์ ข้อห้ามคือห้ามทำนะคะ ไม่ใช่ทำได้นิดหน่อย เช่น
– ห้ามตี ห้ามหยิก กระชาก ทำร้าย ปาข้าวของ ทำรุนแรงกับลูก
– ห้ามข่มขู่ว่าจะไม่รัก จะหนี จะเอาไปทิ้ง จะตี จะทำร้าย
– ห้ามข่มขู่เด็กว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐจะมาเอาตัวไป หรือพ่อแม่เอาตัวไป
– ไม่จัดเสื้อผ้าเครื่องใช้ของลูกให้ครบสมควรแก่การใช้งานและอายุ
– บีบบังคับทางจิตใจ เช่น ห้ามคบเพื่อน ห้ามมีแฟน หรือห้ามต่าง ๆ ที่ผิดไปจากสังคมปกติยุโรป
– พูดจากระทบกระเทียบเปรียบเทียบความสามารถของลูก หรือด่าว่าอย่างหยาบคาย
– ลงโทษหนัก เช่น ขัง งดอาหาร
– พูดจาที่ทำให้เด็กเกิดความกระทบกระเทือนทางจิตใจ
– ทำร้ายร่างกายตัวเองโดยมีเด็กอยู่ด้วย
– ติดเหล้า ติดยา จนไม่สามารถดูแลลูกได้
– มีอาการป่วยที่เข้าข่ายจะเป็นอันตรายและไม่มั่นคงต่อชีวิตเด็ก

2. การดำเนินการของ Barnevernet
– บางกรณี มารับตัวเด็กไปเลย
– บางกรณี เรียกพ่อแม่ไปคุย
– บางกรณี ยึดเด็กแล้วส่งให้ ปู่ ย่า ตา ยาย ดูแล หรือส่งให้ครอบครัวใหม่
– บางกรณี (พ่อหรือแม่ผู้สร้างปัญหาต้องย้ายออกห่างตามรัศมีกิโลเมตรที่ Barnevernet กำหนด)
– บางกรณี ห้ามเจอลูกอีก
– บางกรณี เสียลูกไปแต่ได้ลูกคืน หรือได้ไปเยี่ยม

พยายามแสดงให้ Barnevernet เห็นว่าเราพร้อมที่จะปรับปรุง หากทางเจ้าหน้าที่คิดว่าเรามีบางอย่างที่ยังดีกับลูกไม่เพียงพอ

จริง ๆ แล้วการทำงานของ Barnevernet ถ้ามองในแง่ดี คือเข้ามาช่วยเหลือปรับปรุงให้พ่อแม่ดูแลลูกได้ดีมากยิ่งขึ้น แต่ด้วยความเข้มข้น ข้นจนลึกไปหากเจอเจ้าหน้าที่บางคนที่เคร่งครัดมาก ก็จะสร้างปัญหาและสร้างความสะเทือนใจให้พ่อแม่ได้ แต่บางกรณีที่รุนแรงจริง ๆ บทลงโทษก็จะหนักขึ้น แต่บทคุ้มครองนี้ส่งผลดีกับความเข้าใจกันของครอบครัว ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองปรับตัวและทำได้ จะดีมาก ๆ

3. หากคุณแม่คนไทยที่พบปัญหากับ Barnevernet ขอให้ทำตามข้อต่อไปนี้

– ตั้งสติ หากขอล่ามได้ให้ขอ แล้วทบทวนเหตุการณ์ต่าง ๆ ว่าเราทำอะไรผิดไป รอฟังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่แล้วค่อย ๆ ตอบ
– คนในครอบครัวจะเป็นแบ็คอัพให้เราได้ดีที่สุด เช่น สามี ลูกคนโต ลูกในบ้านจะยืนยันการกระทำของเรา
– ขอสอบถามข้อมูลว่า ลูกได้กล่าวหาอะไรไปบ้าง ฟังข้อมูลแล้วคิดพิจารณา
– พยายามแสดงให้ Barnevernet เห็นว่า เราพร้อมที่จะปรับปรุง หากทางเจ้าหน้าที่คิดว่าเรามีบางอย่างที่ยังดีกับลูกไม่เพียงพอ
– ขอคำปรึกษาและขอเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาจาก Barnevernet ถ้าจำเป็น หากเขาส่งไปอบรม ก็ไป
– แสดงเจตจำนงในความพร้อมของสติ อารมณ์ ความเข้าใจต่อสังคมยุโรปที่แตกต่างจากเมืองไทย
– พูดจาให้เป็นทางบวก พูดเรื่องดีเข้าไว้ อย่าพูดติแต่เรื่องลูกให้เขาฟัง

ลองคิดดูว่าบางครั้ง เราเองรู้ทั้งรู้ไม่ดี รู้ว่าผิด แต่เราก็ยังทำ เราผู้มีประสบการณ์ชีวิตยังห้ามใจตัวเองไม่ได้ แล้วเด็กล่ะ จะไปห้ามอะไรเขาได้

4. หากเราทำร้ายลูกจริง ขอให้กลับมาแก้ไขตัวเองให้ได้ อย่างเราหงุดหงิดสามี หงุดหงิดเพื่อน โกรธผู้ใหญ่ด้วยกัน เราเองก็ยังระงับอารมณ์ ไม่เข้าไปทุบตีเขา แต่ทำไมเราต้องทุบตีลูกหรือทำกับลูกแรง ๆ เป็นเพราะว่าลูกสู้เราไม่ได้ ลูกทำให้เรารู้สึกว่า เรามีกำลังเหนือกว่าใช่ไหม ลูกก็มีหัวใจดวงน้อย ๆ เป็นเด็กที่ยังไม่ผ่านประสบการณ์ ยังไม่เข้าใจ กระบวนการทางความคิดต่าง ๆ ยังไม่ดีพอ ลองคิดดูว่าบางครั้ง เราเองรู้ทั้งรู้ไม่ดี รู้ว่าผิด แต่เราก็ยังทำ เราผู้มีประสบการณ์ชีวิตยังห้ามใจตัวเองไม่ได้ แล้วเด็กล่ะจะไปห้ามอะไรเขาได้

5. ก่อนโทษลูกว่าลูกทำผิด ทำไม่ดี ก้าวร้าว ลูกดื้อ อย่าลืมมองตัวเองบ้าง เพราะเด็กมักจะเป็นกระจกเงาที่ส่องสะท้อนนิสัยของพ่อแม่เสมอ ทำไมลูกเจ้าอารมณ์ ทำไมลูกพูดมาก ทำไมลูกพูดจาไม่เพราะ หันกลับพิจารณาตัวเองให้ดีค่ะว่า เราเองเป็นแบบนั้นไหม มองลูก ใช่มองเราตัวน้อย ๆ ตรงนั้นไหม

คนไทยอาจคิดว่า การที่เด็กเอาพ่อแม่ไปฟ้องครูที่โรงเรียน หรือถึงขั้นฟ้องตำรวจ ฟ้องศาลถือเป็นลูกอกตัญญู ลูกเนรคุณ ในประเทศไทย ศาลจะไม่รับกรณีลูกฟ้องพ่อแม่ด้วยซ้ำไป

แต่ต่างประเทศที่เจริญแล้วในด้านสิทธิมนุษยชนนั้น เขาคิดต่าง โดยเฉพาะเขาคำนึงอย่างยิ่งยวดถึงสิทธิที่จะได้รับการปกป้อง การปฏิบัติที่สมกับความเป็นมนุษย์ และเขาป้องกันการละเมิดเด็กทางร่างกาย ทางจิตใจ ทางเพศอย่างเข้มแข็งมาก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังพึ่งพาตัวเองไม่ได้ ต้องอยู่ในปกครองของผู้ใหญ่ โอกาสที่จะถูกผู้ใหญ่กระทำตามอำเภอใจมีสูงมาก โดยเฉพาะหากผู้ใหญ่มีความบกพร่องทางจิตหรือเลี้ยงลูกไม่เป็น

ต่างประเทศที่เจริญแล้วในด้านสิทธิมนุษยชนนั้น เขาคำนึงอย่างยิ่งยวดถึงการปฏิบัติต่อเด็กสมกับความเป็นมนุษย์ และเขาป้องกันการละเมิดเด็กทางร่างกาย ทางจิตใจ ทางเพศอย่างเข้มแข็งมาก

ดังนั้น เมื่อคุณแม่ทั้งหลายมาเลี้ยงลูกในต่างประเทศ ก็ต้องทำตามกฎหมายและกฎระเบียบสังคมเขาโดยปริยาย ทั้งนี้ก็เพื่อครอบครัวสุขสันต์ และเพื่อลูกรักของคุณแม่เองที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพทั้งกายและใจ

Photo credit: https://www.pexels.com/photo/woman-carrying-baby-at-beach-during-sunset-51953/


คุณ Dewwy Dew สะใภ้นอร์เวย์